ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 3931
ตอบกลับ: 6
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

อโรคยา ศาลา

[คัดลอกลิงก์]
นวพรรณ ภัทรมูล
กลุ่มงานวิชาการ
๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๑
“เมื่อประชาชนมีโรคถึงความหายนะ ตามภาวะแห่งกรรมด้วยการสิ้นไปแห่งอายุเพราะบุญ
พระองค์ผู้เป็นราชา ได้กระทำโคที่สมบูรณ์ทั้งสาม เพื่อประกาศยุคอันประเสริฐ”
ข้อความข้างต้นนี้ เป็นข้อความส่วนหนึ่งของจารึกในกลุ่มจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เพื่อบอก
ถึงความมุ่งหมายในการสร้างสถานพยาบาล หรือ ที่เรียกว่า “อโรคยาศาล” (คำๆ นี้ปรากฏอยู่ในจารึก
บรรทัดที่ ๗ ด้านที่ ๒ ของจารึกในกลุ่มจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗) ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรูปแบบและภาร
กิจของอโรคยาศาลที่ได้ระบุไว้ในจารึกนั้น ก็เทียบได้กับ “โรงพยาบาล” ในปัจจุบันนั่นเอง
จารึกในกลุ่มจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เท่าที่พบในประเทศไทย ณ ตอนนี้ มีทั้งหมด ๖ หลัก
ทั้งนี้ข้อมูลกี่ยวกับจารึกดังกล่าว ได้รับการรวบรวมและเผยแพร่ทั้งในรูปสิ่งพิมพ์ต่างๆ เช่นในหนังสือ
จารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๒๘) และหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม
๔ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๒๙) ตลอดจน ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ที่จัดทำโดย ศูนย์
มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) การที่ได้จัดกลุ่มจารึกเหล่านี้เป็นกลุ่มเดียวกัน เนื่องจากเนื้อหา
ที่จารึกนั้นมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันมาก จะต่างกันบ้างก็แต่จำนวนบุคคลและสิ่งของที่ระบุใน
จารึก อีกทั้งจารึกทุกหลักได้ระบุอย่างชัดเจนถึงพระนามของกษัตริย์พระองค์หนึ่ง คือ ศรีชัยวรมัน ว่า
เป็นพระโอรสของพระเจ้าธรณีนทรวรมันที่ ๒ ดังนั้น พระนาม "ศรีชัยวรมัน" ในที่นี้ ก็น่าจะหมายถึง
พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งครองราชย์ในช่วง พ.ศ. ๑๗๒๔ – ๑๗๖๑


ที่มา http://www.sac.or.th/main/articl ... &category_id=19
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-6 19:12 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๔ – ๑๗๖๑)
พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์มหิธรปุระโดยทางพระราชบิดา (พระเจ้า
ธรณินธรวรมันที่ ๒) ส่วนพระราชมารดานั้นก็ทรงเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าหรรษวรมันที่ ๓ พระ
องค์ทรงขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. ๑๗๒๔ และอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงชัยราชเทวี แต่พระนางสวรรคต
เมื่อพระชนม์ยังน้อย พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ จึงทรงอภิเษกสมรสกับพระนางอินทรเทวี ซึ่งเป็นพระพี่นาง
ของพระนางชัยราชเทวีอีกครั้งหนึ่ง พระนางอินทรเทวีทรงมีความรู้หลากหลาย ทรงรอบรู้ในปรัชญา
และทรงนับถือพระพุทธศาสนามหายาน
พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงมีพระเมตตาต่ออาณาประชาราษฎร์เป็นอย่างยิ่ง ทรงโปรดให้สร้าง
สิ่งอันเป็นสาธารณประโยชน์ต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งการก่อสร้างนี้เอง เป็นเหตุให้สิ้นเปลือง
ราชอาณาจักรทรุดโทรมลงในเวลาต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ทรงโปรดให้สร้างสถานพยาบาล
หรือที่เราจะเรียกกันต่อไปนี้ว่า “โรงพยาบาล” นั้นถึง ๑๐๒ แห่ง ทั่วทั้งราชอาณาจักร เพื่อเป็นที่รักษา
คนป่วย อีกทั้งยังพระราชทานข้าวของเครื่องใช้ตลอดจนยารักษาโรคนั้น ทำให้สิ้นเปลืองพระราชทรัพย์
ไปเป็นอันมาก

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-6 19:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


“อโรคยาศาล” หรือ “โรงพยาบาล” ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗
อโรคยาศาล หรือ โรงพยาบาล ประกอบด้วยปรางค์ประธาน มีอาคารที่เรียกว่า บรรณาลัย
สร้างด้วยศิลาแลง หันหน้าเข้าสู่ตัวปราสาทประธาน ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ตำแหน่งของบรรณาลัย
มักจะอยู่ค่อนไปที่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้เสมอ มีซุ้มประตูทางเข้าที่เรียกว่า โคปุระ ทางด้านหน้า
เพียงแห่งเดียว ตั้งอยู่ใกล้ๆ จุดกึ่งกลางของกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก บริเวณด้านนอกกำแพงแก้ว
ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือจะมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือที่เรียกว่า บาราย หรือสระน้ำศักดิ์สิทธิ์
กรุด้วยศิลาแลง
อโรคยาศาล เป็นสถานพยาบาลที่สร้างขึ้นตามรายทางโบราณของอาณาจักรขอมสมัยพระ
นคร จะเชื่อมกับปราสาทนครธม และปราสาทหินอื่นๆ ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้แผ่พระราชอำนาจไป
ถึงและสร้างปราสาทหินเอาไว้

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-6 19:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
“โรงพยาบาล” ในจารึก
ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลคำอ่าน – คำแปลของจารึกในกลุ่มจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทั้งหมด
๖ หลัก ได้แก่ จารึกพบที่จังหวัดสุรินทร์ ๓ หลัก คือ จารึกปราสาท (สร. ๔), จารึกตาเมียนโตจ (สร. ๑),
จารึกสุรินทร์ ๒ (สร. ๖) จารึกพบที่จังหวัดนครราชสีมา ๑ หลัก คือ จารึกเมืองพิมาย (นม. ๑๗) จารึก
พบที่จังหวัดบุรีรัมย์ ๑ หลัก คือ จารึกด่านประคำ (บร. ๒) และจารึกพบที่จังหวัดชัยภูมิ ๑ หลัก คือ
จารึกวัดกู่บ้านหนองบัว (ชย. ๖) เมื่อได้พิจารณาและเปรียบเทียบในส่วนของเนื้อหาแล้วพบว่า ทุก
หลักมีเนื้อหาและการเรียงลำดับข้อมูลเหมือนกัน กล่าวคือ จารึกด้านที่ ๑ จะขึ้นต้นด้วยการกล่าว
นมัสการเทพประจำโรงพยาบาล ตามด้วยสรรเสริญพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ และพระเทวี พร้อมกล่าวถึง
มูลเหตุที่สร้าง “โรงพยาบาล” จารึกด้านที่ ๒ กล่าวถึงจำนวนเจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลตลอดจน
หน้าที่ของแต่ละคน จารึกด้านที่ ๓ กล่าวถึงจำนวนสิ่งของเครื่องใช้ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้อุทิศไว้เพื่อใช้ในโรงพยาบาลแต่ละแห่ง และจารึกด้านที่ ๔ กล่าวสรรเสริญและอำนวยพรแก่พระราชาผู้ได้
กระทำกุศล อีกทั้งประกาศข้อห้ามต่างๆ ในโรงพยาบาล
ข้อแตกต่างของจารึกแต่ละหลักมีเพียงส่วนของจำนวนเจ้าหน้าที่ และจำนวนสิ่งของที่ได้รับมา
จากพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เท่านั้น อย่างไรก็ดี เมื่อตัดข้อแตกต่างปลีกย่อยเหล่านี้ไป ก็พบว่าเนื้อหา
จารึกโดยรวมนั้น ได้ระบุถึงส่วนประกอบสำคัญที่ประกอบกันขึ้นเป็น “โรงพยาบาล” อันมีอยู่ ๓ ส่วน
ด้วยกัน ได้แก่
- เทพประจำโรงพยาบาล
- เจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาล
- สิ่งของเครื่องใช้ประกอบการรักษาพยาบาล
- เทพประจำโรงพยาบาล
เทพประจำโรงพยาบาล มี ๓ องค์ด้วยกัน ได้แก่ พระไภสัชครุไวทูรย์ (พระโพธิสัตว์ไภษัชย
สุคต) หรือ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระชินะ ถือเป็นพระโพธิสัตว์พระองค์หนึ่งผู้ประสาท “ความไม่มีโรค”
แก่ประชาชน เทพอีกสององค์เป็นพระชิโนรส ได้แก่ พระศรีสูรยไวโรจนจันทโรจิ และ พระศรีจันทรไวโร
จนโรหินีศะ ผู้ขจัดซึ่งโรคของประชาชน

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-6 19:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
- เจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาล
เจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลมีหลายตำแหน่ง แต่ละตำแหน่งมีจำนวนบุคคลไม่เท่ากันในแต่
ละโรงพยาบาล ในที่นี้จึงขอแสดงจำนวนไว้คร่าวๆ ดังนี้
(๑) แพทย์ จำนวน ๒ คน
(๒) เจ้าหน้าที่ (ชาย) ทำหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของโรงพยาบาล ธุรการ หาข้าวเปลือก หาฟืน
และจ่ายยา จำนวน ๒ คน
(๓) เจ้าหน้าที่ (ชาย) ทำหน้าที่จัดพลีทาน ทำบัตร จ่ายสลากยา หาฟืนเพื่อต้มยา จำนวน ๒
คน
(๔) เจ้าหน้าที่ (ชาย) ทำหน้าที่หุงต้ม ดูแลรักษาและจ่ายน้ำ หาดอกไม้และหญ้าบูชายัญ
ตลอดจนทำความสะอาดเทวสถาน จำนวน ๑ ถึง ๒ คน
(๕) เจ้าหน้าที่ (ชาย) ทำหน้าที่ดูแลรักษาโรงพยาบาล และส่งยาแก่แพทย์ จำนวน ๑๔ คน
(๖) เจ้าหน้าที่ (คละกันหญิงชาย) ทำหน้าที่ให้สถิติ จำนวน ๒ ถึง ๓ คน
(๗) เจ้าหน้าที่ (คละกันหญิงชาย) ทำหน้าที่ดูแลทั่วไป จำนวน ๔ คน
(๘) เจ้าหน้าที่ (หญิง) ทำหน้าที่โม่ยา จำนวน ๒ ถึง ๖ คน
(๙) เจ้าหน้าที่ (หญิง) ทำหน้าที่ตำข้าว จำนวน ๒ คน
(๑๐) เจ้าหน้าที่ (คละกันหญิงชาย) ทำหน้าที่ประกอบพิธีบูชายัญ จำนวน ๒ คน
(๑๑) โหราจารย์ จำนวน ๑ คน
ยังมีตำแหน่งผู้ดูแล, ธุรการ และผู้ให้สถิติอีกหลายคน ซึ่งระบุจำนวนไว้ไม่แน่ชัด อย่างไรก็ตาม
จารึกปราสาท และจารึกสุรินทร์ ๒ ได้ระบุไว้ว่าจำนวนเจ้าหน้าที่ทั้งหมดในโรงพยาบาลมีถึง ๙๘ คน
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-6 19:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
- สิ่งของเครื่องใช้ประกอบการรักษาพยาบาล
เช่นเดียวกับจำนวนเจ้าหน้าที่ รายการจำนวนสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ได้รับมาไว้ใช้ในโรง
พยาบาลนั้นมีจำนวนไม่เท่ากันในโรงพยาบาลแต่ละแห่ง จำนวนที่กล่าวถึงในที่นี้จึงเป็นจำนวนที่พอจะ
ทราบโดยประมาณ บางรายการไม่ได้ระบุจำนวนไว้ก็มี

7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-6 19:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ความเป็นไปของ “โรงพยาบาล” หลังรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗
อาจารย์รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล จากคณะศิลปศาสตร์และวิทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจ
บัณฑิตย์ ได้ให้ความเห็นไว้ใน เอกสารประกอบการบรรยายพิเศษ เรื่อง อโรคยาศาล โรงพยาบาลแห่ง
พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ว่า “เมื่อการอุปถัมภ์ลดน้อยลง ในช่วงต้นอโรคยศาลเหล่านี้ก็อาจไม่ได้รับความ
กระทบกระเทือนเท่าใดนัก ทั้งนี้เพราะทรัพย์สินสิ่งของ โดยเฉพาะตัวยาสมุนไพร ข้าทาสบริวาร (และ
บางทีก็รวมถึงการกัลปนาส่วยสาอากรจากท้องที่ที่ตั้งของอโรคยศาล) ได้รับตั้งแต่ในรัชกาลก่อนนั้น ก็
หาใช่ว่าจะหมดไปในทันทีทันใดตามอายุขัยของพระราชาไม่ ดังนั้น อโรคยศาลแต่ละแห่งจึงน่าจะพอดำเนินกิจกรรมการรักษาโรคให้แก่ผู้ที่เข้ามารับการรักษาต่อมาได้อีก อย่างน้อยก็ระยะเวลาหนึ่ง จน
กว่าของที่ได้รับอุทิศไว้จะหมดลง ...”


ที่มาของภาพ : เว็บไซต์ ห้องนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ๕๐ พรรษา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ถึงตรงนี้แล้ว อย่างน้อยที่สุด เมื่อเราได้พบเห็นซากปรักหักพังของอโรคยาศาล หรือ “โรง
พยาบาล” ในครั้งนั้น ข้อมูลที่คนก่อนเก่าได้จารจารึกไว้ ก็อาจจะทำให้เราได้ย้อนเห็นภาพของความรุ่ง
เรืองในอดีต และภาคภูมิใจกับความเจริญรุ่งเรืองเหล่านั้น แม้มันจะผ่านมานานเนิ่นแล้วก็ตามที


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้