ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 3300
ตอบกลับ: 7
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่เขียน ฐิตสีโล วัดรังสีปาลิวัน ~

[คัดลอกลิงก์]


ประวัติและปฏิปทา
พระอริยเวที (หลวงปู่เขียน ฐิตสีโล)


วัดรังสีปาลิวัน
ต.โพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์



๏ อัตโนประวัติ

“พระอริยเวที” หรือ “หลวงปู่เขียน ฐิตสีโล” เป็นพระเถราจารย์ผู้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เป็นที่น่าเคารพสักการบูชาของบรรดาศิษยานุศิษย์ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า รวมทั้ง เป็นเพื่อนสหธรรมิกกับ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) และ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) ตั้งแต่ครั้งสมัยที่ท่านทั้งสามยังมีอายุพรรษาไม่มากนัก

หลวงปู่เขียน มีนามเดิมว่า เขียน ภูสาหัส เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีฉลู  ณ บ้านโพน ต.โพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายสังข์ และนางค้อม ภูสาหัส


๏ การบรรพชาและอุปสมบท

เมื่ออายุครบ ๑๕ ปี ได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ณ วัดบ้านโพน ต.โพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์

ครั้นอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ณ พัทธสีมาวัดสุทธจินดา ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยมี เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระโพธิวงศาจารย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระธรรมปิฎก เป็นพระอนุสาวนาจารย์

พ.ศ. ๒๔๗๕ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก

พ.ศ. ๒๔๗๗-๒๔๘๑ สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๓-๗ ประโยค สำนักเรียนวัดสุทธจินดา อ.เมือง จ.นครราชสีมา

พ.ศ. ๒๔๘๒ สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๘ ประโยค สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ

พ.ศ. ๒๔๘๔ สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ พร้อมกับ เจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-6 09:27 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

แถวหน้า พระภิกษุรูปที่ ๔ จากซ้าย : สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน ป.ธ.๙)

พระภิกษุรูปที่ ๘ : พระอริยเวที (หลวงปู่มหาเขียน ฐิตสีโล ป.ธ.๙)

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ พระอริยเวที สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค
ณ สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ พร้อมกันกับ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก



๏ งานด้านการศึกษาสงฆ์

พ.ศ. ๒๔๗๘-๒๔๘๑ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมสำนักเรียนวัดสุทธจินดา และวัดศาลาทอง อ.เมือง จ.นครราชสีมา

พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ และสำนักเรียนวัดพระศรีมหาธาตุ แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ


๏ ตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์

พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสังฆสภา

พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา จ.นครราชสีมา

วันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดนครราชสีมา (หรือเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา ฝ่ายธรรมยุต ในปัจจุบัน)


๏ ลำดับสมณศักดิ์

พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระอริยเวที”


๏ ข้อวัตรและปฏิปทา

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๗ หลวงปู่เขียนได้เข้ากราบฟังธรรม ปฏิบัติธรรม และถวายตัวเป็นศิษย์ในสำนักของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต หลังจากที่สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยคใหม่ๆ โดย เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ได้นำไปฝาก ทั้งนี้ เพื่อประสงค์ให้หลวงปู่ท่านได้เป็นศาสนทายาทที่มีความหนักแน่นมั่นคง ทั้งด้านปริยัติธรรมและด้านปฏิบัติ เป็นแบบอย่างที่ดีแก่พระภิกษุสามเณรในภายภาคหน้า เมื่อได้ฟังธรรม และรับคำแนะนำในการปฏิบัติเป็นอย่างดีแล้ว  ท่านจึงได้ออกเดินธุดงค์กัมมัฏฐานไปตามป่าเขาลำเนาไพรในจังหวัดต่างๆ จนออกไปถึงประเทศลาว และแวะเวียนมาเข้ากราบฟังธรรมจากพระอาจารย์มั่นเป็นระยะๆ

ด้วยผลานิสงส์แห่งการปฏิบัติธรรมจากสำนักของ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ทางด้านวิปัสสนาธุระของประเทศไทย โดยเมื่อครั้งได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระอาจารย์มั่น กัณฑ์แรกเรื่อง “โทษของการเกิด” และกัณฑ์ที่สองเรื่อง “มุตโตทัย” (ธรรมะเป็นเครื่องพ้น) หลวงปู่เขียนถึงกับลุกจากที่นั่งไปกราบพระอาจารย์มั่น พร้อมกล่าวคำปฏิญาณตนอย่างเด็ดเดี่ยวต่อหน้าพระอาจารย์มั่นเป็นภาษาบาลีว่า

“สาสเน อุรํ ทตฺวา ขอมอบกายถวายชีวิตทั้งหมดนี้แก่พระพุทธศาสนา ชีวิตทั้งชีวิตนี้ขอมอบไว้ในพระศาสนา ขอให้ท่านพระอาจารย์โปรดเป็นสักขีพยานด้วยเถิด”

จากนั้นตราบจนสิ้นอายุขัย หลวงปู่เขียนได้กระทำสัจจวาจานั้นให้เป็นที่ปรากฏแก่ชนทั้งหลาย ถึงความเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส ผู้บริสุทธิ์หมดจดงดงามในธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-6 09:28 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)


สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)


พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-6 09:29 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอริยเวที (หลวงปู่เขียน ฐิตสีโล)


๏ พระอริยเจ้าผู้แตกฉานในอรรถและธรรม

หลวงปู่เขียนเป็นพระมหาเถระผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติ เป็นศิษย์ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่สำคัญรูปหนึ่ง ท่านชำนาญทั้งด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ทรงความรู้ในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งหาได้ยากยิ่งนักในคณะกัมมัฏฐานยุคปัจจุบัน ท่านละทิ้งเกียรติยศตำแหน่งในการบริหารคณะสงฆ์ มุ่งเพียงเกียรติอันยิ่งใหญ่ คือ พระนิพพาน ละจากความเป็นพระบ้านเข้าสู่ความเป็นพระป่าได้อย่างสนิทใจ เป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังที่ติดหลงจมในลาภยศสรรเสริญได้เป็นอย่างดี

หลวงปู่เขียนท่านมีอุปนิสัยพูดจริงทำจริง เรียนจริงปฏิบัติจริง บากบั่นมุมานะ ไม่ท้อแท้ต่ออุปสรรคที่มาถึง รักสงบ สำรวมระวัง ปฏิบัติตนเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ไม่ชอบคลุกคลี ซึ่งตรงต่อธรรมวินัย หนักแน่นด้วยหิริโอตตัปปะธรรม มักน้อย สันโดษ เรียบง่าย มีระเบียบบริบูรณ์ด้วยข้อปฏิบัติในไตรสิกขา ได้ถวายตัวเป็นศิษย์อยู่ฝึกอบรมกัมมัฏฐานกับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ณ วัดป่าภูริทัตตถิราวาส (วัดป่าบ้านหนองผือ) อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ท่านได้บำเพ็ญคุณประโยชน์ไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก ทั้งด้านการศึกษา ด้านการปกครอง และด้านการเผยแผ่ ตั้งแต่บรรพชาอุปสมบทเป็นต้นมาจนตลอดอายุขัย

ครั้งหลวงปู่เขียนท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา จ.นครราชสีมา ลำดับที่ ๓ ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ท่านมีแนวคิดกว้างไกล ทั้งหลักการและแนวทางปฏิบัติการบริหารภายในวัด ตั้งเป้าหมายไว้สูง มีระเบียบให้พระภิกษุ สามเณร ตลอดถึงคณะศิษย์วัด ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมทั้ง มีการคัดเลือกหมู่คณะให้เข้าไปรับการอบรมเป็นนักเรียนครูและนักเรียนการปกครอง ที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ เพื่อให้กลับมาเป็นบุคลากรบริหารวัดช่วยเจ้าอาวาส อนุสรณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ท่านได้ริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิ “สุทธจินดาราชสีมามูลนิธิ” ซึ่งได้ผลงานตามวัตถุประสงค์ ทุนทรัพย์เติบใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้

เมื่อได้วางรากฐานการปกครองและการศึกษาเข้าสู่ความเจริญในระดับหนึ่งตามเป้าหมายแล้ว ด้วยสาวกบารมีญาณมาเตือน หลวงปู่เขียนท่านได้ประกาศท่ามกลางคณะสงฆ์วัดสุทธจินดาอย่างอาจหาญว่า “จะออกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานในป่า” ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ท่านได้สร้างวัดรังสีปาลิวัน จ.กาฬสินธุ์ และได้ออกบำเพ็ญตามถ้ำ เงื้อมผา จำพรรษาในที่หลายแห่งตามสถานที่วิเวก สัปปายะ สมเจตนาที่ท่านตั้งไว้

หลวงปู่เขียนท่านปรารภถึงชีวิตของท่านขณะเป็นพระอยู่ในเมือง ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ชีวิตวันหนึ่งคืนหนึ่ง รู้สึกว่าจะน้อยมากสำหรับที่จะทำความพากเพียร ไม่เพียงพอเลย วันหนึ่งๆ มีแต่ต้อนรับผู้คน พูดคุยเรื่องราวต่างๆ เสียเวลาทำความเพียร เป็นการทำชีวิตให้เป็นหมัน เพราะเรื่องที่พูดนั้นเป็นเรื่องข้างนอกทั้งนั้น นอกจากนั้นยังเป็นการคลุกคลีด้วยหมู่คณะจนเกินไป อันเป็นทางให้เกิดความประมาทเป็น “ปปัญจธรรม” คือธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้าในคุณธรรมอันยิ่งขึ้นไป หลงตัวลืมตัวมัวเมามืดมนอนธการ คิดๆ ดูแล้วก็สงสารหมู่คณะที่อยู่ในเมือง ถ้าจะให้เรากลับมาอยู่ในเมืองอีก ให้ตายเสียยังจะดีกว่า เพราะรู้สึกอึดอัดคับแค้นใจมาก ฟังคิด พิจารณา เกิดมากี่ภพกี่ชาติจึงจะมีโอกาสงามสำหรับการาบำเพ็ญสมณธรรมเช่นชาตินี้ “ทุลฺลภขณ สมฺปตฺติ” สมณศักดิ์ ตำแหน่ง ห้ามอบายภูมิไม่ได้ แต่คุณความดี และศีล สมาธิ ปัญญาเท่านั้น ที่ห้ามอบายภูมิได้”



พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต


คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ


๏ คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ ทำนายหลวงปู่เขียน ฐิตสีโล

ในสมัยที่หลวงปู่เขียนออกฝึกหัดปฏิบติอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ท่านเล่าว่า มีแม่ชีอยู่คนหนึ่งชื่อ แม่ชีแก้ว เสียงล้ำ ซึ่งแม่ชีผู้นี้ท่านพระอาจารย์มั่นกล่าวว่า เป็นผู้ที่มีธรรมะ เป็นผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ได้ทำนายท่านไว้ว่า

“ท่านมหาบวชมาแล้วชาตินี้เป็นชาติที่ ๓ และจะอยู่ในเพศบรรพชิตนี้ตลอดไปจะไม่สึก ชาติที่บวชครั้งแรกนั้นท่านมหาบวชเป็นสามเณรอายุได้ ๑๗ ปี ก็สึก ชาติต่อมาก็บวชเป็นสามเณรอีกอายุได้ ๑๙ ปี ย่างเข้า ๒๐ ปี แต่ยังไม่ได้บวชเป็นพระก็สึกอีก ชาตินี้เป็นชาติที่ ๓ และได้บวชเป็นพระอีก ทั้งจะอยู่ต่อไปได้ตลอดจะไม่ลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาส จะอยู่ในเพศพรหมจรรย์ตลอดไป”

หลวงปู่ก็พูดว่า “ถ้าหากอาตมาอยากจะสึกจะทำอย่างไร คืออยากสึกมากๆ อดไม่อยู่แล้วก็สึกไป”

คุณแม่ก็กล่าวว่า “ไม่เป็นเช่นนั้น ถึงแม้ว่าท่านมหาจะอยากสึกอย่างไรก็ตาม แต่สำหรับชาตินี้แล้ว ท่านมหาจะต้องอยู่ในเพศพรหมจรรย์นี้ตลอดไป ไม่สึกแน่นอน”

หลวงปู่กล่าวว่า “ก็ได้แต่รับฟังไว้ คอยสังเกตดูตัวเองอยู่ตลอดมา” (ฐิตสีลานุสรณ์ หน้า ๒๗)

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-6 09:30 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ซ้าย : พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
ขวา : สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
บันทึกภาพเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๑๓ ณ วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี
ในสมัยที่องค์ท่านทั้งสองยังพักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด



๏ การมรณภาพ

ต่อมาหลวงปู่เขียนได้ลาออกจากตำแหน่งหน้าที่บริหารงานคณะสงฆ์ คือ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา และตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา แล้วออกธุดงค์กัมมัฏฐานอย่างจริงจังอยู่ในป่าในถ้ำ จนเป็นที่พอแก่กาลแล้ว จึงกลับมาสู่มาตุภูมิและสร้างวัดรังสีปาลิวันในปัจจุบัน เพื่อนำพาพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และประชาชนทั่วไป ศึกษาธรรมและประพฤติธรรมจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต  

วันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๗ เมื่ออายุ ๗๑ ปี ท่านป่วยเป็นอัมพาตและเส้นโลหิตในสมองแตก ทำให้ประสาทสมองบางส่วนต้องสูญเสียไป ผลก็คือพูดออกมาไม่เป็นคำพูด ฟังยาก แขนขาซีกขวาไม่ทำงาน ช่วยตัวเองไม่ได้ประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ท่านป่วยอยู่นานถึง ๑๙ ปี ลูกศิษย์ใกล้ชิดช่วยกันสับเปลี่ยนดูแลพยาบาลมาโดยสม่ำเสมอ ๓ ปีพรรษาสุดท้ายแห่งการอาพาธ ท่านต้องอยู่ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ตลอด เมื่อคณะแพทย์เห็นว่าสุดวิสัยที่จะช่วยพยุงธาตุขันธ์ให้ดำรงอยู่ต่อไป จึงนิมนต์ท่านกลับวัดรังสีปาลิวัน กระทั่งท่านได้ละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อวันพุธที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖ เวลา ๒๐.๒๕ น. สิริรวมอายุได้ ๙๐ พรรษา ๖๘

ในวันรุ่งขึ้น วันพฤหัสบดีที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖ เวลา ๑๑.๓๐ น.  หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้เดินทางมายังวัดรังสีปาลิวัน จ.กาฬสินธุ์ และได้ปรารภถึงหลวงปู่เขียน ว่า “...สนิทสนมกันถึงขนาดว่าเป็นเสี่ยวกันนั่นแหละ ตั้งแต่เรียนหนังสืออยู่ด้วยกัน ติดพันกันมาตั้งแต่โน้นนะ ที่ได้ห่างกันก็ตอนเราออกปฏิบัติ ท่านก็ออกมาจากเจ้าคณะจังหวัดมาอยู่ทางนี้นะ ทีนี้ห่างกันตรงนี้ ทางร่างกายนะ ความเคลื่อนไหวไปมาไม่ค่อยได้พบกัน แต่ทางด้านจิตใจนะมันสนิทสนมกันมาตลอดนะ เป็นอย่างนั้น บางทีคนทั้งหลายก็จะไม่ทราบว่าเป็นอะไรกันกับเรา เป็นเพื่อนสนิทสนมกันกับเรา เป็นเสี่ยวกันนั่นแหละ...”

ทั้งนี้ หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้มีเมตตานุเคราะห์เป็นอเนกประการ นับแต่เป็นประธานสรงน้ำศพ เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖, เป็นประธานจัดงานจัดงานประชุมเพลิงศพ  แสดงพระธรรมเทศนา และรับผ้าป่าช่วยชาติ เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ และเป็นประธานวางศิลาฤกษ์เจดีย์พิพิธภัณฑ์ฯ แสดงพระธรรมเทศนา และรับผ้าป่าช่วยชาติในงานวันทำบุญครบ ๑ ปีแห่งการมรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗


พระอาจารย์บุญมี ธมฺมรโต วัดป่าศรัทธาถวาย (วัดถ้ำเต่า)
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-6 09:32 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ พระบรมธาตุเจดีย์ฐิตสีลมหาเถรานุสรณ์

คณะศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้เห็นข้อวัตรปฏิปทาอันงดงาม หนักแน่นมั่งคงในหลักพระธรรมวินัย  เป็นผู้มักน้อยสันโดษ  มีปกติอยู่ในป่าของหลวงปู่พระอริยเวที (เขียน ฐิตสีโล) จึงพร้อมใจกันเพื่อจะจัดสร้าง “พระบรมธาตุเจดีย์ฐิตสีลมหาเถรานุสรณ์” ขึ้นเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ โดยการนำพาของ พระอาจารย์บุญมี ธมฺมรโต เจ้าอาวาสวัดป่าศรัทธาถวาย (วัดถ้ำเต่า) ต.หนองอ้อ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี (ท่านเคยอยู่จำพรรษา ณ วัดรังสีปาลิวัน กับหลวงปู่เขียน ฐิตสีโล ประมาณ ๑๐ กว่าปี และ ณ วัดป่าบ้านตาด  ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี กับหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ประมาณ ๑๐ กว่าปีเช่นกัน) และ พระครูสันติธรรมประภาส (สงบ สุปภาโส) เจ้าอาวาสวัดรังสีปาลิวันรูปปัจจุบัน ทั้งนี้ ด้วยความอุปถัมภ์ของพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างขึ้นเพื่อการดังนี้

(๑) เป็นปูชนียสถานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งประทานโดยเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน), พระอรหันตธาตุ, อัฐิธาตุของพระบุรพาจารย์กรรมฐานสายพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล-พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และอัฐิธาตุของหลวงปู่พระอริยเวที (เขียน ฐิตสีโล) เป็นต้น

(๒) เป็นเจติยานุสรณ์แด่หลวงปู่พระอริยเวที (เขียน ฐิตสีโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดรังสีปาลิวัน

(๓) เป็นพิพิธภัณฑ์จัดเก็บอัฐบริขาร ชีวประวัติของหลวงปู่พระอริยเวที (เขียน ฐิตสีโล) และชีวประวัติของพระบูรพาจารย์สายกัมมัฏฐาน ทั้งนี้ เพื่อเป็นศาสนสถานที่กราบไหว้ สักการบูชา ที่ศึกษาค้นคว้า ยึดถือเป็นทิฏฐานุคติ แล้วน้อมนำไปปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน เป็นการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา อันเป็นบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ และจะยังหิตานุหิตประโยชน์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายตลอดกัลปาวสาน


๏ กำหนดการงานพิธีฉลองพระบรมธาตุเจดีย์ฯ

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เป็นประธานสำหรับพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พิธีเปิดและฉลองพระบรมธาตุเจดีย์ฐิตสีลมหาเถรานุสรณ์ ณ วัดรังสีปาลิวัน จ.กาฬสินธุ์ ในวันที่ ๓-๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐

วันเสาร์ที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ เวลา ๐๗.๓๐-๑๘.๓๐ น. พ่อแม่ครูบาอาจารย์ พระภิกษุสามเณรออกรับบิณฑบาตในวัด ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ พิธีบวชชีพราหมณ์ หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน แสดงพระธรรมเทศนา และถวายผ้าป่า

วันอาทิตย์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๐ เวลา ๐๗.๓๐-๐๙.๓๐ น. พ่อแม่ครูบาอาจารย์ พระภิกษุสามเณรออกรับบิณฑบาตในวัด ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เป็นประธานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และแสดงพระธรรมเทศนา เป็นเสร็จพิธี








“พระบรมธาตุเจดีย์ฐิตสีลมหาเถรานุสรณ์” ณ วัดรังสีปาลิวัน



.............................................................

♥  รวบรวมและคัดลอกเนื้อหามาจาก ::
(๑) หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า ๓๑ คอลัมน์ อริยะโลกที่ ๖
วันที่ ๐๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๕๙๑๐
(๒) หนังสือฐิตสีลานุสรณ์ หน้า ๒๗
(๓) หนังสือพระธุตังคเจดีย์ เจดีย์แห่งพระอรหันต์
วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
♥  ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพทุกแหล่ง
โดยเฉพาะจาก fb. ท่องถิ่นธรรม พระกรรมฐาน,
fb. Adisak Taesuwan, fb. ณรงค์ชัย โตประเสริฐ
และเว็บไซต์ http://www.livekalasin.com/
                                                                                       
.....................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=19528

7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-6 09:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
รูปภาพ-รูปหล่อหลวงปู่เขียน ฐิตสีโล






อัฐิธาตุหลวงปู่เขียน ฐิตสีโล








                                                                                       
.....................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=19528

กราบท่านครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้