ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 10439
ตอบกลับ: 6
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระว่านจำปาสัก

[คัดลอกลิงก์]
พระเครื่องที่ขึ้นชื่อและเป็นเอกลักษณ์ของคนทั้งสองริมฝั่งโขงก็คือพระว่านจำปาสักเพราะเป็นพระที่มีประสบการณ์ในสงครามมาตลอดแม้แต่ช่วงที่เกิดกบฎเจ้าอนุวงศ์เมื่อเสร็จศึกแล้วกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์เมื่อครั้งที่จะสร้างวัดพระแก้ววัวหน้าขึ้นยังมีการสร้างพระเนื้อหาแบบเดียวกับพระว่านจำปาสักขึ้นบรรจุในกรุซึ่งเรารู้จักกันในนามพระปิดตากรุวังหน้าที่เนื้อแก่ครั่งและว่านยา พระว่านจำปาสักพบอยู่ตามถ้ำในแถบภาคอีสานส่วนทางฝั่งลาวนั้นจะพบอยู่ทางลาวใต้คือแขวงจำปาสัก แขวงสาระวัน แขวงอัดตะปือและแขวงเซกอง
        พระว่านจำปาสักทางฝั่งลาวจะเรียกพระเกสรเพราะทำจากเกสรและว่านที่มีอิทธิฤทธิ์ในทางอยู่ยงคงกระพัน กันคุณไสย์และไข้ป่า รวมไปถึงกันภูตผีปีศาจด้วย เรียกว่าครบเครื่องในทางกันภัย สมัยยุคสงครามอินโดจีนคนรุ่นปู่รุ่นพ่อของหลายต่อหลายคนพกพระว่านจำปาสักเข้าสงครามจนเห็นคุณวิเศษประจักษ์ในสายตามามากต่อมาก สมัยก่อนนายฮ้อยที่คุมฝูงวัว ควาย ออกขายไปตามที่ห่างไกลนั้นล้วนมีพระว่านจำปาสักติดตัวกันทุกคน พระว่านจำปามี 2 แบบคือแก่ครั่งและแก่ว่าน ว่านจำปาสักชนิดว่านล้วนนั้น ส่วนใหญ่จะมีพุทธคุณในการรักษาโรคหรืออาการบาดเจ็บ บางอย่างก็สามารถใช้ฝนกับฝาละมีกับกระสัยยาบางตัวเพื่อ ห้ามเลือด แก้พิษงู หรือพิษจากยาสั่งด้วย
           พระเนื้อว่านล้วนจะถูกสร้างโดยเกจิที่เชี่ยวชาญในวิชาแพทย์แผนโบราณสร้างขึ้นมาแล้วลงคาถากำกับก่อนมอบให้ศิษย์พกติดตัว ส่วนพระเนื้อแก่ครั่งนั้นจะเน้นไปทางคุ้มครองตัวผู้บูชาทั้งจากมนุษย์ด้วยกันและภูตผีปีศาจ พระเนื้อครั่งมักพบตามถ้ำสร้างโดยพระธุดงค์ที่มาอาศัยปฎิบัติธรรมในถ้ำ แล้วสร้างพระเครื่องจากว่านที่พบเห็นในบริเวณนั้นแล้วปลุกเสกทุกวันเพื่อสืบทอดพุทธศาสนาให้ยังยืน พุทธคุณจึงหนักไปทางอยู่ยงคงกระพันและป้องกันภัยรอบทิศ พระว่านจำปาสักที่แพงสุดน่าจะอยู่ที่ 50000 บาทคนที่เช่าไปเป็นคหบดีคนหนึ่งสาเหตุที่เช่าในราคาสูงลิ่วเพราะในอดีตเคยเป็นคนจนมาก่อนแต่ได้รับมอบพระว่านจำปาสักจากพระธุดงค์หลังจานั้นชีวิตก็ดีขึ้นจนมีกิจการใหญ่โตเมื่อเห็นพระว่านจำปาสักจากเซียนคนหนึ่งมีรูปแบบและเนื้อหาแบบเดียวกับที่ตัวเองแขวนติดตัวอยู่จึงได้ขอเช่ามา
        ส่วนใหญ่พระว่านจำปาสักมักจะไม่ค่อยสวยงามสักเท่าไหร่เพราะเกิดการบิดเบี้ยวจากการหดตัวของว่านและครั่ง ส่วนใหญ่มักแตกหักเพราะการนำออกมาจากถ้ำค่อนข้างลำบากต้องใส่กระสอบแบกหรือโยนลงมา แต่พระแตกหักเหล่าก็สามารถขายได้โดยชั่งเป็นกิโล กิโลละ2000บาท เพราะสมัยก่อนพระเนื้อผงทางแถบอีสานบ้านเราเกือบทั้งหมดจะใช้เนื้อว่านจำปาสักที่แตกหักเหล่านี้เป็นมวลสารสำคัญในกาสร้างพระเครื่อง จึงมีนักล่าพระว่านจำปาสักตามถ้ำในฝั่งลาวจำนวนมากจนปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยพบเห็น พระที่สวยสมบูรณ์จึงหายากพอสมควร ในบางองค์ที่มีการลงรักปิดทอง หรือลงรักทาชาดปิดทองจะถือเป็นพระชั้นสูงไม่ค่อยได้พบเห็นกันง่ายๆ พระว่านจำปาสักชนิดนี้จะสวยงามมากกว่าทั่วๆไปแสดงว่าต้องเป็นคนชั้นสูงหรือพระเถระที่คนเคารพเป็นอย่างสูงจัดสร้างขึ้นมา เพราะต้องมีบารมีและเงินจำนวนมากกว่าปกติในการจัดสร้าง พุทธคุณนอกจากจะดีทางอยู่ยงคงกระพันและกันภัยรอบด้านแล้วยังเชื่อว่าจะนำความเจริญมาสู่ผู้ที่ครอบครองด้วย




การทำพระว่านจำปาสัก มีความเเตกต่างจากพระว่านทางภาคกลาง ที่เน้นเป็นมวลสารศักดิสิทธิ์ (จะเห็นมวลสารว่านเป็นแค่ผงละเอียดๆ) เพราะพระว่านจำปาสัก นอกจากจะพก เป็นของขลัง เป็นพุทธบูชาแล้ว ยังมีลักษณะที่เก็บไว้ใช้เหมือนยาแท่ง จึงไม่แปลกอะไร ที่เราจะเห็นพระว่านจำปาสัก มีรอยบิ่น จากการฝน การหักกิน การหักต้มกิน ฝนทา เป็นยาสารพัดแก้

พระว่านจำปาสักก็คือ "พระว่านจากเมืองจำปาสัก" นั่นเอง เพราะแรกพบ (การค้นพบที่เป็นข่าว) คือพบที่เมืองจำปาสัก ประเทศลาว

พระว่านจำปาสัก เข้ามาปรากฎในเมืองไทยสามละลอกใหญ่ คือ
๑. ตอนสงครามอินโดจีน
๒. อีกครั้งที่เป็นข่าวครึกโครม รวมถึงปรากฎในหน้าหนังสือพระเครื่องคือ คราว ที่ "เจ้าคุณพระธรรมไตรโลกาจารย์" ท่านตะเวณประเทศลาว และขนเข้ามาเป็นกระสอบ เอามาตากที่ลานวัดศรีเมือง ผู้ที่ไปเอามาพร้อมกับท่านเล่าว่าไปได้ในถ้ำภูเขาควาย ตอนนั้นพบพระบุทอง ด้วย แต่ท่านเจ้าคุณมิได้สนใจ
๓. ยุคที่พระว่านทะลักเข้ามาเยอะที่สุดคือ ยุค "ลาวแตก"
คนลาวอพยพ ก็หอบหิ้วของดีของตนข้ามมา หลายอย่างที่คนอพยพนำติดตัวมา เครื่องลางลาว นับว่าพิศดารและน่าชมมาก

พระว่านจำปาสัก ในปัจจุบัน ยังเป็นของดีที่คนละเลย แม้ว่าจะเป็นพระกรุโบราณอายุร้อยปีขึ้นไป จะมีราคาสูงหน่อยในพื้นที่ อำเภอธาตุพนม เนื่องจาก ใครมีพระ ก็ยัดกรุเป็นพระว่านจากองค์พระธาตุเสียหมด

แม้กรุในอยุธยาก็ยังพบพระว่านในลักษณะนี้ที่มีราคาจะเป็นพวก "พระว่านหน้าทอง"

เอกลักษณะของพระว่านจำปาสักก็คือ
- พระว่านจะมีลักษณะบิดเบี้ยว เพราะการแห้งตัวของว่าน
- พระว่านจะมีหลายขนาด ขนาดใหญ่เป็นฝ่ามือก็มี
- พุทธลักษณะส่วนมากเป็นแบบเชียงรุ้ง
- มักเป็นรูปสามเหลี่ยมกรวย

พระว่านจำแนกตามเนื้อได้สองแบบคือ
๑.พระว่านเนื้อแก่ครั่ง บางทีเรียกพระขี้ครั่ง
พระแบบนี้มีเสน่ห์ตรง เวลาส่องเข้ากล้องจะเห็นเป็นสีแดงสวย เหมือนเกล็ดปลาช่อนอะเมซอน
พระแก่ว่าน หรือเป็นเนื้อว่านร้อยเปอร์เซนต์
มักเป็นสีน้ำตาล ถ้าเจอสีแดงนับว่าเป็นเอก ได้สีเหลืองงามนักมักเจอทางภาคเหนือ



พระว่านจําปาสักเป็นพระที่อายุเก่ามีอายุ สร้างกันมาหลายยุคคาดคงเป็นพระเกจิยุคเก่าสร้างไว้ ไม่มีบันทึกไว้ในข้อมูลที่ชัดเจนนัก อาศัยความเก่าของว่านที่บอกถึงระดับอายุ ซึ่งเป็นพระที่พบมากทางแถบท้องถิ่นอีสาน ทั้งตามถ้ำบ้างโพรงต้นไม้ ในป่า เขา มีทั้งเป็นกรุก็มี ศิลปะ พุทธศิลป์ไม่ชัดเจนนัก รูปแบบเป็นเนื้อว่านล้วน แห้งหดตัว องค์พระส่วนใหญ่จะตื้นบาง มีหลายขนาด ท้องถิ่นที่พบแถบทางฝั่งประเทศลาวก็ยังมีพบ เป็นพระที่พุทธคุณเด่นด้านคงกระพันชาตรีเป็นพิเศษ ทั้งเมตตามหานิยมมหาเสน่ห์ก็เป็นเลิศมีประสบการณ์มาช้านาน
พระว่านจําปาสักมีทั้งลงกรุและไม่ลงกรุ มีมาหลายยุค จํานวนมากสร้างเสร็จแจกจ่ายเลยก็มีวางไว้ในถ้ำก็มี

บ้างก็บอกต่อๆกันมาว่า...

พระว่านจำปาสักก็น่าจะมีผู้ศึกษาถึงประวัติการสร้าง ความเป็นมา ลักษณะเนื้อหามวลสาร เคยได้ยินแต่ตำนานว่าเมื่อครั้งกาลสร้างพระธาตุพนม ผู้คนจากทั่วสารทิศใกล้ไกลก็จะนำของมีค่ามาบรรจุในพระธาตุ รวมทั้งพระเครื่อง ด้วยการเดินทางยากลำบากหนทางไกล ไม่ทันกาลนั้น กลุ่มนักแสวงบุญจึงได้ฝังพระเครื่องไว้ในที่ต่างๆ ตามป่าเขา  ในถ้ำ



พระว่านจำปาศักดิ์ ถือเป็น ภูมิปัญญาของคนโบราณที่มีความนิยมชมชอบในเรื่องของต้นว่านครับ .ในมัยโบราณ ผู้คนมักจะชอบที่จะหาของป่ามาเพื่อการดำรงชีพครับ ส่วนเรื่องของ ต้นหว่านชนิดต่างๆนั้นชาวบ้านจะนำมาเพื่อสกัด หรือไม่ก็ใช้กันดิบๆ ทำเป็นยารักษาโรค และป้องกันภัยอันตรายต่างๆ โดยจะมีกรรมวิธีดังนี้ครับ เมื่อได้ว่านต่างๆมาแล้วก็จะนำมาตำจนแหลกละเอียดแล้วกดลงแม่พิมพ์ที่ทำเป็น รูปพระตามยุคสมัยนั้นๆ จากนั้นก็จะนำมาบรรจุลงกรุ(กรณีกรุธาตุพนม) และนำมาเป็นพุทธบูชาตามถ้ำผาตามถ้ำต่างๆ พระว่านจำปาศักดิ์เป็น พระเนื้อว่านที่มีลักษณะสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำ สีเปลือกไม้ และสีแดงเลือดหมู มีลักษณะบิดๆเบี้ยวๆ และโค้งงอครับ พบมากที่สุดตามถ้ำต่างๆของประเทศลาวแขวงเมืองจำปาศักดิ์ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการสร้างในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

กำเนิด “หว้าน” และประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงว่านในประเทศไทย (ตอนที่๑)                                                  By  adminพฤศจิกายน 25, 2018 ธันวาคม 19, 2018 ศาสตร์โบราณเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์, สมุนไพร ว่าน ไม้มงคล

“หว้าน” (ว่าน) เป็นเรื่องของพืชมงคลชั้นพิเศษที่มากด้วยคุณค่าตามความเชื่อถือของชาวสยาม (สมุนไพรใช้ง่าย สรรพคุณทางยาเด่นกว่าต้นใดๆ สรรพคุณทางไสยก็โดดเด่น เลยตั้งนามนำหน้า “หว้าน” หรือ “ว่าน” คล้ายๆ นาย–>นายพล ซึ่งในทางสมุนไพรยังมีอีกคำคือ “ปู่เจ้า”…) ตลอดจนชนที่อาศัยอยู่ในเขตดินแดนที่เรียกว่าสุวรรณภูมิหรือแถบภูมิภาคเอเชียอาคเนย์แห่งนี้
ว่านเสน่หา ว่านที่เชื่อกันว่าทำให้เกิดความคิดถึงสิเนหาแก่เพศตรงข้าม


โดยว่านเป็นมรดกทางความเชื่อที่พบอยู่ในภูมิภาคในแถบเอเชียอาคเนย์ ทั้งทางประเทศไทย ลาว พม่า กัมพูชา ตลอดจนชนกลุ่มน้อยๆต่างๆ เช่น ข่า, กะเหรี่ยง, ละว้า, ขมุ(๑, ๒) เป็นต้น เป็นเรื่องราวของกลุ่มพืชที่มีความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งใช้ทางความเชื่อ เช่น ช่วยให้อยู่ยงคงกระพัน ใช้ทางเสน่ห์เมตตา และใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคที่ยอดเยี่ยม การปลูกเลี้ยงว่านในแถบภูมิภาคนี้มีมาช้านานแล้ว ซึ่งพบหลักฐานในตำราพิชัยสงครามของไทยช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาระบุไว้ว่า ว่านคือสุดยอดคงกระพัน และหลักฐานทางวรรณคดีสำคัญๆ เช่น วรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน(๓) เราจึงไม่อาจสืบสาวราวเรื่องว่าคำว่าว่าน หรือ หว้าน ในภาษาโบราณนั้นถูกเรียกขึ้นมาครั้งแรกเมื่อไร ประมาณการได้ว่าคงเกิดขึ้นคู่สังคมไทยตั้งแต่ยุคก่อนยุคประวัติศาสตร์ทีเดียว
ประเทศไทยผูกพันธ์เกี่ยวกับฤาษี-ดาบสมาก สรรพวิชาความรู้ต่างๆนอกจากจะมีเค้ามูลจากทางพระพุทธศาสนาแล้ว ยังมีเค้ามูลจากทาง ฤาษีด้วย


กำเนิดว่าน
เท่าที่ปรากฏในตำราสมุดข่อย   ซึ่งได้เป็นมรดกตกทอดกันต่อ ๆ มา  หลายชั่วอายุคนแล้วนั้น  ปรากฏตำนานการกำเนิดว่านดังนี้(๒)
สิทธิการิยะ ยังมีพระฤาษี ๔ พระองค์ในผืนแผ่นดินนี้ มีฤทธาอานุภาพยิ่งกว่าบรรดาโยคีและฤาษีทั้งปวง ทั้ง ๔ องค์นี้มีนามว่า กะวัตฤาษีองค์หนึ่ง กะวัตพันฤาษีองค์หนึ่ง สัพรัตถนาถฤาษีองค์หนึ่ง จังตังกะปิละฤาษีอีกองค์หนึ่ง พระฤาษี ๒ องค์ใน ๔ องค์นี้ ได้ให้ธาตุทั้ง ๔ ตั้งอยู่เป็นอธิบดีแก่บรรดาสรรพสิ่งทั้งปวง  ส่วนท่านฤาษีองค์ที่ ๔ คือ ท่านจังตังกะปิละนั้นได้ตั้งบรรดากบิลว่านต่าง ๆ ขึ้น ไว้สำหรับท้าวพระยาทั้งปวงอันรู้จักคุณพระรัตนตรัย คือพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ  พระสังฆรัตนะ ทั้งยังรู้จักอดกลั้นต่อบรรดาอกุศลกรรมทั้งหลายอีกด้วย  เพื่อสำหรับท้าวพระยาและสมณชีพราหมณ์ทั้งปวง จนได้รู้จักสรรพคุณและสารประโยชน์จากว่านต่าง ๆ เหล่านั้น ไปช่วยบำบัดโรคภัยไข้เจ็บและช่วยปกป้องผองภยันตรายทุกข์ภัยนา ๆ ประการแก่ผู้เฒ่าผู้แก่แลคนทั้งปวงทั่วกัน(๒)
กำเนิดว่านตามตำรา “ลักษณะว่าน” พ.ศ.๒๔๗๓ โดย นายชิตร์ วัฒนะ ตำราเรียงพิมพ์เล่มแรกของไทย


จากความข้างต้นจึงวิเคราะห์ได้ว่าพระฤาษีทั้ง ๔ ตนนั้นคงจะนับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งในสมัยโบราณ แถบสุวรรณภูมินี้ก็มีมากทีเดียวที่มีผู้นับถือพระพุทธศาสนาแล้วจึงออกบวชเป็นฤาษี หรือเป็นฤาษีอยู่เดิมแล้วต่อมาได้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา(๔) แต่หาได้ออกบวชเป็นภิกษุ ทั้งนี้อาจด้วยเพราะการบวชในสมัยก่อนนั้นเป็นของยาก ด้วยต้องครบองค์สงฆ์ตามกำหนด หรืออาจเป็นด้วยจริตของคนแต่ก่อนเก่าก็เป็นได้
ตามที่กล่าวนี้แสดงว่า  ได้เคยมีการรวบรวมบรรดาว่านต่าง ๆ เข้าเป็นหมวดหมู่  สำหรับสั่งสอนประชาชนต่อ ๆ มาให้รู้จักถึงชนิดว่าน  ลักษณะและสรรพคุณ  หรือประโยชน์ของว่านมาแล้วในอดีต  ทั้งแสดงว่าการกระทำอย่างนี้ได้กระทำในสมัยเมื่อพระพุทธศาสนาได้เกิดมีแล้ว  คือไม่นานเกินกว่า ๒๕๐๐ ปีมานี้เอง(๒)

โดยปรกติพระฤาษีหรือท่านผู้ทรงวิทยาคุณขลังต่าง ๆ ย่อมพำนักอาศัยอยู่ตามป่าสูงหรือในถ้ำตามภูเขา  ฉะนั้นบรรดาชาวป่าชาวดอยที่มีถิ่นที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง  จึงพลอยได้รับความรู้ในเรื่องว่านยาจากท่านเหล่านั้นเอง  และคงรักษาความรู้ ไว้ด้วยการบอกเล่าสืบทอดต่อมาแบบมุขปาถะจนทุกวันนี้ การนับถืออิทธิฤทธิ์ของว่านจึงยังคงมีแพร่หลายอยู่ในหมู่ชนชาวป่าชาวดอยเหล่านั้นตลอดมาจนบัดนี้  ได้แก่พวกกะเหรี่ยง, ละว้า, ข่า, ขมุ, ยาง, แม้ว, เย้า, ชอง, ต้องสู้, เขมร และลาวที่อยู่นอก ๆ เขตชุมนุมชนออกไป  ถึงแม้ในเมืองไทยเราตามแถวชาวชนบทชั้นนอก ๆ ก็ยังคงมีผู้เลื่อมใสเชื่อถือในอภินิหารของว่านอยู่อีกไม่น้อย(๒) ซึ่งในยุคปัจจุบันก็เริ่มมีชาวกรุง ตลอดจนเยาวชนคนรุ่นใหม่เริ่มหันกลับมาให้ความสนใจในเรื่องว่านนี้เพิ่มขึ้นทุกทีๆ
ดังนั้นตามความเข้าใจของผู้เขียนจึงเห็นว่าคำว่ากบิลว่านนั้นน่าจะแปลว่า ว่านของฤาษีกบิล ไม่น่าจะแปลว่า “บรรดา” และไม่น่าจะหมายถึงการรวบรวมรายการว่านตามปับสา ใบลาน สมุดข่อย ออกมาเป็นฉบับหรือรวมเป็นเล่มตำรา
“พระว่านจำปาสัก” พระเนื้อว่านสด กดพิมพ์ผสานด้วยวัสดุประเภทหนึ่งที่ทานได้ (ผมขอบังไว้ เดี๋ยวมีผู้ทำเลียนแบบเต็มบ้านเต็มเมือง) เรียกนามตามชื่อนครจำปาสักของประเทศลาว


นอกจากนี้ยังมีตำนานเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อในเรื่องของการนำว่านมาสร้างพระเครื่องซึ่งได้แก่ การสร้างพระเนื้อว่านจำปาสัก ซึ่งเป็นการสร้างพระด้วยเนื้อว่านสดๆกดลงในแม่พิมพ์ เมื่อพระแห้งแล้วจะมีลักษณะเป็นรอยย่น บิดเบี้ยวตามการหดตัวของเนื้อว่าน พบมากทางกรุในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ประเทศลาว และพบได้บ้างประปรายในเขตภาคกลาง โดยมีเค้ามาจากการทำแท่งยารักษาโรคในสมัยโบราณ เป็นลักษณะการทำแท่งยาครอบจักรวาล เมื่อเปลี่ยนกระสาย(ยักกระสาย) จึงใช้รักษาโรคที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งต่อมาได้วิวัฒน์มาเป็นการสร้างพระด้วยว่านยานั่นเอง หากใครได้เคยเห็นพระว่านจำปาสักเก่าๆ บางองค์ จะอาจเห็นร่องรอยของการฝนยาที่องค์พระด้วย
และเนื่องจากว่า ชาวสยามได้พบเห็นพระเครื่องแบบนี้ครั้งแรกๆ เมื่อครั้งประเทศลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองและทหารไทยที่ไปช่วยรบอยู่นั้น เมื่อกลับสู่ฝั่งไทย ก็ได้นำพระว่านจำปาสักกลับมาด้วยเป็นจำนวนมาก เมื่อนำมาแล้วก็เอาไปฝากเอาไปวางไว้ตามวัดต่างๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้พบพระว่านจำปาสักกระจายทั่วไป(๕) นั่นเองคนไทยจึงเรียกชื่อพระเนื้อว่านแบบนี้ว่า “พระว่านจำปาสัก” ตามชื่อนครจำปาสักของประเทศลาว


นอกจากจากนี้ก็ยังพบตำนานเกี่ยวกับการสร้างพระเครื่องด้วยว่านอื่นๆ เช่น พระผงสุพรรณ โดยพบในสำเนาจารึกลานทอง ๓ แผ่น ที่ปรางค์วัดพระธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี คัดลอกโดยท่านมหาชื้น วัดจักรวรรดิ์ราชาวาส เมื่อปี พ,ศ ๒๔๕๓ ซึ่งเป็นการจารึกประวัติศาสตร์ของการสร้างวัด สร้างพระเครื่องและพระบูชา โดยเฉพาะแผ่นที่ ๒ ซึ่ง สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแปลไว้ว่า
พระผงสุพรรณ เชื่อกันว่าเป็นพระที่มีส่วนผสมของว่านอยู่ด้วย


“ศุภมัสดุ ๑๒๖๕ (ตรงกับ พ.ศ.1886) สิทธิการิยะแสดงบอกไว้ให้รู้ว่า มีฤๅษีทั้งสี่ตน พระฤๅษีพิมพิลาไลย์เป็นประธาน เราจะทำด้วยฤทธิ์ทำด้วยเครื่องประดิษฐ์มีสุวรรณ เป็นต้น คือบรมกษัตริย์พระยาศรีธรรมโศกราชเป็นผู้ศรัทธาพระฤๅษีทั้งสี่ตน จึงพร้อมกันนำเอาแต่ว่านทั้งหลาย  พระฤๅษีจึงอัญเชิญเทพยดามาช่วยกันทำพิธี ทำเป็นพระพิมพ์ไว้(๖) สถาน ๑ แดง สถาน ๑ ดำ ให้เอาว่านทำเป็นผงก้อนพิมพ์ด้วยลายมือของพระมหาเถระปิยะทัศสะศรีสารีบุตร คือ เป็นใหญ่เป็นประธานในที่นั้น ได้เอาแร่ต่างๆ ซัดยาสำเร็จแล้วให้นามแร่ว่าสังฆวานร ได้หล่อเป็นพิมพ์ต่างๆ มีอานุภาพต่างกัน เสกด้วยมนต์คาถาครบ ๓ เดือน แล้วท่านเอาไปประดิษฐ์สถานไว้ในสถูปใหญ่แห่งหนึ่งที่เมืองพันทูม (สุพรรณบุรี) ถ้าผู้ใดพบเห็นให้รีบเอาไปไว้สักการะบูชาเป็นของวิเศษ แม้จะมีอันตรายประการใดก็ดี ให้อาราธนาผูกไว้ที่คอ อาจคุ้มครองภยันตรายได้ทั้งปวง ถ้าผู้ใดจะออกรณรงค์สงครามประสิทธิ์ด้วยสาทตราวุธทั้งปวง เอาพระลงสรงน้ำมันหอมแล้วนั่งบริกรรมพุทธคุณ  ธรรมคุณ สังฆคุณ ๑๐๘ จบ พาหุง ๑๓ จบ ใส่ขันสัมฤทธิ์นั่งอธิษฐานเอาตามความปรารถนาเถิด  ให้ทาทั้งหน้าและผม คอ หน้าอก ถ้าจะใช้ในทางเมตตาให้มีสง่าเจรจาให้คนทั้งหลายเชื่อฟังยำเกรง  ให้เอาพระไว้ในน้ำมันหอมเสกด้วยคาถานวหรคุณ ๑๓ จบ พาหุง ๑๓ จบ พระพุทธคุณ ๑๓ จบ  ให้เอาดอกไม้ธูปเทียนบูชาทำพิธีในวันเสาร์ น้ำมันหอมเก็บไว้ใช้ได้เสมอ ทาริมฝีปาก หน้าผาก และผม ถ้าผู้ใดพบพระตามที่กล่าวมานี้ พระว่านก็ดี พระเกษรก็ดี ทำด้วยแร่สังฆวานรก็ดี อย่าประมาทเลย อานุภาพพระทั้ง ๓ อย่างนี้ดุจกำแพงแก้วกันอันตรายทั้งปวง แล้วให้ว่าคาถาทเยสันตา(๗)จนจบ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณจนจบ พาหุงไปจนจบ แล้วให้ว่าดังนี้อีก คะเตสิกเก กะระณังมะกา ไชยยังมังคะ สังนะมะพะทะ(ผู้เขียน : อาจจะหมายถึง ฆะเฏสิ กิงกะระณา  มหาชัยมังคะลัง นะมะพะทะ) แล้วให้ว่า กิริมิถิ กุรุมุถุ เกเรเมเถ กะระมะถะ ประสิทธิแล”



อ้างอิง
  • ตำหรับ กระบิลว่าน โดย หลวงประพัฒสรรพากร
  • ตำราคุณลักษณะว่าน และ วิธีปลูกว่าน โดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ
  • ว่าน สมุนไพร ไม้มงคล โดย ณรงค์ศักดิ์ ค้านอธรรม
  • อุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) โดย กรมศิลปากร ต้นฉบับ อาชญาเจ้าอุปราชพร้อมด้วยบุตรภรรยา พ.ศ ๒๔๐๔
  • นิตยสารมหาโพธิ์
  • ว่าน กับตำนานพระเครื่องและสมุนไพร โดย ณรงค์ มูลคำ
  • คาถาทเยสันตา หรือบทขัดมังคะละสุตตัง คือบทนำในการสวดมนต์ เหมือนบทชุมชุนเทวดาดังนี้

๏ เย สันตา สันตะจิตตา ติสะระณะสะระณา เอตถะ โลกันตะเร วา…ฯลฯ  O๛
  • หนังสือพิมพ์ไทยโพสท์ พระผงสุพรรณยอดพุทธคุณในเบญจภาคี โดย ราช รามัญ

ที่มา..https://ssbedu.com
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2020-8-1 22:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้