|
สายสัมพันธ์ศิษย์-อาจารย์
ลูกศิษย์สายตรงของครูบาชุ่ม ในปัจจุบันพอจะกล่าวถึงได้ดังนี้
๑. หลวงพ่อทองใบ โชติปัญโญ เจ้าอาวาสวัดพรหมวนารา
มหรืออดีต ครูทองใบ สายพรหมมา เป็นศิษย์ผู้ได้รับอนุญาต
ให้สร้างเหรียญครูบาเจ้าชุ่มรุ่นแรกปี พ.ศ. ๒๕๑๗
๒. พระอาจารย์หมื่น ญาณเมธี วัดพรหมวนาราม
นอกจากเป็นศิษย์แล้วท่านยังเป็นหลานแท้ๆ ของครูบาเจ้าชุ่ม คือ ตุ๊ลุงหมื่น
เป็นบุตรของแม่อุ้ยแก้ว พี่สาวร่วมอุทรของครูบาเจ้าชุ่ม
ตุ๊หมื่นได้เก็บรักษาเครื่องระลึกถึงครูบาเจ้าชุ่มไว้หลายอย่าง
เช่น ภาพถ่ายเก่าๆ, ดาบ, เล็บ และอัฐิ
๓. พ่อหนานปัน จินา เป็นศิษย์ที่มีความสนใจในด้านวิชาอาคมขลังและพิธีกรรมต่างๆ
โดยเฉพาะศาสตร์ในเรื่องตะกรุด ซึ่งท่านได้รับการถ่ายทอดจากครูบาเจ้าชุ่มมาพอสมควร
ปัจจุบันท่านเป็นผู้อาวุโสของหมู่บ้าน
๔. พ่ออุ้ยตุ่น หน่อใจ เป็นศิษย์ที่ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่สองอย่าง
คือปลงเกศาให้ครูบาเจ้าชุ่ม และช่วยสร้างพระผงให้ท่าน
๕. พ่อหนานทอง ปัญญารักษา อายุ ๖๘ ปี
เป็นศิษย์อีกท่านที่ปัจจุบันทำหน้าที่ "ปู่จารย์" เจ้าพิธีประจำวัดชัยมงคล (วังมุย)
พ่อหนานทองเป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพิธีพุทธาภิเษกรูปเหมือนหลวงปู่ชุ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐
๖. พ่อหนานบาล อินโม่ง เป็นศิษย์ที่เคยติดตามครูบาเจ้าชุ่ม
ไปธุดงค์ตามสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง
๗. คุณลุงเสมอ บรรจง ชมรมพระตลาดบุญอยู่
เป็นผู้มีส่วนร่วมสร้างวัตถุมงคลของครูบาเจ้าชุ่ม
๘. พ่อเลื่อน กันธิโน เป็นศิษย์ที่ติดตามอุปัฏฐากครูบาเจ้าชุ่มไปในที่ต่างๆ
จนถึงนาทีสุดท้ายที่ท่านไปมรณภาพที่กรุงเทพฯ
๙. อุ๊ยหมื่น สุมณะ (เพิ่งเสียชีวิตในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ด้วยวัย ๑๐๑ปี)
เป็นศิษย์อาวุโส ซึ่งมีวัยวุฒิน้อยกว่าครูบาเจ้าชุ่ม ๑๐ ปี
เป็นผู้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับประวัติการสร้างวัดใหม่
๑๐. อุ๊ยหนานทอง (เสียชีวิตแล้ว) เป็นลูกศิษย์ของครูบาเจ้าชุ่ม
แล้วยังเป็นประติมากรผู้รังสรรค์พระรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัย
ในขณะที่ท่านรักษาตัวอยู่ ณ วัดจามเทวี ก่อนที่ท่านจะไปมรณภาพที่วัดบ้านปาง
อุ้ยหนานทองเป็นคนบ้านริมปิง อ.เมือง จ.ลำพูน
ท่านได้พบกับครูบาชุ่มตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี ตอนนั้นหลวงครูบาชุ่มจาริกไปถึงบ้านริมปิง
บ้านเดิมของอุ้ยหนานทอง หนุ่มน้อยได้บังเกิดความเคารพศรัทธาครูบาชุ่ม
จนขอติดตามกลับมาที่วัดวังมุยด้วย ครูบาชุ่มก็เมตตาพามา
และจัดการบวชให้เป็นสามเณรที่วัดเก่า (วัดศรีสองเมือง)
ต่อมาเมื่ออายุหนานทองอายุครบ ๒๐ ปี
หลวงปู่ครูบาชุ่มก็ได้จัดการอุปสมบทให้เป็นพระภิกษุที่วัดใหม่ คือวัดชัยมงคล (วังมุย)
ช่วงที่บวชเป็นสามเณร สามเณรทองได้เป็นลูกมือช่วยสร้างพระที่วัดมหาวัน
จึงได้นำประสบการณ์และวิชาความรู้ครั้งนั้น มาใช้ในงานปั้นพระประธานไว้ในโบสถ์วัดเก่า
จำนวน ๓ องค์ ขนาดเท่าคนจริง แต่หลังจากวัดเก่าได้ถูกทิ้งร้าง
พระประธานทั้ง ๓ องค์ ที่สามเณรทองปั้นไว้ ก็หายสาบสูญไป
พอครูบาชุ่มได้มาดำเนินการสร้างวัดใหม่ คือวัดชัยมงคล (วังมุย)
ท่านก็ได้มอบหมายให้อุ้ยหนานทองรับหน้าที่ปั้นพระประธาน
และพระขนาดเล็กอีกเป็นจำนวนมาก
๑๑. หลวงพ่อบุญรัตน์ กนฺตจาโร เจ้าอาวาสวัดโขงขาว จ.เชียงใหม่
หลวงพ่อบุญรัตน์ ได้พบหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่มครั้งแรก
ในระหว่างที่ทั้งคู่ต่างอยู่ในระหว่างธุดงค์หลีกเร้นเพื่อบำเพ็ญสมณธรรมตามป่าเขา
ผลของการปฏิบัติ
ครูบาชุ่มท่านเป็นพระผู้ทรงศีลาจารวัตร และมุ่งมั่นในการปฏิบัติอย่างแรงกล้า
ครั้งหนึ่งท่านนั่งสมาธิอยู่ในพระวิหารที่วัดวังมุย
ได้เกิดมีเปลวไฟฉายโชนออกจากร่างกายของท่าน แลดูสว่างไสว
มีผู้ที่อยู่ในบริเวณนั้นเห็นเหตุการณ์หลายคน "พ่อหนานปัน" ก็เป็นหนึ่งในนั้น
ได้เห็นไฟลุกโพลนขึ้นท่วมร่างของครูบาชุ่ม จากนั้นเปลวไปได้เคลื่อนออกจากกาย
ตรงขึ้นไปที่ปล่องด้านข้างของพระวิหาร พอครูบาชุ่มคลายออกจากสมาธิ
ลูกศิษย์ที่เป็นห่วงได้รีบเข้าไปถามว่า "ครูบาเจ้าเป็นอะไรไปหรือเปล่า ทำไมไฟลุกขึ้นมา"
ท่านได้เมตตาบอกว่า "เป็นเพราะผลของการปฏิบัติ"
โดนลองของ
ครั้งหนึ่ง ครูบาชุ่มโดน "ลองของ" โดยพระรูปหนึ่งในจังหวัดลำพูนนั่นเอง
พระผู้นั้นได้ปล่อยของทางไสยศาสตร์มายังกุฏิของท่าน
ขณะนั้นครูบาชุ่มกำลังจำวัดอยู่ และทราบเหตุร้ายด้วยญาณ ท่านจึงลุกขึ้น
และได้เรียกบอกพระเณรให้มานั่งอยู่ในกุฏิท่าน พร้องทั้งสั่งให้ทุกรูปสวดมนต์
ของที่ส่งมานั้นปรากฏเป็นตัวแมลงขนาดใหญ่ พวกมันได้แต่บินวนเวียนอยู่ด้านนอกกุฏิ
เสียงชนฝาผนังดังปึงปังอยู่ตลอดเวลา และแล้วครูบาชุ่มก็ได้หยิบหมากขึ้นมาเคี้ยว
พร้อมทั้งบริกรรมคาถา จากนั้นก็คายชานหมากลงในกระโถน
สักพักต่อมา เหล่าแมลงได้บินฝ่าเข้ามาถึงด้านในกุฏิ พุ่งตรงเข้ามาหาท่านทันที
ท่านจึงบริกรรมคาถาจนหมู่แมลงอ่อนกำลังลง
จากนั้นได้นำกระโถนที่คายชานหมากไว้มาครอบแมลงเหล่านั้น
เมื่อเปิดกระโถนออกดู ปรากฏว่าแมลงได้กลับกลายเป็นตะปูไปจนหมด
บุญญาภินิหาร
ครูบาชุ่มมีเมตตาธรรมประจำใจ ไม่ค่อยขัดต่อผู้ใดที่มาขอร้องให้ท่านช่วยเหลือ
ถ้าไม่เกินขอบเขตแห่งพระธรรมวินัย โดยเฉพาะผู้ที่เจ็บป่วยด้วยคุณไสยแล้ว
เชือกและน้ำมนต์ของท่านขลังยิ่งนัก
มีอยู่ครั้งหนึ่งครูบาชุ่มได้ธุดงค์ไปถึงอำเภอฮอด เข้าพักแรมในป่าช้าบ้านบ่ง
ชาวบ้านเหล่านั้นมีด้วยกันหลายเผ่าหลายภาษา เช่น ลั๊วะ, ยาง (กระเหรี่ยง)
ได้เอาเนื้อสดๆ มาถวายโดยบอกว่า เป็นส่วนของวัดหนึ่งหุ้นที่ล่าสัตว์มาได้
ครูบาชุ่มไม่ยอมรับและบอกว่า หากจะนำมาถวายพระหรือสามเณร
ควรจัดทำให้สุกเป็นอาหารมา จึงจะรับได้
และขอบิณฑบาตว่า อย่าได้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเขาเลย
พอตกค่ำ ครูบาชุ่มได้ทำวัตร สวดมนต์ นั่งสมาธิ แผ่เมตตาจิตให้สรรพสัตว์ทั้งปวง
จนใกล้สว่างจึงออกไปบิณฑบาต พวกชาวบ้านมาใส่บาตร
แต่ได้ขอร้องครูบาชุ่มไม่ให้สวดมนต์อีกต่อไป
โดยกล่าวหาว่าเป็นเพราะท่านสวดมนต์
พวกตนจึงเข้าป่าล่าสัตว์ไม่ได้สัตว์มาหลายวันแล้ว
ไม้เท้าของครูบาศรีวิชัย
คราวหนึ่ง ครูบาชุ่มจาริกหลีกเร้นไปแสวงหาที่วิเวกเจริญพระกรรมฐาน
และนั่งภาวนาอยู่ที่กระท่อมในบริเวณป่าช้า พอเริ่มมืดลง มีคนเมาสุราคนหนึ่ง
เห็นท่านนั่งอยู่ในกระท่อมเพียงผู้เดียวในระยะไกล จึงได้เดินตรงเข้ามาหาด้วยเจตนาที่ไม่ดี
ครูบาชุ่มท่านรู้ ท่านจึงหยิบไม้เท้าของครูบาศรีวิชัยขึ้นมาบริกรรมคาถา
พร้อมกับขีดเป็นวงรอบตัว เมื่อชายผู้นั้นเดินเข้ามาใกล้กระท่อม
ก็ต้องพบกับความแปลกใจ เพราะมองไม่เห็นใครอยู่ในกระท่อมเลย
ลูกศิษย์ทั่วไปต่างเชื่อว่าท่านเป็นพระที่ทรงอภิญญา สามารถแสดงฤทธิ์ได้
แต่ครูบาชุ่มท่านไม่เคยอวดตัว ยังคงทำตนเหมือนพระธรรมดาๆ ทั่วไปรูปหนึ่ง
เสมือนช้างเผือกที่หลีกเร้นอยู่ในป่าลึก
|
|