| | |
วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก | วัดตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว - พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ
วัดประจำรัชการที่ ๙
|
|
[size=15.555556297302246px]
ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้แก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย ด้วยวิธีเติมอากาศที่บึงพระราม ๙ ซึ่งเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และปรับปรุงสภาพพื้นที่เพื่อพัฒนาชุมชนบริเวณบึงพระราม ๙ ดำเนินการจัดตั้งวัด เพื่อเป็นพุทธสถานในการประกอบกิจของสงฆ์ และเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจของราษฎรในการที่ประกอบกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันต่อมาในวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นางสาวจวงจันทร์ สิงหเสนี เข้าเฝ้าฯ น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินจำนาน ๕-๒-๕๔ ไร่ เพื่อดำเนินการสร้างวัดในนามมูลนิธิชัยพัฒนา ได้รับอนุญาตจากกรมการศาสนาให้จัดสร้างวัด ซึ่งมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ฝ่ายสงฆ์ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์อุปถัมภ์ฝ่ายฆราวาส
การสร้างวัด
วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘ ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็นแบบอย่างในการก่อสร้างวัดเล็กๆ เพื่อเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจของชุมชน ที่ตั้งอยู่บริเวณไกล้เคียง และเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมต่างๆ ในการเผยแผ่ศีลธรรม และจริยธรรมเพื่อการพัฒนาชุมชน
เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๓๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อุโบสถ วัดพระราม ๙ กาญนาภิเษก และวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงประกอบพิธีฝังลูกนิมิต ตามประเพณี
วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษกได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากวัดอื่น เนื่องจากเป็นวัดขนาดเล็กใช้งบประมาณที่ประหยัด และเรียบง่ายที่สุด ประกอบด้วย อุโบสถ ศาลาอเนกประสงค์ สระน้ำ กุฎีเจ้าอาวาส กุฎีพระจำนวน ๕ หลัง โรงครัว และอาคารประกอบที่จำเป็น อาคารทุกหลังจะใช้สีขาวซึ่งแสดงถึงความบริสุทธิ์ สะอาด สวยงาม ส่วนอุโบสถจะเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยโบราณผสมผสานกับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ โดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้สอยเป็นสำคัญ
|
- พระอุโบสถ - |
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ได้ประทานอนุญาตให้ พระราชสุมนต์มุนี (อภิพล อภิพโล) เลขานุการในพระองค์ และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เป็นองค์ปฐมแห่งอาราม ตั้งแต่วันอาสาฬหบูชา ที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นมา พร้อมด้วยคณะสงฆ์ภิกษุสามเณรจำนวนหนึ่ง
พระประธาน
พระประธานที่ประดิษฐาน ณ อุโบสถ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ได้รับการออกแบบจากเรืออากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น ซึ่งเป็นสถาปนิกของกรมศิลปากร และได้ทำการออกแบบทั้งสิ้น ๗ แบบ ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกัน จากนั้นมูลนิธิชัยพัฒนานำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทอดพระเนตร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเลือกแบบ พระพุทธรูปปางมารวิชัย(ปางชนะมาร) โดยได้ทรงแก้ไขแบบอีกเล็กน้อยด้วยพระองค์เอง และคณะอนุกรรมการการก่อสร้างฯ ได้มอบให้อาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน คณบดีคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้ปั้นพระพุทธรูปปางมารวิชัยในครั้งนี้
พระพุทธรูปปางมารวิชัย มีขนาดความสูงจากทับเสร็จ (หน้ากระดาน) ถึงปลายรัศมี ๑๘๐ เซนติเมตร ขนาดหน้าพระเพลา ๑๒๐ เซนติเมตร โดยมีพุทธสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวาของพระประธาน พระพุทธรูปปางมารวิชัย มีพุทธลักษณะแบบรัตนโกสินทร์ ฐานชุกชีทำด้วยหินอ่อน ส่วนองค์พระพุทธรูปทำด้วยทองเหลืองผสมทอง ที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างอุดมคติและเหมือนจริง ด้วยการห่มจีวรแบบพระสงฆ์ที่เหมือนจริง แต่มีพระเกศาเป็นอุดมคติ ซึ่งมีลักษณะที่สวยงาม กลมกลืน และปราณีตยิ่งนัก