ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 4590
ตอบกลับ: 7
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

>> สารพัน 'ยันต์' ไทย เนื้อในคือ ความว่าง <<

[คัดลอกลิงก์]
สารพัน 'ยันต์' ไทย   เนื้อในคือ ความว่าง
                                                                                                 โดย : ปานใจ ปิ่นจินดา


         เมตตามหานิยม อยู่ยงคงกระพัน โชคลาภพูนทวี...อักขระยอดนิยมบนผืนยันต์ เป็นไปตามดีมานด์คนสมัยใหม่ที่ต้องการอยู่ไม่กี่อย่าง..อยากรวย ไม่อยากตาย

        น้ำหมึกทุกหยดหยาดที่ถูกจารลงเป็นลายยันต์ นอกเหนือจาก "ผลลัพธ์" ที่คาดหมายแล้ว ยังมี "ข้อความ" อะไรเคลือบแฝงให้ค้นหาอีกหรือไม่


นับแต่บรรทัดนี้ไป จึงเป็นอะไรที่มากกว่า "คำเตือน : นี่เป็นความเชื่อส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน"


สืบทอดพระธรรม


         "ยันต์ไทยแท้ตำรับโบราณโดยเฉพาะยันต์ภาคกลางซึ่งสืบทอดมาแต่สมัยบรรพกาลนั้น แท้จริงล้วนแล้วแต่สะท้อนถึงแก่นธรรมด้วยกันแทบจะทั้งสิ้น" คือ คำบอกเล่าของ ณัฐธัญ มณีรัตน์ เจ้าของผลงานหนังสือ "ระบบเลขยันต์: แผนผังอันศักดิ์สิทธิ์" ซึ่งได้อธิบายระหว่างร่วมงานสัมมนาวิชาการเรื่อง "เครื่องราง ของขลัง วัฒนธรรมชาวพุทธในสุวรรณภูมิ" จัดโดยศูนย์คติชนวิทยา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยบอกว่าระบบเลขยันต์ในภาคกลางเกิดจากการบูรณาการแนวคิดทางพระพุทธศาสนาเข้ากับเลขยันต์จนกลายเป็นแบบแผนเฉพาะตัวที่ซ่อนนัยยะอันลึกซึ้ง

ว่าแล้วคนหนุ่มรุ่นใหม่ วัย 36 อย่างณัฐธัญ ก็ออกตัวช่วยแก้ต่างให้แก่ตำรับยันต์มรดกชาติ ที่ถูกคนหัวสมัยใหม่มองอย่างดูแคลน เต็มไปด้วยคำถามคลางใจในเชิงที่ว่า "ยันต์เป็นเรื่องไร้สาระ เป็นเรื่องของคนที่ขาดปัญญา" โดยเขาขอให้มองเสียใหม่อย่างใจเป็นธรรม ที่สำคัญคือให้ความยุติธรรมกับบูรพาจารย์ที่คิดประดิษฐ์เลขยันต์เอาไว้ เพราะอันที่จริงแล้วเขามองว่าสิ่งที่ซ่อนอยู่ในยันต์นั้นลึกซึ้งเกินกว่าที่คนไทยสมัยใหม่จะเข้าใจได้เสียมากกว่า
ตัวขีดเขียนยึกยือ หรือ อักขระขอมที่เหมือนจะคุ้นตาแต่อ่านไม่ออกนั้น จริงๆ แล้ว คือการย่อหัวใจของพระพุทธศาสนาลงมาใส่ไว้เพื่อสืบทอดมิให้พุทธศาสนาตกหล่นสูญหายไป โดยใช้ความศักดิ์สิทธิ์และอภินิหารมาเป็นสิ่งล่อใจ
ณัฐธัญ อธิบายว่าสิ่งที่ถูกเรียกว่าเลขยันต์ และคาถาอาคมนั้น แฝงด้วยปรัชญาอันลึกซึ้งที่สะท้อนถึงคำสอนทางพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจน เช่น คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร ในตอนท้าย บทสรุปที่เป็นมนตร์สำหรับใช้ท่อง แท้ที่จริงก็คือ อุบายล่อใจให้ผู้มีศรัทธาสนใจในพระสูตร เพราะพระสูตรกล่าวถึงความศักดิ์สิทธิ์และอภินิหารที่ผู้ท่องนึกว่าเป็นมนต์หรือคาถา แต่หากเข้าใจในเนื้อความของพระสูตรได้ จิตของผู้ท่องบ่นย่อมดำรงอยู่ในกุศลธรรม

การท่องบ่นตามพระสูตรถึงผู้ท่องจะไม่เข้าใจ แต่การ(หลอก)ให้ท่องจนขึ้นใจนั้นอย่างน้อยก็ยังสืบทอดพระสูตรให้ยังคงอยู่และตกทอดไปถึงหูผู้ที่ฟังแล้วเข้าใจไม่วันใดก็วันหนึ่ง
"เปลือกหุ้มแก่น" คือ คำเปรียบเปรยที่ณัฐธัญใช้อธิบายถึงกุศโลบายเช่นนี้


สานต่อตำรายันต์


สำหรับใครที่ไม่คุ้นเคยกับเรื่องเครื่องรางของขลัง ทั้งยังไม่เคยรู้ว่ากว่าจะได้มาซึ่งยันต์นั้น ผู้เขียนยันต์ต้องผ่านการฝึกฝนอย่างไรจึงจะสามารถจารอักขระเข้มขลังจนเกิดเป็นยันต์ได้ รศ.สุกัญญา สุจฉายา อาจารย์จากศูนย์คติชนวิทยา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมอธิบายโดยสรุปความจากคัมภีร์ปถมัง คัมภีร์อิธะเจ คัมภีร์ตรีนิสิงเห คัมภีร์มหาราช และ คัมภีร์พุทธคุณ อันเป็น 5 ตำรายันต์โบราณซึ่งมีพบเฉพาะภาคกลาง

"คัมภีร์ปถมัง" คือ ตำราเล่มแรกในการเล่าเรียนเรื่องเลขยันต์ เนื้อความในคัมภีร์กล่าวถึงการอุบัติของพระเจ้าทั้ง 5 พระองค์ การบำเพ็ญบารมี จนถึงสูญนิพพาน โดยผู้ศึกษาจะต้อง "เขียน" และ "ลบ" สัญลักษณ์ต่างๆ เริ่มต้นจาก พินทุ จากนั้นเกิดเป็นส่วนประกอบทั้ง 5 สำเร็จเป็นตัว นะ เรียกกันว่า นะพินทุ จากนั้นก็นมัสการ เสก แล้วลบเป็นอักขระ นะโมพุทธยะ จากนะโมพุทธายะ เป็น องค์พระภควัม เป็น มะอะอุ เป็น อุณาโลม ตามคัมภีร์ปถมังเรื่อยไปตามลำดับจนกว่าจะถึง สูญนิพพาน

... เป็นอันสิ้นสุดตามตำรา โดยทั้งหมดจะต้องเขียนและลบบนกระดานเรื่อยไปจนจบ ลบครั้งหนึ่งกินเวลาหลายชั่วโมง ได้ผงเพียงไม่เกินหนึ่งช้อนเท่านั้น

ผงปถมังที่ลบเสร็จแล้ว คนโบราณเชื่อว่ามีอานุภาพทางอยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาดกำบังกาย ตลอดจนล่องหนหายตัว เป็นตบะเดชะ จังงังป้องกันภยันตรายทุกประการ

"คัมภีร์อิธะเจ" หรือ อิทธิเจ เป็นการลบผงตามสูตรพระมูลกัจจายน์ ซึ่งเป็นตำราไวยากรณ์บาลีโวราณ ตามวิธีการทำรูปศัพท์ของบาลีไวยากรณ์ อ้างสูตรบริกรรมทำตัวสระ พยัญชนะ มาสมาสสนธิกันจนสำเร็จเป็น อิ ธะ เจ ตะ โส ทัฬ หัง คัณ หา หิ ถา มะ สะ สะ ทำให้ผู้ศึกษามีความเข้าใจในเรื่องสระ พยัญชนะที่มีอยู่ในยันต์ต่างๆ ทำให้สามารถเรียนสูตรอักขระในยันต์ได้ไม่พลาด และยังช่วยให้เข้าใจการออกเสียงในคาถาบทต่างๆ ได้ถูกต้องมากขึ้น

"คัมภีร์ตรีนิสิงเห" มีหลักสำคัญอยู่ที่กลเลข 12 ตัว แบ่งเป็น 4 ชุด ชุดละ 3 ตัวและทุกชุดจะบวกกันได้เท่ากับ 15 ได้แก่ "375, 465, 195, 285" มีความหมายใช้แทนคุณพระตลอดจนเทพยดาในโลกธาตุ ผู้ศึกษาคัมภีร์ตรีนิสิงเหนี้จะสามารถเข้าใจถึงที่มาของตัวเลขต่างๆ ที่มีอยู่ในยันต์

ผงที่ลบจากกลเลขในคัมภีร์ตรีนิสิงเห เชื่อกันว่ามีอานุภาพใช้ป้องกันคุณไสยและภูตผีปีศาจ การกระทำย่ำยีทั้งคุณผีคุณคนได้ทุกประการ ทั้งยังเป็นตบะเดชะมหาอำนาจ คงกระพันชาตรีทั้งคมอาวุธและป้องกันสัตว์ร้าย ผู้ใดสำเร็จผงตรีนิสิงเหจะเป็นสีหนาท สามารถกำราบภูติผี ถอนทำลายอาถรรพ์ต่างๆ ได้

"คัมภีร์มหาราช" เป็นการลบนามของคนทั้งหลายที่กำหนดใช้แทนมนุษย์ทั้งปวง โดยตั้งเป็น เจ้า นาง ออ สัพเพชนา พหูชนา นามทั้ง 5 นี้เป็นสิ่งสมมติใช้แทนมนุษย์หญิงชายทิ้งปวงในโลก จากนั้นลบเป็น นะ โม พุท ธา ยะ ลบเป็น มะ อะ อุ ลงเป็น อุโองการ แล้วลบเป็นยันต์มหาราช ประกอบด้วยอักขระ "งะ ญะ นะ มะ" โบราณเรียกว่า หัวใจสนธิอันเป็นพยัญชนะตัวที่สุดวรรคและตัวพยัญชนะนาสิกในบาลีไวยากรณ์

การฝึกลบผงมหาราชจะทำให้ผู้ศึกษามีความเข้าใจเรื่องวิธีการลากเส้นของยันต์ต่างๆ รวมถึงการนำเอาอักขระเข้าไปไว้ในยันต์ โดยผงที่ได้จากการลบยันต์ตามคัมภีร์มหาราช เชื่อกันว่ามีอานุภาพทางด้านมหานิยม อำนวยความเจริญรุ่งเรือง และเป็นเสน่ห์แก่ชนทั้งหลาย

"คัมภีร์พุทธคุณ" เป็นการลบอักขระจาก อิติปิโส บทต้นห้องพระพุทธคุณโดยใช้ พระอิติปิโสรัตนมาลา 56 บท ตั้งเป็นทีละอักขระ นับแต่ อิ ติ ปิ โส ภะ คะ วา เป็นต้นจนถึง ภะ คะ วา ติ ลบเป็น นะ โม พุ เป็น มะ อะ อุ แล้วลบเป็น อิ สวา สุ และลบเป็น โส ธา ยะ จากนั้นทำเป็นองค์พระ เสกด้วย พระคาถาพุทธนิมิต เรียกว่า "ผงพุทธคุณ"

การฝึกลบอักขระตามคัมภีร์รัตนมาลาจะช่วยให้ผู้ศึกษาเข้าใจถึงอักษรในหมวดพุทธคุณที่ลงในยันต์ต่างๆ ส่วนผงที่ได้จากการลบอักขระในคัมภีร์พุทธคุณเชื่อกันว่ามีอานุภาพครอบจักรวาล ทั้งทางคุ้มครองป้องกัน แล้วยังเป็นเมตตามหานิยมอีกด้วย

"ตำรายันต์ทั้ง 5 เล่มนี้แม้ว่าปัจจุบันจะยังมีวางขายตามท้องตลาด แต่กลับหาคนที่รู้และอ่านตำราได้แตกฉานน้อยนัก ขณะที่พระสงฆ์ซึ่งถูกคาดหวังว่าจะสามารถอ่านบาลีสันสกฤตตลอดจนอักษรขอมโบราณได้ วันนี้ก็แทบจะไม่มีแล้ว ถ้าจะคะเนอย่างคร่าวๆ ยันต์ที่เราพบเห็นในทุกวันนี้ ที่ถูกต้องตามตำราจริงๆ น่าจะมีอยู่ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง" รศ.สุกัญญา กล่าว



พังเพราะมือคน

         ระบบการสืบทอดพระธรรมผ่านยันต์ที่ถูกคิดค้นชนิดกลซ้อนกลของคนโบราณนั้น สุดท้ายได้กลายเป็นดาบสองคมย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง เพราะแทนที่จะหลอกให้ผู้คนท่องบ่นพระสูตรอย่างกว้างขวางเช่นในแต่ก่อน ทำไปทำมาคนที่ท่องคาถาได้ในวันนี้แทบจะไม่มีเหลือ ยังไม่ต้องพูดถึงคนที่เขียนอักขระได้อย่างรู้จริงนับวันแทบจะหาไม่พบ

         ที่สำคัญกว่านั้น ก็คือความจริงที่ว่าอาจารย์ผู้น่าเกรงขามหลายต่อหลายท่านซึ่งตั้งตนเป็นเจ้าสำนักยันต์ แท้ที่จริงน่าจะเรียกว่าเป็น "อาจารย์คาร์บอน" เสียมากกว่า เพราะที่ทำได้คือลอกลายให้เหมือน แต่ไร้ซึ่งแบบแผนของการลงอักขระตามตำรับโบราณแท้ๆ

         แต่อะไรก็ไม่น่าเศร้าไปกว่าการที่ได้ยินและได้เห็นความคิดความเชื่อผิดๆ ของคนไทยที่เกิดอาการเห่อบวกฮิตไปกับปรากฏการณ์เฟื่องฟูของ "ตัวช่วยในฝัน" ให้ชีวิตง่ายและดีขึ้นแบบไม่ต้องเหนื่อยแรง

        เอ่ยชื่อของ "พระสังข์ทอง" พระเอกในวรรณคดีพื้นบ้านซึ่งมีรูปเงาะเป็นเกราะผู้นี้ เป็นคนที่มี "ของดี" เพราะนอกจากจะกระโดดลงบ่อทองชุบเนื้อตัวจนเป็นสีทองอร่ามแล้วก็ยังมีคาถาอาคมเรียกเนื้อเรียกปลาได้ แล้วยังมีอิทธิฤทธิ์ถึงขนาดเหาะขึ้นไปตีคลีชนะพระอินทร์อีกด้วย ถ้าเป็นสมัยใหม่ก็ต้องเรียกว่าร้อยตำรวจตรีปลอมตัวมา

       แล้วก็พระสังข์ทองนี่แหละที่ได้รับมอบหมายบทบาทใหม่ ไปนั่งร่ายมนต์เรียกเนื้อเรียกปลาอยู่บนผืนผ้ายันต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยหวังกันว่าผู้ที่มียันต์พระสังข์ติดตัวจะมีโชคลาภ สมบูรณ์พูนสุข อยากได้รถเป็นได้ อยากได้บ้านเป็นลอยมา เหมือนคาถาที่พระสังข์มี

       ส่วน "นางยักษ์พันธุรัต" แม่เลี้ยงของพระสังข์ก็ดังตามมาติดๆ กลายเป็นอีกหนึ่งลายฮิตบนผืนยันต์ ก็เนื่องด้วยนางเป็นต้นตำรับคาถาจินดามณี เรียกเนื้อเรียกปลาที่พระสังข์ชำนิชำนาญ แล้วยังมีบ่อเงินบ่อทองที่นางครอบครองอีก ทำเอาคนไทยตาลุกวาวอยากได้บ้างสักบ่อสองบ่อ ว่าแล้วจึงปรี่เข้าสำนักยันต์ขอให้อาจารย์จัดนางพันธุรัตให้สักหนึ่งลาย

       ยังอยู่ในหมวดรรณคดี อีกลายหนึ่งคือ  "ขุนแผนโคโยตี้" ซึ่งในที่นี้คงต้องยกความดี(ที่มิชอบ)ของอาจารย์ท่านหนึ่งที่กลัวว่าลูกศิษย์จะเนื้อหอมน้อยไป คาสโนว่าระดับขุนแผนกลายเป็นจิ๊บๆ เพราะยุคนี้ต้องแนบข้างด้วยโคโยตี้สาวสวยเอ็กซ์ถึงจะสมใจ

         นอกตำรากันจนถึงขนาดหันมายกย่องนับถือ "ชูชก" ขอทานจรจัดผู้ซึ่งก่อเวรสร้างกรรมไว้นับไม่ถ้วน หนำซ้ำยังจบชีวิตอย่างน่าสยดสยอง โดยจัดให้ชูชกเป็นตัวแทนของความสมปรารถนา "ขออะไรก็ได้" นัยว่าเรื่องความสบายได้สิ่งที่ต้องการโดยไม่ต้องเปลืองแรงดูจะเป็นที่ถูกอกถูกใจพี่ไทยเป็นพิเศษ จนทำให้ชูชกขึ้นแท่นอีกหนึ่งลายท็อปฮิตด้วยเช่นกัน

          เพราะความฝันที่อยากจะเป็นอยากมีเหมือนอย่างตัวละครในนิยาย ก็เลยกลายเป็นว่า คนไทยวันนี้บ้าคลั่งลายยันต์เรียกโชคลาภกันถึงขนาด ไม่รู้เหตุรู้ผล.. ไม่รู้เหนือรู้ใต้.. ไม่รู้ขาวไม่รู้ดำ

ที่สำคัญ ..ไม่รู้ "ผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี"

           ทั้งๆ ที่หากย้อนกลับไปดูที่จุดเริ่มต้นของการหัดเขียนยันต์แล้วนั้น ไม่ว่าจะเป็นไปตามคัมภีร์โบราณฉบับไหน ต่างก็ต้องมีขั้นตอนสำคัญที่การ "ลบผง" เพื่อสะท้อนถึงพระธรรมขั้นสูงสุด อันเป็นความหมายที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความเชื่อ ความศรัทธาของผู้คนนั่นก็คือ "ความว่างเปล่า"

เพราะในทางธรรมการฝึกลงอักขระยันต์ ก็ได้แก่การบำเพ็ญจิตของผู้ฝึก จนกว่าจะถึง "นิพพาน" เป็นขั้นสุดท้าย



สะท้อนถึงสัจธรรมที่ว่า... ท้ายสุด ก็คือ "สุญตา" นั่นเอง

http://www.bangkokbiznews.com/ho ... B8%B2%E0%B8%87.html


ขอบคุณครับ
ขอบคุณครับ
สะท้อนถึงสัจธรรมที่ว่า... ท้ายสุด ก็คือ "สุญตา" นั่นเอง


กุศโลบายที่คณาจารย์ท่าน หลอก

ให้พวกที่ชอบเล่นฤทธิ์

เข้าถึงพระธรรม นั้นเอง

สาธุ

ใครอย่าปรามาส ว่าการเขียนยันต์เป็นสิ่งงมงาย

ขอบคุณครับ
ขอบคุณครับ
ขอบคุณครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้