[url=][/url][url=][/url]
ท่องไปในแดนธรรม เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู
* ที่มา คมชัดลึกออนไลน์
หลวงพ่อพระลับ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย วัสดุทองสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง ๒๙ เซนติเมตร สูง ๓๖ เซนติเมตร เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านเมืองของ จ.ขอนแก่น ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ วัดธาตุ พระอารามหลวง ซึ่งมี พระเทพกิตติรังษี หรือ พระ ดร.ทองสา วรลาโภ เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น เป็นเจ้าอาวาส
จากการศึกษาพระพุทธลักษณะจึงสันนิษฐานว่า "หลวงพ่อพระลับ" สร้างขึ้นโดย "พระเจ้าโพธิสาร พระมหาธรรมิกราชาธิราช" ประมาณ พ.ศ.๒๐๖๘ ณ นครหลวงพระบาง เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๑ สวรรคต พ.ศ.๒๑๑๔ พระเจ้าศรีวรมงคล ผู้น้องขึ้นครองราชสืบมา พระนามว่า "พระยาธรรมิกราช" (พ.ศ.๒๑๓๔- พ.ศ.๒๑๖๕) มีโอรส ๑ คน ชื่อ "เจ้าศรีวิชัย"
เมื่อพระยาธรรมิกราชสิ้นพระชนม์ กลุ่มของพระยาแสนสุรินทร์ขว้างฟ้า ยึดเมืองเวียงจันทน์ได้ เจ้าศรีวิชัยจึงหลบหนีพร้อมนำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ไม่ทราบจำนวน ซึ่งมี "หลวงพ่อพระลับ" รวมอยู่ด้วย ไปอาศัยอยู่กับท่านพระครูหลวง (เจ้าอาวาสวัดโพนสะเม็ด) เจ้าศรีวิชัย มีโอรสอยู่ ๒ คน คือ "เจ้าแก้วมงคล หรืออาจารย์แก้ว หรือแก้วบูธม" และ "เจ้าจันทร์สุริยวงศ์"
พ.ศ.๒๒๓๓ ท่านราชครูหลวงได้อพยพชาวเวียงจันทน์บางส่วนประมาณ ๓,๐๐๐ คน ไปบูรณปฏิสังขรณ์ "พระธาตุพนม" แล้วพาครอบครัวเวียงจันทน์ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ดอนโขง เนื่องจากท่านราชครูได้รับความเคารพจากประชาชนมาก สองพี่น้องชื่อ นางเพา นางแพง ซึ่งปกครองดูแลเมืองจำปาศักดิ์ จึงได้อาราธนาท่านให้ไปอยู่ที่นครจำปาศักดิ์ เพื่อปกครองบ้านเมืองให้ได้รับความสุข
เมื่อท่านไปปกครองได้ขยายอาณาเขตนครจำปาศักดิ์ให้กว้างขวางออกไปและสร้างเมืองใหม่ไม่ขึ้นต่อเมืองเวียงจันทน์ และหลวงพระบางได้อัญเชิญ "เจ้าหน่อกษัตริย์" หรือ "เจ้าหน่อคำ" มาเสวยราชสมบัติ เป็นกษัตริย์ปกครองนครจำปาศักดิ์ใหม่ ทรงพระนามว่า "เจ้าสร้อยศรี สมุทรพุทธางกูร" (พ.ศ.๒๒๕๖-พ.ศ.๒๒๘๐) และได้ให้ "อาจารย์แก้ว หรือเจ้าแก้วมงคล หรือเจ้าแก้วบูธม" อพยพครอบครัวพร้อมประชาชนพลเมือง นำเอาพระพุทธรูปเก่าแก่ศักดิ์สิทธิ์ที่นำมาจากเวียงจันทน์ไปสร้างเมืองทง หรือ "เมืองสุวรรณภูมิ" (ปัจจุบันคือ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด)
เจ้าแก้วมงคลได้เป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิคนแรก (พ.ศ.๒๒๕๖- พ.ศ.๒๒๖๘) จากนั้นก็มีเจ้าเมืองสืบต่อมาจนถึง พ.ศ.๒๓๒๖ "ท้าวภู" ได้เป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "พระรัตนวงษา" ได้แต่งตั้งให้ลูกชาย "ท้าวศักดิ์" ไปดำรงตำแหน่ง "เมืองแพน" มียศเป็น "เพีย" เทียบเท่าพระยาฝ่ายทหาร ให้ไปตั้งรักษาการณ์อยู่ริมแม่น้ำชี สถานที่นั้นเรียกว่า "ชีโหล่น" ต่อมาถึง พ.ศ.๒๓๓๒ ก็ได้รับคำสั่งให้ไปตั้งแห่งใหม่ชายแดนด้านเหนือเขตเมืองสุวรรณภูมิกับเขตเมืองร้อยเอ็ดในขณะนั้น
"ท้าวศักดิ์" ซึ่งมีตำแหน่ง "เพียงเมืองแพน" ก็อพยพประชาชนพลเมืองประมาณ ๓๓๐ ครอบครัว พร้อนำเอาพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์หลายองค์ไปไว้เคารพสักการะเป็นมิ่งขวัญเมืองด้วย เห็นว่าตรง "บึงมีต้นบอนเกิดขึ้นมาก เป็นทำเลดีอยู่ใกล้ลำน้ำชี สองฝั่งบึงเป็นเนินสูงน้ำท่วมไม่ถึง จึงตั้งบ้านใหม่เรียกว่า "บ้านบึงบอน" และได้ก่อสร้างหลักเมืองฝั่งตะวันตกบึง (ปัจจุบันอยู่ที่ "คุ้มกลาง" เมืองเก่า)
ในครั้งนั้นได้มีสร้างวัดขึ้น ๔ วัด คือ "วัดเหนือ" ให้เจ้าเมืองและลูกไปทำบุญอุปัฏฐาก "วัดกลาง" ให้เสนาอำมาตย์พร้อมลูกหลานไปทำบุญอุปัฏฐาก "วัดใต้" ให้ประชาชนพลเมืองทั่วไปทำบุญอุปัฏฐาก "วัดถ่าแขก" หรือ "ท่าแขก" อยู่ฝั่งบึงด้านทิศตะวันออก สำหรับพระภิกษุอาคันตุกะจากถิ่นอื่นๆ มาพักประกอบพุทธศาสนพิธี (ปัจจุบันเป็นศาลเจ้าบ้านโนนทัน) ในการสร้างวัดต่างๆ หรือ "หอ" "โฮ่ง" ปูชนียสถานทางพุทธศาสนาของชาวลาวล้วนชำนาญการใช้วัสดุก่อสร้าง วัดที่สร้างด้วยไม้จึงไม่แข็งแรงมั่นคง จึงได้นำเอาพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดไปซ่อนไว้โดยถือเป็นความลับเพราะกลัวขโมย หรือพวกอันธพาลมาลัก มาทำลาย
หลังจากสร้างวัดเหนือแล้วจึงสร้างธาตุมีอุโมงค์ภายในนำเอาพระพุทธรูปไปเก็บซ่อนไว้อย่างลับที่สุด รู้แต่เจ้าอาวาสวัดเหนือเท่านั้น คนทั้งหลายจึงเรียกว่า "พระลับ" หรือ "หลวงพ่อพระลับ" สืบมาจนถึงทุกวันนี้ จนกระทั่ง พ.ศ.๒๓๔๐ พระบาทสมเด็จพระพุทธ ยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระบรมราชโองการยกฐานะบ้านบึงบอนขึ้นเป็น "เมืองขอนแก่น" ตั้งให้ "ท้าวศักดิ์" ซึ่งเป็น "ท้าวเพียเมืองแพน" เขตเมืองสุวรรณภูมิเป็นเจ้าเมืองขอนแก่นคนแรกมีนามว่า "พระนครศรีบริรักษ์"
การปกปิดพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ไว้ในธาตุไม่มีใครเห็นจึงไม่ทราบว่ามีลักษณะอย่างไร เมื่อกล่าวถึงพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์นี้ก็เรียกว่า "พระลับ" คนรุ่นต่อมาขยายบ้านเมืองมาตั้งบ้านขึ้นใหม่ด้านเหนือเมืองเก่าจึงเรียกว่า "บ้านพระลับ" ทางราชการย้ายมาตั้งที่ว่าการอำเภอเรียกว่า "อำเภอพระลับ" อยู่ในท้องที่ "บ้านพระลับ" เป็น "ตำบลพระลับ" ย้ายศาลากลางมาตั้งที่บ้านพระลับเรียกว่า "จังหวัดขอนแก่น"
ครั้นถึงสมัย "หลวงปู่พระเทพวิมลโมลี" (เหล่า สุมโน) เป็นเจ้าอาวาสและรองเจ้าคณะภาค ๙ (มหานิกาย) รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วิทยาเขตขอนแก่น ท่านมีอายุได้ ๘๖ ปี เกรงว่าต่อไปจะไม่มีใครรู้จัก "หลวงพ่อพระลับ" ท่านจึงได้เชิญ "นายกวี สุภธีระ" ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น มาเป็นสักขีพยานเปิดเผยพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้ให้เป็นพระพุทธรูปคู่เมืองขอนแก่นให้สาธุชนรู้จักและทำพิธีเป็นทางการเมื่อวันออกพรรษาปี ๒๕๓๗ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีจอ (๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๗) นาม "หลวงพ่อพระลับ" จึงเป็นที่รู้จักและได้รับความเคารพสักการบูชาของพุทธศาสนิกชนตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
อิ่มบุญกฐินพระราชทาน ธ.ธนชาต
"๑๐,๔๑๓,๐๒๘.๒๕ บาท" เป็นเงินทำบุญในงานบุญทอดผ้าพระกฐินพระราชทานของธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เมื่อวันเสาร์ที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ โดยนายศุภเดช พูนพิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ร่วมกับคณะผู้บริหาร พนักงาน กลุ่มธนชาต และผู้มีจิตศรัทธา จัดพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ณ วัดธาตุ พระอารามหลวง อ.เมือง จ.ขอนแก่น เพื่อสมทบทุนจัดสร้างวิหารพุทธพระลับสำหรับประดิษฐานหลวงพ่อพระลับพระคู่เมืองจังหวัดขอนแก่น
ทั้งนี้ ในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ได้มีงานสมโภชองค์กฐินพระราชทาน ณ ธนาคารธนชาต สาขาขอนแก่น หลังจากชมการแสดงมหรสพ มีพิธีสงฆ์สมโภชผ้าพระกฐินพระราชทาน และพิธีบายศรีสู่ขวัญ รุ่งเช้าวันที่ ๙ พฤศจิกายน ได้มีการจัดขบวนแห่พระกฐินพระราชทาน ณ ธนาคารธนชาต สาขาศรีจันทร์ โดยรถอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานเป็น รถแห่บั้งไฟ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ ๑ ประเภทบั้งไฟจากจังหวัดยโสธร ซึ่งรถแห่บั้งไฟนับเป็นเอกลักษณ์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกอย่างหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๙ ธนาคารธนชาต ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐินครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๙ ณ วัดแก้วโกรวาราม จ.กระบี่ ครั้งนี้เป็นปีที่ ๗ ซึ่งทุกๆ ปีที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือร่วมใจจากผู้มีจิตศรัทธา ลูกค้า ประชาชนทั่วไป พนักงานและผู้บริหารที่มีจิตศรัทธาร่วมบำเพ็ญกุศลด้วยดีเสมอมา ซึ่งการประกอบพิธีในทุกขั้นตอน ดำเนินการโดยยึดหลักความถูกต้องและสอดคล้องกับประเพณีปฏิบัติทางศาสนา ส่วนปี ๒๕๕๗ ซึ่งเป็นปีที่ ๘ จะไปทอดที่วัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา
|