|
ขุนศึกผู้เดียวที่พระเจ้าบุเรงนองยกยอเกียรติยศ
ศึกก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก ครั้งที่ ๑ ในปี พ.ศ. ๒๑๑๒ กองทัพอันเกรียงไกร ของผู้ชนะสิบทิศ อย่างพระเจ้าบุเรงนอง ได้กรีฑาทัพจำนวนโดยประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ คน เข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา โดยมีทัพจากเมืองพิษณุโลก ของสมเด็จพระมหาธรรมราชา เข้าร่วมตีกรุงครั้งนี้ด้วย
พระมหาเทพ เป็น ๑ ใน ๓ แม่ทัพคนสำคัญของอยุธยาครั้งนั้น เดิมชื่อเทพ มีบรรดาศักดิ์เป็น คุณพระ มีฝีมือแก่กล้าในการรบ พระมหาเทพได้รับมอบหมายให้เป็นแม่ทัพคุมกองทหารตั้งค่ายรักษาพระนครอย่างเข้มแข็ง แต่ต่อมาด้วยอุบายพระเจ้าบุเรงนอง ที่ส่งพระยาจักรีกลับเข้ามาจากการถูกขอรับไปเป็นเชลยคราวที่แล้ว ให้มาเป็นไส้ศึก ใส่ความให้ร้ายพระศรีเสาวราช น้องยาเธอของสมเด็จพระมหินทราธิราช พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ว่าเป็นขบถ ซึ่งพระศรีเสาวราชนี้เข้มแข็งนักในการบัญชาการรบป้องกันพระนคร เป็นเหตุให้พระศรีเสาวราช ถูกประหารชีวิต และตัวพระมหาเทพเอง เป็นข้าราชบริพารในพระศรีเสาวราช ด้วยความคับแค้นใจ และไม่ต้องการเป็นข้าอยู่ใต้การบังคับบัญชาของพระยาจักรี พระมหาเทพจึงกราบถวายบังคมทูลขอออกจากราชการ มิมีหน้าที่บัญชาการรบใดๆอีกต่อไป
เมื่อวันที่ถึงกำหนดเปิดประตูเมืองให้พม่ามาถึง ความโกลาหลแตกตื่น ทหารอยุธยาต่างระดมพลมาทำการรบบริเวณฝั่งที่พระมหาธรรมราชาเข้าตี เชิงเทินหอรบอีกด้านเวรยามจึงเบาบาง พระมหาเทพเข้าใจว่าประตูด้านที่ทัพพระเจ้าบุเรงนองคุมเชิงอยู่ด้านนั้น คงจะถูกเปิดออกโดยแท้ แต่ด้วยไร้อำนาจในการบัญชาการรบ พระมหาเทพพร้อมทหารในสังกัดที่พอมีอยู่เพียงหยิบมือเดียว มุ่งหน้าไปสกัดทัพพม่าทางกำแพงด้านนั้น
พระมหาเทพขี่ช้างถือง้าวเข้าจ้วงฟันทหารพม่า แต่ช้างเหยียบหล่มล้มลง พระมหาเทพจึงทิ้งช้าง เข้าชิงม้าข้าศึก ควงหอกไล่ตวัดกวัดแกว่งแทงพม่า จนล่วงเลยมาถึงซุ้มกำแพงขนาดเล็ก ที่เข้าได้ครั้งละไม่เกิน ๑๐ คน และเนืองแน่นไปด้วยทหารพม่า พระมหาเทพกระโดดจากหลังม้า ยืนขวางซุ้มประตู และชักดาบสองมือออกมา สังหารทหารพม่าที่พยายามจะเข้าประตูเมือง ล้มตายเป็นอันมาก จนพวกที่เหลือต้องคอยยกศพลากออกไปอยู่เนืองๆ ด้วยน้ำเสียงดุดันข่มขวัญข้าศึก และฝีมือดาบที่หนักแน่นแม่นยำ ภาพอันสยดสยองของศพ ทหารพม่ามิอาจตีหักเข้าเมืองได้ และไม่อาจทำการยิงด้วยปืนไฟหรือธนู ด้วยจะเสื่อมเกียรติไปถึงพระเจ้าบุเรงนอง และไม่ปีนกำแพงข้ามไป เพียงเพราะหลีกหนีทหารกรุงศรีเพียงคนเดียว ให้เป็นที่โจษขานเล่าลือ
ข้างพระเจ้าบุเรงนอง ทรงทราบว่ามีขุนศึกผู้เดียวที่ขัดขวางกองทัพด้านนี้ ที่มีรี้พลถึง ๒๐๐,๐๐๐ คนของพระองค์ไว้ จึงนึกสนพระทัยในตัวขุนศึกผู้นี้ พระราชดำริแล้วก็ให้ไสช้างเข้าไป เพื่อทอดพระเนตร แต่เมื่อพระองค์ไปถึง นายกองพม่าได้สั่งยิงธนูและซัดหอกถูกพระมหาเทพล้มลงเสียแล้ว เมื่อพระองค์สั่งทหารให้เข้าไปเก็บศพพระมหาเทพ ก็มิมีผู้ใดหาญกล้า แม้จะถูกพระราชอาญาจากพระเจ้าบุเรงนอง ก็ยังน้อยกว่าความหวาดกลัวในร่างขุนศึกที่กุมดาบสองมือแน่น นอนพิงซุ้มประตูขวางทางเข้าเมืองอยู่ขณะนี้ เมื่อไม่อาจบังคับทหารที่กำลังขวัญหนีดีฝ่อได้ พระเจ้าบุเรงนองจึงสั่งให้ปีนข้ามกำแพง แล้วใช้ค้อน ทุบซุ้มกำแพงให้พังลงมาทับร่างพระมหาเทพ ก่อนจะหลั่งไหลเข้ากรุงศรีอยุธยาได้
เมื่อเสร็จศึก พระเจ้าบุเรงนอง ได้สั่งให้ขุดศพพระมหาเทพขึ้นมาทำพิธีอย่างสมเกียรติเยี่ยงนักรบกล้า และปรารภกับเหล่าทหารว่า ตนเองถึงแม้นเป็นถึงจะรบชนะมาทั่วแว่นแคว้น แต่หากแม้นต้องรบกับพระมหาเทพ ก็คงพ่ายแพ้เป็นแน่แท้ และหากกรุงศรีมีทหารอย่างพระมหาเทพสัก ๑๐ คน หงสาวดีก็มิอาจเอาชัยเหนือกรุงศรีอยุธยาได้
พงศาวดารไทยบันทึกเรื่องนี้ไว้เพียงเล็กน้อย หากแต่ขยายความและเขียนขึ้นตามคำบอกเล่าสืบต่อกันมา หากวีรกรรมนี้เป็นจริง คนไทยเราหลงลืมวีรชนผู้กล้า นามว่า "พระมหาเทพ" ไปเสียแล้ว
|
|