ทำไมศูนย์อาหาร ต้องใช้คูปอง? / โดย ลงทุนแมน
เคยสงสัยมั้ยว่า เวลาไปกินข้าวตามศูนย์อาหาร
เราจะต้องไปเข้าแถวแลกบัตร แลกคูปองกันก่อน
ทำไมถึงใช้เงินสดไปซื้อตามร้านเลยไม่ได้?
ทำไมเจ้าของศูนย์อาหาร ต้องยอมเสียเงินทำบัตรทำคูปอง
และจ้างพนักงานเพิ่ม เพื่อมานั่งเคาน์เตอร์แลกเงินโดยเฉพาะ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟังเพื่อไขปริศนาในข้อนี้ การแลกคูปองจะทำให้เจ้าของศูนย์อาหารได้อะไร เหตุผลหลักข้อแรกเลยคือ เจ้าของศูนย์อาหารจะรู้ยอดขาย แต่ละร้านว่าขายได้เท่าไร แล้วทำไมต้องอยากรู้? โดยปกติแล้ว ธุรกิจให้เช่าพื้นที่ จะแบ่งลักษณะค่าเช่าออกได้เป็น 3 แบบใหญ่ๆ แบบแรกคือ การคิดค่าเช่าในอัตราคงที่ คือ คิดค่าเช่าในอัตราที่เท่ากันทุกเดือน เช่นเดือนละ 10,000 บาท ไม่ว่าผู้เช่าจะขายได้มาก ได้น้อย หรือขายไม่ได้เลย ก็จะจ่าย 10,000 บาทตามที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่ต้น อีกแบบคือ คิดค่าเช่าเป็นส่วนแบ่งของรายได้ หรือเขาเรียกกันว่า GP (Gross Profit) ซึ่งในกรณีนี้ ถ้าร้านอาหารขายดี ค่าเช่าก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ถ้าขายไม่ดี ค่าเช่าก็จะถูกลงมา ส่วนแบบสุดท้ายก็คือ ผสมกันทั้ง 2 อย่าง จ่ายทั้งค่าเช่าที่และส่วนแบ่งจากยอดขาย ซึ่งถ้าเป็นการจ่ายค่าเช่าแบบคงที่ เจ้าของพื้นที่ก็อาจจะไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องรู้ว่า ใครขายได้เท่าไร เพราะไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วยมากขนาดนั้น ขอแค่มีเงินจ่ายค่าเช่าให้ทุกงวดก็พอใจแล้ว แต่พอมาเป็น ส่วนแบ่งจากการขาย เจ้าของที่ก็จำเป็นต้องรู้แล้วว่า ยอดเงินคือเท่าไร เพื่อที่จะหักส่วนแบ่งได้ถูก และคงจะเป็นเรื่องยาก ที่จะรู้ได้ว่าแต่ละร้านขายได้มากแค่ไหน ถ้าใช้ “เงินสด” ในการซื้อขาย เพราะถ้าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของร้านค้าแจ้งยอดมาให้ ก็ไม่มีทางที่จะรู้ได้เลยว่า เป็นยอดขายที่เกิดขึ้นจริงหรือเปล่า ร้านค้าอาจจะมุบมิบ บอกว่าร้านขายไม่ดี แต่จริงๆแล้วขายดีเป็นเทน้ำเทท่า วิธีแก้ จึงเป็นการทำให้การซื้อขายทั้งหมด เกิดขึ้นบนระบบส่วนกลางที่ทางศูนย์อาหารเป็นผู้เก็บเงินหรือข้อมูลการซื้อขาย เมื่อถึงเวลา แต่ละร้านก็นำคูปองหรือข้อมูลการรูดบัตร ไปแลกเป็นเงินสดออกมา
|