|
หมด...”
[url=] [/url] ถึงท่านจะเป็นพระ แต่ท่านก็บอกว่า พ่อแม่นี่ล่ะคือ พระที่ประเสริฐที่สุด
“ถ้าหากว่าใครไม่สนใจกับการดูแลเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ละก็ มาทำบุญกับหลวงพ่อนี่ หลวงพ่ออยากจะบอกว่า มาทำทำไม พ่อแม่เป็นพระองค์ประเสริฐของเรานี่ ไปเที่ยวเร่ร่อนหาทำบุญแต่ต่างถิ่นต่างแดน แต่ปล่อยให้พ่อแม่เฝ้าบ้าน ต้มหุงกินเองอยู่คนเดียว มันไม่เข้าท่า
ก่อนอื่น จะไปทำบุญที่ไหน ต้องกะว่าพ่อแม่เราต้องอิ่ม มีของดีๆ ขนไปทำบุญกับพระกับสงฆ์หมด กล้วยเน่าๆ เอาไว้ให้พ่อแม่กิน มันไม่เข้าท่าเลยนะ จะบอกให้ เอาไปทำบุญกับพระอย่างไร ก็ต้องให้พ่อให้แม่ด้วย ทำอย่างนั้นมันถึงจะถูกต้อง หรือไม่ก็ให้ดีกว่าก็ยังได้ เพราะสมบัติทุกสิ่งส่วนของเราได้มาจากท่าน เรามีมือมีเท้าสำหรับเดิน ท่านเป็นผู้สร้างให้เรา แล้วเรามีวิชาความรู้ ท่านก็เป็นผู้หาให้เรา เพราะฉะนั้นจะไปมองข้ามท่านได้อย่างไร” (จากหนังสือฐานิยปูชา 2553)
หลวงพ่อพุธ มิเคยแต่งงาน แต่ท่านมีลูกมีหลานเพราะท่านเป็นหลวงพ่อของใครต่อใคร และใครหลายคนก็เติบโตมาเพราะการชุบเลี้ยงดูแลของหลวงพ่อ
หลวงพ่อผู้เป็นลูกกำพร้า เลี้ยงและสอนลูกที่ถูกทิ้ง ลูกที่เป็นลูกของหลวงพ่ออย่างไร ความนี้มีอยู่ในหนังสือฐานิยปูชา 2553 หนังสือธรรมของหลวงพ่อพุธเล่มล่าสุดมีความดังนี้
“พ่ออีกคนหนึ่ง พ่อบักวิทย์ บักวิทย์นี่เป็นหลานอาจารย์ไสว อาจารย์ไสวนี่มีแม่คนหนึ่งแล้วก็น้องสาวคนหนึ่ง ไอ้น้องสาวบ้าบอนี่ก็ไปเที่ยวหาแต่ลูกมาให้หลวงลุงเลี้ยง มีผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้ชายคนหนึ่ง หลวงลุงก็อยากจะให้หลานมีการเรียนการศึกษา จูงมือไปที่อุบลฯ จะไปฝากโยมอุปถัมภ์ปฐากให้เรียน ตั้งแต่ ม.1 ถึง ม.6 จบ ม.6 แล้ว ให้เรียน ม.7 ต่อ ตอนนั้นมันมี ม.7 ม.8 มันบอกว่า ‘โอ๊ย! สู้ไม่ไหวแล้ว หลวงพ่อ เอาแค่ ม.6 นี่ก็พอแล้ว’ ‘แล้วแกจะไปยังไง’ ‘ผมจะสมัครเป็นครูโรงเรียนราษฎร์
แล้วจะไปสอบวุฒิครูเอา’ สมัยนั้นเขายังมีสอบ ป.ม.กันอยู่ มันก็เรียนต่อ สอบเทียบก็ได้ ป.ม. จบ ป.ม.ไปเป็นครูอยู่ที่นครปฐม ภายหลังมารับราชการครู
“สมัยที่มันเป็นเด็ก หลวงลุงจูงมือไปหาพ่อ ไปบอกว่าเป็นลูกเป็นเต้า มันไล่หลวงลุงลงจากบ้าน อยู่มาภายหลัง มันเป็นอัมพาตแล้วก็ไม่หาย เสร็จแล้วก็ต้องออกจากงาน เงินบำเหน็จที่ได้มาก็ไม่เท่าไร ผลสุดท้ายครอบครัวก็ไม่มีใครช่วยหารายได้ ให้เขาหามใส่สามล้อไปหามัน ไปขอให้มันเลี้ยง ไปรับสารภาพผิด มันก็รับว่าเป็นพ่อ แต่มันบอกว่า ‘ผมยังมีพ่ออุปการะผมอีกคนหนึ่ง ให้ผมไปถามพ่อผมคนนั้นก่อน ถ้าท่านอนุญาตให้เลี้ยง ผมก็จะเลี้ยง’
“มันก็นั่งรถมาตอนนี้หลวงพ่อมาอยู่โคราชแล้ว มันมาบอก ‘พ่อเขารับสารภาพผิดแล้ว เวลานี้เขาเป็นอัมพาตช่วยตัวเองไม่ได้เขามาขอให้ผมเลี้ยง หลวงพ่อจะว่าอย่างไร’ ‘อ้าว! ก็ดีแล้วนี่ ก่อนตายเขารู้สึกว่าเขามีความผิด เขารับสารภาพผิดแล้ว ก็รับเลี้ยงเขาเถอะ’ มันก็เลี้ยงจนตายคามือ”
อีกด้านหนึ่งนี่คือ เรื่องของพ่อที่ผิดต่อลูก แต่ลูกนั้นไม่ผิดต่อพ่อเพราะพ่อคือ หลวงพ่อสอนมาแล้ว
ลูกกำพร้าผู้นี้ก็สอนนักสอนหนาว่า ถึงพ่อแม่จะไม่ได้เลี้ยงเรา แต่ถ้าเราไปทำกรรมต่อท่านมันก็บาปนักบาปหนา ความนี้ปรากฏอยู่ในเรื่อง “วิบัติ! แม้ทำกรรมกับพ่อที่ไม่ได้เลี้ยงดู” ในหนังสือเล่มเดียวกัน
“มันมีอย่างนี้ ตัวอย่างมันเห็นได้ชัดเจน ขนาดพ่อไม่ได้เลี้ยงลูก มหาศรี อยู่วัด...เมื่อเร็วๆ นี้ ไม่กี่ปีมานี้ มหาศรีสอบมหา 5 ประโยคได้ตั้งแต่อยู่บ้านนอก เข้าไปอยู่กรุงเทพฯ ทีนี้พ่อแกไปได้แม่แกอย่างไม่ได้มีทะเบียน พอท้องแล้วไม่รับรอง ไม่รับว่าเป็นลูก แม่มหาศรีนี่ก็ใจเด็ด ก็เลี้ยงลูกกะยาย มหาศรีเกิดมาก็เห็นแต่แม่กับยาย
“อยู่มาภายหลัง มหาศรีไปเรียนจบปริญญาตรีที่กรุงเทพฯ แล้วไปต่อปริญญาโทที่ประเทศอินเดีย พอกลับมา เจ้าพ่อนี่เขียนจดหมายให้ลูกชายที่ได้กับแม่ใหม่ถือไปบอกว่า คนนี้คือน้องชายของท่าน ท่านช่วยอุปการะให้ได้รับการศึกษาเล่าเรียน พออ่านจดหมายเท่านั้นแหละ มหาศรีนี่ลุกปุ๊บปั๊บ ‘กูไม่มีน้อง กูไม่มีพี่มีน้อง กูมีแต่ยายกับแม่ มึงไปนะ ไม่ไปกูเตะคอหัก’ เด็กหนุ่มมันกลัวมันก็หนีไป
“เอ้า! นึกว่าจะเป็นเฉพาะแต่น้องชายมา หลังจากนั้นไม่นาน ไม่กี่วัน พ่อกับแม่ใหม่มา มาก็มาบอกว่า ‘ผมนี่แหละเป็นพ่อของท่าน’ พอได้ยินเท่านั้นแหละ ลุกปุ๊บปั๊บขึ้นมาเลย กำหมัด ทำท่าจะเตะจะต่อย ‘กูไม่มีพ่อ กูมีแต่แม่กับยาย ยังมาบอกว่าเป็นพ่อ มึง! หมานี่ ทำไว้แล้วไม่รู้จักเลี้ยงจักดู ไม่รู้จักรับผิดชอบ จะมาอ้างว่าเป็นพ่อกูยังไงวะไปนะ ไม่ไปกูเตะคอหักเลย’ พ่อรีบลุกออกจากกุฏิไป
“ภายหลังมา มหาศรีสึกไป ไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่ได้ ไปสมัครเป็นอนุศาสนาจารย์ เขาก็สืบประวัติว่ามีความประพฤติไม่ดี พอเสร็จแล้วก็เลยไม่มีงานทำเตะฝุ่นอยู่จนกระทั่งเดี๋ยวนี้
“พ่อแม่นี่ เพียงแค่นี้ก็บาปหนักบาปหนาเห็นทันตา อันนี้รายหนึ่ง”
ในช่วงวันแม่เรามักพูดถึงความรักของพ่อแม่ แต่ในความเป็นจริงแล้วในรอบ 10 ปีมานี้ สังคมไทยมีการหย่าร้างเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว
ปีนั้นกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยข้อมูลว่า เดิมปี 2539 มีการหย่า 13% กล่าวคือ มีผู้จดทะเบียนสมรส 436,831 คน หย่า 56,718 คน แต่ 10 ปีถัดมา ในปี 2549 สถิติหย่าร้างพุ่งเป็น 26% กล่าวคือ มีผู้จดทะเบียนสมรส 347,913 คน หย่า 91,155 คน หรือชั่วโมงละ 10 คน
เดือน ม.ค. 2552 สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) ได้ศึกษาสถานการณ์ครอบครัวไทย แล้วพบว่า ปัจจุบันนี้มีประชากรเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 11-22 ปี จำนวน 11.4 ล้านคน อยู่ในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมากกว่า 2.5 ล้านครอบครัว
พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวจำนวนมากยังอยู่ในวัยรุ่นและวัยเรียน และเหตุหลักที่พวกเขาต้องกลายมาเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว เพราะปัญหาการหย่าร้าง
พวกเขาจะเติบโตขึ้นมาโดยมีชะตากรรมอย่างไรไม่มีใครรู้ แต่ถ้าพวกเขา มักใหญ่ใฝ่สูงในทางที่ดี ไม่เอาชะตากรรมความเป็นลูกกำพร้ามาเหยียบย่ำตัวเองแล้วตระหนักว่า พระคุณของบิดามารดาและคุณของท่านผู้มีคุณทั้งหลายสำคัญที่สุด อย่างที่หลวงพ่อสอน เชื่อได้ว่าพวกเขาย่อมลิขิตชีวิตตัวเองไปในทางประเสริฐได้อย่างแน่นอน
|
|