ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2844
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

สุกทันตฤาษี

[คัดลอกลิงก์]
หากจะกล่าวกันแล้ว ฤาษีที่มีความเกี่ยวพันกับสุวรรณภูมิหรือสยามประเทศมาเมื่อเวลาประมาณพันกว่าปีมานี้เอง ในยุคเริ่มก่อตั้งอาณาจักรสยาม คือ ประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐ เศษ ๆ มีฤาษีที่มีชื่อปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์อยู่หลายองค์ด้วยกัน ที่สำคัญ ๆ ก็ได้แก่ พระวาสุเทพฤาษี ที่มีที่พำนักอยู่ ณ ยอดอุฉุจบรรพตหรือเขาอ้อย ( ดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน) อสีพรหมสิฤาษี มีที่พำนักอยู่ที่ ภูเขาสองยอด และสัชชนาลัยฤาษี มีที่พำนักอยู่ ณ ยอดเขา “สะดางค์” บรรพต ( เขาหลวงในจังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน) สุกทันตฤาษี มีที่พำนักอยู่ ณ เขา “ธรรมิกบรรพต” ในเขตเมืองละโว้ (ตำบลเขาสอคอน อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรีในปัจจุบัน)
สำหรับสุกทันตฤาษี ที่เป็นยอดคุรุแห่งเมืองละโว้นี้นั้น ปรากฏเอกสารทางประวัติศาสตร์ว่าได้เป็นอาจารย์ของกษัตริย์ถึงสามอาณาจักรด้วยกัน คือ อาณาจักรสุโขทัย (พ่อขุนรามคำแหง) อาณาจักรพะเยา (พ่อขุนงำเมือง) อาณาจักรโยนก (พ่อขุนเม็งรายมหาราช) เมื่อครั้งที่กษัตริย์ทั้งสามพระองค์นั้น ยังเป็นเจ้าชาย มาศึกษาเล่าเรียนกับสุกทันตฤาษีที่เขาธรรมิกบรรพตหรือเขาสมอคอนในปัจจุบัน
เขาธรรมมิกบรรพตนั้น ตั้งอยู่ในบริเวณอำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี หากดูตามชัยภูมิแล้ว สภาพทางภูมิศาสตร์ของเมืองละโว้ในอดีตและจังหวัดลพบุรีในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในขอบทางทิศตะวันออกของที่ราบภาคกลางตอนล่าง ต่อเนื่องกับขอบที่ราบสูงโคราช ตั้งอยู่บนที่ราบสลับกับเนินเขาและภูเขา บริเวณที่ราบลุ่มมีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ ๒๕-๖๐ เมตร เขาธรรมิกบรรพตจึงเป็นเส้นทางผ่านที่สำคัญในสมัยโบราณ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับกษัตริย์หลายองค์ ที่มาศึกษาเล่าเรียนแล้วกลับไปถิ่นเดิม ได้สร้างบ้านแปงเมืองให้มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก
สุกทันตฤาษีนั้นนับว่าเป็นยอดอาจารย์โดยแท้ ที่สามารถสั่งสอนลูกศิษย์ให้ประสบความสำเร็จจำนวนมาก ตามตำนานได้กล่าวว่า สุกทันตฤาษีนั้น เคยอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ต่อมาได้ลาสิกขาไปเป็นเพศฆราวาส เมื่อครองเพศฆราวาสแล้ว ก็เกิดความเบื่อหน่ายในเพศฆราวาส จึงออกบวชเป็นฤาษี ได้ไปอยู่ในป่าหิมพานต์ บำเพ็ญเพียรได้ญาณสำเร็จ อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ แล้วจึงกลับมาพำนัก ณ เขาธรรมิกบรรพต (เขาสมอคอน)
เมื่อร้อยกว่าปีก่อน คือ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระอาจารย์เภา พุทธสโร ได้เดินธุดงค์มาพบถ้ำบริเวณเขาสมอคอนแห่งนี้ แล้วพบว่า มีลักษณะเป็นวัดเก่าแก่มาแต่โบราณ เป็นวัดร้างเก่าแก่มานาน โบสถ์วิหารไม่ปรากฏ คงเหลือแต่เถ้าที่แตกหักผุพังอยู่ในถ้ำ (ถ้ำตะโก ในปัจจุบัน) และได้พบกับพระพุทธรูปศิลายืนปางแสดงธรรมจักรองค์หนึ่ง มีความกว้าง ๒๓ นิ้ว สูง ๗๕ นิ้ว พุทธลักษณะศิลปะทรงเครื่องแบบลพบุรี ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “หลวงพ่อธรรมจักร” ต่อมาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลสังฆปรินายก ถวายนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธธรรมิกราชศาสดา” เป็นที่เชื่อกันว่า พระพุทธรูปศิลายืนองค์นี้ จะสร้างราว พ.ศ. ๑๗๐๐ เข้าใจกันว่า เป็นพระพุทธรูปที่เจ้ากรุงละโว้ได้โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อถวายต่อพระสุกทันตฤาษี
พระสุกทันตฤาษี นับว่าเป็นมหาคุรุแห่งเมืองละโว้โดยแท้ ท่านเป็นอาจารย์ของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ถึงสามพระองค์ด้วยกัน เป็นมหาคุรุที่นำทางเสริมสร้างบ้านแปงเมืองสยามประเทศในอดีตให้เจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก มูลนิธิเพื่อลิงลพบุรี (http://lmf-lopburi.com) และขอบคุณที่มาจาก partiharn.com
จุดประสงค์เผยแพร่เพื่อศึกษาอนุรักษ์เชิงประวัติศาสตร์

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้