ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1881
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

อุบาย'จิตว่าง'

[คัดลอกลิงก์]
อุบาย'จิตว่าง' : คอลัมน์วิปัสสนาบนหน้าข่าว : โดย...พิสุทธิ์ เกรียงบูรพา                                                                


                         "ท่านเจ้าคะ ความว่าง อยู่ที่ใดคะ? ท่านพุทธทาส ไม่ตอบ แต่กลับหยิบอาสนะขึ้นมา สะบัดๆ ๒-๓ ที แล้วก็เอนตัวลงนอน ๒ มือประสานรองศีรษะไว้อย่างสบายอุรา กลางศาลาเล็กๆ บนยอดเขานางเอ"

                                 โดยส่วนตัวแล้ว ผมดีใจมากที่วัฒนธรรมการสวดมนต์ข้ามปี เป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่พุทธบริษัทชาวไทย ข้อมูลจากทางการแจ้งไว้ว่าในปีนี้ มีเกือบห้าพันแห่งที่จัดกิจกรรมนี้ อย่างเป็นทางการ แม้ว่าพิธีการสวดมนต์ข้ามปี ในช่วงปีใหม่ ในแต่ละแห่งนั้น อาจจะมีพิธีรีตองส่วนเกินมากไป แต่ด้วยพุทธคุณ พุทธปัญญา ในบทสวดมนต์หลัก ก็ยังประโยชน์ให้สาธุชนได้ อยู่ดี ทั้งยังเป็นการดึงสลับขั้ว จากการฉลอง เมามาย ข้ามปี หรือ การเที่ยวราตรี ตามสถานที่อโคจร ดนตรีโป๊งๆ ชึ่ง ดังตึงตัง สลับกับพลุที่จุดมากมายข้ามปี ให้พลิกมาเป็นการสงบจิต สำรวมใจ เข้าวัดเข้าวาก็ดี รวมตัวกันตามสำนักปฏิบัติธรรมก็ดี น้อมระลึกถึงสิ่งที่กระทำมาแล้วตลอดปีเก่า พร้อมแผนชีวิตที่จะทำต่อไปในปีใหม่ ด้วยการสวดมนต์นำร่องอย่างเป็นมงคล ทั้งยังเสริมธรรม เสริมปัญญาไปด้วยในตัว เพราะนอกจาก เราจะได้หัวใจธรรมจากบทสวดมนต์นั้นแล้ว ในบางสถานที่ พระอาจารย์ก็ยังนำข้อธรรมมาเทศนา และเปิดโอกาสให้สนทนาธรรมสลับกันไป จากนั้นจึงต่อด้วยการสวดมนต์ข้ามปี จนพ้นปีศักราชใหม่ตามเส้นเวลา ที่สมมุติกันขึ้นมา ดังเช่นที่ สำนักธารธรรม ที่บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

                                 ปีนี้ผมได้มีโอกาสไปช่วยงานพระอาจารย์ฉลอง กิจจธโร ด้วยความสนิทศรัทธาท่าน ตั้งแต่ครั้งที่ท่านเคยเป็นพระวิทยากรบรรยายธรรม เล่านิทานสนุกๆ ในโรงมหรสพทางวิญญาณให้ลูกๆ ผมฟัง ที่สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ครั้งนี้จึงอาสามาช่วยท่านจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี โดยงานเริ่มตั้งแต่ ๕ โมงเย็นกว่าๆ ไปกระทั่งถึงตี ๑ โดยประมาณ อันมีหัวข้อว่า 'สวัสดีปีใหม่ ... อย่าโง่ เท่าเดิม!' รายละเอียดที่ร่วมวงสนทนาธรรมกันก็เน้นแนวเซนในแง่ของการทำจิตให้ว่างอย่างไร ในหลายชั่วโมงที่ทั้งคุยกัน ทั้งบรรยาย ฉายสไลด์ ผมขออนุญาตสรุปมาเป็นอุบายทั้ง ๘ ในการทำจิตว่าง ดังต่อไปนี้

                                 ๑. สักแต่ว่า คาถาที่พระอาจารย์ฉลอง ใช้เป็นของดีประจำตัวท่าน อะไรมาทางอายตนะ (ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ) ก็สักว่า สักว่า ฯลฯ ไปทั้งหมด

                                 ๒.เช่นนั้นเอง (ตถตา) ท่านพุทธทาสเคยกล่าวไว้ว่า ตถตา นี้เอง คือองค์พระเครื่องที่ควรนำมาห้อยคอ หากคิดอยากจะห้อยพระเครื่องกัน ดังที่ในบทสวดมนต์ทั้งวัตรเช้า วัตรเย็น ทั้งบทที่นำมาสวดข้ามปี มีบทที่กล่าวเน้นย้ำถึงความไม่เที่ยง (อนิจจัง) เป็นทุกข์ (ทุกขัง) และความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนของเรา (อนัตตา) อยู่เสมอ

                                 ๓.รู้จักทุกข์ ที่สมุทัย (ปฏิจจสมุปบาท) นิทานเรื่องพราหมณ์ถามพระพุทธเจ้า ๔ ข้อ (Yes or no) มีอยู่ว่า พราหมณ์ผู้มีไอคิวสูง สนใจใคร่รู้หนทางสู่การดับทุกข์ จึงทูลถามพระพุทธเจ้า ด้วยคำถาม ๔ ข้อ ซึ่งล้วนเป็นคำถามแบบปิด ให้ตอบเฉพาะว่า ใช่หรือไม่ใช่ เท่านั้น คำถามทั้ง ๔ โดยลำดับคือ ๑.ทุกข์เกิดเอง โดยลำพัง ใช่หรือไม่ ๒.ทุกข์นั้นเกิดขึ้นโดยผู้อื่นกระทำให้ ใช่หรือไม่ ๓.ทุกข์นั้นเกิดขึ้นเพราะตัวเราเองเป็นผู้กระทำ ใช่หรือไม่ และ ๔.ทุกข์นั้นเกิดขึ้นเพราะตัวเราเองและผู้อื่นร่วมกันกระทำ ใช่หรือไม่ ... ปรากฏว่า คำตอบเดียวที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสตอบไปคือ "ไม่ใช่" เล่นเอา พราหมณ์ผู้นั้น งงเป็นไก่ตาแตก สุดท้ายพระองค์ทรงโปรดตรัสสอนให้ว่า ทุกข์นั้นเกิดเองโดยลำพังไม่ได้ ทั้งผู้อื่นหรือตัวเรา ทำให้เกิดก็ไม่ได้ แต่ทุกข์นั้นเกิดโดยเหตุปัจจัย เป็นปฏิจจสมุปบาท เมื่อรู้จักเหตุแห่งการเกิดทุกข์ได้ตลอดสาย โดยเริ่มต้นจากอวิชชา (ความไม่รู้) แล้ว ผู้มีปัญญาก็จะสามารถตัดเหตุ ดับทุกข์ลงเป็นจิตว่างได้

                                 ๔.ช่างมันเถอะ (Let it be) เมื่อเห็นคล้อยตามกฎแห่งธรรมชาติว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง แล้วจิตก็จะรู้จักการปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นอีกต่อไป พร้อมที่จะสละ สลัดคืนได้ทุกเมื่อ ด้วยการกล่าวจากใจว่า ช่างมันเถอะๆ

                                 ๕.ไม่ใช่เรา (อนัตตา) ท่านโพธิธรรมตั๊กม้อ ตอบคำถาม ๓ ข้อ แก่จักรพรรดิหวู่ตี้ ผู้ปกครองที่แม้จะมีใจบุญสุนทรทาน ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในจีนอย่างมากมายก็จริง แต่ก็มักทำบุญโดยหวังผล มุ่งตักตวงบุญไว้อย่างสำคัญผิด ท่านอาจารย์ตั๊กม้อ จึงสั่งสอนด้วยการตอบคำถาม อันมีเนื้อความสรุปได้ว่า หากทำเพื่อบุญแล้ว บุญจะหนุนนำให้ติดข้องอยู่ในโลกอยู่ เพราะเป็นบุญกู-ของกู ส่วนการทำเพื่อกุศล โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วไซร้ กุศลนั้นจะเป็นความว่าง ทางสู่นิพพาน ส่วนคำถามสุดท้ายที่จักรพรรดิถามท่านตั๊กม้อ "แล้วที่นั่งอยู่ต่อหน้าเรา เป็นใคร?" (หมายถึงตัวตั๊กม้อเอง) ปรมาจารย์แห่งเซ็นในจีน กลับตอบอย่างหน้าตาเฉยว่า ... "อาตมา ไม่รู้จัก!" ... นี้เป็นอีกอุบายหนึ่งของจิตว่าง

                                 ๖.อย่ามีผัสสะโง่ ท่านอาจารย์พุทธทาส เคยถูกอุบาสกอวดรู้ท่านหนึ่ง ลองเชิงด้วยคำถาม กลางลานหินโค้ง โดยถามอย่างท้าทายว่า "เห็นท่านสอนเรื่อง ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น มาตั้งนาน หากท่านไม่ยึดมั่น ถือมั่นจริง ทำไม ไม่เอาสมณศักดิ์ (พระธรรมโกศาจารย์) ไปคืนหลวงท่านล่ะ?" ท่านพุทธทาสตอบหน้าตาเฉย "ไม่รู้จะเอาอะไรไปคืน เพราะไม่เคยรับอะไรมา!"

                                 ๗.หาสุขได้จากทุกข์ เซน ไม่เคยสอนให้หนีปัญหา กลับท้าให้เผชิญหน้ากับปัญหาอย่างกล้าหาญ ผู้มีปัญญาเท่านั้น จะหา 'สุข' ได้จาก 'ทุกข์' ในขณะที่ คนส่วนใหญ่ ยังคิดว่าตัวเองกำลัง 'สุข' ทั้งที่จริง กำลังถูกกิเลสเผาลนจน 'สุกไหม้' ต่างหาก ฉะนั้น อย่าเสียใจเลยที่พบทุกข์ เห็นทุกข์ก่อน เพราะเห็นทุกข์ จึงไม่ประมาท ขนาดพระพุทธองค์ ยังยกมาให้เป็น อริยสัจข้อแรกเลย (ทุกขสัจ) เพราะเห็นทุกข์ จึงเห็นสัจธรรม แล้วพยายามหาหนทางออกจากทุกข์นั้น (มรรค) จนปฏิบัติได้มรรคผลนิพพาน เป็นสุขอย่างถาวร หาสุขได้จากทุกข์ จึงเป็นคำสัตย์จริง มิได้เป็นการกล่าวตู่ เล่นลิ้นแต่ประการใด เสมือนหาเพชรได้ในหัวคางคก นั่นเอง

                                 ๘.ว่างทั้งเพ กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เศรษฐีนี ๒ คน เดินตามอาจารย์พุทธทาสขึ้นไปบนเขานางเอ (บริเวณที่สูงที่สุดในสวนโมกข์) แล้วถามคำถามกับท่านอาจารย์พุทธทาสว่า "ท่านเจ้าคะ ความว่าง อยู่ที่ใดคะ?" ท่านพุทธทาส ไม่ตอบอะไรจากปาก แต่กลับแสดงอาการให้ดู โดยหยิบอาสนะขึ้นมา สะบัดๆ ๒-๓ ที เพื่อคลี่ปูยาว แล้วก็เอนตัวลงนอน ๒ มือประสานรองศีรษะไว้อย่างสบายอุรากลาง ศาลาเล็กๆบนยอดเขานางเอ ... หลังจากนั้น ไม่มีใครรู้ว่าสุภาพสตรีทั้งสองนั้น เข้าใจธรรมที่ท่านแสดงหรือไม่ รู้แต่ว่า หลังจากที่ท่านอาจารย์นอนเงียบได้สักครู่ โดยไม่มีการสนทนาอะไรต่อจากนั้นอีก เธอทั้งสองก็เดินจ้ำอ้าวลงเขามาทันที

                                 ผมฟังเรื่องนี้ทีไร แล้วนึกถึง 'โมฆราชคาถา' ทุกที พระคาถานี้ เป็นบาลี ๔๘ คำ แต่ อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ท่านแปลเป็นโคลงมาให้ ๔ ประโยคเอง

มองเห็นความ ไม่มี ในความมี
ถอนยึดถือ ออกทุกที่ อย่ามีไหน
มองโลกว่าง อย่างนี่ ทุกทีไป
ความตายก็ จะไม่ มองเห็นเราฯ

                                 มันเป็นเรื่องที่ว่างทั้งเพ จริงๆ ... เพราะฉะนั้น โมฆราชคาถาบทนี้ (สุญโต โลกํฯ) ... ช่วยชี้แนวทาง ความว่างทั้งเพ ว่างสิ้นเชิง ว่างกระทั่ง พญามัจจุราช มิอาจหาเราพบ อุบายนี้จึงยกให้เป็นอุบายปิดท้ายที่สำคัญในการทำจิตว่าง

                                 หลังการเทศนา และสนทนาธรรมจบลง พระอาจารย์ฉลองฯ ท่านก็นำสวดมนต์ยาว สาธุชนราว ๕๐-๖๐ คน พร้อมใจสวดมนต์ตามไปอย่างพร้อมเพรียงราว ๓๐ นาที กระทั่งเส้นเวลา เลยข้ามผ่านจากพุทธศักราช ๒๕๕๖ มาเป็น ๒๕๕๗ ได้ซักพักจึงจบลง พร้อมด้วยสีหน้าแช่มชื่นจากผู้ร่วมกิจกรรมทุกท่าน ท่ามกลางลานประชุมสงฆ์กลางแจ้ง ที่นอกจากอากาศจะเย็นตามธรรมชาติแล้ว ยังร่มเย็นจากต้นไม้ใหญ่มากมาย และทะเลสาบเล็กๆ ภายในสำนักสงฆ์แห่งนี้ แต่นั่นยังไม่เท่ากับความฉ่ำเย็นจากรสพระธรรมที่แผ่ซ่านเข้าไปในจิตใจของทุกคน



        .........................

        (อุบาย'จิตว่าง' : คอลัมน์วิปัสสนาบนหน้าข่าว : โดย...พิสุทธิ์ เกรียงบูรพา)

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้