แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย รามเทพ เมื่อ 2013-9-18 07:39
พระพ่อแม่ธรณีปฐวีธาตุ ๙ ค่ำ
เกร็ดประวัติของพระพ่อแม่ธรณีปฐวีธาตุ ท่านปลัดโกศลได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่าเป็นของขวัญชิ้นสุดท้ายที่ท่านเจ้าคุณธมมวิตกโกได้มอบไว้ให้แก่ครอบครัวของท่าน ปรกติท่านเจ้าคุณฯมิได้สนใจในเรื่องเครื่องรางต่าง ๆ นัก แต่เนื่องจากมีผู้ที่นับถือท่านฯ ได้ขออนุญาตจากท่านสร้างพระเครื่องรางต่าง ๆ มอบให้ท่านฯ อธิษฐานจิตให้ และเป็นที่น่าประหลาดมาก โดยเฉพาะการปลุกเสกพระเครื่อง ท่าน ฯ มิได้เคยหันหน้าเข้าทำพิธีอย่างพระคณาจารย์อื่น ๆ ท่าน ฯ จะนั่งหันหลังให้ คือหันหน้าเข้าหาพระประธาน ต่อจากนั้นท่านก็จะสวดแผ่เมตตาจิตให้
ท่าน ฯ เคยได้กล่าวไว้ว่าท่านไม่สามารถที่จะเสกพระพุทธเจ้าซึ่งเปรียบประดุจบิดา และพระองค์ ก็เป็นผู้ประเสริฐ ฉะนั้นพิธีต่าง ๆ ที่ทางลูกศิษย์ได้จัดขึ้น ท่านจงเป็นเพียงแต่อธิษฐานให้เท่านั้น แต่สำหรับพระพ่อแม่ธรณีปฐวีธาตุนั้น ท่านฯ ได้เจาะจง โดยท่านฯ ได้สั่งให้คุณปลัดโกศล ซึ่งเป็นหลานชายของท่านฯ และคุณปลัดผู้นี้ก็เคยเป็นผู้ที่ส่งอาหารให้ท่านฯ ตั้งแต่ครั้งที่คุณปลัดยังเรียนอยู่ ชั้น ม. ๑-๒ ครั้งหลังที่คุณปลัดได้ศึกษาจบและได้เข้ารับราชการ จึงไม่ค่อยมีเวลา คุณปลัดจึงได้ให้ทางคุณน้ารับช่วงส่งอาหารแทน แต่ครั้งหลังตอนท่านฯ ป่วย คุณปลัดจึงได้ปฏิบัติท่านอีก คือทำอาหารซุปส่งให้เป็นประจำ ท่านฯ ได้เคยถามคุณปลัดว่า เหนื่อยไหมหลาน เพราะระยะทางจากบ้านซึ่งจะต้องนำอาหารมาส่งที่วัดนั้น มีระยะทางไกลพอสมควร ส่วนซุปซึ่งเป็นอาหารชนิดอ่อนนั้นท่านฯ ได้เป็นผู้สอนโดยจดแต่ละประเภทของอาหารรวมกันมีหลายชนิด คือ
๑. ผักขม ๒. ถั่วฝักยาว ๓. หัวผักกาดขาว ๔. หัวผักกาดเหลือง ๕. ถั่วเขียว ๖. ถั่วลิสง๗. ถั่วเหลือง ๘. มันฝรั่ง ๙. ผักกาดเขียว ๑๐. มะขามเปียก ๑๑. เกลือ ๑๒. น้ำตาลมะพร้าว๑๓. มันฮ่อ ๑๔. หัวหอม ๑๕. มะนาว
โดยนำถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถัวลิสง มันฝรั่ง เคี่ยวให้เปื่อยแล้วบดให้ละเอียดด้วยเครื่องบด แล้วนำผักต่าง ๆ ต้ม พอสุกแล้วใช้เครื่องบดให้ละเอียดเช่นกันแล้วนำมาผสมกันใส่เครื่องปรุงมีน้ำตาล เกลือ มะขามเปียก มะนาว แล้วตั้งไฟให้เดือดอีกครั้งเป็นอันเสร็จ ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วนำบรรจุโถพลาสติกนำไปส่งที่วัด พร้อมด้วยผลไม้ตามที่ท่านจะสั่งแต่ละวัน แต่ที่จะต้องมีประจำได้แก่ผลฝรั่งทั้งเปลือกฝานเอาแต่ผิว แล้วนำมาบดด้วยเครื่องให้ละเอียดผสมเกลือลงไปเล็กน้อย ใส่โถพลาสติกเช่นกัน และกล้วยน้ำว้าสุก ๓ ผล ส่วนผลไม้อื่น ๆ สุดแต่ปลัดโกศลและภรรยาจะนำไปถวาย เท่าที่ทราบได้แก่ ชมพู่สาแหรก สับปะรด ลูกพลับสด สาลี่ ฯ ล ฯ โดยบดให้ละเอียดเช่นกัน และกว่าจะออกจากวัดไปทำงานต้องใช้เวลานานมากจึงจะถึงที่ทำงาน แต่คุณปลัดและภรรยาคือคุณนายจำเนียร ก็ได้ทำซุปเองทุกวัน ซึ่งกว่าจะเสร็จก็เป็นเวลา ๒๓.๐๐-๒๔.๐๐ น. ทุกวัน ซึ่งทั้งคุณปลัดและคุณนายก็ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย ซึ่งผู้เขียนก็รู้สึกปลื้มปีติในความมานะพยายามอันเป็นมหากุศลของคุณปลัดและคุณนายทั้งสองคน
ก่อนที่ท่านเจ้าคุณนรรัตนฯ (ธมฺมวิตกฺโก) ท่านจะมรณภาพ เหมือนว่าท่านจะรู้ตัวมาก่อน ท่านจึงพูดกับคุณปลัดผู้เป็นหลานว่า หลานจงไปเก็บก้อนกรวดที่บางบ่อมา ลุงจะทำของดีให้ คุณปลัดจึงได้เรียนถามท่านว่า ผมจะเก็บที่อื่นได้ไหม ท่าน ฯ บอกว่าไม่ได้ คุณปลัดจึงสงสัยว่าเหตุใดท่านฯ จึงมีความประสงค์เช่นนั้น
ดูเหมือนท่าน ฯ จะรู้ว่าคุณปลัดมีความสงสัย ท่าน ฯ จึงได้อธิบายว่า..
อันธรรมตากรวดที่อำเภอบางบ่อนั้น ชื่ออำเภอก็เปรียบเหมือน บ่อเงิน บ่อทอง
และถือเคล็ดว่า..จังหวัดสมุทรปราการด้วย คำว่าปราการ เปรียบเหมือนเป็นเกราะป้องกันภยันตรายต่าง ๆ นั้น บางครั้งท่านจะเรียก
ก้อนกรวดว่า “เพชร-พลอย” และท่านยังได้อธิบายต่อไปว่า..
ก้อนกรวดนั้นเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หรือเรียกว่า “คดดิน” ตามธรรมดามนุษย์เราจะถือว่าของที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติเป็นของศักดิ์สิทธิ์
เช่น “คดปลวก” ที่เกิดขึ้นในจอมปลวก คนโบราณท่านถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโกจึงได้เจาะจงให้หลานชาย
ท่านไปเก็บของสิ่งนี้มา
ในรุ่งขึ้นคุณปลัดก็ลืมเสียท่านฯ จึงได้ย้ำอีกว่าจงรีบไปหาเก็บมานะ เดี๋ยวจะไม่ทันการ คุณปลัดเองก็ไม่ได้สังหรณ์ใจในคำพูดเช่นนี้ คุณปลัดได้กราบเรียนท่าน ฯ ว่า ผมผ่านไปมาทุกวันไม่เห็นมีกองกรวดที่ไหนเลย
ท่านฯ จึงพูดว่าไปหาให้ดีเถอะ มีแน่ ๆ ที่บางบ่อ
ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ ที่ท่านฯ ไม่เคยออกจากวัดไปไหนมาก่อนเลย เหตุไฉนท่านฯ จึงรู้ว่ามีกองกรวดอยู่ คุณปลัดเองก็ขับรถเข้าออกอยู่ทุกวัน แต่ก็ไม่เคยเห็น หรืออาจจะเป็นเพราะคุณปลัดไม่ได้เอาใจใส่เองก็อาจจะเป็นได้ และที่ท่านได้เอ่ยปากว่าจะทำของดีให้นั้น ก็ทำให้คุณปลัดรู้สึกประหลาดใจบ้าง เพราะตามปกติท่านก็ไม่เคยให้สิ่งใดแก่คุณปลัดไว้บูชาเลย และตนเองก็เคยทราบว่าท่านมักจะไม่ปลุกเสกของให้ใครง่าย ๆ
เพราะท่านเคยพูดกับคุณหมอสุพจน์ ศิริรัตน์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ซึ่งคุณหมอสุพจน์ได้นำผงสมเด็จจากกรุวัดจักรวรรดิ (สามปลื้ม) บดละเอียดใส่บาตรไปไว้ทิศใต้ฐานชุกชีในพระอุโบสถวัดเทพศิรินทร์ ฯ เป็นเวลา ๑ ไตรมาส
ตอนเอากลับท่านได้พูดกับคุณหมอสุพจน์ว่า ผงนี้ท่านปลุกเสกให้สำเร็จแล้ว ถ้าจะนำไปทำพระ ก็ไม่ต้องนำมาให้
อาตมาปลุกเสกอีก เพียงแต่นำไปเข้าพิธีที่ไหนก็ได้ จะได้ผลเท่ากัน
อาตมาเองก็ไม่อยากที่จะปลุกเสกให้นัก เพราะถ้าพระของอาตมา ที่ปลุกเสกให้ตกไปอยู่กับใคร
ถ้าผู้นั้นประกอบแต่กรรมดี ผู้นั้นก็จะได้รับแต่ความเจริญก้าวหน้า แต่ถ้าผู้ใดที่ประพฤติในทางที่ไม่ชอบ
จะเป็นกำลังหนุนให้ประพฤติมิชอบยิ่งขึ้น แต่ไม่นานก็ได้รับผลกรรมนั้น
ด้วยเหตุนี้อาตมาจึงไม่อยากปลุกเสกให้กับผู้ใด นอกจากท่านพระครูอุดมคุณาทรเท่านั้น
(ท่านเจ้าคุณอุดมสารโสภณ)
ฉะนั้น...
เมื่อคุณปลัดโกศลมานึกถึงคำนี้ ก็ให้แปลกใจเป็นอันมาก ที่จู่ ๆ ท่านก็ให้ไปเก็บก้อนกรวดให้ และบอกว่าจะทำของดีด้วย ก็คิดว่าจะต้องมีอะไรเป็นพิเศษแน่ ๆ ไม่เช่นนั้นท่านจะไม่เร่งเร้าเป็นอันขาด และของดีที่ท่านได้เคยปลุกเสกให้ท่านเจ้าคุณอุดมสารโสภณ ซึ่งสมัยยังเป็นพระครูอุดมฯ อยู่ ก็ก่ออภินิหารศักดิ์สิทธิ์มากแก่ผู้ที่ได้รับไปบูชา จนเป็นที่เลื่อมใสในศรัทธาแก่มหาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งในต่างประเทศก็เคยปรากฏว่าฝรั่งถึงกับนั่งเครื่องบินมาขอบูชาพระเครื่องของท่านเจ้าคุณอุดมสารโสภณก็ยังเคยมี และคุณปลัดเองก็เคยมาขอกับเจ้าคุณลุงเหมือนกัน แต่ท่านได้บอกว่าเฉพาะที่ตัวท่านแล้วไม่เคยมีพระเครื่องเลย ถ้าอยากได้ก็ให้ไปขอท่านเจ้าคุณอุดมฯ ซึ่งเป็นผู้สร้าง และท่านยังกำชับอีกด้วยว่า อย่าไปเอาของเขาฟรี ๆ นะ ต้องบริจาคเงินด้วยเพื่อเขาจะได้นำไปสร้างกุศล นี่ก็เป็นเหตุการณ์ตอนหนึ่งที่ท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโกไม่ยอมให้ญาติพี่น้องหรือลูกหลานของท่านไปรบกวนคนอื่น ๆ ในวันรุ่งขึ้นตรงกับวันอาทิตย์ คุณปลัดโกศล พร้อมด้วยภรรยาคือคุณนายจำเนียร ปัทมสุนทร และ พ.อ. วรสนธิ วรเสียงสุขา (เดิมชื่อ พ.อ.สนธิเสียงสุขา) แต่ท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโก ท่านได้เปลี่ยนชื่อและนามสกุลให้ใหม่โดยเติม วร เข้าที่หน้าชื่อและนามสกุล ทั้งสามได้นำเอารถส่วนตัวออกเที่ยวตระเวนหาก้อนกรวดจนทั่วท้องที่บางบ่อก็ยังไม่พบเลยสักก้อน
จนกระทั่งขับรถจะออกมาทางบริเวณปากทางจะเข้าตัวอำเภอบางบ่อ ซึ่งตรงนั้นใกล้กับสะพานคลองเจ้า (พระองค์เจ้าไชยยานุชิต) จึงพบกองทรายเข้ากองหนึ่ง ทั้งสามจึงจอดรถเข้าไปค้นหาดูก็พบ
คุณปลัดรู้สึกดีใจมาก จึงเลือกเก็บก้อนกรวดเป็นนาน และได้มาทั้งหมดประมาณ ๒ กำมือ ใส่ถุงพลาสติกเล็ก ๆ ได้ ๓ ถุง จึงนำไปชำระล้างจนสะอาดดี
รุ่งขึ้นตรงกับวันจันทร์ที่ ๔ มกราคม จึงได้นำก้อนกรวดใส่ภาชนะ คือพาน และมีผ้าขาวปักดอกไม้ต่าง ๆ ปูรองอยู่ใต้พาน นำก้อนกรวดวางไว้จำนวน ๙ ก้อน ซึ่งคุณปลัดได้กะไว้สำหรับครอบครัวพอดี ตามจำนวนที่ท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโกท่านสั่งไว้ คือของบุตรคุณปลัด ๗ คน และคุณปลัดพร้อมด้วยภรรยาอีกรวมเป็น ๙ คนพอดี
ท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโก ได้ปลุกเสกให้โดยรับไว้ในมือ เสกอยู่นานประมาณ ๑๘ นาที จึงเป็นอันเสร็จพิธี ท่านได้มอบให้กับคุณปลัดโกศล และบอกให้ไปเลี่ยมให้ลูก ๆ ห้อยคอไว้ จะเกิดสิริมงคลอันยิ่งใหญ่ และท่านได้สั่งให้ปลัดโกศลไปนำก้อนกรวดมาอีกท่านจะเสกให้ รุ่งขึ้นในวันอังคารที่ ๕ มกราคม ๒๕๑๔ คุณปลัดก็ได้สั่งภรรยา คือคุณจำเนียร ปัทมสุนทร (ซึ่งเป็นหลานสะใภ้ของท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโก) ซึ่งคุณจำเนียรได้เดินทางไปพร้อมกับภรรยาของข้าราชการผู้ใหญ่คนหนึ่งแห่งอำเภอบางบ่อ (สำหรับผู้นี้ไม่ประสงค์จะออกนาม ด้วยเกรงว่าจะถูกรบกวน เรื่องปฐวีธาตุ) เพียง ๒ คน เพราะคุณปลัดโกศลไม่ว่างเพราะติดราชการ จึงได้มอบหมายให้ภรรยาจัดการแทน ซึ่งเก็บได้อีก ๑ ถุงพลาสติก และได้นำไปชำระล้างอีกอย่างเคยพร้อมกับนำใส่ถาดพลาสติก และรวมทั้งของที่เก็บไว้เมื่อครั้งก่อนอีก ๓ ถุง รวมเป็น ๔ ถุง จากนั้นจึงได้นำไปให้ท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโกปลุกเสกอีก
ภายหลังจากที่ท่านได้ทำวัตรเย็นเสร็จเรียบร้อยและได้รับการชำระแผลจากนายแพทย์ไพบูลย์เป็นที่เรียบร้อย คุณปลัดโกศลจึงได้นำมาให้ท่านช่วยปลุกเสกให้ภายในพระอุโบสถ โตยท่านใช้เวลาบริกรรมปลุกเสกให้อย่างตั้งใจ เป็นเวลาเท่ากับครั้งแรก และครั้งนี้ท่านก็ได้อธิบายให้คุณปลัดโกศลฟังว่า “ของดีที่มีคุณค่ามาก” เรียกว่า “พระพ่อแม่ธรณีปฐวีธาตุ” หมายความว่ามีจิตเมตตา ถึงใครจะเหยียบย่ำทำสิ่งใดก็ไม่ว่า ประดุจพ่อแม่ของเราที่รักลูก จะมีแต่ความเมตตากรุณาต่อลูกทุกคน แม้ลูกจะกระทำสิ่งใดผิดก็จะให้อภัยเสมอ ฉะนั้นก้อนกรวดนี้จึงมีอานุภาพศักดิ์สิทธิ์มาก หากจะมอบให้กับใคร ก็จงให้แก่ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาเท่านั้น เพราะสิ่งของนี้มีค่ายิ่งกว่าเพชรพลอย และให้ผู้ที่เขารับไป จงนำก้อนกรวดนี้วางไว้ตรงกลางรูปใบโพธิ ส่วนรูปใบโพธินั้นให้เอากระดาษแข็งหรือจะเป็นโลหะ ทองเหลืออง ทองแดง เงินหรือทองคำก็ได้ ให้ตัดเป็นรูปใบโพธิ ให้เขียนเป็นตัวอักขระขอมตัว “อุณาโลม ๙ ชั้น” อยู่ด้านบน หางตัว “อุ” ชี้ตรงไปจดปลายใบโพธิ ส่วนใต้ตัว “อุ” ลงไปให้เขียนเป็นอักขระภาษาไทยก็ได้ว่า “น” สำหรับใต้ตัว “น” ลงไปก็ให้เขียนชื่อของผู้ที่เป็นเจ้าของก้อนกรวดนั้น พร้อมกับนามสกุลด้วย แล้วจึงนำก้อนกรวดวางลงตรงกลางใบโพธิที่เขียน แล้วนำไปเลี่ยมห้อยคอ จะเกิดสิริมงคลแก่คนห้อย สำหรับพระพ่อแม่ธรณีปฐวีธาตุท่านได้ย้ำเสมอว่า มีทั้งหมด ๙ คำด้วยกัน พร้อมกันนั้นท่านยังได้นับนิ้วมือให้ดูอีกด้วยดังนี้
๑. พระ ๒. พ่อแม่ ๓. ธอ ๔. ระ ๕. ณี ๖. ปะ ๗. ฐะ ๘. วี ๙. ธาตุ
และเป็นที่น่าสังเกตได้ว่า ท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโก ท่านชอบทำอะไรต้องลง ๙ เสมอ เช่น การบูชาพระ ท่านชอบบูชาด้วยดอกบัว ๙ ดอก รูปก็ ๙ ดอกเช่นกัน ท่านอาจจะถือเคล็ดการก้าวหน้าเสมอก็เป็นได้ เช่นการบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ ของท่าน ท่านจะไม่ละความพยายามที่จะให้เจริญก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไปเสมอ ท่านไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ เลย ถึงแม้ท่านจะได้รับความทุกขเวทนาจากโรคภัย แต่ท่านก็ยังยิ้มเสมอ แสดงให้เห็นว่าท่านเป็นผู้มีความอดทนอย่างยอดเยี่ยมไม่มีพระภิกษุองค์ใดจะมีความมานะอย่างท่าน
และเป็นที่น่าแปลกใจยิ่ง ที่ท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโกรู้สึกกระวนกระวายมาก ที่จะให้คุณปลัดโกศลไปนำก้อนกรวดมาในครั้งนี้ แถมยังกำชับเสียหนักแน่น ไม่ให้ไปเอาจากที่อื่น จำเพาะจะต้องที่อำเภอบางบ่อแห่งเดียวเท่านั้น ซึ่งท่านได้ย้ำอย่างผิดสังเกตมาก แต่ก่อนมีแต่จะถูกผู้อื่นขอร้อง รบกวนให้ปลุกเสกของตลอดมา จนบางครั้งท่านยังตำหนิเอา เช่นเมื่อคราวที่พระมหารูปหนึ่ง ได้นำเหรียญกลมใส่ตะลุ่มแล้วเอาผ้าปิด เพื่อกันผู้อื่นเห็น เข้าไปขอร้องให้ท่านช่วยอธิษฐานให้ในพระอุโบสถ ตอนหลังจากทำวัตรเรียบร้อย ขณะนั้นคุณปลัดโกศลและภรรยา และผู้อื่นอีกหลายท่านอยู่ในที่นั่นด้วย ท่านได้ตำหนิเอาว่า เอ ท่านมหานี้รบกวนจริง ๆ ปลุกเสกไม่รู้จักหมดจักสิ้นกันเสียที บางรายก็จะถูกถามเอาว่า จะปลุกเสกเอาไปเพื่อประโยชน์อะไร ?
แต่ถ้าเพื่อการกุศลทางศาสนา ดังเช่นที่ท่านเจ้าคุณอุดมสารโสภณ ท่านก็ยินดีที่จะปลุกเสกให้ เพราะท่านเคยพูดไว้ตอนหนึ่ง เมื่อคราวที่ท่านเจ้าคุณอุดมสารโสภณ (สมัยยังเป็นพระครู) ได้นำพระเครื่องใส่พานไปให้ท่านอธิษฐานจิตให้ ท่านได้พูดกับพระมหาองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่และอยู่ในที่นั้นด้วยว่า คุณไม่มีความสามารถที่สร้างได้สำเร็จเหมือนพระครูอุดม ฯ เขา ที่ท่านพูดดังนี้ เพราะพระมหารูปนี้ได้เคยไปขอร้องให้ท่านปลุกเสกของให้ และมหารูปนี้ปัจจุบันก็ยังอยู่ แต่ผู้เขียนจะไม่ขอออกชื่อ
ท่านยังบ่นอีกว่า แหม พวกคุณนี่รบกวนกระทั่งคนเจ็บคนป่วย แต่ถ้ามีผู้ใดจะให้ปลุกเสกของเพื่อนำไปทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาหรือสาธารณประโยชน์ ท่านจะไม่ปริปากบ่นเลย สำหรับผู้ต้องการจะหาประโยชน์ใส่ตน ต้องถูกท่านไล่ให้กลับไปอย่างไม่ไว้หน้า ฉะนั้นพระที่ต้องการจะสร้างพระไปให้ท่านอธิษฐานจิตให้ เมื่อรู้ดังนี้จึงไม่ค่อยมีใครที่จะเข้าใกล้ท่าน เพราะท่านเองก็ไม่เคยจัดสร้างพระเครื่องเลย ไม่เหมือนกับคณาจารย์อื่น ๆ
โดยปรกติท่านก็ไม่เคยมีพระเครื่องไว้แจกผู้อื่นเลย แม้แต่ญาติพี่น้องหรือลูกหลานของท่าน ท่านก็ไม่มีให้ซึ่งเราก็ย่อมรู้ได้ว่าท่านเป็นพระที่ไม่ยอมสร้างสมอะไรทั้งสิ้นไม่ บางท่านได้ทราบมาว่าท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโกเคยแจกพระเครื่องเป็นรูปเหรียญด้านข้างรูปไข่ เรื่องนี้ผู้เขียนขอค้าน เพราะท่านไม่เคยมีเหรียญไว้แจกเลย อาจจะเป็นการเข้าใจผิดก็ได้ ผู้เขียนต้องขออภัยด้วย และยังมีบางท่านว่าท่านได้มอบพระเครื่องไว้ให้โดยล้วงออกมาจากในย่ามตอนลงพระอุโบสถ และลงใบหนังสือพิมพ์เสียด้วย แต่ผู้เขียนมาคิดดูและไตร่ตรองอยู่เป็นนานก็คิดไม่ตกว่าจะเป็นจริง เพราะตามธรรมดาผู้เขียนไม่เคยเห็นท่านถือย่ามเลย แม้แต่รูปถ่ายท่านก็ไม่เคยถือย่าม ดังนั้นเหตุใดท่านจะถือย่ามลงทำวัตร แม้แต่พระที่มีกิจธุระเวลาทำวัตร ท่านก็ยังไม่ถือย่ามเข้าพระอุโบสถ นอกจากพระคณาจารย์ที่มาจากที่อื่น โดยได้รับการนิมนต์มานั่งปรกท่านจึงจะถือมา ดังนั้นผู้ที่ว่าท่านได้ล้วงย่ามนำพระออกมาแจก ผู้เขียนเข้าใจคงมีการเข้าใจกันผิดก็เป็นได้
แต่ว่าในกรณีที่ท่านได้สั่งปลัดโกศลหลานท่านให้รีบไปนำก้อนกรวดมาให้ แล้วท่านก็ยังติดตามผลที่ท่านสั่งเสมอ เหมือนกับว่าท่านยังมีห่วงกังวลอะไรสักอย่าง ตั้งแต่ท่านได้ปลุกเสกพระเครื่องตลอดมา ท่านไม่เคยได้พูดอวดอ้างสรรพคุณของที่ท่านปลุกเสกให้ แต่มาคราวนี้ท่านก็ได้อธิบายให้หลานชายท่าน คือ ปลัดโกศลฟัง จะว่าเป็นการอวดอ้างของท่านเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ เป็นของชิ้นแรกที่ท่านได้ให้หลานชายท่านนำมาและเป็นของสิ่งแรกที่ท่านได้ประคองปลุกเสกโดยหันหน้าเข้าหาสิ่งของนั้น
แต่.........อะไรจะไม่ตื่นเต้นเท่ากับท่านได้พูดว่า..
“ก้อนกรวดนี้ขลังมาก สามารถที่จะคุ้มครองป้องกันนิวเคลียร์ได้อีกด้วย” และยังป้องกันไฟได้อีกเช่นกัน
พร้อมทั้งยกนิ้วชี้ขึ้นกระดกสำทับอย่างกลัวจะไม่เชื่อ
เมื่อท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโกปลุกเสกก้อนกรวดเสร็จในตอนเย็นของวันอังคารที่ ๕ มกราคม ๒๕๑๔ แล้วท่านก็ได้มอบก้อนกรวดที่ปลุกเสกทั้งหมดแก่คุณปลัดโกศล ขณะนั้นลูกศิษย์ลูกหาที่เฝ้าดูท่านเจ้าคุณธมมฺวิตกฺโกอยู่ในพระอุโบสถที่มีจิตศรัทธาในตัวพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโกต่างก็ลุกฮือเข้ามารุมล้อมขอของดีจากคุณปลัดโกศลกันยกใหญ่ ซึ่งปลัดโกศลก็ได้แจกแก่ผู้ที่เข้ามารุมล้อมโดยทั่วหน้ากันทุกคน ท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโกเห็นดังนั้น จึงบอกแก่ปลัดโกศลให้ไปเอาก้อนกรวดมาอีก ท่านยินดีที่จะเสกให้
รุ่งขึ้นตรงกับวันพุธ ที่ ๖ มกรากม ๒๕๑๔ คุณปลัดโกศลติดราชการ จึงได้มอบหมายให้คุณจำเนียรซึ่งเป็นภรรยาไปเก็บก้อนกรวดแทนอีกเช่นเคย ในครั้งนี้ก็ได้มีผู้ที่ได้ร่วมสมทบไปอีก รวม ๔ ท่านด้วยกัน เท่าที่จำได้ก็คือ คุณจำเนียร ปัทมสุนทร พ.ต.ไพบูลย์ บุษปะธำรง และนายทหารยศร้อยเอกซึ่งเป็นนายแพทย์ทหารบกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าทั้งสองท่าน พร้อมกับผู้สมทบติดตามไปอีก ๑ ท่านแต่จำชื่อไม่ได้ จากนั้นทั้ง ๔ ท่าน จึงขับรถมุ่งไปยังท้องที่อำเภอบางบ่อ .
โดยเก็บจากสถานที่จุดเดิมนั่นเอง เหมือนกับจะมีอะไรมาดลจิตใจทำให้แต่ละคนที่ไปด้วยกันต่างก็พยายามจะหาก้อนกรวดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะว่าคงจะไม่มีโอกาสดีเช่นนี้อีกแล้ว ดังนั้นทั้ง ๔ ท่านจึงได้ขอยืมตะแกรงร่อนจากคนงานที่นั่นมาช่วยกันร่อนเอาทรายออก เหลือนอกนั้นจึงคัดเอาก้อนกรวดที่งาม ๆ เท่าที่จะหาได้
เมื่อถึงตอนนี้อดที่จะรู้สึกขำไม่ได้ เมื่อนึกถึงภาพคนที่แต่งตัวดี ๆ มียศเป็นนายทหาร แต่ไปยืนถือตะแกรงร่อนทราย เหมือนกับจะหาสิ่งของที่ทำตกอย่างนั้นแหละ ถ้าผู้ที่ขับรถผ่านไปมาพบเห็นเข้า และรู้ว่าที่มาร่วมกันเพื่อต้องการแต่เพียงก้อนกรวด เขาก็จะคิดว่าพวกนี้คงจะเป็นพวกนักวิทยาศาสตร์ คงจะมาค้นคว้าอะไรสักอย่างเป็นแน่ และคงจะเป็นที่สงสัยแก่ชาวบ้านในย่านนั้นและผู้ที่สัญจรผ่านไปมา มีบางคนสงสัยมากถึงกับเข้าไปถามก็มี และก็ได้รับคำตอบจากคุณนายจำเนียร ปัทมสุนทรไปว่า “ท่านให้มาเก็บ” ซึ่งคุณจำเนียรก็อดที่จะสงสารคนที่สงสัยไม่ได้ เพราะคำตอบที่ได้รับคนฟังย่อมไม่รู้เรื่อง ก็ได้แต่ดูเขาเก็บเพชรพลอยกันโดยมิได้เสียดายแม้แต่น้อย
เมื่อเก็บได้จนเป็นที่พอใจแล้วจึงได้พากันกลับ พ.ต.ไพบูลย์ บุษปะธำรง แยกส่วนที่เลือกมาได้ไว้เป็นของแต่ละคน โดยหวังที่จะให้ท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโกปลุกเสกให้ ส่วนคุณนายจำเนียร ปัทมะสุนทร พอถึงบ้านก็จัดเตรียมชำระล้างก้อนกรวดเป็นอย่างดี พอวันรุ่งขึ้นตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๗ มกราคม ๒๕๑๔ โดยคุณปลัดโกศลก็ได้เตรียมก้อนกรวด แต่คราวนี้ไม่กล้าจะนำไปมาก เพราะเกรงว่าท่านเจ้าคุณลุงจะหนักด้วยเหตุท่านต้องยกไว้..
ในอุ้งมือตลอดเวลาในการบริกรรม “ปลุกเสก” สำหรับก้อนกรวดนั้นคุณปลัดโกศลได้จัดไว้ในถุงพลาสติกและใส่ไว้ในถาดเหมือนอย่างเดิม และถุงนี้เองที่เป็นถุงสุดท้ายที่พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโกได้พยายามนั่งบริกรรมปลุกเสกให้เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะมรณภาพ เมื่อปลุกเสกเสร็จท่านก็ปรารภว่า “วันนี้รู้สึกไม่ค่อยสบาย เหนื่อยเหลือเกิน” นั่นคือเสียงสุดท้ายที่ท่านเปล่งไว้ในโบสถ์ แล้วท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโกก็รีบรุดกลับกุฏิท่านทันที นี่คือการปลุกเสกก้อนกรวดหรือเพชรพลอยของท่านเป็นครั้งสุดท้ายจริง ๆ โดยไม่มีใครได้เฉลียวใจในคำพูดของท่านเลย ทั้ง ๆ ที่วันนั้นก็มีหลายท่านนั่งร่วมอยู่ในพระอุโบสถด้วย
สำหรับเรื่องปฐวีธาตุนี้คุณปลัดโกศลเป็นคนรอบคอบมาก เพราะเรื่องปฐวีธาตุเป็นเรื่องใหญ่ในปัจจุบันนี้ และเป็นการยากที่จะดูให้รู้ได้ เพราะก็เหมือนก้อนกรวดธรรมดานั่นเอง ครั้นจะใช้วิธีดูทางในก็เป็นของลึกลับ เดี๋ยวจะพบแบบที่เขาพบกันเมื่อปี พ.ศ..๒๕๐๘ ที่เขาเรียกกันว่า ยำใหญ่ ฉะนั้นคุณปลัดโกศลจึงได้ทำบัญชีหรือที่เรียกกันว่า การขึ้นทะเบียนนั่นเอง เพราะผู้ที่ได้รับไปคุณปลัดโกศลได้จดรายชื่อ นามสกุล ไว้หมด จดแม้กระทั่งของที่ได้รับไปจำนวนเท่าไหร่ วันไหน ซึ่งดูก็รู้ว่าคุณปลัดเป็นบุคคลที่รอบคอบดีจริง แต่รายชื่อนั้นถ้าใครสงสัยว่าจะได้รับของแท้หรือไม่ก็ลองโทรไปถามคุณปลัดโกศลหรือคุณนายจำเนียร ปัทมสุนทรดูก็ได้ หรือถ้าเป็นการรบกวน ก็โทรไปที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ก็ได้ แต่ผู้เขียนไม่สามารถที่จะนำรายชื่อของผู้ได้รับมาลงได้ เพราะเจ้าของที่ได้รับปฐวีธาตุบอกว่ากลัวจะมีคนไปรบกวน จึงขอสงวนนาม และเคยมีหลายท่านถามผู้เขียนว่า ปฐวีธาตุนั้นมีจริงเท่าไหร่กันแน่ ผู้เขียนก็ได้เรียนถามไปทางคุณปลัดโกศลดูแล้ว ก็ได้ทราบว่า ปัจจุบันนี้ คุณปลัดมีเหลือทั้งหมดจำนวน ๑ ถุง จะคำนวณออกมาก็หลายร้อยก้อน เพราะเมื่อคราวที่มอบให้ พ.ต.ไพบูลย์ บุษปะธำรง คราวที่เสร็จพิธีครั้งสุดท้าย โดย พ.ต.ไพบูลย์ได้ใช้มือกำมาจากในถาด ๑ กำ เมื่อนับดูได้จำนวน ๕๓ ก้อน ซึ่งถ้าเรามาคำนวณกันจริง คุณปลัดโกศล ปัทมสุนทร ก็ให้ภรรยาไปเก็บมาก็หลายครั้งด้วยกัน ฉะนั้นรวมแล้วก็จำนวนมากพอดู
และคุณปลัดโกศล พร้อมด้วยภรรยา คุณนายจำเนียร ปัทมสุนทร ก็เป็นผู้มีจิตเป็นมหากุศล คือมีผู้ที่มารับปฐวีธาตุจากคุณทั้งสองและช่วยทำบุญอุทิศ ไปถึงท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโกด้วย คุณปลัดโกศล และภรรยาก็ได้นำเงินไปร่วมการกุศลกับท่านเจ้าคุณพระอุดมสารโสภณ รวมทั้งสิ้นก็หลายครั้งด้วยกัน เป็นเงินประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาทเศษ ดังนั้น เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๑๕ ซึ่งเป็นวันเปิดป้ายโรงเรียน “นวมราชานุสรณ์” นครนายก คุณปลัดโกศล พร้อมด้วยคุณนายจำเนียร ปัทมสุนทร จึงได้มีโอกาสเข้าเฝ้ารับพระราชทานเข็มทองคำ จากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นเกียรติแก่คุณปลัดโกศล และคุณนายจำเนียร และสกุลปัทมสุนทรเป็นอย่างสูงยิ่ง และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นที่ยิ่ง
นี้คือผลแห่งการกระทำความดีของบุคคลในครอบครัว จึงได้รับผลของการกระทำในครั้งนี้ สมดังที่ท่านเจ้าคุณธมฺมวิตกฺโกซึ่งเป็นหลวงลุงของบุคคลทั้งสอง ได้สอนไว้เสมอและไม่ว่าใครก็ตามที่ไปพบและนมัสการท่าน ท่านจะสอนเสมอว่า “จงทำแต่กรรมดีนะ” สำหรับผู้ที่ได้รับปฐวีธาตุครั้งหลัง คุณนายจำเนียร ปัทมสุนทร ได้ห่อใส่ผ้าไนล่อนบางตาเม็ดพริกไทยสีเขียวใบไม้ ผูกด้วยไหมญี่ปุ่น สีเหลืองสวยงามน่ารักมาก คุณนายจำเนียร ปัทมสุนทร ได้เล่าว่า เขียวเหลือง นั้นเป็นสัญลักษณ์ของวัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งเจ้าคุณลุงได้กล่าวไว้
เครดิต..http://www.dharma-gateway.com |