กำเนิด “หว้าน” และประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงว่านในประเทศไทย (ตอนที่๑) By adminพฤศจิกายน 25, 2018 ธันวาคม 19, 2018 ศาสตร์โบราณเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์, สมุนไพร ว่าน ไม้มงคล
“หว้าน” (ว่าน) เป็นเรื่องของพืชมงคลชั้นพิเศษที่มากด้วยคุณค่าตามความเชื่อถือของชาวสยาม (สมุนไพรใช้ง่าย สรรพคุณทางยาเด่นกว่าต้นใดๆ สรรพคุณทางไสยก็โดดเด่น เลยตั้งนามนำหน้า “หว้าน” หรือ “ว่าน” คล้ายๆ นาย–>นายพล ซึ่งในทางสมุนไพรยังมีอีกคำคือ “ปู่เจ้า”…) ตลอดจนชนที่อาศัยอยู่ในเขตดินแดนที่เรียกว่าสุวรรณภูมิหรือแถบภูมิภาคเอเชียอาคเนย์แห่งนี้ ว่านเสน่หา ว่านที่เชื่อกันว่าทำให้เกิดความคิดถึงสิเนหาแก่เพศตรงข้าม
โดยว่านเป็นมรดกทางความเชื่อที่พบอยู่ในภูมิภาคในแถบเอเชียอาคเนย์ ทั้งทางประเทศไทย ลาว พม่า กัมพูชา ตลอดจนชนกลุ่มน้อยๆต่างๆ เช่น ข่า, กะเหรี่ยง, ละว้า, ขมุ(๑, ๒) เป็นต้น เป็นเรื่องราวของกลุ่มพืชที่มีความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งใช้ทางความเชื่อ เช่น ช่วยให้อยู่ยงคงกระพัน ใช้ทางเสน่ห์เมตตา และใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคที่ยอดเยี่ยม การปลูกเลี้ยงว่านในแถบภูมิภาคนี้มีมาช้านานแล้ว ซึ่งพบหลักฐานในตำราพิชัยสงครามของไทยช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาระบุไว้ว่า ว่านคือสุดยอดคงกระพัน และหลักฐานทางวรรณคดีสำคัญๆ เช่น วรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน(๓) เราจึงไม่อาจสืบสาวราวเรื่องว่าคำว่าว่าน หรือ หว้าน ในภาษาโบราณนั้นถูกเรียกขึ้นมาครั้งแรกเมื่อไร ประมาณการได้ว่าคงเกิดขึ้นคู่สังคมไทยตั้งแต่ยุคก่อนยุคประวัติศาสตร์ทีเดียว ประเทศไทยผูกพันธ์เกี่ยวกับฤาษี-ดาบสมาก สรรพวิชาความรู้ต่างๆนอกจากจะมีเค้ามูลจากทางพระพุทธศาสนาแล้ว ยังมีเค้ามูลจากทาง ฤาษีด้วย
กำเนิดว่าน เท่าที่ปรากฏในตำราสมุดข่อย ซึ่งได้เป็นมรดกตกทอดกันต่อ ๆ มา หลายชั่วอายุคนแล้วนั้น ปรากฏตำนานการกำเนิดว่านดังนี้(๒) สิทธิการิยะ ยังมีพระฤาษี ๔ พระองค์ในผืนแผ่นดินนี้ มีฤทธาอานุภาพยิ่งกว่าบรรดาโยคีและฤาษีทั้งปวง ทั้ง ๔ องค์นี้มีนามว่า กะวัตฤาษีองค์หนึ่ง กะวัตพันฤาษีองค์หนึ่ง สัพรัตถนาถฤาษีองค์หนึ่ง จังตังกะปิละฤาษีอีกองค์หนึ่ง พระฤาษี ๒ องค์ใน ๔ องค์นี้ ได้ให้ธาตุทั้ง ๔ ตั้งอยู่เป็นอธิบดีแก่บรรดาสรรพสิ่งทั้งปวง ส่วนท่านฤาษีองค์ที่ ๔ คือ ท่านจังตังกะปิละนั้นได้ตั้งบรรดากบิลว่านต่าง ๆ ขึ้น ไว้สำหรับท้าวพระยาทั้งปวงอันรู้จักคุณพระรัตนตรัย คือพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ ทั้งยังรู้จักอดกลั้นต่อบรรดาอกุศลกรรมทั้งหลายอีกด้วย เพื่อสำหรับท้าวพระยาและสมณชีพราหมณ์ทั้งปวง จนได้รู้จักสรรพคุณและสารประโยชน์จากว่านต่าง ๆ เหล่านั้น ไปช่วยบำบัดโรคภัยไข้เจ็บและช่วยปกป้องผองภยันตรายทุกข์ภัยนา ๆ ประการแก่ผู้เฒ่าผู้แก่แลคนทั้งปวงทั่วกัน(๒) กำเนิดว่านตามตำรา “ลักษณะว่าน” พ.ศ.๒๔๗๓ โดย นายชิตร์ วัฒนะ ตำราเรียงพิมพ์เล่มแรกของไทย
จากความข้างต้นจึงวิเคราะห์ได้ว่าพระฤาษีทั้ง ๔ ตนนั้นคงจะนับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งในสมัยโบราณ แถบสุวรรณภูมินี้ก็มีมากทีเดียวที่มีผู้นับถือพระพุทธศาสนาแล้วจึงออกบวชเป็นฤาษี หรือเป็นฤาษีอยู่เดิมแล้วต่อมาได้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา(๔) แต่หาได้ออกบวชเป็นภิกษุ ทั้งนี้อาจด้วยเพราะการบวชในสมัยก่อนนั้นเป็นของยาก ด้วยต้องครบองค์สงฆ์ตามกำหนด หรืออาจเป็นด้วยจริตของคนแต่ก่อนเก่าก็เป็นได้ ตามที่กล่าวนี้แสดงว่า ได้เคยมีการรวบรวมบรรดาว่านต่าง ๆ เข้าเป็นหมวดหมู่ สำหรับสั่งสอนประชาชนต่อ ๆ มาให้รู้จักถึงชนิดว่าน ลักษณะและสรรพคุณ หรือประโยชน์ของว่านมาแล้วในอดีต ทั้งแสดงว่าการกระทำอย่างนี้ได้กระทำในสมัยเมื่อพระพุทธศาสนาได้เกิดมีแล้ว คือไม่นานเกินกว่า ๒๕๐๐ ปีมานี้เอง(๒)
โดยปรกติพระฤาษีหรือท่านผู้ทรงวิทยาคุณขลังต่าง ๆ ย่อมพำนักอาศัยอยู่ตามป่าสูงหรือในถ้ำตามภูเขา ฉะนั้นบรรดาชาวป่าชาวดอยที่มีถิ่นที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง จึงพลอยได้รับความรู้ในเรื่องว่านยาจากท่านเหล่านั้นเอง และคงรักษาความรู้ ไว้ด้วยการบอกเล่าสืบทอดต่อมาแบบมุขปาถะจนทุกวันนี้ การนับถืออิทธิฤทธิ์ของว่านจึงยังคงมีแพร่หลายอยู่ในหมู่ชนชาวป่าชาวดอยเหล่านั้นตลอดมาจนบัดนี้ ได้แก่พวกกะเหรี่ยง, ละว้า, ข่า, ขมุ, ยาง, แม้ว, เย้า, ชอง, ต้องสู้, เขมร และลาวที่อยู่นอก ๆ เขตชุมนุมชนออกไป ถึงแม้ในเมืองไทยเราตามแถวชาวชนบทชั้นนอก ๆ ก็ยังคงมีผู้เลื่อมใสเชื่อถือในอภินิหารของว่านอยู่อีกไม่น้อย(๒) ซึ่งในยุคปัจจุบันก็เริ่มมีชาวกรุง ตลอดจนเยาวชนคนรุ่นใหม่เริ่มหันกลับมาให้ความสนใจในเรื่องว่านนี้เพิ่มขึ้นทุกทีๆ ดังนั้นตามความเข้าใจของผู้เขียนจึงเห็นว่าคำว่ากบิลว่านนั้นน่าจะแปลว่า ว่านของฤาษีกบิล ไม่น่าจะแปลว่า “บรรดา” และไม่น่าจะหมายถึงการรวบรวมรายการว่านตามปับสา ใบลาน สมุดข่อย ออกมาเป็นฉบับหรือรวมเป็นเล่มตำรา “พระว่านจำปาสัก” พระเนื้อว่านสด กดพิมพ์ผสานด้วยวัสดุประเภทหนึ่งที่ทานได้ (ผมขอบังไว้ เดี๋ยวมีผู้ทำเลียนแบบเต็มบ้านเต็มเมือง) เรียกนามตามชื่อนครจำปาสักของประเทศลาว
นอกจากนี้ยังมีตำนานเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อในเรื่องของการนำว่านมาสร้างพระเครื่องซึ่งได้แก่ การสร้างพระเนื้อว่านจำปาสัก ซึ่งเป็นการสร้างพระด้วยเนื้อว่านสดๆกดลงในแม่พิมพ์ เมื่อพระแห้งแล้วจะมีลักษณะเป็นรอยย่น บิดเบี้ยวตามการหดตัวของเนื้อว่าน พบมากทางกรุในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ประเทศลาว และพบได้บ้างประปรายในเขตภาคกลาง โดยมีเค้ามาจากการทำแท่งยารักษาโรคในสมัยโบราณ เป็นลักษณะการทำแท่งยาครอบจักรวาล เมื่อเปลี่ยนกระสาย(ยักกระสาย) จึงใช้รักษาโรคที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งต่อมาได้วิวัฒน์มาเป็นการสร้างพระด้วยว่านยานั่นเอง หากใครได้เคยเห็นพระว่านจำปาสักเก่าๆ บางองค์ จะอาจเห็นร่องรอยของการฝนยาที่องค์พระด้วย และเนื่องจากว่า ชาวสยามได้พบเห็นพระเครื่องแบบนี้ครั้งแรกๆ เมื่อครั้งประเทศลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองและทหารไทยที่ไปช่วยรบอยู่นั้น เมื่อกลับสู่ฝั่งไทย ก็ได้นำพระว่านจำปาสักกลับมาด้วยเป็นจำนวนมาก เมื่อนำมาแล้วก็เอาไปฝากเอาไปวางไว้ตามวัดต่างๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้พบพระว่านจำปาสักกระจายทั่วไป(๕) นั่นเองคนไทยจึงเรียกชื่อพระเนื้อว่านแบบนี้ว่า “พระว่านจำปาสัก” ตามชื่อนครจำปาสักของประเทศลาว
|