ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2046
ตอบกลับ: 7
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

"ไม่แน่"

[คัดลอกลิงก์]
อนิจจัง



คำปรารภ

มีพระฝรั่งองค์หนึ่งเป็นลูกศิษย์ของผมเมื่อเห็นพระไทยสามเณรไทยสึกก็ "อุ๊ย เสียดายทำไมถึงทำอย่างนั้นทำไมพระไทยเณรไทยถึงสึกกันนี่"
เขาตกใจ พากันตื่นเต้นในการสึกของพระไทยเณรไทยก็เพราะมาพบใหม่ๆเขาตั้งใจมีศรัทธามาบวชนี่มันดีแล้วคิดว่าจะไม่สึกใครสึกก็โง่เท่านั้นแหละมาเห็นพระไทยเณรไทยเข้าพรรษาก็บวชกันออกพรรษาแล้วก็สึกโอ๊ย สลดใจ ตกใจ"โอ้สงสารเน้อสงสารพระไทยสงสารสามเณรไทยทำไมถึงทำอย่างนั้น"
พอดีต่อมาพระฝรั่งก็อยากสึกบ้างเลยเห็นเป็นของที่ไม่สำคัญตอนแรกมาพบใหม่ๆมันตื่นเต้นเห็นเป็นของสำคัญมากการบวชนะนึกว่าจะทำเอาง่ายๆเมื่อใจของคนกำลังมีศรัทธามันพร้อมหมดทุกอย่างคิดอะไรมันก็คิดดีคิดอะไรมันก็คิดถูกไปทั้งนั้นแหละไม่มีใครตัดสินคือตัดสินเอาเองนั่นแหละไม่รู้ว่าปฏิปทาของการปฏิบัติทางจิตใจนี่ท่านทำยังไงท่านจะต้องมีรากฐานอันมั่นคงที่สุดภายในจิตของท่านแล้วแต่ท่านก็ไม่พูดอะไรมาก


ความศรัทธา-ความเพียร

ส่วนผมบวชมาครั้งแรกไม่ได้ฝึกฝนหรอกแต่ว่ามันมีศรัทธามันจะเป็นเพราะกำเนิดก็ไม่รู้พระเณรที่บวชพร้อมๆกันออกพรรษาแล้วก็สึกเรามองเห็นว่า"เอ้ ไอ้พวกนี้มันยังไงกันน้อ"แต่เราไม่กล้าพูดกับเขาเพราะเรายังไม่ไว้ใจความรู้สึกของเรามันตื่นเต้นแต่ภายในจิตของเราก็ว่านี่มันโง่มากบวชมันบวชยากสึกมันสึกง่ายนี่มีบุญน้อยไม่มีบุญมากเห็นทางโลกมันมีประโยชน์มากกว่าทางธรรมะนี่เราก็เห็นไปแต่เราไม่พูดเราก็มองดูแต่ในจิตของตัวเอง
เห็นเพื่อนภิกษุที่บวชพร้อมๆกันสึกไปเรื่อยๆบางทีก็เอาเครื่องแต่งตัวมาใส่เข้ามาเดินเราเห็นมันเป็นบ้าหมดทุกกระเบียดเลยแต่เขาว่ามันดีสวย สึกแล้วจะต้องไปทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วก็มาเห็นอยู่ในใจของเราไม่กล้าพูดให้เพื่อนเขาว่าคิดอย่างนั้นมันผิดก็ไม่กล้าพูดเพราะว่าตัวเรามันยังเป็นของไม่แน่อยู่ว่าศรัทธาของเรานี้มันยังจะยึดยาวไปถึงขนาดไหนอะไรๆก็ยังไม่กล้าจะพูดกับใครเลยพิจารณาแต่ในจิตของตนอยู่เรื่อยๆ
พอเพื่อนสึกไปแล้วก็ทอดอาลัยไม่มีใครอยู่แล้วนะชักเอาหนังสือปาฏิโมกข์มาดูเลยท่องปาติโมกข์สบายไม่มีใครมาล้อเลียนเล่นอะไรต่อไปตั้งใจเลย แต่ก็ไม่พูดอะไรเพราะเห็นว่าการปฏิบัติตั้งแต่นี้ไปถึงชีวิตหาไม่บางทีก็อายุ๗๐ ก็มี ๘๐ ก็มี๙๐ ก็มี จะพยายามปฏิบัติให้มันมีความนึกคิดเสมอไม่ให้คลายความเพียรไม่ให้คลายศรัทธาจะให้มันสม่ำเสมออย่างนี้มันยากนักจึงไม่กล้าพูด
คนที่มาบวชก็บวชไปที่สึกก็สึกไปเราดูมาเรื่อยๆอยู่ไปก็ไม่ว่าจะสึกก็ไม่ว่าดูเพื่อนเขาไปแต่ความรู้สึกภายในจิตใจของเราว่าพวกนี้มันไม่เห็นชัดพระฝรั่งที่มาบวชคงเห็นอย่างงั้นเบื่อความเป็นอยู่ของพระภิกษุสามเณรเบื่อพรหมจรรย์คลายความเพียรออกมาเรื่อยๆผลที่สุดก็สึกทำไมสึกล่ะแต่ก่อนเห็นพระไทยสึกแหมเสียดายน่าสลดสังเวชน่าสงสาร ตัวเราสึกทำไมไม่สงสารตัวเราหรือนี่ไม่พูด ยิ้มๆเท่านั้นแหละไม่พูด


2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-2-28 16:47 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เรื่องปฏิบัตินี้พูดง่ายแต่ทำยาก

เรื่องการปฏิบัติในจิตของตัวเองนี้นะไม่มีอะไรจะเป็นเครื่องตัดสินได้ง่ายๆเพราะว่าพยานมันไม่มีเรื่องราวต่างๆมีคนอื่นเป็นพยานมันมีแบบมันมีแผนเรายังอาศัยคนอื่นเป็นพยานเรื่องเอาธรรมะเป็นพยานนั้นเราเป็นธรรมแล้วหรือยังเราคิดอย่างนี้ถูกแล้วหรือยังถ้ามันถูกเราทิ้งความถูกได้หรือยังหรือยึดความถูกอยู่
มันต้องคิดคิดไปถึงที่สุดว่ามันทิ้งนั่นแหละจึงเป็นของสำคัญจนกว่าที่ว่าไม่เป็นอะไรทั้งนั้นโน่นก็ไม่เป็นนี่ก็ไม่เป็นดีก็ไม่เป็นชั่วก็ไม่เป็นมันทิ้ง คือหมายความว่าให้มันหมดนั่นแหละถ้าอะไรมันหมดมันก็หมดไม่เหลือถ้าอะไรมันยังมีอยู่มันก็ยังเหลืออยู่
ฉะนั้น เรื่องปฏิบัติในจิตของตนนี่ว่ามันง่ายหรอกมันพูดง่ายนะแต่ว่ามันทำยากมันทำยาก ยากคือมันไม่ได้ตามปรารถนาของเราบางครั้งที่เราปฏิบัติไปมันก็มีด้วยนะมันเป็นโชคเทวบุตรมารเทวบุตรมารมันช่วยให้ดูไปให้ถูกพูดไปให้ถูกอะไรๆมันถูกไปทั้งนั้นแหละอันนั้นก็ดีอันนั้นก็ถูกก็ไปยึดมั่นในความถูกนั้นอีกผลสุดท้ายก็ผิดอีกถลำไปอีก อันนี้มันเป็นของยากลำบากไม่มีอะไรจะวัดมัน


อย่ามีศรัทธาที่ปราศจากปัญญา

คนที่มีศรัทธามากๆคือประกอบไปด้วยศรัทธามันประกอบไปด้วยความเชื่อมันอ่อนด้วยปัญญาสมาธิก็เก่งแต่ว่าวิปัสสนาไม่มีมันเห็นไปหน้าเดียวเห็นไปรูปเดียวก็เป็นไป คิดอะไรก็ไม่รู้มันมีศรัทธาในทางพระพุทธศาสนาท่านพูดตามตัวหนังสือท่านว่า ศรัทธาอธิโมกข์มันมีศรัทธาก็จริงแต่ว่าศรัทธานี้มันปราศจากปัญญาแต่เราก็มองไม่เห็นในขณะนั้นเราก็นึกว่าปัญญาเราก็มียังงี้ มันก็เลยมองไม่เห็นความผิด
เพราะฉะนั้นท่านจึงตรัสกำลังทั้งห้าไว้ว่าศรัทธา วิริยะสติสมาธิ ปัญญาศรัทธาคือความเชื่อสติคือความระลึกได้วิริยะคือความเพียรสมาธิคือความตั้งใจมั่นปัญญาคือความรู้ทั่วปัญญาความรู้ทั่วอย่าไปพูดแต่เพียงว่าปัญญาความรู้ปัญญาความรอบรู้ทั่วถึง
ปราชญ์ท่านจัดธรรมทั้งห้าประการนี้เป็นตอนๆเพื่อเราจะมองดูปริยัติที่เรียนแล้วมาเปรียบเทียบกับขณะจิตของเราที่มันเป็นอยู่อย่างศรัทธาคือความเชื่อเราเชื่อไหมเราเป็นอย่างนั้นแล้วหรือยังวิริยะเรามีเพียรแล้วหรือยังที่เราเพียรอยู่นี่มันถูกหรือผิดอันนี้เราต้องพิจารณาใครก็เพียรกันหมดทั้งนั้นแหละแต่ว่าเพียรนี้มันประกอบไปด้วยปัญญาหรือเปล่าสตินี่ก็เหมือนกันแมวมันก็มีสติเห็นหนูขึ้นมาสติมาก็รู้ขึ้นมาตามันจ้องดูของมันนี่สติของแมวอะไรมันก็มีทุกอย่างละสัตว์เดรัจฉานมันก็มีอันธพาลมันก็มีปราชญ์ก็มีสมาธิความมุ่งมั่นความตั้งใจมั่นอันนี้มันก็มีอีกแหละแมวมันก็มีมันมั่นที่จะตะครุบหนูกินนี่ ความมุ่งมั่นของมันมีสตินั้นก็เรียกว่าสติเหมือนกันสมาธิความตั้งใจมั่นว่าจะทำอย่างนั้นมันก็มีอยู่ปัญญาความรู้มันก็มีแต่ว่ามันไม่รอบรู้เหมือนมนุษย์มันรู้อย่างสัตว์มีปัญญาเพื่อจะตะครุบหนูกินเป็นอาหารธรรมทั้งห้าประการนี้ท่านเรียกว่ากำลังสิ่งทั้งห้าประการนี้เกิดมาด้วยสัมมาทิฏฐิหรือเปล่าศรัทธาวิริยะ สติ สมาธิปัญญา นี่เกิดมาจากสัมมาทิฏฐิหรือเปล่าสัมมาทิฏฐินี้เป็นอย่างไรอะไรเป็นเครื่องตัดสินว่าเป็นสัมมาทิฏฐิอันนี้เราต้องรู้ชัด


สัมมาทิฏฐิ: ความเห็นที่ถูกต้อง

สัมมาทิฏฐิคือความเข้าใจว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นของไม่แน่นอนฉะนั้นพระอริยเจ้าและพระพุทธเจ้าท่านจึงไม่ให้ยึดมั่นท่านไม่ได้ยึดมั่นท่านยึดไม่ให้มั่นไม่ใช่ท่านยึดมั่นยึดไม่ให้มั่นคือยึดไม่ให้มันเป็นภพตัวยึดที่ไม่ได้เป็นภพคือไม่มีตัณหาเข้าไปปะปนมันไม่ต้องเป็นนั้นไม่ต้องเป็นนี้นี่ มันหมดมันสิ้นในการกระทำอย่างนั้นเมื่อมันยึดมาแล้วมันยินดีไหมมันยินร้ายไหมเมื่อมันยินดีแล้วมันยึดในความดีนั้นไหมมันยึดในความร้ายนั้นไหม
ทิฏฐิคือความเห็นหลักที่จะเป็นที่วัดให้เรารอบรู้พอสมควรเพื่อเราจะเรียนรู้เพื่อเราจะพิจารณาก็มีอยู่เหมือนกันเช่นความเห็นที่ว่าเราดีกว่าเขาเห็นว่าเราเสมอเขาเห็นว่าเราโง่กว่าเขานี่เป็นความเห็นอันผิดทั้งนั้นแต่ท่านก็เห็นท่านเห็นแล้วท่านก็รู้ด้วยปัญญาเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับของมันไปเห็นว่าตัวนี้มันโง่กว่าเขาก็ไม่ใช่ความเห็นซึ่งเป็นสัมมาทิฏฐินี่มันตัดต้นตัดปลายไปหมดเลยมันจะไปตรงไหนเห็นว่าเราดีกว่าเพื่อนเราก็ทะนงตัวมันก็มีอยู่ในนั้นแหละแต่มันยังไม่รู้จักเห็นว่าเราดีเสมอกับเพื่อนมันก็เสมอกันเท่านั้นเห็นว่าเราเลวกว่าเขานั่นเราก็ตกใจ คิดอาภัพอับจนมันก็อุปาทานขันธ์ห้ามันเป็นภพชาติทั้งนั้นแหละนี่เป็นเครื่องตัดสิน


อย่าพึงตัดสินด้วยความอยาก

อีกอย่างหนึ่งเช่น เราได้อารมณ์ที่ดีเราถึงดีใจอารมณ์ที่ไม่ดีเราก็เสียใจเราวัดดูไหมว่าอารมณ์ที่ดีเราถึงดีใจอารมณ์ที่ไม่ดีเราก็เสียใจเราวัดดูไหมว่าอารมณ์ที่เราไม่ชอบกับอารมณ์ที่เราชอบนั้นมันมีราคาเท่ากันนี่ให้เอาไปวัดดูซี่ที่เราอยู่ทุกวันนี้อารมณ์ที่เราอาศัยอยู่นี้นะเราได้ยินอารมณ์ที่ชอบใจแล้วใจเราเปลี่ยนไหมเมื่อกระทบอารมณ์ที่ไม่พอใจแล้วมันเปลี่ยนไหมหรือมันคงที่ดูตรงนี้ก็ได้เป็นพยานอันหนึ่งนะแต่ว่าให้รู้ตัวของตัวนะอันนี้เป็นพยานของเราอย่าพึงไปให้มันตัดสินด้วยความอยากบางทีมันก็เสริมขึ้นไปให้เราเป็นอย่างนั้นก็ได้ต้องระวัง
มันมีหลายแง่หลายมุมเหลือเกินที่เราจะต้องพิจารณาแต่ว่าในทางที่ถูกต้องมันก็เรียกว่าไม่ใช่กามตัณหาไม่ใช่ตามตัณหาไม่ใช่ตามความอยากมันเป็นความจริงท่านให้รู้ทั้งดีทั้งชั่วเมื่อรู้แล้วท่านก็ให้ละทั้งดีทั้งชั่วถ้าไม่ละมันก็ยังอยู่เป็นอยู่ มีอยู่ถ้ามีอยู่มันก็เหลืออยู่มันมีภพอยู่มันมีชาติอยู่อย่างนี้

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-2-28 16:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พึงตัดสินตัวเองอย่าตัดสินผู้อื่น

ฉะนั้นพระพุทธองค์ท่านจึงให้ตัดสินเอาเฉพาะตัวเองอย่าพึงไปตัดสินให้คนอื่นเลยจะดีจะร้ายประการใดท่านก็พูดให้ฟังเท่านั้นแหละนี่เรื่องความจริงมันเป็นอยู่อย่างนี้จิตใจของเราเป็นอย่างนั้นหรือเปล่าเช่นว่ามีพระองค์หนึ่งไปจับเอาของเขาทีนี้คนอื่นก็ว่า"ท่านขโมยของผม""ผมไม่ได้ขโมยผมเอาเฉยๆ" ให้พระก. ตัดสิน จะตัดสินอย่างไรก็ไปถามพระนั้นมาเป็นพยานในที่สงฆ์"ผมเอาจริงครับแต่ผมไม่ได้ขโมย"อย่างเรื่องอาบัติสังฆาทิเสสอาบัติปาราชิกเป็นต้น"ผมทำอย่างนั้นอยู่แต่ผมไม่มีเจตนา"ใครจะไปฟังได้อย่างนั้นมันก็ยาก ถ้าฟังไม่ได้ก็ทิ้งให้เจ้าของเดิมเอาไว้ตรงนั้นแหละ


อย่าคาดเอาอย่าคะเนเอาอย่าเดาเอา

แต่ว่าให้เข้าใจว่าอะไรที่มันเกิดมีในใจของเรานั้นนะเรื่องปิดไม่อยู่ทั้งนั้นแหละเรื่องมันจะผิดมันก็ปิดไม่ได้เรื่องมันจะถูกมันก็ปิดไม่ได้เรื่องมันจะดีก็ปิดไม่ได้จะชั่วมันก็ปิดของมันไม่ได้คือมันเปิดมันเองมันปิดมันเองมันมีมันเองเป็นมันเองมันเป็นอัตโนมัติอยู่ทุกอย่างละมันเป็นเรื่องอย่างนี้อย่าคาดเอาอย่าคะเนเอาอย่าเดาเอา
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้อะไรมันเป็นอวิชชามันไม่หมดองคมนตรีเคยถามอาตมา"หลวงพ่อพระอนาคามีนะจิตเป็นประภัสสรหรือเปล่า?
"เป็นบ้าง"
"เอ้า พระอนาคามีท่านละกามได้แล้วทำไมจิตไม่เป็นประภัสสร?
"ท่านละกามได้แต่ว่ามีเหลืออยู่ใช่ไหมอวิชชาโมหะเหลืออยู่อะไรที่มันเหลืออยู่นั่นแหละ มันยังมีอยู่"
ก็เหมือนบาตรของเรานั่นแหละบาตรขนาดใหญ่อย่างใหญ่บาตรขนาดใหญ่อย่างกลางบาตรขนาดใหญ่อย่างเล็กบาตรขนาดกลางอย่างใหญ่บาตรขนาดกลางอย่างกลางบาตรขนาดกลางอย่างเล็กบาตรขนาดเล็กอย่างใหญ่บาตรขนาดเล็กอย่างกลางบาตรขนาดเล็กอย่างเล็กมันจะเล็กเท่าไรก็ช่างมันเถอะยังมีบาตรอยู่นี่มันเป็นเสียอย่างนั้นอย่างว่า โสดาสกิทาคา อนาคาละกิเลสได้แล้วนั้นแต่ว่ามันหมดแต่แค่นั้นนะสิ่งที่ยังเหลืออยู่พวกนั้นมองไม่เห็นถ้าอย่างนั้นก็เป็นพระอรหันต์หมดเท่านั้นแหละมันมองไม่เห็นอวิชชานี่มันมองไม่เห็นอยู่นั้นแหละถ้าหากว่าจิตพระอนาคามีเรียบหมดแล้วก็ไม่ใช่อนาคามันก็หมดสิอันนี้มันยังเป็นอยู่จิตเป็นประภัสสรไหม?ก็เป็นมั่งแต่มันไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์จะให้เราตอบยังไงล่ะท่านว่าวันหลังจะมาเรียนใหม่เรียนก็เรียนซิหลักมันมีอยู่แล้ว


ระวัง! จิตมันจะอวดดีขึ้นในจิต

อันนี้ก็เหมือนกันอย่าไปประมาทระวัง องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราให้ระวังอันนี้พูดถึงเรื่องปฏิบัติเรื่องจิตของเราอาตมาก็เคยซวดเซมาหลายครั้งเหมือนกันบางทีอยากจะทดลองหลายๆอย่างเหมือนกันแต่แล้วมันไม่ถูกทางทั้งนั้นแหละคือมันอวดดับอวดดีขึ้นในจิตมันเป็นมานะอันหนึ่งทิฏฐิความเห็นมานะความยึดไว้มันมีอยู่นี่พูดแต่เท่านี้มันก็ยังดูยากเหมือนกัน
นี่อาตมาเคยพูดให้ฟังโยมอะไรที่มาบวชเป็นหลวงตาหอบผ้าไตรจีวรมาแล้วจะมาบวชหน้าศพของโยมแม่ได้ผ้าไตรจีวรก็หอบเข้ามาในวัดยังไม่ไปกราบพระพอวางไตรจีวรก็เดินจงกลมเลยเดินอยู่หน้าศาลานั่นแหละเดินกลับไปกลับมาเดินอย่างเอาจริงเอาจัง"เอ..คนอย่างนี้มันก็มีนะ"นี่คือศรัทธาอธิโมกข์เขาคิดว่าจะเอาให้ตะวันไม่ทันตกจะให้สำเร็จก็ไม่รู้ นึกว่ามันง่ายนะเราก็ปล่อยให้เขาเล่นอยู่นั่นละไม่ต้องมองใครละเดินเอาจริงเอาจังอย่างนั้นเรามองเห็นโอ้โอย มนุษย์เอ้ยมันคิดว่าจะง่ายๆอย่างนั้นเหรอพอดีให้อยู่ไปกี่วันก็ไม่รู้ดูเหมือนไม่ได้บวชหรือบวชก็ไม่รู้มันจะเป็นอะไรอย่างนั้น


อนิจจัง : ไม่แน่นอน

พอใจมันรู้อะไรปุ๊บส่งออกเลย มันรู้อะไรมาปุ๊บก็ส่งออกเลยตัวจิตสังขารมันปรุงแต่งก็ไม่รู้เรื่องของมันมันก็ว่าฉันเป็นปัญญามันปรุงแต่งแยกขยายหลายอย่างหลายประการชิ้นเล็ก ชิ้นใหญ่หลายอย่างละเอียดก็จิตสังขารนี้มันก็คล้ายกับปัญญาถ้าคนไม่รู้มันก็ว่าปัญญาดีๆนี่แหละแต่ว่าเมื่อถึงคราวมันแล้วหาความจริงไม่มีอะไรเมื่ออารมณ์ที่ไม่พอใจเป็นทุกข์เกิดขึ้นได้อยู่นั่นมันจะเป็นอะไรมันจะเป็นปัญญาอะไรไหมมันเป็นตัวสังขารทั้งนั้นแหละ
ดังนั้นอิงพระเสียดีกว่าที่ผมเคยเล่าให้ฟังเรื่อยๆปฏิบัตินั่นแหละแอบเข้าไปหาพระพุทธเจ้าพระพุทธเจ้าอยู่ตรงไหนนะยังอยู่ทุกวันนี้แอบเข้าไปหาท่านเถอะอะไรล่ะ คืออนิจจังแอบเข้าไปหาท่านไปกราบท่านซะอนิจจังมันของไม่แน่นั่นแหละเอาตรงนั้นแหละหยุดได้ตรงนั้นแหละก่อนถ้ามันบอกว่า"ฉันเป็นโสดาบันแล้ว"ไปกราบท่านเถอะไม่แน่เลย ไปกราบท่านท่านจะบอกว่ามันไม่แน่สกิทาคาแล้วก็กราบท่านเถอะท่านจะบอกอยู่คำเดียวว่าไม่แน่เป็นอนาคามีไปกราบท่านเถอะท่านจะบอกอยู่คำเดียวว่ามันไม่แน่ไปถึงพระอรหันต์ไปกราบท่านท่านก็ยิ่งเอาใหญ่ยิ่งไม่แน่เราจะได้ฟังคำของพระบ้างคือไม่แน่แล้วก็ไม่ยึดนั่นเองอย่าไปยึดงูๆปลาๆอย่ายึดแล้วไม่วางอย่าจับไม่วางยึดมาดูเป็นสมมติเฉยๆผลที่สุดก็ส่งให้วิมุตติมันเป็นไปแต่อย่างนั้นต้องมีสมมติต้องมีวิมุตติ

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-2-28 16:49 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อารมณ์ของเราไม่แน่-ไม่เที่ยง

เรื่องจริตของเราเรื่องอารมณ์ของเรามันก็คล้ายกับคนๆหนึ่งนั่นแหละพูดง่ายๆ มันคล้ายๆกับคนๆหนึ่งคนบางคนมันชอบจริตเราก็มีบางคนที่ไม่ชอบจริตของเราก็มีสิ่งที่มันเป็นมาข้างนอกมันก็เหมือนกันอย่างนั้นแหละมันไม่แปลกอะไรสักคนหนึ่งซึ่งเรียกว่าอารมณ์นี้ความเป็นจริงมันก็เป็นอยู่ที่เจ้าของนั่นอารมณ์นั้นมันก็ไม่มีอะไรมันเป็นสักแต่ว่าอารมณ์เรามาคิดเอาเองหรอกว่าเราดีเราชั่วว่าเราผิดว่าเราถูกเหล่านี้มันเกิดความรู้สึกนึกคิดขึ้นเองว่าขึ้นเองผุดขึ้นมาอย่างนั้นธรรมนี้จึงเป็นเครื่องวิจารณ์วิจัยได้ยากเหลือเกิน
อาตมาจึงบอกว่าให้แอบไปหาพระพุทธเจ้าพระพุทธเจ้าคือใครก็คือธรรมะนั่นแหละธรรมะในสกลโลกนี้ทั้งหมดมันมารวมอยู่ที่ธรรมะตัวเดียวคืออนิจจัง ลองดูซิใครจะเป็นนักปฏิบัติเถอะอาตมาค้นมาตลอด๒๐-๔๐ พรรษา เห็นเท่านั้นแหละแล้วก็อดทนอันหนึ่งแล้วก็เข้าใกล้ธรรมะของท่านอนิจจังมันไม่แน่ใจมันว่าแน่ขนาดไหนก็บอกว่ามันไม่แน่ใจมันจะยึดมั่นว่ามันแน่ที่ไหนก็ว่ามันไม่แน่มันไม่เที่ยงดันมันอยู่อย่างนี้แหละอาศัยธรรมะของพระพุทธเจ้าก็ดับไปอยู่อย่างนี้แหละตลอดมาทุกวันนี้ไม่ใช่ว่ามันประเดี๋ยวประด๋าวนะยืนก็เป็นอยู่อย่างนั้นนั่งก็เป็นอยู่อย่างนั้นนอนก็เป็นอยู่อย่างนั้นที่ไม่ชอบใจเกิดขึ้นมันก็เป็นอยู่อย่างนั้นมันเข้าใกล้พระเข้าใกล้ธรรมะมันเป็นอยู่อย่างนั้น


ทำให้มีสมมติแล้วก็ให้มีวิมุตติ

อันนี้อาตมาว่ามันจะมีราคามากกว่าที่เราปฏิบัติมาเท่าที่อาตมาปฏิบัติมาตั้งแต่โน่นถึงขณะนี้อาศัยอย่างนี้แหละอาศัยตำราหรือก็ไม่ใช่ไม่อาศัยตำราหรือก็ไม่ใช่อาศัยครูบาอาจารย์จริงหรือก็ไม่ใช่ไม่อาศัยครูบาอาจารย์จริงหรือก็ไม่ใช่มันเป็นของก้ำกึ่งอยู่อย่างนี้ถ้าพูดตามความจริงก็เรียกว่าให้มันหมดคือทำให้มันหมดทำให้มันเกิดขึ้นมาแล้วก็ทำให้มันหมดไปทำให้มันมีสมมติแล้วก็ให้มันมีวิมุตติ


รีบเดินไป รีบกลับมาแล้วรีบหยุดอยู่

อาตมาเคยพูดให้พระฟังสั้นๆแต่บางคนก็อาจจะสนใจถ้าหากว่าคนปฏิบัติอยู่พิจารณาอยู่เรื่อยไปตอนปลายถึงจะรู้จักมันลงไปมันจะไปลงตรงนั้นแน่นอนไม่ไปที่ไหนอาตมาเคยพูดว่ารีบเดินไป แล้วก็รีบกลับมาแล้วก็รีบหยุดอยู่นี่เบื้องแรกมันเป็นอย่างนี้ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆแล้วผลที่สุดจะเกิดความรู้สึกขึ้นในที่นั้นว่าเดินไปก็ไม่ใช่กลับมาก็ไม่ใช่หยุดอยู่ก็ไม่ใช่หมด มันหมดแล้วอย่าไปหวังอะไรมันมากอีกแล้วมันหมดแค่นั้นแหละมันหมดแล้วอย่าไปหวังอะไรมันมากอีกแล้วมันหมดแค่นั้นแหละมันสิ้นแล้วขีนาสาโว คือสิ้นแล้วไม่ต้องเดินไม่ต้องถอยไม่ต้องหยุดหยุดก็ไม่มีเดินก็ไม่มีถอยก็ไม่มีหมดอันนี้ให้เอาไปพิจารณาไว้ให้มันชัดในจิตของตนเองตรงนั้นมันจะไม่มีอะไรจริงๆ


ธรรมชาติเป็นธรรมะ

อันนี้มันก็ใหม่หรือเก่ามันเป็นกับผู้ที่มีปัญญามีความฉลาดผู้ที่ไม่มีปัญญาไม่มีความฉลาดนั้นก็แก้ไม่ได้เหมือนกันจะดูสภาพต้นไม้ก็ได้ต้นมะม่วงก็ดีต้นขนุนก็ดีทุกต้น ถ้ามันเกิดแอบๆกันอยู่นะบางทีต้นหนึ่งมันโตกว่าต้นเล็กมันน้อมหนีไปโน้นทำไมมันเป็นอย่างนั้นใครไปบอกมันนี่คือธรรมชาติธรรมชาตินี่มันมีทั้งดีทั้งชั่วทั้งผิดทั้งถูกนะมันวนไปทางถูกก็ได้วนไปทางผิดก็ได้ต้นไม้ธรรมดาถ้าเราปลูกติดๆกันแล้วก็ต้นหนึ่งมันโตก่อนต้นที่มันโตทีหลังชอบแอบๆไปข้างนอกทำไมมันเป็นอย่างงั้นใครไปบอกมันไหมใครไปแต่งมันไหมนั่นคือธรรมชาติมันเป็นธรรมะ
อย่างตัณหาคือความอยากนำเราไปสู่ทุกข์อย่างนี้ถ้าเราพิจารณาแล้วนะมันจะโอนออกไปจากตัณหามันจะพิจารณาตัณหามันจะเขย่าตัณหานั้นให้หมดให้เบาให้บางไปเองเหมือนกับธรรมชาติต้นไม้ต่างๆนั่นแหละใครไปบอกมันใครไปสะกิดมันไหมมันก็พูดไม่ได้มันก็ทำไม่ได้แต่ว่ามันออกไปได้ตรงนี้มันแคบมันไม่เกิดอะไรมันก็โอนออกไปข้างนอกดูอย่างนี้ก็เป็นธรรมะไม่ต้องไปดูอะไรมากมายผู้ที่มีปัญญาน่ะเท่านี้ก็รู้จักว่ามันเป็นธรรมะ

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-2-28 16:49 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ความหวังของผู้มีปัญญา

สัญชาตญาณของต้นไม้มันไม่รู้จักอะไรแต่มันมีความรู้อยู่ในมันนั่นแหละทำให้วิ่งออกจากอันตรายได้เลือกที่เหมาะสมของมันได้ผู้มีปัญญาเราก็เหมือนกันนั่นแหละเราบวชมาประพฤติพรหมจารีนี้เพื่อหวังให้มันจะพ้นทุกข์อะไรมันพาเราเป็นทุกข์เราย่ำเข้าไปจะเห็นไหมสิ่งที่เราชอบใจไม่ชอบใจนี่ก็เป็นทุกข์เราย่ำเข้าไปจะเห็นไหมสิ่งที่เราชอบใจไม่ชอบใจนี่ก็เป็นทุกข์มันเป็นทุกข์ก็อย่าเข้าไปใกล้มันซิจะไปรักมันหรือจะไปเกลียดมันหรือมันไม่แน่ทั้งนั้นเราก็แอบเข้าหาพระก็หมดอย่าลืมอันนี้แล้วก็อดทนอย่างหนึ่งเท่านั้นแหละดีมากที่สุดถ้าคนมีปัญญาอย่างนี้ละมันดีมาก


ตามเป็นจริงไม่แน่แต่ตัณหาแน่

ความเป็นจริงตัวอาตมาที่ได้ปฏิบัติมานี้นะไม่มีครูบาอาจารย์ถึงแก่ขนาดพระทั้งหลายที่อาตมาสอนมาหรอกไม่ค่อยมี บวชก็บวชอยู่วัดบ้านธรรมดาอยู่วัดบ้านนี่แหละจิตมันคิดอยากจะทำมันคิดอยากจะเป็นมันคิดอยากจะฝึกไม่มีใครมาเทศน์ที่วัดไม่มีใครหรอกศรัทธามันเกิดในใจไปลองดูไปพิจารณาเดินไปดู ไปหาดูหูมีก็ฟังไปตามีก็ดูไปทางหูได้ยินก็ว่าเออ..มันไม่แน่ทางตาเห็นก็ไม่แน่จมูกได้กลิ่นมันก็บอกว่าอันนี้มันไม่แน่ลิ้นมันได้รสเปรี้ยวหวาน มัน เค็มชอบไม่ชอบ ก็บอกว่าอันนี้มันก็ไม่แน่โผฏฐัพพะถูกต้องทางร่างกายมันสบายหรือเป็นทุกข์ก็บอกว่าอันนี้มันก็ไม่แน่นี่คือเราได้อยู่ด้วยธรรมะ
ตามเป็นจริงมันไม่แน่แต่ตัณหาของเราว่ามันแน่ทำยังไงล่ะต้องอดทนตัวแม่บทของมันก็คือขันติความอดทน ทนมันไปเถอะแต่อย่าไปทิ้งพระนะที่เรียกว่ามันไม่แน่น่ะอย่าไปทิ้งนะเดินไปในสถานที่ต่างๆในโบสถ์ ในวิหารเก่าสถาปนิกเขาทำอย่างดีบางแห่งมันร้าวก็มีเพื่อนพูดว่า"มันน่าเสียดายนะมันร้าวหมดนะ"
อาตมาเลยพูดว่า"ถ้าอย่างนั้นพระพุทธเจ้าก็ไม่มีสิธรรมะอันจริงก็ไม่มีสิมันมีอย่างนี้ก็เพราะพระพุทธเจ้าวางรอยไว้อย่างนี้"


อย่าเชื่อผู้อื่นมากมายเกินไป

ทั้งๆที่ตัวเราบางทีก็ยังนึกเสียดายอยู่ที่มันร้าวอย่างนั้นนะก็ยังปักใจขึ้นมาพูดให้มันเป็นประโยชน์แก่เพื่อนและแก่ตัวด้วยบางทีก็เสียดายเหมือนกันนะแต่ก็ยังมักเข้าไปหาธรรมะ"ยังงั้นพระพุทธเจ้าก็ไม่มีสิถ้ามันไม่เป็นอย่างนั้นนะ"พูดแรงๆเข้าไปให้เพื่อนได้ยินหรือบางคนก็คงจะไม่ได้ยินหรอกไม่ได้ยินเราก็ได้ยินของเรานั่นแหละอันนี้มันเป็นประโยชน์นี้แล้วก็มีประโยชน์หลายๆอย่างเช่นว่าเรานั่งอยู่เฉยๆอย่างนี้ถ้ามีเพื่อนบอก"หลวงพ่อ โยมคนนั้นว่าให้หลวงพ่ออย่างนั้นๆพระองค์นั้นว่าให้หลวงพ่ออย่างนั้นๆ"อย่างนี้เป็นต้นโอ๊ยมันสั่นขึ้นมานะได้ยินเขาว่ามันสั่นขึ้นมานี่นี่คืออารมณ์เราก็ต้องรู้มันทุกกระเบียดนิ้วแหละอารมณ์นะพอมันรู้จักบางทีมันก็ตั้งใจเหี้ยมโหดขึ้นมาในจิตของเราแต่ก็บางทีเราไปสืบสวนเรื่องนั้นจริงๆก็เปล่ามันคนละเรื่องกันอีกแล้วมันเลยไม่แน่ไปอีกแล้วแล้วจะเชื่ออะไรมันทำไมเราจะเชื่อคนอื่นอะไรมากมายทำไมเราก็รู้ก็ฟังอดทนพิจารณามันก็ไปตรงเท่านั้นแหละ


นักปฏิบัติต้องไม่ทิ้งอนิจจัง

ไม่ใช่ว่ามีอะไรก็เขียนออกเขียนออก เขียนออกทั้งนั้นจนมันหมด คำพูดที่ปราศจากอนิจจังคำพูดอันนั้นไม่ใช่คำพูดของนักปราชญ์นี่จำไว้ ตัวเราเองถ้าไปทิ้งอนิจจังเสียก็ไม่ใช่นักปราชญ์เหมือนกันไม่ใช่นักปฏิบัติถ้าเห็นอารมณ์ได้ยินอารมณ์พบประสบอะไรมากมายขึ้นมามันจะเป็นเหตุให้เพลินใจก็ตามเป็นเหตุให้เศร้าใจก็ตามก็ว่า "อันนี้มันไม่แน่"ทำให้มันแรงๆเข้าไปเถอะจับมันตอนเดียวเท่านี้แหละอย่าไปเอาอะไรมันมากเอาอันเดียวนี่แหละจุดนี้เป็นจุดที่สำคัญจุดตายด้วยนะนี่ฮึ นี่คือจุดตายนักปฏิบัติอย่าไปทิ้งมันถ้าทิ้งอันนี้มีหวังได้ว่ามีทุกข์หวังได้ว่าผิดเป็นประมาณเทียวถ้าไม่เอาอันนี้เป็นหลักปฏิบัติของตนแล้วเชื่อแน่ว่ามันผิดแล้วมันก็ถูกอยู่ได้อีกต่อไปเพราะหลักนี้มันดีมากนี่ความเป็นจริงมันเป็นอย่างนี้ว่าธรรมะที่แท้จริงคือพูดขึ้นในวันนี้มันก็เท่านี้มันไม่มีอะไรมากเห็นอะไรก็เห็นสักว่ารูปเวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณสักว่ารูป สักว่าเวทนาสักว่าสัญญาสักว่าสังขารสักว่าวิญญาณมันเป็นของสักว่าเท่านั้นแหละมันจะแน่นอนอะไรเล่า

6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-2-28 16:50 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ตัวรู้คลอดมาจากตัวไม่รู้

ถ้าเรามารู้เรื่องตามเป็นจริงเช่นนี้แล้วมันก็จะคลายความกำหนัดคลายความรักใคร่คลายความยึดมั่นคลายความถือมั่นทำไมถึงคลายเพราะมันเข้าใจเพราะมันรู้มันเปลี่ยนออกจากอวิชชามันก็เปลี่ยนออกมาจากนั้นแหละตัววิชชานี้แหละมันคลอดออกจากอวิชชามาเป็นตัววิชชาขึ้นตัวรู้นี่มันจะคลอดออกจากความไม่รู้ตัวสะอาดนี่มันจะคลอดออกจากความสกปรกมันเป็นอย่างนี้ถ้าเราไม่ทิ้งอนิจจังคือพระนี่ที่เรียกว่าพระพุทธองค์นั้นยังอยู่ที่ว่าพระพุทธองค์ของเรานิพพานแล้วน่ะอย่างหนึ่งก็ไม่ใช่ถ้าเป็นส่วนลึกเข้าไปน่ะพระพุทธเจ้ายังอยู่


ผู้เห็นภัยในสงสาร

ก็เหมือนกันกับคำว่าภิกขุถ้าแปลว่าผู้ขอแล้วมันก็กว้างเอามาใช้ได้เหมือนกันแต่ว่าใช้มามากก็ผิดนะคือมันขอเรื่อยๆนี่ถ้าเราพูดไปให้ซึ้งดีกว่านั้นอีกภิกขุ แปลว่าผู้เห็นภัยในสงสารอกภิกขุ มันซึ้งไหมล่ะเอ้อ มันไม่ไปในรูปนั้นเสียมันซึ้งกว่ากันอย่างนั้นการปฏิบัติธรรมะมันก็อย่างนั้นเข้าใจในธรรมะไม่ทั่วถึงมันก็เป็นอย่างหนึ่งธรรมะเข้าไปทั่วถึงมันก็เป็นอย่างหนึ่งมันมีคุณค่ามากที่สุด


มีสติเมื่อใดก็ใกล้ธรรมเมื่อนั้น

อันนี้เราให้มันอิ่มอยู่ด้วยธรรมะถ้าเรามีสติอยู่เมื่อไรเราก็อยู่ใกล้ธรรมะเมื่อนั้นถ้าเรามีสติอยู่เราก็เห็นอนิจจังของไม่เที่ยงอยู่ตราบนั้นเมื่อเราเห็นของไม่เที่ยงอยู่ตราบใดเราก็เห็นพระพุทธเจ้าตราบนั้นแล้วเราจะพ้นความทุกข์ในวัฏฏสงสารมิวันใดก็วันหนึ่งถ้าเราไปทิ้งคุณพระไปทิ้งพระพุทธเจ้าหรือไปทิ้งธรรมะอันนี้มันก็เปล่าจากประโยชน์ที่เราทำอยู่อย่างไรก็ต้องติดตามติดต่อเรื่องการปฏิบัติของเราอย่างนี้อยู่ตลอดเวลาไม่ว่าเราจะทำงานอะไรอยู่เราจะนั่ง จะนอนตาจะเห็นรูปหูจะฟังเสียงจมูกดมกลิ่นลิ้นลิ้มรสโผฏฐัพพะถูกต้องทางกายสารพัดอย่างอย่าไปทิ้งพระอย่าห่างจากพระ


ผู้เข้าใกล้อนิจจังทุกขัง อนัตตาจักเห็นธรรม

นี่ก็เรียกว่าผู้ที่เข้าถึงพระได้ไหว้พระอยู่ทุกเวลาตอนเช้าเราก็ไปไหว้อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ภควาก็จริงอยู่แต่ว่ามันจะไหว้ไม่มีความหมายถึงขนาดนี้มันจะเหมือนกันกับคำว่าภิกขุนั่นแหละแปลว่าผู้ขอก็ขอเรื่อยไปก็เพราะแปลอย่างนั้นถ้าหากแปลอย่างดีที่สุดภิกขุก็แปลว่าผู้เห็นภัยในสงสารอย่างนี้ก็เหมือนกันอย่างแบบเราทำวัตรสวดมนต์ตอนเช้าตอนเย็นไหว้พระอย่างนี้มันก็จะเทียบได้ว่าภิกขุผู้ขอถ้าเราเข้าไปใกล้ชิดอนิจจังทุกขัง อนัตตาอยู่ทุกเวลาเมื่อตาเห็นรูปหูฟังเสียงจมูกดมกลิ่นลิ้นลิ้มรสมันจะเทียบกับศัพท์ที่ว่าภิกขุผู้เห็นภัยในสงสารคือมันซึ้งกว่ากันอย่างนี้แล้วมันก็ตัดหลายๆสิ่งหลายๆอย่างถ้ามันเห็นธรรมะอันนี้แล้วมันจะมีความรู้มีปัญญาต่อไปเรื่อย
อันนี้เรียกว่าปฏิปทาให้มีความรู้สึกอย่างนี้ในการประพฤติปฏิบัติของเรามันจะมีความถูกต้องดีกว่าถ้าคิดเช่นนี้พิจารณาเช่นนี้อยู่ในใจถึงแม้ว่ามันจะไกลจากครูบาอาจารย์มันก็ยังใกล้ครูบาอาจารย์ถ้าหากว่าคนเราอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์แต่ร่างกายของเราแต่จิตใจมันเข้าไม่ถึงมันก็อยู่ไปก็เพ่งโทษครูบาอาจารย์สรรเสริญครูบาอาจารย์ครูบาอาจารย์ทำถูกใจเราก็ว่าท่านดีถ้าทำไม่ถูกใจเราก็ว่าไม่ดีก็ไปปฏิบัติอยู่แค่นั้นแหละไม่เห็นมันได้อะไรไปมองดูคนอื่นว่าคนนั้นดีคนนั้นไม่ดีอยู่อย่างนั้นแหละไม่เห็นมันได้อะไรมากมายถ้าเราเข้าใจในธรรมะข้อนี้เราจะเป็นพระขึ้นเดี๋ยวนี้แหละ
มิฉะนั้นเหตุผลที่ว่าอาตมาห่างไกลจากลูกศิษย์ปีนี้ พรรษานี้ทั้งพระเก่าพระใหม่ พระนวกะไม่ค่อยให้ความรู้ความเห็นก็เพื่อให้พิจารณาเอาเองให้มันมากนั่นเองพระใหม่ที่จะเข้ามาอาตมาบอกข้อกฎอยู่หมดแล้วว่าอย่าไปคุยกันอย่าไปฝ่าฝืนข้อกติกาที่ทำไว้แล้วนั่นนะคือทางมรรคผล นิพพาน นั่นแหละถ้าใครไปฝ่าฝืนข้อกติกาอยู่มันก็ไม่ใช่พระไม่ใช่คนตั้งใจมาปฏิบัติเท่านั้นแหละมันจะเห็นอะไรถึงแม้จะนอนอยู่กับอาตมาทุกคืนทุกวันก็ไม่เห็นหรอกจะนอนอยู่กับพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าหรอกไม่ได้ปฏิบัติเท่านี้แหละ

7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-2-28 16:51 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การรู้ธรรมการเห็นธรรมอยู่ที่การปฏิบัติ

ฉะนั้นการรู้ธรรมะการเห็นธรรมะมันอยู่ที่การปฏิบัติขอให้เรามีศรัทธาเถอะเราต้องทำจิตของเราให้มันดีคนในวัดทั้งวัดนั้นทำใจให้รู้สม่ำเสมอกันทุกคนเราจะไม่ต้องไปให้โทษใครไม่ต้องไปให้คุณใครไม่ต้องไปรังเกียจใครไม่ต้องไปรักใครถ้ามันเกิดโกรธเกิดเกลียดขึ้นให้มันมีอยู่ที่ใจให้มันดูถนัดเท่านั้นแหละให้ดูไปเท่านั้นแหละดูไปเถอะ ถ้ามีอะไรมันยังอยู่ในนี้ก็เรียกว่านั้นแหละต้องขูดมันตรงนั้นเราจะไปพูดว่า"ตัดไม่ได้ ตัดไม่ได้"ถ้าเอาได้นั่นมาพูดมันก็เป็นนักเลงโตกันหมดเท่านั้นแหละ



อาศัยที่ว่ามันตัดไม่ได้ต้องพยายามตัดไม่ได้ต้องขูดมันสิขูดกิเลสเกลากิเลสนั่นแหละขูดมันออกซิมันเหนียวแน่นนี่มันเป็นอย่างนั้นเสียไม่ใช่ว่ามันเป็นของได้ตามปรารถนาตามใจของเรานะธรรมะจิตมันเป็นอย่างหนึ่งความจริงมันเป็นอย่างหนึ่งต้องระวังข้างหน้าต้องระวังข้างหลังฉะนั้นท่านจึงบอกว่ามันไม่เที่ยงมันไม่แน่ ท่านย้ำเข้าไปอยู่เรื่อยๆอย่างนี้


ความจริงคือสิ่งไม่เที่ยง

ความจริงคือความไม่เที่ยงนี้ความจริงที่มันสั้นๆกว้างๆถูกๆนี้ไม่ค่อยพิจารณากันเห็นไปเป็นอย่างอื่นเสียดีก็อย่าไปติดดีร้ายก็อย่าไปติดร้ายสิ่งเหล่านี้มันมีอยู่ในโลกเราจะปฏิบัติเพื่อหนีจากโลกอันนี้ให้มันสิ้นสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงให้วางให้ละ ก็เพราะอันนี้มันประกอบให้ทุกข์เกิดขึ้นนั่นเองไม่ใช่อย่างอื่นหรอก

ที่มา http://www.ubu.ac.th/wat/ebooks/chahthai/Impermanence.html

ไม่แน่คืออนิจจัง สาธุ ครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้