ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2368
ตอบกลับ: 8
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ สัจธรรมสากล ~

[คัดลอกลิงก์]
สัจธรรมสากล


โดย พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)
วัดป่าสาลวัน
ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา


ธรรมะและคุณธรรมทั้งหลายที่มีอยู่ในจักรวาลนี้ ที่เราว่าเป็นคำสอนของศาสนานั้น คำสอนของศาสนานี้ แต่แท้ที่จริงมันไม่ใช่คำสอนของศาสนานั้นๆ แต่มันเป็นธรรมชาติที่ผู้สามารถค้นคว้าหรือสามารถสร้างสติปัญญาของตนให้รู้ถึงแก่นแห่งความจริงของธรรมชาติ แต่หากสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว

เช่น ในบ้านเมืองเรา มีการศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนกระทั่งถึงปริญญาเอก ความรู้ทั้งหลายเหล่านั้น มันเป็นของกลางๆ แต่ใครจะเข้าถึงความรู้เหล่านั้น มันก็ขึ้นอยู่กับความสามารถและสติปัญญาของแต่ละบุคคล ใครไม่เก่งก็เรียนจบแค่อนุบาลหรือไม่จบเลย ถ้าใครเก่งก็เรียนจบถึงปริญญาเอก อันนี้คือความสามารถของผู้ที่สามารถเก็บผลประโยชน์ได้จากสิ่งที่มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ

เปรียบเทียบกับผืนแผ่นดินของเรานี่ มันมีวัตถุที่เป็นปฏิกรณ์แก่ชีวิตมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานเต็มไปหมด สมัยก่อน หินกรวด หินลูกรังที่เรานำมาปูถนน เราเหยียบย่ำมันไปเฉยๆ ไม่มีคุณค่า ภายหลังมีผู้มีสติปัญญาสามารถที่จะหาเอาผลประโยชน์จากหินลูกรังหรือหินกรวดทั้งหลายเหล่านั้น นอกจากจะปูถนนทำเป็นคอนกรีต ยังสามารถนำไปถลุงเป็นเหล็ก เป็นอะไรออกมาได้ด้วย
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 20:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ธรรมะที่มีอยู่ในจักรวาลนี้ก็เช่นเดียวกัน ธรรมะเป็นสัจธรรมของจริงที่มีอยู่แล้วแต่ไหนแต่ไรมา ศาสดาแต่ละพระองค์ก็เพียงแค่รู้ความจริงของธรรมะ และแต่ละศาสดานั้นก็ย่อมมีภูมิธรรมแตกต่างกัน บางศาสดามีภูมิปัญญาน้อย ก็มองเห็นธรรมะตามระดับสติปัญญาของตนเอง บางศาสดามีปัญญาละเอียดสุขุม มีความสามารถ มีความรู้เฉียบแหลม ก็สามารถรู้ความจริงในจักรวาลนี้ได้เหนือกว่าหมู่

เช่นเดียวกันกับดวงไฟที่เราติดเอาไว้ในห้องโถง ถ้าไฟดวงใดมีแรงน้อย เพียงแค่ ๑๐ แรงเทียน ๒๐ แรงเทียน พอเปิดสวิตช์ความสว่างมันก็พอสลัวๆ พอมองเห็นอะไรได้เพียงนิดหน่อย ถ้าหากว่าดวงไฟมีแรงสูงตั้งแต่ ๑,๐๐๐ แรงเทียนขึ้นไป พอสับสวิตช์ ความสว่างไสวมันจะกระจายทั่วไปหมด ทำให้เราสามารถมองเห็นจุดดำจุดด่างของผิวพื้นของอาคารหรือฝาผนังได้อย่างถนัด ข้อเปรียบเทียบนี้ฉันใด ก็เหมือนกับภูมิธรรมหรือภูมิความรู้ของแต่ละศาสดานั้นเอง ศาสดาใดจะรู้มาก รู้น้อย จะโง่หรือฉลาดก็แล้วแต่ อันนั้นไม่สำคัญ

ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่า แต่ละศาสดามุ่งสอนให้คนเป็นคนดี ไม่มีศาสดาใดที่จะสอนให้คนเป็นคนชั่ว เพราะฉะนั้น เรื่องของศาสนา ใครจะนับถือศาสนาอะไร ใช้ได้ทั้งนั้น ขอให้ประพฤติดี การศึกษาศาสนา การเรียนธรรมะ ถ้าเราเพียงแค่เรียนตามตำรับตำรา แต่ไม่มีการประพฤติปฏิบัติ หรือไม่ได้ทดสอบวิจัยวิชาความรู้นั้น เราก็รู้ความจริงเพียงแค่ตำรา

ธรรมะโดยคำสอนคือธรรมะอันเป็นหลักธรรมชาติ ศาสนาที่แตกต่างกันอยู่ที่กฎหรือระเบียบของศาสนานั้นๆ ใครนับถือศาสดาใด ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหรือระเบียบของศาสนานั้นๆ ย่อมจะได้บรรลุผลตามที่ตนตั้งเป้าหมายไว้ทุกประการ
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 20:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ความเป็นสากลของศีล

ศีล ๕ ประการนี้ ใครละเมิดแล้วบาปไม่เลือกหน้า คนในศาสนาพุทธละเมิดก็บาป คนที่เขาว่าฆ่าสัตว์ไม่เป็นบาปทำลงไปก็เป็นบาป คนที่ขนแกะไปเชือดบูชาพระเจ้าปีละหลายๆ แสนตัวในบางศาสนาที่เขาว่าทำแล้วได้บุญ แต่เสร็จแล้วมันก็ได้บาป เพราะอันนี้มันเป็นบาปของกฎธรรมชาติ

บางท่านอาจจะคิดว่าพระพุทธเจ้าช่างโหดร้ายจริงๆ ทำอะไรก็บาป ฆ่าสัตว์ก็บาป แต่แท้ที่จริง พระพุทธเจ้าท่านมิได้โหดร้าย อย่าไปลงโทษท่าน พระพุทธเจ้า พระองค์ท่านรู้กฎความจริงตามธรรมชาติ คือรู้ว่าฆ่าสัตว์เป็นบาป ลักทรัพย์เป็นบาป กาเมสุมิจฉาจารเป็นบาป มุสาวาทเป็นบาป ดื่มสุราเป็นบาป แต่บาปนั้นๆ มันมีอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิดแล้ว ไม่ใช่พระพุทธเจ้าแต่ละองค์มาเกิด แล้วก็มาบัญญัติบาปกรรมโทษทัณฑ์อะไรไว้ลงโทษสัตว์ทั้งหลาย

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาธรรมชาติ สิ่งใดที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเอาไว้นั้นเป็นความรู้ตามกฎธรรมชาติทั้งสิ้น

บัญญัติที่พระพุทธเจ้าห้าม อาศัยเหตุ ๒ ประการ

ประการแรก อาศัยความรู้จริงเห็นแจ้งในกฎธรรมชาติที่มีอยู่แล้วแต่เก่าแก่ดั้งเดิม ซึ่งไม่มีผู้ใดบัญญัติตกแต่งเอาไว้ แต่มันก็เป็นกฎธรรมชาติ เช่น ศีล ๕ เป็นต้น

ประการที่ ๒ ทรงบัญญัติตามความนิยมของสังคม ในสังคมย่อมมีผู้ดี มีไพร่ มีคนหลายระดับชั้น ในสังคมผู้ดีก็ต้องมีการรักษากิริยามารยาทให้สุภาพเรียบร้อย พระภิกษุสงฆ์ซึ่งบวชมาในศาสนานี้มาจากต่างตระกูล ต่างชั้นวรรณะ การศึกษา การปฏิบัติ การอบรมก็แตกต่างกัน บางทีบางครั้ง บางท่านยังไม่เข้าใจระเบียบการปฏิบัติของชนชั้นผู้ดี ก็ไปแสดงกิริยาอันไม่ดีไม่งามให้ชาวบ้านเขาตำหนิ เสร็จแล้วพระองค์เห็นว่าเป็นความเสียหายแก่ศาสนาหรือเสียหายแก่สังคม พระองค์จึงทรงบัญญัติวินัยซึ่งเกิดขึ้นตามเหตุตามผล ตามเหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้น ซึ่งมีผู้ทำผิดเป็นมูลเหตุ ชาวบ้านเขามายกโทษตำหนิติเตียน พระองค์จึงได้ประชุมสงฆ์ บัญญัติวินัยนั้นๆ ขึ้น จนระเบียบวินัยในพระปาฏิโมกข์มีตั้งหลายข้อ ภิกษุณี ๓๑๑ ข้อ ภิกษุสงฆ์ ๒๒๗ ข้อ
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 20:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ความเป็นสากลของสมาธิ

สมาธิไม่ใช่ของศาสนาใด ไม่มีศาสนาใดผูกขาด สมาธิเป็นของคนมีศาสนา เป็นทั้งของคนไม่มีศาสนา โดยที่สุดแม้สัตว์เดรัจฉานก็ต้องอาศัยสมาธิ ถ้าเขาไม่มีสมาธิ เขาก็เอาชีวิตรอดมาไม่ได้

สมาธิเป็นหลักธรรมกลางๆ ใครจะไปบอกว่าเรื่องสมาธิเป็นเรื่องศาสนาของฉันแต่ผู้เดียว ความรู้สึกอันนี้เป็นความเข้าใจชนิดที่ว่าขี้โกง เพราะสมาธิเป็นหลักธรรมที่เป็นธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว ไม่ได้สังกัดในลัทธิและศาสนาใด เป็นหลักธรรมสาธารณะทั่วไป ทุกคนปฏิบัติได้ และเมื่อปฏิบัติได้แล้ว ไม่ได้ขัดกับพระประสงค์ของพระเจ้าองค์ใด ถ้าเข้าถึงสัจธรรมแล้ว จะบรรลุถึงจุดประสงค์ของพระเจ้าทุกองค์บรรดาที่มีในจักรวาลนี้

การปฏิบัติสมาธิ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ เพราะชีวิตมนุษย์เป็นไปด้วยกำลังของสมาธิคือความมั่นใจ

สมาธิ คือ ความมั่นใจ หรือความตั้งใจมั่น

การศึกษาก็ดี การงานทุกสิ่งทุกอย่างก็ดี ถ้าเราไม่มีความมั่นใจ หรือ ความตั้งใจมั่น เราจะกลายเป็นคนจับจด ทำอะไรไม่จริงจัง เมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็จะประสบแต่ความล้มเหลว หรือ ความหายนะ เพราะฉะนั้น เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราต้องมีความจริงใจ
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 20:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
"เรื่องสมาธิไม่ใช่มีเฉพาะในบ้านเมืองเรา
เรื่องสมาธิไม่ใช่แต่เฉพาะจะมานั่งหลับตา
หรือนั่งฟังธรรมกันในวัด
เรื่องของสมาธิเป็นเรื่องสากล"


คนที่ปฏิบัติสมาธิยอดเยี่ยมที่สุดในปัจจุบัน มีอยู่คนหนึ่ง คนที่สร้างจรวดไปลงดวงจันทร์ก็ยังไม่เก่ง แต่คนที่สามารถคำนวณระยะเวลากับความเร็วของจรวดตัวเล็กกับจรวดตัวแม่ที่โคจรอยู่รอบโลก เพื่อชะลอเวลาให้จรวดตัวเล็กที่ไปลงดวงจันทร์กระโดดมาเกาะยานแม่แล้วลงมาสู่โลก ถ้าหมอนี่คำนวณผิดแม้เสี้ยววินาที จรวดตัวเล็กจะต้องลอยเคว้งคว้างอยู่ในอวกาศ คนนั้นแหละเป็นคนที่ทำสมาธิเก่งที่สุด เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายอย่าไปนึกว่าสมาธิไม่ใช่เรื่องจำเป็นสำหรับชีวิตของเรา

สมาธิ เป็นชื่อของธรรมะประเภทหนึ่ง ซึ่งแปลว่าความมั่นใจหรือความตั้งใจมั่น มั่นต่อการเดิน ยืน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เมื่อเรามีความมั่นใจอยู่ตลอดเวลาหรือตั้งใจมั่น ได้แก่ การกำหนดรู้ ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด อยู่ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ ได้ชื่อว่าเป็นการฝึกสมาธิไปในตัว

สมาธิไม่ได้สังกัดในลัทธิศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น ขอให้เข้าใจคำว่าสมาธิในวงกว้างๆ อย่าเข้าใจวงแคบเพียงแค่ "วิธีการ" ที่ว่าเข้าใจในวงกว้างๆ หมายถึงว่า เราสามารถฝึกสมาธิได้ตลอดเวลา ทุกลมหายใจ

คนศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม หรือคนไม่มีศาสนาเลยก็ฝึกสมาธิได้ แต่ความแตกต่างของศาสนาอยู่ที่บทบัญญัติของพระเจ้า พุทธศาสนามีบทบัญญัติ ๕ ข้อ คือ ศีล ๕ คริสตศาสนาก็มีบทบัญญัติอยู่ ๑๐ ประการ ความแตกต่างอยู่ที่ตรงนี้เท่านั้น

สมาธิภาวนา แปลว่า อบรมใจให้มีความเข้มแข็งสามารถปฏิบัติได้ทุกโอกาสทุกลมหายใจ เช่น ในขณะเรียน นักเรียนก็กำลังปฏิบัติสมาธิ ถ้าเอาใจใส่จดจ่อไม่เอาสายตาและใจไปอื่น
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 20:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลักและวิธีการทำสมาธิในห้องเรียน

เมื่ออาจารย์มาสอนให้มองจ้องไปที่ตัวอาจารย์ ส่งจิตไปรวมไว้ที่ตัวอาจารย์ อย่าให้สายตาและจิตใจไปอื่น พยายามควบคุมจิตของเราให้จดจ้องไปที่ตัวอาจารย์เท่านั้น พยายามฝึกให้คล่องตัว ชำนิชำนาญ ถ้าเราฝึกต่อเนื่องกันทุกวันๆ ทุกชั่วโมงที่มีอาจารย์มาสอน เราจะได้สมาธิสนับสนุนการเรียนของเราให้ดียิ่งขึ้น เพราะในขณะที่อาจารย์สอนเรา ท่านรวมกำลังจิตและวิชาความรู้ที่จะถ่ายทอดให้เรา เมื่อเราเอาจิตจดจ่ออยู่ที่ตัวอาจารย์ เราก็ได้รับเอาพลังจิตและวิชาความรู้จากอาจารย์

ในระยะแรกๆ ให้สังเกตดูว่าถ้าจิตของเราไปจ้องอยู่ที่ตัวอาจารย์ สายตาจ้องอยู่ที่ตัวอาจารย์อย่างไม่ลดละ นั่นแสดงว่าเราเริ่มมีสมาธิขึ้นมาแล้ว แล้วสังเกตดู ความเข้าใจ ความจดจำของเราจะดีขึ้น ภายหลังเมื่อจิตของเรามีพลังแก่กล้าขึ้น มีความมั่นคงขึ้น มีสติดีขึ้น สายตายังจ้องอยู่ที่ตัวอาจารย์ แต่ความรู้สึกในทางจิต จะมาเตรียมพร้อมอยู่ที่จิตของตนเอง เมื่อเป็นเช่นนั้น เวลาอาจารย์พูดอะไร ฟังจบประโยคลงไป

ช่วงระยะที่ท่านหยุดหายใจ จิตของเราสามารถที่จะคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าต่อไปอาจารย์จะพูดอะไร เมื่อเวลาไปสอบอ่านคำถามจบ จิตของเราจะวูบไปนิดหนึ่ง คำตอบจะผุดขึ้นมา เขียนเอาๆ โดยไม่ต้องใช้ความคิดก่อนหน้าจะไปสอบ บางทีจิตของเราจะบอกว่าให้ดูหนังสือเล่มนั้น จากหน้านั้นไปถึงหน้านั้น ข้อสอบจะออกที่ตรงนี้ แล้วข้อสอบจะออกมาตรงกับที่จิตเราบอก มีผู้ทำได้ผลเป็นที่พอใจมาแล้ว

ส่วนสมาธิในวิธีการ หมายถึงเรามานั่งขัดสมาธิ มานั่งภาวนาพุทโธ สัมมาอรหัง ยุบหนอ-พองหนอ เป็นต้น

สมาธิเป็นกิริยาของจิต เมื่อเรามีสติกำหนดรู้จิตของเราอยู่ตลอดเวลา ถ้าเรานั่งกำหนดรู้จิตของเรา เรียกว่าปฏิบัติสมาธิในท่านั่ง แต่ถ้าเวลายืนกำหนดจิตของเรา เรียกว่าปฏิบัติสมาธิในท่ายืน เมื่อเรามีสติกำหนดรู้จิตของเราในท่านอน เรียกว่าปฏิบัติสมาธิในท่านอน เวลาเดินจงกรม เรามีสติกำหนดรู้จิตของเรา เรียกว่าปฏิบัติสมาธิในท่าเดิน
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 20:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
"ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นแต่เพียงอิริยาบถบริหารร่างกาย เพื่อมิให้ส่วนใดส่วนหนึ่งถูกทรมานมากจนเกินไป เพราะฉะนั้น สมาธิจึงไม่ใช่เพียงเรื่องการนั่งสมาธิอย่างเดียว แม้แต่การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ถ้าเรามีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา เราก็ได้ปฏิบัติสมาธิอยู่ตลอดเวลา"

ถ้าเรายึดหลักว่า เราจะฝึกสติของเราให้รู้อยู่กับการยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ เราก็ได้ฝึกสมาธิ อยู่ตลอดเวลาโดยไม่มีอุปสรรคใดๆ มาขัดขวาง สร้างความรู้สึกในจิตของตัวเองให้มีภาวะรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี ให้จิตมีสติรู้ ตื่น เบิกบานอยู่ตลอดเวลา ทรงไว้ซึ่งความรู้สึกเช่นนั้น และน้อมนึกตั้งเจตนาอยู่เสมอว่าเราจะละชั่ว ประพฤติดี ทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาด

ความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี สภาวะที่เรามีความรู้ ตื่น เบิกบานในจิตในใจก็ดี หรือเจตนาที่จะตั้งใจงดเว้นสิ่งชั่ว ประพฤติดี ทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาดก็ดี เป็นกิริยาแห่งความมีคุณธรรม คือทำจิตของเราให้เป็นพระเจ้า

คนนับถือศาสนาพุทธ พระเจ้าของเขาก็คือพระพุทธเจ้า คนนับถือศาสนาคริสต์ เมื่อจิตมีสภาวะรู้ ตื่น เบิกบาน หรือรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี เขาก็มีพระเจ้าของเขาอยู่ในใจ ดังนั้น เมื่อเรามีพระเจ้าอยู่ในใจ พระพุทธเจ้าก็ดี พระเจ้าก็ดี ถ้ามีอยู่ในใจของใครต่อใคร ใครจะไปในสถานที่แห่งใด

ยืน...เราก็ไปกับพระเจ้า
เดิน...เราก็อยู่กับพระเจ้า
นั่ง...เราอยู่กับพระเจ้า
นอน...เราอยู่กับพระเจ้า
รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ไม่ว่าเราจะทำอะไร...เราอยู่กับพระเจ้า
คำว่า พระเจ้า ก็คือ เจ้าแห่งผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน


เรามานั่งสมาธิภาวนาในปัจจุบันนี้ ถ้าชาวพุทธภาวนาพุทโธ ชาวคริสต์ภาวนาเยซู ตั้งใจเอาจริงเอาจัง เมื่อสมาธิเกิด จิตจะสงบ นิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน เหมือนกัน

ถ้าเราเข้าถึงสัจธรรมกันจริงๆ ศึกษาธรรมะตามสภาพแห่งความเป็นจริง ไม่เฉพาะแต่จะมาศึกษาเล่าเรียนตามตำรับตำรา เอาของจริงมาพิสูจน์กันเลยทีเดียว เราจะเข้าถึงสัจธรรม ความจริง ของจริงสม่ำเสมอกันหมดไม่มีอคติลำเอียง
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 20:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ผลที่เราได้จากการฝึกสมาธินั้น

ทำให้จิตของเราตั้งมั่นหรือมั่นคงต่อการที่จะทำธุรกิจต่างๆ ทำให้เรามีจิตสงบเยือกเย็น และมีความเมตตาปรานีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มีความเคารพบูชา รักในบิดา มารดา ครูบาอาจารย์ของเราดีขึ้น ทำให้เราหมั่นขยันในการงาน มีการเรียน การศึกษา เป็นต้น ทำให้มีความทรงจำดี มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดรอบรู้ คิดการงานอันใดจะไม่ท้อถอย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมาธิจะเสริมปัญญาของเราให้ปราดเปรื่อง



.................................................................

คัดลอกมาจาก
http://www.geocities.com/thaniyo/
  ขอบคุณครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้