|
อุปสมบท
ในปี พ.ศ.2463 เมื่ออายุได้ 23 ปี ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุตามประเพณี ณ พัทธสีมา วัดป่า (อรัญญิกาวาส) เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2464 โดยมีพระเขมทัสสีชลธีสมานคุณ วัดเขาบางทราย เป็นพระอุปัชฌาย์, พระวินัยธร (เภา) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระปลัดชื่น ธัมมสาโร วัดป่า เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ได้รับฉายาว่า ปุณณัจฉันโท มีความหมายว่า ผู้มีความพอใจอันเต็มเปี่ยม
ภายหลังอุปสมบทแล้ว ท่านมีอุปนิสัยสนใจด้านวิทยาคม ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อแดง (พระครูธรรมสารอภินันท์) วัดใหญ่อินทราราม จ.ชลบุรี ยอดพระเกจิอาจารย์ชาวเขมร เมืองพระตะบอง ที่มาจำพรรษาอยู่ที่วัดใหญ่อินทราราม ถึง 53 ปี เป็นพระเถระที่ทรงวิทยาคุณในทางสมถะ มีวาจาสิทธิ์เป็นที่เคารพยำเกรงของคณะศิษยานุศิษย์และเป็นที่เล่าขานตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์
ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2467 เป็นเจ้าอาวาสวัดอรัญญิกาวาส พ.ศ.2483 เป็นเจ้าคณะแขวงบางละมุง และเป็นพระอุปัชฌาย์ในคณะธรรมยุต พ.ศ.2496 เป็นเจ้าคณะธรรมยุตผู้ช่วยอำเภอจังหวัดชลบุรี
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2479 เป็นพระครูสัญญาบัตรในราชทินนามพระครูวรพรตศีลขันธ์ พ.ศ.2498 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระวรพรตปัญญาจารย์
หลวงปู่เฮี้ยง ได้พัฒนาทั้งด้านการศึกษาและเสนาสนะให้เจริญรุ่งเรือง นับได้ว่าวัดป่าหรือวัดอรัญญิกาวาสแห่งนี้ เจริญรุ่งเรือง ด้วยอำนาจบารมีแห่งวัตถุมงคลพระเครื่องต่างๆ ที่ท่านสร้างสรรค์ ทุกรุ่นเปี่ยมไปด้วยพุทธคุณเมตตามหานิยม เป็นที่ปรารถนาของเซียนพระเครื่องที่ต่างแสวงหาไว้ในครอบครอง
ด้วยอำนาจความเข้มขลังที่เป็นอมตะแห่งผงเก่าของยอดพระเกจิอาจารย์ชาวบางปลาสร้อยในอดีต อาทิ หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์, หลวงพ่อเจียม วัดกำแพง มีส่วนเสริมให้วัตถุมงคลของหลวงปู่เฮี้ยง ทุกรุ่นทุกพิมพ์ถูกเช่าบูชาไปจากตลาดพระเครื่องอย่างรวดเร็ว จนยากที่จะหามาไว้ในครอบครอง
|
|