ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 9667
ตอบกลับ: 25
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

วัดประจำรัชการ

[คัดลอกลิงก์]
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย metha เมื่อ 2013-11-19 15:11

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
  พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร วัดประจำรัชกาลที่ ๑

- พระพุทธเทวปฏิมากร -


วัดโพธิ์ หรือนามทางราชการว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกและเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาวัดโพธารามวัดเก่าที่เมืองบางกอกครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นวัดหลวงข้างพระบรมมหาราชวัง และที่ใต้พระแท่นประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่านไว้ด้วย
   พระอารามหลวงแห่งนี้มีเนื้อที่ ๕๐ ไร่ ๓๘ ตารางวาอยู่ด้านทิศใต้ของพระบรมมหาราชวัง ทิศเหนือจดถนนท้ายวัง ทิศตะวันออกจดถนนสนามไชย ทิศใต้จดถนนเศรษฐการ ทิศตะวันตกจดถนนมหาราช มีถนนเชตุพน ขนาบด้วยกำแพงสูงสีขาวแบ่งเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสชัดเจน
   มีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกไว้ว่า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาพระบรมมหาราชวังแล้ว ทรงพระราชดำริว่า มีวัดเก่าขนาบพระบรมมหาราชวัง ๒ วัด ด้านเหนือ คือ วัดสลัก (วัดมหาธาตุฯ) ด้านใต้คือ วัดโพธาราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางเจ้าทรงกรม ช่างสิบหมู่อำนวยการบูรณะปฏิสังขรณ์ เริ่มเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๑
   ใช้เวลา ๗ ปี ๕ เดือน ๒๘ วัน จึงแล้วเสร็จ และโปรดฯ ให้มีการฉลองเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๔ พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ” ต่อมารัชกาลที่ ๔ ได้โปรดฯ ให้เปลี่ยนท้ายนามวัดเป็น "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม"
   ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ นานถึง ๑๖ ปี ๗ เดือน ขยายเขตพระอารามด้านใต้และตะวันตกคือ ส่วนที่เป็นพระวิหารพระพุทธไสยาสสวนมิสกวัน สถาปนาขึ้นใหม่ พระมณฑป ศาลาการเปรียญ และสระจระเข้บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่เป็นโบราณสถานในพระอารามหลวงที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้
   แม้การบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดเมื่อฉลองกรุงเทพฯ ๒๐๐ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นเพียงซ่อมสร้างของเก่าให้ดีขึ้น มิได้สร้างเสริมสิ่งใด ๆ
   เกร็ดประวัติศาสตร์ของการสถาปนาและการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์แห่งนี้ บันทึกไว้ว่า รัชกาลที่ ๑ และที่ ๓ ขุนนาง เจ้าทรงกรมช่างสิบหมู่ ได้ระดมช่างในราชสำนัก ช่างวังหลวง ช่างวังหน้า และช่างพระสงฆ์ที่อยู่ในวัดต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญงานศิลปกรรมสาขาต่างๆ ได้ทุ่มเทผลงานสร้างสรรค์พุทธสถานและสรรพสิ่งที่ประดับอยู่ในวัดพระอารามหลวง ด้วยพลังศรัทธาตามพระราชประสงค์ของพระองค์ท่านที่ให้เป็นแหล่งรวมสรรพศิลป์ สรรพศาสตร์ เปรียบเป็นมหาวิทยาลัยแห่งสรรพวิชาไทย (มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรก) ที่รวมเอาภูมิปัญญาไทยไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานไทยได้เรียนรู้กับอย่างไม่รู้จบสิ้น


ที่มา http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/watpho.php


2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 15:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
  พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร วัดประจำรัชกาลที่ ๒


วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเรียกว่า "วัดมะกอก" ตามชื่อตำบลบางมะกอกซึ่งเป็นตำบลที่ตั้งวัด ภายหลังเปลี่ยนเป็น "วัดมะกอกนอก" เพราะมีวัดสร้างขึ้นใหม่ในตำบลเดียวกันแต่ อยู่ลึกเข้าไปในคลองบางกอกใหญ่ชื่อ "วัดมะกอกใน" ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๑๐ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานีมาตั้ง ณ กรุงธนบุรีจึงเสด็จกรีฑาทัพล่องลงมาทางชลมารคถึงหน้าวัดมะกอกนอกนี้เมื่อเวลารุ่งอรุณพอดี จึงทรงเปลี่ยนชื่อวัดมะกอกนอกเป็น "วัดแจ้ง" เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งนิมิตที่ได้เสด็จมาถึงวัด นี้เมื่อเวลาอรุณรุ่ง
เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามาตั้ง ณ กรุงธนบุรีและได้ทรงสร้างพระราชวังใหม่ มีการขยายเขตพระราชฐาน เป็นเหตุให้วัดแจ้งตั้งอยู่กลาง พระราชวังจึงไม่โปรดให้มีพระสงฆ์จำพรรษา นอกจากนั้นในช่วงเวลาที่กรุงธนบุรีเป็น ราชธานี ถือกันว่าวัดแจ้งเป็นวัดคู่บ้าน คู่เมือง เนื่องจากเป็นวัดที่ประดิษฐาน พระแก้วมรกตและพระบาง ซึ่งสมเด็จ พระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ได้ อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ ๒ องค์นี้มาจากลาวในคราวที่เสด็จตีเมืองเวียงจันทร์ ได้ในปี พ.ศ. ๒๓๒๒โดยโปรดให้อัญเชิญ พระแก้วมรกตและพระบางขึ้นประดิษฐาน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช รัชกาลที่ ๑ เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ ได้โปรดให้สร้างพระนครใหม่ฝั่งตะวันออก ของแม่น้ำเจ้าพระยา และรื้อกำแพงพระราชวังกรุงธนบุรีออก วัดแจ้งจึงไม่ได้อยู่ในเขตพระราชวังอีกต่อไป พระองค์จึงโปรดให้วัดแจ้งเป็นวัดที่มี พระสงฆ์จำพรรษาอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นพระองค์ทรงมอบหมายให้สมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (ร. ๒) เป็นผู้ดำเนินการปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง ไว้ในมณฑป และมีการสมโภชใหญ่ ๗ คืน ๗ วัน(ในปี พ.ศ. ๒๓๒๗ พระแก้วมรกตได้ย้ายมาประดิษฐาน ณ วัด พระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมหาราชวัง ส่วนพระบางนั้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้โปรด พระราชทานคืนไปนครเวียงจันทร์) แต่สำเร็จเพียงแค่กุฎีสงฆ์ก็สิ้นรัชกาลที่ ๑ ใน พ.ศ. ๒๓๕๒ เสียก่อน
ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ พระองค์ทรงดำเนินการปฏิสังขรณ์ต่อจนเสร็จ ทั้งได้ทรงปั้นหุ่นพระพุทธรูปด้วยฝีพระหัตถ์ และโปรดให้หล่อขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธาน ในพระอุโบสถ และโปรดให้มีมหรสพสมโภชฉลองวัดในปี พ.ศ. ๒๓๖๓ แล้วโปรดพระราชทาน พระนามวัดว่า "วัดอรุณราชธาราม"
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ใหม่หมดทั้งวัด พร้อมทั้งโปรดให้ลงมือก่อสร้างพระปรางค์ตามแบบที่ทรงคิดขึ้น จนสำเร็จเป็นพระเจดีย์สูง ๑ เส้น ๑๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ กับ ๑ นิ้ว ฐานกลมวัดโดยรอบได้ ๕ เส้น ๓๗ วา ซึ่งการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆ ภายในวัดอรุณฯ นี้สำเร็จลงแล้ว แต่ยังไม่ทันมีงานฉลองก็สิ้นรัชกาลที่ ๓ ในปี พ.ศ. ๒๓๙๔
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ พระองค์ได้โปรดให้สร้างและปฏิสังขรณ์ สิ่งต่าง ๆ ในวัดอรุณฯ เพิ่มเติมอีกหลายอย่าง ทั้งยังได้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของ พระประธานในพระอุโบสถที่พระองค์ ทรงพระราชทานนามว่า "พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก" และเมื่อได้ทรงปฏิสังขรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้พระราชทานนาม วัดเสียใหม่ว่า "วัดอรุณราชวราราม" ดังที่เรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน
ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เกิดเพลิงไหม้พระอุโบสถ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถใหม่เกือบทั้งหมด โดยได้โปรดให้กรมหมื่นปราบปรปักษ์เป็นแม่กองในการบูรณะ และโปรดเกล้าฯให้นำเงิน ที่เหลือจากการบริจาคของพระบรมวงศานุวงศ์ไปสร้างโรงเรียนตรงบริเวณกุฎีเก่า ด้านเหนือ ซึ่งชำรุดไม่มีพระสงฆ์อยู่เป็นตึกใหญ่แล้วพระราชทานนามว่า "โรงเรียนทวีธาภิเศก" นอกจากนั้นยังได้โปรดให้พระยาราชสงครามเป็นนายงานอำนวยการปฏิสังขรณ์พระปรางค์ องค์ใหญ่ และเมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงโปรดให้มีการฉลองใหญ่รวม ๓ งานพร้อมกันเป็นเวลา ๙ วัน คือ งานฉลองพระไชยนวรัฐ งานบำเพ็ญพระราชกุศลพระชนมายุสมมงคล คือ มีพระชนมายุเสมอพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และ งานฉลองพระปรางค์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ มีการบูรณะปฏิสังขรณ์หลายอย่าง โดยเฉพาะพระปรางค์วัดอรุณฯ ได้รับการปฏิสังขรณ์ เป็นการใหญ่มีการประกอบพิธีบวงสรวงก่อนเริ่มการบูรณะพระปรางค์ใน วันพุธที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๑๐ และการบูรณะก็สำเร็จด้วยดีดังเห็นเป็นสง่างามอยู่จนทุกวันนี้

[size=15.555556297302246px]




3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 15:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

วัดประจำรัชกาลที่ ๒
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  คือ “วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร” หรือ “วัดแจ้ง”  เมื่อครั้งที่พระองค์ท่านดำรงตำแหน่งเป็นวังหน้าในรัชกาลที่ ๑  ที่ประทับของท่านจะอยู่ที่พระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรี และวัดที่อยู่ใกล้กับ พระราชวังเดิมที่สุดก็คือวัดอรุณราชวราราม พระองค์ท่านจึงได้โปรดเกล้าฯ  ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ และยังได้ทรงลงมือปั้นหุ่นพระพักตร์ ‘พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก’  พระประธานในพระอุโบสถ ด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองอีกด้วย  และเมื่อพระองค์ท่านทรงเสด็จสวรรคต พระบรมอัฐิของพระองค์ ก็ถูกนำมาประดิษฐานไว้ที่พระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามแห่งนี้
วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เป็นวัดโบราณเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา  ไม่พบหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างวัดในสมัยโบราณ  ตามหลักฐานเท่าที่ปรากฏมีเพียงว่า เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา  มีมาก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พุทธศักราช ๒๑๙๙-๒๒๓๑)  เพราะมีแผนที่เมืองธนบุรีซึ่งเรือเอก เดอ ฟอร์บัง (Claude de Forbin)  กับนายช่าง เดอ ลามาร์ (de Lamare) ชาวฝรั่งเศส ทำขึ้นไว้เป็นหลักฐานในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  อีกทั้งวัดแห่งนี้ยังมีพระอุโบสถและพระวิหารของเก่าที่ตั้งอยู่ ณ  บริเวณหน้าพระปรางค์ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสมัยกรุงศรีอยุธยา
มูลเหตุที่เรียกชื่อวัดนี้แต่เดิมว่า “วัดมะกอก” นั้น ตามทางสันนิษฐานเข้าใจว่า คงจะเรียกคล้อยตามชื่อตำบลที่ตั้งวัด ซึ่งสมัยนั้นมีชื่อว่า ‘ตำบลบางมะกอก’  (เมื่อนำมาเรียกรวมกับคำว่า ‘วัด’ ในตอนแรกๆ คงเรียกว่า ‘วัดบางมะกอก’ ภายหลังเสียงหดลงคงเรียกสั้นๆ ว่า ‘วัดมะกอก’) ตามคติเรียกชื่อวัดของไทยสมัยโบราณ  เพราะชื่อวัดที่แท้จริงมักจะไม่มี จึงเรียกชื่อวัดตามชื่อตำบลที่ตั้ง  ต่อมาเมื่อได้มีการสร้างวัดขึ้นใหม่อีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกันนี้  แต่อยู่ลึกเข้าไปในคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านเรียกชื่อวัดที่สร้างใหม่ ว่า “วัดมะกอกใน” (ในปัจจุบันคือ วัดนวลนรดิศวรวิหาร)  แล้วเลยเรียก ‘วัดมะกอก’ เดิมซึ่งอยู่ตอนปากคลองบางกอกใหญ่ ว่า “วัดมะกอกนอก” เพื่อให้ทราบว่าเป็นคนละวัด
ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ เมื่อ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงมีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานี มาตั้ง ณ กรุงธนบุรี จึงเสด็จกรีฑาทัพล่องลงมาทางชลมารคถึงหน้า  ‘วัดมะกอกนอก’ แห่งนี้เมื่อเวลารุ่งอรุณพอดี จึงทรงเปลี่ยนชื่อวัดมะกอกนอก  เป็น ‘วัดแจ้ง’ เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงการได้เสด็จมาถึงวัดนี้เมื่อเวลาอรุณรุ่ง
เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยา มาตั้ง ณ กรุงธนบุรี ในปี พ.ศ.๒๓๑๑ และได้ทรงสร้างพระราชวังใหม่  มีการขยายเขตพระราชฐาน เป็นเหตุให้วัดแจ้งตกเข้ามาอยู่กลางพระราชวัง จึงโปรดไม่ให้มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา  การที่เอาวัดแจ้งเป็นวัดภายในพระราชวังนั้น  คงจะทรงถือแบบอย่างพระราชวังในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีวัดพระศรีสรรเพชญ์อยู่ในพระราชวัง  การปฏิสังขรณ์วัดเท่าที่ปรากฏอยู่ตามหลักฐานในพระราชพงศาวดาร ก็คือ ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ และพระวิหารหลังเก่าที่อยู่หน้าพระปรางค์ กับโปรดให้สร้างกำแพงพระราชวังโอบล้อมวัด  เพื่อให้สมกับที่เป็นวัดภายในพระราชวัง แต่ไม่ปรากฏรายการว่า  ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์หรือก่อสร้างสิ่งใดขึ้นบ้าง
ในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ถือกันว่าวัดแจ้งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง เนื่องจากเป็นวัดที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและพระบาง  ซึ่ง สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก  (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑)  ไปตีเมืองเวียงจันทน์ได้ในปีกุน เอกศก จุลศักราช ๑๑๔๑ (พ.ศ.๒๓๒๒)  แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ ๒ องค์คือ พระแก้วมรกตและพระบาง  ลงมากรุงธนบุรีด้วย และมีการสมโภชเป็นเวลา ๒ เดือน ๑๒ วัน  จนกระทั่งถึงวันวิสาขปุณณมี วันเพ็ญกลางเดือน ๖ ปีชวด โทศก  จุลศักราช ๑๑๔๒ (พุทธศักราช ๒๓๒๓) โปรดเกล้าฯ  ให้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางขึ้นประดิษฐานไว้ในมณฑป  ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถเก่าและพระวิหารเก่า หน้าพระปรางค์  อยู่ในระยะกึ่งกลางพอดี มีการจัดงานสมโภชใหญ่ ๗ คืน ๗ วันด้วยกัน


4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 15:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑  เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้โปรดให้สร้างพระนครใหม่ข้างฝั่งตะวันออก ของแม่น้ำเจ้าพระยา และรื้อกำแพงพระราชวังกรุงธนบุรีออก  ด้วยเหตุนี้วัดแจ้งจึงไม่ได้อยู่ในเขตพระราชวังอีกต่อไป  พระองค์จึงโปรดให้วัดแจ้งเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอีกครั้งหนึ่ง  โดยนิมนต์ พระโพธิวงศาจารย์ จากวัดบางหญ้าใหญ่  (วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ) มาครองวัด พร้อมทั้ง พระศรีสมโพธิและพระภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่งมาเป็นพระอันดับ
นอกจากนั้นพระองค์ทรงมอบหมายให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (รัชกาลที่ ๒)  เป็นผู้ดำเนินการปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง  แต่การปฏิสังขรณ์คงสำเร็จเพียงกุฏิสงฆ์ ส่วนพระอุโบสถและพระวิหาร ยังไม่ทันแล้วเสร็จ ก็พอดีสิ้นรัชกาลที่ ๑ ในปี พ.ศ.๒๓๕๒ เสียก่อน (เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๗ พระแก้วมรกตได้ย้ายมาประดิษฐาน  ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง  ส่วนพระบางนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ได้โปรดพระราชทานคืนไปยังนครเวียงจันทร์ ประเทศลาว)
ต่อมาในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  รัชกาลที่ ๒ พระองค์ทรงดำเนินการปฏิสังขรณ์ต่อจนเสร็จ  มีการจัดงานสมโภชใหญ่ถึง ๗ วัน ๗ คืน  แล้วโปรดพระราชทานพระนามวัดว่า ‘วัดอรุณราชธาราม’
ส่วนยอดสุดขององค์พระปรางค์ใหญ่ เป็น ‘ยอดนภศูล’ ครอบด้วยมงกุฎปิดทองอีกชั้นหนึ่ง
ในสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓  ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ใหม่หมดทั้งวัด พร้อมทั้งโปรด ให้ลงมือก่อสร้างพระปรางค์ตามแบบที่ทรงคิดขึ้นด้วย  ซึ่งการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์สิ่งต่างๆ ภายในวัดอรุณฯ นี้สำเร็จลงแล้ว  แต่ยังไม่ทันมีงานฉลองก็สิ้นรัชกาลที่ ๓ ในปี พ.ศ.๒๓๙๔
เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔  เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในปี พ.ศ.๒๓๙๔ พระองค์ได้โปรดให้สร้างและปฏิสังขรณ์สิ่งต่างๆ ในวัดอรุณฯ  เพิ่มเติมอีกหลายอย่าง อีกทั้งยังได้อัญเชิญ พระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  มาบรรจุไว้ที่ พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถ  ที่พระองค์ทรงพระราชทานนามว่า ‘พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก’  และเมื่อได้ทรงปฏิสังขรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว  จึงได้พระราชทานนามวัดเสียใหม่ว่า  ‘วัดอรุณราชวราราม’ ดังที่เรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลวัด
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา
เลขที่ ๓๔ ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณ
เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๔๖๖-๓๑๖๗, ๐๒-๔๖๕-๗๗๔๐, ๐๒-๔๖๒-๓๗๖๒
ความสำคัญ :พระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ๑ ใน ๖ ของไทย และวัดประจำรัชกาลที่ ๒
สังกัดคณะสงฆ์ :มหานิกาย
เว็บไซต์วัด :
ข้อมูลภาษาอังกฤษ :
แผนที่วัด :





ที่มาhttp://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/watarun.php
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 15:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร
พระอารามหลวง ชั้นเอก วัดประจำรัชกาลที่ ๓


   วัดราชโอรสาราม หรือ วัดราชโอรส ตั้งอยู่ริมคลองสนามไชย ฝั่งตะวันตก (ฝั่งธนบุรี) และติดคลองบางหว้า ทางด้านทิศเหนือของวัด ตั้งอยู่เลขที่ ๒๕๘ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร

   วัดราชโอรสเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร และถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๓ แห่งบรมราชวงศ์จักรี เป็นวัดโบราณมีมาก่อนสร้างกรุงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ คือ เป็นวัดราษฎร์ที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมเรียกว่า "วัดจอมทอง" บ้าง "วัดเจ้าทอง" บ้าง หรือ "วัดกองทอง" บ้าง
ในสมัยราชกาลที่ ๓ พ.ศ. ๒๓๖๓ มีข่าวว่าพม่าตระเตรียมกำลังจะยกเข้ามาตีประเทศสยาม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓) ทรงเป็นแม่ทัพคุมพลไปขัดตาทัพพม่าทางเจดีย์ ๓ องค์ จังหวัดกาญจนบุรี ได้เสด็จประทับแรมที่หน้าวัดจอมทองนี้ และทรงทำพิธีเบิกโขลนทวาร ตามลักษณะพิชัยสงคราม ทรงอธิษฐานให้ประสบความสำเร็จกลับมาโดยสวัสดิภาพ แต่พม่าไม่ได้ยกทัพมาตามที่เล่าลือกันและเมื่อพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงเลิกทัพเสด็จกลับพระนครแล้ว จึงโปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดจอมทองใหม่ทั้งวัด และถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดราชโอรส"
   ถึงแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสถาปนาวัดนี้ ในขณะที่ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอก็ตาม แต่เนื่องจากทรงสถาปนาเป็นการส่วนพระองค์ จึงทรงพระราชดำริเปลี่ยนแปลงแบบอย่างศิลปกรรมตามความพระราชหฤทัย
   ดังนั้น วัดราชโอรสจึงตกแต่งด้วยศิลปะจีนเป็นส่วนมาก นับเป็นวัดแรกที่เป็นวัดที่คิดสร้างออกนอกแบบอย่างวัด ซึ่งสร้างกันอย่างสามัญ ศิลปกรรมไทยที่มีอยู่ในวัดนี้ พระองค์ทรงสร้างได้อย่างเหมาะสมกลมกลืนงดงามยิ่งนัก อย่างหาที่ติมิได้ เช่น โบสถ์ วิหาร ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แต่หลังคาโบสถ์เป็นกระเบื้องเคลือบแบบไทย กุฏิพระสงฆ์เป็นอาคารตึกแทนเรือนไม้แบบของเดิมการประดับตกแต่งต่างๆ เป็นแบบจีนผสมไทย เช่น บานประตูหน้าต่างพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ประดับด้วยเสี้ยวกางแทนลายเทพนม หรือลายไทยแบบของเดิม หน้าบันพระอุโบสถ และพระวิหารประดับพระเบื้องเคลือบสี จึงนับเป็นครั้งแรกที่มีการประยุกต์ศิลปกรรมได้อย่างประณีต เหมาะสม เป็นสัญลักษณ์แห่งศาสนสถานได้อย่างสง่า และงดงาม
   
สิ่งสำคัญในพระอาราม
๑. พระอุโบสถ มีลักษณะทางสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมผสมระหว่างไทย และจีน หลังคาเป็นแบบจีนแต่มุงกระเบื้องสีแบบไทย ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันประดับกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ สวยงาม แต่งเป็นรูปแจกันดอกเบญจมาศ มีรูปสัตว์มงคลตามคติของจีน คือ มังกร หงส์ และนกยูง ตอนล่างเป็นภาพทิวทัศน์มีบ้านเรือน สัตว์เลี้ยงภูเขา ต้นไม้ ตามขอบหลังคาประดับกระเบื้องสี และถ้วยชามโดยรอบ
ซุ้มประตูหน้าต่างประดับกระเบื้องสี
ซุ้มประตูหน้าต่างประดับปูนปั้นประดิษฐ์เป็นลวดลายดอกเบญจมาศ บานประตูด้านนอกประดับมุกลายมังกรดั้นเมฆ ฝีมือละเอียดประณีต ด้านในเขียนรูปทวารบาลแบบจีน ผนังด้านในพระอุโบสถเขียนเป็นลายเครื่องบูชาแบบจีน บางช่วงมีความหมายในการให้พร ฮก ลก ซิ่ว ตามคติของจีน บนเพดานเขียนดอกเบญจมาศ ทองบนพื้นสีแดง
๒. พระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตักกว้างประมาณ ๑ วา ๒ ศอก หรือประมาณ ๓.๑๐ เมตร สูงประมาณ ๒ วา ๑ ศอก หรือ ประมาณ ๔.๕๐ เมตร พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสรีรังคาร ของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานไว้ที่ฐานพระพุทธรูป พร้อมกับถวายพระปรมาภิไธยประจำรัชกาล และศิลาจารึกดวงชันษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร ( ฉัตร ๙ ชั้น ) พ.ศ. ๒๕๐๔ พระพุทธรูปองค์นี้กล่าวว่า เป็นพระพุทธรูปที่สร้างได้งดงามกว่า พระพุทธรูปองค์อื่นที่สร้างในสมัยเดียวกัน

6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 15:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๓. พระแท่นที่ประทับใต้ต้นพิกุล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อทรงเสด็จมาทรงคุมงานและตรวจการก่อสร้าง ได้ประทับที่พระแท่นใต้ต้นพิกุลใหญ่ที่อยู่ตรงด้านหน้าทางด้านซ้ายของพระอุโบสถ และเล่ากันว่าเคยรับสั่งไว้ว่า "ถ้าฉันตายจะมาอยู่ที่ใต้ต้นพิกุลนี้ " อาจจะเป็นเพราะพระราชดำรัสนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ที่เสด็จมาพระอารามนี้ จะมาทรงถวายสักการะที่พระแท่นนี้เสมอจนกลายเป็นประเพณี และเวลาเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระราชกฐินหรือเจ้านายเสด็จในการทอดกฐินพระราชทาน เจ้าหน้าที่จะตั้งเครื่องมุกไว้ทรงสักการะ ณ ต้นพิกุลนี้ทุกครั้ง
๔. ถะ (สถูปเจดีย์) อยู่ด้านหลังพระอุโบสถ เป็นสถูปแบบจีน มีทรงเหลี่ยมซ้อนกัน ๕ ชั้น สูงประมาณ ๕-๖ วา ยอดเป็นรูปทรงน้ำเต้า ถัดมาเป้นทรงเหลี่ยมซ้อนกันเป็นชั้นๆ ในแต่ละเหลี่ยมเจาะเป็นช่อง เว้นระยะโดยรอบ ถะ หรือ สถูปองค์นี้ ก่อด้วยอิฐถือปูนปิดทึบ ภายนอกเป็นแผ่นหินอ่อนสลักรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และลวดลายปะติดไว้ด้านนอก
๕. พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถในเขตกำแพงแก้วเช่นเดียวกัน แต่พระวิหารมีกำแพงแก้วล้อมรอบโดยเฉพาะอีกชั้นหนึ่ง เป็นพระวิหารขนาดใหญ่ ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ปูนปั้นขนาดยาว ๒๐ เมตร ที่บานประตู และบานหน้าต่างด้านนอกประดับด้วยลายปูนปั้นที่เรียกว่า กระแหนะ เป็นรูปเลี้ยวกางแบบไทย ยืนอยู่บนประแจจีน ประดับด้วยแจกันดอกเบญจมาศและพานผลไม้ เช่น ทับทิม ส้มมือ ลิ้นจี่ มังคุด และน้อยหน่า เป็นต้น เพดานพระวิหารเขียนลายดอกเบญจมาศ นก และผีเสื้อ สีสวยงาม และหน้าบันประดับด้วยกระเบื้องสีเป็นลายดอกเบญจมาศและรูปสัตว์มงคลของจีน เช่นเดียวกับหน้าบันพระอุโบสถ
โดยรอบลานพระวิหารมีสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองประดิษฐานอยู่ ๓๒ องค์ ที่ผนังพระระเบียงพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ มีแผ่นหินอ่อนจารึกตำรายาและตำราหมอนวด ติดเป็นระยะๆ จำนวนทั้งสิ้น ๙๒ แผ่น โดยพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
๖. ศาลาการเปรียญ อยู่ทางด้านขวาของพระอุโบสถ เป็นอาคารที่มีลักษณะผสมทางศิลปกรรม ระหว่างไทยและจีน เช่นเดียวกัน หลังคาเป็นแบบจีน ลด ๒ ชั้น แต่มุงกระเบื้องแบบไทย บนหลังคาประดับรูปถะ ระหว่างมังกรกระเบื้องเคลือบสีอย่างศาลเจ้าจีน ผนังด้านนอกตอนบนเขียนรูปผลไม้ เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคล (ฮก ลก ซิ่ว) เช่น ส้มมือ หมายถึง การมีวาสนาสูง ทับทิม หมายถึง ความมั่นคงอุดมสมบูรณ์ และผลท้อ หมายถึง การมีอายุยืน
พระประธานในศาลาการเปรียญเป็นพระพุทธรูปปั้นปางประทาน พระธรรมเทศนา ถือตาลปัตร


ข้อมูลวัด
วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร
ถนนเอกชัย แขวงบางค้อ เขตจอมทอง
กรุงเทพ 10150
ความสำคัญ :พระอารามหลวง ชั้นเอก วัดประจำรัชกาลที่ ๓
สังกัดคณะสงฆ์ :มหานิกาย
เว็บไซต์วัด :http://www.watratoros.cjb.net/
แผนที่วัด :
ข้อมูลภาษาอังกฤษ :


ที่มา http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/watratchaorasaram.php
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 15:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
  พระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร วัดประจำรัชกาลที่ ๔


    วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร เป็นอารามหลวงชั้นเอกที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นพระอารามหลวงของพระมหากษัตริย์ ตามโบราณราชประเพณีและทรงรับเข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระกษัตริย์ทุกพระองค์สืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ นับได้ว่า วัดราชประดิษฐฯเป็นพระอารามหลวงที่สำคัญยิ่งพระอารามหนึ่งในพระบรมราชจักรีวงศ์
   พระราชประสงค์อีกประการหนึ่งในการสร้างวัดราชประดิษฐ์ฯขึ้น ก็เพื่ออุทิศถวายแด่พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายโดยเฉพาะ เนื่องจากครั้งยังทรงผนวชอยู่ ทรงเป็นหัวหน้านำพระสงฆ์ชำระข้อปฏิบัติ ก่อตั้งคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายขึ้น พระอารามนี้จึงนับเป็นพระอารามแรกของคณะสงฆ์ธรรมยุติ เพราะวัดธรรมยุติก่อนๆนั้น ได้ดัดแปลงมาจากวัดมหานิกายเดิมทั้งนั้น วัดประดิษฐ์ฯ จึงเป็นเสมือนวัดต้นแบบของคณะธรรมยุติกนิกายที่มีอยู่ในพุทธอาณาจักรบนแผ่นดินไทยนับแต่สมัยนั้นเป็นต้นมา
   อาณาเขตวัด
   วัดราชประดิษฐ์ฯ ตั้งอยู่ท่ามกลางใจเมืองของกรุงเทพมหานคร ใกล้กับพระบรมมหานครราชวัง ตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้าน อยู่ในท้องที่กรุงเทพมหานคร เขต ๒ บ้านเลขที่ ๒ (วัดราชประดิษฐ์ฯ) ตำบลพระบรมมหาราชวัง อำเภอพระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยมีอาณาเขตดังต่อไปนี้ .-
ทิศเหนือ : ติดต่อกับถนนสราญรมย์และกรมแผนที่ทหารบก
ทิศใต้ : ติดต่อกับพระราชอุทยานสราญรมย์
ทิศตะวันออก : ติดต่อกับถนนราชินีและคลองหลอด
ทิศตะวันตก : ติดต่อกับทำเนียบองค์มนตรี
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 15:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


ปูชนียวัตถุ-ปูชนียสถาน ของวัดราชประดิษฐ์
   วัดราชประดิษฐ์ ถึงแม้จะเป็นพระอารามหลวงที่มีขนาดเล็ก ซึ่งมีเนื้อที่ตั้งวัดอยู่เพียง ๒ ไร่ ๒ งาน กับ ๙๘ ตารางวาเท่านั้น แต่ภายในบริเวณวัดได้บรรจุเอาความสวยงามวิจิตรตระการตา เป็นสง่าภาคภูมิไม่น้อยไปกว่าพระอารามหลวงอื่นๆ ที่มีบริเวณพระอารามใหญ่กว่าเลย ดังจะเห็นว่า เมื่อก้าวพ้นประตูวัดทางด้านทิศเหนือซึ่งมีบานประตูเป็นไม้สักสลักเป็นรูป “เสี้ยวกาง” กำลังรำง้าวอยู่บนหลังสิงห์โต จะเห็น “พระวิหารหลวง” ตั้งตระหง่านอยู่บนพื้นไพที ทรวดทรงทั่วไปสวยงามมาก มีมุขหน้าและหลัง ทั้งหลังประดับด้วยหินอ่อนตลอด หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีส้มอ่อนๆ มีช่อฟ้าใบระกาประดับเสริมด้วยพระวิหารให้เด่นประดุจตั้งตระหง่านอยู่บนฟากฟ้านภาลัย หน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นรูปมหาพิชัยมงกุฎบนพระแสงขรรค์ ซึ่งมีพานแว่นฟ้ารองรับมหาพิชัยมงกุฎและพระขรรค์นั้น พานแว่นฟ้าประดิษฐานอยู่บนหลังช้าง ๖ เชือก ทั้งสองข้างประดับด้วยฉัตรห้าชั้น พื้นของหน้าบันเป็นลายกนกลงรักปิดทองทั้งหมด ตังหน้าบันเป็นไม้สักแกะสลักเป็นลวดลายดังกล่าวนั้น นับว่าเป็นหน้าบันที่วิจิตรพิสดาร เป็นยอดของสถาปัตยกรรมอันดับหนึ่งของประเทศไทย ซุ้มประตูหน้าต่างประดับรูปลายปูนปั้น ลงรักปิดทองติดกระจกสีเป็นรูปมงกุฎทุกบาน ตัวบานประตูหน้าต่างสลักด้วยไม้สักเป็นลายก้านแย่ง ซ้อนกันสองชั้นลงรักปิดทองติดกระจกสี ทำให้ดูงดงามยิ่งขึ้น
   ด้านหลังพระวิหาร มีซุ้มซึ่งแกะสลักด้วยหินอ่อนทั้งแผ่น ภายในซุ้มเป็นที่ประดิษฐานศิลาจารึก ประกาศในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒ ฉบับ ฉบับแรกเป็นประกาศสร้างวัดถวายพระสงฆ์ธรรมยุกติกนิกาย ลง พ.ศ. ๒๔๐๗ ฉบับหลังเป็นประกาศงานพระราชพิธีผูกพัทธสีมา ลง พ.ศ. ๒๔๐๘ ข้อความในศิลาจารึกทั้ง ๒ ฉบับ นั้นนับว่ามีความสำคัญซึ่งเป็นมหามรดกล้ำค่า ที่เป็นมหาสมบัติของคณะธรรมยุติกายที่ได้รับพระราชตกทอดมาจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔

ข้อมูลวัด
วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
๒ ถ.สราญรมณ์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐
โทร : ๐๒-๖๒๒-๑๐๓๐
ความสำคัญ :พระอารามหลวง ชั้นเอก และวัดประจำรัชกาลที่ ๔
สังกัดคณะสงฆ์ :ธรรมยุต
เว็บไซต์วัด :http://www.rajapradit.com/
ข้อมูลภาษาอังกฤษ :
แผนที่วัด :

ที่มา http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/watratchapradit.php
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 15:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
  พระอารามหลวง ชั้นเอก วัดประจำัรัชกาลที่ ๕


บริเวณวัดนี้เดิมเป็นวังของพระบรมวงศ์เธอกรมหลวง บดินทร ไพศาลโสภณ วัดราชบพิธฯ เริ่มก่อสร้าง เมื่อ พ.ศ. 2412 (สมัยรัชกาลที่ 5) เสร็จในปี พ.ศ. 2413 แล้วนิมนต์พระสงฆ์จากวัดโสมนัสวรวิหารมาจำพรรษาอยู่ พร้อมกับอัญเชิญพระพุทธนิรันตรายมาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ  



[size=15.555556297302246px]
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ร.๕ โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์ โดยสร้างเลียนแบบ ๒ วัดคือ วัดพระปฐมเจดีย์กับวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๔

โดยภายในวัดแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ เขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส และเขตสุสานหลวง

10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-19 15:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้



ตัวพระอุโบสถภายนอกสถาปัตยกรรมแบบไทยแท้ ประกอบด้วยลวดลายกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์รูปเทพประนม(มือ)ภายในเป็นสถาปัตยกรรมโกธิค พระประธานคือ พระพุทธอังคีรส ภายใต้พระประธานมิได้เพียงบรรจุพระสรีรังคารของ ร.๕ เพียงเท่านั้นยังบรรจุพระสรีรังคารของพระมหากษัตริย์พระองค์อื่น ๆ ด้วย



การวางตัวของพระอุโบสถกับพระวิหารเป็นแบบวัดพระปฐมเจดีย์ คือวางแนวทิศตรงกันข้าม โดยด้านข้างจะมีทางเข้าไปในรอบ ๆพระเจดีย์ ข้างในพระเจดีย์มีพระพุทธรูปปางนาคปรกอยู่ด้วย ซึ่งเล่ากันมาว่าขุดพบใต้ต้นตะเคียนริมคลองหลอด ซึ่งเชื่อกันว่าคนที่อยากมีลูกมาขอพรก็จะมีลูกสมใจ ภายในพระเจดีย์ยังมีทางขึ้นไปบนฐานเจดีย์ด้วย ในอดีตสามารถมองเห็นภูเขาทองได้ด้วย
ศิลปกรรมที่สำคัญในวัดได้แก่ บานประตู และหน้าต่างของพระอุโบสถที่มีลายไทยลงรักประดับมุก เป็นรูปดวงตราครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่าง ๆ สวยงามมาก
[size=15.555556297302246px]




[size=15.555556297302246px]   วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม คำว่าสถิตมหาสีมาราม หมายถึงการมีเขตเสมาใหญ่มากล้อมรอบทั้งวัด แทนที่จะมีแค่ เสมารอบ ๆ พระอุโบสถเท่านั้น และที่น่าสนใจอีกอย่างคือกระเบื้องเบ็ญจรงค์ ทั้งพระอุโบสถ วิหารและเจดีย์ ระเบียงแก้ว ล้วนตกแต่งด้วย ลายกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์ทั้งสิ้น และทุกแผ่นเขียนด้วยมือ และออกแบบรูปทรงกระเบื้องขนาดต่างๆ ลงตัวอย่างน่าอัศจรรย์ ไม่ว่าเจดีย์ ระเบียง พระอุโบสถ ซึ่งมีรูปทรงอ่อนช้อย แต่ทุกอย่างลงตัว


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้