ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่ลี ธัมมธโร วัดอโศการาม ~

[คัดลอกลิงก์]
71#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 18:52 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ได้เตรียมการภายในวัดก็ได้สำเร็จไปเป็นส่วนมาก สำหรับศาลาโรงพิธีได้มอบหมายให้อาจารย์สุณี (แม้น) ชังคมานนท์ ครูซ่วน อัชกุล คุณทองสุข แม่กิมหงษ์ ไกรกาญจน์ เป็นเจ้าหน้าที่ปลูกสร้างจนสำเร็จ แต่ยังไม่เพียงพอ ได้สั่งให้ขยายหลังคาจากเพิ่มเติมอีกทั้ง ๔ ด้าน พ.ต.ท.หลวงวีรเดชฯ พร้อมด้วยพระเณรได้ช่วยกันสร้างนอกจากนี้ยังได้ช่วยกันสร้างโรงครัวชั่วคราว และที่พักชั่วคราวขึ้นอีกหลายหลัง

ที่พักชั่วคราวสร้างเป็นหลังคาจากฝาจากยาวสี่สิบวา
โรงครัวยาวสามสิบวาเศษ กว้างประมาณสามวาหลังคาจาก
ที่พักพระเณรมีห้าหลังๆ หนึ่งยาวสี่สิบวา กว้างห้าวา หลังคาจาก ฝาจาก
ที่พักอุบาสก อุบาสิกาจัดแยกให้อยู่คนละที่ห้าหลัง ยาวหลังละสี่สิบวา กว้างห้าวา

การปลูกสร้างที่พักชั่วคราวเหล่านี้สิ้นเงินไปประมาณหนึ่งแสนเศษ ศาลาโรงพิธีสิ้นเงินหนึ่งแสน หกหมื่น ห้าพัน ซ่อมถนน รอบวัดโดยมีคุณหญิงวาดฯ เป็นผู้ทำ สิ้นเงินหกหมื่น รวมทั้งหมดสิ้นเงินสองแสนเศษ และอุปกรณ์อื่นๆ ที่จะต้องใช้จ่ายในงานนี้มีอีกมากมาย เงินที่มีอยู่ก็ค่อยๆ หมดไปทุกที แต่ก็ได้มาทุกวัน พอข้างขึ้นเดือนเมษายน ก็ได้จัดเตรียมการเป็นการใหญ่ญาติโยม พระเณร ที่อยู่ต่างจังหวัดได้เดินทางเข้ามาประชุมกันเป็นจำนวนมาก นาคที่มาสมัครบวชทั้งหญิงและชายมากมายทวีขึ้นทุกทีจนเลยจำนวนที่ได้กำหนดไว้แต่เดิม

ถึงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ก็ได้เริ่มบวชนาค ในการบวชนาคนี้ได้นิมนต์พระอุปัชฌาย์มาหลายองค์ คือ

๑. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดมกุฎกษัตริยาราม
๒. พระพรหมมุนี วัดบวรนิเวศนิหาร
๓. พระศาสนโศภณ วัดราชาธิวาส
๔. พระธรรมดิลก วัดบรมนิวาส
๕. พระธรรมปิฏก วัดพระศรีมหาธาตุ
๖. พระญาณรักขิต วัดบรมนิวาส

นอกจากนี้พระอุปัชฌาย์ที่เป็นเพื่อนบ้าง ศิษย์บ้างช่วยกัน เพราะพิธีบวชนาคได้กลายเป็นเรื่องใหญ่โต จึงได้มอบเรื่องนี้ให้พระอาจารย์แดง เป็นผู้ฝึกหัดอบรมสั่งสอนนาคตลอดงาน และให้เป็นพระอุปัชฌาย์ด้วย นอกจากนี้ก็มี พระครูวิริยังค์ จ.จันทบุรี พระอาจารย์สีลา จ.สกลนคร ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ด้วย ช่วยกันฝึกซ้อมจัดบริขารในการบวชพระบวชเณรจนสำเร็จ

สรุปแล้วการพิธีบวชนี้มีคนช่วยทั้งหมดโดยไม่ต้องจ่ายเงินกองกลาง บวชจนกระทั่งไม่มีนาคจะให้เขาบวช ต้องประกาศงดรับเจ้าภาพบวชนาคทางเครื่องกระจายเสียง ในพิธีบวชนี้มีคณะศิษย์เป็นเจ้าภาพในการบวช คิดเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ ๑๓๘,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนสามหมื่นแปดพันบาทเศษ)
72#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 18:53 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พิธีบวชเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๑ ถึง ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ผู้บวชในงานครั้งนี้จำนวนระเภทดังต่อไปนี้ คือ

อุปสมบทพระภิกษุ มีจำนวน ๖๓๗ รูป
บรรพชาสามเณร มีจำนวน ๑๔๔ รูป
บวชอุบาสิกา (ชี) มีจำนวน ๑,๒๔๐ รูป
บวชพราหมณี มีจำนวน ๓๔๐ คน
บวชตาปะขาว มีจำนวน ๓๔ คน
บวชพราหมณ์ มีจำนวน ๑๒ คน
รวมจำนวนนักบวชทั้งสิ้น ๒,๔๐๗ ท่าน

ในงานฉลองสมโภช ๒๕ พุทธศตวรรษ ได้กำหนดกิจวัตรประจำบรรดาพุทธบริษัทไว้ดังต่อไปนี้

เวลาเช้า
๑. หลังจากพระฉันจังหันเสร็จแล้ว มีการสวดมนต์ถวายนมัสการพระบรมธาตุ
๒. สวดมนต์ถวายพรพระ
๓. นั่งสมาธิ

เวลาบ่าย
๑. สวดมนต์ถวายนมัสการพระบรมธาตุ
๒. สวดมนต์สมโภช
๓. นั่งสมาธิหรือแสดงธรรมะ

เวลา ๑๖.๐๐ น. หยุดพัก
เวลา ๑๗.๐๐ น. เริ่มเข้าสู่ที่ประชุม แล้วสวดมนต์ถวายนมัสการพระบรมธาตุเวียนเทียน สวดพุทธาภิเษก สวดมนต์สมโภช นั่งสมาธิจนถึงเวลา ๒๔.๐๐ น. ให้ปฏิบัติเช่นนี้ตลอดไปจนเสร็จงาน

ในระหว่างกำลังทำงานนี้อยู่ ก็ได้ดำริขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่า อยากจะทอดผ้าป่าที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อเป็นการทดแทนความคิดที่เสียไป คือเรื่องมีว่า

ครั้งแรกได้ดำริตั้งมูลนิธิเป็นส่วนกลางของคณะสงฆ์ไทย จึงได้ทำรายงานกราบเรียนสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดมกุฏฯ มีใจความว่า “นิตยภัตของพระสงฆ์ผู้ดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์ทุกรูปในประเทศไทย ขอให้ท่านเสียสละเสีย ๑ เดือน ในเดือน ๖ นี้เพื่อเป็นเครื่องระลึกในโอกาสที่ได้จัดการฉลองสมโภช ๒๕ พุทธศตวรรษ ส่วนตัวเองจะได้หาเงินทุนมาสมทบด้วย ขอให้สมเด็จฯ ได้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะสังฆมนตรีด้วยว่า จะเห็นด้วยกับความคิดเห็นอันนี้หรือไม่ประการใด”

สมเด็จฯ ได้เอ่ยขึ้นคำหนึ่งจับใจเรามากว่า “ผมให้ทั้งหมด ๑ เดือน ท่านต้องการบริขารอย่างอื่นอีกในงานนี้ ก็ยินดีจะช่วย เมื่อได้ฟังแล้วนึกในใจว่า สาธุ สาธุ สาธุ”
73#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 18:53 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ในที่สุดสมเด็จฯ ได้เห็นชอบด้วยในความคิดอันนี้ จึงได้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมสังฆมนตรีได้ทราบภายหลังว่า ในที่ประชุมสังฆมนตรีวันนั้นต่างองค์ต่างเกี่ยงกัน เป็นอันไม่สำเร็จ

เมื่อเป็นดังนี้จึงคิดทอดผ้าป่าถวายหลวงพ่อแก้วมรกตดีกว่า จึงได้นำความคิดนี้ถวายพระพรพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี ขอให้พระองค์ท่านทรงเป็นเจ้าภาพในกองผ้าป่าทั้งหมดเป็นจำนวน ๑๖ กอง (กองหนึ่งให้ถวายหลวงพ่อแก้วมรกต) พระองค์ยินดีทรงเป็นเจ้าภาพ ให้ความสะดวก พระองค์ท่านได้รับสั่งให้บริษัท บริวาร ตลอดจนกระทั่งเจ้านาย และพระบรมวงศานุวงศ์ มีคณะองคมนตรี เป็นต้น ให้จัดเตรียมการต้อนรับกองผ้าป่าอย่างเต็มขนาด จึงได้จัดกองผ้าป่าขึ้น ได้มูลค่าปัจจัยประมาณ ๓ หมื่นบาทเศษ แบ่งให้กองผ้าป่า ๑๕ กองๆ ละ ๓๐๐ บาทเศษ เงินที่เหลือนอกจากนี้ถวายหลวงพ่อแก้วมรกต เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๒๔,๑๒๒.๓๐ บาท (สองหมื่นสี่พันหนึ่งร้อยยี่สิบสองบาทสามสิบสตางค์) โดยตั้งเป็นบุญนิธิซื่อว่า “บุญนิธิ ๒๕๐๐ ปี คณะศิษย์พระอาจารย์ลี วัดอโศการาม” เพื่อเก็บดอกผลจากบุญนิธินี้ส่งเข้าบำรุงวัดพระศรีรัตนศาสดารามต่อไป ต่อมาได้นำส่งสมทบภายหลังอีกรวมเป็นเงินบุญนิธิทั้งหมด ๕ หมื่นบาทเศษ

วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๐๐ ตรงกับวันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๖ ได้นำขบวนแห่พระพุทธรูป พระบรมธาตุ และกองผ้าป่า ๑๓ กอง จากวัดอโศการามไปทอดที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี ได้มีรับสั่งให้ทางสำนักพระราชวังจัดการต้อนรับ ได้มีการแห่รอบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ๓ รอบ องค์ท่านพร้อมทั้งคณะองคมนตรี ได้เสด็จมารับกองผ้าป่าในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ท่านได้มีรับสั่งให้ทางสำนักพระราชวังจัดภัตตาหารถวายพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ได้รับนิมนต์มารับกองผ้าป่ารวม ๑๕ รูป พระเถระที่พระองค์ท่านนิมนต์มานั้น โดยมากนิมนต์จากวัดต่างๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีอุปการะมาแต่กาลก่อน เมื่อได้ถวายภัตตาหารเพลแก่พระสงฆ์เรียบร้อยแล้ว พระองค์ท่านก็ได้นำถวายกองผ้าป่าแก่พระเถระที่ได้นิมนต์มาในวันนั้น

เมื่อเสร็จพิธีถวายกองผ้าป่าแล้วได้นำขบวนแห่ออกจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปรับต้นโพธิ์ที่วัดพระศรีมหาธาตุ อำเภอบางเขน ซึ่งได้ขอจากทางราชการและได้รับอนุญาตแล้ว

ถึงวัดพระศรีมหาธาตุแล้วทำพิธีรับต้นโพธิ์ ๒ ต้น แห่เวียนพระอุโบสถ ๓ รอบ ประกอบพิธีตามทางการ เสร็จแล้ว นำขบวนแห่เคลื่อนออกจากวัดพระศรีมหาธาตุ ไปยังจังหวัดนนทบุรี ต่อจากนั้นคณะศิษย์ได้นำพระบรมธาตุ ต้นโพธิ์ ไปทำการฉลองที่สวนพุทธรักษา อำเภอบางบัวทอง ๑ คืน

รุ่งขึ้น วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๐๐ พระฉันจังหันแล้ว นำพระพุทธรูป พระบรมธาตุ ต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ์ ลงสู่ขบวนแห่ทางเรือจากอำเภอบางบัวทอง ล่องลงมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา จนกระทั่งถึงท่าศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ คณะกรรมการทางวัดอโศการาม พร้อมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ข้าราชการ และพุทธบริษัทได้มาต้อนรับอย่างคับคั่ง นำขบวนขึ้นจากเรือ แล้วแห่จากศาลากลางเข้าตลาดเมืองสมุทรปราการ นำขบวนแห่ไปจนถึงวัดอโศการามในตอนบ่าย ฝ่ายพุทธบริษัททั้งหลาย มีท่านเจ้าคุณพระอมรมุนี วัดจันทนาราม เจ้าคณะจังหวัดจันทบุรี เป็นหัวหน้าต้อนรับขบวนแห่ เมื่อถึงวัดอโศการาม แล้วได้นำขบวนแห่เวียนศาลา ๓ รอบ แล้วนำขึ้นประดิษฐานไว้บนศาลาโรงพิธีพุทธาภิเษก ได้ทำการถวายนมัสการพระบรมธาตุ พระพุทธรูป ต้นโพธิ์ และพระสถูปเจดีย์ เสร็จแล้วพักผ่อน เวลา ๑๘.๐๐ น. ตีระฆังประชุมสวดมนต์สมโภช สวดพุทธาภิเษก เวียนเทียน มีพุทธบริษัทมาร่วมสมโภชกันมากมาย
74#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 18:53 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
รุ่งขึ้นเช้า วันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๖ ตรงกับวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๐๐ ได้ทำพิธีปลูกต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ์ที่วัดอโศการาม รวม ๔ ต้น ได้มาจากวัดพระศรีมหาธาตุ ๒ ต้น อีก ๒ ต้น ได้มาจากประเทศอินเดีย ต่อมาได้มีศิษย์นำต้นโพธิ์จากประเทศอินเดียมาถวายอีก ๒ ต้นปัจจุบันนี้ที่วัดอโศการามจึงมีต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ์รวม ๖ ต้น

ต่อจากนั้นก็ได้ทำการสมโภชกันตลอดมา อยู่มาวันหนึ่งการเงินชักเบาบาง ฝ่ายคณะกรรมการได้ประชุมหารือกัน จัดทำหนังสือร้องเรียนเพื่อขอความช่วยเหลือจากคณะรัฐบาล มีนางกิมเหรียญ กิ่งเทียน และนางตุ่น โกศัลวิตร เป็นหัวหน้า ได้จัดทำหนังสือขึ้น ๑ ฉบับ แล้วนำมาอ่านให้ฟัง ใจความในหนังสือนั้นมีว่า ขอร้องเรียนนายกรัฐมนตรี คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ให้ช่วยเหลือเป็นเป็นจำนวน ๕ หมื่นบาท เมื่อได้ทราบเช่นนั้น เขาอ่านให้ฟังยังไม่ทันจบ ก็สั่งให้เผาไฟทิ้งทันที แล้วพูดกับเขาว่า “ไม่มีกินในงานครั้งนี้ยอมตาย”

ในที่สุดเงินก็ได้ทยอยเข้ามาเรื่อยๆ ไม่ขาด บางท่านก็ได้มาช่วยเลี้ยงพระ ๓ วันบ้าง ๗ วันบ้าง เป็นจีนบ้าง ไทยบ้าง ในงานนี้ได้มีการสวดพุทธาภิเษกอยู่ถึง ๑๕ วัน โดยมีพลตรีพงษ์ ปุณณกันต์ เจ้ากรมการขนส่งทหารบก เป็นเจ้าภาพพุทธาภิเษกตลอดงาน

คุณหญิงวาด เลขวณิชธรรมวิทักษ์ รับพระมาสวดมนต์ ๓ วันๆ ละ ๑๐ รูปพร้อมด้วยเครื่องไทยทาน และเป็นเจ้าภาพเลี้ยงพระอีก ๗ วันๆ ละ ๓๕๕ รูป มีเทศน์ ๒ กัณฑ์ มีสวดกงเต๊ก ๓ คืน มีการลอยกระทงและจับสลากให้รางวัลแทนการทิ้งกระจาด คุณนายทองสุข ชุ่มไพโรจน์ เป็นเจ้าภาพเลี้ยงพระ ๓๐๐ รูป ๗ วัน นอกจากนี้ยังมีชาวจีนมาเลี้ยงอาหารเจช่วยอีกหลายวัน และมีญาติโยมคณะศิษย์จัดให้มีการเทศน์สังตายนาอีก ๑๑ เจ้าภาพ ชุดหนึ่งใช้จ่ายเป็นประมาณ ๕,๐๐๐ บาท

นอกจากนี้ทางด้านโรงครัวก็มีผู้ศรัทธามาบริจาคอาหาร ถ้วยชาม ข้าวสาร ฟืน ถ่านทุกอย่าง โดยมากไม่ค่อยได้ซื้อ มีแต่ผู้มีศรัทธานำมาบริจาคเป็นส่วนมาก ฉะนั้น ทางโรงครัวจ่ายเป็นค่ากับข้าววันหนึ่งๆ ไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ฝ่ายคณะศิษย์ต่างคนต่างได้ช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถ

ฝ่ายพยาบาล ได้รับความช่วยเหลือจากพลตรีถนอม อุปถัมภานนท์ นายแพทย์ใหญ่ทหารบก และคุณหญิงสุดใจฯ ได้ส่งหน่วยพยาบาล พร้อมด้วยนายแพทย์และนายสิบพยาบาลมาประจำตลอดงาน เพื่อช่วยรักษาพยาบาลคนป่วยระหว่างงาน

ฝ่ายรักษาความสงบและจราจร มี พ.ต.อ. สุดสงวน ตัณสถิตย์ หัวหน้ากองสวัสดิภาพประชาชน กรมตำรวจ ได้สั่งให้ตำรวจจราจรไปรักษาการณ์จนตลอดงาน พร้อมทั้งส่งรถดับเพลิงมาประจำตลอดงาน ๑ คัน

ระหว่างนี้การงานก็ดำเนินไปด้วยดี การเงินก็สะดวกขึ้น กิจวัตรประจำวันก็ทำไปตามเคย การบวชก็มีทุกวัน ตลอดงานดินฟ้าอากาศอำนวยให้เป็นอย่างดี ในงานนี้ไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้น ปลอดภัยดีทุกด้าน มีบ้างเล็กน้อยก็ไม่สำคัญอะไรเลย

วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๐๐ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เจ้าภาพได้ทำการหล่อพระพุทธรูปรวม ๔ องค์ หน้าตักกว้าง ๘๐ เซ็นติเมตร คุณหญิงวาด เลขวณิชธรรมวิทักษ์ เป็นเจ้าภาพ ๒ องค์ (องค์หนึ่งหล่อถวายท่านพ่อ อีกองค์หนึ่งเพื่อตัวคุณหญิงวาดฯ เอง) พระยาเลขวณิชธรรมวิทักษ์ เป็นเจ้าภาพ ๑ องค์ พ.ต.ท. หลวงวีรเดชกำแหง และคุณนายน้อย วีรเดชกำแหง เป็นเจ้าภาพ ๑ องค์ ราคาองค์ละ ๖,๗๙๐ บาท นายกวงหั้ง แซ่เหีย พร้อมทั้งบุตรภริยาหล่อถวายอีก ๑ องค์ ได้ทำการหล่อตั้งแต่งานมาฆบูชา นำมาสมทบในงานนี้ด้วย ราคา ๓๔,๐๐๐ บาท รวมทั้งค่าฉลองเสร็จ พระพุทธรูปเหล่านี้ทางวัดไม่ต้องจ่ายเงิน เจ้าภาพจ่ายเอง คิดเป็นเงินทั้งสิ้น ๖๑,๑๖๐ บาท ได้ทำการสมโภชจนสำเร็จ
75#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 18:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ฝ่ายมหรสพไม่ค่อยมีคนสนใจดู เพราะตั้งใจมาทำศาสนพิธีมากกว่า คณะศิษย์ชาวจีนนำงิ้ว ๑ โรงมาช่วย ๓ คืน คุณวารี ฉัยกุล อำเภอหาดใหญ่ นำละครมโนห์ราและหนังตลุงอย่างละ ๑ ชุด มาช่วย อยู่จนตลอดงาน มีหมอลำอีสาน ๑ ชุด แอ่วอยู่ ๑ คืน ก็ต้องเลิก มีภาพยนตร์มาช่วยอีก ๒ จอ กิจการเหล่านี้ไม่ต้องจ่ายเป็นเพราะคณะศิษย์นำมาช่วย

ได้ทำการฉลองอยู่อย่างนี้ โดยวิธีการสวดมนต์สมโภช เวียนเทียน สวดพุทธาภิเษก นั่งสมาธิ มีการแสดงธรรมะ ได้นิมนต์พระเถระชั้นผู้ใหญ่มาช่วยแสดงธรรมะ อาทิ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดมกุฎฯ ได้มาเทศน์โปรด ๑ กัณฑ์ พระศาสนโศภณ มาเทศน์ ๑ กัณฑ์ นอกนั้นก็แสดงธรรมเป็นครั้งเป็นคราว เจ้าของแสดงเองบ้าง พระอาจารย์ตื้อแสดงบ้าง ได้บำเพ็ญกิจวัตรอย่างนี้ จนกึงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๐๐ สรุปแล้วงานครั้งนี้มีสถิติรายรับรายจ่ายทั้งหมดดังต่อไปนี้

ยอดรายรับ ถึงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม จำนวน ๘๔๐,๓๔๐.๔๙ บาท
ยอดรายจ่าย ถึงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม จำนวน ๔๓๓,๓๒๖.๗๕ บาท

หักแล้วคงเหลือเงิน ๓๐๗,๐๑๓.๗๔ บาท
(สามแสนเจ็ดพันสิบสามบาทเจ็ดสิบสี่สตางค์)

เงินทั้งหมดนี้เป็นเงินที่พุทธบริษัทได้บริจาคด้วยจิตใจศรัทธา นอกนั้นเป็นเงินแห้ง เช่น บวชนาค เจ้าภาพจัดกันเอง กองกลางไม่รับเงินจำนวนนี้ เทศน์สังตายนา เลี้ยงพระสวดมนต์ สร้างพระพุทธรูป สร้างศาลาโรงพิธี ซ่อมถนนเข้าวัด สวดกงเต็ก เหล่านี้เป็นประเภทเงินแห้ง รวมแล้วหยาบๆ เป็นเงินประมาณ ๓ แสนเศษ เมื่อเสร็จงานแล้วเหลือเงินสดอยู่ในบัญชีเป็นจำนวนเงิน ๓๐๗,๐๑๓.๗๔ บาท (ซึ่ง พ.ต.ท. หลวงวีรเดชกำแหง ได้ฝากไว้ในธนาคาร ตามคำสั่งของท่านพ่อ เงินจำนวนนี้ได้ใช้จ่ายสมทบทุนบำรุงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ๓ หมื่นบาท และก่อสร้างเพิ่มเติมภายในวัด อาทิเช่น ซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพร้อมทั้งเสาและสายไฟ สร้างโรงครัวถาวร สร้างพระอุโบสถสำรองชั่วคราว ฯ ลฯ รายละเอียดรายจ่ายเหล่านี้อยู่กับ พ.ต.ท. หลวงวีรเดชฯ ท่านพ่อได้ตรวจดูแล้ว ส่งหลักฐานการจ่ายให้ พ.ต.ท. หลวงวีรเดชฯ เก็บรักษาไว้ เงินเหลือนอกจากนี้ ได้มอบให้คณะกรรมการก่อสร้างพระอุโบสถและพระเจดีย์ เพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป พระอุโบสถนั้นได้เริ่มลงมือก่อสร้างตั้งแต่วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๐๒ ตามแบบแปลนของกรมศิลปากร)

ในพิธีฉลองครั้งนี้ มีคณะสงฆ์ พุทธบริษัทมาร่วมอนุโมทนา ตลอดจนกระทั่งพระเถระ อุบาสก อุบาสิกา ถึง ๔๕ จังหวัด ต่อจากนั้นก็เป็นอันสำเร็จการ การจัดงานฉลองสมโภช ๒๕ พุทธศตวรรษ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐

ต่อมาเวลาจวนเข้าพรรษา ได้มีเจ้าภาพคนหนึ่งชื่อ นายธนบูลย์ กิมานนท์ พร้อมด้วยภริยาและบุตร สร้างพระพุทธรูปถวายในปี ๒๕๐๐ นี้อีก ๑ องค์ คิดราคาค่าก่อสร้างเป็นเงิน ๗๕,๐๐๐ บาท หน้าตัก ๔ ศอก ๔ นิ้ว ทำการฉลองและสร้างแท่นอีก รวมทั้งสิ้นเงินทั้งหมด ๑ แสน ๕ พันบาทเศษ

ระหว่างอยู่จำพรรษา ยังคงมีพระ เณร อุบาสิกา ซึ่งได้บวชเมื่องานฉลองสมโภช ๒๕ พุทธศตวรรษ และยังคงบวชอยู่ร่วมกันบำเพ็ญกุศลต่อมาในพรรษาอีกเป็นจำนวนมาก

เมื่อออกพรรษาแล้ว ต่างคนต่างกลับไปเยี่ยมบ้านของตน ยังคงเหลืออยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้ก็ยังมี ส่วนตัวเราได้ออกไปเยี่ยมความทุกข์สุขของคณะศิษย์ที่ได้มาร่วมงานสมโภชครั้งนี้หลายแห่ง
76#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 18:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ นี้ได้รับแต่งตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกในนามที่ “พระครูสุทธิธัมมาจารย์” เมื่อวันที่ ๕ เดือนธันวาคม ๒๔๙๙ ซึ่งตนของตนไม่เคยคิดนึกและไม่รู้ตัว ต่อจากนั้น เมื่อออกพรรษาแล้วก็ได้ขึ้นไปเยี่ยมจังหวัดลำปาง อยากไปสร้างพระเจดีย์สัก ๑ องค์ที่ถ้ำพระสบาย เมื่อได้ไปถึงจังหวัดลำปางก็ได้ทราบว่า ได้มีต้นโพธิ์เกิดขึ้นแล้ว ๓ ต้น ที่หน้าถ้ำพระสบาย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ บัดนี้ต้นโตสูงแล้วก็รู้สึกดีใจมาก ในที่สุดก็ได้สร้างพระเจดีย์ไว้องค์หนึ่งแล้วบรรจุพระบรมธาตุไว้ที่ถ้ำนั้น มีเจ้าแม่สุข ณ ลำปาง คุณนายกิมเหรียญ กิ่งเทียน แม่เลี้ยงเต่า จันทรวิโรจน์ และคณะอุบาสก อุบาสิกา ได้ช่วยร่วมมือกันเป็นผู้อุปการะ พร้อมคณะศิษย์ทั้งพระและฆราวาสช่วยกันจนสำเร็จสมความปรารถนา ได้นำต้นโพธิ์อินเดีย ๑ ต้นไปปลูกไว้ที่ถ้ำด้วย

ต่อจากนั้น ได้เดินทางไปเชียงใหม่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก นครสวรรค์ ลพบุรี เที่ยวจาริกสัญจรไปในระหว่างเวลาออกพรรษาทุกปี การทำเช่นนี้ ก็เพราะได้คิดเห็นว่า การที่จะอยู่ประจำวัดเฉยๆ ก็เปรียบเหมือนรถไฟที่จอดนิ่งอยู่ที่สถานีหัวลำโพง ประโยชน์ของรถไฟที่จอดนิ่งอยู่กับที่มีอะไรบ้าง ทุกคนคงตอบได้ ฉะนั้น ตัวเราเองจะมานั่งอยู่ที่เดียวนั้น เป็นไปไม่ได้จำเป็นจะต้องออกสัญจรอยู่อย่างนี้ตลอดชาติ ในภาวะที่ยังบวชอยู่

การประพฤติเช่นนี้ บางครั้งหมู่คณะก็ตำหนิโทษ บางคราวก็ได้รับคำชมเชย แต่ตนเองเห็นว่าได้ผลทั้งนั้นเพราะได้รู้จักภูมิประเทศ เหตุการณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณีของพระศาสนาในสถานที่ต่างๆ บางอย่างบางชนิดเราอาจโง่กว่าเขา บางอย่าง บางหมู่คณะ บางสถานที่เขาอาจดีกว่าเรา ฉะนั้น การสัญจรไปมาจึงไม่ขาดทุน นั่งอยู่นิ่งๆ ในป่าก็ได้ประโยชน์ ถ้าถิ่นไหนเขาโง่กว่าเรา เราก็เป็นอาจารย์ให้เขา หมู่ไหนฉลาดกว่าเรา เราก็ยอมตนเป็นศิษย์เขา ฉะนั้น การสัญจรไปมาจึงไม่เสียประโยชน์ อีกประการหนึ่งที่เราชอบไปอยู่ตามป่าตามดงนั้นได้เกิดความคิดหลายอย่าง คือ

๑. เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้า เพราะพระองค์ประสูติในป่า ตรัสรู้ในป่า ดับขันธ์ปรินิพพานในป่า แต่ทำไมพระองค์จึงสามารถทำความดีไปฝังไว้กลางพระมหานครได้ เช่น ได้ไปทรงขยายกิจการ พระศาสนาให้แก่พระเจ้าพิมพิสาร ราชาแห่งกรุงราชคฤห์ เป็นต้น

๒. พิจารณาเห็นว่าการหลบ ดีกว่าการสู้ เพราะเรายังไม่ได้เป็นผู้วิเศษ ตราบใดถ้าเราได้เป็นผู้มีหนังเหนียว สามารถทนทานต่อลูกปืน หอก ดาบได้แล้ว เราจึงควรอยู่ในที่ชุมนุมชน ฉะนั้น จึงคิดว่าหลบดีกว่าสู้ คนที่รู้จักหลบ เขาบอกว่า “รู้จักหลบเป็นปีก รู้จักหลีกเป็นหาง” แปลความหมายว่า ลูกไก่ออกมาจากไข่ตัวเล็กๆ ถ้ามันเข้าใจหลบ มันก็ไม่ตาย มีโอกาสได้เติบโตออกปีกออกขน สามารถช่วยตนเองในกาลข้างหน้าได้ รู้จักหลีกเป็นหาง เช่นหางเสือที่วิ่งในน้ำ ถ้าคนถือท้ายรู้จักงัดหรือกด ก็สามารถนำเรือนั้นวิ่งหลบการเกยตอและหาดได้อย่างดี เรือจะหลบได้ต้องอาศัยหางเสือ ตนของตนเองเมื่อคิดได้เช่นนี้ จึงมีนิสัยชอบอยู่ป่า

๓. มานึกถึงหลักธรรมชาติ ก็เป็นสถานที่ที่สงัดสงบ ได้สังเกตเหตุการณ์ในภาวะของภูมิประเทศ เช่น สัตว์ป่าบางเหล่าเวลานอนนอนผิดกับสัตว์ในบ้าน มันก็เป็นข้อเตือนใจได้ ตัวอย่างเช่น ไก่ป่า หูตาว่องไว หางกระดก ปีกแข็ง ขันสั้น วิ่งเร็ว บินไกล ลักษณะเหล่านี้เกิดจากไหน ได้นำมาเตือนใจแล้วเกิดความคิดว่า ไก่บ้าน ไก่ป่า เป็นสัตว์ตระกูลเดียวกันแต่ไก่บ้าน ปีกอ่อน ขันยาว หางตก งุ่มง่าม มีกิริยามารยาทต่างกัน ก็นึกได้ว่า เกิดจากความไม่ประมาท เพราะสถานที่นั้นมีภัยอันตรายรบกวน จะไปทำตนเหมือนไก่บ้านก็ต้องเสร็จงูเห่าและพังพอน
77#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 18:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ฉะนั้น เวลาจะกิน จะนอน ลืมตา หลับตา มารยาทของไก่ป่าต้องเข้มแข็ง จึงจะปลอดภัยอยู่ได้ ตัวเราฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าขืนแช่อยู่ในหมู่คณะก็เหมือนมีดเหมือนจอบปักจมอยู่ในพื้นดิน ทำให้สึกหรอได้ง่าย ถ้าถูกหินถูกตะไบขัดถูอยู่เป็นนิจ สนิมก็ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ใจของเราตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ฉะนั้น จึงชอบอยู่ในป่าเสมอมา เป็นการได้ประโยชน์ ได้คติเตือนใจหลายอย่าง

๔. มาระลึกถึงคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงสอนในครั้งแรก ซึ่งเป็นประเพณีของสมณะเป็นคำสอนที่ชวนให้คิดอยู่มาก คือครั้งแรกพระองค์ทรงสอนธรรมะก่อนพระวินัย เช่นเวลาอุปสมบทได้สอนพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ แล้วก็สอนกรรมฐาน ทั้ง ๕ มีเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นต้น ต่อจากนั้นก็ได้ให้โอวาทแก่ผู้บรรพชาอุปสมบท มีใจความอยู่ ๔ อย่าง คือ

(๑) ให้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร แสดงตนเป็นผู้ขอ แต่พระองค์ไม่ให้แสดงตนเป็นคนยากจน เช่น เขาให้เท่าไรก็ยินดีเท่านั้น

(๒) พระองค์ทรงสอนให้ไปอยู่ในที่สงัด ที่เรียกว่า “รุกขมูลเสนาสนะ” มีบ้านร้าง สูญญาคาร หิมมิยัง เงื้อมผา คูหาถ้ำ สถานที่ต่าง ๆ เหล่านี้ มีปัญหาว่าพระองค์ทรงเห็นประโยชน์อะไรหรือ จึงได้สอนเช่นนั้น แต่ตัวเองก็นึกเชื่อออยู่ในใจว่า ถ้าเรื่องเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ พระองค์คงไม่สอน ถึงกระนั้นก็ยังมีความรู้สึกลังเลใจอยู่ จนเป็นเหตุให้สนใจในเรื่องนี้

(๓) พระองค์สอนให้ถือผ้าบังสุกุลเป็นเครื่องใช้สอย ตลอดจนให้ถือเอาผ้าพันผีตายมาใช้นุ่งห่ม ก็เป็นเหตุให้ตัวเองนึกถึงเรื่องตายว่า การนุ่งห่มผ้าพันผีตายมีประโยชน์อะไรบ้าง ข้อนี้พอได้ความง่ายๆ คิดดูโดยหลักธรรมดาก็จะเห็นได้ว่า ของตายนั้นไม่มีใครต้องการอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็คือของตายเป็นของไม่มีพิษไม่มีโทษ

ในข้อนี้พอจะน้อมนึกตรึกตรองได้อยู่บ้าง ว่าพระองค์ได้สอนไม่ให้เป็นผู้ทะนงตัวในปัจจัยลาภ

(๔) พระองค์สอนให้บริโภคยารักษาโรคที่หาได้อย่างง่ายๆ เช่นให้ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า

คำสอนต่างๆ ของพระองค์ดังกล่าวมาข้างต้นนี้ เมื่อเราได้รับฟังเข้าแล้วเป็นเหตุให้เกิดความสนใจ แต่เมื่อสรุปแล้ว จะได้รับผลหรือไม่ได้รับผลก็ตาม แต่เรามีความเชื่อมั่นอยู่อย่างหนึ่งว่าพระองค์ไม่ใช่บุคคลที่งมงาย เรื่องใดที่ไม่มีเหตุผลพระองค์คงไม่ทรงสั่งสอนเป็นอันขาด

ฉะนั้น จึงได้มาระลึกนึกคิดว่า ถ้าเราไม่เชื่อในคำสอนของพระองค์ เราก็ควรยอมรับนับถือตามโอวาท หรือถ้าเราไม่เชื่อความสามารถของผู้สอนเรา เราก็ควรทำตามไปก่อนโดยฐานะที่ทดลองดูเพื่อเป็นการรักษาสังฆประเพณี ระเบียบแบบแผนของผู้ที่เราเคารพนับถือกราบไหว้เอาไว้ก่อน

อีกประการหนึ่งได้ระลึกถึงคำพูดของพระมหากัสสปะ ซึ่งเป็นผู้ถือเคร่งครัดในธุดงค์ เช่น ถือการอยู่ป่า ฉันอาหารแต่มื้อเดียว ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ท่านได้ขอปฏิบัติตัวของท่านอย่างนี้ตลอดชีพ ในเรื่องนี้พระองค์ได้ทรงซักถามพระมหากัสสปะว่า “ท่านเป็นผู้สิ้นอาสวะแล้ว ท่านขวนขวายเพื่อเหตุอะไร”

พระมหากัสสปะตอบว่า “ข้าพระองค์มุ่งประโยชน์ของกุลบุตรผู้จะเกิดตามมาสุดท้ายภายหลังไม่ได้มุ่งประโยชน์ส่วนตัว เมื่อข้าพระองค์ไม่ทำ จะเอาใครเป็นตัวอย่าง เพราะการสอนคนนั้นถ้ามีตัวอย่างสอนได้ง่าย เปรียบเสมือนการสอนภาษาหนังสือ เขาทำแบบหรือรูปภาพประกอบการสอน เป็นเหตุให้ผู้เรียน เรียนได้สะดวกขึ้นอีกมาก ถ้าพระองค์ประพฤติเช่นนี้ฉันใด ก็ฉันนั้น”
78#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 18:55 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อได้ระลึกถึงคำพูดของพระมหากัสสปะ ซึ่งได้ทูลตอบพระบรมศาสดาเช่นนี้ ก็สงสารพระมหากัสสปะท่านอุตส่าห์ตรากตรำทรมาน ถ้าเปรียบในทางโลกท่านก็เป็นถึงมหาเศรษฐี ควรได้นอนที่นอนที่ดีๆ กินอาหารที่ประณีต ตรงกันข้ามท่านกลับสู้อุตส่าห์มาทนลำบากนอนกลางดิน กินกลางหญ้า ฉันอาหารก็ไม่ประณีต เปรียบเทียบกับตัวเราเสมอเพียงแค่นี้ จะมาหาแต่ความสุขใส่ตัวแค่อามิส ก็บังเกิดความละอายใจ สำหรับพระมหากัสสปะเวลานั้นท่านจะบริโภคอาหาร นั่ง นอน ในที่สวยงามเท่าไรก็ตาม ย่อมไม่มีปัญหาใดๆ ที่จะเป็นไปเพื่ออาสวะกิเลสเสียแล้ว แต่ว่าเป็นของไม่แปลก ท่านกลับเห็นประโยชน์ที่จะเกิดแก่บรรดาสานุศิษย์

ฉะนั้น เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นข้อสะกิดใจเรามานับตั้งแต่เริ่มบวชในครั้งแรก

เมื่อพูดถึงเรื่องการอยู่ป่า ก็เป็นของแปลกประหลาดเตือนใจเราอยู่มาก เช่น บางคราวได้มองเห็นความตายอย่างใกล้ชิด และได้รับคำเตือนใจหลายอย่าง บางคราวก็เกิดจากคนในป่า บางคราวก็เห็นพฤติการณ์ของสัตว์ในป่า สมัยหนึ่ง มีตาแก่ยายแก่สองคนผัวเมีย พากันไปตักน้ำมันยางในกลางดงใหญ่ เผอิญไปพบหมีใหญ่ตัวหนึ่ง ได้เกิดการต่อสู้กันขึ้น เมียหนีขึ้นต้นไม้ทัน แล้วร้องตะโกนบอกผัวว่า “ถ้าสู้มันไม่ไหว ให้ลงนอนหงายนิ่งๆ ทำเหมือนคนตาย อย่ากระดุกกระดิก” ฝ่ายผัวพอได้ยินเมียร้องบอกดังนั้นก็ได้สติ แกจึงแกล้งล้มลงนอนแผ่ลงกลางพื้นดิน และนอนนิ่งๆ ไม่ไหวตัว เมื่อหมีเห็นดังนั้นก็ขึ้นคร่อมตัวตาแก่ไว้ ปล่อยมือปล่อยตีน ไม่ตะปบตาแก่อีก เป็นแต่มองดูตาแก่ที่กำลังนอนหงายอยู่นั้น ตาแก่ก็ได้แต่นอนบริกรรมภาวนาได้คำเดียวว่า “พุทโธ พุทโธ” พร้อมทั้งนึกในใจว่า “เราไม่ตาย” หมีก็ดึงขา ดึงศีรษะแกแล้วใช้ปากดันตัวแกทางซ้ายทางขวา แกก็ทำเป็นนอนตัวอ่อนไปอ่อนมาไม่ยอมฟื้น หมีเห็นดังนั้นก็คิดว่าตาแก่คงตายแล้ว มันจึงหนีไป ต่อจากนั้นสักครู่หนึ่งแกก็ลุกขึ้น เดินกลับบ้านกับเมีย บาดแผลที่แกได้รับคือหัวถลอกปอกเปิกแต่ไม่ตาย

แกก็สรุปให้ฟังว่า “สัตว์ป่าต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าเราเห็นว่าจะสู้ไม่ไหว ต้องทำตัวเหมือนคนตาย” เมื่อเราได้ฟังแกเล่าแล้ว ก็ได้ความรู้ขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่า คนตายไม่มีใครต้องการ เราอยู่ในป่าเราก็ควรทำตนเหมือนคนตาย ฉะนั้นใครจะว่าดีหรือชั่วประการใด เราต้องนิ่งสงบกาย วาจา ใจ จึงจะรอดตาย เป็นอุทาหรณ์เตือนใจได้อีกอย่างหนึ่งในทางธรรมะว่า “คนที่จะพ้นตาย ต้องทำตนเหมือนคนตาย” ก็เป็นมรณสติเตือนใจได้เป็นอย่างดี

อีกครั้งหนึ่ง ได้ไปพักอยู่ในดงใหญ่แห่งหนึ่ง วันหนึ่งเวลาเช้าสางๆ ได้พาลูกศิษย์ออกบิณฑบาต พอเดินผ่านดงไปได้ยินเสียงแม่ไก่ร้อง “กะต๊ากๆ” ฟังเสียงดูเป็นเสียงไก่แม่ลูกอ่อน เพราะเมื่อส่งเสียงร้องแล้วไม่ยอมบิน จึงให้ลูกศิษย์วิ่งไปดู แม่ไก่ตกใจก็บินข้ามต้นไม้สูงหนีไป เห็นลูกไก่วิ่งอยู่หลายตัว มันพากันวิ่งหนีเข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในกองใบไม้ร่วง แล้วทุกตัวก็นิ่งเงียบ ไม่ยอมไหวตัวไม่ยอมกระดุกกระดิก แม้จะเอาไม้คุ้ยเขี่ยดู ก็ไม่ยอมกระดุกกระดิก เด็กลูกศิษย์ไปหาอยู่พักหนึ่ง ไม่ได้พบลูกไก่เลยแม้แต่ตัวเดียว แต่เรานึกในใจว่ามันไม่ได้หนีไปไหน แต่มันทำตัวเหมือนใบไม้ร่วง ในที่สุดลูกไก่ตัวนิดๆ จับไม่ได้สักตัวเดียว เรื่องนี้ก็เป็นเหตุให้นึกถึงสัญชาตญาณการป้องกันภัยของสัตว์ ว่ามันก็มีวิธีการที่ฉลาด มันทำตัวของมันให้สงบ ไม่มีเสียงในกองใบไม้ร่วง จึงได้เกิดการนึกเปรียบเทียบขึ้นในใจตนเองว่า “ถ้าเราอยู่ในป่า ทำจิตให้สงบไม่ไหวตัวเช่นเดียวกับลูกไก่ เราก็ต้องได้รับความปลอดภัย พ้นความตายแน่นอน” ก็เป็นคติเตือนใจได้อีกเรื่องหนึ่ง
79#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 18:55 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
นอกจากนี้ เมื่อนึกถึงธรรมชาติอื่นๆ เช่น ต้นไม้ เถาวัลย์ สัตว์ป่า แต่ละอย่างเหล่านี้ ล้วนเป็นเครื่องปลุกใจได้เป็นอย่างดี เช่น เถาวัลย์บางชนิดพันต้นไม้ไม่มีเลี้ยวไปทิศทางอื่นต้องพันเลี้ยวไปทางทักษิณาวัตรเสมอ สังเกตเห็นเช่นนี้ก็มาระลึกถึงตัวหากเราจะทำจิตให้ก้าวไปสู่ความดีอันยิ่งยวด เราต้องเอาอย่างเถาวัลย์คือเดินทางทักษิณาวัตร เพราะพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงว่า “กายกัมมัง วจีกัมมัง มโนกัมมัง ปทักขิณัง” ฉะนั้น เราต้องทักษิณาวัตรคือ เวียนไปทางทักษิณเสมอ นั่นคือเราต่อสู้ทำตนให้เหนือกิเลสที่จะลุกลามใจ มิฉะนั้น เราก็สู้เถาวัลย์ไม่ได้ ต้นไม้บางชนิดมันแสดงความสงบให้เราเห็นด้วยตา ที่เราเรียกกันว่า “ต้นไม้นอน” ถึงเวลากลางคืนมันหุบใบ หุบก้าน เมื่อเราไปนอนอยู่ใต้พุ่มไม้ต้นนั้น จะมองเห็นดาวเดือนอย่างถนัดในเวลากลางคืน แต่พอถึงเวลากลางวันแผ่ก้านแผ่ใบมืดทึบอย่างนี้ก็มี เรื่องเหล่านี้ก็ล้วนเป็นคติเตือนใจว่าขณะเรานั่งสมาธิหลับตาภาวนานั้น ให้หลับแต่ตา ส่วนใจเราต้องให้สว่างไสว เหมือนต้นไม้นอนในเวลากลางคืน ซึ่งใบไม้ไม่ปิดตาเรา

เมื่อระลึกนึกคิดได้อย่างนี้ ก็ได้แลเห็นประโยชน์ของการอยู่ป่า จิตใจก็เกิดความห้าวหาญ ธรรมะธรรมโมที่ได้เรียนมา หรือที่ยังไม่ได้เรียนรู้ ก็ได้ผุดมีขึ้นเพราะธรรมชาติเป็นผู้สอน จึงได้มานึกถึงหลักวิทยาศาสตร์ของโลก ที่ทุกประเทศพากันทำฤทธิ์ทำเดชต่างๆ นานา และทำได้อย่างสูงๆ น่ามหัศจรรย์ ล้วนแต่ไม่ปรากฏว่ามีตำราในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยมาแต่ก่อน นักวิทยาศาสตร์พากันคิดได้จากหลักธรรมชาติ ซึ่งปรากฏมีอยู่ในโลกนี้ทั้งสิ้น เรามาหวนคิดถึงธรรมะก็มีอยู่ตามธรรมชาติเหมือนวิทยาศาสตร์นั่นเอง เมื่อคิดได้อย่างนี้ก็หมดห่วงในเรื่องการเรียน แล้วมาระลึกถึงพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ล้วนแต่ได้เรียนสำเร็จจากหลักธรรมชาติทั้งนั้นไม่ปรากฏว่าเคยมีตำรับตำรามาแต่ก่อน

ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังได้กล่าวมาข้างต้นนี้ ตัวเราจึงยอมโง่ทางแบบและตำรา ต้นไม้บางชนิดมันนอนกลางคืน แต่ตื่นกลางวัน บางชนิดก็นอนกลางวันแต่ตื่นกลางคืน สัตว์ป่าก็เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นยังได้ความรู้จากพฤกษชาติ ซึ่งมันคลายรสในตัวของมันออก บางชนิดก็เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย บางชนิดก็เป็นโทษแก่ร่างกาย อาทิ เช่น บางคราวเราเป็นไข้ เมื่อเข้าไปอยู่ใต้ต้นไม้บางชนิด อาการไข้ก็หายไป บางคราวเราสบายดี แต่พอเข้าไปอยู่ใต้ต้นไม้บางชนิด ธาตุก็เกิดแปรปรวน บางคราวเราหิวข้าวหิวน้ำ แต่พอเข้าไปอยู่ใต้ต้นไม้บางชนิด อาการหิวเหล่านั้นก็หายไป การได้ความรู้ต่างๆ จากพฤกษชาติเช่นนี้ เป็นเหตุให้นึกถึงแพทย์แผนโบราณ ซึ่งนิยมสร้างรูปฤๅษีไว้เป็นที่เคารพบูชา ฤๅษีนั้นไม่เคยได้เรียนตำรายามาแต่ก่อน แต่มีความสามารถสอนแพทย์แผนโบราณให้รู้จักยารักษาโรคได้ โดยวิธีการเรียนธรรมชาติโดยทางจิตเหมือนอย่างตัวเรานี้เอง น้ำ พื้นแผ่นดิน หรืออากาศธาตุก็เช่นเดียวกัน

ฉะนั้น เมื่อทราบเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ เราก็ไม่ค่อยจะสนใจในเรื่องยารักษาโรค คือเห็นว่ามันมีอยู่ทั่วไป ส่วนที่ว่าเราจะรู้หรือไม่รู้ อันนั้นเป็นเรื่องของตัวเราเอง นอกจากนั้นยังมีคุณความดี อย่างอื่นที่จะต้องบริหารตัวเอง นั่นคืออำนาจแห่งดวงจิตที่สามารถทำให้สงบระงับลงได้อย่างไร ก็ยิ่งมีคุณภาพสูงขึ้นไปยิ่งกว่านี้อีกหลายสิบเท่า ซึ่งเรียกว่า “ธรรมโอสถ” สรุปแล้ว คุณประโยชน์ที่ได้รับในการอยู่ป่าที่สงัดเพื่อปฏิบัติทางจิตนี้ เห็นจริงตัดข้อสงสัยในคำสอนของพระตถาคตได้เป็นข้อๆ ด้วยเหตุนี้ เราจึงยอมปฏิบัติตนเพื่อ “วิปัสสนาธุระ” ตลอดไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นเนื้อที่ในการที่ได้ปฏิบัติทางจิตนี้ ถ้าจะนำมาพรรณนาก็มีอยู่มากมาย แค่จะขอกล่าวแค่เพียงสั้นๆ เสมอเพียงเท่านี้
80#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 18:56 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

วิหารสุทธิธรรมรังสี ในปัจจุบัน ณ วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
เป็นอาคารจตุรมุข ๓ ชั้น ส่วนยอดของวิหารเป็นมณฑปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
ภายในวิหารได้ประดิษฐานสรีระพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้