ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1875
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ปกิณณกะธรรม

[คัดลอกลิงก์]
ปกิณณกะธรรม



เราเป็นผู้มุ่งเข้ามาปฏิบัติ ถามถึงการปฏิบัติของเราอยู่เสมอว่า ทุกๆคน เรามีความมุ่งหวังว่าเพื่อที่จะมาละทิฏฐิมานะไม่ใช่เรื่องอื่นอย่างใด ทิฏฐิ คือความเห็น มานะ คือความผูกมั่นยึดมั่นไว้ถือไว้ เรียกว่ามานะ
ทิฏฐิ คือความเห็น ความเป็นจริงนั่นทุกๆคนมันห้ามไม่ได้ เห็นอย่างไรก็ตามแต่อย่าไปหมายมั่นในความเห็นของเรา ผู้ปฏิบัติอย่าลืม เบื้องต้นมันงาม เบื้องกลางมันงามเบื้องปลายมันงามอย่าลืมอันนี้เป็นมรรค มรรคเบื้องต้น มรรคท่ามกลาง มรรคที่สุด งามให้มันงาม
ของงามเป็นอย่างไร กายวาจางามให้มันงาม ความงามมันปนอยู่กับความไม่งามความสะอาดมันก็ปนอยู่กับความสกปรก เรียกว่ามันงามจรรยามรรยาทการไปมาพูดจาปราศรัยทั้งกายวาจาเราให้งามครั้นมีสติสัมปชัญญะอยู่มันก็งามครั้นทำจิตใจ ทำมรรค ให้งามเบื้องแรกได้ เบื้องกลางก็งาม มันเยือกเย็น เช่นเราทำความมักน้อยระหว่างเราฉันอาหาร แต่วัดของเราฉันอาหารมื้อเดียว ภาระก็หมดไปมากเรียกว่ามักน้อย มันน้อยไปหมดทุกอย่าง มันได้ครึ่งต่อครึ่งกับคน ถ้าฉันหลายครั้งมันก็ยุ่งหลายครั้งฉันมื้อเดียวเงียบ ความเป็นบาปในการอยู่ การกิน ก็มีน้อย
การพูดน้อยถือว่าเป็นมูควัตร คือทำเรื่อยๆ เช่นกับอัตตกิลมถานุโยโค ทรมานเป็นบางคราวและไม่ได้ถือว่าการทรมานจะบรรลุมรรคผลนิพพานอันใด มิได้ถือเป็นประมาณ
ให้ทุกคนเข้าใจว่าเข้ามาเพื่อปฏิบัติการละ ละส่วนที่ควรละ คือกิเลสทั้งหลายถึงแม้ว่ามันจะไม่พอใจเราเท่าใดก็ตาม ก็ให้รู้จักว่ามันเป็นกิเลส ความสุขนี่เป็นกิเลสความทุกข์ก็เป็นกิเลส ความพอใจก็เป็นกิเลส ความไม่พอใจก็เป็นกิเลส มันเป็นกิเลสหมดพวกนี้
อย่าไปติดมัน ให้มันเป็นอาการเกิดขึ้นมา อย่าไปตามมัน ซึ่งมันมีทุกคน ความโลภมันมีความโกรธมันมี ความหลงมันมี ให้รู้จักว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นที่มันเกิดมาทั้งหลายเป็นสภาวะที่เราจะต้องละละไม่ได้ก็ต้องอด จะต้องกลั้น จะต้องพยายาม อดทนปฏิบัติด้วยธรรมะ
ทุกๆคนอยู่ด้วยกันมีศีลอาจาระ*ข้อปฏิบัติเสมอกันก็อยู่สบาย คือความเห็นเสมอกันความเห็นจะพยายามละกิเลสเหมือนกัน ความโลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นมาทุกคนแต่ว่าไม่ตามมันต่างคนต่างพยายามละรู้จักส่วนกิเลสทั้งหลายเหล่านี้นี่เรียกว่าความเห็นเสมอกัน เห็นส่วนว่ามันเป็นกิเลสทั้งหลาย และส่วนที่ไม่ดีทั้งหลายนั้นว่ามันยังมีอยู่แต่ว่ายังละไม่ได้อย่าให้มันหลุดออกมาจากกายและวาจาของเราให้มันอยู่ข้างในจิตของคนปฏิบัติ มันก็ยาก ไม่ใช่ว่าอันหนึ่งมันเป็นทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญาบางคนปฏิบัติยากมากแต่รู้ได้ไว
ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา บางคนปฏิบัติได้ยาก รู้ได้ช้า สุขาปฏิปทาทันธา-ภิญญาบางคนปฏิบัติเป็นสุขนานรู้นานเห็นสุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา บางคนปฏิบัติเป็นสุข รู้ได้ง่าย เห็นได้ง่ายไม่เหมือนกันอย่างไรก็ตาม ให้เรารู้มันไว้ เห็นมันไว้ รู้มันเสียก่อน เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันมากๆเกี่ยวกับความสามัคคี ทำอะไร พิจารณาอะไร ก็ให้พิจารณาใจกัน ปฏิปทาไม่เหมือนกันไม่เท่ากัน นี่มันยาก เป็นบ้าก็ได้ เช่นพระ ก. กับ พระ ข. ความเห็นไม่ถูกกันให้ไปบิณฑบาตสายเดียวกัน ลำบาก มันวิตกวิจารมากจนเป็นบ้าก็มี
อย่างเช่นครูอาจารย์ พยายามเลือกสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เป็นนะ ไม่ทันรู้จักจะต้องเลือกสถานที่ เลือกบุคคล คือเหมือนกับเรา ปฏิบัติหาที่สงบจะต้องไปอยู่ในป่าเสียก่อนหาที่สงบอยู่เสียก่อนเพื่อให้มันมีกำลังเป็นสถานที่ฝึกซ้อมเป็นต้นว่าเราเป็นคนใหม่ ผู้ปฏิบัติใหม่ โดยมากมานึกว่าเราจะมาละสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นตั้งใจว่าจะมาเอาสิ่งปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ ก็เลยไปเข้าใจว่า สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์นั้นกลับเห็นว่ามันเป็นประโยชน์อย่างนี้ นี่มันก็เกิดขึ้นจากความไม่รู้เท่านั้นเอง
เปรียบประการหนึ่ง เหมือนกับเด็กน้อย เห็นไฟ เห็นแสงเทียน เห็นแต่ความสว่างเป็นของแปลกมันจะคลานเข้าไปก็ได้ เอามือไปจับก็ได้ คือยังไม่ทันรู้จัก เห็นแต่แสง นึกว่าเป็นของแปลกอย่างนี้ก็มี นี่มันหลงอย่างนี้
ความรู้สึกทั้งหลายที่เกิดขึ้นในจิตใจของตนนั้นทุกคน พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ท่านให้มีความรู้สึกในจิตตัวเองว่า ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในธรรมทั้งหลายทั้งปวงธรรมทั้งหลายทั้งปวงคืออะไร? คือภาวะทั้งหลายที่มันปรากฏแก่ตาหูจมูกลิ้นกายใจของตนเองทั้งนั้นเรียกว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงท่านไม่ได้ให้ยึดมั่น ให้ตามดูจิตตนเองที่มันเกิดขึ้นมารวมที่จิตว่า เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วรู้แล้ว ก็ปล่อยมันไป คือให้รู้ให้เห็นนั่นแหละ สภาวะมันเกิดให้รู้ให้เห็นครั้นได้รู้ได้เห็น อย่าไปหมาย อย่าไปสำคัญมั่นหมายมัน พิจารณาแล้วอย่าไปวิ่งตามสิ่งเหล่านั้นให้ยืนอยู่กับที่ หลักภายในอันนี้เป็นของสำคัญ
ตามมันไปมันจบเมื่อไร? ความผิดความถูก มันเป็นอวิชชา มันปรุงแต่งสังขารขึ้นมาได้ถ้ามันรู้แล้วมันไม่เป็นสังขารอวิชชาให้เกิดสังขารวิชชาให้ดับสังขาร นี่คือต้นเรื่องของมัน


2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-20 12:25 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ฉะนั้นท่านจึงบอกว่า อย่ายึดมั่นถือมั่นในธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นก็คือความรู้สึกนึกคิดเกิดขึ้นมาทางจิตของเราทางตาหูจมูกลิ้นกายใจนั่นเองมิใช่อื่นไกล ท่านให้รู้ ถ้าเรารู้จักแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นปัญญาอยู่เฉพาะตัวแต่กว่าจะรู้ก็นานทีเดียวแหละ เช่นว่า ท่านอย่าฉัน ท่านอย่ากินด้วยความอยากท่านอย่านุ่งห่มด้วยความอยาก ครั้นไม่อยากนุ่งห่ม ทำไมจะได้ห่มเล่า? ครั้นไม่อยากเดินทำไมหรือจะเดินได้? ครั้นไม่อยากฉันอาหาร ทำไมจะได้ฉันเล่า? อย่างนี้ เป็นเรื่องอย่างนี้
ฉะนั้นท่านจึงสอนว่า อย่าไปด้วยความอยาก อย่านั่งด้วยความอยาก อย่าฉันด้วยความอยากอย่างนี้เราจะว่าในใจเราว่า ถ้าไม่อยากแล้วทำไมจะได้ฉัน? เท่านี้มันก็แยกไม่ออกด้วยปัญญาของเรามันพิจารณาไม่ออก เท่านี้แหละ ครั้นอารมณ์ยังเกิดขึ้นมาในจิตอย่าได้ทำตามความอยาก อย่าพูด อย่านั่ง อย่านอน ตามความอยาก อย่าไปตามความอยากมันเป็นเรื่องที่เราฟังยาก
บางคนอาจจะเถียงว่าทำอย่างไร? ไม่อยากแล้วจะทำอะไรได้หรือ? มันก็เป็นคนไม่ต้องทำอะไรๆนะซินี้เรียกว่าผู้มีปัญญาทึบ ก็เห็นไปอย่างนั้นเอง อันนี้ก็เรียกว่าเราเห็นถูกนะหรือจะเห็นว่าอันนั้นอันนี้ก็มิใช่ตัวตนของเรา อย่างนี้ยิ่งหนักเข้าไปอีกฉะนั้นคำที่ท่านว่า อย่าทำอะไรด้วยความอยาก มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น มันไกลกันมากท่านผู้มีปัญญา ท่านมิได้หมายถึงความอยากฉันอันนั้น ท่านว่าอย่าฉันให้มันเป็นตัณหาท่านหมายถึงสภาวะร่างกายของเรามันอยาก กินแล้วมันก็แล้วกัน ที่ว่านั้นท่านพูดเฉพาะจิตไม่พูดถึงร่างกายไม่พูดถึงตัวเนื้อหนัง พูดถึงตัวจิต เช่นว่าคนเรานี้ท้องหนึ่งกินเข้าไปแล้วจะรู้สึกอิ่ม



แต่ความอยากมันยังมีอยู่ คือยังหวง ไม่ยอมแบ่ง ไม่ยอมสละออกไปได้ความอยากอันนี้คือจิตยังผูกพันอยู่ควรจะให้ทานหรือแบ่งให้ผู้อื่นเสียมันให้ไม่ได้เช่นสุนัขให้กินอิ่มแล้วมันก็ยังเฝ้าอยู่ ทั้งที่ท้องของมันเต็ม กินเข้าไปอีกไม่ได้ แต่ก็ยังหวงอยู่ท่านมิได้พูดถึงความอิ่ม แต่พูดถึงความอยาก ท่านหมายถึงว่า ให้เราพูดด้วยปัญญานั่งด้วยปัญญา นอนด้วยปัญญา ให้ฉลาด มิให้เกิดตัณหา ให้มันเกิดความพอดี อันนี้ต่างหากท่านหมายถึงจิต มิได้หมายถึงสภาวะร่างกายอย่างนี้ถ้าปัญญาเรามีอยู่บ้างเราก็พอจะมองเห็นผู้ที่เห็นความจริงข้อนี้ได้ก็เป็นของง่าย มิได้เป็นของยาก
ความเป็นจริงทุกข์นั่นแหละเป็นสัจจธรรม ถ้าไม่ได้พิจารณาเห็นทุกข์แล้วอยากหนีไป ทุกข์ที่มันเกิดมาแล้วเป็นโทษไหม? ความทุกข์ทั้งหลาย ถ้าเราหมั่นตามรู้หมั่นตามเห็นมันเสียแล้ว เราจะค่อยรู้จักว่าเงาร่มไม้จะคลุมตัวเราอยู่ มีความสบายก็ทำเรื่อยๆไปเมื่อตะวันคล้อยไปๆ จนเงาร่มไม้เคลื่อนจากไป ถูกแสงแดดเผาเราจนร้อน เมื่อเข้าใจว่ามันร้อนคือทุกข์ เมื่อมีทุกข์เช่นนั้น มีความรู้สึกเกิดขึ้นมา เพราะร่มไม้หาย นี่เรียกว่าทุกข์เกิดขึ้นก็คือเวทนา จิตจะส่ายหาที่ร่มใหม่อีก แสงแดดที่มาถูกเราไม่ใช่เป็นของเลวร้ายเป็นของดี ทำให้เราเกิดทุกข์ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นมามีประโยชน์ผู้มีปัญญามองเห็นว่าทุกข์นั้นเป็นของมีประโยชน์คนเป็นทุกข์ควรพิจารณาทุกข์มิใช่ว่าหนีไม่อยากทุกข์ ทุกข์เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ตรงนี้ไม่ถูก ตรงนี้ไม่สบาย คนเราก็เหมือนกันทุกข์จะพาไปหาครูอาจารย์ และความสงบในที่สุด...ฯ

ที่มา http://www.ubu.ac.th/wat/ebooks/chahthai/Dhamma_Miscellany.html

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้