ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 3902
ตอบกลับ: 0
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

เจาะเวลาหาธรรมที่'จันเสน'

[คัดลอกลิงก์]
[url=][/url][url=][/url]
[url=][/url]
[url=][/url]

ท่องแดนธรรมเรื่อและภาพ ไตรเทพ ไกรงู                                                                

                "พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจันเสน" ตั้งอยู่ที่วัดจันเสน ต.จันเสน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ จัดสร้างขึ้นตามแนวความคิดของ “หลวงพ่อโอด” หรือพระครูนิสัยจริยคุณ อดีตเจ้าอาวาสวัดจันเสน ที่มีความคิดที่จะสร้าง “พระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันเสน” ขึ้นภายในวัด พร้อมทั้งจะจัดพื้นที่ภายในเจดีย์ให้เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรื่องราวและข้าวของที่ขุดพบในเมืองโบราณจันเสนพร้อมกันไปด้วย แต่หลวงพ่อโอดมรณภาพไปเสียก่อน
  
                        ความตั้งใจของหลวงพ่อโอดได้รับการสานต่อ โดยพระครูนิวิฐธรรมขันธ์ หรือ “หลวงพ่อเจริญ” เจ้าอาวาสรูปต่อมาจึงเป็นกำลังสำคัญที่สานต่องานพิพิธภัณฑ์จนเสร็จสมบูรณ์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙ และต่อมาใน พ.ศ.๒๕๔๒ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็เสด็จฯ มาเปิดพิพิธภัณฑ์จันเสนอย่างเป็นทางการ อีกทั้งยังได้ทอดพระเนตรการจัดแสดงข้าวของต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์โดยทั่วถึงอีกด้วย

                เมืองจันเสนเป็นนครโบราณสมัยทวารวดีตอนต้นที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พัฒนาขึ้นมาจากชุมชน สมัยโลหะตอนปลาย มีอายุไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว นับเป็นชุมชนเริ่มแรกในสุวรรณภูมิที่มีการติดต่อกับอินเดีย ร่วมสมัยเดียวกับเมืองอู่ทองในลุ่มแม่น้ำท่าจีน และเมืองฟูนันใกล้ปากแม่น้ำโขง ดังเห็นได้จากโบราณวัตถุที่เป็นตราดินเผาเศษภาชนะประดับลวดลายลูกปัดและเครื่องประดับที่เหมือนกับที่พบในอินเดียและแคว้นฟูนัน

                ส่วนบ้านจันเสนเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นริมทางรถไฟในอำเภอตาคลี จ.นครสวรรค์ รากฐานของชุมชนจันเสนเกิดจากการรวมกลุ่มอยู่อาศัยของผู้คนเชื้อสายต่างๆ ทั้งไทย ลาว จีน พวน รวมทั้งการขยายตัวของชุมชนเดิม ดังนั้นประเพณีและวัฒนธรรมจึงมีร่วมกันอย่างหลวมๆ มิได้เคร่งครัดนัก การประกอบอาชีพภายในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำสวนผัก และทำไร่นาแบบสวนผสม

                        บริเวณใกล้ๆ กับบ้านจันเสนมีเมืองโบราณสมัยทวารวดีตั้งอยู่ ในอดีตจึงมีการพบโบราณวัตถุจำนวนมาก แต่น่าเสียดายที่โบราณวัตถุเหล่านั้นได้สูญหายเปลี่ยนมือไปสู่นักสะสมของเก่าโดยไม่รู้คุณค่า แต่โชคดีที่ชุมชนจันเสนมีผู้นำทางจิตวิญญาณที่สำคัญคือพระครูนิสัยจริยคุณ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "หลวงพ่อโอด" ท่านมีดำริที่จะสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ขึ้นเพื่อให้เป็นศูนย์กลางชุนชน

                        ความพิเศษของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจันเสนนี้ไม่ใช่แค่ข้าวของด้านในเพียงเท่านั้น แต่ที่มาของพิพิธภัณฑ์ซึ่งถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นลำดับต้นๆ ของไทยที่มีการร่วมมือกันของวัด ชุมชนและโรงเรียนในการดูแลจัดการ ตั้งแต่เริ่มแรกที่สร้างพระมหาธาตุเจดีย์และพิพิธภัณฑ์นั้น ก็ไม่ต้องอาศัยเงินทุนงบประมาณของภาครัฐเลย เพราะคนในชุมชนและประชาชนทั่วไปได้มีศรัทธาบริจาคสบทบทุน

                        เมื่อได้เข้าไปภายในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจันเสน ก็อย่าลืมกราบสักการะรูปหล่อของหลวงพ่อโอดผู้ซึ่งเป็นผู้คิดริเริ่มสร้างองค์เจดีย์และพิพิธภัณฑ์ขึ้น จากนั้นจึงเดินชมสิ่งต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์ที่ได้นำเสนอเรื่องราวของเมืองโบราณจันเสนอย่างครบถ้วน

                ดังนั้นหากใครได้มาเยือนที่วัดจันเสน จึงต้องไม่พลาดที่จะได้มากราบพระมหาธาตุในองค์เจดีย์ ซึ่งเป็นศิลปะแบบทวารวดี กราบหลวงพ่อนาค พระพุทธรูปปางนาคปรกอันศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนที่นำมาจากเมืองลพบุรี และต้องไม่พลาดชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจันเสนที่ตั้งอยู่ด้านล่างองค์เจดีย์ด้วย

                ปัจจุบันสังขารของหลวงพ่อโอดได้เก็บรักษาไว้ที่ตึกนิสิตสามัคคีวัดจันเสนเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าไปกราบสักการะ และพิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน สำหรับยุวมัคคุเทศก์จะมีให้บริการในวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ หากเข้าชมเป็นหมู่คณะโปรดติดต่อล่วงหน้าได้ที่โทร.๐-๕๖๓๓-๙๑๑๕-๖

พระสมเด็จรุ่น"ไม่ตายโหง!"

                        "พระครูนิสัยจริยคุณ" หรือ "หลวงพ่อโอด ปัญญาธโร" อดีตเจ้าอาวาสวัดจันเสน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ และเจ้าคณะอำเภอตาคลีพระเกจิชื่อดังอีกรูปหนึ่งแห่งเมืองนครสวรรค์ พระสมเด็จรุ่น "ไม่ตายโหง" ของหลวงหลวงพ่อโอด เป็นพระสมเด็จ ๗ ชั้นที่คณะศิษย์จาก จ.ชลบุรี สร้างถวายเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๕ ในครั้งนี้มีการสร้างพระปิดตาด้วยแต่ไม่เรียกพระปิดตารุ่นไม่ตายโหง

                        โดยที่มาของชื่อรุ่นนี้มาจาก ๒ เหตุ คือ ทุกครั้งที่หลวงพ่อโอดนำพระรุ่นนี้ออกแจกลูกศิษย์ท่านมักพูดไว้ระหว่างแจกพระว่า "เก็บไว้ให้ดีๆ มีแล้วไม่ตายโหง" หรือ "ใส่แล้วไม่ตายโหง" ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งคือพุทธคุณของพระรุ่นนี้จากประสบการณ์พุทธเด่นคงกระพันและแคล้วคาดตามวาจาสิทธิ์ที่หลวงพ่อโอดพูดไว้จริงๆ ส่วนค่านิยมของพระรุ่นนี้ถ้าเป็นเนื้อสีเขียวค่านิยมหลักหมื่นกลางๆ ส่วนเนื้อสีขาวอยู่ในหลักหมื่นต้นๆ

                หลวงพ่อโอดได้ศึกษาพุทธาคมจากพระเกจิชื่อดัง คือ หลวงพ่อรุ่ง วัดหนองสีนวล อ.ตาคลี, หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ อ.ตาคลี, หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค อ.ตาคลี และหลวงพ่อเชน วัดสิงห์ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี
  
                        นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อรุ่ง วัดหนองสีนวล และหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ สองพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของ อ.ตาคลี ในฐานะที่เป็นหลานที่ใกล้ชิดโดยโยมพ่อของหลวงพ่อโอด คือนายชิต แป้นโต เป็นน้องชายแท้ๆ ของหลวงพ่อรุ่ง วัดหนองสีนวล และแม่ของนายชิต เป็นพี่สาวโยมแม่ของหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ ดังนั้นหลวงพ่อโอดจึงเรียกหลวงพ่อรุ่งและหลวงพ่อเดิมว่าหลวงลุง

                        หลวงพ่อโอดเป็นพระที่มีเมตตาสูงยิ่ง วันหนึ่งๆ ท่านจะนั่งคอยรับแขกอยู่ทั้งวันใครมีเรื่องทุกข์ร้อนใจไปหาท่านท่านก็จะให้คำแนะนำที่ดีโดยไม่เลือกชั้นวรรณะไม่ว่าจะยากดีมีจน ท่านมรณภาพอย่างสงบเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๓๒ สิริอายุ ๗๒ ปี พรรษาที่ ๕๐

อลังการงานสร้าง"วังนาคราชจันเสน"
          
                        ศาลเจ้าพ่อนาคราชจันเสน หรือวังนาคราชจันเสน ต.จันเสน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ตั้งอยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑ์จันเสน (วัดจันเสน) สร้างโดยเงินพลังศรัทธาของลูกศิษย์ที่มีต่อนายณรงศักดิ์ คูกิติรัตน์ หรือเจ้าของฉายา “อ.แห้ว หมอดูเทวดา" ซึ่งใช้เงินก่อสร้างกว่า ๑,๕๐๐ ล้านบาท โดยเป็นเงินที่ได้จากความศรัทธาของลูกศิษย์ทั้งชาวไทยและต่างประเทศนำมาถวายอย่างต่อเนื่อง

                วังนาคราชจันเสน มี ๖ อาคาร ประกอบด้วย ๑.ศาลเจ้านาคราชหลังแรก สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๔ ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนเป็นโบสถ์จีน ทั้งนี้ อ.แห้ว หมอดูเทวดา ใช้เป็นที่ต้อนรับศิษย์เป็นหลัก ๒.ตำหนักกวนอิม เจ้าแม่กวนอิมพันมือ ๓.อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระปิยมหาราช ๔.ตำหนักเจ้าพ่อนาคราช เป็นที่ประดิษฐานขององค์เจ้าพ่อเจ้าแม่นาคราช ๕.อาคารพระธรรม ๖.อาคารเฉลิมเกียรติ ๘๑ พรรษามหาราชา อาคาร ๕ ชั้น อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

                อ.แห้ว หมอดูเทวดา มักจะพูดกับลูกศิษย์เสมอๆ ว่า “เราไม่ใช่เทวดาที่จะไปหยั่งรู้หมดทุกเรื่อง เราไม่ใช่ผู้วิเศษ เป็นแต่เพียงผู้ชี้ทางการดำเนินชีวิตให้เป็นไปทำนองคลองธรรมเท่านั้น" ทั้งนี้ อ.แห้ว หมอดูเทวดา มักประกาศกับผู้มาร่วมสร้างว่า “หากเพียงแค่คิดว่าทำบุญแล้วจะโกงไม่ต้องมาทำบุญที่นี่” ส่วนงานประจำปีของวังเจ้าพ่อนาคราช คือทุกๆ วันที่ ๑๐ ธันวาคมของทุกปี จะเป็นวันที่องค์เจ้าพ่อนาคราชจะประทับทรงผ่านร่าง อ.แห้ว เพื่อให้พรแก่ลูกศิษย์ที่นับถือ และประชาชนทั่ว และในปีนี้ก็เช่นกันงานเริ่มตั้งแต่ ๐๗.๐๐ น. เป็นต้นไป

                        สำหรับการเดินทางไปศาลเจ้าพ่อนาคราชจันเสน ไปได้ทาง จ.ลพบุรี และ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ โดยให้ยึดป้ายบอกทางไปพิพิธภัณฑ์จันเสน (วัดจันเสน) เป็นหลัก ทั้งนี้ อ.แห้ว จะอยู่ที่วังนาคราช ๓ วัน คือ พฤหัสบดี ศุกร์ และเสาร์ หรือสอบถามเส้นทางได้ที่ โทร.๐๘-๑๙๔๗-๑๓๕๕ และ ๐๘-๕๔๒๐-๓๘๒๓

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้