ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2022
ตอบกลับ: 3
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ประวัติ พระพุทธวิเศษ วัดทุ่งศรีวิไล จ.อุบลราชธานี

[คัดลอกลิงก์]

พระพุทธวิเศษ(หลวงพ่อพระพุทธวิเศษ) ณ วัดทุ่งศรีวิไล เป็นพระพุทธรูปสลักจากศิลาแลง ปางสมาธินาคปรก ขนาดหน้าตักกว้าง 55 ซ.ม. สูง 90 ซ.ม. ยุคทวารวดี มีอายุกว่า 1,000 ปี หรือราวพุทธศตวรรษที่ 17?18 เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ปาฏิหาริย์มาก และยังเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวตำบลชีทวน และตำบลใกล้เคียง ภายในวิหารยังมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีก 2  องค์คือ องค์ขวาคือพระร่วงโรจนฤทธิ์ และองค์ซ้ายคือหลวงพ่อชัยสิทธิ์ ซึ่งประวัติความเป็นมาของหลวงพ่อนั้น เดิมแล้วบ้านชีทวนเป็นเมืองหนึ่งชื่อว่า ?เมืองซีซ้วน? มีพระยาซีซ้วนเป็นเจ้าเมือง และมีบุตรสาวชื่อว่าพระนางเจียงใด ซึ่งบริเวณวัดทุ่งศรีวิไลนั้น เดิมเป็นอุทยานของพระนางเจียงใด ซึ่งเป็นผู้ที่งดงามมากมีชื่อเสียงเลืองลือไปไกลถึงหัวเมืองต่างๆ ต่อมาท้าวกาฬหงษ์ เจ้าเมืองกันตะศิลา (จำปาศักดิ์) ได้มาสู่ขอและหมั่นหมายไว้ เมื่อข่าวนี้แพร่กระจายไปถึงเมืองอื่นๆ ต่างก็ไม่พอใจจึงจะพยายามยกกองทัพมาแย่งชิงนางเจียงใดให้ได้ ในการนี้ท้าวอินทะสะเกษ เจ้าเมืองสระแก้ว (ศรีสะเกษ) ก็ยกกองทัพมาแย่งชิงนางเจียงใดด้วย โดยยกกองทัพมาอยู่บริเวณบ้านละทายเมืองน้อยในปัจจุบัน แล้วลอบมาดักรอพบกับนางเจียงใด ที่สวนอุทยานอันเป็นบริเวณวัดทุ่งศรีวิไลในปัจจุบัน พร้อมเขียนสาสน์ขอความรักไว้ในสวนอุทยานด้วย เมื่อนางเจียงใดออกมาชมสวนอุทยานพบสาสน์ขอความรักของท้าวอินทะสะเกษก็เกิดความรัก และหลงเสน่ห์ท้าวอินทะสะเกษจึงได้พูดกับพระพี่เลี้ยงว่าอยากเห็นหน้าท้าวอินทะสะเกษ ในทันใดนั้นเองท้าวอินทะสะเกษซึ่งแอบมองอยู่ก็ปรากฏตัวขึ้นและฉุดเอานางเจียงใดไปค่ายที่พักโดยผ่านไปทางทิศใต้อันเป็นที่ตั้งบ้านท่าศาลาในปัจจุบัน พอจะข้ามลำน้ำชีนางมีความโศกเศร้าคิดถึงบิดามารดาเป็นอย่างมากและนั่งรำพึงรำพันอยู่เป็นเวลานาน ซึ่งต่อมาท่าน้ำบริเวณนั้นจึงได้ชื่อว่า ?ท่าโศรก?  ในช่วงเวลานั้นเองท้าวกาฬหงส์แห่งเมืองกันตะศิลา (จำปาศักดิ์) ก็เดินทางมายังเมืองซีซ้วนเพื่อจะประกอบพิธีแต่งงานและจะรับเอานางเจียงใดไปเมืองกันตะศิลาด้วย พอทราบว่าท้าวอินทะสะเกษได้ลักพานางเจียงใดหนีไปก็โกรธแค้นยิ่งนัก ทั้งกล่าวหาว่าพระยาซีซ้วนยกบุตรให้แก่คนอื่นไป จึงประกาศสู้รบกับเมืองซีซ้วนเมื่อความทราบถึงท้าวอินทะสะเกษว่าเมืองซีซ้วนกำลังถูกศัตรูรุกราน จึงได้ยกกองทัพมาช่วยเหลือ การสู้รบครังนี้กินเวลาอยู่หลายปีจนท้าวอินทะสะเกษไม่มีโอกาสกลับบ้านเมืองของตนและค่ายที่พักของท้าวอินทะสะเกษก็กลายเป็นเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่า ?บ้านละทายเมืองน้อย? และในช่วงเวลาที่ทำการรบอยู่นั่นเอง นางเจียงใดซึ่งพำนักอยู่ในค่ายก็คลอดบุตรชายคนหนึ่งมีรูปร่างหน้าตาคล้ายลิงมาก บิดามารดาจึงตั้งชื่อว่า ?บาลิง? การสงครามยังคงดำเนินต่อมาทำให้ไพร่บ้านพลเมืองที่ได้รับความเดือนร้อน จากการสงครามต่างก็คิดว่าเป็นเพราะท้าวบาลิง ซึ่งมีรูปร่างอัปลักษณ์ และเป็นกาลกิณีแก่บ้านเมือง จึงได้ขอร้องให้ท้าวอินทะสะเกษนำท้าวบาลิง ซึ่งขณะนั้นอายุประมาณ 3 ขวบ ไปจากเมืองนั้นเสีย ในที่สุดท้าวอินทะสะเกษทนรบเร้าจากไพร่บ้านพลเมืองไม่ได้จึงนำท้าวบาลิงมาปล่อยแพ นางเจียงใดมีความรักและอาลัยในตัวท้าวบาลิงผู้เป็นบุตรมาก จึงนั่งเศร้าโศรกเสียใจอยู่ที่บริเวณท่าแม่น้ำมูลเป็นเวลาหลายวัน อันเป็นเหตุให้บริเวณนั้นได้ชื่อว่า ?ท่านางเหงา? จนทุกวันนี้ เพราะพระนางเจียงใดได้ไปนั่งโศกเศร้าถึงบุตรของตนอยู่บริเวณนั้นจนตอมใจตาย (ปัจจุบันบริเวณนั้นมีการตั้งศาลชื่อว่าศาลนางเหงา)  ต่อมาท้าวอินทะสะเกษ เกิดการสำนึกผิดอย่างมาก จึงได้นำอัฐิ ของนางเจียงใดมาไว้ ณ อุทยาน คือบริเวณวัดทุ่งศรีวิไลในปัจจุบัน เพราะพระนางเจียงใด ทรงโปรดอุทยานแห่งนี้มากและเป็นที่ที่พระนางทรงรักมาก และท่านท้าวอินทะสะเกษก็ได้ออกบวชเพื่ออุทิศส่วนบุญ ส่วนกุศลให้พระนางเจียงใด ณ อุทยานนางเจียงใด ส่วนสงครามนั้นก็ได้หายไปเพราะพระนางเจียงใดก็ได้เสียชีวิตไปแล้ว และท้าวอินทะสะเกษก็ได้ออกบวช สงครามจึงยุติ แต่ผลจากสงครามทำให้เมืองซีซ้วนได้รับความเสียหายเป็นอย่างมากจนกลายเป็นเมืองร้างในเวลาต่อมา

                                ซึ่งต่อมาบริเวณอุทยานนางเจียงใดได้รกร้างไป จนกลายเป็นป่าไม้ขึ้นทึบหนาและมีทุ่งนาล้อมรอบจึงเรียกบริเวณนั้นว่า ?โนนนกเขียน? เพราะบริเวณนั้นจะมีนกเขียนมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวชีทวนก็ได้อาศัยชายป่าแห่งนี้เป็นที่เลี้ยงโค-กระบือ อยู่มาวันหนึ่งเกิดฝนตกหนักทำให้ผิวดินบริเวณโนนนกเขียนถูกเซาะออก โดยวันต่อมาก็มีเด็กเลี้ยงโค-กระบือพากันไปขุดดินเล่นในบริเวณโนนนกเขียน จนพบวัถตุแปลกๆ ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นอะไร แต่เมื่อขุดลงไปแล้วกับพบเกศพระพุทธรูปโผล่ขึ้นมา จึงได้กลับมาเล่าให้ชาวบ้านในหมู่บ้านฟัง และชาวบ้านได้พากันไปขุดขึ้นมาทั่วบริเวณนั้น ผลปรากฏว่าพบพระพุทธรูปปรางต่างๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพระพุทธรูปที่ทำจากศิลาแลงทั้งสิน เมื่อเช่นนี้ ชาวบ้านจึงเกิดความเลื่อมใสศรัธรา จึงพากันทำอูบมุงขึ้น ที่ตรงกลางบริเวณโนนนกเขียน แลัวอัญเชิญพระพุทธรูปทั้งหมดมาประดิษฐานไว้ ณ อูบมุงที่สร้างขึ้นมาใหม่ ครั้นนานเข้าอูบมุงชำรุดเสียหาย ชาวบ้านก็ได้สร้างโรงเรือนขึ้นหลังหนึ่งสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งหมด แต่ก็เป็นเรือนไม้หลังคามุงแฝก


2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2018-7-10 22:12 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

อยู่มาวันหนึ่งเกิดไฟป่าไหม้ลุกลามทั่วบริเวณโนนนกเขียน และไหม้โรงเรือนอันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งหมด แม้แต่พระพุทธรูปเองก็ถูกเผาไหม้ บางองค์ถูกความร้อนจัดถึงกับแขนขาหัก บางองค์ถูกไม้หล่นทับหักบาง เมื่อชาวบ้านทราบว่า ไฟไหม้โนนนกเขียน และไหม้โรงเรือนที่ประดิษฐานพระพุทธรูปก็พากันออกไปดู พบพระพุทธรูปองค์หนึ่งอยู่นอกกองไฟแค่องค์เดียวก็เกิดความประหลาดใจและสงสัยกันว่าใครนำออกมาไว้ แต่เมื่อสอบถามจนทั่วแล้วก็ไม่มีใครเช่นนั้น จึงเกิดความอัศจรรย์เป็นที่ยิ่งนักและเกิดความศรัทธาเลื่อมใสมากยิ่งขึ้น เพราะเข้าใจว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์ จึงพากันเรียกว่า ?พระวิเศษ? หรือ ?พระพุทธวิเศษ? หรือบางก็เรียกว่า ?พระเจ้าวิเศษ? มาตั้งแต่บัดนั้น

                                ในส่วนที่ว่าพระพุทธวิเศษ เดิมอยู่ที่ใดและมายังวัดทุ่งศรีวิไลอย่างไรนั้น เล่ากันมาว่าเดิมพระพุทธวิเศษเป็นของพวกขอม และสันนิฐานว่าสร้างในสมัยขอม ซึ่งเจ้าเมืองต่างๆ ของขอมตอนใต้ได้นำมาสมทบสร้างพระธาตุพนม แต่เมื่อมาถึงบริเวณ ?หนองตู?  (บริเวณทางด้านทิศตะวันออกของวัดธาตุสวนตาล) ได้ทราบว่าพระธาตุพนมได้สร้างเสร็จแล้วนั่น จึงได้สร้างพระธาตุสวนตาลขึ้น โดยทรัพย์สินที่นำมาด้วยนั่น ได้ให้โหรทำนาย ว่าจะเก็บไว้ตรงไหน โหรก็ได้ทำนายว่าบริเวณ ?โนนนกเขียน? ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เจ้าเมืองต่างๆ ก็ได้นำทรัพย์สินเงินทอง ของใช้ พระพระพุทธรูปไปฝังไว้บริเวณดังกล่าว จนเป็นตำนานเล่าขานถึงบริเวณนั่นว่า ?ทุ่งสามขา นานกเขียน เงินสามเกวียนอยู่ใต้ร่มพลับ? ซึ่งได้กล่าวไว้ในประวัติพระธาตุสวนตาล

                                หลังจากนั่นอีกนาน คงเป็นราว พ.ศ. 2350-2390  มีพระภิกษุรูปหนึ่ง เดิมเป็นชาวบ้านแขม ตำบลหัวดอน ชื่อว่า พระด้าน ได้เดินทางมายังบ้านชีทวนเห็นว่าโนนนกเขียนอันเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธวิเศษ เป็นที่เหมาะสมที่จะสร้างวัด จึงได้พาชาวบ้านที่เลื่อมใสศรัทธาสร้างวัดขึ้นในบริเวณโนนนกเขียน จึงเรียกชื่อวัดในสมัยนั้นว่า ?วัดป่า?  พระภิกษุด้าน ซึ่งต่อมาเรียกว่า ญาท่านด้าน คงสร้างพระวิหารสำหรับเป็นที่ ประดิษฐานพระพุทธวิเศษอีกครั้นหนึ่ง แต่คงเป็นเรือไม้หลังคามุงแฝกอยู่เช่นเม ต่อมาคงราว พ.ศ.2410-2430 พระอาจารย์กัน ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีวิไล พร้อมกับพระอาจารย์เนียมซึ่งเป็นรองเจ้าอาวาสก็ได้ดำเนินการสร้างพระวิหารพระพุทธวิเศษขึ้นมาใหม่ ดังจะเห็นได้จนปัจจุบัน

                                ความศักดิ์สิทธิ์และอิทธิปาฏิหาริยิ์ของพระพุทธวิเศษมีอยู่มากมายเป็นที่เลื่องลือและเป็นที่เครารพสักการบูชาของชาวบ้านชีทวน ตลอดจนบ้านอื่นเมืองอื่นมาก ดังได้กล่าวแล้วในตอนที่ว่าไฟไหม้โรงเรือน และยังมีเรื่องราวความมีอิทธิปาฏิหาริยิ์ของพระพุทธวิเศษไว้อีกมากมาย เป็นต้นว่า

ก.       เมื่อครั้งที่จะได้มีการปลูกโรงเรือนเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธวิเศษ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่กิ่งขนาดใหญ่ของต้นพลับหักลงมาทับบริเวณพระพุทธวิเศษ ชาวบ้านไม่สามารถที่จะงัดออกได้ เพราะติดอยู่กับเกศของพระพุทธวิเศษ และวิตกว่าจะถูกเกศหัก จึงมีผู้อาวุโสท่านหนึ่งพูดว่า ?พวกเราเอาออกไม่ได้หรอก? เพราะเกรงว่าเกศท่านจะหักขอให้ท่านเอาออกเองก็แล้วกัน ว่าแล้วก็บนบานศาลกล่าวและนำดอกไม้ธูปเทียนมาสักการบูชา พอวันรุ่งขึ้นปรากฏว่า กิ่งต้นพลับขนาดใหญ่ พลิกออกไปอยู่อีกด้านหนึ่ง ชาวบ้านจึงสามารถนำเอากิ่งไม้ออกได้

ข.       ในเวลาที่มีผู้เจ็บไข้ได้ป่วย ญาติพี่น้องจะนำดอกไม้ธูปเทียนไปสักการบูชาและบนบานศาลกล่าวให้หายจากอาการเจ็บป่วย ซึ่งก็ได้ปรากฏผลดีอยู่มาก นอกจากนี้หากใครเจ็บป่วยตรงส่วนใดของร่างกาย ก็จะนำแผ่นทองคำเปลวไปปิดร่างพระพุทธวิเศษให้ตรงกับส่วนที่ญาติของตนเจ็บป่วย

ค.       ในบางกรณีที่มีโจรผู้ร้ายลักขโมยสิ่งของ เจ้าตัวไม่สามารถติดตามเอาคืนมาได้ ก็จะนำดอกไม้ธูปเทียนไปเคารพสักการบูชาแล้วบนบานศาลกล่าวให้โจรผู้ร้ายที่ขโมยสิ่งของนั้นเกิดความเดือนร้อนใจ จนต้องเอาของมาคืน

ง.       ในบางกรณีที่ลูกหลานของตนเกิดใหม่ ไม่ค่อยแข็งแรงเจ็บป่วยออดๆ แอดๆ อยู่เสมอ บิดามารดา หรือผู้ปกครองก็จะนำไปบนบานศาลกล่าวแล้วทำพิธีให้เป็นบุตรของพระพุทธวิเศษ ซึ่งหลังจากนั้น เด็กก็จะแข็งแรงสมบูรณ์ไม่ค่อยจะเจ็บไข้ได้ป่วย

จ.       นอกจากนี้แล้ว ในบางครั้งบางโอกาสที่บางคนแต่งงานมีครอบครัวมานานแล้วแต่ไม่มีบุตร สามีภรรยาก็จะพากันมานมัสการพระพุทธวิเศษเพื่อบนบานศาลกล่าวให้มีบุตรไว้สืบตระกูล

ในกรณีนี้ขอยกตัวอย่างความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อพระพุทธวิเศษ  คือ ในปี พ.ศ.2436-2453  กรมหลวงสรรพสิทธิ์ประสงค์ ข้าหลวงสำเร็จราชการในมณฑลอีสาน ได้ประทับที่เมืองอุบล ได้ทรงขอหม่อมเจียงคำมาเป็นพระชายาในราวเดือนมีนาคม 2436 คือหลังจากที่ประทับเมืองอุบลราชธานีเพียง 3?4 เดือน แต่ก็ไม่มีพระโอรสหรือพระธิดา อยู่มาคราวหนึ่งกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์เสด็จออกไปเยี่ยมไพร่ฟ้าประชาชนตามหัวเมืองต่างๆ ในเขตหัวเมืองลาวกาว (ซึ่งเปลี่ยนเป็นมณฑลอีสาน ในปี 2443) เมื่อเสด็จผ่านบ้านชีทวนได้ทรงทราบว่าบ้านชีทวนมีพระพุทธวิเศษ สามารถที่จะบนบานศาลกล่าวหรือขอสิ่งซึ่งพึงประสงค์ได้ กรมหลวงสรรพสิทธิ์ประสงค์พร้อมกับหม่อมเจียงคำก็ทรงนำดอกไม้ธูปเทียนไปสักการบูชาบนบานศาลกล่าวขอพระโอรสและพระธิดาจากพระพุทธวิเศษ ต่อมาไม่นานหม่อมเจียงคำก็ได้ประสูติพระโอรส 2 องค์ คือ หม่อมเจ้าอุปลีสาน และหม่อมเจ้ากมลีสาน ด้วยเหตุดังกล่าวความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธวิเศษ จึงเลื่องลือขจรขจายไปอย่างกว้างขวางถึงต่างบ้านต่างเมือง

                ด้วยเหตุนี้ดังกล่าว ในขณะที่หม่อมเจ้าชายทั้ง 2 พระองค์ยังทรงเยาว์วัยและประทับที่เมืองอุบลราชธานีกับพระบิดา ก็จะเสด็จมาบ้านชีทวนและเยี่ยมเยียนไพร่บ้านพลเมืองอยู่เสมอในโอกาสนั้นชาวบ้านชีทวนก็จะทำพลับพลาที่ประทับไว้ที่บริเวณ ทางเข้าที่ทำการ อบต.ชีทวน (โรงเรียนบ้านชีทวนเก่า) จนเรียกบริเวณนั่นว่าโนนพลับพลา ด้วยเหตุนี้เองผู้เขียนจึงเชื่อว่าความเก่าแก่ของหมู่บ้านและความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธวิเศษเป็นส่วนสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เจ้านายเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง ดังเช่นข้าหลวงต่างพระองค์หรือพระโอรส เสด็จประทับแรมบ้านชีทวนเพื่อทรงเยี่ยมไพร่บ้านพลเมืองอยู่เสมอ และวัดทุ่งศรีวิไลในปัจจุบันก็มีการพัฒนาไปมาก จะเห็นได้จากศาสนาสถานต่างๆ ภายในบริเวณวัด ล้วนเป็นความศักดิ์สิทธิ์ขององค์หลวงพ่อพระพุทธวิเศษที่ผู้คนได้มาบนบานศาลกล่าวไปแล้วได้สมตามความปรารถนา จนถือได้ว่าวัดทุ่งศรีวิไลนี้เป็นวัดเจ้าวัดนายอีกด้วย


เป็นเรื่องคุ้นหูของชาวพุทธส่วนใหญ่ ที่ได้ยินคำเล่าลือถึงพุทธานุภาพของพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่ประดิษฐาน อยู่ตามวัดต่างๆ เช่นเดียวกับ "หลวงพ่อพระพุทธวิเศษ" พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอุบลราชธานี

หลวงพ่อพระพุทธวิเศษ เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก สร้างจากศิลาแลงหน้าตักกว้าง 55 เซนติเมตร สูง 90 เซนติเมตร เป็นพระพุทธรูปในยุคทวารวดีอายุกว่าพันปี และถูกค้นพบเมื่อกว่า 200 ปีก่อนในที่ดินสวนอุทยานของนางเจียงได บ้านชีทวน ต.ชีทวน อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี

ปัจจุบันเป็นพระประธานประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดทุ่งศรีวิไล ต.ชีทวน อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ซึ่งตั้งขึ้นภายหลังการค้นพบหลวงพ่อพระพุทธวิเศษในจุดที่พบ

จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่เกี่ยวกับการค้นพบหลวงพ่อพระพุทธวิเศษ ระบุว่า มีชาวบ้านต้อนวัวควายไปเลี้ยงในที่ดินของนางเจียงได บุตรสาวเจ้าเมืองซีซ่วน (บ้านชีทวน) บริเวณโนนนกเขียนไปพบเศียรพระของหลวงพ่อพระพุทธวิเศษโผล่พ้นพื้นดินขึ้นมา จึงร่วมกันทำพิธีอัญเชิญหลวงพ่อขึ้นมา พร้อมสร้างศาลาไม้ใช้ประดิษฐานตรงจุดที่พบหลวงพ่อ เพราะนอกจากพบหลวงพ่อพระพุทธวิเศษแล้ว ยังพบพระพุทธรูปในยุคเดียวกันอีกหลายองค์
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2018-7-10 22:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

จึงเชื่อว่าบริเวณดังกล่าวเมื่อกว่าพันปีก่อนอาจเป็นที่ตั้งวัดเก่าที่ถูกทิ้งร้าง

ภายหลังชาวบ้านช่วยกันอัญเชิญหลวงพ่อพระพุทธวิเศษขึ้นมาก็ยังไม่ได้ตั้งชื่อ จนกระทั่งเกิดเหตุไฟไหม้ศาลาไม้ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูป ปรากฏว่าพระพุทธรูปที่ถูกค้นพบพร้อมกับหลวงพ่อพระพุทธวิเศษถูกไฟไหม้เสียหาย ทั้งหมด ยกเว้นหลวงพ่อพระพุทธวิเศษที่เปลวไฟไม่สามารถระคายผิวองค์พระ

ทำให้ชาวบ้านที่พบเห็นเหตุการณ์ต่างพากันเลื่อมใสศรัทธาในพุทธานุภาพของท่าน จึงพากันขนานนามเรียกขานท่านว่า "หลวงพ่อพระพุทธวิเศษ" ตามความเชื่อของชาวบ้าน

ต่อมาชาวบ้านก็ได้ช่วยกันสร้างวิหารอิฐถือปูนใช้ประดิษฐานหลวงพ่ออย่างเป็นทางการ พร้อมพัฒนาพื้นที่ให้เป็นวัดเมื่อกว่า 200 ปีก่อน โดยชาวบ้านได้นิมนต์พระอัญญาท่านด้านเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีวิไลองค์แรก ปัจจุบันมีพระครูสุนทรสุตกิจ รองเจ้าคณะอำเภอเขื่องใน (มหานิกาย) เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 4

สำหรับหลักฐานที่ทำให้เชื่อว่าที่ตั้งปัจจุบันของวัดทุ่งศรีวิไล น่าจะเป็นวัดมาก่อนการค้นพบหลวงพ่อพระพุทธวิเศษ เพราะนอกจากมีพระพุทธรูปร่วมสมัยที่ถูกค้นพบพร้อมกับพลวงพ่อพระพุทธวิเศษ ยังพบใบเสมาล้อมรอบบริเวณที่ค้นพบซ้อนกันอยู่หลายชั้น รวมทั้งบริเวณสระน้ำหลังวัด ก็ยังมีซากหอไตรและธรรมมาสน์ก่อด้วยอิฐในยุดอดีตตั้งอยู่

สำหรับพุทธคุณของ"หลวงพ่อพระพุทธวิเศษ"ที่ได้รับการกล่าวขานกันมาก คือ หากได้มากราบไหว้บูชาบนบานขอสิ่งใดมักประสบความสำเร็จ โดยมีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งที่ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ อดีตเจ้าเมืองอุบลราชธานี เสด็จเยี่ยมประชาชนที่บ้านชีทวน ได้นำดอกไม้ธูปเทียนทองไปกราบสักการบูชาขอพระโอรสและพระธิดาจากหลวงพ่อ จากนั้นไม่นานหม่อมเจียงคำ พระชายาก็ทรงมีพระครรภ์ พร้อมประสูติพระโอรสและพระธิดา 2 พระองค์ ตามที่กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ได้บนบานเอาไว้

นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ที่หลวงพ่อพระพุทธวิเศษ ช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยของมนุษย์ได้ โดยมีเล่าเรื่องว่าถ้ามีอาการเจ็บป่วยตามส่วนใดของร่างกาย ก็ให้มากราบไหว้บนบานบอกกล่าวกับหลวงพ่อพระพุทธวิเศษ แล้วนำแผ่นทองคำเปลวไปติดตามส่วนต่างๆ ขององค์พระ เช่น มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก ก็ให้นำแผ่นทองคำเปลวไปปิดที่หน้าอกขององค์พระ อาการเจ็บป่วยก็จะหายไป

การกราบนมัสการหลวงพ่อพระพุทธวิเศษ วัดทุ่งศรีวิไลได้เปิดวิหารหลังใหม่ที่ทำครอบวิหารหลังเดิมให้กราบไหว้ทุก วัน แต่ทุกวันเพ็ญเดือน 5 ทุกปีวัดร่วมกับประชาชนทั่วประเทศที่เลื่อมใสศรัทธาหลวงพ่อพระพุทธวิเศษ พระประธานปางนาคปรกศิลปะทวารวดี จัดสมโภชน์ปิดทององค์พระเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน

ทั้งนี้ เส้นทางใช้ไปกราบนมัสการ หากเดินทางจากตัวจังหวัดอุบลราชธานีไปตามถนนแจ้งสนิท เมื่อเข้าเขต อ.เขื่องใน ซึ่งมีสะพานข้ามลำเซบายเป็นตัวแบ่งเขต จะมีป้ายบอกทางให้เลี้ยวซ้ายไปบ้านชีทวนระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร

แม้ถนนจะเป็นถนนลาดยาง แต่ก็เป็นหลุมเป็นบ่อพอสมควร เมื่อรถแล่นเข้าเขตหมู่บ้านจะมองเห็นวัดตั้งเด่นอยู่กลางทุ่งนา โดยไม่ต้องถามทางจากชาวบ้านในละแวกนั้นเลย
  
PN3:

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้