ย้อนอดีตไปดูข่าวประหลาดในหน้าหนังสือพิมพ์ฝรั่งสมัยโน้นทีเดียว โดยหนังสือพิมพ์ Le Petit Journal ของฝรั่งเศส ฉบับวางจำหน่ายเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ.1908 ตีพิมพ์ภาพหน้าปกที่เห็นข้างล่าง พาดหัวว่า “โศกนาฏกรรมประหลาดเกิดขึ้นกับรถไฟสยาม หัวรถจักรชนช้างยามค่ำคืน” เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นบนเส้นทางรถไฟระหว่างบ้านภาชีจะมากรุงเทพฯ เมื่อเข้าทางโค้ง พนักงานขับรถจักรมองเห็นไม่ชัดในความมืดมิด จึงเกิดเหตุเฉี่ยวชนช้างตัวใหญ่ที่กำลังพยายามจะข้ามทางรถไฟ ทุกคนตกใจสุดขีดเมื่อรถจักรถูกเหวี่ยงตกราง ตู้โดยสารแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ชายตายสองคน และผู้โดยสารหลายคนได้รับบาดเจ็บระนาว ทรากช้างกลายเป็นชิ้นส่วนห่างจากจุดปะทะถึง 20 เมตร เหตุการณ์ที่รถไฟชนช้างและตกรางนี้เกิดขึ้นนี้เกิดขึ้นในสยามเป็นครั้งที่สองแล้ว เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อน มีช้างป่าตัวหนึ่งถูกรถไฟชนตายที่ลพบุรี แต่ครั้งนั้น รถไฟเสียหายน้อยกว่าครั้งนี้มาก ในภาพเป็นหัวรถจักรที่ใช้ในสมัยนั้น ซึ่งเป็นช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ระหว่างปี พ.ศ.2449 – 2453 ซึ่งมีการสั่งรถจักรไอน้ำ “โมกุล” ที่ผลิตโดย บริษัท แฮนโนเวอร์เซ่ แมชชีนเนอร์เบอะ (ยอร์ช อีเกสตอฟ) หรือที่รู้จักกันในชื่อเดิม “ฮาโนแม็ก” แห่งประเทศเยอรมัน มาใช้งานในกรมรถไฟหลวงรวม 13 คัน จากบันทึกของกรมรถไฟหลวง ผิดไปจากของฝรั่งเพียงเล็กน้อย แต่มีรายละเอียดมากกว่า ดังนี้ เมื่อคืนวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2451 รถไฟที่มีต้นทางจากนครราชสีมา แล่นมาถึงระหว่างสถานีเชียงรากใหญ่ กับ เชียงรากน้อย ชนกับช้างพังที่ขึ้นมาบนคันดินทางรถไฟ พนักงานถึงแก่ความตาย 3 คน (หัวมุดเข้าเตาไฟไป 1 คน พนักงานห้ามล้อตัวขาดสองท่อนไป 1 คน และอีกคนหนึ่งบาดเจ็บสาหัส ทนพิษบาดแผลไม่ไหว) บาดเจ็บหนึ่ง รถไฟตกราง 13 คัน (ไม่ตกราง 13 คัน) พนักงานที่ตาย 2 คน ทางการต้องจ่ายบำเหน็จ 300 บาท เพื่อไถ่ตัวพ่อแม่ซึ่งยังเป็นทาสที่ไถ่ถอนตัวไม่หมดให้เป็นอิสระ และอีก 175 บาทให้ครอบครัวพนักงานอีกคนหนึ่งเพื่อใช้ในงานศพ – สาเหตุที่ชน เพราะเป็นเวลากลางคืน ช้างเดินข้ามทางรถไฟในเวลาที่รถแล่นมาอย่างกระชั้นชิด
– เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ เจ้ากรมไวเลอร์ และเจ้าหน้าที่กรมรถไฟหลวง ไปที่เกิดเหตุในวันที่ 5 มิถุนายนพ.ศ.2451 พร้อมกับช่างภาพซึ่งได้ทำการติดตั้งกล้องถ่ายรูปทางฟากตะวันตกของทางรถไฟ บทความนี้เผยแพร่เพื่อเป็นความรู้ข่าวในอดีต ข้อมูลจากเว็บไซด์ dek-d.com และ รถไฟไทยดอทคอม
|