|
๏ เป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมิการาม
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ หลวงปู่ได้มาอยู่ที่วัดธรรมิการาม บ้านบึงโน บ้านเกิดของท่าน แล้วได้รับมอบหน้าที่ให้เป็นเจ้าอาวาสปกครองดูแลวัด หลวงปู่ได้พัฒนาวัดและก่อสร้างเสนาสนะที่ยังขาดแคลน เช่น ศาลาการเปรียญ กุฏิ และโรงครัว เป็นต้น อีกทั้งหลวงปู่ยังมีส่วนสำคัญในการนำความเจริญมาสู่หมู่บ้าน เช่น ถนน ไฟฟ้า และบ่อน้ำ เป็นต้น เมื่ออยู่ที่นั่นเป็นเวลาติดต่อกันนานพอสมควร หลวงปู่ก็ออกไปปลีกวิเวกและปฏิบัติภาวนา พำนักจำพรรษาสถานที่อื่นบ้าง โดยไปอยู่วัดประชาอุทิศ อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร
พอออกพรรษา ก็กลับมายังวัดธรรมิการามอีกครั้ง ไปๆ มาๆ เช่นนี้อยู่เป็นหลายครั้ง เมื่อเห็นว่าวัดธรรมิการามมีความเจริญ และความสะดวกสบายในด้านต่างๆ พอสมควร ในต้นปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ท่านก็ได้ตัดสินใจวางภาระต่างๆ ให้พระลูกศิษย์ใกล้ชิดที่ท่านไว้วางใจคือ พระอาจารย์อัศวิน วรญาโณ ให้เป็นผู้รักษาการแทน
หลังจากนั้นหลวงปู่ก็ออกไปหาวิเวกที่วัดป่าดงเจริญ บ้านดงเจริญ อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร ระยะหนึ่ง แล้วก็ลงมาทางภาคตะวันออก พักอยู่ที่วัดถ้ำประทุนประมาณ ๗ วัน (สมัยนั้นชื่อวัดตรอกแซง) หลังจากนั้นหลวงปู่ก็ได้เดินทางไป จ.จันทบุรี ในปีนั้นหลวงปู่ตั้งใจจะไปจำพรรษาที่เกาะช้าง พอดีช่วงนั้นมีพายุเข้าฝนตกหนักเลยข้ามไปเกาะไม่ได้ ช่วงนั้นเป็นเวลาจวนจะเข้าพรรษาพอดี หลวงปู่จึงตัดสินใจจำพรรษาที่วัดใหม่ดำรงธรรม อ.ขลุง จ.จันทบุรี หลังจากออกพรรษาของปีนั้น คณะญาติโยมทาง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี (คณะโยมแฉล้มและโยมอรุณี) ได้ไปนิมนต์หลวงปู่ให้กลับมาอยู่ที่วัดถ้ำประทุน เพราะเวลานั้นเจ้าอาวาสวัดได้ลาสิกขาบทไป ทำให้ขาดครูบาอาจารย์ที่จะมาปกครองดูแลวัด หลวงปู่จึงได้รับนิมนต์กลับมาอยู่ที่วัดถ้ำประทุนอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๓ เป็นต้นมา และได้อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ให้พระภิกษุสามเณร ตลอดจนญาติโยมที่ได้มากราบไหว้ก็เริ่มรู้จักหลวงปู่กันมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน สมัยที่หลวงปู่มาอยู่ใหม่ๆ เสนาสนะที่จำเป็นเช่น กุฏิ มีจำนวนน้อยไม่เพียงพอ ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีพระภิกษุสามเณร เข้ามาอยู่กับหลวงปู่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ท่านต้องสร้างเสนาสนะ (กุฏิ) และสิ่งที่จำเป็นหลายอย่างเพิ่มขึ้น
หลายปีผ่านไปหลวงปู่ก็มาพิจารณาเห็นว่าพระอุโบสถหลังเก่าอยู่ที่วัดศรีชมพู ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง ของบ้านบึงโน ตั้งแต่สมัยที่หลวงปู่ยังเป็นพระบวชใหม่ บัดนี้เกิดชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก หลวงปู่เลยคิดยากจะรื้อแล้วทำขึ้นใหม่ ท่านจึงดำริจะสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น เพื่อให้วัดต่างๆ ที่อยู่ในละแวกนั้นได้มาทำสังฆกรรมร่วมกัน มีการลงอุโบสถทุกกึ่งเดือน เป็นต้น และใช้เป็นสถานที่สำหรับอุปสมบทกุลบุตรลูกหลานมาจากที่ต่างๆ อีกด้วย อาศัยศรัทธาจากญาติโยมทางพัทยา จังหวัดชลบุรี กรุงเทพฯ และคนในพื้นที่บ้าง ช่วยกันดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ โดยมีนายสมเดช ดำรงค์กิจไพบูลย์ เป็นผู้ดูแลการก่อสร้าง ในระยะเวลา ๔ ปี งบประมาณ ๑๒ ล้านบาท และได้ใช้ประโยชน์มาจนถึงทุกวันนี้
ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๘ และ ๒๕๓๙ หลวงปู่ได้อาพาธหนักเป็นครั้งแรก ต้องเข้ารับการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ที่โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ ถึงสองครั้ง อาการของหลวงปู่ก็ดีขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ไม่แข็งแรงเหมือนก่อน ต้องพักฟื้นอยู่เป็นเวลานาน ต้องหลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องใช้กำลังมาก การทำงานต่างๆ ภายในวัด จึงว่างเว้นไปอยู่หลายปี หลังจากสุขภาพท่านพอจะทรงตัวได้ดี ท่านก็เริ่มหันมาพัฒนาสภาพวัดถ้ำประทุน ที่ยังไม่ค่อยลงตัวอีกครั้ง เนื่องจากจำนวนพระภิกษุสามเณรเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้ที่อยู่อาศัย น้ำอุปโภคบริโภคก็ไม่ค่อยพอใช้ หลวงปู่จึงได้จัดทำโครงการขุดสระน้ำขนาด ๘ ไร่ (งบประมาณ ๑,๓๐๐,๐๐๐ บาท) ซึ่งก็ได้รับความร่วมแรงร่วมใจ จากคณะลูกศิษย์และคนในพื้นที่เป็นอย่างดีจนแล้วเสร็จ หลังจากนั้นทางวัดก็มีน้ำใช้อุดมสมบูรณ์ จนสามารถรองรับคณะลูกศิษย์ได้เป็นจำนวนหลายพันคน
สำหรับการก่อสร้างเสนาสนะ หลวงปู่ท่านก็เมตตา ทยอยสร้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งกุฏิของพระภิกษุ สามเณร และแม่ชี รวมถึง อุบาสก อุบาสิกา ฆราวาสที่มารักษาศีลที่วัดเป็นครั้งคราว เพื่อให้ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้รับความสะดวกสบาย ปัจจุบันวัดมีความเจริญและสะดวกสบาย เช่น มีการปูพื้นซีเมนต์บริเวณกว้าง เพื่อลดปัญหาการชะดินของน้ำ เนื่องจากสภาพวัดเป็นภูเขา ไม่ได้เป็นที่ราบเสมอกัน และยังอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่มาทำบุญ ได้มีที่จอดรถสะดวกสบาย โดยเฉพาะวันงานสำคัญต่างๆ ซึ่งมีลูกศิษย์มาทำบุญเป็นจำนวนมาก จนรู้สึกว่าสถานที่คับแคบไปถนัดตา มีการปลูกป่าเพิ่มเติมนับเป็นหมื่นต้น มีการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี ในอนาคตที่นี่จะเป็นป่าใหญ่อุดมสมบูรณ์ อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดชลบุรี นอกจากนี้ยังมีงานก่อสร้างอื่นๆเช่นตึกสงฆ์อาพาธ วิหารสำหรับเก็บพระพุทธรูปและบำเพ็ญกุศล โรงเก็บวัสดุ ห้องน้ำสำหรับญาติโยม เป็นต้น
|
|