ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 4729
ตอบกลับ: 17
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ~

[คัดลอกลิงก์]
ประวัติย่อหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล



เกิด         วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๐๒ ณ บ้านข่าโคม ตำบลหนองขอน อำเภอเมือง (ปัจจุบันอำเภอเขื่องใน) จังหวัดอุบลราชธานี

อุปสมบท         ณ วัดใต้ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดใต้ และได้ญัตติเป็นพระธรรมยุตที่วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) มีพระครูทา โชติปาโล เป็นพระอุปัชฌาย์ เจ้าอธิการสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจารย์ ภายหลังมาอยู่วัดเลียบ และเปิดสำนักปฏิบัติธรรมขึ้น ณ วัดเลียบ ลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงของท่านคือ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต

อุปนิสัย         นิสัยท่านอาจารย์เสาร์ นิสัยชอบก่อสร้าง ชอบปลูกพริกหมากไม้ ลักษณะจิตเยือกเย็น มีพรหมวิหาร ทำจิตดุจแผ่นดิน มีเมตตาเป็นสาธารณะ เป็นคนเอื้อเฟื้อในพระวินัย ทำความเพียรเป็นกลางไม่ยิ่งหย่อน พิจารณาถึงขั้นภูมิธรรมละเอียดมาก
จิตของท่านชอบสันโดษ ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง หมากไม่กินบุหรี่ไม่สูบ เดินจงกรมภาวนาเสมอไม่ละกาล น้ำใจดี ไม่เคยโกรธขึ้งให้พระเณรอุบาสกอุบาสิกา มักจะวางสังฆทานอุทิศในสงฆ์สันนิบาต แก้วิปัสสนูฯ แก่สานุศิษย์ได้ อำนาจวางจริตเฉยๆ เรื่อย ๆ ชอบดูตำราเรื่องพระพุทธเจ้า รูปร่างใหญ่ สันทัด
เป็นมหานิกาย ๑๐ พรรษา จึงมาญัตติเป็นธรรมยุตฯ รักเด็ก เป็นคนภูมิใหญ่กว้างขวางยินดีทั้งปริยัติปฏิบัติ ลักษณะเป็นคนโบราณ พร้อมทั้งกาย วาจา ใจเป็นโบราณทั้งสิ้น ไม่เห่อตามลาภยศ สรรเสริญ อาหารชอบเห็ด ผลไม้ต่าง ๆ ชอบน้ำผึ้ง
ปกตินิสัยของท่านเป็นคนไม่ชอบพูด พูดน้อยที่สุด ทั้งวันไม่พูดอะไรกับใครเกิน ๒-๓ ประโยค เวลานั่งก็ทนทานนั่งอยู่ได้เป็นเวลาหลาย ๆ ชั่วโมง เดินก็ทำนองเดียวกัน แต่ลักษณะท่าทางของท่านมีความสง่าผ่าเผยน่าเคารพเลื่อมใสมาก มองเห็นท่านแล้วเย็นตาเย็นใจไปหลายวัน
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-1 22:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ประเทศลาวเป็นสถานที่ที่หลวงปู่เสาร์ชอบมาเดินธุดงค์และในบั้นปลายชีวิตท่านก็มรณภาพที่นี่

การจาริกเพื่อศึกษาธรรมปฏิบัติ
         เราถือว่าพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล เป็นพระอาจารย์องค์แรกและเป็นผู้นำหมู่คณะลูกศิษย์ลูกหา ออกเดินธุดงคกรรมฐาน ชอบพักพิงอยู่ตามป่าตามที่วิเวก อาศัยอยู่ตามถ้ำบ้าง ตามโคนต้นไม้บ้าง พักพิงอาศัยอยู่ในราวป่าห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๕๐๐ เมตร การธุดงค์ของท่านจะไม่นิยมที่จะไปปักกลดอยู่ตามละแวกบ้าน ตามสนามหญ้า หรือตามบริเวณโรงเรียน หรือใกล้ๆ กับถนนหนทางในที่ซึ่งเป็นที่ชุมนุมชน ท่านจะออกแสวงหาวิเวกในราวป่าห่างไกลกันจริง ๆ บางทีไปอยู่ในป่าเขาที่ไกล ตื่นเช้าเดินจากที่พักลงมาสู่หมู่บ้านเพื่อบิณฑบาต เมื่อบิณฑบาตเสร็จแล้ว กลับไปถึงที่พักเป็นเวลา ๑๑.๐๐ น. หรือ ๕ โมงก็มี

ปฏิปทา         ท่านจะสอนให้ลูกศิษย์หัดนอน ๔ ทุ่ม ตื่นตี ๓ ในขณะที่ยังไม่ได้นอนหรือตื่นขึ้นมาแล้วก็ทำกิจวัตร มีการสวดมนต์ ไหว้พระ เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา อันนี้เป็นการฝึกหัดดัดนิสัยให้มีระเบียบ นอนก็มีระเบียบ ตื่นก็มีระเบียบ การฉันก็ต้องมีระเบียบ คือฉันหนเดียวเป็นวัตร ฉันในบาตรเป็นวัตร บิณฑบาตฉันเป็นวัตร อันนี้เป็นข้อวัตรที่ท่านถือเคร่งนัก

มรณภาพ         ท่านได้มรณภาพในอิริยาบถขณะกราบครั้งที่ ๓ ในอุโบสถวัดอำมาตยาราม อำเภอวรรณไวทยากรณ์ นครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๔ เชิญศพมา ณ วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ทำพิธีเผาศพในเดือนเมษายน ๒๔๘๖ สิริอายุ ๘๒ ปี ๓ เดือน ๑ วัน

http://www24.brinkster.com/thaniyo/archan0944_1.html
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-2 07:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ฉันเห็ดเบื่อ

หลวงปู่เสาร์นี่ เห็ดมันเกิดขึ้นตามวัด บอกเณรไปเก็บ เณรเก็บเห็ดอันนี่ไปหมกไฟให้กิน เณรก็ไปเก็บได้ประมาณเต็มถ้วยก๋วยเตี๋ยวหนึ่ง เอามาห่อหมกเสร็จแล้วก็ไปถวายหลวงปู่ หลวงปู่ก็ฉันจนหมด ทีนี้ไอ้เราพวกเณรนี่ก็ทำห่อหมก เณร ๕-๖ องค์ตักแจกกันคนละช้อนๆ ๆ ฉันอาหารยังไม่ทันอิ่มเลย สลบเหมือดทั้ง ๖ องค์ ทีนี้

อุ๊ย! เณรเป็นอะไรๆ ถามมันดูซิว่ามันเป็นอะไร

เณรก็ กินเห็ดเบื่อ

รู้ว่าเห็ดเบื่อทำไมถึงไปกินล่ะ

ท่านอาจารย์พากิน

ข้าไม่ได้กินเห็ดเบื่อ ถ้าข้ากินเห็ดเบื่อข้าก็เมาตายสิ

หลวงปู่เสาร์ฉันเป็นชามนั่งยิ้มเฉย แต่เณรฉันคนละช้อน ฉันข้าวยังไม่อิ่มเลย สลบเหมือดไปเลย อันนี้จิตของเรานี่มันปรุงแต่งได้ จะให้มันแพ้หรือมันชนะมันก็ทำได้

หลวงปู่เสาร์แก้สัญญาวิปลาสให้หลวงปู่มั่น

แก้สัญญาวิปลาสจนสำเร็จเป็นอัศจรรย์

ท่านอาจารย์เสาร์ มีเมตตาแก่สัตว์เป็นมหากรุณาอย่างยิ่ง วางเป็นกลาง เยือกเย็นที่สุด เมตตาของท่านสดใส เห็นปาฏิหาริย์ของท่านสมัยขุนบำรุงบริจาคที่ดินและไม้ ทำสำนักแม่ขาวสาริกา วัดสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร

แก้สัญญาวิปลาสท่านอาจารย์มั่นกับท่านเจ้าคุณหนูวัดสระปทุมในสมัยนั้น จนสำเร็จเป็นอัศจรรย์ เรียกว่าเป็นพ่อพระกรรมฐานภาคอีสาน นี้ท่านอาจารย์เสาร์เล่าให้ฟัง สมัยที่เรา (หลวงปู่หลุย) อยู่กับท่าน เดินธุดงค์ไปด้วย ท่านปรารถนาเป็นพระปัจเจก กับปรารถนาเป็นสาวกสำเร็จอรหันต์ในศาสนาสมณโคดมพุทธเจ้าของเรา ท่านอาจารย์มั่นเคารพท่านอาจารย์เสาร์มากที่สุด เพราะเป็นเณรของท่านมาแต่ก่อน ท่านมักเรียกท่านอาจารย์มั่นเป็นสรรพนามว่า "เจ้าๆ ข้อยๆ"

(คัดมาจากหนังสือประวัติหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร)
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-2 07:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
นั่งสมาธิตัวลอยขึ้น… ลืมตาขึ้นดูตกลงมาก้นกระแทกกับพื้นอย่างแรง

ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า นิสัยของท่านพระอาจารย์เสาร์เป็นไปอย่างเรียบๆ และเยือกเย็นน่าเลื่อมใสมาก ที่มีแปลกอยู่บ้างก็เวลาท่านเข้าที่นั่งสมาธิตัวของท่านชอบลอยขึ้นเสมอ บางครั้งตัวท่านลอยขึ้นไปจนผิดสังเกต เวลาท่านนั่งสมาธิอยู่ ท่านเองเกิดความแปลกใจในขณะนั้นว่า "ตัวเราถ้าจะลอยขึ้นจากพื้นแน่ๆ" เลยลืมตาขึ้นดูตัวเอง ขณะนั้นจิตท่านถอนออกจากสมาธิพอดี เพราะพะวักพะวงกับเรื่องตัวลอย ท่านเลยตกลงมาก้นกระแทกกับพื้นอย่างแรง ต้องเจ็บเอวอยู่หลายวัน ความจริงตัวท่านลอยขึ้นจากพื้นจริงๆ สูงประมาณ ๑ เมตร ขณะที่ท่านลืมตาดูตัวเองนั้น จิตท่านถอนออกจากสมาธิ จึงไม่มีสติพอยับยั้งไว้บ้าง จึงทำให้ท่านตกลงสู่พื้นอย่างแรง เช่นเดียวกับสิ่งต่างๆ ตกลงจากที่สูง ในคราวต่อไปเวลาท่านนั่งสมาธิ พอรู้สึกว่าตัวท่านลอยขึ้นจากพื้น ท่านพยายามทำสติให้อยู่ในองค์ของสมาธิแล้วค่อยๆ ลืมตาขึ้นดูตัวเอง ก็ประจักษ์ว่าตัวท่านลอยขึ้นจริงๆ แต่ไม่ได้ตกลงสู่พื้นเหมือนคราวแรก เพราะท่านมิได้ปราศจากสติ และคอยประคองใจให้อยู่ในองค์สมาธิ ท่านจึงรู้เรื่องของท่านได้ดี ท่านเป็นคนละเอียดถี่ถ้วนอยู่มาก แม้จะเห็นด้วยตาแล้วท่านยังไม่แน่ใจ ต้องเอาวัตถุชิ้นเล็กๆ ขึ้นไปเหน็บไว้บนหญ้าหลังกุฏิ แล้วกลับมาทำสมาธิอีก พอจิตสงบ และตัวเริ่มลอยขึ้นไปอีก ท่านพยายามประคองจิตให้มั่นอยู่ในสมาธิ เพื่อตัวจะได้ลอยขึ้นไปจนถึงวัตถุเครื่องหมายที่ท่านนำขึ้นไปเหน็บไว้ แล้วค่อยๆ เอื้อมมือจับด้วยความมีสติ แล้วนำวัตถุนั้นลงมาโดยทางสมาธิภาวนา คือพอหยิบได้วัตถุนั้นแล้วก็ค่อยๆ ถอนจิตออกจากสมาธิ เพื่อกายจะได้ค่อยๆ ลงมาถึงพื้นอย่างปลอดภัย แต่ไม่ถึงกับให้จิตถอนจากสมาธิจริงๆ เมื่อได้ทดลองจนเป็นที่แน่ใจแล้ว ท่านจึงเชื่อตัวเองว่า ตัวท่านลอยขึ้นได้จริงในเวลาเข้าสมาธิในบางครั้ง แต่มิได้ลอยขึ้นเสมอไป นี้เป็นจริตนิสัยแห่งจิตของท่านพระอาจารย์เสาร์ รู้สึกผิดกับนิสัยของท่านพระอาจารย์มั่นอยู่มากในปฏิปทาทางใจ

จิตของท่านพระอาจารย์เสาร์เป็นไปอย่างเรียบๆ สงบเย็นโดยสม่ำเสมอ นับแต่ขั้นเริ่มแรกจนถึงสุดท้ายปลายแดนแห่งปฏิปทาของท่าน ไม่ค่อยล่อแหลมต่ออันตราย และไม่ค่อยมีอุบายต่างๆ และความรู้แปลกๆ เหมือนจิตท่านพระอาจารย์มั่น

(คัดมาจากหนังคือ ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต)

หลวงปู่เสาร์เคยปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

เวลาเร่งความเพียรใจรู้สึกประหวัดๆ ถึงความปรารถนาเดิม

ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า ท่านพระอาจารย์เสาร์เดิมท่านปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เวลาออกบำเพ็ญพอเร่งความเพียรเข้ามากๆ ใจรู้สึกประหวัดๆ ถึงความปรารถนาเดิม เพื่อความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแสดงออกเป็นเชิงอาลัยเสียดาย ยังไม่อยากไปนิพพาน ท่านเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อความเพียรเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ ท่านเลยอธิษฐานของดจากความปรารถนานั้น และขอประมวลมาเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาตินี้ ไม่ขอเกิดมารับความทุกข์ทรมานในภพชาติต่างๆ อีกต่อไป พอท่านปล่อยวางความปรารถนาเดิมแล้ว การบำเพ็ญเพียรรู้สึกสะดวกและเห็นผลไปโดยลำดับ ไม่มีอารมณ์เครื่องเกาะเกี่ยวเหมือนแต่ก่อน สุดท้ายท่านก็บรรลุถึงแดนแห่งความเกษมดังใจหมาย แต่การแนะนำสั่งสอนผู้อื่น ท่านไม่ค่อยมีความรู้แตกฉานกว้างขวางนัก ทั้งนี้อาจจะเป็นไปตามภูมินิสัยเดิมของท่านที่มุ่งเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งตรัสรู้เองชอบ แต่ไม่สนใจสั่งสอนใครก็ได้ อีกประการหนึ่ง ที่ท่านกลับความปรารถนาได้สำเร็จตามใจนั้น คงอยู่ในขั้นพอแก้ไขได้ ซึ่งยังไม่สมบูรณ์เต็มภูมิแท้
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-2 07:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลวงปู่เสาร์เป็นคนพูดน้อย

เราเกิดเป็นมนุษย์ มีความสูงศักดิ์มาก แต่อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ

เวลาท่านพระอาจารย์มั่นออกเที่ยวธุดงคกรรมฐานทางภาคอีสาน ตามจังหวัดต่างๆ ในระยะต้นวัย ท่านมักจะไปกับท่านพระอาจารย์เสาร์เสมอ แม้ความรู้ทางภายในจะมีแตกต่างกันบ้างตามนิสัย แต่ก็ชอบไปด้วยกัน สำหรับท่านพระอาจารย์เสาร์ ท่านเป็นคนไม่ชอบพูด ไม่ชอบเทศน์ ไม่ชอบมีความรู้แปลกๆ ต่างๆ กวนใจเหมือนท่านอาจารย์มั่น เวลาจำเป็นต้องเทศน์ท่านก็เทศน์เพียงประโยคหนึ่งหรือสองเท่านั้น แล้วก็ลงธรรมาสน์ไปเสีย ประโยคธรรมที่ท่านเทศน์ซึ่งพอจับใจความได้ว่า

"ให้พากันละบาปและบำเพ็ญบุญ อย่าให้เสียชีวิตลมหายใจไปเปล่าที่ได้มีวาสนามาเกิดเป็นมนุษย์"

และ

"เราเกิดเป็นมนุษย์มีความสูงศักดิ์มาก แต่อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ มนุษย์ของเราจะต่ำลงกว่าสัตว์ และจะเลวกว่าสัตว์อีกมาก เวลาตกนรกจะตกหลุมที่ร้อนกว่าสัตว์มากมาย อย่าพากันทำ"

แล้วก็ลงธรรมาสน์ไปกุฏิโดยไม่สนใจกับใครต่อไปอีก

ปกตินิสัยของท่านเป็นคนไม่ชอบพูด พูดน้อยที่สุด ทั้งวันไม่พูดอะไรกับใครเกิน ๒-๓ ประโยค เวลานั่งก็ทนทาน นั่งอยู่ได้เป็นเวลาหลายๆ ชั่วโมง เดินก็ทำนองเดียวกัน แต่ลักษณะท่าทางของท่านมีความสง่าผ่าเผย น่าเคารพเลื่อมใสมาก มองเห็นท่านแล้วเย็นตาเย็นใจไปหลายวัน ประชาชน และพระเณรเคารพเลื่อมใสท่านมาก ท่านมีลูกศิษย์มากมายเหมือนท่านอาจารย์มั่น .

หลวงปู่เสาร์สอนทำอะไรให้เป็นเวลา

ให้ทำวัตร นอน ๔ ทุ่ม ตื่นตี ๓

ท่านอาจารย์หลวงปู่เสาร์นี้ท่านเป็นสาวกแบบชนิดที่ว่าเป็นพระประเสริฐ ท่านสอนธรรมนี้ท่านไม่พูดมาก ท่านชี้บอกว่าให้ทำอย่างนั้น อย่างนี้ แต่การปฏิบัติของท่านนี้ ท่านเอาการปฏิบัติแทนการสอนด้วยปาก ผู้ที่ไปอยู่ในสำนักท่าน ก่อนอื่นท่านจะสอนให้ทำวัตร นอน ๔ ทุ่ม ตื่นตี ๓ นี้ข้อแรกต้องทำให้ได้ก่อน

บางทีก็ลองเรียนถามท่าน หลวงปู่ทำไมสอนอย่างนี้

การนอนเป็นเวลา ตื่นเป็นเวลา ฉันเป็นเวลา อาบน้ำเข้าห้องน้ำเป็นเวลา มันเป็นอุบายสร้างพลังจิต แล้วทำให้เรามีความจริงใจ

ทีนี้นักปฏิบัติทั้งหลายไม่ได้ทำอย่างนี้ แม้แต่นักสะกดจิต เขาก็ยังยึดหลักอันนี้ มันมีอยู่คำหนึ่งที่หลวงพ่อ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) ไม่เคยลืมหลักปฏิบัติที่เวลาไปปฏิบัติท่าน ท่านจะพูดขึ้นลอยๆ ว่า

"เวลานี้จิตข้ามันไม่สงบ มันมีแต่ความคิด"

ก็ถามว่า "จิตมันฟุ้งซ่านหรือไง อาจารย์"

"ถ้าให้มันหยุดนิ่งมันก็ไม่ก้าวหน้า"

กว่าจะเข้าใจความหมายของท่าน ก็ใช้เวลาหลายปี

ท่านหมายความว่า เวลาปฏิบัติถ้าจิตมันหยุดนิ่งก็ปล่อยให้มันหยุดนิ่งไป อย่าไปรบกวนมัน ถ้าเวลามันจะคิดก็ให้มันคิดไป เราเอาสติตัวเดียวเป็นตัวตั้งตัวตี.
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-2 07:49 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ปฏิปทาของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล


พระปัญญาพิศาลเถร (หนู)

ท่านสนใจเรื่องการปฏิบัติสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน โดยถ่ายเดียว

หลวงปู่เสาร์ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงปู่มั่น ออกเดินธุดงคกรรมฐาน ปักกลดอยู่ในป่า ในดง ในถ้ำ ในเขา องค์แรกของอีสานคือหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล นัยว่าท่านออกบวชในพระศาสนา ท่านสนใจเรื่องการปฏิบัติสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน โดยถ่ายเดียว ซึ่งสหธรรมิกคู่หูของท่านก็คือ พระปัญญาพิศาลเถร (หนู) เป็นคนเกิดในเมืองอุบลฯ ท่านออกเดินธุดงค์ร่วมกัน หลวงปู่เสาร์ตามปกติท่านเป็นพระที่เทศน์ไม่เป็น แต่ปฏิบัติให้ลูกศิษย์ดูเป็นตัวอย่าง

เดินจงกรมแข่งหลวงปู่เสาร์

สมัยที่หลวงพ่อ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) เป็นเณรอยู่ใกล้ๆ ท่าน ถ้าวันไหนเราคิดว่าจะเดินจงกรมแข่งกับท่านอาจารย์ใหญ่ วันนั้นท่านจะเดินจงกรมไม่หยุด จนกว่าเราหยุดนั่นแหละท่านจึงจะหยุด ท่านจะไม่ยอมให้เราชนะท่าน เวลาท่านสอน สอนสมาธิ ถ้ามีใครถามว่า ส่วนใหญ่คนอีสานก็ถามแบบภาษาอีสาน

"อยากปฏิบัติสมาธิเฮ็ดจั๋งได๋ญ่าท่าน"

"พุทโธสิ"

"ภาวนาพุทโธแล้วมันจะได้อีหยังขึ้นมา"

"อย่าถาม"

"พุทโธแปลว่าจั๋งได๋"

"ถามไปหาสิแตกอีหยัง ยั้งว่าให้ภาวนา พุทโธ ข้าเจ้าให้พูดแค่นี้"

แล้วก็ไม่มีคำอธิบาย ถ้าหากว่าใครเชื่อตามคำแนะนำของท่าน ไปตั้งใจภาวนาพุทโธ จริงๆ ไม่เฉพาะแต่เวลาเราจะมานั่งอย่างเดียว ยืน เดิน นั่น นอน รับประทาน ดื่ม ทำ ใจนึกพุทโธไว้ให้ตลอดเวลา ไม่ต้องเลือกว่าเวลานี้จะภาวนาพุทโธ เวลานี้เราจะไม่ภาวนาพุทโธ ท่านสอนให้ภาวนาทุกลมหายใจ

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-2 07:50 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ทำไมหลวงปู่เสาร์สอนภาวนาพุทโธ

เพราะพุทโธเป็นกริยาของใจ

หลวงพ่อ (พุธ ฐานิโย) เคยแอบถามท่านว่า ทำไมจึงต้องภาวนา พุทโธ

ท่านก็อธิบายให้ฟังว่า ที่ให้ภาวนาพุทโธนั้น เพราะพุทโธ เป็นกิริยาของใจ ถ้าเราเขียนเป็นตัวหนังสือเราจะเขียน พ – พาน – สระ – อุ – ท – ทหาร สะกด โอ ตัว ธ – ธง อ่านว่า พุทโธ อันนี้เป็นเพียงแต่คำพูด เป็นชื่อของคุณธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อจิตภาวนาพุทโธแล้ว มันสงบวูบลงไป นิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน

พอหลังจากคำว่า พุทโธ มันก็หายไปแล้ว ทำไมมันจึงหายไป เพราะจิตมันถึงพุทโธแล้ว จิตกลายเป็นพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นคุณธรรมที่ทำจิตให้เป็นพุทธะ เกิดขึ้นในจิตของท่านผู้ภาวนา

พอหลังจากนั้นจิตของเราจะหยุดนึกคำว่าพุทโธ แล้วก็ไปนิ่ง รู้ ตื่น เบิกบาน สว่างไสว กายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ ยังแถมมีปีติ มีความสุขอย่างบอกไม่ถูก อันนี้มันเป็นพุทธะ พุทโธ โดยธรรมชาติเกิดขึ้นที่จิตแล้ว พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นกิริยาของจิตมันใกล้กับความจริง

แล้วทำไมเราจึงมาพร่ำบ่น พุทโธๆ ๆ ในขณะที่จิตเราไม่เป็นเช่นนั้น

ที่เราต้องมาบ่นว่า พุทโธนั่นก็เพราะว่า เราต้องการจะพบพุทโธ ในขณะที่พุทโธยังไม่เกิดขึ้นกับจิตนี้ เราก็ต้องท่อง พุทโธๆ ๆ ๆ เหมือนกับว่าเราต้องการจะพบเพื่อนคนใดคนหนึ่ง เมื่อเรามองไม่เห็นเขา หรือเขายังไม่มาหาเรา เราก็เรียกชื่อเขา ทีนี้เมื่อเขามาพบเราแล้ว เราได้พูดจาสนทนากันแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปเรียกชื่อเขาอีก ถ้าขืนเรียกซ้ำๆ เขาจะหาว่าเราร่ำไร ประเดี๋ยวเขาด่าเอา

ทีนี้ในทำนองเดียวกันในเมื่อเรียก พุทโธๆ ๆ เข้ามาในจิตของเรา เมื่อจิตของเราได้เกิดเป็นพุทโธเอง คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตของเราก็หยุดเรียกเอง ทีนี้ถ้าหากว่าเรามีความรู้สึกอันหนึ่งแทรกขึ้นมา เอ้า ควรจะนึกถึงพุทโธอีก พอเรานึกขึ้นมาอย่างนี้สมาธิของเราจะถอนทันที แล้วกิริยาที่จิตมันรู้ ตื่น เบิกบานจะหายไป เพราะสมาธิถอน

ทีนี้ตามแนวทางของครูบาอาจารย์ที่ท่านแนะนำพร่ำสอน ท่านจึงให้คำแนะนำว่า เมื่อเราภาวนาพุทโธไปจิตสงบวูบลงนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ท่านก็ให้ประคองจิตให้อยู่ในสภาพปกติอย่างนั้น ถ้าเราสามารถประคองจิตให้อยู่ในสภาพอย่างนั้นได้ตลอดไป จิตของเราจะค่อยสงบ ละเอียดๆ ๆ ลงไป ในช่วงเหตุการณ์ต่างๆ มันจะเกิดขึ้น ถ้าจิตส่งกระแสออกนอกเกิดมโนภาพ ถ้าวิ่งเข้ามาข้างในจะเห็นอวัยวะภายในร่างกายทั่วหมด ตับ ไต ไส้ พุง เห็นหมด แล้วเราจะรู้สึกว่ากายของเรานี่เหมือนกับแก้วโปร่ง ดวงจิตที่สงบ สว่างเหมือนกับดวงไฟที่เราจุดไว้ในพลบครอบ แล้วสามารถเปล่งรัศมีสว่างออกมารอบๆ จนกว่าจิตจะสงบละเอียดลงไป จนกระทั่งว่ากายหายไปแล้วจึงจะเหลือแต่จิตสว่างไสวอยู่ดวงเดียวร่างกายตัวตนหายหมด ถ้าหากจิตดวงนี้มีสมรรถภาพพอที่จะเกิดความรู้ความเห็นอะไรได้ จิตจะย้อนกายลงมาเบื้องล่าง เห็นร่างกายตัวเองนอนตายเหยียดยาวอยู่ขึ้นอืดเน่าเปื่อยผุพังสลายตัวไป.
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-2 07:50 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลักปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์ให้ไว้

อาศัยอยู่ตามถ้ำบ้าง ตามโคนต้นไม้บ้าง

พระบูรพาจารย์ของเรา เราถือว่าพระอาจารย์เสาร์ กตนฺสีโล เป็นพระอาจารย์องค์แรก และเป็นผู้นำหมู่คณะลูกศิษย์ลูกหา ออกเดินธุดงคกรรมฐาน ชอบพักพิงอยู่ตามป่าตามที่วิเวก อาศัยอยู่ตามถ้ำบ้างตามโคนต้นไม้บ้าง และท่านอาจารย์มั่นก็เป็นอีกท่านหนึ่งซึ่งเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์เสาร์ หลวงพ่อสิงห์ ขนฺตยาคโม ก็เป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์เสาร์ และท่านอาจารย์มั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอาจารย์สิงห์เปรียบเสมือนหนึ่งว่าเป็นเสนาธิการใหญ่ของกองทัพธรรม ได้นำหมู่คณะออกเดินธุดงค์ไปตามราวป่าตามเขา อยู่อัพโภกาส อยู่ตามโคนต้นไม้ อาศัยอยู่ตามถ้ำ พักพิงอาศัยอยู่ในราวป่าห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๕๐๐ เมตร การธุดงค์ของพระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์สิงห์จะไม่นิยมที่จะไปปักกลดอยู่ตามละแวกบ้าน ตามสนามหญ้า หรือตามบริเวณโรงเรียน หรือใกล้ๆ กับถนนหนทางในที่ซึ่งเป็นที่ชุมนุมชน ท่านจะออกแสวงหาวิเวกในราวป่าห่างไกลกันจริงๆ

หลวงพ่อสิงห์ ขนฺตยาคโม

บางทีไปอยู่ในป่าเขาที่ไกล ตื่นเช้าเดินจากที่พักลงมาสู่หมู่บ้านเพื่อบิณฑบาต เมื่อบิณฑบาตเสร็จแล้ว กลับไปถึงที่พักเป็นเวลา ๑๑.๐๐ น. หรือ ๕ โมงก็มี อันนี้คือหลักการปฏิบัติของพระธุดงคกรรมฐานในสายพระอาจารย์มั่น พระอาจารย์เสาร์ ซึ่งบางทีอาจจะผิดแผกจากพระธุดงค์ในสมัยปัจจุบัน ซึ่งไปปักกลดอยู่ตามสนามหญ้า หรือตามสถานีรถไฟ ตามบริเวณโรงเรียนหรือศาลเจ้าต่างๆ พระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์สิงห์ ไม่นิยมทำเช่นนั้น ไปธุดงค์ก็ต้องไปป่ากันจริงๆ ที่ใดซึ่งมีอันตรายท่านก็ยิ่งไปเพื่อเป็นการทดสอบความสามารถของตัวเอง และเป็นการฝึกฝนลูกศิษย์ลูกหาให้มีความกล้าหาญเผชิญต่อภัยของชีวิต ตะล่อมจิตให้ยึดมั่นในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแน่วแน่

เมื่อไปในสถานที่ที่คิดว่ามีอันตราย ไปอยู่ในที่ห่างไกลพี่น้อง เพื่อนฝูงหสธรรมิกก็ไปอยู่บริเวณที่ห่างๆ กัน ในเมื่อจิตใจเกิดความหวาดกลัวภัยขึ้นมา จิตใจก็วิ่งเข้าสู่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ยึดเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะอย่างเหนียวแน่น เพราะในขณะนั้นไม่มีใครอีกแล้วที่จะเป็นเพื่อนตาย ดังนั้น ท่านจึงมีอุบายให้ไปฝึกฝนอบรมตัวเอง ฝึกฝนอบรมบรรดาลูกศิษย์ลูกหา ผู้ติดตาม ในสถานที่วิเวกห่างไกลเต็มไปด้วยภัยอันตราย เพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหามีความกล้าหาญชาญชัย ในการที่จะเสียสละเพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพื่อบูชาพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง

การฝึกฝนอบรมหรือการอบรมสั่งสอนของครูบาอาจารย์ดังกล่าวนั้น ท่านยึดหลักที่จะพึงให้ลูกศิษย์ปฏิบัติเป็นกิจวัตรประจำวันดังนี้

ท่านจะสอนให้พวกเราประกอบความเพียรดังกล่าวตั้งแต่หัวค่ำ จนกระทั่วเวลา ๔ ทุ่ม พอถึง ๔ ทุ่มแล้วก็จำวัดพักผ่อนตามอัธยาศัย

พอถึงตี ๓ ท่านก็เตือนให้ลุกขึ้นมาบำเพ็ญเพียร เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาหรือทำวัตรสวดมนต์ก็ตามแต่ที่จะถนัด

แต่หลักที่ท่านยึดเป็นหลักที่แน่นอนที่สุดก็คือว่า ในเบื้องต้นท่านจะสอนให้ลูกศิษย์หัดนอน ๔ ทุ่ม ตื่นตี ๓ ในขณะที่ยังไม่ได้นอน หรือตื่นขึ้นมาแล้ว ก็ทำกิจวัตร มีการสวดมนต์ไหว้พระ เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ท่านก็จะสอนให้ทำอย่างนี้ อันนี้เป็นหลักสำคัญที่ท่านจะรีบเร่งอบรมสั่งสอน และฝึกลูกศิษย์ให้ทำให้ได้ ถ้าหากยังทำไม่ได้ ท่านก็ยังไม่อบรมสั่งสอนธรรมะส่วนละเอียดขึ้นไป เพราะอันนี้เป็นการฝึกหัดดัดนิสัยให้มีระเบียบ นอนก็มีระเบียบ ตื่นก็มีระเบียบ การฉันก็ต้องมีระเบียบ คือฉันหนเดียวเป็นวัตร ฉันในบาตรเป็นวัตร บิณฑบาตฉันเป็นวัตร อันนี้เป็นข้อวัตรที่ท่านถือเคร่งนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อฉันในบาตร ฉันหนเดียว อันนี้ท่านยึดเป็นหัวใจหลักของการปฏิบัติกรรมฐานเลยทีเดียว.

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-2 07:51 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลักสมถวิปัสสนาของหลวงปู่เสาร์

    พิจารณากายแยกออกเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ

หลักการสอน ท่านก็สอนในหลักของสมถวิปัสสนา ดังที่เราเคยได้ยินได้ฟังกันมาแล้วนั้น แต่ท่านจะเน้นหนักในการสอนให้ เจริญพุทธคุณ เป็นส่วนใหญ่

เมื่อเจริญพุทธคุณจนคล่องตัวจนชำนิชำนาญแล้ว ก็สอนให้พิจารณา กายคตาสติ

เมื่อสอนให้พิจารณากายคตาสติ พิจารณาอสุภกรรมฐาน จนคล่องตัวจนชำนิชำนาญแล้ว ก็สอนให้พิจารณา ธาตุกรรมฐาน

ให้พิจารณากายแยกออกเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วก็พยายามพิจารณาว่า ในร่างกายของเรานี้ไม่มีอะไร มีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันอยู่เท่านั้น หาสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี

ในเมื่อฝึกฝนอบรมให้พิจารณาจนคล่องตัว จิตก็จะมองเห็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน คือเห็นว่าร่างกายนี้ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตาทั้งนั้น จะว่ามีตัวมีตนในเมื่อแยกออกไปแล้ว มันก็มีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ สัตว์ บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี แต่อาศัยความประชุมพร้อมของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีปฏิสนธิ จิตปฏิสนธิวิญญาณมายึดครองอยู่ในร่างอันนี้ เราจึงสมมติบัญญัติว่า สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา

อันนี้เป็นแนวการสอนของพระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น และพระอาจารย์สิงห์

การพิจารณาเพียงแค่ว่าพิจารณากายคตาสติก็ดี พิจารณาธาตุกรรมฐานก็ดี ตามหลักวิชาการท่านว่า เป็นอารมณ์ของสมถกรรมฐาน แต่ท่านก็ย้ำให้พิจารณาอยู่ใน กายคตาสติกรรมฐาน กับ ธาตุกรรมฐาน นี้เป็นส่วนใหญ่ ที่ท่านย้ำๆ ให้พิจารณาอย่างนั้น ก็เพราะว่าทำให้ภูมิจิตภูมิใจของนักปฏิบัติก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้เร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณากายคตาสติ แยกผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น ออกเป็นส่วนๆ เราจะมองเห็นว่าในกายของเรานี้ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ตัวตน มันเป็นแต่เพียง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกเท่านั้น ถ้าว่ากายนี้เป็นตัวเป็นตน ทำไมจึงจะเรียกว่าผม ทำไมจึงจะเรียกว่าขน ทำไมจึงจะเรียกว่าเล็บ ว่าฟัน ว่าเนื้อ ว่าเอ็น ว่ากระดูก ในเมื่อแยกออกไปเรียกอย่างนั้นแล้ว มันก็ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-2 07:51 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
นอกจากนั้น ก็จะมองเห็น อสุภกรรมฐาน เห็นว่าร่างกายนี้เต็มไปด้วยของปฏิกูล น่าเกลียด โสโครก น่าเบื่อหน่าย ไม่น่ายึดมั่นถือมั่นว่าเป็นอัตตาตัวตน แล้วพิจารณาบ่อยๆ พิจารณาเนืองๆ จนกระทั่งจิตเกิดความสงบ สงบแล้วจิตจะปฏิวัติตัวไปสู่การพิจารณาโดยอัตโนมัติ ผู้ภาวนาก็เริ่มจะรู้แจ้งเห็นจริงในความเป็นจริงของร่างกายอันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ พิจารณากายแยกออกเป็นส่วนๆ ส่วนนี้เป็นดิน ส่วนนี้เป็นน้ำ ส่วนนี้เป็นลม ส่วนนี้เป็นไฟ เราก็จะมองเห็นว่าร่างกายนี้สักแต่ว่าเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี ก็ทำให้จิตของเรามองเห็นอนัตตาได้เร็วขึ้น เพราะฉะนั้นการเจริญกายคตาสติก็ดี การเจริญธาตุกรรมฐานก็ดี จึงเป็นแนวทางให้จิตดำเนินก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้

และอีกอันหนึ่ง อานาปานสติ ท่านก็ยึดเป็นหลักการสอน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมฐานอานาปานสติ การกำหนดพิจารณาลมหายใจนั้น จะไปแทรกอยู่ทุกกรรมฐาน จะบริกรรมภาวนาก็ดี จะพิจารณาก็ดี ในเมื่อจิตสงบลงไป ปล่อยวางอารมณ์ที่พิจารณาแล้ว ส่วนใหญ่จิตจะไปรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ในเมื่อจิตตามรู้ลมหายใจเข้าออก กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกอยู่เป็นปกติ จิตเอาลมหายใจเป็นสิ่งรู้ สติเอาลมหายใจเป็นสิ่งระลึก ลมหายใจเข้าออกเป็นไปตามปกติของร่างกาย เมื่อสติไปจับอยู่ที่ลมหายใจ ลมหายใจก็เป็นฐานที่ตั้งของสติ ลมหายใจเป็นสิ่งเกี่ยวเนื่องด้วยกาย สติไปกำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก จดจ่ออยู่ที่ตรงนั้น วิตกถึงลมหายใจ มีสติรู้พร้อมอยู่ในขณะนั้น จิตก็มีวิตกวิจารอยู่กับลมหายใจ เมื่อจิตสงบลงไป ลมหายใจก็ค่อยละเอียดๆ ลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งในที่สุดลมหายใจก็หายขาดไป เมื่อลมหายใจหายขาดไปจากความรู้สึก ร่างกายที่ปรากฏว่ามีอยู่ก็พลอยหายไปด้วย ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าหากว่าลมหายใจยังไม่หายขาดไปกายก็ยังปรากฏอยู่ เมื่อจิตตามลมหายใจเข้าไปข้างใน จิตจะไปสงบนิ่งอยู่ท่ามกลางของกาย แล้วก็แผ่รัศมีออกมารู้ทั่วทั้งกาย จิตสามารถที่จะมองเห็นอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายได้หมดทั้งตัว เพราะลมย่อมวิ่งเข้าไปที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ลมวิ่งไปถึงไหนจิตก็รู้ไปถึงนั่น ตั้งแต่หัวจรดเท้า ตั้งแต่เท้าจรดหัว ตั้งแต่แขนซ้ายแขนขวา ขาขวาขาซ้าย เมื่อจิตตามลมหายใจเข้าไปแล้ว จิตจะรู้ทั่วกายหมด ในขณะใดกายยังปรากฏอยู่ จิตสงบอยู่ สงบนิ่ง รู้สว่างอยู่ในกาย วิตก วิจาร คือจิตรู้อยู่ภายในกาย สติก็รู้พร้อมอยู่ในกาย ในอันดับนั้นปีติและความสุขย่อมบังเกิดขึ้น เมื่อปีติและความสุขบังเกิดขึ้น จิตก็เป็นหนึ่ง นิวรณ์ ๕ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ก็หายไป จิตกลายเป็นสมถะ มีพลังพอที่จะปราบนิวรณ์ ๕ ให้สงบระงับไป ผู้ภาวนาก็จะมองเห็นผลประโยชน์ในการเจริญสมถกรรมฐาน.
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้