การระลึกนึกถึงพระคุณของคุณครู ในสมัยโบราณมีลักษณะอย่างไร
สาระหลักของการไหว้ครูคือการแสดงความเคารพระลึกถึงพระคุณของท่าน มอบกายถวายตัวให้กับท่าน ให้ท่านอบรมสั่งสอนมันเป็นอย่างนั้น แต่การแสดงออกก็จะมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมประเพณีของแต่ละที่กันไป อย่างเช่นในบางที่ก็ใช้วิธีการประกาศปฏิญาณตน บางที่ก็ใช้วิธีการว่าเอาข้าวตอกดอกมะเขือแล้วก็หญ้าแพรกต่างๆไปไหว้ครู เป็นต้น บ้างก็ใช้วิธีการแสดงออกโดยการประทักษิณ อย่างในพระพุทธศาสนาเรา การจะแสดงความเคารพ เราจะใช้การประทักษิณ เราคงได้ยินคำนี้ ประทักษิณอย่างเช่นว่าจะแสดงความเคารพพระพุทธรูป พระประธานในโบสถ์ ก็ประทักษิณรอบโบสถ์ เวียนเทียนนั่นเอง ก็คือเดินแล้วก็ด้วยอาการสำรวมเช่นพนมมือหรือสวดมนต์ไปเป็นต้น แล้วให้ขวามือของเรา อยู่ใกล้กับสิ่งที่เราแสดงความเคารพ เช่นจะเดินผ่านโบสถ์ก็ให้ขวามือเราเองอยู่ใกล้โบสถ์ แล้วก็เดินวนรอบ เรียกว่าเวียนประทักษิณ เจริญพร จะเป็นสถูปเจดีย์ต่างๆประทักษิณคือ เอาขวามือเราอยู่ใกล้สิ่งนั้นแล้วก็เดินรอบ 3 รอบโดยทั่วไป ก็เป็นการแสดงออกซึ่งความเคารพได้เหมือนกัน สำคัญที่ใจ แต่การแสดงออกทางกาย วาจา ก็มีผลเพราะว่า มันจะสื่อเนื่องไปถึงใจด้วย
สิ่งที่แสดงออกสูงที่สุดคือปฏิบัติบูชา การแสดงความเคารพบูชาครูบาอาจารย์ ดีที่สุดคือปฏิบัติบูชา คือทำตามคำสอนของท่าน หน้าที่ของครูมี 2 อย่าง คือแนะให้รู้กับทำให้ดู แนะนำนั่นเองแหละ แนะคือสอนให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร นำก็คือทำให้ดูเป็นตัวอย่าง การประพฤติปฏิบัติของครูทำให้ดูเป็นตัวอย่าง 2 อย่างประกอบคือหน้าที่หลักของครู หน้าที่ของศิษย์เองก็จะต้องตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามเรียกว่าปฏิบัติบูชา ครูบาอาจารย์สอนอะไรไม่ใช่เข้าหูซ้ายออกหูขวา แต่ใส่ใจรับฟังศึกษาให้เข้าใจแล้วก็นำมาปฏิบัติเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นตัว เป็นตนของเราเอง จนซึมเข้าไปในใจของเราเป็นวิถีชีวิตของเราเอง อันนี้คือการปฏิบัติบูชาที่ดีที่สุด ถือเป็นการบูชาอันสูงสุด
ในทางพระพุทธศาสนาของเรานี่ ครูผู้ยิ่งใหญ่ของเราคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระบรมครูนั่น เอง เรารู้จักพระพุทธเจ้าในฐานะ ผู้เป็นพระบรมครู ศาสดาเอกของโลก เราจึงควรศึกษาของดีๆ ที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา เพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่สังคมอย่างกว้างขวาง
พระพุทธเจ้าในสมัยเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ทรงได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี จากอาจารย์ที่มีชื่อเสียง คือ อาจารย์วิศวามิตร วิชาที่ทรงศึกษา คือ ศิลปศาสตร์ 18 ประการ อันเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้จะเป็นกษัตริย์ จะต้องศึกษาศิลปศาสตร์ 18 ประการ คือ
1. ยุทธศาสตร์ วิชานักรบ
2. รัฐศาสตร์ วิชาการปกครอง
3. นิติศาสตร์ วิชากฎหมายและจารีตประเพณีต่างๆ
4. พาณิชยศาสตร์ วิชาการค้า
5. อักษรศาสตร์ วิชาวรรณคดี
6. นิรุกติศาสตร์ วิชาภาษาทั้งของตน และของชนชาติ ที่เกี่ยวข้องกัน
7. คณิตศาสตร์ วิชาคำนวณ
8. โชติยศาสตร์ วิชาดูดวงดาว
9. ภูมิศาสตร์ วิชาดูพื้นที่ และรู้จักแผนที่ของประเทศต่างๆ
10.โหราศาสตร์ วิชาโหรรู้จักพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ
11.เวชศาสตร์ วิชาแพทย์
12.เหตุศาสตร์ วิชาว่าด้วยเหตุผล หรือตรรกวิทยา
13.สัตวศาสตร์ วิชาดูลักษณะสัตว์ และรู้เสียงสัตว์ว่าดี หรือร้าย
14.โยคศาสตร์ วิชาช่างกล
15.ศาสนศาสตร์ วิชาศาสนารู้ความเป็นมา และหลักศาสนาทุกศาสนา
16.มายาศาสตร์ วิชาอุบาย หรือตำหรับพิชัยสงคราม
17.คันธัพพศาสตร์ วิชาร้องรำหรือนาฎยศาสตร์ และวิชาดนตรีหรือดุริยางค์ศาสตร์
18.ฉันทศาสตร์ วิชาการประพันธ์
พระพุทธเจ้าทรงศึกษาศิลปศาสตร์ 18 ประการนี้ จนมีความรู้แตกฉาน ยากที่หาใครเสมอเหมือนได้จึง กล่าวได้ว่า พระองค์ทรงมีความรู้ ในทางโลกเพียบพร้อม เป็นอย่างดีอยู่แล้ว เมื่อได้เสด็จออกบรรพชา พระองค์ทรงได้ศึกษาเพิ่มเติมจากอาฬารดาบส และอุททกดาบส ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา และทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตใจ จนได้ตรัสรู้ พระองค์จึงทรงพร้อมที่จะสอนบุคคลทุกชั้น ตั้งแต่คนธรรมดา จนถึงนักปราชญ์ และเทวดา ทุกโอกาสและสถานที่ เราลองมาพิจารณาการสอนแบบพระพุทธเจ้ากัน
ทรงพร้อมที่จะสอน
ทรงสอนด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
ทรงสอนโดยมีจุดมุ่งหมาย
ทรงสอนโดยคำนึงถึงความพร้อมของผู้ฟัง
ทรงสอนโดยคำนึงถึงความแตกต่างฯ
ทรงสอนโดยใช้สื่อภาษาที่เข้าใจง่าย
ทรงสอนจากสิ่งที่รู้ไปหาสิ่งที่ไม่รู้
ทรงสอนจากยากไปหาง่าย
ทรงสอนโดยจัดคำสอนเป็นข้อๆ
ทรงสอนตามความเข้าใจของผู้อื่น
ทรงสอนโดยวิธีซักถาม
ทรงสอนให้ผู้ฟังลงมือปฎิบัติ
ทรงสอนโดยใช้อุปกรณ์การสอน
ทรงสอนให้ใช้ปัญญาพิจารณาฯ
แหละนี่คือ หลักการสอนการปฏิบัติตนของพระบรมครูผู้ยิ่งใหญ่ของโลกนี่ ที่เราทุกคนควรนำหลักไปปฏิบัติ เพื่อให้สันติสุขบังเกิดขึ้นแก่โลกใบนี้
ที่มา http://www.dmc.tv/pages/top_of_week/วันครู-2554.html |