แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย รามเทพ เมื่อ 2019-12-12 13:13
ปางปฐมเทศนา หรือ ปางแสดงธรรมจักร
พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ขวายกขึ้นจีบนิ้วพระหัตถ์เป็นรูปวงกลม เป็นกิริยาแสดงธรรม พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นประคอง ลางแห่งทำแบบวางพระหัตถ์ซ้ายบนพระเพลาบ้าง ยกขึ้นถือชายจีวรบ้าง ลางแห่งทำแบบนั่งห้อยพระบาทก็มี
พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานดังนี้
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงมั่นพระทัยในอันจะแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์แล้ว ก็ทรงรำพึงพิจารณาหาบุคคลผู้สมควรที่พระองค์จะทรงแสดงธรรมโปรดในชั้นต้นทรงมุ่งหาเฉพาะผู้ที่มีอินทรีย์แก่กล้า ควรจะรับพระธรรมเทศนาเท่านั้น ฉะนั้นจึงทรงเลือกสรรในหมู่บรรพชิตก่อน เพราะอนาคาริยบุคคล คือผู้สละเคหสถานตลอดทรัพย์สมบัติออกมาบำเพ็ญพรตอยู่แล้ว เป็นผู้มีกายวิเวก และมีจิตวิเวกเป็นสมุฏฐานอยู่ ควรจะสดับธรรมเพื่อผลเบื้องสูงขึ้นไป จึงทรงระลึกถึง อาฬารดาบสกาลามโคตร และอุทกดาบสรามบุตร ซึ่งพระองค์เคยเสด็จไปทรงศึกษาสมาบัติอยู่ในสำนักของท่านอาจารย์ทั้งสองด้วยทรงเห็นว่ามีอุปนิสัยดีสมควรจะได้ธรรมพิเศษ แต่แล้วก็ทรงทราบด้วยพระญาณว่า ดาบสทั้งสองได้สิ้นชีวิตเสียแล้วเมื่อก่อน ๗ วันนี้
ต่อจากนั้นจึงทรงระลึกถึงพระปัญจวัคคีย์ภิกษุทั้ง ๕ รูป คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ที่เคยปฏิบัติบำรุงพระองค์เมื่อครั้งทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่ ครั้นพระองค์ทรงเลิกทุกกรกิริยา ด้วยทรงเห็นว่ามิใช่ทางตรัสรู้ ทรงปฏิบัติในทางจิตตามมัชฌิมาปฏิปทา จึงภิกษุทั้ง ๕ นี้ ไม่เลื่อมใส เห็นว่าพระองค์คลายความเพียร เวียนมาเป็นคนมักมากแล้วไม่มีทางสำเร็จได้จึงได้ชวนกันทอดทิ้งพระองค์ และหนีไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทรงเห็นว่าพระปัญจวัคคีย์มีอินทรีย์แก่กล้าสมควรจะได้ธรรมวิเศษแล้ว จึงทรงพระมหากรุณาเสด็จดำเนินจากโพธิมณฑล ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน อันเป็นที่อยู่ของพระปัญจวัคคีย์ภิกษุในเวลาเย็นของวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๘ ก็เสด็จถึงสำนักพระปัญจวัคคีย์ดังพระพุทธประสงค์
ในระยะแรกปัญจวัคคีย์ภิกษุไม่ยอมเชื่อว่า พระบรมศาสดาได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ถึงแก่ใช้วาจาไม่สมควรแย้งพระผู้มีพระภาคว่า เมื่อพระองค์คลายความเพียรเวียนมาเป็นผู้มักมากแล้ว อย่างไรพระองค์จะได้ตรัสรู้ เพราะพระปัญจวัคคีย์ถือมั่นอยู่ในความรู้ความเห็นของตนว่า ทุกกรกิริยาเท่านั้นที่เป็นทางจะให้ผู้ปฏิบัติตรัสรู้ธรรมวิเศษได้
พระบรมศาสดาต้องตรัสเตือนพระปัญจวัคคีย์ ให้หวนระลึกถึงความหลังเมื่อครั้งอยู่ปฏิบัติบำรุงพระองค์อยู่เป็นเวลานานว่า ปัญจวัคคีย์ เคยได้ยินวาจาของพระองค์รับสั่งว่า ได้ตรัสรู้แล้วอยู่บ้างหรือ? แม้วาจาอื่นใดอันไม่เป็นความจริงที่พระองค์เคยรับสั่งเล่น ยังเคยได้ยินอยู่บ้างหรือ? เมื่อพระปัญจวัคคีย์ได้ใคร่ครวญตามพระกระแสรับสั่งเตือน จึงได้เห็นจริงตามพระวาจา และปลงใจเชื่อว่า พระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่ แล้วพร้อมกันถวายความเคารพ คอยสดับพระโอวาทอยู่ตลอดเวลา
ครั้นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เพ็ญเดือน ๘ พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดง "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" อันเป็น "ปฐมเทศนา" โปรดพระปัญจวัคคีย์ภิกษุประกาศความตรัสรู้ของพระองค์ว่า "ภิกษุทั้งหลาย กามสุขขัลลิกานุโยค คือการประกอบตนให้พัวพันด้วยความสุขในกาม ๑ อัตตกิลมถานุโยค การประกอบความทุกข์ยากให้เกิดแก่ผู้ประกอบ ๑ ทั้งสองนี้ ไม่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ทางตรัสรู้ บรรพชิตไม่ควรเสพ ส่วนมัชฌิมาปฏิปทาข้อปฏิบัติเป็นทางกลาง ที่เราตรัสรู้แล้ว เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี เพื่อนิพพาน คือสิ้นตัณหาเครื่องรัดรึง เป็นธรรมที่บรรพชิตควรดำเนิน ด้วยเป็นทางทำผู้ดำเนินให้เป็นพระอริยะ"
ทางสายกลาง
มัชฌิมาปฏิปทานั้น ได้แก่ทางมีองค์ ๘ คือ สัมมาทิฎฐิ ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ ๑ สัมมาวาจา วาจาชอบ ๑ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ ๑ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ ๑ สัมมาวายามะ ความชอบ ๑ สัมมาสติ ระลึกชอบ ๑ สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ ๑
มัชฌิมาปฏิปทานี้แล เราได้ตรัสรู้แล้ว ทำให้เกิดดวงตา คือ ปรีชาญาณ เห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งเญยยธรรมทั้งปวงเป็นไปเพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี เพื่อนิพพาน พร้อมกับทรงประกาศสัจจธรรมทั้ง ๔ ประการ คือ ทุกขสัจจะ สมุทยสัจจะ นิโรธสัจจะ และมัคคสัจจะ โดยเทศนาบรรหารจำแนกยถาภูตทัศนญานด้วยอาการ ๑๒ บรรจบครบบริบูรณ์ เมื่อจบปฐมเทศนา โกณฑัญญภิกขุ ได้ธรรมจักษุ บรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระสาวกชั้นพระอริยบุคคลองค์แรกในพระพุทธศาสนา.
พระพุทธจริยา ที่พระองค์ทรงพระมหากรุณาแสดงปฐมเทศนาครั้งนี้ เท่ากับประกาศความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้โลกรู้แจ้งชัด ด้วยพระปรีชาญานอันหาผู้เสมอมิได้ ได้พระโกณฑัญญะเป็นสักขีพยานในการตรัสรู้ของพระองค์เป็นนิมิตรอันดี ในการที่พระองค์จะประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองในโลกสืบไป ข้อนี้เป็นเหตุแห่งการสร้างพระพุทธรูปปางนี้เรียกว่า "ปางปฐมเทศนา" หรือ "ปางแสดงธรรมจักร"
ข้อมูลจากหนังสือ "ตำนานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ" นิพนธ์ของ พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ อนุจารีมหาเถร)
|