เหตุผลของโหราศาสตร์และศาสนา
ข้าพเจ้าเคยได้ยินท่านผู้ใหญ่พูดว่า “สำหรับพุทธศาสนิกแท้ดูไม่น่ามีความจำเป็นอะไรที่จะข้องแวะกับโหราศาสตร์” เพราะพุทธศาสนาสอนไว้สมเหตุผลดีที่สุดแล้วว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” และก็เคยได้ยินพระโหราจารย์แสดงอธิบายว่าโหราศาสตร์เป็นอุปกรณ์ช่วยให้บุคคลทำดี และได้รับผลดีตามคำสอนนั้น
ขอยกว่า ทุกคนย่อมอยากได้ดีด้วยกันทั้งนั้น และพยายามประกอบเหตุอันดี ครั้นแล้วก็หาประสบผลที่สมใจคาดทุกคนไม่ เพราะผลดีนั้นๆ มีตั้งร้อยอย่างพันอย่าง และเหตุประกอบอันจะนำไปหาผลดีนั้นเล่าก็มีตั้งพันประการ เมื่อไม่ทันทราบรายละเอียดก่อนว่า ประการไหนจะตรงไปให้ผลดีอย่างไรแก่ตนแน่ก็ต้องเดาสุ่มไปตามเพลง ถ้าผลดีอยู่ทางหนึ่งเหตุที่ประกอบนั้นเลี่ยงไปเสียทางหนึ่ง ถึงจะเป็นผลที่ดีก็ย่อมคลาดแคล้วไปจากผลที่หวังไว้ แม้เผอิญได้ผลดีมาใหม่ก็ไม่ใช่ที่ประสงค์เสมือนเดินทางผิด หากจะถึงที่อื่นก็มิใช่ที่มุ่งหมาย โหราศาสตร์เป็นเครื่องส่องทางเดินตรงไปยังสายที่ต้องการผลโดยไม่ให้เสียเวลาเหลวเปล่า
โดยมากมักเข้าใจว่า ผลดี ผลร้าย แห่งการกระทำของบุคคลคือ กรรม หรือจะเรียกว่า กุศล และอกุศล ประกอบด้วยก็ไม่ผิด และก็ไม่สนใจคำว่าโชคนั้นมาก ถ้ามีกุศลก็ว่ามีโชค ถ้ามีอกุศลก็ว่ามีโชคร้าย
ในเรื่อง กรรม นี้มีความเห็นแตกต่างกัน ความดีเด่นชัดนั้น คนจำนวนมากยอมรับว่า กรรม คือการกระทำที่มีผลถึงขนาด ไม่ใช่แต่เฉพาะทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว กรรม คือการกระทำที่ให้เกิดเป็นผลขึ้น เช่นปลูกต้นไม้ไว้ก็อาจได้ผลของต้นไม้ หรือเราไปฆ่าเขาตายเขาก็ตามจับเราไปฆ่าเช่นเดียวกัน
คนส่วนมากมักไม่เข้าใจว่า กรรม คือการกระทำแต่ชาติก่อนที่เชื่อกันว่ามนุษย์จะต้องเวียนเกิดเวียนตาย เป็นสิ่งที่เคยบันดาลความเป็นไปของคนเราให้ผิดไปกว่าที่เราคาดคะเนไว้มากบ้างน้อยบ้าง ส่วนอิทธิพลของกรรม บางคนถือว่าจะหลีกเลี่ยงเสียมิได้เพราะพี่น้องท้องเดียวกันยังมีนิสัยและเหตุผลต่างกัน
ทางโหราศาสตร์เห็นว่า กรรมคือสิ่งที่เราทำไว้แต่ปางก่อนแต่ลืมเสีย ไม่นึกถึงจนกระทั่งพบผลของกรรมนั้น เพราะฉะนั้นถ้าผู้ใดรู้เสียก่อนว่ากรรมคือสิ่งที่ตนทำไว้แล้วในอดีต จักให้ผลดีและผลร้ายในเวลานั้นก็อาจแก้พิษร้ายให้น้อยลง และเพิ่มกำลังแห่งกรรมดีให้บังเกิดผลดียิ่งๆ ขึ้นจนเรียกว่าเป็นโชค
ฉะนั้น จึงเห็นว่าทุกคนควรเรียนรู้วิชาโหรไว้เพื่อทราบหนทางแห่งกรรมดี คือเหตุดีและเหตุชั่ว คือกรรมชั่ว นั้นไว้ด้วย
ความสัมพันธ์ระหว่างโหราศาสตร์กับพุทธศาสนา
โหราศาสตร์กับพุทธศาสนามีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอยู่ เพราะว่าพระพุทธเจ้าขณะที่ยังทรงเป็นมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นโอรสของกษัตริย์ พระราชบิดาหวังจะให้ปกครองแผ่นดินต่อไป จึงได้โปรดให้พระราชโอรสศึกษาวิชาการต่างๆ ที่มีอยู่ในขณะนั้น ตามประวัติบ่งว่า “ศิลปะศาสตร์” ศึกษาจบถึง ๑๘ สาขา ถ้าเทียบกับสมัยปัจจุบัน หมายถึงพระพุทธเจ้าได้สำเร็จปริญญาโลกหลายสาขา ยิ่งกว่าด็อกเตอร์หรือดุษฎีมหาบัณฑิตคนใดๆ ในยุคนี้ และหากจะพิมพ์นามบัตรมีดีกรีพ่วงท้ายไปด้วย ต้องใช้การ์ดแผ่นใหญ่มาก
“ศิลปะศาสตร์” ทั้ง ๑๘ สาขานั้นมีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่า พระองค์ทรงศึกษาเจนจบทั้ง ๑๘ สาขา และมีวิชาโหราศาสตร์รวมอยู่ด้วยสาขาหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เมื่อพระองค์ออกบวชและสำเร็จ “สพฺพญฺญุตญาณ” ทางศาสนาเพิ่มอีกสาขาหนึ่ง พระองค์จึงทรงบัญญัติหลักวิชาการต่างๆ ลงใน “พุทธศาสนา”
ฉะนั้น หลักพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้ บางข้อบางประการจึงคล้ายคลึงกับหลักทางโหราศาสตร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระองค์ได้ยึดเอาหลักวิชาการทางโหราศาสตร์มาเป็นแนวพื้นฐาน ในการบัญญัติวิชาการทางพุทธศาสนาของพระองค์ด้วย ตัวอย่างข้อนี้คือหลัก “กาลญฺญุตา” คือจะทำอะไรให้รู้จักกาลเวลาที่เหมาะกัน ตรงกับหลักการคือ “ฤกษ์” ในทางโหราศาสตร์นั่นเอง เพราะว่าการดูฤกษ์นั้น คือการดูเวลาอันเป็นศุภมงคลที่เหมาะสมในการประกอบกิจการงานต่างๆ เพื่อความสุข ความวัฒนาถาวร ความสำเร็จผล และเพื่อประสิทธิ์ฯ ความเจริญให้ได้ต้องตามความต้องการนั่นเอง นี่แหละคือความสัมพันธ์ระหว่างโหราศาสตร์กับพุทธศาสนา
|