ปางนาคปรก พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ หงายพระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลา มีพญานาคแผ่พังพานปกคลุมเบื้องบนพระเศียร บางแห่งสร้างเป็นแบบขัดสมาธิเพชร
พระนาคปรกนี้มี ๒ แบบ คือ แบบหนึ่งประทับนั่งสมาธิบนขนดพญานาค แบบหนึ่งประทับนั่งสมาธิภายในวงขนดพญานาค คือพญานาคขดตัวล้อมพระกายไว้ถึงพระอังสา เพื่อป้องกันลมฝนตามตำนาน
พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานดังนี้
เมื่อเสด็จประทับเสวยวิมุติสุข ณ ร่มไม้ อชปาลนิโครธ ๗ วันแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จไปประทับนั่งเสวยวิมุติสุขยังร่มไม้จิก ชื่อว่า มุจจลินท์ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศอาคเนย์ของต้นมหาโพธิ์นั้น.
บังเอิญในวันนั้น เกิดมีฝนตกพรำอยู่ไม่ขาดสายตลอด ๗ วัน พญามุจจลินท์นาคราชออกจากพิภพ ทำขนดล้อมพระวรกาย ๗ ชั้น แล้วแผ่พังพานใหญ่ปกคลุมเบื้องบน เหมือนกั้นเศวตรฉัตรถวายพระผู้มีพระภาคด้วยความประสงค์มิให้ฝนและลมหนาวสาดต้องพระวรกาย ทั้งป้องกันเหลือบยุง บุ้ง ร่านริ้น และสัตว์เลื้อยคลานทั้งมวลด้วย.
ครั้นฝนหายขาดแล้ว พญามุจจลินท์นาคราชจึงคลายขนดจากที่ล้อมพระวรกายพระผู้มีพระภาคเจ้า จำแลงเพศเป็นมาณพน้อย ยืนทำอัญชลีถวายนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้าในที่เฉพาะพระพักตร์.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงเปล่งอุทานว่า :-
สุโข วิเวโก ตุฏฺฐสฺส สุตธมฺมสฺส ปสฺสโต
อพฺยาปชฺชํ ลุขํ โลเก ปาณภูเตสุ สญฺญโม
สุขา วิราคตา โลเก กามานํ สมติกฺกโม
อสฺมิมานสฺส วินโย เอตํ เว ปรมํ สุขํ.
ความว่า ความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้มีธรรมอันได้สดับแล้ว รู้เห็นสังขารทั้งปวงตามเป็นจริงอย่างไร ความเป็นคนไม่เบียดเบียน คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และความเป็นคนปราศจากความกำหนัด คือความก้าวล่วงกามทั้งปวงเสียได้ เป็นสุขในโลก ความนำออกเสียซึ่งอัสมิมานะ คือความถือตัวตนให้หมดได้นี้ เป็นสุขอย่างยิ่ง
พระพุทธจริยาที่เสด็จประทับนั่งเสวยวิมุติสุข ภายในวงขนดของพญามุจจลินท์นาคราชที่ขดแวดวงพระกายอยู่นี้ เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปอีกปางนี้ เรียกว่า "ปางนาคปรก" ดังนั้นพระพุทธรูปปางนี้ จึงอยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ หงายพระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลาที่นิยมสร้างชนิดนั่งสมาธิแบบพระมารวิชัยก็มี มีพญานาค ๗ หัว แผ่พังพานปกคลุมเบื้องบนพระเศียรเพื่อป้อง ลม ฝน ตามเรื่อง
เรื่องพระนาคปรกนี้ นิยมสร้างเป็นพระนั่งบนขนดตัวพญานาคเหมือนเอานาคเป็นบัลลังก์ดูสง่า องอาจเป็นพระเกียรติอำนาจของพระพุทธเจ้าอย่างหนึ่ง ได้ลักษณะเป็นอย่างพระเจ้าของพวกพราหมณ์ ลางทีจะเอาแบบลัทธิพราหมณ์มาสร้างก็ได้ แต่ลักษณะนี้ ดูจะป้องกัน ลม ฝน ไม่ได้ ไม่สมกับเรื่องที่พญานาคมาแวดวงขนดรอบพระกายเพื่อป้องกันลมฝนถวาย
ถ้าจะรักษาลักษณะของพระพุทธรูปตามเรื่องนี้ ก็จะเป็นลักษณะอีกอย่างหนึ่งคือ พระพุทธรูปจะมีพญานาคพันรอบพระกายด้วยขนดตัวพญานาค ๔-๕ ชั้น จนบังพระกายมิดชิด เพื่อป้องกัน ลม ฝน จะเห็นแต่พระเศียร พระศอ และพระอังษา เป็นอย่างมาก ทั้งเบื้องบน ก็จะมีหัวพญานาคแผ่พังพานปกคลุมอีกด้วย ขอให้ดูพระพุทธรูปปางนาคปรก ในหนังสือพุทธประวัติทัศนศึกษาที่ถ่ายมาจากโบสถ์พระแก้ว ในพระบรมมหาราชวังเป็นตัวอย่างเถิด จะเห็นเป็นจริงตามลักษณะของเรื่องนี้ มิใช่อย่างที่นิยมสร้างกันอยู่ในบัดนี้ หากแต่รูปแบบนี้ไม่งาม ถ้าคนที่ไม่ทราบเรื่องมาก่อนอาจเห็นไปว่าพระถูกพญานาครัดจะกลืนกินก็ได้ แต่คนไม่รู้แล้วไม่เรียนให้รู้ เราก็จะช่วยอะไรไม่ได้เหมือนกัน. พระพุทธรูปปางนาคปรกนี้ นิยมสร้างเป็นพระพุทธรูปที่สักการบูชาประจำวัน ของคนเกิดวันเสาร์. ข้อมูลจากหนังสือ "ตำนานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ" นิพนธ์ของ พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ อนุจารีมหาเถร)
ที่มา http://www.onab.go.th/index.php? ... 5-34&Itemid=279
|