|
หากว่าปืนและบ่วงบาศเป็นสัญลักษณ์ของหนุ่มคาวบอยอเมริกันแล้ว สัญลักษณ์ของชายไทยใน อดีตก็ไม่แคล้วเจ้าไม้ที่ถูกเรียกขานกันว่า “ตะพด” ซึ่งคนไทยเรารู้จักและใช้งานมันมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว แต่ช่วงที่ นิยมเล่นจริงๆ นั้นอยู่ในสมัยของรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นยุคที่ไม้ประจำตัวลูกผู้ชาย ไทยอย่างไม้ตะพด ได้กลายเป็นการเล่น เพื่อ ‘แฟชั่น’ กันอย่างแพร่หลาย
สำหรับรูปร่างหน้าตาของไม้ตะพดนั้น หลายคนเข้าใจและสับสนระหว่าง ‘ไม้เท้า’ กับ ‘ไม้ตะพด’ ด้วยความที่หน้าตาและความยาวคล้ายคลึงกัน แต่ในความ เป็นจริงแล้วจุดประสงค์ของไม้เท้านั้นทางการแพทย์ถือเป็นอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ชนิดหนึ่งเพื่อช่วยในการเดินของผู้ป่วย ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจน เดินไม่สะดวก ซึ่งปกติจะมีขาเดียวสำหรับช่วยการทรงตัว ถ้าเป็น 3 - 4 ขามีไว้สำหรับคนที่การทรงตัวยังมีปัญหา เป็นต้น
ส่วน‘ไม้ตะพด’ นั้นน่าจะอยู่ในกลุ่ม ของ ‘ไม้ถือ’ มากกว่า เพราะประโยชน์ใช้สอยของไม้ตะพดนั้นจะเป็นไปใน รูปแบบของการถือติดมือเมื่อลงจากเรือน ของชายไทยสมัยโบราณ ส่วนข้อต่างระหว่างตะพดกับไม้เท้าที่เห็นชัดเจนก็คือ ความยาว ซึ่งไม้เท้าจะยาวกว่าไม้ตะพด เพราะจุดประสงค์ของไม้เท้านั้นมีไว้เพื่อ พยุงตัวรับน้ำหนักนั่นเอง
ใครที่เคยไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรี ก็จะคุ้นตากับไม้ตะพดที่เป็นของฝากอันขึ้นชื่อของสถานที่แห่งนี้ โดยนักท่องเที่ยวนิยมซื้อติดมือกลับมาให้ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงทางบ้านเสมอ และเชื่อกันว่าผู้ที่ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทจะต้องไปตีระฆังให้มีเสียงดังกังวาน เพื่อให้ได้ยินไปถึงสวรรค์ชั้นเบื้องบน ซึ่งก็จะใช้ไม้ตะพดนี้ตีระฆัง หรือหากเป็นผู้สูงอายุก็ได้ใช้ตะพดช่วยประคองกายขึ้น-ลงบันไดได้ด้วย
ที่มาของคำว่า ‘ตะพด’ นั้น ผู้นิยมตะพดหลายท่านอนุมานว่าน่าจะมาจากพันธุ์ของไม้ไผ่พันธุ์หนึ่งที่มีข้อสั้นแน่น เนื้อแข็ง และเป็นไม้ชนิดหนึ่งที่นิยมนำมา ทำเป็นไม้ตะพด ส่วนไม้อื่นๆนั้นที่นิยมนำมากลึงเป็นไม้ตะพดก็ได้แก่ ไม้รวก ไม้มะเกลือ ไม้ไผ่บางพันธุ์ (ตรงนี้มีภูมิปัญญาเก่าแก่ของไทยกล่าวไว้ว่า หากผู้ทำไม้ตะพดไปเห็นไม้ไผ่ใดมีลักษณะเหมาะแก่การนำมากลึงแล้ว จะเลี้ยงไผ่นั้นด้วยการรดน้ำซาวข้าว ไม้ก็จะออกมาสวยงามเป็นมัน) อาทิ ไม้ไผ่เปร็ง อันเป็นไม้ไผ่มีเนื้อแน่นตัน
แต่สำหรับไม้ตะพดของพระพุทธบาทสระบุรีนั้นจะมีเอกลักษณ์ในการทำคือ ทำจากแขนงไม้รวก ซึ่งชาวบ้านคัดเลือก ขนาดที่เท่าๆกัน มาตัดแต่งรากไม้ให้มีรูปทรงต่างๆ เป็นส่วนหัวของไม้ตะพด จากนั้นนำไม้รวกที่ตัดคัดแต่งแล้วนี้ไปตากแดดจนแห้ง แล้วนำเส้นลวดเลือกขนาดพอเหมาะพันรอบนำไปลนไฟ ส่วนที่มีลวดร้อนพันอยู่จะเกิดรอยไหม้ ส่วนที่ว่างเว้นอยู่จะมีสีเหลืองนวล เกิดเป็นลวดลายต่างๆ ล้วนสวยงามเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร
วิธีการทำตัวไม้ตะพดโดยทั่วไปนั้นเริ่มจากเลือกไม้ที่เหมาะแก่ใจ เนื้อแน่น แก่จัด เพราะจะให้น้ำหนักดี ถ่วงมือ ไม่เบาจนเกินไป สมัยโบราณจะใช้กรรมวิธี ทำมือทุกกระบวนการตั้งแต่ลนไฟอ่อนๆ จนลำไม้ตรงตามต้องการ แล้วใช้กาบมะพร้าวชุบทรายละเอียดเคล้ากับขี้เถ้าและน้ำ ขัดถูไม้ตะพดจนสะอาดหมดจด และผิวเกลี้ยงเรียบ แล้วล้างด้วยน้ำอีกครั้งเป็นอันเสร็จการขัดผิวไม้
ส่วนเด่นของตะพดนั้นนอกจากจะเป็นรูปทรงของตัวไม้ที่เกลากลึงได้สัดส่วนงดงามแล้ว ที่ช่างไม้ตะพดนิยมตกแต่งให้เกิดความหลากหลายตามแต่ความชอบและจินตนาการของแต่ละคนนั้นก็คือ ‘หัวตะพด’ โดยมีหลายหลากมาก
แบบ ทั้งแบบที่คลาสสิกที่นิยมตลอด กาลจนกลายมาเป็นแฟชั่นของนักสะสม เช่น หัวเงิน หัวทองเหลือง หรือที่แปลกๆ ก็อย่างหัวงาช้าง หัวกระดูกสัตว์ หัวแก้ว เป็นต้น
ทรงของหัวก็มีแตกต่างกันไป เช่นหัวตุ้มใหญ่ ตุ้มเล็ก หัวไม้เท้า หัวขอสับที่มีลักษณะคล้ายขอช้าง หัวลูกจันทน์ หัวรูปสัตว์ เช่นช้าง สิงโต เป็นต้น หรือหัวที่บรรดาทหารหรือตำรวจในยุคก่อนชอบถือเช่นหัวที่ทำมาจากกระสุนปืน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี ‘หัวเหรียญ’ ที่นิยมทำเหรียญเงิน ตะกั่ว หรือทองเหลือง ขึ้นมาแล้วประดับไว้ที่หัวไม้ตะพด โดยมากแล้วเหรียญที่นิยมมากในหมู่ ‘นักเลงหัวไม้’ เหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นเหรียญ
รัชกาลที่ 5
สำหรับคำว่า ‘นักเลงหัวไม้’ ในที่นี้นั้น มิใช่คำที่หมายความถึงผู้ที่ดำรง ตนเป็นคนเกกมะเหรกเกเร หากแต่คำว่า‘นักเลง’ ในสมัยก่อนนั้น มีความหมายไปในเชิงของ‘คนจริง’หรือผู้ที่เอาจริงเอาจัง เช่น นักเลงพระ, นักเลงต้นไม้, นักเลงปืน เป็นต้น อาจจะเข้าทำนองคำว่า ‘เซียน’ ในยุคนี้ที่เอามาใช้แปลว่าผู้เชี่ยว ชาญในเรื่องนั้นๆ ดังนั้นคำว่า ‘นักเลงหัวไม้’ น่าจะพออนุมานได้ว่า เป็นคำที่หมายถึงลูกผู้ชายที่นิยมไม้จำพวกตะพด คมแฝก หรือติ้วก็เป็นได้ เนื่องจากการใช้ อาวุธตระกูลกระบองเหล่านี้ ผู้ตีจะใช้ด้านหัวไม้ตีก่อนเสมอ
ไม้ตะพดแบบลูกทุ่งจะมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 1 เมตร สำหรับประโยชน์ใช้สอยหลักก็คือเป็นอาวุธ นอกนั้นก็เอา ไว้กระทุ่มรกพงหญ้าเพื่อไล่งูหรือสัตว์มีพิษ ธรรมเนียมของชายไทยในสมัยก่อน นั้นเมื่อลงจากเรือน ต้องถือไม้ตะพดติด มือไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางไปเยือนต่างถิ่น เพราะเจ้าถิ่นจะถือว่า การมามือเปล่านั้นเป็นการลองดี อาจจะเจ็บตัวง่ายๆ
|
|