ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 10907
ตอบกลับ: 46
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง ~

[คัดลอกลิงก์]
ชีวประวัติพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท)



ชาติภูมิ

พระโพธิญาณเถร นามเดิม ชา ช่วงโชติ เกิดเมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๑ ณ บ้านจิกก่อ หมู่ที่ ๙ ต. ธาตุ อ. วารินชำราบ จ. อุบลราชธานี บิดาชื่อ นายมา มารดาชื่อ นางพิม ช่วงโชติมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๑๐ คน

ปฐมศึกษา

สมัยนั้นการศึกษายังไม่เจริญทั่วถึงหลวงพ่อจึงได้เข้าศึกษา ที่ ร.ร. บ้านก่อ ต. ธาตุ อ. วารินชำราบ จ. อุบลราชธานี เรียนจบ ชั้น ป. ๑ จึงได้ออกจากโรงเรียน เนื่องจากหลวงพ่อมีความสนใจ ทางศาสนา ตั้งใจจะบวชเป็นสามเณร จึงได้ขออนุญาตจากบิดามารดา เมื่อท่านเห็นดีด้วยท่านจึงนำไปฝากไว้ที่วัด

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-30 20:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์

ในขณะนั้นหลวงพ่อมีอายุ ๑๓ ปี เมื่อโยมบิดาได้นำไปฝากกับท่านเจ้าอาวาส และได้รับการฝึกหัดอบรมให้รู้ระเบียบการ บรรพชาดีแล้ว จึงอนุญาตให้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๗๔ โดยมีพระครูวิจิตรธรรมภาษี(พวง) อดีตเจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม เป็นพระอุปัชฌาย์

เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ก็ได้ท่องทำวัตรสวดมนต์ เรียนหนังสือพื้นเมือง(ตัวธรรม) และได้ศึกษานักธรรมชั้นตรี อยู่ปฏิบัติครูบาอาจารย์เป็นเวลา ๓ พรรษา เนื่องจากมีความจำเป็นบางอย่างจึงได้ลาสิกขาออกไปทำงานช่วยบิดามารดาตามความสามารถของตน ตั้งอยู่ในโอวาทของบิดามารดามีความเคารพบูชาในพระคุณของท่าน พยายามประพฤติตนเป็นลูกที่ดีของท่านเสมอมา

ครั้นอยู่ต่อมาอีกหลายปี ไม่ว่าจะทำงานอะไรอยู่ที่ไหนความสนใจในการอุปสมบทเพื่อศึกษาธรรม ดูเหมือนคอยเตือนให้มีความสำนึกอยู่เสมอ คิดอยากจะบวชเป็นพระ ได้ปรึกษากับบิดามารดา เมื่อตกลงกันดีแล้ว บิดาจึงนำไปฝากที่วัดบ้านก่อใน(ปัจจุบันเป็นที่ธรณีสงฆ์เพราะร้างมานาน แล้ว)และได้อุปสมบทที่พัทธสีมาวัดก่อในต.ธาตุอ.วารินชำราบจ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๒ เวลา ๑๓.๕๕ น. โดยมี

ท่านพระครูอินทรสารคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์

ท่านพระครูวิรุฬสุตการ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พระอธิการสวน เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เมื่ออุปสมบทแล้ว พรรษาที่ ๑-๒ จำพรรษาอยู่ที่วัดก่อนอก ได้ศึกษาปริยัติธรรม และสอบนักธรรมชั้นตรีได้
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-30 20:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ออกศึกษาต่างถิ่น

เมื่อสอบนักธรรมตรีได้แล้วเนื่องจากครูบาอาจารย์หายาก ที่มีอยู่ก็ไม่ค่อยชำนาญในการสอน จึงตั้งใจจะไปแสวงหาความรู้ต่างถิ่น เพราะยังจำภาษิตโบราณสอนไว้ว่า

ออกจากบ้าน ฮู้ห่มทางเที่ยว เรียนวิชา ห่อนสิมีความฮู้

ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ จึงได้ย้ายจากวัดก่อนอกไปศึกษาปริยัติธรรมที่วัดสวนสวรรค์ อ. พิบูลมังสาหาร จ. อุบลราชธานี และอยู่ที่นี่ ๑ พรรษา และได้พิจารณาเห็นว่า เรามาอยู่ที่นี่เพื่อศึกษาก็ดี พอสมควรแต่ยังไม่เป็นที่พอใจนัก ได้ทราบข่าวว่า ทางสำนัก ต่างอำเภอมีการสอนดีอยู่หลายแห่งซึ่งมีมากทั้งคุณภาพและ ปริมาณ จึงชวนเพื่อนลาท่านเจ้าอาวาสแจ้งความประสงค์ให้ท่าน ทราบ

ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เดินทางจาก อ. พิบูลมังสาหาร มุ่งสู่สำนักเรียนวัดหนองหลัก ต. เหล่าบก อ.ม่วงสามสิบ จ. อุบลราชธานี ได้พักอาศัยอยู่กับท่านพระครูอรรคธรรมวิจารณ์ ได้ถามจากเพื่อนบรรพชิตก็ทราบว่า ท่านสอนดีมีครูสอนหลายรูปมีพระภิกษุ สามเณรมากรูปด้วยกันสระยะที่ไปอยู่เป็นฤดูแล้ง อาหารการฉัน รู้สึกจะอด เพื่อนที่ไปด้วยกันไม่ชอบจึงพูดรบเร้า อยากจะพาไปอยู่สำนักอื่น หลวงพ่อพูดว่า ทั้งๆที่เราก็ชอบอัธยาศัยของครูอาจารย์ที่วัดหนองหลักแต่ไม่อยากจะขัดใจเพื่อน จึงตกลงกันว่า ถ้าไปอยู่แล้วเกิดไม่พอใจหรือไม่ถูกใจแล้วจะกลับมาอยู่ที่หนองหลักอีก จึงได้เดินทางไปอยู่กับท่านมหาแจ้ง วัดเค็งใหญ่ ต. เค็งใหญ่ อ. อำนาจเจริญ จ. อุบลราชธานี ได้อยู่จำพรรษาศึกษานักธรรมชั้นโทและบาลีไวยากรณ์ แต่ตามความรู้สึกเท่าที่สังเกตเห็นว่าท่านมิได้ทำการสอนเต็มที่ ดูเหมือนจะถอยหลังไปด้วยซ้ำ ตั้งใจไว้ว่าเมื่อสอบนักธรรมเสร็จ ได้เวลาสมควรก็จะลาท่านมหาแจ้งกลับไปอยู่ที่วัดหนองหลักเมื่อสอบแล้ว และผลการสอบตอนปลายปีปรากฏว่าสอบนักธรรมชั้นโทได้

ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ จึงย้ายจากวัดเค็งใหญ่ มาอยู่กับหลวงพ่อ พระครูอรรคธรรมวิจารณ์วัดหนองหลัก ต. เหล่าบก อ.ม่วงสามสิบ จ. อุบลราชธานี ตั้งใจศึกษาทั้งนักธรรมชั้นเอกและเรียนบาลีไวยากรณ์ซ้ำอีกทั้งพอใจในการสอนการเรียนในสำนักนี้มาก
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-30 20:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
งดสอบเพื่อผู้บังเกิดเกล้า

ทั้งๆที่ปีนี้ (๒๔๘๖) เป็นปีที่หลวงพ่อเองเกิดความภูมิใจ สนใจในการศึกษา มุ่งหน้าบากบั่นขยันเรียนอย่างเต็มที่ และได้ตั้งความหวังไว้ว่า เมื่อผลการสอบตอนปลายปีออกมาจะพาให้ได้รับความดีใจ

หลังจากออกพรรษา ปวารณาและกาลกฐินผ่านไป...ก็ได้รับข่าวจากทางบ้านว่าโยมบิดาป่วยหนัก หลวงพ่อก็เกิดความ ลังเลใจ พะว้าพะวง ห่วงการศึกษาก็ห่วง ห่วงโยมบิดาก็ห่วง แต่ความห่วงผู้บังเกิดเกล้ามีน้ำหนักมากกว่าเพราะมาคิดได้ว่า โยมบิดาเป็นผู้มีพระคุณอย่างเหลือล้น เรามีชีวิตและเป็นอยู่ มาได้ก็เพราะท่าน สมควรที่เราจะแสดงความกตัญญูให้ปรากฏ เสียการศึกษายังมีเวลาเรียกกลับมาได้ แต่สิ้นบุญพ่อเราจะขอได้จากที่ไหน...ความกตัญญูมีพลังมารั้งจิตใจให้คิดกลับไปเยี่ยม โยมพ่อเพื่อพยาบาลรักษาท่าน...ทั้งๆที่วันสอบนักธรรมก็ใกล้ เข้ามาทุกที แต่ยอมเสียสละถ้าหากโยมพ่อยังไม่หายป่วย และ นึกถึงคำสอนของพระพุทธองค์ที่ทรงตรัสไว้ว่า ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี

ด้วยความสำนึกดังกล่าว จึงได้เดินทางกลับบ้าน เมื่อถึงแล้วก็ได้เข้าเยี่ยมดูอาการป่วย ทั้งๆที่ได้ช่วยกันพยาบาลรักษาจนสุดความสามารถ อาการของโยมพ่อก็มีแต่ทรงกับทรุด คิดๆดูก็เหมือนตอไม้ที่ตายแล้ว แม้ใครจะให้น้ำให้ปุ๋ยถูกต้องตามหลัก วิชาการเกษตรสักเพียงใด ก็ไม่สามารถทำให้มันแตกหน่อเจริญ งอกงามขึ้นมาได้

คำสั่งของพ่อ

ตามปกตินั้นนับตั้งแต่หลวงพ่อได้อุปสมบทมา เมื่อมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมโยมบิดามารดา หลังจากได้พูดคุยเรื่องอื่นมาพอสมควรแล้ว โยมพ่อมักจะวกเข้าหาเรื่องความเป็นอยู่ในเพศสมณะ ท่านมักจะปรารภด้วยความเป็นห่วงแกมขอร้องว่า อย่าลาสิกขานะ อยู่เป็นพระไปอย่างนี้แหละดี สึกออกมามันยุ่งยาก ลำบาก หาความสบายไม่ได้ ท่านได้ยินแล้วก็นิ่งมิได้ตอบ แต่ครั้งนี้ ซึ่งโยมพ่อกำลังป่วย ท่านก็ได้พูดเช่นนั้นอีกพร้อมกับมองหน้าคล้ายจะรอฟังคำตอบอยู่ ท่านจึงบอกโยมพ่อไปว่า ไม่สึกไม่เสิกหรอกจะสึกไปทำไมกัน รู้สึกว่าเป็นคำตอบที่ทำให้โยมพ่อพอใจ หลวงพ่อมาอยู่เฝ้าดูแลอาการป่วยของโยมพ่อนับเป็นเวลา ๑๓ วัน โยมพ่อจึงได้ถึงแก่กรรม
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-30 20:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ในระยะที่ได้เฝ้าดูอาการป่วยของโยมพ่ออยู่นั้น เมื่อโยมพ่อได้ทราบว่าอีก ๔-๕ วันจะถึงวันสอบนักธรรม ท่านจึงบอกว่าถึงเวลาสอบแล้วจะไปสอบก็ไปเสีย จะเสียการเรียน...แต่หลวงพ่อได้พิจารณาดูอาการป่วยของท่านแล้วตั้งใจว่าจะไม่ไป จะอยู่ให้ โยมพ่ออุ่นใจก่อนที่ท่านจะจากไป...อีกอย่างหนึ่งจะทำให้คนเขาตำหนิได้ว่า เป็นคนเห็นแก่ตัว ผู้บังเกิดเกล้ากำลังป่วยหนักยังทอดทิ้งไปได้ เลยจะกลายเป็นลูกอกตัญญูเท่านั้น

หลวงพ่อเล่าว่า ในระหว่างเฝ้าดูอาการป่วยของโยมพ่อ จนกระทั่งท่านถึงแก่กรรม ทำให้ได้พิจารณาถึงธาตุกรรมฐาน พิจารณาดูอาการที่เกิดดับของสังขารทั้งมวล และเกิดความสังเวชใจว่าอันชีวิตย่อมสิ้นลงแค่นี้หรือ? จะยากดีมีจนก็พากันดิ้นรนไปหาความตาย อันเป็นจุดหมายปลายทาง อันความแก่ ความเจ็บ ความตายนั้น เป็นสมบัติสากลที่ทุกคนจะต้องได้รับ จะยอมรับหรือไม่ก็ไม่เห็นใครหนีพ้นสักราย...

ปี พ.ศ.๒๔๘๗ เมื่อจัดการกับการฌาปนกิจโยมบิดาเรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อก็เดินทางกลับสำนักวัดหนองหลัก เพื่อตั้งใจศึกษาเล่าเรียนต่อไป แต่บางวันบางโอกาส ทำให้ท่านนึกถึงภาพของโยมพ่อที่นอนป่วย ร่างซูบผอมอ่อนเพลีย นึกถึงคำสั่งของโยมพ่อ และนึกถึงภาพที่ท่านมรณะไปต่อหน้า ยิ่งทำให้เกิดความลดใจสังเวชใจ ความรู้สึกเหล่านี้มันปรากฏเป็นระยะๆ

ในระหว่างพรรษานี้ ขณะที่กำลังแปลหนังสือธรรมบทจบไปหลายเล่ม ได้ทราบพุทธประวัติสาวกประวัติจากหนังสือเล่มนั้นแล้วมาพิจารณาดู การที่เราเรียนอยู่นี้ครูก็พาแปลแต่สิ่งที่เรารู้ เราเห็นมาแล้ว เช่น เรื่องต้นไม้ ภูเขา ผู้หญิง ผู้ชาย และสัตว์ต่างๆ สัตว์มีปีกบ้าง ไม่มีปีกบ้าง สัตว์ มีเท้าบ้าง ซึ่งล้วนแต่เรา ได้พบเห็นมาแล้วเป็นส่วนมาก จิตใจก็รู้สึกเกิดความเบื่อหน่าย จึงคิดว่ามิใช่ทางพ้นทุกข์ พระพุทธองค์คงจะไม่มีพุทธประสงค์ให้บวชมาเพื่อเรียนอย่างเดียว และเราก็ได้เรียนมาบ้างแล้ว จึงอยากจะศึกษาทางปฏิบัติดูบ้าง เพื่อจะได้ทราบว่ามีความแตกต่างกันเพียงใด แต่ยังมองไม่เห็นครูบาอาจารย์ผู้พอจะเป็นที่พึ่งได้ จึงตัดสินใจจะกลับบ้าน

พ.ศ.๒๔๘๘ ในระหว่างฤดูแล้ง จึงได้ปรึกษากับ พระถวัลย์(สา) ญาณจารี เข้ากราบลาหลวงพ่อพระครูอรรคธรรมวิจารณ์ เดินทางกลับมาพักอยู่วัดก่อนอกตามเดิม และในพรรษานั้นก็ได้เป็นครูช่วยสอนนักธรรมให้ท่านอาจารย์ที่วัด จึงได้เห็นภิกษุสามเณรที่เรียนโดยไม่ค่อยเคารพในการเรียน ไม่เอาใจใส่ เรียนพอเป็นพิธี บางรูปนอนน้ำลายไหล จึงทำให้เกิดความสังเวชใจมากขึ้นตั้งใจว่าออกพรรษาแล้วเราจะต้องแสวงหาครูบาอาจารย์ ด้านวิปัสนาให้ได้ เมื่อส่งนักเรียนเข้าสอบและหลวงพ่อก็เข้าสอบนักธรรมเอกด้วย (ผลการสอบปรากฏว่าสอบนักธรรมเอกได้)
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-30 20:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ออกปฏิบัติธรรม

หลังจากสอบนักธรรมเสร็จแล้วสระยะนั้นได้ทราบข่าวว่าท่านอาจารย์มั่น วัดปิหล่อ อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี เป็นผู้สอนทางวิปัสนาธุระ จึงได้มุ่งหน้าได้สู่วัดของท่านทันที และได้ฝากตัวเป็นศิษย์อยู่ปฏิบัติทดลองดูได้ ๑๐ วันมีความรู้สึกว่ายังไม่ใช่ทางตรงแท้ ยังไม่เป็นที่พอใจในวิธีนั้น จึงกราบลาท่านกลับมาพักอยู่วัดนอกอีก

พ.ศ.๒๔๘๙ (พรรษาที่๘) ในระหว่างต้นปี ได้ชวน พระถวัลย์ออกเดินธุดงค์มุ่งไปสู่จังหวัดสระบุรีเป็นเพื่อนร่วมเดินทาง ได้พักอยู่ตามป่าตามเขาไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไปถึงเขตหมู่บ้านยางคู่ ต.ยางคู่จ.สระบุรีได้พักอยู่ที่นั่นนานพอสมควรพิจารณาเห็นว่าสถานที่ยังไม่เหมาะสมเท่าใดนัก ทั้งครูบาอาจารย์ก็ยังไม่ดี จึงเดินทางเข้าสู่เขตจังหวัดลพบุรีมุ่งสู่เขาวงกฏ อันเป็นสำนักของหลวงพ่อเภา แต่ก็น่าเสียดายที่หลวงพ่อเภาท่านมรณภาพเสียแล้ว เหลือแต่อาจารย์วรรณ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อเภาอยู่ดูแล สั่งสอนแทนท่านเท่านั้น แต่ก็ยังดีที่ได้อาศัยศึกษาระเบียบข้อปฏิบัติที่หลวงพ่อเภาท่านวางไว้ และได้อ่านคติพจน์ที่หลวงพ่อเขียนไว้ตามปากถ้ำและตามที่อยู่อาศัยเพื่อเตือนใจ ทั้งได้มีโอกาส ศึกษาพระวินัยจนเป็นที่เข้าใจยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้มีการสังวรระวัง ไม่กล้าฝ่าฝืนแม้แต่สิกขาบทเล็กๆน้อยๆ การศึกษาวินัยนั้นศึกษาจากหนังสือบ้าง และได้รับคำแนะนำจากพระอาจารย์ผู้ชำนาญทั้งปริยัติและปฏิบัติบ้าง ซึ่งท่านมาจากประเทศกัมพูชา ท่านว่าเข้ามาสอบทานพระไตรปิฎกไทย ท่านเล่าให้ฟังว่า ที่แปลไว้ในหนังสือนวโกวาทนั้น บางตอนยังผิดพลาด ท่านอาจารย์รูปนั้นเก่งทางวินัยมาก จำหนังสือบุพสิกขาได้แม่นยำเหมือนกับเราจำปฏิสังขาโยฯ ท่านบอกว่าเมื่อเสร็จภารกิจในประเทศไทยแล้วท่านจะเดินทางไปประเทศพม่า เพื่อศึกษาต่อไป ท่านเป็นพระธุดงค์ชอบอยู่ตามป่า น่าสรรเสริญน้ำใจท่านอยู่อย่างหนึ่งคือ

วันหนึ่งหลวงพ่อ ได้ศึกษาวินัยกับท่านอาจารย์รูปนั้นหลายข้อมีอยู่ข้อหนึ่งซึ่งท่านบอกคลาดเคลื่อนไป ตามปกติหลวงพ่อ เมื่อได้ศึกษาวินัยและทำกิจวัตรแล้ว ครั้นถึงกลางคืนท่านจะขึ้นไปพักเดินจงกรม นั่งสมาธิอยู่บนหลังเขา วันนั้นประมาณ ๔ ทุ่มกว่าๆ ขณะที่กำลังเดินจงกรมอยู่ได้ยินเสียงกิ่งไม้ใบไม้แห้งดังกรอบแกรบ ใกล้เข้ามาทุกทีท่านเข้าใจว่าคงจะเป็นงูหรือสัตว์ อย่างอื่นออกหากิน แต่พอเสียงนั้นดังใกล้ๆเข้ามา ท่านจึงมองเห็นอาจารย์เขมรรูปนั้น หลวงพ่อจึงถามว่า ท่านอาจารย์มีธุระอะไรจึงได้มาดึกๆดื่นๆ ท่านจึงตอบว่า ผมบอกวินัยท่านผิดข้อหนึ่ง หลวงพ่อ จึงเรียนว่า ไม่ควรลำบากถึงเพียงนี้เลย ไฟส่องทางก็ไม่มี เอาไว้พรุ่งนี้จึงบอกผมใหม่ก็ได้ ท่านตอบว่า ไม่ได้ๆ เมื่อผมบอกผิด ถ้าผมตายในคืนนี้ท่านจำไปสอนคนอื่นผิดๆอีกก็จะเป็นบาปเป็นกรรมเปล่าๆ เมื่อท่านบอกเรียบร้อยแล้วก็กลับลงไป ดูเถิดน้ำใจของท่านอาจารย์รูปนั้นช่างประเสริฐและมองเห็นประโยชน์จริงๆ แม้จะมีความผิดพลาดเล็กน้อยในการบอกสอนก็มิได้ประมาท ไม่รอให้ข้ามวันข้ามคืน รีบแก้ไขทันทีทันใด จึงเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เราทั้งหลาย และน่าสรรเสริญน้ำใจของท่านโดยแท้
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-30 20:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พูดถึงการปฏิบัติที่เขาวงกฏในขณะนั้นรู้สึกว่ายังไม่แยบคาย เท่าใดนัก หลวงพ่อจึงคิดจะหาอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญยิ่งกว่านี้เพื่อปฏิบัติและค้นคว้าต่อไป ท่านจึงนึกถึงตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณรอยู่ที่วัดก่อนอกเคยได้เห็นพระกรรมฐานมีลูกปัดแขวนคอสำหรับ ใช้ภาวนากันลืมท่านอยากจะได้มาภาวนาทดลองดูบ้างนึกหาอะไรไม่ได้จึงมองไปเห็นลูกตะแบก(ลูกเปือยภูเขา) กลมๆ อยู่ บนต้นครั้นจะไปเด็ดเอามาเองก็กลัวจะเป็นอาบัติวันหนึ่งมีพวกลิงพากันมาหักกิ่งไม้และรูดลูกตะแบกเหล่านั้นมาคิดว่า เขาร้อยเป็นพวงคล้องคอ แต่เราไม่มีอะไรจะร้อยจึงถือเอาว่าเวลา ภาวนาจบบทหนึ่งจึงค่อยๆ ปล่อยลูกตะแบกลงกระป๋องทีละลูกจนครบร้อยแปดลูก ทำอยู่อย่างนั้นสามคืนจึงเกิดความรู้สึกว่า ทำอย่างนี้ไม่ใช่ทางเพราะไม่ต่างอะไรกับเจ๊กนับลูกหมากขาย ในตลาด จึงได้หยุดนับลูกตะแบกเสีย

เหตุการณ์แปลกๆ ในพรรษาที่ ๘ นี้ ขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดเขาวงกฏ วันหนึ่งขณะที่ขึ้นไปอยู่บนหลังเขา หลังจากเดินจงกรมและนั่งสมาธิแล้ว ก็จะพักผ่อนตามปกติ ก่อนจำวัตรจะต้องสวดมนต์ไหว้พระ แต่วันนั้นเชื่อความบริสุทธิ์ของตนเอง จึงไม่ได้สวดอะไร ขณะที่กำลังเคลิ้มจะหลับ ปรากฏว่าเหมือน มีอะไรมารัดลำคอแน่นเข้าๆแทบหายใจไม่ออก ได้แต่นึกภาวนาพุทโธๆเรื่อยไป เป็นอยู่นานพอสมควรอาการรัดคอนั้นจึงค่อยๆ คลายออก พอลืมตาได้แต่ตัวยังกระดิกไม่ได้ จึงภาวนาต่อไป จนพอกระดิกตัวได้แต่ยังลุกไม่ได้ เอามือลูบตามลำตัวนึกว่ามิใช่ตัวของเรา ภาวนาจนลุกนั่งได้แล้ว พอนั่งได้จึงเกิดความรู้สึกว่า เรื่องการถือมงคลตื่นข่าวแบบสีลัพพตปรามา ไม่ใช่ ทางที่ถูกที่ควรการปฏิบัติธรรมต้องเริ่มต้นจากมีศีล บริสุทธิ์เป็นเหตุให้พิจารณาลงสู่ว่า...สัตว์ ทั้งหลายมีกรรม เป็นของๆ ตนแน่ชัดลงไปโดยมิต้องสงสัยนับตั้งแต่นั้นมา หลวงพ่อชามีความระวังสำรวมด้วยดี มิให้มีความบกพร่องเกิดขึ้น แม้กระทั่งสิ่งของที่ได้มาโดยไม่บริสุทธิ์ตามวินัย และปัจจัย(เงินทอง) ท่านก็ละหมด และปฏิญาณว่าจะไม่ยอมรับตั้งแต่วันนั้นมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้

ในระหว่างพรรษานั้นได้รับข่าวว่า ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นผู้มีคุณธรรมสูง ทั้งชำนาญด้านวิปัสนาธุระมีประชาชนเคารพเลื่อมใมาก ท่านมีสำนักอยู่ที่วัดป่าหนองผือนาใน อ.พรรณานิคม จ.กลนครโดยมีโยมอินทร์มรรคทายก เขาวงกฏเล่าให้ฟังและแนะนำให้ไปหา เพราะโยมอินทร์เคยปฏิบัติรับใช้ท่านอาจารย์มั่นมาแล้ว
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-30 20:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พ.ศ.๒๔๙๐ เป็นพรรษาที่ ๙ จำพรรษาอยู่ที่วัดเขาวงกฏ เมื่อออกพรรษาแล้วจึงมาพิจารณาดูว่า เราเอาลูกเขามาตกระกำลำบาก ข้ามภู ข้ามเขามา พ่อแม่เขาจะว่าเราได้ (หมายถึง พระมหาถวัลย์ ญาณจารี ตั้งแต่ครั้งยังเป็นพระสามัญ) และเห็นเขาสนใจท่องหนังสือ ควรจะส่งเขาเข้าเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ จึงได้ตกลงแยกทางกัน ให้พระถวัลย์เข้าไปเรียนปริยัติธรรมในกรุงเทพฯ ส่วนหลวงพ่อชาจะเดินทางไปหาท่านพระอาจารย์มั่น และมีพระมาด้วยกัน ๔ รูป เป็นพระชาวภาคกลาง ๒ รูป พากันเดินทางย้อนกลับมาที่จังหวัดอุบลฯ พักอยู่ที่วัดก่อนอกชั่วคราว จึงพากันเดินธุดงค์กรำแดดไปเรื่อยๆ จุดหมายปลายทางคือ สำนักท่านพระอาจารย์มั่น ออกเดินทางไปได้พอถึงคืนที่ ๑๐ จึงถึงพระธาตุพนม นมัสการพระธาตุพนมและพักอยู่ที่นั่นหนึ่งคืน แล้วออกเดินทางไปอำเภอนาแกไปแวะนมัสการท่านอาจารย์สอนที่ ภูค้อ เพื่อศึกษาข้อปฏิบัติ แต่เมื่อสังเกตพิจารณาดูแล้วยังไม่เป็นที่พอใจนักได้พักอยู่ที่ภูค้อสองคืนจึงเดินทางต่อไปแยกกันเดินทาง เป็น ๒ พวกตรงนั้น หลวงพ่อชามีความตั้งใจว่า ก่อนจะไปถึง ท่านพระอาจารย์มั่นควรจะแวะสนทนาธรรมและศึกษาข้อปฏิบัติจาก พระอาจารย์ต่างๆไปก่อนเพื่อจะได้เปรียบเทียบเทียบเคียงกันดู

ดังนั้นเมื่อได้ทราบว่ามีพระอาจารย์ด้านวิปัสนาอยู่ทางทิศใดจึงไปนมัสการอยู่เสมอ การกลับจากภูค้อนี้คณะที่ไปด้วยกันได้รับความลำบากเหน็ดเหนื่อยมาก จึงมีสามเณร ๑ รูป กับอุบาสก ๒ คน เห็นว่าตนเองคงจะไปไม่ไหวจึงลากลับบ้านก่อน ยังมีเหลือแต่หลวงพ่อกับพระอีก ๒ รูป เดินทางต่อไปโดยไม่ยอมเลิกล้มความตั้งใจเดิมแม้จะลำบากสักปานใดก็ต้องอดทนหลายวันต่อมา จึงเดินทางถึงสำนักของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต สำนัก หนองผือนาในอ.พรรณานิคมจ.กลนคร วันแรกพอ ย่างเข้าสู่สำนักสมองดูลานวัดสะอาดสะอ้าน เห็นกิริยามารยาทของเพื่อนบรรพชิต ก็เป็นที่น่าเลื่อมใสและเกิดความพอใจมากกว่า ที่ใดๆที่เคยผ่านมา พอถึงตอนเย็นจึงได้เข้าไปกราบนมัสการพร้อมศิษย์ของท่านและฟังธรรมร่วมกัน ท่านพระอาจารย์ได้ ซักถามเรื่องราวต่างๆ เช่น เกี่ยวกับอายุ พรรษา และสำนักที่เคยปฏิบัติมาแล้ว หลวงพ่อชาได้กราบเรียนว่ามาจากสำนักอาจารย์เภา วัดเขาวงกฏ จ. ลพบุรี พร้อมกับเอาจดหมายที่โยมอินทร์ฝากมาถวาย ท่านพระอาจารย์มั่นได้พูดว่า ดี...ท่านอาจารย์เภาก็เป็นพระแท้องค์หนึ่งในประเทศไทย ต่อจากนั้น ท่านก็เทศน์ให้ฟังโดยปรารภ ถึงเรื่องนิกายว่า ไม่ต้องสงสัยในนิกายทั้งสอง ซึ่งเป็นเรื่องที่หลวงพ่อสงสัยมาก่อนนั้นแล้ว ต่อไปท่านก็เทศน์ เรื่องสีลนิเทส สมาธินิเทส ปัญญานิเทส ให้ฟังจนเป็นที่พอใจและหายสงสัย และท่านได้อธิบายเรื่อง พละ ๕อิทธิบาท ๔ ให้ฟัง ซึ่งขณะนั้น ศิษย์ทุกคนฟังด้วยความสนใจมีอาการอันสงบเสงี่ยม ทั้งๆที่หลวงพ่อและเพื่อนเดินทางมาด้วยความเหน็ดเหนื่อยตลอดวัน พอได้มาฟังเทศน์ท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว รู้สึกว่าความเมื่อยล้าได้หายไป จิตใจลงสู่สมาธิธรรมด้วยความสงบมีความรู้สึกว่าตัวลอยอยู่บนอานะ นั่งฟังอยู่จนกระทั่งเที่ยงจึงเลิกประชุม
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-30 20:24 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ในคืนที่ ๒ ได้เข้านมัสการฟังเทศน์อีก ท่านพระอาจารย์มั่นได้แสดงปกิณกะธรรมต่างๆ จนจิตเราหายความสงสัยมีความรู้สึกซึ่งเป็นการยากที่จะบอกคนอื่นให้เข้าใจได้

ในวันที่ ๓ เนื่องจากความจำเป็นบางอย่าง จึงได้กราบลาท่านพระอาจารย์มั่นเดินทางลงมาทางอำเภอนาแก และได้แยกทาง กับพระบุญมี(พระมหาบุญมี) คงเหลือแต่พระเลื่อมพอได้เป็นเพื่อนเดินทาง ไม่ว่าหลวงพ่อจะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิอยู่ ณ ที่ใดๆก็ตาม ปรากฏว่าท่านพระอาจารย์มั่นคอยติดตามตักเตือนอยู่ตลอดเวลา พอเดินทางมาถึงวัดโปร่งครองซึ่งเป็นสำนักของพระอาจารย์คำดี เห็นพระท่านไปอยู่ป่าช้าเกิดความสนใจมาก เพราะมาคิดว่าเมื่อเป็นนักปฏิบัติจะต้องแสวงหาความสงบ เช่น ป่าช้า ซึ่งเราไม่เคยอยู่มาก่อนเลย ถ้าไม่อยู่คงไม่รู้ว่ามีความ เหมาะสมเพียงใดเมื่อคนอื่นเขาอยู่ได้เราก็ต้องอยู่ได้จึงตัดสินใจ จะไปอยู่ป่าช้า และชวนเอาพ่อขาวแก้วไปเป็นเพื่อนด้วย

ปรากฏการณ์แปลกครั้งที่ ๒ ชีวิตครั้งแรกที่เข้าอยู่ป่าช้าดูเหมือนเป็นเหตุบังเอิญในวันนั้นมีเด็กตายในหมู่บ้านเขา จึงเอาฝังไว้โยมเลยเอาไม้ไผ่ที่หามเด็กมานั้นสับเป็นฟากยกร้าน เล็กๆ พอนั่งได้ใกล้ๆกับหลุมฝังศพ หลวงพ่อชาเล่าว่า ทั้งๆที่ตัวเองก็รู้สึกกลัวเหมือนกัน แต่ไล่ให้พ่อขาวแก้วไปปักกลดห่างกันประมาณ ๑ เส้น เพราะถ้าอยู่ใกล้กันมันจะถือเอาเป็นที่พึ่ง คืนแรก ขณะที่เดินจงกรมเกิดความกลัว เกิดความคิดว่า หยุดเถอะพอแล้ว เข้าไปในกลดเถอะ ทั้งๆที่ยังไม่ดึกเท่าใด แต่ก็เกิดความคิด ขึ้นใหม่ว่า ไม่หยุด เดินต่อไป เรามาแสวงหาของจริง ไม่ได้ มาเล่น ...ความคิดชวนหยุดเข้ากลดเพราะกลัว กับความคิด หักห้ามว่าไม่หยุด เดินต่อไป ยังไม่ดึกมันเกิดแย้งกันอยู่เรื่อยๆ ต้องฝืนความรู้สึก อดทน อดกลั้นข่มใจไว้อย่างนั้น...และในคืนแรกนี้ขณะเดินจงกรมอยู่จิตเริ่มสงบพอเดินไปถึงหลุมฝังศพปรากฏว่า เรามองลงไปในหลุมเห็นองค์กำเนิดของเด็กผู้ชายชัดเจน ทั้งๆที่เราไม่ทราบว่าเขาเอาเด็กผู้ชายหรือผู้หญิงมาฝังไว้ พอถึงตอนเช้าจึงได้ถามโยมว่าเอาเด็กผู้ชายหรือผู้หญิงไปฝัง เขาตอบว่าเด็กผู้ชาย คืนแรกผ่านไป ยังไม่มีเหตุการณ์อะไรมากนัก ความกลัวก็มีไม่มาก

วันที่ ๒ ก็มีคนตายอีก คราวนี้เป็นผู้ใหญ่ เขาพามาเผาห่างจากที่ปักกลดประมาณ ๑๐ วาส คืนนี้แหละเป็นคืนสำคัญ หลังจากเดินจงกรมได้เวลาพอสมควร จึงเข้านั่งสมาธิภายในกลด ได้ยินเสียงดังกุกกักทางกองฟอน เรานึกว่าหมามาแย่งกินซากศพสักครู่หนึ่งเสียงดังแรงขึ้นและ ใกล้เข้ามาท่านคิดว่าหรือจะเป็นควายของชาวบ้านเชือกผูกขาดมาหากินใบไม้ในป่า จิตใจเริ่มกลัวเพราะเสียงนั้นใกล้เข้ามาทุกที...หลวงพ่อได้ตั้งใจแน่วแน่ว่าไม่ว่า จะมีอะไรเกิดขึ้น แม้ตัวจะตายก็ไม่ยอมลืมตาขึ้นมาดู และจะไม่ยอมออกจากกลด ถ้าจะมีอะไรมาทำลายก็ขอให้ตายภายในกลดนี้ พอเสียงนั้นใกล้เข้ามาๆก็ปรากฏเป็นเสียงคนเดิน เดินเข้ามาข้างๆกลดแล้วเดินอ้อมไปทางพ่อขาวแก้ว กะประมาณพอไปถึงได้ยินเสียงดังอึกอักๆ แล้วเสียงคนเดินนั้นก็เดินตรงแน่วมาที่หลวงพ่อชาอีก ใกล้เข้ามาๆมาหยุดอยู่ข้างหน้าประมาณ ๑ เมตร
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-30 20:24 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ตอนนี้แหละความกลัวทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกดูเหมือน จะมารวมกันอยู่ที่นั่นหมด ลืมนึกถึงบทสวดมนต์ที่จะป้องกัน ลืมหมดทุกสิ่งทุกอย่าง กลัวมากถึงขนาดนั่งอยู่ข้างๆบาตรก็นึกเอาบาตรเป็นเพื่อน แต่ความกลัวไม่ลดลงเลย ปรากฏว่าเขายัง ยืนอยู่ข้างหน้าเรา ดีหน่อยที่เขาไม่เปิดกลดเข้ามา ในชีวิตตั้งแต่เกิดมาไม่เคยมีความกลัวมากและนานเท่าครั้งนี้ เมื่อความกลัว มันมีมากแล้วมันก็มีที่สุดของความกลัว เลยเกิดปัญหาถามตัวเอง ว่า กลัวอะไร? คำตอบก็มีขึ้นว่า กลัวตาย ความตายมัน อยู่ที่ไหน? อยู่ที่ตัวเราเอง เมื่อรู้ว่าอยู่ที่ตัวเรา จะหนีพ้นมัน ไปได้ไหม? ไม่พ้น เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เวลาใด คนเดียวหรือหลายคน ในที่มืดหรือที่แจ้ง ก็ตายได้ทั้งนั้น หนีไม่พ้นเลย จะกลัวหรือไม่กลัวก็ไม่มีทางพ้น เมื่อรู้อย่างนี้ความกลัวไม่รู้ว่าหายไปไหน เลยหยุดกลัว ดูเหมือนคล้ายกับเราออกจากที่มืดที่สุดมาพบแสงสว่างนั้นแหละ เมื่อความกลัวหายไปผู้ที่เข้ามายืนอยู่หน้ากลดก็หายไปด้วย เมื่อความกลัวกับสิ่งที่กลัวหายไปได้สักครู่หนึ่งเกิดลมและฝนตกลงมาอย่างหนัก ผ้าจีวรเปียกหมด แม้จะนั่งอยู่ภายในกลดก็เหมือนนั่งอยู่กลางแจ้ง เลยเกิดความสงสารตัวเองว่า ตัวเรานี้เหมือนลูกไม่มีพ่อแม่ไม่มีที่อยู่อาศัยเวลาฝนตก หนักเพื่อนมนุษย์เขานอนอยู่ในบ้านอย่างสบาย แต่เราซิมานั่งตากฝนอยู่อย่างนี้ ผ้าผ่อนเปียกหมด คนอื่นๆเขาคงไม่รู้หรอกว่า เรากำลังตกอยู่ในภาพเช่นนี้ ความว้าเหว่เกิดขึ้นนานพอสมควร เมื่อนึกได้ก็ห้ามไว้ด้วยปัญญา พิจารณาอาการอย่างนั้นก็สงบลง พอดีได้เวลารุ่งอรุณ จึงลุกจากที่นั่งสมาธิ ในระยะที่เกิดความกลัวนั้นรู้สึกปวดปัสสาวะ แต่พอกลัวถึงขีดสุดอาการปวดปัสสาวะก็หายไป และเมื่อลุกจากที่จึงรู้สึกปวดปัสสาวะ และเวลาไปปัสสาวะมีเลือดออกมาเป็นแท่งๆก่อนแล้วจึงมีน้ำ ปัสสาวะออกมาทำให้รู้สึกตกใจนิดหนึ่งคิดว่าข้างในคงแตกหรือขาด จึงมีเลือดออกอย่างนี้แต่ก็นึกได้ว่าจะทำอย่างไรได้ในเมื่อเรามิได้ทำ มันเป็นของมันเองถ้าถึงคราวตายก็ให้มันตายไปเสียนึกสอนตัวเอง ได้อย่างนี้ก็สบายใจ ความกลัวตายหายไปตั้งแต่นั้นมา พอได้เวลาบิณฑบาตพ่อขาวแก้วก็มาถามว่าหลวงพ่อ...หลวงพ่อ...เมื่อคืนนี้มีอะไรเห็นอะไรไปหาบ้าง ?มันเดินมาจากทางอาจารย์อยู่นั่นแหละมันแสดงอาการที่น่ากลัวใส่ผม ผมต้องชักมีดออกมาขู่มันมันจึงเดินกลับไป หลวงพ่อชาจึงตอบว่า จะมีอะไรเล่า...หยุดพูดดีกว่า พ่อขาวแก้วก็เลยหยุดถาม หลวงพ่อคิดว่าถ้าขืนพูดไป ถ้าพ่อขาวแก้ว เกิดกลัวขึ้นมาเดี๋ยวก็อยู่ไม่ได้เท่านั้น

เมื่ออยู่ป่าช้าใกล้วัดท่านอาจารย์คำดีได้ ๗ วัน ก็มีอาการเป็นไข้ เลยพักรักษาตัวอยู่กับอาจารย์คำดีประมาณ ๑๐ วัน จึง ย้ายลงมาทางบ้านต้อง พักอยู่ที่ป่าละเมาะบ้านต้องได้เวลานาน พอสมควร จึงได้เดินทางกลับไปหาท่านอาจารย์กินรีพักอยู่ ที่นั่นหลายวัน จึงได้กราบลาท่านอาจารย์กินรี ที่วัดป่าหนองฮี อ. ปลาปาก จ. นครพนม แล้วจึงเดินทางต่อไป...
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้