|
หลักธรรมเจดีย์
วัดโพธิสมภรณ์ ในระยะนั้นยังมีสภาพเป็นป่าละเมาะอยู่ มีเสนาสนะชั่วคราวพอคุ้มแดดคุ้มฝน บริเวณโดยรอบก็ยังเป็นป่า ไม่ค่อยมีบ้านเรือน เงียบสงบ สงัดวิเวก อาหารบิณฑบาตก็ตามมีตามได้ น้ำใช้ก็ได้จากบ่อบาดาลในวัด ซึ่งพระเณรช่วยกันตักหาบมาใส่ตุ่มใส่โอ่ง พระเณรระยะแรกยังมีน้อย ทั้งอัตคัดกันดารในปัจจยสี่ แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะบริหารกิจการพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ได้ทุ่มเทพัฒนาวัดในทุกๆ ด้าน ส่วนที่เป็นศาสนวัตถุนั้น ท่านได้บูรณะซ่อมแซมและสร้างเสริมเพิ่มเติมให้มั่นคงถาวร อาทิเช่น กุฏิก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น 3 หลัง, กุฏิไม้ชั้นเดียว 17 หลัง, ศาลาการเปรียญไม้ชั้นเดียว 1 หลัง, โรงเรียนพระปริยัติธรรม 1 หลัง และโรงเรียนภาษาไทย 1 หลัง โดยแต่ละหลังสูง 2 ชั้น ผนังก่ออิฐถือปูน พื้นไม้ตะเคียนทอง หลังคามุงกระเบื้องดินเผา สิ้นเงินค่าก่อสร้างหลังละประมาณ 20,000 บาท เป็นต้น
สำหรับอุโบสถได้ก่อสร้างจนแล้วเสร็จ โดยเจ้าพระยามุขมนตรี ศรีสมุหพระนครบาล (อวบ เปาโรหิตย์) เป็นผู้อุปถัมภ์ มีความกว้าง 12.47 เมตร ยาว 27.85 เมตร สูงจากพื้นถึงอกไก่ 22.30 เมตร มีเสาอยู่ภายใน 16 ต้น ไม่มีช่อฟ้าใบระกา ไม่มีมุขหน้ามุขหลัง ผนังก่ออิฐถือปูนหนา 75 เซนติเมตร โครงหลังคาใช้ไม้เนื้อแข็งทั้งหมด มุงด้วยกระเบื้องดินเผา พื้นปูด้วยกระเบื้องดินเผา สิ้นเงินค่าก่อสร้าง 30,000 บาท
ส่วนที่เป็นศาสนทายาทนั้น พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ได้เอาใจใส่ทั้งฝ่ายปริยัติและปฏิบัติ โดยได้จัดบริหารการศึกษาพระปริยัติธรรม ได้แก่ นักธรรมชั้นตรี, โท, เอก และแผนกบาลีไวยากรณ์ตั้งแต่เปรียญธรรม 3 ประโยค ถึงเปรียญธรรม 5 ประโยค ซึ่งมีพระภิกษุสามเณรจากจังหวัดต่างๆ ในมณฑลอุดรธานี มาศึกษาเล่าเรียนอยู่ในวัดโพธิสมภรณ์ และสอบไล่ในสนามหลวงได้เป็นจำนวนมาก นับเป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมยกย่อง สำหรับในฝ่ายวิปัสสนาธุระได้จัดให้มีการอบรมกรรมฐานควบคู่กันไปด้วย เพื่อฝึกหัดขัดเกลาบ่มเพาะนิสัยพระภิกษุสามเณรให้มีความประพฤติเรียบร้อยดีงามตามพระธรรมวินัย
เมื่อวันที่ 6-9 เดือนมีนาคม พ.ศ.2467 ได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาวัดโพธิสมภรณ์ โดยมี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ เจ้าคณะรองคณะธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ เป็นประธานในการผูกพัทธสีมา สำหรับในวันที่ 6 เดือนมีนาคม พ.ศ.2467 นั้น ได้มี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพเมธี เจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานี และ พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูสังฆวุฒิกร เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ พร้อมด้วยคณะพระสงฆ์จำนวน 52 รูป ร่วมในพิธีผูกพัทธสีมาอยู่ด้วย
พ.ศ.2497 เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) ทรงมีพระบัญชาให้ พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จนฺททีโป) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูสิริสารสุธี ไปอยู่วัดโพธิสมภรณ์เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของ พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เนื่องด้วยชราภาพมากแล้ว
ต่อมา พ.ศ.2501-2505 พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ได้ให้ช่างต่อเติมมุขหน้ามุขหลังของอุโบสถอีกด้านละ 6 เมตร จึงมีความยาว 40 เมตรพอดี ตลอดถึงได้เปลี่ยนแปลงหลังคาเป็นสามลดสามชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผา มีช่อฟ้าใบระกา โดยมอบหมายให้ พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จนฺททีโป) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสิริสารสุธี เป็นผู้ควบคุม นับเป็นอุโบสถที่สวยงามในภาคอีสานอีกหลังหนึ่ง
ครั้นเมื่อปี พ.ศ.2505 พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) อาพาธด้วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี และได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2505 ณ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ คณะสงฆ์ และคณะศิษยานุศิษย์ได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้างเมรุถาวร และศาลาบำเพ็ญกุศลศพ 2 หลัง ได้แก่ ศาลาประจงจิตต์ และศาลาสามพระอาจารย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์และเป็นที่พระราชทานเพลิงศพพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ด้วย
|
|