ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2561
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

อหิงสาในสายตาของศาสนาเชน

[คัดลอกลิงก์]
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย Sornpraram เมื่อ 2014-4-8 09:11

อหิงสา หรือ อหึงสา (สันสกฤต: अहिंसा)


หมายถึง การไม่เบียดเบียน, การเว้นจากการทำร้าย คำว่า "อหิงสา" ยังหมายถึง การไม่ใช้ความรุนแรง
และในศาสนาแบบอินเดียหลายศาสนา มโนทัศน์ดังกล่าวใช้กับสิ่งมีชีวิตทุกชนิดรวมทั้งสัตว์

อหิงสาเป็นคุณธรรมหลักอย่างหนึ่ง


และเป็นความเชื่อสำคัญของศาสนาแบบอินเดียที่สำคัญ (ศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธและศาสนาเชน) อหิงสาเป็นมโนทัศน์หลายมิติ ได้รับบันดาลใจจากข้อตั้งที่ว่าสิ่งมีชีวิตทั้งปวงล้วนมีเสี้ยวหนึ่งของพลังงานวิญญาณเทวะ การทำร้ายสิ่งอื่นจึงเป็นการทำร้ายตนเอง

อหิงสายังเกี่ยวข้องกับแนวคิดที่ว่า ความรุนแรงใด ๆ มีผลกรรมสะท้อนกลับมา ขณะที่ปราชญ์ฮินดูสมัยโบราณบุกเบิกและพัฒนาหลักการอหิงสา มโนทัศน์ดังกล่าวกลายมามีสถานะพิเศษในปรัชญาจริยธรรมของศาสนาเชน มหาตมา คานธีขึ้นชื่อมากที่สุดว่าเป็นผู้เชื่อในหลักอหิงสาอย่างแรงกล้า



2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-8 09:08 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ศาสนา: อหิงสาในสายตาของศาสนาเชน



“หลักการอหิงสาในศาสนาเชนเป็นหลักการที่นำมาใช้เพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์และคุณภาพของสังคม ไม่ใช่หลักการที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมือง หรือเป็นไปเพื่อใช้ต่อรองกดดันฝ่ายตรงข้าม ดังนั้นการใช้หลักการอหิงสาในฐานะที่เป็นเสมือนกับอาวุธชิ้นหนึ่งที่ใช้ในการต่อสู้กันย่อมไม่ประสบผลสำเร็จ”

บทนำ

ไม่นานมานี้มีโอกาสที่จะต้องไปทำงานเกี่ยวกับศาสนาเชน (Jain) ครับ (1) เลยมีโอกาสได้ค้นคว้าศึกษาเกี่ยวกับหลักการหนึ่งที่สำคัญมากในศาสนาเชน นั่นคือ หลักการอหิงสา (Ahimsa) หรือ หลักการการไม่ใช้ความรุนแรง (Non-Violence) ซึ่งเป็นหลักการที่ถูกอ้างถึงบ่อยมากในสังคมไทยปัจจุบัน และเกือบทุกครั้งที่กล่าวถึงหลักการอหิงสาก็มักจะกล่าวถึงในความหมายของรูปแบบการประท้วงและการต่อสู้กันทางการเมืองเท่านั้น ดังที่ปรากฏในกระบวนการการต่อสู้ทางการเมืองของ ท่านมหาตมะ คานธี (Mohandas Karamchand Gandhi) ซึ่งหลักการอหิงสาตามความหมายดังกล่าวเป็นเพียงการประยุกต์ใช้ในรูปแบบหนึ่งเท่านั้นครับ

โดยข้อเท็จจริงแล้ว หลักการอหิงสาเป็นหลักการที่มีความหมายลึกซึ้งมากกว่าการเป็นเพียงรูปแบบการประท้วงและการต่อสู้กันโดยไม่ใช้ความรุนแรง หรือมากกว่าคำว่า “การไม่ใช้ความรุนแรง” ครับ รวมถึงในบางสถานการณ์ หลักการอหิงสาถูกใช้อย่างผิดๆ เสมือนกับเป็นอาวุธอีกชิ้นหนึ่งที่ใช้เพื่อการต่อสู้กันทางการเมืองเพื่อให้ตนเองบรรลุถึงเป้าหมายเท่านั้น ในที่นี้ผู้เขียนจึงจะขอนำเสนอความหมายอย่างย่อๆ และความน่าสนใจของหลักการอหิงสาตามทัศนะของศาสนาเชน ซึ่งเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ทีสนใจในหลักการข้อนี้ครับ


ศาสนาเชนกับหลักการอหิงสา


หลักการอหิงสาถือได้ว่าเป็นหลักการหนึ่งที่สำคัญมากที่สุดในศาสนาเชน จะสังเกตได้ว่าสัญลักษณ์ของศาสนาเชนรูปแบบหนึ่ง ที่มีลักษณะเป็นฝ่ามือ บริเวณกลางฝ่ามือจะมีข้อความภาษาฮินดีที่แปลว่า “Ahimsa” อยู่ซึ่งแสดงถึงว่าหลักการดังกล่าวเป็นหลักการที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในศาสนาเชน กระทั่งมีคำกล่าวว่า ศาสนาเชนเป็นศาสนาแห่งการไม่ใช้ความรุนแรง (Jain is the religion of Non-violence)

หลักการอหิงสาปรากฏอยู่ในหลักการทางจริยธรรมขั้นพื้นฐาน (5 vows หรือ Anuvastra) ในศาสนาเชน หลักการดังกล่าวเป็นจริยธรรมขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในสังคม หากเทียบกับศาสนาพุทธก็อาจเทียบได้กับศีล 5 นะครับ หลักการทั้ง 5 ข้อนี้ประกอบด้วย

1) การไม่ใช้ความรุนแรง (Ahimsa)
2) การยึดมั่นในสัจจะ (Satya)
3) ไม่ลักทรัพย์ (Asteya)
4) ไม่ประพฤติผิดทางเพศ (Brahmacarya)
5) ไม่ครอบครอง (Aparigraha)


หลักการพื้นฐานทางจริยธรรมทั้ง 5 ข้อ ผู้ที่นับถือศาสนาเชนจะมีแนวทางการปฏิบัติที่แตกต่างกันไปตามสถานะของบุคคล โดยมีคำอธิบายว่า ข้อแรกเป็นหลักการที่มีความสำคัญสูงสุด เนื่องจากเป็นหลักการที่จะนำไปสู่การชำระจิตวิญญาณให้บริสุทธิ์ และเป็นหนทางไปสู่การหลุดพ้นจากกิเลส ไม่ต้องติดอยู่กับกรรมและเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ซึ่งกรรมต่างๆ นั้นล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากความรุนแรงที่ได้กระทำต่อสรรพชีวิต ดังที่มีข้อความที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างหลักการอหิงสากับการหลุดพ้นว่า

“ความผิดบาปทุกชนิด การลักขโมย การยึดมั่นถือมั่น และการผิดศีลธรรมเป็นรูปแบบของความรุนแรงซึ่งทำลายความบริสุทธิ์ของจิตวิญญาณ…” (2)

หลักการอหิงสาในศาสนาเชนครอบคลุมมิติของการไม่ใช้ความรุนแรงในหลายๆ ด้าน ซึ่งแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ

1) การไม่กระทำสิ่งต่างๆ ด้วยความรุนแรง (Violence by Actions )
2) การไม่กล่าววาจาต่างๆ ด้วยความรุนแรง (Violence by Speech)
3) การไม่คิดด้วยความรุนแรง (Violence by Thought )


จะสังเกตได้นะครับว่า ความหมายของหลักการอหิงสาไม่ได้มีความหมายแคบๆ เพียงแค่การไม่ทำร้ายชีวิตหรือทำร้ายร่างกายผู้อื่น ซึ่งเป็นความหมายของความรุนแรงในเชิงกายภาพเท่านั้น แต่ความหมายของการไม่ใช้ความรุนแรงในศาสนาเชนครอบคลุมไปถึงความรุนแรงทางวาจาและความคิดด้วย

นอกจากนี้ ในหนังสือชื่อ “The Jain Way of Life” (3) ได้กล่าวถึงหลักการอหิงสาในความหมายเชิงพลวัต (Dynamic meaning) ด้วย นั่นคือ นอกจากการไม่ใช้ความรุนแรงในความหมายเชิงข้อห้าม (Prohibitive Meaning) หลักการอหิงสายังมีความหมายเชิงปฏิบัติ (Practical Meaning ) ด้วย นั่นคือหลักการอหิงสาไม่ได้มีความหมายเพียงการไม่ใช้ความรุนแรง แต่ยังมีความหมายในเชิงก้าวหน้าไปสู่การกระทำที่เป็นสิ่งตรงกันข้ามกับความรุนแรงด้วย ดังที่มักจะมีคำสอนเรื่อง ความเมตตา (Compassion) ควบคู่ไปกับคำสอนในเรื่องอหิงสาด้วย ตัวอย่างเช่น

1) จากการไม่กระทำสิ่งต่างๆ ด้วยความรุนแรง เป็น การมีความเมตตาในการกระทำ (Compassionate by Actions)
2) จากการไม่กล่าววาจาต่างๆ ด้วยความรุนแรง เป็น การมีความเมตตาในการกล่าววาจา (Compassionate by Speech)
3) จากการไม่คิดด้วยความรุนแรง เป็น การมีความเมตตาในการคิด (Compassionate by thought)



3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-8 09:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลักการอหิงสากับการพัฒนาชีวิตและสังคม


ตามความเห็นของผู้เขียน นอกจากศาสนาทุกศาสนาจะอธิบายถึงแนวทางปฏิบัติเพื่อไปสู่จุดหมายสูงสุด เช่น การบรรลุนิพพาน การกลับไปเป็นหนึ่งกับสิ่งสูงสุด หรือการไปอยู่ในอาณาจักรแห่งพระเจ้า (ในกรณีของศาสนาเชนคือการหลุดพ้นจากกิเลส) แต่ทุกศาสนาต่างก็จะมีหลักการคำสอนที่เป็นไปเพื่อขัดเกลาบ่มเพาะให้มนุษย์สามารถดำเนินชีวิตได้ดีในทางสังคมด้วย และหลักการอหิงสาก็เป็นหลักการที่ศาสนาเชนเลือกที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาชีวิตมนุษย์ทั้งในส่วนของตัวบุคคลและกับการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ดังที่คำกล่าวว่า

การทำร้ายชีวิตอื่นคือการทำร้ายตัวเอง การแสดงออกถึงความเมตตาต่อชีวิตอื่นเป็นการแสดงออกถึงความเมตตาต่อตนเอง ผู้ปรารถนาประโยชน์แห่งตนพึงหลีกเลี่ยงเหตุแห่งการละเมิดชีวิต” (4)

หลักการอหิงสาจึงเป็นหลักการพื้นฐานที่มีศักยภาพที่จะนำไปสู่ความเคารพในมนุษย์ สรรพสัตว์ และสิ่งแวดล้อม เพราะในทางศาสนาเชนเองแล้วก็จะถือว่าทุกสรรพมีคุณค่าซึ่งเราต้องให้ความเคารพด้วยกันทั้งสิ้น เช่นหลักการอหิงสานี้จะพัฒนาไปสู่จริยธรรมสังคมที่สำคัญๆ อื่น เช่น แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษย์ชน แนวคิดเรื่องสิทธิสัตว์ และแนวคิดด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น ดังที่ อัลเบิรต์ เชว็ตเซอร์ (Albert Schweitzer) นักปรัชญาชาวตะวันตกที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง ได้นำเอาหลักการอหิงสาในศาสนาเชน และหลักการเกี่ยวกับการให้การเคารพในชีวิตไปกล่าวไว้ในเรื่อง "The Ethics of Reverence for Life" (5) ซึ่งอธิบายถึงหลักการทางจริยธรรมที่เป็นพื้นฐานทางสังคม ที่ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชีวิต โดยการนำหลักการเรื่องอหิงสาไปใช้เป็นพื้นฐาน

จากจุดเริ่มต้นที่หลักการอหิงสาจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพจิตใจของบุคคล เมื่อบุคคลคนหนึ่งได้รับการพัฒนาแล้ว การไม่ใช้ความรุนแรงจะถูกขยายต่อไปยังคนในครอบครัวซึ่งเป็นสังคมหน่วยย่อยหน่วยแรก ขยายไปสู่กลุ่มเพื่อนฝูง คนรู้จัก หรือแม้กระทั่งศัตรู รวมถึงจะขยายไปสู่สิ่งอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ด้วย เช่น สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ การนำหลักการอหิงสาทั้งในความหมายแบบข้อห้าม และความหมายเชิงปฏิบัติ ไปใช้ในแวดวงต่างๆ ทางสังคม ก็จะช่วยส่งเสริมให้เกิดสังคมที่เป็นธรรมและมีความสุขด้วย อาทิเช่น การเกิดระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อโลกธรรมชาติ การเกิดสังคมที่มนุษย์ในสังคมนั้นอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพและเอื้ออาทรแก่กันและกัน รวมถึงระบบการเมืองที่ปราศจากความรุนแรง หรือเป็นการเมืองที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีงามต่อเพื่อนมนุษย์และโลกอย่างแท้จริง


หลักการอหิงสากับการแก้ปัญหาสังคม


การนำหลักการอหิงสามาใช้แก้ปัญหาสังคมมักจะถูกนำมาใช้ในความหมายที่บกพร่องอยู่เสมอครับ นั่นคือการเห็นว่าหลักการอหิงสาเป็นยุทธวิธีหนึ่งในการต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องกับฝ่ายผู้ที่มีอำนาจมากกว่า ผลที่ตามมาจากแนวคิดเช่นนี้คือ การใช้หลักการการอหิงสาเพื่อสนับสนุนวัตถุประสงค์ที่ไม่ถูกต้อง หรือใช้เป็นยุทธวิธีหนึ่งที่นำมาอ้างเพื่อความสำเร็จตามข้อเรียกร้องของฝ่่ายตน และหากวิธีการนี้ไม่สำเร็จเมื่อไหร่ ก็อาจพร้อมที่จะใช้วิธีการที่รุนแรงได้ทันที

ท่านคานธีมักจะกล่าวถึงหลักการอหิงสาควบคู่กับหลักการเรื่องการยึดมั่นใน “สัตยะ” (Saytya) หรือความจริงอยู่เสมอ ท่านกล่าวว่า หลักการอหิงสาไม่สามารถนำไปใช้เพื่อสนับสนุนความเท็จ หรือจุดมุ่งหมายอันไม่ชอบธรรมได้ หลักการอหิงสาจึงไม่ได้เป็นเพียงวิธีการเพื่อนำไปสู่เป้าหมายอะไรก็ได้ แต่ต้องเป็นวิธีการที่ใช้เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ชอบธรรมเท่านั้น หรืออาจกล่าวได้ว่า การไม่ใช้รุนแรงนั้นเป็นทั้งวิธีการและเป้าหมายในตัวเอง ท่านคานธีได้กล่าวว่า

“การไม่ใช้ความรุนแรง (อหิงสา) ไม่ได้มีความหมายง่ายๆ เพียงแค่การไม่ฆ่า …อหิงสาหมายถึงการไม่ทำร้ายชีวิต ไม่ว่าจะโดยการคิด การพูด และการกระทำ หลักการอหิงสาที่แท้จริงควรหมายถึงเสรีภาพโดยสมบูรณ์จากเจตจำนงอันป่่วยไข้ ความโกรธแค้น และความเกลียดชัง แต่เป็นการแบ่งปันความรักไปสู่ทุกสรรพสิ่ง อหิงสาเป็นคุณสมบัติของจิตวิญญาณ และเป็นวิถีแห่งการปฏิบัติต่อทุกสรรพสิ่งในทุกๆ บริบทของชีวิต” (6)

ในความเห็นของผู้เขียน สิ่งที่น่าจะทำให้ท่านคานธีประสบความสำเร็จในการเรียกร้องเอกราชของประเทศอินเดีย คือท่านได้เลือกใช้หลักการอหิงสาในความหมายของการเป็นเครื่องมือกล่อมเกลาพัฒนาจิตใจของมนุษย์มากกว่าครับ ซึ่งผู้ที่ได้รับการพัฒนาตามหลักการนี้ย่อมจะไม่กระทำสิ่งอันไม่ชอบธรรมแก่ผู้อื่น และเลือกที่จะกระทำกับผู้อื่นอย่างเป็นธรรมด้วย หลักการอหิงสาสำหรับท่านคานธีจึงเป็นหลักการที่ใช้เพื่อพัฒนาคนในขบวนการของท่านให้มีจิตใจที่สูงส่งขึ้น ไม่มีความคิดที่จะใช้ความรุนแรงในทุกๆ มิติ (กาย วาจา และใจ) และเลือกที่จะกระทำกับคนอังกฤษด้วยความเคารพมากกว่าความเกลียดชัง

ขบวนการของท่านคานธี ค่อยๆ ทำให้คนอังกฤษได้เรียนรู้ว่า การใช้ความรุนแรงไม่สามารถแก้ปัญหาใดๆ ได้ ในขณะเดียวกันคนอังกฤษก็เริ่มที่จะฟังเนื้อหาจากผู้ที่ไม่ใช้ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่การแก้ไขการกระทำของตัวเองให้ถูกต้องตามมา ดังนั้นผู้เขียนจึงเห็นว่า ท่าทีของการไม่ใช้ความรุนแรงของขบวนการของท่านคานธีจึงเป็นท่าทีของการพัฒนากล่อมเกลาฝ่ายที่อยู่ตรงข้าม มากกว่าท่าทีของการใช้หลักการอหิงสาในการต่อสู้กดดันฝ่ายตรงข้าม

ในอีกกรณีหนึ่งที่เป็นความขัดแย้งกันระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ความขัดแย้งดังกล่าวได้ลุกลามไปสู่การเกิดสงครามกลางเมือง จลาจล และฆ่าฟันกันระหว่างคนต่างศาสนา แสตนลี่ย์ วอลเพิร์ต (Stanley Wolpert) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอินเดียศึกษาได้เล่าถึงความพยายามของท่านคานธีในช่วงเหตุการณ์เดือนนั้นว่า

ในเดือนแห่งความสับสนอลหม่านและการก่อการร้ายนั้น ท่านคานธีได้ใช้เวลาอยู่ในพื้นที่มีความรุนแรงมากที่สุด ใช้เวลาในแต่ละคืนสอนสันติภาพ ความรัก และการสวดภาวนา ” “ท่านคานธีเดินเท้าจากหมู่บ้านหนึ่งสู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง ตัดผ่านกลางหัวใจแห่งความรุนแรง…นั่นคือการสอนเรื่องอหิงสา” (7)

ผู้เขียนมีความเห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดเกี่ยวกับการนำหลักการอหิงสาไปประยุกต์ใช้กับการแก้ปัญหาสังคม คือการมีความเข้าใจที่ถูกต้องต่อหลักการนี้ก่อนหลักการอหิงสาในศาสนาเชนเป็นหลักการที่นำมาใช้เพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์และคุณภาพของสังคม ไม่ใช่หลักการที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมือง หรือเป็นไปเพื่อใช้ต่อรองกดดันฝ่ายตรงข้าม ดังนั้นการใช้หลักการอหิงสาในฐานะที่เป็นเสมือนกับอาวุธชิ้นหนึ่งที่ใช้ในการต่อสู้กันย่อมไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะใช้หลักการอหิงสาเพื่อการต่อสู้นั้นย่อมเป็นสิ่งที่เป็นข้อขัดแย้งในตัวของมันเอง ดังนั้นหากเราต้องการแก้ปัญหาของสังคม หลักการอหิงสาควรมีฐานะเป็นเครื่องมือทางการศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์และคุณภาพของสังคมมากกว่าฐานะใดทั้งหมด

สรุป

หลักการอหิงสาในศาสนาเชนที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงในที่นี้ อาจจะสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพของมนุษย์และสังคมได้ในระยะยาวและในรูปแบบที่ยั่งยืนนะครับ รวมถึงหากจะนำเอาหลักการอหิงสาตามความหมายดังกล่าวมาพิจารณาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน เราคงต้องมองการไม่ใช้ความรุนแรงในความหมายที่เป็นหัวข้อหนึ่ง ที่เราจะต้องนำมาใช้เพื่อให้การศึกษาพัฒนาคุณภาพของคนไทยและสังคมไทย ไม่ใช่การใช้หลักการอหิงสาเสมือนกับเป็นอาวุธอีกชิ้นหนึ่งเพื่อต่อสู้ห้ำหั่นกัน ซึ่งถ้าหากเป็นไปได้จริง เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในช่วง 4-5 ปีนี้ ก็อาจจะยุติลงอย่างยั่งยืนและเป็นจริงในระยะยาวได้


ที่มา..http://www.bloggang.com
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้