ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1738
ตอบกลับ: 3
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

บุญข้าวสลาก

[คัดลอกลิงก์]
บุญข้าวสลาก



วันนี้เป็นวันธรรมสวนะ ซึ่งประกอบด้วยเดือน ๑๐ เพ็ญภาษาประเพณีบ้านเราเรียกว่า "บุญข้าวสาก" (สลาก) ศัพท์เดิมมาจากคำว่า  ข้าวสลากภัต ตามภาษาบ้านเราเรียกว่า "ข้าวสาก"(ภาษาท้องถิ่นอิสาน)ความเป็นจริง คำว่า  "สาก" มันออกมาจาก "สลาก"สลากภัต... ประเพณีบรรพบุรุษของเราทั้งหลายนับถือกันว่าเป็นบุญในกลางพรรษา จะมีการทำบุญกันในช่วงเดือน ๙ ดับเดือนเพ็ญ ๑๐

        ในสมัยก่อนนั้น วันนี้จะมีเทศน์ตลอดวัน แจกหนังสือเป็นกัณฑ์ให้พระภิกษุสามเณรกันทุกปี ข้าวสลากภัต... เนื่องมาจากญาติโยมทั้งหลายถวายทาน จับสลากกัน คือญาติโยมเขียนชื่อพระภิกษุสามเณรลงในบาตร แล้วให้ญาติโยมจับสลาก ใครจับถูกพระองค์ไหนก็เอาไทยทานไปถวายพระภิกษุองค์นั้น เรียกว่า "ข้าวสลาก" เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลหาเปรตญาติทั้งหลาย ซึ่งเป็นบุพการี ระลึกถึงคุณบิดามารดา ซึ่งเป็นที่นับถือของกุลบุตรลูกกหลาน ตามประเพณีของเราเรียกว่า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยายที่ล่วงลับไปนมนาน และสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่ดับขันธ์ไปสู่ปรโลกหน้า และที่ยังมีจิตวิญญาณเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสาร

        
        ในกลางพรรษาแต่ละคราวทำบุญครั้งหนึ่ง เรียกว่า บุญข้าวสลาก บ้านเราแต่ก่อนห่อข้าวสาก (ประเพณีชาวอิสาน) ห่อข้าวไปวางไว้ตามรอบๆวัด หรือรอบๆบ้านเรา เป็นประเพณีของพวกเราทั้งหลายเคยทำกันมาทุกๆปีมิได้ขาด แล้วก็เอาเรื่องชาดกต่างๆมาเทศน์ เกี่ยวกับนิยายของบรรพบุรุษทั้งหลาย เอามาเทศน์สู่กันฟัง ปีหนึ่งๆจะต้องทำกัน และมีกฎเกณฑ์ว่าวันนี้พวกเราที่เป็นชาวพุทธ เป็นลูกเป็นหลานของบิดามารดาที่ล่วงลับไปแล้วได้พากันมาให้ทานพ่อแม่ โบราณเขาถือว่าวันนี้ยมบาลปล่อยเปรตปล่อยสัตว์นรกมารับของแจกทาน ในศาลาโรงธรรมสมัยก่อนไม่เรียกว่า "ศาลาโรงธรรม" แต่เรียกว่า "หอแจก" คือหมายความว่าเป็นสถานที่เราชาวพุทธบริษัทได้มาทำบุญให้ทาน ถวายทาน ในสถานที่นั้นเรียกว่า "หอแจก" เพราะเป็นโรงทานสำหรับแจกอาหารบริโภคขบฉัน เป็นสถานที่แจกทาน ทุกวันนี้เรียกว่า "ศาลาโรงธรรม" เป็นสถานที่ฟังธรรม อธิบายธรรมะ เกี่ยวกับการแนะนำพร่ำสอนกุลบุตรลูกหลาน พวกเราทั้งหลาย เราที่ทำกันมาอย่างนี้เรื่อยๆตลอดมา เรียกว่าการทำบุญ รวมเป็นบุญอันเดียวกัน ชื่อของบุญต่างกัน แต่ว่ามารวมเป็นบุญอันเดียวกัน เหมือนกับคนเราถึงว่าชื่อจะแตกต่างกัน ก็ชื่อว่าเป็นคนธรรมดาอันเดียวกัน แต่ชื่ออาจจะแตกต่างกัน แต่ก็เป็นคนเหมือนกัน


        การทำบุญสุนทานเรียกว่า "บุญ" "บุญ" คือความดี สร้างความดี สร้างความดีเมื่อใดนั้นแหละท่านเรียกว่ามันเป็นบุญ เรียกว่าได้บุญ คนเราไม่เข้าใจเรื่องบุญ มาทำบุญก็นึกว่าได้บุญ กลับบ้านก็ไม่เอาบุญไปด้วย พระพุทธองค์ท่านสอนว่าให้เอาบุญกลับไปด้วย จึงได้มาฟังธรรมกัน ฟังธรรมแล้วก็รู้จักผิด รู้จักถูกแล้วก็จำคำนั้นไปปฏิบัติ รักษากาย รักษาวาจา รักษาใจเรา อยู่ที่บ้าน เรียกว่าเป็นผู้มีบุญ ถ้าใครเป็นผู้มีบุญก็จะมีความสุขความสบายในครอบครัวตลอดถึงหมู่บ้าน ถ้าบ้านไหนมีบุญ ไม่ใช่บุญแบบบุญบ้องไฟ ซึ่งมีแต่การตีรันฟันแทงกัน อันนี้ชื่อว่าบุญแต่ว่าไม่เป็นบุญ


        คำที่ว่าบุญคือความดี พี่น้องทั้งหลายก็ว่ามาเอาบุญ กลับไปบ้านลูกหลานถามว่ามาแต่ไหนแม่ ตอบลูกว่ามาจากการเอาบุญแล้วลูกถามต่อไปอีกว่า บุญอยู่ไหนแม่ ตอบลูกไม่ได้ซะแล้ว ได้แต่ถ้วยเปล่ากลับบ้าน ได้แต่กล่องข้าวเปล่ากลับบ้าน พระฉันหมด เพราะพวกเราไม่รู้จักคำว่าบุญกัน จึงตอบลูกไม่ได้ เลยไม่เคยได้บุญกัน แล้วก็มีคนบางคนเคยบ่นว่าทำบุญไม่เคยเห็นได้บุญอะไร เอาข้าวไปก็หมดข้าว เอาแกงไปก็หมดแกง ไม่ได้บุญอะไร อย่างนี้เรียกว่า คนไม่รู้จักบุญ เลยไม่ได้บุญสักที


        คำว่า "บุญ"ก็ คือความดี ความดีที่เกิดจากการปฏิบัติเอาการละบาปทางกาย ทางวาจา ทางใจของเรา เข้าใจแล้วก็นำไปปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าจะมาเอาบุญแต่ในวัด ไปบ้านเป็นพ่อบ้านแม่บ้านเป็นลูกเป็นหลานในครอบครัว ก็ทำให้ครอบครัวหมู่บ้านของเราอยู่เย็นเป็นสุข เพราะพูดกันดี ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน มีความถูกต้องสามัคคีกัน แม่บ้านก็ทำหน้าที่ของแม่บ้านให้ถูกต้องพ่อบ้านก็ทำหน้าที่ของพ่อบ้านให้ถูกต้อง ต่างคนต่างก็พยายามสร้างความดีกันทุกคน ความเลวร้ายก็ไม่เกิดขึ้นมา นี้เรียกว่าบุญบุญคือความดี ถ้าไปตั้งอยู่ที่ไหนก็สบาย ถ้าใจเราเป็นบุญ ความจริงต้องให้ใจของเรารับเอาบุญ รับเอาความดีไปประพฤติปฏิบัติชำระบาปคือความชั่วทั้งหลายออกจากใจของเรา อย่าให้มีราคะ โทสะ โมหะ ให้อดให้กลั้น ให้หมั่นเพียร ให้ถูกต้อง สามัคคีกลมเกลียวกันทั้งพ่อแม่ลูกหลานบ้านเมือง มันก็จะเห็นบุญได้ ทำไมจะไม่เห็น คือความดีมันตั้งขึ้น มีขึ้นอยู่ที่ไหน บ้านนั้นก็อยู่เย็นเป็นสุข นี้ชื่อว่าเราได้เอาบุญไปด้วย เอาไปประพฤติปฏิบัติถ้าไม่ได้ประพฤติปฏิบัติด้วยกายวาจาของเราแล้ว บุญก็ไม่เกิด บุญก็ไม่มี ขึ้นชื่อว่าบุญคือความดี ความถูกต้อง ความดีที่ปราศจากโทษ มีอยู่ในใจของใคร คนนั้นก็เป็นบุญ


        ถ้าใจเป็นบุญ จะไปอยู่ที่ไหนก็มีความดีเกิดขึ้นมา ให้พากันเข้าใจคำว่าบุญ ถ้าคนไม่รู้จักบุญก็ไม่ได้ปฏิบัติ ไม่รู้ว่าบุญอยู่ที่ไหน เพราะว่าบุญไม่เป็นวัตถุ คือจิตใจเรามันเป็นบุญ มีเมตตาความรักใคร่ หวังให้ผู้อื่นเป็นสุข มีความกรุณา ความสงสาร มนุษย์ทั้งหลายเกิดขึ้นมาร่วมโลกอันเดียวกัน เป็นญาติกัน ญาติคือความแก่ ญาติคือความเจ็บ ญาติคือความตาย


        พระพุทธเจ้าของเรา พระองค์สอนให้กระทำในปัจจุบัน ให้มีบุญในปัจจุบัน อย่างเราทำบุญอุทิศไปหาพ่อแม่ของเรา ไม่รู้ว่าพ่อแม่เราอยู่ไหน ไม่มีใครพาไปดูได้ เพราะไม่รู้จัก ฉะนั้นพระพุทธองค์ของเราท่านสอนว่า อย่าไปเอาบุญเมื่อตาย...มันไม่รู้จัก ทำบุญแล้วได้รับหรือไม่ได้รับก็ไม่รู้จัก เพราะอะไร? เพราะไม่ได้ทำไว้ในปัจจุบัน ผู้ตายไปแล้วไม่รู้ว่าไปเกิดที่ไหน หรือว่าไม่เกิดก็ไม่รู้จัก ทำบุญกันไปแบบไม่รู้มันก็เกิดความสงสัย

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-2 10:11 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
        พระพุทธองค์ของเราสอนว่าให้ทำเมื่อมีชีวิตนี้แหละ เป็นคนใจดี เป็นคนใจงาม เป็นคนใจกว้างขวาง ไม่อิจฉาพยาบาทกัน ให้ความสุขซึ่งกันและกัน ทุกคนถ้าเข้าใจธรรมะอย่างนี้ บุญมันก็เกิดขึ้นมาเป็นบุญ ความดีที่ปราศจากโทษนั้นแหละชื่อว่า "บุญ" ถ้าใครรู้จักความดีที่ปราศจากโทษ คนนั้นก็รู้จักตัวบุญ บุญนั้นมันเกิดขึ้นในจิตใจของเรา


        ฉะนั้น วันนี้ท่านจึงถือว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ที่จะปล่อยสัตว์นรกทั้งหลายมารับไทยทานกับลูกหลาน ก็เปรียบประหนึ่งว่าตัวเรานั้นแหละปล่อยตัวเรา คือเรามาวัดวันนี้ เป็นวันบุญข้าวสลาก ก็พยายามมากัน ถึงจะยุ่งยากก็อุตส่าห์มา ปรารภตัวพ่อแม่เราขึ้นเป็นประธานว่าทำบุญอุทิศให้พ่อแม่ เราเกิดมาจากพ่อแม่ทุกคน ถ้าพูดถึงพ่อแม่แล้วก็คิดถึง ก็เลยเป็นเหตุให้มาวัด ถึงจะมีภาระยุ่งยากที่บ้านก็อุตส่าห์มา ลาการลางานมาก็เพื่อทำจิตใจของเราให้สงบระงับ เพื่อให้เป็นบุญเป็นกุศล ให้ใจดี ใจงาม ใจกว้างขวางให้ทำซะในปัจจุบันนี้ดีกว่าวันหน้า ทำวันนี้ดีกว่าวันพรุ่งนี้ ความผิดทั้งหลายที่เกิดมาในเรา เราก็รู้จักในขณะที่เรามีชีวิตอยู่ ความชั่วทั้งหลายที่มันหมดไป ที่เราจะละก็รู้จักในเมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ นี้เรียกว่า "ละบาป บำเพ็ญบุญ"


        พระพุทธศาสนาสอนให้พวกเราทั้งหลายกระทำกันอย่างนี้อยู่กันฉันพี่น้องไม่ให้เป็นอื่น ให้ความสุขคนอื่นก็คือให้ความสุขเราผู้อื่นได้รับความสุขก็เหมือนเราได้ความสุข ในชีวิตหนึ่งเกิดมาอย่างมากก็ ๑๐๐ ปี เป็นอายุขัยของมนุษย์ แต่ไม่ค่อยถึงหรอกในเมื่อเราเกิดมาเราไม่ได้เอาอะไรมา ไม่ได้มาเอาเรือกสวนไร่นา แต่สักว่าเราเกิดมาก็ต้องทำกิน มีถิ่นฐานบ้านเรือน มีไร่นาทำไปได้อาศัยอยู่กินไปเพื่อเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยให้ชีวิตเป็นอยู่ได้ เพื่อได้ทำบุญ เพราะว่าโลกที่เราอยู่อาศัยนี้มันไม่ใช่บ้านเรา ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยที่แท้จริง ถึงจะเป็นของเราก็ไม่ใช่ของเราอย่างแท้จริง เป็นตัวเราก็ไม่ใช่ตัวเราอย่างแท้จริง


        อันนี้จะเห็นได้ง่ายๆว่า เราเคยมีพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย มีพี่น้องมันไม่ยั่งยืน เดี๋ยวก็จากหายไป ไม่รู้ว่าไปไหน ผลที่สุดก็เหลือแต่ผู้เกิดภายหลัง เหมือนกันกับผลไม้เป็นดอกแล้วก็เป็นผลเป็นผลเล็กๆแล้วก็ห่าม ห่ามแล้วก็เละ แล้วก็ร่วงหล่นไป มันเป็นไปในทำนองนี้ คนเราก็ไม่แตกต่างจากผลไม้ แต่ว่าเราไม่ค่อยรู้จักเมื่อเกิดมาแล้วก็ไปยึดมั่นถือมั่นว่าอันนี้เป็นตัวเราอย่างแน่นอนถึงอย่างไรก็อยู่ไม่ได้ในโลกนี้ จำเป็นต้องลาโลกนี้ไปเบื้องหน้า คนเราเกิดมาจึงทุกข์มาก ทุกข์เพราะว่าไปหมายมั่นของที่ไม่ใช่ของตนว่าเป็นของตน เมื่อเกิดมาแล้วไม่อยากแก่สักคน ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากไปทางไหน แต่ก็ไม่ได้ตามปรารถนา เราจำเป็นก็ต้องไป จำเป็นต้องหนี ถึงแม้จะเรียกร้องให้อยู่ ไม่อยากหนีก็ต้องหนี ผู้ไม่อยากหนีร้องไห้อยากอยู่ก็ไม่ได้อยู่ เป็นเรื่องจำเป็นของมันอย่างนี้


        ฉะนั้นพระบรมศาสดาของเราท่านจึงบอกว่า "อย่าประมาท" เป็นหนุ่มเป็นสาวบางคนก็หลง ไม่รู้ว่ามาจากไหน จะไปไหนไม่รู้จักผลที่สุดพออายุแก่หน่อยก็พอรู้จักหรอก แต่ช่วงที่อยู่ในวัยหนุ่มๆนี้ก็เพลิดเพลินมาก พอแก่มาสักหน่อยฟันมันโยก ฟันมันหลุด เอ้า!...ลองดูทีนี้ เดินไปตามทางเด็กมันบอกร้องเพลงให้มันฟัง ก็ไม่อยากร้องหรอก คือมันไม่เพลิดเพลินเหมือนแต่ก่อน มันไม่อยากจะเพลิดเพลิน เพราะมันไม่ใช่ที่อยู่ของเรา มันเสื่อมไปนี้แหละมันไม่ใช่ของเราแท้ๆ ถ้าไม่ใช่ของเราจะทำอย่างไร? พระพุทธองค์ท่านว่าให้สร้างความดี สิ่งที่นำพาไปสู่ที่ดีนั้นแหละ ถ้าพูดถึงธรรมะอันสูงนั้น พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าให้พ้นจากเกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่พวกเราก็ไม่อยากจะไปกัน... ไปพระนิพพาน...ว่ามันไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ก็ไม่อยากไป กลัวจะไม่เห็นหน้าเพื่อนฝูง กลัวจะไม่เห็นหน้าลูกหลาน เรามันติดอยู่อย่างนี้ เพราะไม่ได้ฟังธรรมะอันแท้จริง เห็นอะไรก็ห่วงใยอยู่ตลอดกาลตลอดเวลา ใจเราเศร้าหมองไม่ได้ผ่องใส ไม่ได้สะอาด มันขุ่นมัว  ใจขุ่นมัวเมื่อใดการพูดเราก็เป็นอกุศลกรรม การกระทำของเราก็เป็นบาป ไม่ผ่องใส เราไม่ต้องดูจากที่อื่น ดูที่ตัวของเรานี้แหละ เวลาเราโกรธทำไมมันถึงพูดไม่เพราะ ไม่น่าฟัง กรรมนี้แหละมันบังคับให้ทำความชั่วอยู่เรื่อยไป


        ฉะนั้น พระพุทธเจ้าของเราท่านจึงสอน สอนสิ่งที่เราเป็นอยู่นี้แหละให้รู้จักเพราะเราไม่ค่อยรู้จัก สมัยก่อนพอถึงบุญข้าวสลากบุญข้าวประดับดิน ก็เอาหนังสือชาดกมาอ่าน เทศน์ไปโน้น เทศน์ไปเรื่องของคนอื่น ไม่เทศน์เรื่องของพวกเราสักที มันก็เลยไม่รู้เรื่องของตัวเอง

        บุญข้าวสลากนี้ตามประวัติกาลมันเกิดมาจากบุคคล มันเกิดมาจากเรื่องของเมียน้อยกับเมียหลวง มีคนๆหนึ่ง มีสามีแล้วแต่ไม่มีลูกด้วยกัน มีแต่สองสามีภรรยาอยู่ด้วยกัน ก็กลัวว่าจะไม่มีผู้สืบวงศ์ตระกูล อยากจะได้ลูกเพื่อไว้รับมรดก เมียหลวงก็เลยไปหาเมียน้อยมาให้ผัว เพราะว่าอยากได้ลูกเพื่อจะได้สืบวงศ์ตระกูล พอได้เมียน้อยมาอยู่ด้วย เมียน้อยก็ตั้งท้อง ฝ่ายเมียหลวงกลัวว่าเมียน้อยจะได้รับมรดกคนเดียว จึงคิดจะทำลายลูกของเมียน้อย คือหายามาทำลายครรภ์ของเมียน้อยให้ตกไป (แท้งลูก) ทำอยู่หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายได้เอายาพิษให้เมียน้อยกินเป็นเหตุให้เมียน้อยตายทั้งลูกทั้งแม่ ก่อนที่เมียน้อยจะตายก็รู้ว่าเมียหลวงเป็นผู้ทำลายตัวและลูก จึงผูกพยาบาทอาฆาตไว้ว่า เกิดชาติไหนๆ ก็ขอให้ได้ฆ่าลูกของเมียหลวง และตัวของเมียหลวง เพื่อเป็นการแก้แค้นด้วย จึงเป็นเหตุให้เกิดการจองเวรกันขึ้น ระหว่างเมียน้อยกับเมียหลวง

        พอเกิดชาติใหม่ เมียหลวงเกิดเป็นไก่ เมียน้อยเกิดเป็นแมว แมวก็ไปกินไข่ของไก่ และกินตัวไก่ด้วย ตายจากชาตินั้นคนหนึ่งเกิดเป็นเนื้อ คนหนึ่งเกิดเป็นเสือ ผูกเวรกันไปเรื่อยๆ ตามทำลายกันอยู่ทุกๆชาติ ทุกๆภพ ครั้งสุดท้ายคนหนึ่งเกิดมาเป็นคน คนหนึ่งเกิดมาเป็นยักษ์ ลูกของคนเกิดมานางยักษ์ก็จับไปกิน หลายต่อหลายครั้ง พอดีตั้งครรภ์อีกครั้งหนึ่งก็คิดว่าจะไปคลอดลูกที่บ้านแม่ของตน ฝ่ายนางยักษ์พอทราบข่าวว่านางมนุษย์จะไปคลอดลูกที่บ้านแม่ก็เลยตามไป นางมนุษย์ยังไม่ถึงบ้านแม่ก็คลอดลูกในระหว่างทาง นางจึงอุ้มลูกไปที่สระน้ำ ขณะที่นางอุ้มลูกอยู่ ฝ่ายสามีก็ลงไปอาบน้ำในสระ นางยักษ์ ก็มาถึงพอดี ก็ตรงเข้าไปจะแย่งลูกของนางมนุษย์คนนั้น นางมนุษย์พอเห็นนางยักษ์มาแย่งลูกของตัวก็วิ่งหนี นางยักษ์ก็วิ่งตาม เป็นเหตุบังเอิญอย่างไรไม่ทราบ นางมนุษย์ก็วิ่งเข้าไปในวัดเชตวัน อันเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ ขณะนั้นพระพุทธองค์กำลังแสดงพระธรรมให้พุทธบริษัทฟังอยู่ นางมนุษย์พอวิ่งเข้าไปถึงก็ เอาลูกไปวางไว้ตรงหน้าพระพุทธเจ้านางยักษ์ก็วิ่งตามไป พระองค์ก็บอกให้หยุด


        พระพุทธองค์ตรัสว่า เธอทั้งสองคนในอดีตกาลเคยจองเวรกันมาหลายภพหลายชาติแล้ว เวรจะไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่เวรจะระงับได้ด้วยการไม่จองเวรกัน นางยักษ์พอได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าก็เกิดความกลัว เกิดความละอายต่อบาป ก็รับศีลห้าจากพระพุทธองค์ว่า จะไม่เบียดเบียนกันต่อไปอีก พระพุทธองค์ก็เลยให้นางมนุษย์เอานางยักษ์ไปเลี้ยงดูด้วย


        นางยักษ์มีความรู้พิเศษอย่างหนึ่ง คือสามารถรู้ว่าปีไหนน้ำมาก ปีไหนน้ำน้อย นางมนุษย์ก็ได้อาศัยนางยักษ์จึงรู้ว่าปีไหนน้ำมากก็ทำนาในที่ดอน ปีไหนน้ำน้อยก็ทำนาในที่ลุ่ม นางมนุษย์ทำนาไม่ผิดหวัง น้ำน้อยก็ได้ผล น้ำมากก็ได้ผล พวกชาวบ้านสงสัยจึงถาม ก็ทราบเรื่องราวทั้งหมด ที่ทำนาได้ผลดีก็เพราะนางยักษ์เป็นผู้บอกว่าฝนจะมากหรือจะน้อยประการใด ถ้าพวกชาวบ้านทั้งหลายอยากอยู่กินอุดมสมบูรณ์ ก็มาช่วยเลี้ยงดูนางยักษ์นี้ด้วยกัน จึงเป็นเหตุให้มีการบนบานกันมาตามบ้านเล็กเมืองน้อย เช่นมีปู่ตา ศาลตาแฮกขึ้นมา พอถึงฤดูทำนาก็มีการเลี้ยงดูปู่ตา เลี้ยงตาแฮก เป็นประเพณีสืบเนื่องมาจากเรื่องเมียน้อยกับเมียหลวงนี้เอง


        พอถึงกาลของงานบุญข้าวสลากภัต ก็เอามาให้นางยักษ์กินตามสบาย อุดมสมบูรณ์ ฟ้าฝนก็ตกถูกต้องตามฤดูกาล ได้ทำไร่ทำนาไม่ผิดหวัง การทำอย่างนี้จนมาถึงเราทุกวันนี้ จึงเป็นเหตุให้มีปู่ตาย่าแฮก ทุกอย่างต้องมีการบวงสรวง เป็นประเพณีเนื่องมาจากเรื่องของนางยักษ์นี้เอง

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-2 10:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
        อันนี้เป็นนิทาน ท่านยกตัวอย่างให้เราได้เห็น พระพุทธองค์ท่านไม่สอนไปอย่างนั้น ท่านสอนว่า ให้พวกเรามีศีลธรรมให้มีธรรมะอยู่ ในใจของเราให้มี "ขันติ" ความอดทน ให้มี "วิริยะ" ความเพียรให้ มี "สมาธิ" ความตั้งใจมั่น ชำระความโลภ ความโกรธ ความหลงให้มันหายคลายจากไป ให้อ่านเข้ามาที่ตัวเรา อย่าอ่านข้างนอก


        พระพุทธองค์ท่านสอนว่าให้มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา สอนศีลสอนสมาธิให้ เป็นหลักของพุทธศาสนา        ศีลคืออะไร? คือการไม่เบียดเบียนกัน ไม่ลักขโมยของกันและกัน ไม่อิจฉาพยาบาทกัน ความเดือดร้อนก็ไม่เกิดขึ้นมา ต่างคนต่างก็มีศีล มีกาย วาจา ใจ ข้อประพฤติปฏิบัติไม่ต้องไปเอามาจากที่อื่น ให้เอาจากตัวเรา        "สมาธิ" คือความตั้งใจมั่น ไม่หวั่นไหวในทางที่ถูก มีหน้าที่การงานที่ถูกต้อง พระองค์ให้เราขยันหมั่นเพียรด้วยน้ำพักน้ำแรงของเรา รู้จักหน้าที่การงานของเราทุกประเภท ให้หมั่นขยัน อย่าเป็นคนหละหลวม นี้ก็เป็นสมาธิอันหนึ่ง        "ปัญญา" ให้เป็นคนฉลาดเฉลียว สามารถสอนตัวเราให้พ้นจากความชั่วทั้งหลายได้

        เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เป็นหัวใจของพุทธศาสนา ให้พระท่านฝึกทุกวันนี้ ฝึกญาติโยมฝึกลูกหลานให้ทำวัตรสวดมนต์ รู้จักกราบรู้จักไหว้ รู้จักนั่งสมาธิ ฝึกหัดให้มีศีลธรรม เป็นคนว่าง่ายสอนง่าย เป็นพ่อเป็นแม่เขาก็ให้รู้จักสอนลูกหลาน ลูกหลานก็ให้เป็นคนว่าง่ายสอนง่าย อยู่ในครอบครัวก็อย่าไปทะเลาะเบาะแว้งเถียงกัน ให้ใจดี ใจงาม ให้อดทน แต่โดยมากไม่เป็นอย่างนี้ บางทีสามีภรรยาทะเลาะกันทุกวันก็ได้ ร้องไห้ทุกวันก็มี แต่หนีไม่ได้ มันทุกข์ยากลำบาก อยู่ด้วยกันอย่างไม่มีศีลธรรมก็เป็นอย่างนี้ มันไม่สบาย


        งามเบื้องต้นคือศีล งามท่ามกลางคือสมาธิ งามเบื้องปลายคือปัญญา คนงามถ้ากายงามมันก็งาม กายงามคือการไม่กระทำบาปทางกาย วาจาพูดไม่ตลบตะแลง พูดคำซื่อสัตย์สุจริต ใจก็ให้เป็นใจดี ใจงาม กายก็งาม วาจาก็งาม ถึงจะเอาสีทาปากแดงถ้าใจไม่ดีมันก็ไม่งามหรอก ทาปากแดง ทำเล็บแดง มันงามแต่ข้างนอก ส่วนใจเป็นเปรตเป็นผี มันก็งามไม่ได้ อันนั้นมันข้างนอกพระพุทธองค์ท่านให้ "โอปนยิโก...น้อมเข้ามา" น้อมเข้ามาใส่ใจ รู้เฉพาะตัวเรา เรื่องของเราตัดสินเอาเองก็ได้ เราทำชั่วเราก็รู้จัก เราทำดีเราก็รู้จัก เราทำผิดเราก็รู้จัก เราทำถูกเราก็รู้จัก มันรู้จักที่เราให้ฝึกเราไม่ให้ฝึกอย่างอื่น สามารถเข้าสู่ศีลธรรมได้


        พระพุทธองค์ท่านว่าให้นับถือคุณพระศรีรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้เป็นสรณะที่พึ่งของพวกเรา อย่าไปพึ่งอย่างอื่น ถ้าไปถืออย่างอื่นไม่มีอะไร ไม่เป็นแก่นเป็นสารบางคนถ้าทุกข์มาถึงก็ไปไหว้ต้นไม้ซะ ไปไหว้ภูเขา จอมปลวก สิ่งเหล่านี้เป็นที่พึ่งไม่ได้ เป็นการพึ่งสิ่งที่ผิด ไม่ดี ไม่ต้องพูดอื่นไกล ถ้าคนถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว ก็ไม่ตกนรกทุกวันนี้แล้วแต่ใครจะถือ แล้วแต่ใครจะประพฤติปฏิบัติ

        ถ้าเจ็บป่วยมาก็ไปโทษแต่ข้างนอก ถ้าเจ็บป่วยมาก็ให้กินหยูกกินยา แต่ถ้าเราไปหาคนที่ถือผี...ก็มีผี ไปหาพวกไม่ถือผี...ก็ไม่มีผี อย่างพวกฝรั่งเขาไม่รู้จักผีเลย ไม่รู้ว่าผีเป็นอย่างไร นั่งอยู่กับคนตายสองต่อสองตลอดคืนเขาไม่กลัว พวกเราพ่อตายก็กลัวอันนี้ไม่ถูก เป็นพุทธบริษัทยังไม่รอบคอบอะไร


        พระพุทธองค์ท่านให้กลัวในสิ่งที่ควรกลัว ไม่ให้กลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว ให้พากันเข้าสู่ศีลธรรม ให้พากันเข้าถึงพระรัตนตรัยมันก็ดีขึ้นเท่านั้นแหละ มันก็ไม่เป็นเปรตเป็นผีเท่านั้นแหละ เลิกด่าทอกัน ให้มีศีลมีธรรม


        ปีนี้อาตมาสอนคนในฤดูพรรษามาให้ปฏิบัติเอาดี ให้ว่า "ดี"ไว้ ถ้ามันโกรธมาจะด่าคนก็ว่า "ดี" ไม่ให้ว่าอย่างอื่น  ให้ว่าดี มันก็ดีเท่านั้นแหละ...ลองดู ส่วนมากไม่ฝึกตัวเองสักที เวลาโกรธขึ้นมาก็พูดแต่คำเจ็บๆแสบๆ อย่างนี้ไม่ดี เรานี้แหละเป็นพ่อเป็นแม่แทนพ่อแม่ของเราที่ล่วงลับไปแล้ว ให้พากันสร้างสมอบรมต่อๆไป ให้พากันมีศีลมีธรรม.

ที่มา http://www.ubu.ac.th/wat/ebooks/chahthai/SALAG.html

ขอบคุณคร้าบ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้