แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย Sornpraram เมื่อ 2013-10-1 07:14
๕. ทำอะไรไม่ผิดเลย ก็คือไม่ทำอะไรเลย
“DO NO WRONG IS DO NOTHING”
จงระลึกถึงคติพจน์ ว่า “Do no wrong is do nothing!” “ ทำอะไรไม่ผิดเลย ก็คือไม่ทำอะไรเลย ”
ความผิดนี้แหละ เป็นครูอย่างดี ควรจะรู้สึกบุญคุณของตัวเอง ที่ทำอะไรผิดพลาด และควรสบายใจที่ได้พบกับอาจารย์ผู้วิเศษ คือความผิด จะได้ตรงกับคำว่า “ เจ็บแล้วต้องจำ” ตัวทำเอง ผิดเอง นี้แหละเป็นอาจารย์ผู้วิเศษ เป็น Good example ตัวอย่างที่ดี เพื่อจะได้จดจำไว้สังวรระวังไม่ให้ผิดต่อไป แล้วตั้งต้นใหม่ด้วยความไม่เลินเล่อเผลอประมาท อดีตที่ผิดไปแล้วก็ผ่านพ้นล่วงเลยไปแล้ว แต่อาจารย์ผู้วิเศษยังคงอยู่คอยกระซิบเตือนใจอยู่เสมอทุกขณะ ว่า “ ระวัง อย่าประมาทนะ ! อย่าให้ผิดพลาดเช่นนั้นอีกนะ !”
ผิดหนึ่งพึงจดไว้ ในสมอง
เร่งระวังผิดสอง ภายหน้า
สามผิดเร่งคิดตรอง จงหนัก เพื่อนเอย
ถึงสี่อีกทีห้า หกซ้ำอภัยไฉน !
จงสังเกตพิจารณาดูให้ดีเถิด จะเห็นได้ว่า นักค้นคว้าวิทยาศาสตร์ทางโลกก็ดี และท่านผู้วิเศษที่เป็นศาสดาจารย์ในทางธรรมทั้งหลายก็ดี ล้วนแต่ผ่านพ้นอุปสรรค ความผิดพลาดนับครั้งไม่ถ้วนมาแล้วด้วยกันทุกท่าน
๖.สติสัมปชัญญะ
(ความระลึกได้ และความรู้ตัว)
ที่จะทำอะไรไม่ผิดนั้น ข้อสำคัญอยู่ที่สติ ถ้ามีสติคุ้มครองกายวาจาใจอยู่ทุกขณะ จะทำอะไรไม่ผิดพลาดเลย ที่ผิดพลาดเพราะขาดสติ คือ เผลอ เหม่อ เลินเล่อ ประมาท ระเริง หลงลืม จึงผิดพลาด จงนึกถึงคติพจน์ว่า “ กุมสติต่างโล่ป้อง อาจแกล้วกลางสนาม ”
*
ธรรมดาชีวิตทุกชนิด ทั้งมนุษย์และสัตว์ ตลอดทั้งพืชพันธุ์พฤกษาชาติ เป็นอยู่ได้ด้วยการต่อสู้ ตรงกับคำว่า “Life is fighting” “ ชีวิตคือการต่อสู้ ” เมื่อต่อสู้ไม่ไหวขณะใด ก็ต้องถึงที่สุดแห่งชีวิต คือ death ความตาย เพราะฉะนั้นยังมีสติอยู่ตราบใด ถึงตายก็ตายแต่กายเช่นกับชีวิตของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ท่านมีสติไพบูลย์อยู่ทุกขณะจิต ท่านจึงทำอะไรไม่ผิดและถึงซึ่งอมตธรรม คือธรรมที่ไม่ตาย ตรงกับคำว่า immortal จึงเรียกว่า ปรินิพพาน คือนามรูปสังขารร่างกายที่เรียกว่าเบญจขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แตกดับไปเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ควรฝึกฝนสติ (ความระลึกรู้ก่อนทำ ก่อนพูด ก่อนคิด) สัมปชัญญะ (รู้ตัวอยู่ทุกขณะที่กำลังทำอยู่ พูดอยู่ คิดอยู่) เมื่อทำเสร็จแล้ว ก็มีสติตรวจตราพิจารณาดูว่าบกพร่องอย่างไร หรือเรียบร้อยบริบูรณ์ดี ถ้าบกพร่องก็รีบแก้ไขเพื่อให้สมบูรณ์ต่อไป ถ้าเรียบร้อยดีอยู่แล้ว ก็พยายามให้เรียบร้อยดียิ่ง ๆ ขึ้นไป จนถึงที่สุด
๗. อานุภาพของไตรสิกขา
คือ
ศีล สมาธิ ปัญญา
ด้วยอานุภาพของไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญานี้แล จึงชนะ ข้าศึก คือ กิเลส อย่าหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียดได้ !
ก) ชนะความหยาบคาย ซึ่งเป็นกิเลสอย่างหยาบที่ล่วงทางกาย วาจาได้ ด้วยศีล!
ชนะความยินดียินร้าย หลงรัก หลงชัง ซึ่งเป็นกิเลสอย่างกลางที่เกิดในใจได้ ด้วยสมาธิ
ชนะความเข้าใจ รู้ผิด เห็นผิด จากความเป็นจริง ของสังขารซึ่งเป็นกิเลสอย่างละเอียดได้ ด้วยปัญญา
ข) ผู้ใดศึกษาและปฏิบัติตามไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญานี้โดยพร้อมมูล บริบูรณ์ สมบูรณ์แล้ว ผู้นั้นจึงเป็นผู้พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้เป็นแน่นอน ไม่ต้องสงสัยเลย
เพราะฉะนั้น จึงควรสนใจ เอาใจใส่ ตั้งใจศึกษา และปฏิบัติตามไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี้ทุกเมื่อเทอญ
๘. ดอกมะลิ
ดอกมะลิ เป็นดอกไม้ที่ถูกรับรองแล้วว่าเป็นดอกไม้ที่หอมเย็นชื่นใจที่สุด และขาวบริสุทธิ์ที่สุดในบรรดาดอกไม้ทั้งหลาย
ชีวิตของมนุษย์ที่เป็นอยู่ก็เช่นเดียวกับการเล่นละคร ขอให้เป็นตัวเอกที่มีชื่อเสียงที่สุดเช่นเดียวหรือลักษณะเดียวกับดอกมะลิ อย่าเป็นตัวผู้ร้ายที่เลวที่สุด และให้เห็นว่าดอกมะลินี้จะบานเต็มที่เพียง ๒-๓ วัน ก็จะเหี่ยวเฉาไป
ฉะนั้นขอให้ทำตัวให้ดีที่สุด เมื่อยังมีชีวิตอยู่ให้หอมที่สุดเหมือนดอกมะลิที่เริ่มแย้มบานฉะนั้น
“ จงเลือกทำแต่กรรมที่ดี ๆ ”
๙. “ ทำดี ดีกว่าขอพร ”
“ จงเลือกทำแต่กรรมที่ดี ๆ นะ !”
เตือนให้เตรียมตัวไว้ ดำเนินชีวิตต่อไป เป็นคำแทนคำอวยพระอย่างสูงสุดประกอบด้วยเหตุผล เมื่อทำกรรมดีแล้ว ไม่ให้พรก็ต้องดี เมื่อทำชั่วแล้วจะมาเสกสรรปั้นแต่ง อวยพรอย่างไรก็ดีไม่ได้ ทำชั่วเหมือนโยนหินลงน้ำ หินจะต้องจมทันที ไม่มีผู้วิเศษใดๆ จะมาเสกเป่าอวยพรอ้อนวอนขอร้องให้หินลอยขึ้นมาได้ ทำกรรมชั่วจะต้องล่มจมป่นปี้เสียราศีเกียรติคุณชื่อเสียง เหมือนก้อนหินหนักจมลงไปอยู่กับโคลนใต้น้ำ ทำดีเหมือนน้ำมันเบา เมื่อเทลงน้ำ ย่อมลอยเป็นประกายมันปลาบอยู่เหนือน้ำ
ทำกรรมดีย่อมมีสง่าราศี มีเกียรติคุณชื่อเสียง มีแต่คนเคารพนับถือยกย่องบูชา เฟื่องฟุ้งฟูลอยน้ำ เหมือนน้ำมันลอย ถึงจะมีศัตรูหมู่ร้ายจงใจเกลียดชังมุ่งร้าย อิจฉาริษยาแช่งด่าให้จมก็ไม่สามารถจะเป็นไปได้ กลับจะแพ้เป็นภัยแก่ตัวเอง ขอให้จงตั้งใจกล้าหาญพยายามทำแต่กรรมดี ๆ โดยไม่มีความเกรงกลัวหวั่นไหวต่ออุปสรรคใด ๆ ทั้งสิ้นผู้ที่มีความเลื่อมในในคุณพระรัตนตรัย ผู้ที่มีโชคดี ผู้ที่มีความสุขและผู้ที่มีความเจริญ ประสงค์สิ่งใดสำเร็จสมประสงค์ ก็คือ ผู้ที่ประกอบกรรมทำแต่ความดีอย่างเดียวนั่นเอง
|