ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1967
ตอบกลับ: 0
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ความเชื่อเรื่อง “ธรณีประตู” และความหมายที่แท้จริง

[คัดลอกลิงก์]
เคยได้ยินไหมว่า โบราณห้ามไว้ว่า อย่าเหยียบธรณีประตู ผู้ไม่เชื่อฟัง บังอาจเหยียบธรณีประตู จะต้องถูกธรณีสูบสักวัน ธรณีประตู คือ ไม้ที่รองรับกรอบล่างของประตู และเป็นที่รองรับกลอนประตูด้วย เป็นที่ที่ทุกคนจะต้องเดินผ่านไปมาเป็นประจำ เป็นของสำคัญของบ้านเรือน ถ้าใครเดินเหยียบย่ำ ขย่ม กระแทก เป็นต้น ก็จะมีบาปกรรม เมื่อถึงเวลาอันสมควร จะถูกธรณีสูบ คือ ถูกแผ่นดินสูบลงไป จนกระทั่งตายอยู่ใต้ดิน
ความเชื่อเรื่องของธรณีประตูที่ว่า เป็นสิ่งที่ควรนับถือ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองรักษาอยู่ เมื่อจะเข้าประตูจะต้องก้าวข้ามห้ามเหยียบ ความเชื่อนี้ค่อย ๆ เลือนหายไปจากความทรงจำ ความคิดของผู้คนสมัยปัจจุบันกันแล้ว สมัยก่อนผู้เฒ่าผู้แก่จะคอยสอนเรื่องกิริยามารยาทว่า ต้องเดินอย่างสุภาพนิ่มนวลทุกก้าวย่างโดย เฉพาะตรงประตูเข้าออก ธรณีประตูจะมีลักษณะเป็นไม้ขวางวางภายในประตู มีรูครกสำหรับเดือยบานประตู และลงลิ่มหรือลงกลอน
คำว่า ธรณี หมายถึงโลก หรือแผ่นดิน จึงมีคำที่มักใช้ในเชิงยกย่องว่า แม่พระธรณี ส่วนประตูบ้านหรือประตูเรือนที่สร้างแบบมีธรณีประตู ในบางที่ก็จะเรียกว่า แม่พระธรณีประตู ในศาสนาพราหมณ์มีความเชื่อว่า พระภูมิเจ้าที่จะสถิตทุกแห่ง ทุกที่ของบ้าน เพื่อปกป้องรักษาบ้าน ให้ความร่มเย็นแก่ผู้อยู่อาศัย ไม่ให้มีภัยใดมาแผ้วพาน ดังนั้นจึงมีข้อห้ามการเดินเหยียบธรณีประตู แม้ปลายเท้าสัมผัสก็ตาม เพราะธรณีประตูเป็นเสมือนที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นประตูสู่มิติภายในบ้าน
ตามคติประเพณีแต่เดิมของไทย ธรณีประตูมักจะทาสีดินแดง ถ้าเป็นโบสถ์วิหารหรือปราสาทราชวังมักลงรักสีเดียวกัน เวลาจะเข้าออกจะมีไม้กระดานอีกแผ่นหนึ่งวางทับไว้ สำหรับเมื่อก้าวเข้าออกทางนั้นจะได้ไม่เหยียบธรณีประตู ทำให้พื้นซึ่งทาสีลงรักไว้สวยงามนั้นเสียไป บางความเชื่อถือว่าตรงธรณีประตูมีผีหรือเจ้าที่เจ้าทางเฝ้าประจำคอยรักษาอยู่ ที่เรียกว่า ทวารารักษ์ นายทวารบานประตู หรือพระภูมิประตู ซึ่งพระภูมินั้นมีอยู่ 9 องค์ เช่น พระภูมินา พระภูมิบ้านเรือน พระภูมิประตูและหัวกระได เป็นต้น คนโบราณจึงห้ามเหยียบธรณีประตู
หากธรณีประตูมีขนาดใหญ่ก็ก้าวข้ามไม่พ้น นอกจากกระโดดข้าม จึงใช้วิธีพาดไม้เป็นสะพานก่ายเช็ดหน้าประตู แล้วจึงแก้เคล็ดโดยเอาไม้อีกแผ่นหนึ่งทับเสีย ดังนั้นถึงจะเหยียบ ซึ่งเป็นการแก้ว่า ไม่ใช่เป็นการเหยียบธรณีประตู
ยกตัวอย่างในเรื่องสี่แผ่นดินของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่กล่าวถึงความเชื่อในเรื่องนี้ ตอนที่แม่พาพลอยเข้าวังเป็นครั้งแรกว่าที่ประตูวังชั้นในนั้น มีหญิงแก่บ้างสาวบ้างที่เรียกว่าโขลน ทำหน้าที่เฝ้าประตูวัง ใครที่ก้าวข้ามไม่พ้นเผลอเหยียบธรณีประตูก็จะต้องถูกตี หรือต้องกราบขอขมาธรณีประตูนั้น ๆ
หากพิจารณาขนบธรรมเนียมดังกล่าวในเชิงเหตุและผล จะพบว่าบ้านในสมัยก่อนนิยมทำธรณีประตูเอาไว้หน้าประตูบ้าน เพื่อบ่งบอกถึงอาณาเขตที่เป็นส่วนของภายในบ้านกับภายนอกบ้าน นอกจากนี้ ธรณีประตูยังเป็นเสมือนเขื่อน เพื่อป้องกันฝุ่นละออง น้ำ สัตว์ที่เป็นอันตราย หรือสิ่งสกปรกอื่นๆ ที่จะเข้าสู่ตัวบ้านอีกด้วย หรือในกรณีหนึ่งที่จำเป็นต้องมีธรณีประตูคือ พื้นที่ด้านหน้าบ้านสูงกว่าตัวบ้าน ธรณีประตูจะช่วยป้องกันน้ำ หรือฝุ่นที่จะพัดเข้ามาในบ้านได้ ที่สำคัญธรณีประตูยังมีประโยชน์ในแง่ที่ช่วยตรึงฝาปะกนไว้กับกรอบประตู นอกจากนี้ บ้านเรือนในสมัยก่อนมักตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำลำคลอง ดังนั้นเพื่อกั้นไม่ให้ทารกหรือเด็กเล็ก ๆ คลานเล่นจนพลัดตกน้ำไป จึงนิยมยกธรณีประตูไว้สูง
ประเพณีการบวชในพุทธศาสนาก็มีธรรมเนียมการเตือน “นาค” ที่กำลังจะเข้าโบสถ์ว่าอย่าเหยียบธรณีประตู ซึ่งเป็นการเตือนสติว่า นาคกำลังก้าวเข้าสู่อาณาเขตของสงฆ์แล้ว จำเป็นต้องสำรวมและรำลึกถึงสถานภาพของตน การมีธรณีประตูที่โบสถ์หรืออาคารภายในวัดเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงการกั้นอาณาเขตที่เป็นของพระสงฆ์ และเป็นการเตือนใจพุทธศาสนิกชนที่กำลังจะเข้าไปทำกิจกรรมในบริเวณนั้นตระหนักถึงการสำรวมกิริยามารยาทเมื่อล่วงเข้าสู่บริเวณดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อจะไม่เป็นการรบกวนพระสงฆ์ที่กำลังปฏิบัติกิจอยู่
ส่วนธรรมเนียมของชาวตะวันตกที่เกี่ยวกับธรณีประตูก็มีให้เห็นเช่นกัน เช่น การอุ้มเจ้าสาวข้ามธรณีประตู ที่กลายเป็นธรรมเนียมของคู่บ่าวสาวที่เพิ่งแต่งงานกัน ในกรณีนี้ดูเหมือนเป็นการแสดงเพื่อให้คนอื่นรับรู้มากกว่าความจำเป็น ซึ่งอาจสันนิษฐานเหตุที่มาได้สองประการ คือ เป็นการบ่งบอกกิริยาอาการความเต็มใจที่จะต้องเสียความบริสุทธิ์ และเป็นการบอกกล่าวแก่ผู้คนในสังคมว่าเจ้าสาวนั้นได้เป็นภรรยาของเจ้าบ่าวหรือสามีถูกต้องตามจารีตประเพณีแล้วนั่นเอง
ความมุ่งหมายที่แท้จริงของการห้ามเหยียบธรณีประตู
๑. เหตุผลทางธรรม เป็นอุบายสอนใจ การข้ามผ่านธรณีประตูเปรียบได้กับการข้ามพ้นโลก และอำนาจกิเลส จึงเป็นเครื่องสอนใจให้ควบคุมตนเองให้อยู่เหนือกิเลส
๒. ธรณีประตูมีหน้าที่ช่วยค้ำยันวงกบไม่ให้ยุบตัว ดังนั้นหากมีคนเหยียบหรือเตะธรณีประตูบ่อย ๆ ก็อาจจะทำให้ประตูโยกคลอน หรือทำให้พื้นไม้โค้งงอจนเป็นแอ่ง เสี่ยงต่อการถูกบุกรุกโดยสัตว์เลื้อยคลานต่าง ๆ หรือเสียเงินเสียทองที่ต้องมาซ่อมแซมใหม่อีก
๓. เป็นกุศโลบายให้รักษาสติ เนื่องจากบางที่ธรณีประตูไม่เท่ากัน มีโอกาสมากที่จะสะดุดธรณีประตู ทำให้ได้รับบาดเจ็บได้
๔. ธรณีประตูจะมีการลงรักปิดทอง หรือทาชาดไว้ให้สวยงาม การเหยียบธรณีประตูจะทำให้รักทองหรือชาดที่ทาไว้ชำรุด-เสียหายได้…../*
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : http://www.uniserv.buu.ac.th/forum2/topic.asp?TOPIC_ID=4459 : http://www.thepjuti.com/
ที่มาจาก Hathairat Traithip

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้