|
ถึงกาลของผู้มีแสงสว่างในธรรม
เขียนโดย...อำพล เจน
มีคำพูดอยู่ประโยคหนึ่ง “หมอตำแย ทำงานส่งสัปเหร่อ”
นั่นหมายถึง เกิดแล้วต้องตาย ถ้าไม่อยากตายต้องไม่อยากเกิด
ในทางโลกการเกิดเป็นเรื่องน่ายินดี การตายเป็นเรื่องน่าเศร้าใจ ในทางธรรมการเกิดเป็นเรื่องน่าเศร้าใจ การตายเป็นการสิ้นทุกข์ไปคราวหนึ่ง เว้นแต่ผู้ถึงซึ่งพระนิพพาน การตายครั้งสุดท้ายจะปรากฏ แต่ใครจะรู้นอกจากตัวเอง
หลวงพ่อบุญมี โชติปาโล วัดสระประสานสุข อุบลราชธานี ได้ถึงกาลมรณภาพแล้วเมื่อเวลา 11.45 น. ของวันที่ 4 มิถุนายน 2547 มีอายุรวม 95 ปี 3 เดือน 4 วัน
เพิ่งรู้ว่าตัวเองยังไปไม่ถึงไหน ยังอยู่ในโลกอันตระการดุจราชรถที่คนเขลามัวข้องอยู่ เพราะว่าเศร้าเหลือพรรณนา
ในรอบ 50 ปีหลังนี้ เมืองอุบลฯ มีครูบาอาจารย์ 2 องค์เป็นหลัก คือ หลวงพ่อชา สุภัทโท กับ หลวงพ่อบุญมี โชติปาโล ที่อาจกล่าวได้ว่ามีคุณธรรมเสมอกัน เป็นหลักยึด 2 หลักให้คนกำลังค้นหาแสงสว่างในธรรมได้ยึด แต่แล้วธรรมชาติก็ทำงานของมันไปอย่างไม่ปรานี มันทำลายอายุขัย และสังขารของหลักยึดทั้งสองให้สิ้นไปในที่สุด ธรรมชาติอีกเหมือนกันที่ยังให้คุณแก่ผู้ยังอยู่ได้มีความทรงจำที่ดีต่อไป
ความทรงจำแจ่มชัดในวัยเด็กอันเกี่ยวข้องกับ หลวงพ่อบุญมี โชติปาโล มีแม่ของผมรวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง แม่ผู้ซึ่งมีหลวงพ่อเป็นพระในใจอยู่ตลอดเวลา กับการแสดงออกด้วยการเดินทางไปกราบนมัสการ ถวายอาหาร และข้าวของทุกวันหยุดประจำสัปดาห์ นั่นจึงเป็นเหตุให้มีผมได้ร่วมเดินทางทุกครั้ง
วันเสาร์เมื่อไหร่จะบอกตนเองเตรียมพร้อมไว้ ถ้าวันนี้แม่ไม่ไป ก็จะเป็นวันพรุ่งนี้อย่างไม่ต้องสงสัย
สมัยนั้น (ราวๆ ปี 2505) สนามบินนานาชาติทุกวันนี้ ยังมีสภาพไปทุ่งโล่ง มีลานบินคอนกรีตอยู่แค่ให้เครื่องบินขนาดเล็กขึ้นลงได้ เราใช้สนามบินเป็นทางเดินเท้าที่ลัดที่สุดเพื่อไปวัดหลวงพ่อ โดยการเดินผ่านสนามบินทุกสัปดาห์ และมีเพื่อนร่วมทางบ่อยที่สุดของแม่คือ น้าชัยฮวดซิ้ม กับอีกคนที่ไม่ถึงกับบ่อยนักคือ อาเหรียญฟ้ากู๊ ซึ่งมีลูกสาวรุ่นราวคราวเดียวกับผมคือ ปอเตียง ทั้งยังเรียนอยู่โรงเรียนเดียวกัน ห้องเดียวกันอีกด้วย
ปอเตียง เป็นเด็กเรียนเก่ง สอบได้ที่ 1 ทุกครั้ง ส่วนผมที่เป็นทั้งเพื่อนสนิทในตอนนั้น ทั้งเป็นญาติกันอีกต่างหาก ยังแค่ปานกลาง คือสอบได้ลำดับประมาณ 10 จะอ่อนแก่ก็แล้วแต่จังหวะของข้อสอบ
ครั้งหนึ่งผมสอบได้ที่ 2 ส่วนปอเตียงยังคงได้ที่ 1 เหมือนเดิม เกิดเหตุอัศจรรย์ไปทั้งวงศ์สกุล แต่เบื้องหลังไม่มีใครทราบข้อเท็จจริง นอกจากปอเตียงกับผม 2 คน
ปอเตียงให้ผมลอกข้อสอบ ไม่ใช่ย่อย รู้จักทุจริตข้อสอบตั้งแต่อายุแค่ 7 ขวบ
นั่นแหละครับ ผมจึงมีเพื่อนคนเดียวที่ได้ร่วมเดินทางไปวัดหลวงพ่อในขณะที่แม่มีเพื่อน 2 คน
ระหว่างเดินลัดสนามบิน หน้าฝนมีน้ำเจิ่ง และทุ่งดอกหญ้าสารพัดชนิด เด็กๆ 2 คน ไม่เบื่อเลยที่จะวิ่งเก็บดอกไม้ และเอาเท้าทั้ง 2 ข้างวิ่งลุยน้ำ กลิ่นอายของต้นหญ้า ดอกไม้ และน้ำฝน ยังคงจำได้ทุกวันนี้
หลวงพ่อในสมัยนั้นกับสมัยปลายชีวิตของท่านยังอยู่ ในอิริยาบถและบรรยากาศเก่าๆ ยังนั่งอยู่บนศาลาพื้นเตี้ย ทำได้ด้วยไม้ มุงสังกะสี คล้ายๆ เพิงหมาแหงน แม้ว่าวัดจะใหญ่โตมโหฬารแค่ไหน ศาลาไม้เก่าๆ ยังอยู่
จำไม่ลืมคือการเหยียบหัว
ผมถูกเหยียบหัวทุกครั้งที่พบท่านในวัยเด็กทั้งชอบและเกลียด สถานการณ์แบบนี้ คือชอบเพราะรู้สึกอบอุ่นใกล้ชิด เกลียดเพราะท่านรู้ความลับที่ผมมีอยู่ในใจคนเดียวได้อย่างไร
คำสอนพรั่งพรูออกจากปาก คำเดียวที่จำแม่นคือ ให้ปรนนิบัตกราบไหว้พระแก้ว 2 องค์ที่บ้าน คือ พ่อ กับ แม่ สอนอยู่เช่นนี้จนแม้ปลายชีวิตของท่านยังสอนไม่เสร็จ
ใช่แต่ผม ท่านสอนทุกคน ไม่เลือกชั้นวรรณะ ให้รู้จักกตัญญูกตเวทิตาแก่พระแก้วที่บ้าน
เหมือนว่าเป็นคุณธรรมแห่งอนาคต ที่ทำนายว่าวันหนึ่งพระจะลงนรกกันหมด ทำบุญกับพ่อแม่ในตอนนั้นจะมีอานิสงส์มากที่สุด ไม่มีทางรู้ว่าสมัยอันนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่
แต่ท่านสอนให้ระลึกถึงพระแก้ว 2 องค์อยู่เป็นนิตย์ เป็นเหตุให้การกราบพระก่อนเข้านอนของผมมี 6 ครั้ง จนถึงวันที่กลายเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว พระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์, หลวงพ่อบุญมี, พ่อ, แม่
แปลกที่ความทรงจำของผมจะมีอยู่แค่ช่วงสั้นๆ แต่เพียงครั้งยังเด็ก นึกถึงหลวงพ่อเมื่อใด วัยเด็กแจ่มชัดทุกคราว แม้เห็นผ้าเช็ดหน้าที่ท่านลงอักขระด้วยปลายนิ้วชี้ ที่ทำให้ผมแต่คราวโน้น ความทรงจำก็มีอยู่แค่คราวนั้น
ผ้าเช็ดหน้าสีขาวกลายเป็นเหลืองหม่น เป็นของมงคลอันเดียวที่ผมมีไว้ระลึกถึงท่าน
วันที่แม่ใกล้จะสิ้นอายุขัย หลวงพ่อบุญมีอุ้มบาตรมาเยี่ยมไข้ที่แสนหนักถึงบ้าน เพื่อให้แม่ได้ใส่บาตร ก็เป็นอีกภาพหนึ่งที่ไม่ลืม
ยังพอมีความทรงจำที่แจ่มใสอีกอันหนึ่ง เกิดขึ้นในคราวที่ทุกสิ่งทุกอย่างหายไปจากชีวิต หรือว่าชีวิตของผมหายไปจากทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่ทราบ พ่อแม่ตาย อาเหรียญฟ้าตาย ปอเตียงหายสาบสูญ ไปไหนไม่รู้
ผมกลับมาหาหลวงพ่ออีกครั้ง หลังจากไม่พบท่านเกือบ 30 ปี
เดินเข้าไปในวัดอย่างคุ้นเคยเช่นเดิม ไม่พบหลวงพ่อ แต่คนวัดบอกว่าท่านอยู่อีกด้านหนึ่งของวัด ผมมุ่งหน้าไป เห็นพระแก่ๆ นั่งยองเอาผ้าคลุมหัวอยู่ใต้ร่มไม้ เข้าไปกราบด้วยแน่ใจว่าเป็นท่าน
“มาหาใคร”
“มาหาหลวงพ่อ”
“นี่ไม่ใช่หลวงพ่อ หลวงพ่ออยู่โน่น” ท่านชี้ไปทางศาลาการเปรียญ
ผมถอยกลับออกมาพอดีพี่สาวตามมาถึง ผมบอกว่าหลวงพ่ออยู่ที่ศาลา
“ใครบอก”
“หลวงพ่อองค์ที่นั่งอยู่นั่นแหละบอก”
“นั่นแหละหลวงพ่อ”
กลับเข้าไปใหม่ กราบท่านพร้อมๆ กับพี่สาว ท่านไม่พูดอะไร จนกระทั่งพี่สาวกราบเรียนท่านว่า
“น้องชายหล่า (สุดท้อง) มาแต่กรุงเทพฯ พามากราบหลวงพ่อ หลวงพ่อจำได้ไหมเจ้าคะ”
“นี่ไม่ใช่น้องชายหล่า” ท่านตอบ
ผมไม่รู้ปริศนาธรรมอันนี้ แต่ผมจำได้แม่นไม่เคยลืม
ไม่มีอะไรใช่ทุกอย่าง
ไม่ใช่ไปหมดทุกอย่าง
จนถึงวันนี้ วันที่หลวงพ่อจากไปแล้ว และขณะที่กำลังรำลึกถึงท่านตามแบบของผม ก็ยังไม่รู้ว่าใช่หรือไม่
บางทีจะค้นพบแสงสว่างแห่งธรรม แล้วเข้าใจว่านั่นไม่ใช่แสงสว่างแห่งธรรม จึงจะเป็นวันที่เข้าใจปริศนาของคำว่าไม่ใช่ ก็ได้ใครจะรู้
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศักดิ์สิทธิ์ ฉบับที่ 516 วันที่ 1 กรกฎาคม 2547
http://www.ampoljane.com/index.php?opti ... &Itemid=81
|
|