ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่จูม พนฺธุโล วัดโพธิสมภรณ์ (พระอารามหลวง) ~

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-18 12:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

แถวหน้า จากซ้าย : หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล),
หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

แถวหลัง จากซ้าย : หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่อ่อนสี สุเมโธ,
หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน, พระอาจารย์จันทร์ เขมปตฺโต



ศาสนวัตถุสำคัญภายใน “วัดโพธิสมภรณ์” อ.เมือง จ.อุดรธานี


๏ ประวัติวัดโพธิสมภรณ์

สถานที่ตั้งวัด

วัดโพธิสมภรณ์ ตั้งอยู่บนถนนเพาะนิยม เลขที่ 22 ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี อยู่ทางทิศตะวันตกของหนองประจักษ์ มีเนื้อที่ทั้งหมด 40 ไร่
   
ความเป็นมา

วัดโพธิสมภรณ์ เริ่มสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ.2449 ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดย มหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร ได้พิจารณาเห็นว่าในเขตเทศบาลเมืองอุดรธานี มีเพียง “วัดมัชฌิมาวาส” วัดเดียวเท่านั้น สมควรที่จะสร้างวัดขึ้นอีกสักวัดหนึ่ง จึงได้ไปสำรวจดูสถานที่ทางด้านทิศใต้ของ “หนองนาเกลือ” ซึ่งเป็นหนองน้ำกว้างใหญ่อุดมไปด้วยเกลือสินเธาว์ มีปลาและจระเข้ชุกชุม (ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หนองประจักษ์” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้ก่อตั้งเมืองอุดรธานี) เห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะสมควรแก่การสร้างวัดได้เพราะเป็นที่ราบป่าละเมาะเงียบสงบดี ไม่ใกล้ไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนักและอยู่ใกล้แหล่งน้ำ
   
เมื่อตกลงใจเลือกสถานที่ได้แล้ว มหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) ก็ได้ชักชวนและนำพาราษฎรในหมู่บ้านหมากแข้งมาร่วมกันถากถางป่าจนพอควรแก่การปลูกกุฏิ ศาลาโรงธรรม สำหรับใช้เป็นที่บำเพ็ญบุญ และเป็นที่ประกอบพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาประจำปีของหน่วยราชการ ใช้เวลาสร้างอยู่ประมาณ 1 ปี  ในระยะแรกชาวบ้านเรียกว่า “วัดใหม่” เพราะแต่เดิมมีเพียงวัดมัชฌิมาวาสซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “วัดเก่า” ด้วยพบร่องรอยเป็นวัดร้างมาก่อน มีเจดีย์ศิลาแลงเก่าแก่และพระพุทธรูปหินขาวปางนาคปรก และได้กราบอาราธนา พระครูธรรมวินยานุยุต (หนู) เจ้าคณะเมืองอุดรธานี จากวัดมัชฌิมาวาสมาเป็นเจ้าอาวาสวัด
12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-18 12:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ตั้งชื่อ

มหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) ได้นำความขึ้นกราบทูลขอชื่อต่อ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชเจ้าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ ได้ทรงประทานนามว่า “วัดโพธิสมภรณ์” เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แก่ มหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) ผู้สร้างวัดแห่งนี้

ร่วมใจพัฒนา

ประมาณ 3 ปีต่อมา มหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) กับพระครูธรรมวินยานุยุต (หนู) เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ ในขณะนั้น ก็ได้เริ่มสร้างโบสถ์ไม้ขึ้นพอเป็นที่อาศัยทำอุโบสถสังฆกรรม ครั้นต่อมาก็ได้เริ่มสร้างโบสถ์ก่อด้วยอิฐถือปูน โดยใช้ผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นแรงงาน โดยมหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร เป็นช่างผู้ควบคุมการก่อสร้างเอง แต่ยังไม่แล้วเสร็จท่านก็ได้ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อนเมื่อปี พ.ศ.2455
   
สำหรับพระครูธรรมวินยานุยุต (หนู) ท่านมาอยู่ให้เป็นครั้งคราว บางปีก็มาจำพรรษาเพื่อฉลองศรัทธาของมหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตรบ้าง มีพระรูปอื่นมาจำพรรษาแทนบ้าง ต่อมาเมื่อท่านชราภาพมากแล้ว คณะศิษยานุศิษย์และลูกหลานทางเมืองหนองคายเห็นพ้องกันว่า ควรอาราธนาท่านไปอยู่จำพรรษาที่วัดศรีเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย เพื่อสะดวกในการปรนนิบัติและได้มรณภาพ ณ ที่นั้น


พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน)



สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร)
13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-18 12:11 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

รูปหล่อสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ณ วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ


เสาะหาผู้นำ

ในปี พ.ศ.2465  มหาเสวกโทพระยาราชนุกูลวิบูลยภักดี (อวบ เปาโรหิตย์) ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งอุปราชมณฑลภาคอีสาน และเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดรธานีด้วย (ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยามุขมนตรี ศรีสมุหพระนครบาล) ได้มาก่อสร้างวัดโพธิสมภรณ์สืบต่อ โดยขอขยายอาณาเขตของวัดให้กว้างออกไป ตลอดถึงก่อสร้างเสนาสนะเพิ่มเติมอีกหลายหลัง พร้อมกับสร้างอุโบสถต่อจนแล้วเสร็จ และจัดการขอพระราชทานวิสุงคามสีมาให้เป็นหลักฐาน ทั้งเห็นว่าภายในเขตเทศบาลของจังหวัดนี้ยังไม่มีวัดในฝ่ายธรรมยุติกนิกายสักวัด สมควรจะตั้งวัดแห่งนี้ให้เป็นวัดของคณะธรรมยุตโดยแท้
   
เมื่อกิจการพระศาสนาได้เจริญก้าวหน้าขึ้นโดยลำดับเช่นนี้ แต่ว่ายังขาดพระภิกษุผู้เป็นเจ้าอาวาส เจ้าพระยามุขมนตรีฯ จึงได้ปรึกษาหารือกับ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพเมธี เจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานี โดยมีความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรจัดพระเปรียญเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ เพื่อจะได้บริหารกิจการพระศาสนาฝ่ายปริยัติธรรมและฝ่ายวิปัสสนาธุระให้กว้างขว้างยิ่งขึ้น  

ดังนั้น เจ้าพระยามุขมนตรีฯ จึงนำความคิดเห็นกราบเรียนต่อ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ ก่อน แล้วจึงนำความขึ้นกราบทูลพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ขอพระเปรียญ 1 รูปจากวัดเทพศิรินทราวาส ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์สืบไป สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ จึงทรงรับสั่งให้เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสเลือกเฟ้นพระเปรียญ ก็ได้ พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูสังฆวุฒิกร นักธรรมโท ป.ธ.3 ฐานานุกรมของท่าน ซึ่งได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ในสำนักวัดเทพศิรินทราวาสเป็นเวลาถึง 15 ปี ว่าเป็นผู้เหมาะสม ทั้งยังเป็นที่ชอบใจของเจ้าพระยามุขมนตรีฯ อีกด้วย เพราะท่านเคยเป็นผู้อุปถัมภ์บำรุงอยู่ก่อนแล้ว พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) จึงได้ย้ายจากวัดเทพศิรินทราวาสไปเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ ตั้งแต่ปีกุน พ.ศ.2466 “วัดโพธิสมภรณ์” จึงเป็นวัดของคณะธรรมยุตตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงปัจจุบัน
14#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-18 12:12 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลักธรรมเจดีย์

วัดโพธิสมภรณ์ ในระยะนั้นยังมีสภาพเป็นป่าละเมาะอยู่ มีเสนาสนะชั่วคราวพอคุ้มแดดคุ้มฝน บริเวณโดยรอบก็ยังเป็นป่า ไม่ค่อยมีบ้านเรือน เงียบสงบ สงัดวิเวก อาหารบิณฑบาตก็ตามมีตามได้ น้ำใช้ก็ได้จากบ่อบาดาลในวัด ซึ่งพระเณรช่วยกันตักหาบมาใส่ตุ่มใส่โอ่ง พระเณรระยะแรกยังมีน้อย ทั้งอัตคัดกันดารในปัจจยสี่ แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะบริหารกิจการพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ได้ทุ่มเทพัฒนาวัดในทุกๆ ด้าน ส่วนที่เป็นศาสนวัตถุนั้น ท่านได้บูรณะซ่อมแซมและสร้างเสริมเพิ่มเติมให้มั่นคงถาวร  อาทิเช่น กุฏิก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น 3 หลัง, กุฏิไม้ชั้นเดียว 17 หลัง, ศาลาการเปรียญไม้ชั้นเดียว 1 หลัง, โรงเรียนพระปริยัติธรรม 1 หลัง และโรงเรียนภาษาไทย 1 หลัง โดยแต่ละหลังสูง 2 ชั้น ผนังก่ออิฐถือปูน พื้นไม้ตะเคียนทอง หลังคามุงกระเบื้องดินเผา สิ้นเงินค่าก่อสร้างหลังละประมาณ 20,000 บาท เป็นต้น
   
สำหรับอุโบสถได้ก่อสร้างจนแล้วเสร็จ โดยเจ้าพระยามุขมนตรี ศรีสมุหพระนครบาล (อวบ เปาโรหิตย์) เป็นผู้อุปถัมภ์ มีความกว้าง 12.47 เมตร ยาว 27.85 เมตร สูงจากพื้นถึงอกไก่ 22.30 เมตร มีเสาอยู่ภายใน 16 ต้น ไม่มีช่อฟ้าใบระกา ไม่มีมุขหน้ามุขหลัง ผนังก่ออิฐถือปูนหนา 75 เซนติเมตร โครงหลังคาใช้ไม้เนื้อแข็งทั้งหมด มุงด้วยกระเบื้องดินเผา พื้นปูด้วยกระเบื้องดินเผา สิ้นเงินค่าก่อสร้าง 30,000  บาท
   
ส่วนที่เป็นศาสนทายาทนั้น พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ได้เอาใจใส่ทั้งฝ่ายปริยัติและปฏิบัติ โดยได้จัดบริหารการศึกษาพระปริยัติธรรม ได้แก่ นักธรรมชั้นตรี, โท, เอก และแผนกบาลีไวยากรณ์ตั้งแต่เปรียญธรรม 3 ประโยค ถึงเปรียญธรรม 5 ประโยค ซึ่งมีพระภิกษุสามเณรจากจังหวัดต่างๆ ในมณฑลอุดรธานี มาศึกษาเล่าเรียนอยู่ในวัดโพธิสมภรณ์ และสอบไล่ในสนามหลวงได้เป็นจำนวนมาก นับเป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมยกย่อง สำหรับในฝ่ายวิปัสสนาธุระได้จัดให้มีการอบรมกรรมฐานควบคู่กันไปด้วย เพื่อฝึกหัดขัดเกลาบ่มเพาะนิสัยพระภิกษุสามเณรให้มีความประพฤติเรียบร้อยดีงามตามพระธรรมวินัย
   
เมื่อวันที่  6-9  เดือนมีนาคม พ.ศ.2467 ได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาวัดโพธิสมภรณ์ โดยมี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ เจ้าคณะรองคณะธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ เป็นประธานในการผูกพัทธสีมา สำหรับในวันที่ 6 เดือนมีนาคม พ.ศ.2467 นั้น ได้มี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพเมธี เจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานี และ พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูสังฆวุฒิกร เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ พร้อมด้วยคณะพระสงฆ์จำนวน 52 รูป ร่วมในพิธีผูกพัทธสีมาอยู่ด้วย
   
พ.ศ.2497 เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)  ทรงมีพระบัญชาให้ พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จนฺททีโป) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูสิริสารสุธี ไปอยู่วัดโพธิสมภรณ์เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของ พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เนื่องด้วยชราภาพมากแล้ว
   
ต่อมา พ.ศ.2501-2505 พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ได้ให้ช่างต่อเติมมุขหน้ามุขหลังของอุโบสถอีกด้านละ 6 เมตร จึงมีความยาว 40 เมตรพอดี ตลอดถึงได้เปลี่ยนแปลงหลังคาเป็นสามลดสามชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผา มีช่อฟ้าใบระกา โดยมอบหมายให้ พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จนฺททีโป) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสิริสารสุธี เป็นผู้ควบคุม นับเป็นอุโบสถที่สวยงามในภาคอีสานอีกหลังหนึ่ง
   
ครั้นเมื่อปี พ.ศ.2505 พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) อาพาธด้วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี และได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่  11 กรกฎาคม พ.ศ.2505 ณ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ คณะสงฆ์ และคณะศิษยานุศิษย์ได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้างเมรุถาวร และศาลาบำเพ็ญกุศลศพ 2 หลัง ได้แก่ ศาลาประจงจิตต์ และศาลาสามพระอาจารย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์และเป็นที่พระราชทานเพลิงศพพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ด้วย
15#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-18 12:12 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)


พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จนฺททีโป)

16#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-18 12:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
จันทร์ศรีผ่องเพ็ญ

แต่เดิมนั้น พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จนฺททีโป) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสิริสารสุธี ไม่ได้คิดว่าจะได้มาพักจำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์เป็นเวลานาน ด้วยมาตามพระบัญชาของเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ฯ เมื่อกลับไปเข้าเฝ้าเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ฯ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อกราบทูลขอกลับมาอยู่สำนักเดิม ด้วยมีความประสงค์จะศึกษาเล่าเรียนให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไป พระองค์ทรงรับสั่งว่า “ยังหาตัวแทนไม่ได้” ก็เลยต้องอยู่พักจำพรรษาต่อไปจนกระทั่งเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ฯ สิ้นพระชนม์ ก็ยังไม่ละความตั้งใจเดิม อยู่ต่อมาพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ก็มาถึงแก่มรณภาพลงอีก ท่านก็ได้ย้อนระลึกถึงพระคุณที่ได้รับความอุปถัมภ์บำรุงด้วยเมตตาธรรมตลอดมา ทั้งจากเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ฯ และพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ตลอดจนบรรดาพระบูรพาจารย์สายพระป่ากรรมฐานทุกท่านทุกองค์ จึงได้ตั้งใจเสียสละรับเอาภารธุระในกิจการพระศาสนาเพื่อสนองพระเดชพระคุณด้วยความยินดีเต็มความสามารถที่จะทำได้
   
ในเวลาต่อมา วัดโพธิสมภรณ์ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปจากยุคแรกๆ เป็นอันมาก มีความเจริญก้าวหน้าไปอย่างดี ด้วยบรรดาคณะศิษย์ยานุศิษย์และสัทธิวิหาริกของพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) โดยเฉพาะบรรดาครูบาอาจารย์กรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตฺตมหาเถระ ก็มีเป็นจำนวนมาก ต่างเจริญงอกงามเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระศาสนา ในฝ่ายคฤหัสถ์ก็เจริญก้าวหน้า ในทางบ้านเมือง ตลอดถึงประชาชนต่างก็มีความตื่นตัวสนใจในพระศาสนา ก็ได้ช่วยกันทำนุบำรุงวัดโพธิสมภรณ์ให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อมา
   
พ.ศ.2506 เป็นศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ โดยมีนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ มาเรียน ตั้งแต่ชั้น ป.5 จนถึงมัธยมต้น เพื่ออบรมให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนาให้ถูกต้องลึกซึ้งยิ่งขึ้น
   
วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2507 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ “วัดโพธิสมภรณ์” เป็น พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
   
วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2507 แต่งตั้งให้พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จนฺททีโป ป.ธ.4) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชเมธาจารย์ เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์
   
วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2516 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) ทรงประทานพัด ย่าม และใบเกียรติบัตรยกย่องวัดโพธิสมภรณ์ให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น
   
พ.ศ.2517 ได้ตั้งศูนย์ศึกษาบาลีอีสาน (ธรรมยุต) ที่วัดโพธิสมภณ์ โดยความเห็นพ้องต้องกันของพระสังฆาธิการทุกระดับในภาค 8-9-10-11 เป็นต้นมาจนกระทั่งบัดนี้
   
พ.ศ.2544 ได้ตั้งศูนย์พัฒนาคุณธรรมจริยธรรม จังหวัดอุดรธานี
   
วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2538 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)  ทรงประทานพระบรมสารีริกธาตุจำนวน 9 องค์ ให้กับพระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จนฺททีโป) เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์
   
วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2548 พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จนฺททีโป) วางศิลาฤกษ์ พระบรมธาตุธรรมเจดีย์ วัดโพธิสมภรณ์ ไว้เป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์คู่แผ่นดินไทย
   
วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2552 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุให้แด่พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จนฺททีโป) เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระบรมธาตุธรรมเจดีย์ วัดโพธิสมภรณ์
   
วันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2552  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในงานฉลองสมโภชพระบรมธาตุธรรมเจดีย์ เพื่อน้อมสักการบูชาคุณพระรัตนตรัย และประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระบรมธาตุธรรมเจดีย์ วัดโพธิสมภรณ์

ลำดับเจ้าอาวาส

รูปที่ 1 พระครูธรรมวินยานุยุต (หนู) พ.ศ.2450-2465
รูปที่ 2 พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) พ.ศ.2466-2505
รูปที่ 3 พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จนฺททีโป) พ.ศ.2505-ปัจจุบัน


ศาสนวัตถุสำคัญภายใน “วัดโพธิสมภรณ์” อ.เมือง จ.อุดรธานี


.............................................................

♥ รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก ::
(1) หนังสือแก้วมณีอีสาน
http://www.manager.co.th/Dhamma
(2) http://udn.onab.go.th

♥ ขอกราบขอบพระคุณที่มาของรูปภาพทุกแหล่ง                                                                                        
.....................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=19461


ขอบคุณครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้