ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 3921
ตอบกลับ: 15
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ลีลาวาทะสมเด็จโตฯ

[คัดลอกลิงก์]


ลีลาวาทะสมเด็จโตฯ
โดย ร้อยเอกประชุม สุขสำราญ



เนื้อเรื่องตอนที่ 1
- ก่อนจะเป็นสมเด็จโตฯ
- ช้างเผือกกินพระไตรปิฎก

๐ ก่อนจะเป็นสมเด็จโตฯ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นพระเถระที่ทรงคุณวิเศษอยู่หลายประการ ยังผลให้ "พระสมเด็จ" ที่ท่านสร้างได้รับความนิยมอย่างสูง แม้นคาถา "ชินบัญชร" ก็ยังเป็นที่นิยมสวดภาวนา จนเป็นคาถาที่เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์ สามารถบันดาลผลที่ปรารถนาได้สารพัด ทั้งนี้ก็ด้วยบารมีแห่งคุณวิเศษของท่านนั่นเอง

เจ้าประคุณสมเด็จฯ โต มีอายุยืนยาวถึง 5 รัชกาล คือ เกิดใน พ.ศ. 2331 (รัชกาลที่ 1) และสิ้นใน พ.ศ. 2415 (รัชกาลที่ 5) และเชื่อกันว่า เจ้าประคุณเป็นเชื้อพระวงศ์ด้วย

ผมเคยได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่ พูดถึงประวัติของท่านโดยสรุปว่า

"เกิดที่ไชโย โตที่วัดอินทร์ สิ้นที่วัดระฆัง"

เพราะฉะนั้น ท่านจึงสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆ ในสถานที่ที่ท่านเกี่ยวข้องอยู่นั้น นัยว่าเพื่อให้สมกับชื่อ "โต" ของท่าน เช่นที่วัดเกตุไชโย อ่างทอง, หลวงพ่อโต วัดอินทร์ บางขุนพรหม กทม. เป็นต้น

เจ้าประคุณสมเด็จฯ โต ท่านประพฤติปฏิบัติแปลกๆ ซึ่งพระรูปอื่นไม่ทำหรือทำไม่ได้ และเมื่อท่านทำแล้ว แทนที่จะถูกตำหนิ ติเตียนกล่าวโทษท่าน แต่กลับได้รับความนิยมนับถือยิ่งขึ้น แม้พระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเป็นสมมติเทวดาก็ยังยินยอม ไม่ถือโทษ พระราชทานอภัย ทั้งนี้เพราะท่านทรงอภินิหารเป็นวิสามัญบุคคล เรียกว่าเป็นบุคคลประเภท "ปาปมุติ" ทำอะไรก็น่ารัก น่านับถือไปหมด ว่างั้นเถอะ

เจ้าประคุณสมเด็จฯ เองก็เคยพูดถึงความประพฤติของท่านอยู่เสมอว่า

"ที่เขาชมว่าขรัวโตดี นั่นแหละคือ ขรัวโตบ้า ที่เขาติว่านั่นแหละคือ ขรัวโตดี"

หรือท่านพูดว่า "ทีขรัวโตบ้า ก็ว่าขรัวโตดี, ทีขรัวโตดี ก็ว่าขรัวโตบ้า" เป็นงั้นไป

..............................................................

๐ ช้างเผือกกินพระไตรปิฎก

ความเป็นอัจฉริยะของท่านนั้น มีมาแต่เยาว์วัย เมื่อครั้งเป็นสามเณรโต ก่อนจะย้ายไปอยู่วัดระฆัง พระอาจารย์ที่วัดระฆังยังฝันไปว่า มีช้างเผือกเชือกหนึ่ง เข้ามากินหนังสือพระไตรปิฎกในตู้ของท่านหมด ซึ่งพระอาจารย์ตื่นขึ้น ก็เกิดความมั่นใจว่าฝันนั้นจะเป็นนิมิตว่าท่านจะได้ศิษย์ที่ฉลาดหลักแหลมคนหนึ่ง

วันรุ่งขึ้น สามเณรโตก็ถูกนำตัวมาฝาก ท่านจึงรับไว้ด้วยความยินดี สามเณรโตเป็นช้างเผือกจริงขนาดไหนก็ลองฟัง สมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุ ท่านพูดถึงสามเณรโตดูก็ได้ว่า ก่อนจะเรียนหนังสือ (สมัยนั้นเขาแปลหนังสือจากคัมภีร์ภาษามคธ เป็นภาษาไทย) ท่านก็ทูลสมเด็จพระสังฆราชว่า"วันนี้จะเรียนตั้งแต่บทนี้ ถึงบทนี้นะขอรับ"

เสร็จแล้วเวลาเรียนก็เปิดหนังสือออกแปลจนตลอดตามที่กำหนดไว้ ท่านทำอย่างนี้ทุกครั้ง จนสมเด็จพระสังฆราชผู้เป็นอาจารย์ว่า "ขรัวโตเขามาแปลหนังสือให้ฉันฟัง เขาไม่ได้มาเรียนหนังสือกับฉันดอก"

..............................................................



ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-1 17:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


เนื้อเรื่องตอนที่ 2
- หนีสมณศักดิ์
- หนีไม่พ้น

๐ หนีสมณศักดิ์

ท่านไม่ปรารถนายศศักดิ์ แม้จะเรียนรู้พระปริยัติธรรมอย่างที่เรียกได้ว่า "หนังสือดี" ก็ไม่เข้าแปลหนังสือสอบเป็นเปรียญ และไม่รับยศตำแหน่งทางสงฆ์ แต่ก็ประหลาด ท่านไม่เข้าสอบเป็นเปรียญ แต่ก็เรียก "พระมหาโต" ตั้งแต่บวชพรรษาแรกมา

บางท่านก็เรียกว่า "ขรัวโต" เพราะท่านมักประพฤติแปลกๆ จะทำอย่างไรก็ทำตามความพอใจของท่าน ไม่ถือสาหาความกับใคร ขนาดรัชกาลที่ 3 จะทรงแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะ ท่านก็ทูลขอตัวเสีย และมักหลบหนีไปพักแรมที่ห่างไกล เรียกว่า "ไปธุดงค์" เพราะกลัวว่าจะต้องรับสมณศักดิ์นั่นเอง

แต่ก็น่าแปลกนะครับ คนเราลองมีบุญเสียอย่าง ลาภ ยศ สรรเสริญ เจริญพระ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมหลั่งไหลมาเอง ไม่ต้องเขียนประวัติเชียร์ตัวเอง ก็ย่อมได้อยู่ดีแหละ

..............................................................

๐ หนีไม่พ้น

ในรัชกาลที่ 4 เจ้าประคุณสมเด็จฯ โต หนีไม่พ้น ต้องรับสมณศักดิ์ในตำแหน่ง "พระธรรมกิตติ" พอพระราชทานสมณศักดิ์แล้ว มีพระดำรัสว่า "ในรัชกาลที่ 3 หนี ไม่รับสมณศักดิ์ คราวนี้ทำไมไม่หนีอีกหล่ะ..."

ท่านถวายพระพรว่า "ก็รัชกาลที่ 3 ไม่ได้เป็นเจ้าฟ้านี่ (คือพระบามสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เป็นพระองค์เจ้า ไม่ได้เป็นเจ้าฟ้า) เป็นแต่เจ้าแผ่นดินเลยหนีได้ (ทำนองว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินหนีขึ้นฟ้าก็พ้นได้) ส่วนมหาบพิตรเป็นทั้งเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินจะหนีไปข้างไหนพ้น"

ครั้นเสร็จการพระราชพิธีพระราชทานสมณศักดิ์แล้ว ท่านก็ออกจากพระบรมมหาราชวังหอบเครื่องไทยธรรม ถือพัดยศและย่ามมาเอง ใครจะรับก็ไม่ยอมส่งให้ พอถึงวัดระฆัง ท่านก็เดินร้องบอกดังๆ ว่า "ในหลวง ท่านให้ฉันมาเป็นสมภารวัดระฆังจ้าๆ"

พระเณร อุบาสก อุบาสิกา ที่มาคอยรับต่างก็เดินตามท่านไปเป็นขบวนใหญ่ เมื่อบอกกล่าวรอบวัดแล้ว ท่านจึงได้ขึ้นกุฏิ

..............................................................


3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-1 17:35 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


เนื้อเรื่องตอนที่ 3
- วิธีปราบพระนอกรีต
- ความคะนองของเจ้ากู

๐ วิธีปราบพระนอกรีต

เมื่อท่านเป็นสมภารวัดระฆังนั้น ปรากฏว่ามีพระเณรประพฤติล่วงพระวินัย ท่านก็ไม่กล่าวห้ามปรามหรือลงโทษทัณฑ์แต่อย่างไร ท่านใช้วิธีทำให้ผู้ทำผิดเกิดความละอายทีหลังก็ไม่กล้าทำอีก ครั้งหนึ่งพระ 2 รูปทะเลาะกัน ทุ่มเถียงกันที่หน้าวัด เสียงเถียงกันดังลั่นไปหมด เถียงกันไปเถียงกันมากลายเป็นท้าชก เมื่อถูกท้าอีกองค์ก็บอก

"พ่อไม่กลัว"

"พ่อก็ไม่กลัว"

พระจะชกต่อยกันเสียแล้วล่ะครับ เจ้าประคุณสมเด็จฯ โต ได้ยินเสียงเอะอะอย่างนั้น ก็เอาดอกไม้ ธูปเทียนเข้าไปหาพระที่เถียงกันนั้น นั่งประนมมือพูดว่า

"พ่อเจ้าประคุณ ฉันขอฝากเนื้อฝากตัวกับพ่อด้วย ฉันเห็นแล้วว่าพ่อเจ้าประคุณเก่งนัก นึกว่าเอ็นดูฉันเถิดพ่อคุณ"

พระ 2 รูปนั้น ได้ฟังต่างก็แยกย้ายกันกลับกุฏิ ต่อมาเกิดความละอายและเสียใจได้เข้าไปกราบ ทำปฏิญาณกับท่านว่า จะไม่ประพฤติเช่นนั้นอีกต่อไป

คราวหนึ่งท่านไปธุระกับนายเทศ ขณะเดินผ่านหลังโบสถ์ พบว่าพระกลุ่มหนึ่งกำลังเตะตะกร้อกัน ท่านเอาพัดด้ามจิ๋วคลี่ออก แล้วยกขึ้นบังหน้า ทำเป็นทีว่าไม่เห็น นายเทศถามว่า "ทำไมท่านจึงไม่ห้าม"

ท่านตอบว่า "ถึงเวลาเลิก เขาเลิกกันเองแหละ ถ้าไม่ถึงเวลาเลิก แม้เราจะห้าม เขาก็ไม่เลิก"

ต่อมาพระเหล่านั้นเตะตะกร้อกันอีก คราวนี้ท่านให้ไปตามพระเหล่านั้นมา ฉันน้ำร้อนน้ำชาผสมน้ำตาลทราย แล้วถามเป็นทำนองอยากรู้ว่า การเตะตะกร้อนี่ต้องฝึกหัดกันนานไหม ลูกข้างลูกหลัง อันไหนเตะยากกว่ากันอย่างไร

พระเหล่านั้นรู้เจตนาของท่าน เกิดความละอาย ต่างก็เลิกไม่เตะตะกร้อกันแต่นั้นมา

..............................................................

๐ ความคะนองของเจ้ากู

สมัยรัชกาลที่ 3 มีสามเณรที่มาเรียนหนังสือที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขณะที่คอยอาจารย์มาสอน ก็เตะตะกร้อรอเวลา เพลินไปเลย เจ้าหน้าที่วังเห็นก็มาห้ามปรามแต่ก็ไม่ยอมหยุด คงเข้าทำนองที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ว่า ถึงเวลาเลิก เขาเลิกกันเอง ไม่ถึงเวลาเลิก ทำอย่างไรก็ไม่เลิก เจ้าหน้าที่จึงนำความขึ้นกราบทูลรัชกาลที่ 3 พระองค์กลับรับสั่งว่า

"เจ้ากูจะเล่นบ้าง ก็ช่างเจ้ากูเถอะ"

เรื่องนี้เป็นมูลเหตุให้พระตามวัดต่างๆ เกิดนิยมเตะตะกร้อกันทั่วไป ด้วยถือว่า พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงตำหนิห้ามปราม ความจริง ถ้าเราศึกษาพระราชจริยวัตรของรัชกาลที่ 3 โดยตลอดจะเห็นว่า ทรงมีพระราชหฤทัยเสมอด้วยพระโพธิสัตว์ ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนามากมายหลายสถาน ทั้งการบูรณะซ่อมแซมวัดวาอาราม การศึกษาของพระภิกษุสามเณร จนขนาดให้เปิดพระราชวังให้เป็นสำนักเรียน เรื่องจะไปตำหนิพระเณรนั้น ย่อมไม่ทรงกระทำเป็นแน่ แสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยอันกว้างขวางของพระองค์ ส่วนผู้มีจิตใจคับแคบก็มักจะหาความใส่กันอยู่เรื่อย

อย่างคราวมีงานฉลองวัดพระเชตุพนฯ มีพระเณรเที่ยวเดินปะปน เบียดเสียดกับคฤหัสถ์ชายหญิง พลุกพล่านไปหมด ก็มีคนนำเรื่องนี้กราบทูล รัชกาลที่ 3 ก็รับสั่งว่า

".... คนก็มากด้วยกัน ก็ต้องเบียดกัน ! เป็นธรรมดา"

เข้าใจได้อย่างนี้ ก็สบายใจทั้งพระทั้งโยมแหละครับ

..............................................................
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-1 17:37 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


เนื้อเรื่องตอนที่ 4
- สวดมนต์จังหวะแปลก
- ตีกันเพราะกรรมเก่า


๐ สวดมนต์จังหวะแปลก

คราวหนึ่ง เจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปธุระ ขากลับผ่านมาทางวัดชนะสงคราม พบพระลูกวัดของท่าน คือวัดระฆังนั่นแหละกำลังสวดตลกคะนองที่วัดนั้น ท่านจึงแวะเข้าไปนั่งยองๆ ตรงหน้าพระสวดนั้น แล้วประนมมือกล่าวว่า "สาธุ สาธุ สาธุ" แล้วลุกขึ้นเดินหลีกไป

พระเหล่านั้นรู้สึกตัวว่าตนทำผิด ทำให้สมภารวัดต้องอับอายขายหน้า ก็เกิดความละอาย บางองค์ก็สึก องค์ที่อยู่ก็ตั้งใจสังวรไม่ประพฤติเช่นนั้นอีก

สมัยก่อน การสวดตลกคะนองเป็นที่นิยมแพร่หลาย บางครั้งพระนักสวด สวดหยาบโลนจนเสียสมณะสารูป ไม่สมที่เป็นพระ ต้องถูกลงโทษ มีพระบรมราชโองการให้ชำระพระสวดรำต่างๆ ส่งมาเป็นทหารก็มี สึกเอามาเป็นไพร่หลวงก็มี สมัยนี้จะหาวัดที่มีพระสวด เล่นกระแทกจนด้ามตาลปัตรหักนี่หายาก นานๆ จะได้ยินสักครั้งหนึ่ง

..............................................................

๐ ตีกันเพราะกรรมเก่า

ต่อมาครั้งหนึ่ง พระวัดระฆังเกิดทะเลาะกันรุนแรงถึงขั้นลงไม้ลงมือตีกันหัวแตก องค์ที่ถูกตีมาฟ้องเจ้าประคุณสมเด็จฯ ให้ช่วยชำระคดีให้ที แต่ท่านบอกกับพระองค์นั้นว่า

"คุณตีเขาก่อนนี่จ๊ะ"

"กระผมไม่ได้ตี มีคนเป็นพยานได้" พระรูปนั้นเถียง

ท่านก็ยังยืนยันว่า คุณตีเขาก่อน อยู่นั่นเอง

พระรูปนั้นไม่พอใจ จึงไปฟ้องสมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) วัดอรุณ ว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯ โต ไม่ยอมให้ความเป็นธรรม เราถูกตีก็บอกว่าเราตีเขาก่อน ทั้งทีไม่ได้ตีเลย

สมเด็จพระวันรัตจึงถามเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านก็ยังยืนยันคำพูดเดิม สมเด็จพระวันรัตจึงถามว่า รู้ได้อย่างไรว่าพระองค์นี้ตีเขาก่อน

ท่านก็ตอบว่า รู้ได้ตามพระพุทธภาษิตว่า "เวรไม่ระงับเพราะการจองเวร นี่เป็นเวรต่อเวรมันตอบแทนกัน" (หมายถึงองค์ที่ถูกตีนั้น เมื่อก่อน-ชาติก่อนเคยตีเขามาก่อนแล้ว)

"ถ้าอย่างนั้น ท่านจงรับภาระช่วยระงับอธิกรณ์นี้ อย่าให้เป็นเวรกันเถอะ"

ท่านจึงให้โอวาทว่า ให้ตั้งอยู่ในสมณสัญญา มีหิริโอตตัปปะ และไม่พึงจองเวรอาฆาตมาดร้ายกันต่อไป แล้วท่านก็เอาเงินทำขวัญให้แก่พระที่ถูกตี 12 บาท บอกว่า ท่านทั้งสองไม่มีความผิด ฉันเป็นผู้ผิด เพราะฉันปกครองไม่ดี

..............................................................


5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-1 17:38 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


เนื้อเรื่องตอนที่ 5
- ร้อยคำสอนไม่เท่ากับหนึ่งตัวอย่าง
- สายเพราะคอยบอกลา
- เมตตาพิศดาร

๐ ร้อยคำสอนไม่เท่ากับหนึ่งตัวอย่าง

ว่ากันว่า เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นคนเจ้าระเบียบ รักสวยรักงาม เมื่อไปพบเห็นที่ใดที่พระเณรทำสกปรก เช่นทิ้งเปลือกเงาะ ทุเรียน หรือเม็ดผลไม้ ไปทางหน้าต่างกุฏิ ท่านก็เก็บกวาดจนสะอาดเรียบร้อย พระเณรเห็นเข้าก็ไม่กล้าทำสกปรกอีก

บางครั้งพระเณรไม่ลงทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็น ท่านก็ลงไปทำแต่องค์เดียว สวดมนต์องค์เดียว ไม่ช้าพระเณรท่านก็ละอายใจ พากันไปลงทำวัตรสวดมนต์กันหมด

หน่วยงานใดก็ตาม ถ้าผู้ร่วมงานไม่ค่อยให้ความร่วมมือในกิจกรรมส่วนรวม ผู้บังคับบัญชาน่าจะใช้วิธีนี้บ้าง

..............................................................

๐ สายเพราะคอยบอกลา

ตามปกติ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ไม่ค่อยจะมีเวลาว่าง ต้องไปกิจนิมนต์บ้าง ไปดูแลควบคุมการก่อสร้างบ้าง บางปีก็ไปธุดงค์ ทางวัดระฆังจึงไม่ค่อยได้ดูแลปกครอง ต้องมอบการงานในวัดให้พระครูปลัดดูแลแทน และท่านได้สั่งพระเณรในวัดว่า ถ้ามีกิจไปนอกวัดก็ให้บอกลาพระครูปลัดก่อน แม้ตัวท่านเองจะไปไหน ก็บอกลาพระครูปลัดเหมือนกัน

ครั้งหนึ่งท่านไปนิมนต์ไม่ทันงานพระราชพิธี พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ตรัสถามว่า ทำไมจึงมาล่าช้านัก ท่านจึงถวายพระพรว่า เพราะท่านคอยบอกลาพระครูปลัด ซึ่งยังจำวัดยังไม่ตื่น จึงทำให้ล่าช้า

..............................................................

๐ เมตตาพิศดาร

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านมีคุณธรรมยอดเยี่ยมอย่างหนึ่งในอัธยาศัยของท่านคือ มักน้อยสันโดษ ยินดีในปัจจัยตามมีตามได้ ไม่สะสมทรัพย์สมบัติ ได้ลาภสักการะมาทางใดๆ ก็เอาไปใช้จ่ายในงานการกุศลต่างๆ ทั้งสร้างวัด สร้างพระพุทธรูป และช่วยเหลือเกื้อกูลสงเคราะห์แก่คนทุกชั้นไม่เลือกหน้า แม้กระทั่งโจรมาลักของ ท่านก็ยังอำนวยความสะดวกให้แก่โจร

ครั้งหนึ่ง ท่านจำวัดหลับอยู่ มีโจรขึ้นกุฏิ ล้วงมือไปทางกรงหน้าต่างเพื่อหยิบเอาตะเกียงลาน แต่สุดมือเอื้อมแล้วก็ยังไม่ถึง ท่านได้ยินเสียงกุกกักก็รู้สึกตัว รู้ว่าโจรจะลักของแต่เอาไม่ถึง จึงช่วยเอาเท้าเขี่ยตะเกียงส่งให้โจร โจรคว้าได้ก็เอาไปเลย

ท่านว่า....มันคงอยากจะได้ ก็ให้มันไป

ท่านไปเทศน์ต่างจังหวัดโดยทางเรือ ได้เครื่องกัณฑ์เทศน์หลายอย่าง ทั้งผลไม้ของสด ของแห้ง ทั้งเสื่อหมอน ขาหลับมาพักแรมกลางทาง ตกดึกมีโจรพายเรือเข้าเทียบเรือของท่าน ลักเอาข้าวของไป พอดีโจรล้วงหยิบเอาเสื่อไปได้แล้วเผอิญท่านตื่นขึ้น จึงร้องบอกว่า "เอาหมอนไปด้วยซิจ๊ะ" โจรได้ยินเสียง ก็ตกใจกลัว รีบพายเรือหนี ท่านจึงเอาหมอนโยนตามไปให้ โจรเห็นว่าท่านยินดีให้จึงพายเรือกลับมาเก็บหมอนนั้นไป

..............................................................


6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-1 17:40 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


เนื้อเรื่องตอนที่ 6
- เด็กวัดแย่งกัณฑ์เทศน์
- เมตตามหานิยม
- โกรธไม่เป็นเพราะเย็นที่ใจ

๐ เด็กวัดแย่งกัณฑ์เทศน์

อีกเรื่องหนึ่ง ท่านไปเทศน์ที่บ้านโยมทางฝั่งพระนคร แถววัดสามปลื้ม โดยเรือพาย ศิษย์ 2 คน พายหัวคนหนึ่ง พายท้ายคนหนึ่ง ตัวท่านนั่งตรงกลาง ขากลับมาตามทางศิษย์ 2 คน เห็นเครื่องกัณฑ์เทศน์แล้วอยากได้ จึงคิดจัดแบ่งเครื่องกัณฑ์กัน

คนหนึ่งว่า "กองนี้ของเอ็ง กองโน้นของข้า"

อีกคนก็ว่าบ้าง "ไม่ได้ กองนี้ข้าเอา เอ็งเอากองโน้น"

ท่านจึงถามขึ้นว่า ".... แล้วของฉันกองไหนหล่ะจ๊ะ"

เมื่อถึงวัด ศิษย์ 2 คน ได้ขนเอาเครื่องกัณฑ์เทศน์ไปหมด ท่านก็ไม่ได้ว่าอะไร

..............................................................

๐ เมตตามหานิยม

คุณธรรมเจ้าประคุณสมเด็จฯ อย่างหนึ่งคือ ขันติ ท่านเป็นผู้หนักแน่น มั่นคง สงบจิตระงับใจไม่ให้ยินดียินร้าย เมื่อประสบกับอารมณ์ที่น่าปรารถนา และมิน่าปรารถนา ไม่โกรธเคืองใคร

มีเรื่องเล่าว่า มีบ่าวของท่านพระยาท่านหนึ่ง บ้านอยู่หลังตลาดบ้านขมิ้นฝั่งธนบุรี ดื่มสุราพอเมาได้ที่ดี ก็เข้าไปหาเจ้าประคุณสมเด็จฯ พร้อมกับถามด้วยเสียงอ้อแอ้ตามประสาครเมาว่า

"นี่หรือ คือสมเด็จ ที่เขาเลื่องลือกันนักว่ามีวิชาอาคมขลัง ฉันละอยากลองดีนัก"

พอพูดขาดคำก็ตรงเข้าไปชกหน้าทันที แต่ท่านหลบทันเสียก่อน จึงชกไม่ถูก ท่านจึงบอกบ่าวคนนั้นรีบหนีไปเสีย เดี๋ยวใครมาพบเห็นเข้าจะเดือดร้อน จะถูกจับกุมทำโทษ บ่าวคนนั้นก็ตกใจได้สติรีบหนีไป

เรื่องนี้ได้ทราบถึงหูของท่านพระยาผู้เป็นนายเข้าจนได้ จึงจัดการลงโทษบ่าวคนนั้น โดยเอาโซ่ล่ามไว้กับขอบไม้ที่สนามหญ้าหน้าบ้านประจานให้รู้ทั่วกัน เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทราบเรื่องเข้า ก็ได้ไปเยี่ยม เอาเงิน 1 สลึง กับอาหารคาวหวานไปให้บ่าวคนนั้นทุกวัน ฝ่ายท่านพระยาคิดเห็นว่า การที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทำอย่างนั้น คงจะมาขอให้ยกโทษโดยทางอ้อม จึงให้แก้บ่าวนั้นปล่อยเป็นอิสระเสรีต่อไป

..............................................................

๐ โกรธไม่เป็นเพราะเย็นที่ใจ

คราวหนึ่ง มีคนนิมนต์ท่านไปในงานพิธีมงคลโกนจุก ณ ที่บ้านตำบลบางพลัด ฝั่งธนบุรี บ้านของเจ้าภาพอยู่ในสวน มีคลองเข้าไปลึกสักโขอยู่ ขณะที่ศิษย์พายเรือเข้าไปในคลองนั้น เจ้าคนพายท้าย ได้เห็นปลาตีนตัวหนึ่ง จึงยกพายฟาดตีไป แต่ไม่ถูก น้ำและโคลนกระเด็นเปื้อนจีวรด้านหลังท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ปลาตัวนั้นได้วิ่งไปทางหัวเรือ เจ้าคนทางหัวเรือ ก็ยกพายฟาดไปอีกที แต่ไม่ถูกอีกนั่นแหละ น้ำโคลนกระเด็นเปื้อนจีวรทั้งข้างหน้าและข้างหลัง ท่านก็ยังนั่งเฉย ไม่พูดว่ากระไร

เมื่อไปถึงบ้านงาน เจ้าภาพและญาติโยมที่เห็นท่านเปียกเปรอะไปทั้งตัว ก็รุกถามกัน ท่านตอบว่า "โยม 2 คนนี้ เขาตีปลาตีนกันจ้ะ"

วัดระฆังที่เจ้าประคุณสมเด็จอยู่นั้น ตั้งอยู่ฝากฝั่งธนบุรี ส่วนพระบรมมหาราชวัง ตั้งอยู่ทางฝั่งพระนคร คราวหนึ่งท่านไปสวดมนต์ในพระบรมมหาราชวัง ขณะที่กำลังสวดอยู่นั้น เด็กวัดที่ติดตามเป็นศิษย์พายเรือให้ ได้หลบไปเที่ยวที่อื่น จนสวดมนต์จบแล้วก็ยังไม่กลับมา ท่านจึงถือพัดยศกับย่าม เดินออกมาจากวัง นั่งคอยอยู่ในเรือ ซึ่งจอดอยู่ที่ท่าช้างวังหลวง ลูกศิษย์มัวแต่เที่ยวเล่นเพลิน พอกลับมาจึงรู้ว่า พระราชพิธีเสร็จแล้ว รีบวิ่งกลับมาที่เรือ ก็เห็นท่านนั่งคอยอยู่ในเรือ ใจนึกว่าต้องถูกทำโทษ อย่างน้อยต้องถูกบ่นด่าเป็นแน่ แต่ปรากฏว่า เมื่อไปถึงเรือท่านก็นั่งอยู่อย่างสบายอารมณ์ ไม่ทุกข์ ไม่ร้อน สั่งให้แก้โซ่ลงเรือพายกลับวัดระฆัง

บางครั้ง ท่านจะไปกิจนิมนต์ด้วยเรือเก๋ง ศิษย์ที่รับใช้ก็คะนองมือเหลือเกิน พอท่านก้าวลงเรือ ยังไม่ทันจะนั่งเรียบร้อยดี ศิษย์ก็ถอยเรือรีบแจวอ้าวทีเดียว ท่านตั้งหลักยังไม่ได้ก้นกระแทกกับพื้นเรือ แทนที่ท่านจะขัดเคือง ท่านกลับพูดว่า

"พ่อจะอวดว่าพ่อมีแรง แต่คนเดียวนะ คนอื่นที่เขาแรงกว่าพ่อ ยังมีอีกถมไป"

..............................................................
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-1 17:41 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


เนื้อเรื่องตอนที่ 7
- สัมมาคารวะ
- ยศช้าง...ขุนนางพระ
- ประกาศห้ามพระพายเรือ

๐ สัมมาคารวะ

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงคุณธรรมอีกอย่างหนึ่งคือ ท่านมีสัมมาคารวะ อ่อนน้อม ว่ากันว่า เมื่อท่านเดินทางไปไหนมาไหน พบพระพุทธรูป ท่านจะถอยห่างหลีกออกไป ราว 4 ศอก แล้วจะนั่งลงกราบ แม้แต่จะไปพบหุ่นแบบสำหรับสร้างพระพุทธรูป ท่านก็ทำอย่างนั้นเหมือนกัน เคยมีคนถามท่านว่า หุ่นแบบสร้างพระนั้น ต้องนับถือด้วยหรือ

ท่านก็ตอบว่า "ดินก้อนแรกที่หยิบขึ้นมาปั้นหุ่น ก็นับเป็นองค์พระแล้ว เพราะผู้ทำตั้งใจมาแต่ต้นที่จะทำพระพุทธรูป"

คราวหนึ่งไปสวดมนต์ที่บ้านช่างหล่อ ฝั่งธนบุรี ที่บ้านนั้น เขาเอาหุ่นพระพุทธรูปตั้งผึ่งแดดไว้ ห่างจากทางเดินราว 2 ศอก เมื่อท่านเดินผ่านมาในระยะใกล้ชิด ท่านก้มกายยกมือขึ้นประนมเหนือศรีษะ กระทำคารวะ พระและศิษย์ที่ไปด้วย เห็นท่านทำอย่างนั้น ก็ทำตาม

เมื่อขึ้นบ้านงาน และนั่งลงบนอาสนะเรียบร้อยแล้ว นายเทศ ผู้ช่วยเจ้าภาพซึ่งคุ้นเคยกับสมเด็จฯ ได้กราบเรียนถามว่า

"กระผมสงสัยจริง เพราะไม่เคยเห็นเจ้าคุณสมเด็จฯ กระทำอย่างนี้"

ท่านจึงตอบว่า "แต่ก่อนไม่เคยเห็นจริงจ้ะ แต่วันนี้เป็นเหตุบังเอิญจ้ะ เพราะฉันเดินผ่านมาในเขตอุปจารของท่าน ไม่เกิน 4 ศอก จึงต้องทำดังนี้"

นายเทศจึงเรียนว่า "ยังไม่ยกขึ้นตั้ง และยังไม่เบิกพระเนตร จะเป็นพระหรือขอรับ"

ท่านตอบว่า "เป็นจ้ะ เป็นตั้งแต่ผู้ทำหุ่นยกดินก้อนแรกวางบนกระดานแล้วจ้ะ เพราะผู้ทำตั้งใจให้เป็นองค์พระอยู่แล้ว เรียกอุทเทสิกเจดีย์ ยังไงล่ะจ๊ะ"

เมื่อสวดมนต์จบแล้ว ขากลับผ่านมาท่านก็กระทำอย่างนั้นอีก รุ่งขึ้นท่านไปฉัน ตอนนี้ท่านเห็นพระตั้งอยู่ไกลออกไปราว 6 ศอก ห่างออกไปจากทางที่ท่านเดินผ่านไปเมื่อวาน เพราะเจ้าภาพเกรงว่าจะทำให้พระที่มากิจนิมนต์เดินเข้า-ออกไม่สะดวก ท่านไปหยุดยืนอยู่ตรงหน้าพระแล้วประนมมือนมัสการ พระที่ติดตามไปด้วยก็กระทำตาม ประมาณสัก 1 นาทีแล้วจึงขึ้นไปบนเรือน

เมื่อฉันเสร็จแล้ว เจ้าภาพถวายเครื่องสักการะ และท่านยถาสัพพี เสร็จแล้วก็นำเอาธูปเทียนดอกไม้ที่เจ้าภาพถวายไปสักการะบูชาพระที่ปั้นหุ่นขึ้นไว้นั้น พระติดตามก็ทำตามอีกแล้วจึงกลับวัด

เล่ากันว่า เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปพบพระเณรแบกหนังสือคัมภีร์ไปเรียน ท่านจะต้องนั่งประนมมือ หรือก้มกายลงแสดงความคารวะพระธรรม หรือแม้แต่ใครจะถ่ายรูปของท่านในอิริยาบทใดก็ตาม ถ้าในที่นั้นมีหนังสือเทศน์ ท่านจะต้องหยิบขึ้นมาถือ เหมือนหนึ่งว่ากำลังเทศน์อยู่เสมอ และเพื่อแสดงว่าในที่นั้นมีพระธรรมเป็นประธานอยู่ (ผู้พิมพ์)

อีกอย่างหนึ่งถ้าท่านไปพบพระเณรกำลังเทศน์อยู่ ท่านจะต้องหยุดฟังจนจบ แล้วจึงไปในที่อื่น ทราบว่าที่ท่านทำอย่างนี้ด้วยประสงค์จะประพฤติตามเยี่ยงอย่างพระพุทธเจ้า ที่ทรงฟังธรรมที่พระอนุรุทธแสดงอยู่

เรื่องเดิมมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปจะเข้าวิหาร ขณะถึงซุ้มประตูก็พบว่า พระอนุรุทธกำลังแสดงธรรมอยู่ ครั้นจะเสด็จเข้าไปก็เป็นการไม่เคารพ จึงประทับยืนฟังจนจบ เมื่อพระอนุรุทธทราบ จึงทูลขออภัยที่ทำให้ประทับยืนนาน พระองค์ตรัสว่า แม้จะนานกว่านี้สักเท่าไรก็จะประทับยืน เพราะพระองค์ทรงเคารพในพระธรรม

ในหมู่พระสงฆ์ก็เหมือนกัน พระภิกษุจะมีพรรษาอายุมากหรือน้อยก็ตาม เมื่อไปกราบท่าน ท่านก็กราบคืนบ้าง กราบท่านกี่ครั้ง ท่านก็กราบคืนตอบเท่านั้นครั้ง

บางท่านสงสัยว่า ทำไมเจ้าประคุณฯ ต้องทำอย่างนั้น ท่านตอบว่า "อ้าว...ฉันก็ทำตามพระพุทธภาษิตที่ว่า วนฺทโก ปฏิวนฺทนํ ผู้ไหว้ย่อมได้รับการไหว้ตอบ ยังไงล่ะจ๊ะ"

..............................................................

๐ ยศช้าง...ขุนนางพระ

เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นพระเถระที่ไม่ถือยศถือศักดิ์ เป็นคนเจ้ายศเจ้าอย่าง ชอบประพฤติเป็นอย่างพระธรรมดาสามัญ เหมือนพระลูกวัดทั่วไป ท่านเคยพูดกับคนอื่นว่า ยศช้างขุนนางพระจะดีอย่างไร

ดังนั้น ท่านจะทำอะไร ท่านก็ทำตามอัธยาศัยของท่าน ไม่เห็นจะต้องคอยเอาอกเอาใจใคร บางครั้งไปกิจนิมนต์ทางเรือบ่อยๆ ศิษย์แจวเรือเหนื่อยก็ให้พักเสีย ท่านก็แจวแทนเสียเอง

คราวหนึ่งท่านได้รับนิมนต์ไปในงาน ที่บ้านแถวจังหวัดนนทบุรี ขากลับเจ้าภาพได้ให้บ่าว 2 คน ผัวเมียแจวเรือไปส่ง ขณะที่มาตามลำคลองนั้น เขาเกิดผิดใจกันเรื่องอะไรไม่ทราบ ผัวเมียคู่นั้นเป็นปากเสียงเถียงกันหน้าดำหน้าแดง หนักเข้าก็งัดคำหยาบคายต่างๆ นานามาด่ากันลั่นไปหมด ท่านขอร้องผัวเมียคู่นั้นให้เลิกทะเลาะวิวาทกันเสีย แล้วให้เข้าไปนั่งในประทุนเรือ เสร็จแล้วท่านก็แจวเรือมาเองจนถึงวัดระฆัง

คราวหนึ่งมีผู้นิมนต์ท่านไปเจริญพระพุทธมนต์ ที่บ้านในสวนตำบลราษฎร์บูรณะ ฝั่งธนบุรี บ้านของเขาอยู่ในคลองเล็กลึกเข้าไปมาก สมเด็จฯ ท่านไปด้วยเรือสำปั้นกับศิษย์ เวลานั้นน้ำแห้งเข้าคลองไม่ได้ ท่านก็ลงเข็นเรือกับศิษย์ของท่าน

ชาวบ้านเห็นก็นึกแปลกใจ ด้วยไม่เคยเห็นพระเถระผู้ใหญ่ไม่ถือเนื้อถือตัวอย่างนี้มาก่อน ก็ร้องบอกกันว่า "เร็ว...ดูสมเด็จเข็นเรือๆ" ท่านบอกว่า "ฉันไม่ใช่สมเด็จดอกจ้ะ ฉันชื่อ ขรัวโต สมเด็จท่านอยู่ที่วัดระฆังจ้ะ" (ท่านหมายถึงพัดยศที่แสดงว่าเป็นสมเด็จอยูที่วัดระฆัง) แล้วชาวบ้านก็ช่วยท่านเข็นเรือไปจนถึงบ้านงาน

เกี่ยวกับเรื่องพัดยศนี้ เคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านรับกิจนิมนต์มาในพระบรมมหาราชวัง เมื่อกำลังทำพิธีอยู่นั้น ศิษย์ที่พายเรือให้ท่านก็หลบไปเที่ยวเล่นเสีย คงเป็นเพราะท่านใจดี ไม่เคยดุด่าลงโทษ ก็เลยไม่เกรงใจ พอเสร็จจากพิธีในวังก็แบกพัดยศและย่ามออกมา คอยศิษย์ตั้งนานก็ยังไม่มาสักที เมื่อเห็นว่าคอยต่อไม่ได้แล้ว ก็แบกพัดยศลงเรือ แล้วบอกว่า "เชิญสมเด็จท่าน นั่งบนหัวเรือเถอะ ฉันขรัวโตจะพายเรือเองจ้ะ" ว่าแล้วก็วางพัดยศทางด้านหัวเรือ ท่านก็มายืนพายเรืออยู่ทางด้านท้าย

..............................................................
๐ ประกาศห้ามพระพายเรือ

สมัยก่อนนั้น การคมนาคมไม่สะดวก การจะเดินทางไปไหนไกลๆ มักจะไปทางเรือเป็นส่วนใหญ่ พระสงฆ์องค์เจ้าก็ต้องไปทางเรือเหมือนกัน แต่มีปัญหาเรื่องคนพายอยู่เสมอ ดังนั้น เพื่อเป็นการพึ่งตนเองโดยไม่รบกวนผู้อื่น จึงมักจะพบพระสงฆ์พายเรือขึ้น - ล่องกันเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลำน้ำเจ้าพระยาอันกั้นระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร

ในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงมีหมายรับสั่งฉบับหนึ่ง ประกาศห้ามไม่ให้พระสงฆ์แจวเรือ พายเรือ เวลาเสด็จทางชลมารคและเสด็จประทับที่พระที่นั่งริมน้ำ เพราะทรงทอดพระเนตรเห็นพระภิกษุสงฆ์ ยืนแจวเรือขึ้น-ล่อง ตามลำน้ำผ่านพระที่นั่ง ทรงเห็นจับได้ถึง 3 ราย ตั้งแต่นั้นก็ให้กรมธรรมการจัดเรือสกัดหัวน้ำท้ายน้ำ ห้ามพระภิกษุสงฆ์อย่าให้พายเรือแจวเรือขึ้น-ล่องตามลำน้ำในเวลาเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค และเสด็จพระที่นั่งริมน้ำเป็นอันขาดทีเดียว

คราวหนึ่ง พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จลงประทับพระที่นั่งชลังคพิมานพระที่นั่งริมน้ำ วันนั้น เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านมีกิจจำเป็นต้องแจวเรือผ่านพระที่นั่งนั้นพอเรือจะผ่านหน้าพระที่นั่ง ท่านก็นั่งลง เอาพายพุ้ยน้ำในลักษณะกึ่งพายกึ่งแจว

พระเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรเห็น ทรงพระสรวล รับสั่งว่า "ขรัวโตนี่ฉลาดนัก ห้ามยืนแจว ห้ามยืนพาย แต่นี่นั่งลงทำอย่างนี้ไม่ทราบว่าแจวหรือพาย"

..............................................................
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-1 17:42 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


เนื้อเรื่องตอนที่ 8
- วาจาอ่อนหวาน
- ติดบ่วงแทนนก
- ยอดนักเทศน์

๐ วาจาอ่อนหวาน

ตามปกติ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านพูด จ๊ะ จ๋า กับคนทุกคน แม้กับสัตว์ เดรัจฉาน ท่านก็พูดอย่างนั้น เช่น คราวหนึ่ง ท่านเดินทางไปพบสุนัขนอนขวางทางอยู่ ท่านพูดกับสุนัขนั้นว่า "โยมจ๋า ขอฉันไปทีจ้ะ" แล้วท่านก็ก้มกายเดินหลีกทางไป

มีผู้ถามว่าทำไมท่านจึงทำดังนั้น ท่านตอบว่า "ฉันไม่รู้ได้ว่า สุนัขนี้เคยเป็นพระโพธิสัตว์หรือไม่ เพราะในเรื่องชาดก กล่าวว่า ในกาลครั้งหนึ่ง พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นสุนัข"

..............................................................

๐ ติดบ่วงแทนนก

นอกจากนี้ ท่านยังแผ่เมตตาให้สัตว์ทั้งหลายทั่วกัน ไม่จำกัดขอบเขตว่า จะเป็นสัตว์ชนิดใด เมื่อพบสัตว์ประสบทุกข์ต้องภัยพิบัติ ท่านก็ช่วยเหลือแก้ไขด้วยการุณยจิต

มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งท่านเดินทางไปต่างจังหวัด ระหว่างทางได้มองเห็นนกตัวหนึ่งติดแร้วอยู่ กำลังดิ้นรนเพื่อจะเอาชีวิตให้รอดไป แต่ก็ไม่สามารถหลุดไปจากแร้วได้ ท่านจึงแก้บ่วงแร้วปล่อยนกนั้นไป แล้วท่านก็เอาเท้าของท่านสอดเข้าไปในบ่วงนั้น นั่งทำทีเป็นติดแร้วไปไม่ได้ เมื่อคนเดินผ่านมาพบ ก็เข้าไปจะช่วยแกะเชือกแก้บ่วงออก ท่านไม่ยอมให้แก้บอกให้ไปตามเจ้าของแร้วมาก่อน เมื่อเจ้าของแร้วมา ท่านก็บอกความจริงว่า นกติดแร้วแต่ท่านช่วยปล่อยนกนั้นไป จึงขอติดแร้วแทนนก

เจ้าของแร้วบอกท่านว่า ไม่เป็นไร อนุญาต ยินยอมให้ท่านปล่อยนกนั้นได้ โดยไม่ติดใจโกรธแต่อย่างใด ท่านจึงแก้บ่วงจากเท้า แล้วบอกให้เจ้าของแร้วกรวดน้ำ ท่านยถาสัพพี เสร็จแล้วท่านจึงออกเดินทางต่อไป

เรื่องการแก้บ่วงปล่อยนกไปนั้น ว่าตามทางพระวินัย ท่านมีความผิดเพราะนกนั้นเป็นทรัพย์มีเจ้าของแล้ว ปรับเป้นภัณฑไทย ดังนั้น ท่านจึงต้องคอยให้เจ้าของแร้วอนุญาตก่อนจึงพ้นผิดได้

อนึ่ง การปล่อยนกในฐานะเช่นนั้น นับเป็นทานอย่างหนึ่งเรียกว่า อภัยทาน การที่เจ้าของแร้วให้เจ้าประคุณสมเด็จฯ ปล่อยนกได้นั้น จึงจัดว่าได้บำเพ็ญกุศลที่เรียกว่า อภัยทานนั้นอีกทางหนึ่งด้วย ท่านจึงบอกให้เจ้าของแร้วกรวดน้ำ และท่านกล่าวคำอนุโมทนาดังกล่าว

..............................................................

๐ ยอดนักเทศน์

เจ้ประคุณสมเด็จฯ เป็นนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก เป็นที่นิยมยกย่องอยู่ทั่วไป แววแห่งการเป็นนักเทศน์ของท่านนั้นปรากฏตั้งแต่เมื่อเป็นสามเณร ใครๆ ก็ชมว่าเทศน์ได้ไพเราะนัก พระบาทสมเด็จฯพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดมาก เมื่ออุปสมบทเป็นพระแล้วยิ่งเป็นนักเทศน์มีชื่อเสียง คนทุกชั้นบรรดาศักดิ์นิยมนับถือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ก็ทรงพระเมตตาทุกพระองค์ว่า ท่านเทศน์ดีเยี่ยมยอด ทั้งในทางธรรมวัตรและมหาชาติ ถึงได้รับยกย่องว่า เป็นพระธรรมกถึก เอกองค์หนึ่ง ในวงการศาสนา

มีกิจอันหนึ่งที่พระเจ้าแผ่นดินทรงบำเพ็ญ คือทรงสดับพระธรรมเทศนาทุกวัน เป็นประเพณีมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 1, ที่ 2, ที่ 3, ที่ 4 และที่ 5 ก็ทรงประพฤติพระราชานุกิจอันนี้

เล่ากันว่า ในรัชกาลที่ 4 ครั้งหนึ่ง เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ถวายเทศนาที่ในพระราชฐาน 3 วัน ติดต่อกัน เนื่องในการเสด็จออกทรงธรรมตามพระราชานุกิจนั้น วันที่ 1 ผ่านไปแล้วถึงวันที่ 2 พระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะทรงสดับพระธรรมเทศนาแต่เพียงย่อๆ เพราะมีพระราชกิจคอยอยู่อย่างหนึ่ง (นัยว่า เจ้าจอมประสูติ) แต่หาได้รับสั่งให้ทราบไม่ เห็นจะทรงเกรงอัธยาศัย จึงคงประทับฟังจนจบ แต่ว่าวันนั้นเจ้าประคุณสมเด็จฯถวายเทศน์วันนั้นพิสดารยืดยาวมาก

ครั้นถึงวันที่ 3 พอพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ท่านก็ขึ้นธรรมาสน์ถวายศีล บอกศักราช ถวายพระพรตามแบบการเทศน์แล้วตั้งนะโม 3 จบ ตั้งคาถาเดินเรื่องแล้วแปลสัก 2-3 คำ ท่านก็กล่าวขึ้นว่า จะถวายพระธรรมเทศนาหมวดใดๆ ก็ทรงทราบอยู่หมดแล้ว เอวัง ก็มีด้วยประการ ฉะนี้ ลงจบเทศนา แล้วลงจากธรรมาสน์

พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสถามถึงเหตุว่า ไฉนในวันก่อนถวายเทศน์ยืดยาวมาก และวันนี้ทำไมถวายน้อยนัก ท่านถวายพระพรว่า "เมื่อวานนี้มหาบพิตรพระราชสมภารเจ้ามีพระราชหฤทัยขุ่นมัว ด้วยทรงมีกังวล จะดับความขุ่นมัวได้ต้องทรงสดับพระธรรมเทศนาให้มาก ส่วนวันนี้ มีพระราชหฤทัยผ่องใส จะไม่ทรงสดับก็ได้"

ว่าพระบาทสมเด็จฯ พระเจ้าอยู่หัวทรงแย้มพระโอษฐ์แล้วไม่ตรัสว่ากระไร

..............................................................

9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-1 17:44 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


เนื้อเรื่องตอนที่ 9
- เลียนแบบเลยเจอดี
- ประเพณีบอกศักราช
- สมเด็จใครตั้ง
- สมณศักดิ์กับบรรดาศักดิ์

๐ เลียนแบบเลยเจอดี

การที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ เทศน์สั้นเพียง 2-3 คำ แล้วลง เอวังนี้ ได้ปรากฏข่าวแพร่กระจายไปในหมู่พระสงฆ์ทั่วไป และต่างก็มีความคิดว่าควรจะเป็นเช่นนั้น เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงผนวชนานถึง 27 พรรษา การศึกษาพระพุทธศาสนาก็ทรงแตกฉานลึกซึ้ง จนกระทั่งสามารถตั้งนิกายคณะสงฆ์ขึ้นใหม่คือ "คณะธรรมยุตินิกาย" หรือที่เราเรียกกันว่า พระธรรมยุติ ปรากฏมาจนปัจจุบัน

ในปีต่อมา ทรงโปรดให้ เจ้าคุณพระธรรมไตรโลก (รอด) วัดโมลีโลกยาราม ฝั่งธนบุรี ถวายเทศนา เนื่องในงานทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุสรณ์ อุทิศถวายสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งสิ้นพระชนม์ในปี 2396

เจ้าคุณพระธรรมไตรโลก พอขึ้นสู่ธรรมาสน์ ดำเนินการเทศน์ ตั้ง นะโม 3 จบ ตั้งคาถาเดินเรื่องแล้วถวายเทศน์อย่างย่อๆ ว่า ธรรมบทใดๆ พระมหาบพิตรทรงทราบหมดแล้ว เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ตามอย่างเจ้าประคุณสมเด็จฯ

พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกริ้ว ตรัสว่า "ตัวเหมือนขรัวโต หรือ จึงเอาอย่าง เทศน์แบบนั้น ยกให้แต่ ขรัวโต เท่านั้น"

ภายหลังต่อมาเจ้าคุณพระธรรมไตรโลก ได้ถวายหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ ด้วยรู้สึกตัวว่า มีผิดเป็นอันมาก เพราะทำให้เสียพระเกียรติ พระราชศรัทธาไป ถ้าสืบไปเบื้องหน้าทำเช่นนี้อีก จะขอลาสิกขาบทออกมารับพระราชอาญาตามโทษานุโทษ

..............................................................

๐ ประเพณีบอกศักราช

ในการเทศน์นั้น ต้องมีการบอกศักราชก่อนเสมอ เพื่อเตือนผู้ฟังว่า ในเวลานั้นเป็นวัน เดือน ปี อะไร ด้วยว่า ปฏิทินกำหนดวันเวลายังไม่แพร่หลายอย่างปัจจุบัน การที่จะรู้ข้างขึ้นข้างแรม จึงมักจะสอบถามพระอยู่เสมอ หรือบางที ถ้าเห็นว่าพระภิกษุสงฆ์ปลงผมก็แสดงว่าวันรุ่งขึ้นจะต้องเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ แน่ ขอประทานโทษ อย่างนี้เรียกว่า เอาหัวพระเป็นปฏิทินนั่นแหละครับ

ปีจุลศักราชที่ลงท้ายด้วยเลข 6 จะต้องเรียกว่า "ฉศก" เช่น ปีขาล ฉศก (จ.ศ.๑๒๑๖) คำว่า ฉศก อ่านออกเสียงแต่เดิมมาว่า "ฉ้อ-ศก" ต่อมาเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ถวายเทศนาที่พระที่นั่งอมรินทร์วินิฉัย ท่านถวายศักราชว่า ปีขาล ฉศก (อ่านว่า ฉะ - ศก) พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดว่าท่านบอกถูกต้องตามอักขรวิธีภาษาไทย ได้พระราชทานกัปปิยภัณฑ์ เป็นมูลค่าถึง 6 บาท และทรงให้ประกาศใช้คำว่า ฉศก แทน ฉ้อศก ให้ถือเป็นแบบฉบับสำหรับแผ่นดินสืบต่อไป

..............................................................

๐ สมเด็จใครตั้ง

ต่อมาเจ้าประคุณสมเด็จฯได้ถวายเทศน์ในพระบรมมหาราชวัง จะเป็นงานพระราชพิธีอะไรไม่ทราบ ท่านได้พูดถึงพระอานนท์ โดยใช้คำว่า "สมเด็จพระพุทธอนุชานนท์" พระเจ้าอยู่หัวทรงอยาดทราบว่า ทำไมจึงใช้คำว่า "สมเด็จ" นำหน้านามพระอานนท์ด้วย กาตริย์พระองค์ใดตั้งให้ท่านเป็นสมเด็จโปรดให้ขุนประสิทธิ์อักษรศาสตร์ ไปสอบถามเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทีท่านผู้อ่านบางท่าน อาจจะไม่เข้าใจ ในเรื่องตำแหน่งทางคณะสงฆ์ บางที อาจจะงง ผมก็ขอทำความเข้าใจตรงนี้เลยนะครับว่า อันยศของพระสงฆ์ ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "พระราชาคณะ"

สำหรับเมืองไทยเรา พระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์ตามลำดับสูงสุดลงไปหาล่างสุด เพื่อความเป็นระเบียบในการปกครองคณะสงฆ์ ดังนี้

1. ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชมี 1 ตำแหน่ง คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปัจจุบันปี 2534-ทรงสถาปนา "สมเด็จพระญาณสังวร" อันเป็นตำแหน่งชั้นสมเด็จ (สุพรรณบัฏ) ขึ้นในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกแล้ว)

2. ตำแหน่งชั้น "สมเด็จ" (สุพรรณบัฏ) มี 8 ตำแหน่งคือ

- สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
- สมเด็จพระมหาวีรวงศ์
- สมเด็จพระวันรัต
- สมเด็จพระธีรญาณมุนี
- สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี
- สมเด็จพระพุทธชินวงศ์
- สมเด็จพระมหามุนีวงศ์
- สมเด็จพระพุฒาจารย์

3. ตำแหน่ง ชั้น "รองสมเด็จ" (หิรัญบัฏ) มี 16 ตำแหน่ง เช่น

- พระธรรมปัญยาจารย์
- พระศาสนาโสภณ
- พระวิสุทธิวงศาจารย์
- พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
- พระญาณวโรดม
- พระพิมลธรรม
- พระธรรมวโรดม
- พระธรรมปัญญาบดี
- พระ พุทธวรญาณ
- พระสุเมธาธิบดี
- พระพรหมมุนี เป็นต้น

นอกจากนี้ ก็เป็นพระราชาคณะชั้นล่างๆ ลงมาอีก ที่เรานิยมเรียกอย่างสามัญว่า "เจ้าคุณ" จัดเป็นชั้นๆ ลดหลั่นจากสูงไปหาต่ำ คือ ชั้นธรรม, ชั้นเทพ, ชั้นราช, ชั้นสามัญ พอหลุดจากชั้น "เจ้าคุณ" ก็เป็นชั้นของ "พระครู" เริ่มตั้งแต่พระครูสัญญาบัตร ชั้นพิเศษ, ชั้นเอก, ชั้นโท, ชั้นตรี ต่ำลงไปอีกเป็นพระครูชั้นประทวน พระครูฐานา ฯลฯ เอาไว้ว่ากันอีกทีก็แล้วกันนะครับ

..............................................................

๐ สมณศักดิ์กับบรรดาศักดิ์

แต่เมื่อเทียบยศช้างขุนนางพระที่เรียก "สมณศักดิ์" ของฝ่ายสงฆ์กับ "บรรดาศักดิ์" ของขุนนางฝ่ายบ้านเมืองแล้วก็เทียบได้ดังนี้

สมณศักดิ์................................เท่ากับบรรดาศักดิ์
ชั้นสามัญ................................ชั้นขุน
ชั้นราช...................................ชั้นหลวง
ชั้นเทพ...................................ชั้นพระ
ชั้นธรรม.................................ชั้นพระยา
ชั้นหิรัญบัฏ (รองสมเด็จ)..........ชั้นเจ้าพระยา
ชั้นสุพรรณบัฏ (สมเด็จ)............ชั้นสมเด็จเจ้าพระยา

ก็เป็นอันว่า ตำแหน่ง "สมเด็จ" ที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านเติมนำหน้าพระนามพระอานนท์นั้น ไม่ทราบว่าใครแต่งตั้งให้จึงเป็นสาเหตุให้พระเจ้าอยู่หัวทรงมีปุจฉาไป

เจ้าประคุณสมเด็จฯ จะแก้พระราชปุจฉาหรือไม่อย่างไรไม่ปรากฏ ได้แต่เขาเล่ากันมาว่า ท่านได้ถวายพระพรสนองพระราชปุจฉาเป็นทำนองว่า ทีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สิน) วัดสระเกส หรือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) วัดประยูรวงศาวาส ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นลูกชาวบ้านธรรมดา ยังเรียกว่า"สมเด็จ" ได้ ส่วนพระอานนท์ เป็นถึงพระอรหันตขีณาสพ ไฉนจึงจะเรียก "สมเด็จ" นำหน้าไม่ได้

..............................................................
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-1 17:45 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


เนื้อเรื่องตอนที่ 10
- ปฏิภาณไหวพริบ
- วัดคณิกาผล
- หัวล้าน - หัวเหลือง
- ล้างไม้-ล้างมือ
- วิญญาณค้างปี

๐ ปฏิภาณไหวพริบ

ครั้งหนึ่งในรัชกาลที่ 4 เจ้าประคุณสมเด็จฯ เข้าไปถวายเทศนาในพระที่นั่ง อมรินทรวินิจฉัย เมื่อท่านขึ้นธรรมาสน์ ตั้งนะโม ถวายศีลแล้วจึงวางตาลปัตร คว้าผ้าห่อคัมภีร์จะเทศน์ถวายต่อไป แต่ปรากฏว่ามีแต่ผ้าห่อเท่านั้น ส่วนหนังสือเทศน์ที่แต่งไว้ ศิษย์ลืมเอามา ครั้นจะเทศน์ถวายโดยใช้ปฏิภาณเฉพาะหน้า ก็ดูมิบังควร ไม่ถูกต้องตามราชนิยม เพราะประเพณีการถวายเทศนาในสมัยนั้น ผู้เทศน์จะต้องเขียนคำเทศนาลงในใบลานและเขียนลงในสมุดไทยถวายด้วย

เมื่อลืมหนังสือเทศน์เสียแล้ว ท่านไม่รู้ที่จะทำอย่างไร จึงทำเป็นหยิบแก้วน้ำบ้วนปากแล้วๆเล่าๆ เหมือนจะประวิงเวลาไว้ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้นจึงตรัสถามว่าเป็นอะไรจึงทำอย่างนั้น ท่านถวายพระพรว่า วันนี้เสียงดีถ้าโปรดให้ถวายเทศน์กัณฑ์กุมารละก้อเหมาะเป็นที่สุด เมื่อได้รับพระราชทานอนุมัติ ท่านจึงถวายเทศน์กัณฑ์กุมารจนจบ

พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดนัก ที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ถวายเทศน์กัณฑ์นี้เป็นพิเศษ

เรื่องขบขันทำนองเดียวกันนี้ ก็เกิดขึ้นกับพระสงฆ์รูปอื่นเหมือนกัน แต่จะเลียนแบบเหมือนเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็เกรงจะถูกตำหนิเอาโทษเหมือนเมื่อคราวเทศน์สั้นๆ ก็ลงเอวังอีก คราวนี้เกิดกับเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) วัดอนงคาราม ไปเทศน์ในงานศพที่วัดประยูรวงศาวาส เมื่อให้ศีลแล้วจะเริ่มเทศน์ต่อไป พอเปิดหีบหยิบผ้าห่อคัมภีร์ออกมา จึงรู้ว่าลืมหนังสือเทศน์จะเลียนแบบเจ้าประคุณสมเด็จฯก็ไม่ได้ จึงยื่นหน้าพูดว่า "ลืมหนังสือเทศน์จ้ะ" ต้องให้ศิษย์กลับไปเอาหนังสือเทศน์ที่วัด แต่ศิษย์คนนั้นไปหยิบเอาหนังสือเรื่องอื่นมา ไม่ใช่เรื่องที่เตรียมไว้สำหรับงานนี้ ต้องให้กลับไปเอาใหม่อีกครั้งหนึ่ง กว่าจะลงมือเทศน์ได้ ก็กินเวลาไปร่วมชั่วโมงนั่นแหละครับ

..............................................................


๐ วัดคณิกาผล

มีหญิงคนหนึ่งชื่อแฟง แต่คนทั่วไปมักเรียกแกว่ายายแฟง มีอาชีพเป็นหัวหน้าซ่องหญิงนครโสเภณี (แม่เล้า) จัดเก็บเงินจากหยาดเหงื่อ แรงงานของหญิงโสเภณี จนร่ำรวยมีเงินมีทองมากมาย ต่อมาคิดอยากสร้างกุศลขึ้น จึงได้สร้างวัดไว้ที่ตำบลป้อมปราบศัตรูพ่าย ฝั่งพระนคร เรียกว่า "วัดใหม่ยายแฟง"

เมื่อสร้างสร็จ ยายแฟงได้จัดการฉลอง นิมนต์เจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปเทศน์บอกอานิสงส์ ว่าได้บุญมากน้อยแค่ไหนในการสร้างวัด ตอนหนึ่งท่านเทศน์ว่า ยายแฟงสร้างวัดครั้งนี้ ได้ผลานิสงสบกพร่องไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะเงินที่สร้างวัดเป็นเงินที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของคนอื่นที่ไม่ชอบด้วยธรรมนิยม ถ้าเปรียบอานิสงส์ด้วยเงินเหรียญบาท ยายแฟงก็ได้ไม่เต็มบาทจะได้แค่สักสลึงเฟื้อง (ราว 37 สตางค์) เท่านั้น "นี่ว่าอย่างเกรงใจกันนะ" ท่านว่า คนที่ฟังเทศน์ต่างหัวเราะกันครืนทีเดียว แต่ว่ายายแฟงเคืองมาก ต่อมาภายหลัง เมื่อตริตรองดูแล้วก็เห็นจริงตามที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ เทศน์ ยายแฟงก็หายเคือง

วัดใหม่ยายแฟงนี้ ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนขชื่อตามสมัยนิยมว่า "วัดคณิกาผล"

..............................................................

๐ หัวล้าน - หัวเหลือง

ตามปกติเจ้าประคุณสมเด็จฯ ชอบเอาว่านทองคำมาโขลกทาศรีษะ จนศรีษะเหลืองอ๋อย ปรากฏแก่คนทั้งหลายอยู่เสมอ ฝ่ายเจ้าคุณพระธรรมอุดม (ถึก) วัดพระเชตุพนฯ ศรีษะล้าน เป็นนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงมาก

คราวหนึ่ง มีการทำบุญอายุของคุณท้าวผู้หนึ่ง พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกะให้นักเทศน์ทั้งคู่มาพบกัน เหมือนเป็นการพบกันเป็นคู่เอกว่างั้นเถอะ เสร็จแล้วเมื่อถึงกำหนดเวลาเทศน์ พระองค์ก็ประทับบังอยู่ในม่านพระวิสูตรไม่แสดงพระองค์ให้พระนักเทศน์เห็น

พอพระนักเทศน์ทั้งคุ่ เทศน์ไปได้พักหนึ่ง ก็รับสั่งให้พระเจ้าลูกเธอองค์เล็กๆ ทรงยกเชิงเทียนเล็กๆ ออกมาตั้งตรงกลางระหว่างธรรมาสน์ทั้งสองบนเชิงเทียนนั้น ติดเงินสลึงอันหนึ่งเงินเฟื้องอันหนึ่ง รวมเป็นสลึงเฟื้อง พอเจ้าประคุณสมเด็จฯ เหลือบเห็นเข้าเท่านั้น ท่านก็ถามเจ้าคุณพระธรรมอุดมว่า

"นั่นแน่ะ เห็นไหม มาไรๆ แล้ว"

"ก็เห็นนะซี"

"เห็นแล้ว หมายความว่าอย่างไร"

"ก็ทรงติดกัณฑ์เทศน์เท่านั้นเอง จะมีอะไรอีกล่ะ"

"ไม่ใช่เท่านั้น นี่แน่ะ จะตีความให้ฟัง ท่านน่ะหัวล้าน..ฉันน่ะหัวเหลือง ได้พระราชทานคนละเฟื้องสองไพ รวมเป็น สลึงเฟื้องไงล่ะ"

พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระสรวลงอ อยู่ในหลังม่านด้วยความขบขันนั่นเอง

..............................................................

๐ ล้างไม้-ล้างมือ

ตอนหนึ่ง กล่าวถึงภัตตทาน เจ้าประคุณสมเด็จฯ ว่า ผู้ที่ทำอาหารถวายพระต้องล้างมือล้างไม้ให้สะอาด อาหารที่ทำก็ดีพิเศษกว่าอาหารที่ตนบริโภค และถวายโดยอาการเคารพ เช่นนี้ จึงจะได้บุญมาก

เจ้าคุณพระธรรมอุดมถามว่า "ที่ให้ล้างมือนั้นก็ทราบแล้ว แต่ให้ล้างไม้นั้น จะให้ล้างไม้อะไร"

ท่านตอบทันทีว่า "ล้างไม้จวักซิจ๊ะ" ทีนี้ทรงพระสรวลอีก

..............................................................

๐ วิญญาณค้างปี

ในสมัยก่อน วัดสระเกศ มีพระราชาคณะที่เรียกชื่อว่า พระธรรมวิโรจน์ 2 องค์ เจ้าคุณพระธรรมวิโรจน์องค์แรกเคยเทศน์คู่กับเจ้าประคุณสมเด็จฯ มาครั้งหนึ่ง ได้เอาเรื่องวิญญาณมาถามว่า เวลาคนตายนั้นวิญญาณไปอย่างไร เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นฝ่ายวิสัชชนา แก้เท่าไรก็ไม่ตกลงกันได้
เลยเป็นเรื่องค้างปีเลิกกันไป

ครั้นเจ้าคุณธรรมวิโรจน์องค์นั้นมรณภาพแล้ว มีพระรูปหนึ่งได้รับตำแหน่งเจ้าคุณที่พระธรรมวิโรจน์ขึ้นแทนในวัดนั้นอีก ได้เทศน์คู่กับเจ้าประคุณสมเด็จฯ อีก และได้เอาเรื่องวิญญาณมาถามอย่างนั้นอีก

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านเอือมระอา เรื่องนี้มาตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว พอได้ยินถามแบบเดียวกันอีก ท่านก็วิสัชชนาว่า "ธรรมวิโรจน์เข้าโกศ อยู่วัดสระเกศ นี่ไอ้...ยังเอามาถามอีกได้" ท่านยั้งไว้ที่ ไอ้...ให้คนฟังต่อกลอนเอาเอง คนฟังต่อได้ก็ฮากันครืนทีเดียว

..............................................................

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้