ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2409
ตอบกลับ: 3
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

หลวงพ่อปุย วัดเกาะ สุพรรณบุรี

[คัดลอกลิงก์]
พระคณาจารย์ผู้มีเวทย์วิทยาคมแก่กล้า มีพลังจิตสูงสามารถกำราบปราบภูตผีต่างๆได้ (ไล่ผีได้) ทั้งยังมีความเชี่ยวชาญในวิชาอาคมต่างๆ ความเฉียบขาด ความดุ และวาจาศักดิ์สิทธิ์ประดุจพระร่วงของหลวงพ่อปุยเป็นที่กล่าวขานกันมากจนบรรดานักเลงใหญ่และเสือร้าย(โจร)ทั้งหลายของเมืองสุพรรณต่างเกรงกลัวบารมีของท่าน จนท่านได้รับสมญานามว่า "ปากพระร่วง"


หลวงพ่อมีนามว่า ปุย นามสกุล รักกูล เกิดเมื่อวันที่ ๓๑ เดือนพฤษภาคม ปีพุทธศักราช ๒๔๓๘ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะแม ณ.บริเวณศาลเจ้าพ่อพระปู่หมื่น บ้านบางงาม ตำบลวังหว้า อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี โยมบิดาชื่อ ฉลาด โยมมารดาชื่อ แรด มีอาชีพทำนา หลวงพ่อเป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้อง๕ คน
ในวัยเยาว์อายุ๕ขวบ บิดามารดาได้นำไปฝากไว้กับหลวงปู่เฒ่าพราย วัดเกาะ พระอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงยุครุ่นเดียวกับหลวงพ่อเนียม วัดน้อย ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลวงลุงของหลวงพ่อปุยท่าน ให้เล่าเรียนหนังสือเพื่อจะได้มีความรู้
เหตุที่เรียกหลวงปู่เฒ่า เป็นเพราะแรกเริ่มหลวงพ่อปุยท่านเป็นผู้เรียกก่อน และต่อมาชาวบ้านในยุคนั้นก็เรียกตามท่าน และด้วยหลวงปู่พรายท่านเป็นพระที่พรรษาสูง อายุมากถึง๙๐กว่าปีด้วย
วัยเด็ก หลวงพ่อปุยท่านเป็นเด็กที่มีลักษณะเข้มแข็ง จะเล่นอะไรจะทำอะไรต้องเป็นหัวหน้าคน ติดจะเป็นคนจริง แต่ถือคติที่ว่า ไม่รังแกใครก่อน แต่ใครจะมารังแกไม่ได้
ท่านอยู่วัดเกาะตั้งแต่วัยเด็กถึงเติบโตเป็นหนุ่ม ซึ่งนับเป็นระยะเวลาหลายปี ระหว่างที่อยู่วัดเกาะท่านได้ศึกษาอักขระไทยและขอม วิปัสสนากรรมฐาน แพทย์แผนโบราณและเวทมนต์คาถาอาคมต่างๆจากหลวงปู่เฒ่าพราย แล้วเวลาว่างท่านยังพายเรือไปตามแม่น้ำบ้านคอยเพื่อไปศึกษาวิชาต่างๆจากหลวงพ่อวัดใหม่โรงหีบอีก(วัดตั้งอยู่ไม่ไกลกันนัก) จึงทำให้ท่านมีความรู้ในด้านต่างๆอย่างมากมาย
วัยหนุ่มมีรูปร่างสูงใหญ่ แข็งแรงบึกบึน ใจคอกล้าหาญเฉียบขาด มีความเป็นผู้นำ ทั้งยังมีวิชาอาคม พรรคพวกนักเลงทั้งหลายจึงยกย่องให้เป็นลูกพี่ บิดามารดาเห็นว่าต่อไปสักวันอาจจะพลาดพลั้งเกเรไปเป็นเสือเป็นโจรได้ จึงให้กลับมาช่วยทำงานที่บ้าน
ปีพุทธศักราช ๒๔๕๘ ท่านได้เข้ารับราชการประจำการเป็นทหารอยู่ ๒ ปี ซึ่งในยุคนั้นตรงกับช่วงวงครามโลกครั้งที่๑พอดี



2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2018-2-12 22:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อปลดจากประจำการแล้ว ท่านได้อุปสมบทเพื่อทดแทนคุณบิดามารดาและผู้มีพระคุณทั้งหลาย
อุปสมบทเมื่ออายุ ๒๓ ปี เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๗ เดือนพฤษภาคม ปีพุทธศักราช ๒๔๖๑ ณ. พัทธสีมาวัดเกาะ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมี
หลวงพ่อปลื้ม วัดพร้าว เป็นพระอุปัชฌาย์
หลวงพ่อพริ้ง วัดวรจันทร์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
หลวงพ่ออินทร์ วัดราษฎรบำรุง (หลวงพ่อวัดใหม่โรงหีบ) เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ได้รับฉายาทางพระพุทธศาสนาว่า “ปุญญสิริ”
หลังจากอุปสมบท ก็ได้อยู่จำพรรษาที่วัดเกาะ ได้ศึกษาพระธรรมวินัย และวิปัสสนากรรมฐานควบคู่กันไปอีก
หลวงพ่อปุยท่านเป็นผู้ใฝ่การศึกษา ( คนโบราณเรียกว่าผู้คงแก่เรียน ) จึงได้เพียรศึกษาหาวิชาความรู้จากพระอาจารย์หลายๆท่าน เช่น
- ศึกษาอักขระไทยและขอม วิปัสสนากรรมฐาน แพทย์แผนโบราณ และวิชาอาคมต่างๆจาก หลวงปู่เฒ่าพราย วัดเกาะ และหลวงพ่อวัดใหม่โรงหีบ
- ศึกษาการแสดงพระธรรมเทศนาแบบโบราณจากหลวงตาอ่วม วัดเกาะ ( การแสดงพระธรรมเช่นนี้หาได้ยากใกล้จะสูญหายแล้ว)
- ศึกษาวิปัสสนากรรมฐาน และวิชาอาคมต่างๆจากหลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา , หลวงพ่อปลื้ม วัดพร้าว , หลวงพ่อพริ้ง วัดวรจันทร์
- แลกเปลี่ยนความรู้ด้านพุทธาคม แพทย์แผนโบราณ และด้านต่างๆกับหลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่ , หลวงพ่อแต้ม วัดพระลอย เป็นต้น
อุปนิสัยอีกอย่างของท่านคือ เป็นผู้มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี จึงทำให้ท่านมีสหธรรมิกและสนิทชิดชอบกับพระเกจิอาจารย์ดังมากมายหลายท่าน เช่น
หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ
ท่านเจ้าคุณเมตตาวิหารี วัดคูหาสวรรค์
หลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่
หลวงพ่อแต้ม วัดพระลอย
หลวงพ่อถิร วัดป่าเลไลยก์
หลวงปู่แขก วัดหัวเขา
หลวงพ่อปอ วัดบ้านบึง
หลวงพ่อกอง วัดโพธาราม
หลวงพ่อแช่ม วัดราษฎรบำรุง
หลวงพ่อเจริญ วัดธัญญวารี
หลวงตาจวน วัดไก่เตี้ย เป็นต้น




3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2018-2-12 22:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ครั้งหนึ่งสมเด็จพระสังฆราชป๋า วัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม ทรงตรัสชมท่านเป็นพระบ้านนอกธรรมดาที่ไม่ธรรมดา พร้อมกับมอบปากกาด้ามทองในย่ามประทานให้ และบางครั้งหากสมเด็จพระสังฆราชท่านเสด็จเดินทางผ่านมาเมืองสุพรรณ ท่านก็มักจะเสด็จไปพบและพูดคุยกับหลวงพ่อปุยที่วัดเกาะด้วย
อำเภอศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ได้รับการบันทึกไว้ว่าเป็นแหล่งที่มีพระภิกษุชั้นมหาเปรียญมากที่สุดในประเทศไทย(เป็นข้อมูลทีทางวัดปากน้ำภาษีเจริญได้บันทึกไว้) มีพระภิกษุสำเร็จการศึกษาเปรียญธรรม ๙ ประโยคหลายสิบท่าน ตั้งแต่สมัยอดีตจวบจนปัจจุบัน และพระภิกษุที่ได้รับเปรียญธรรม ๙ นั้น ส่วนใหญ่นั้นล้วนแต่เป็นศิษย์หลวงพ่อปุย วัดเกาะ จบการศึกษาจากสำนักเรียนวัดเกาะทั้งนั้น ทั้งๆที่หลวงพ่อปุยท่านก็ไม่ได้เป็นพระมหาเปรียญ เป็นเพียงพระที่จบนักธรรมตรีเท่านั้น แต่ท่านสามารถอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ท่านจนได้เป็นถึงพระมหาเปรียญ
หลวงพ่อปุยท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย อาทิ พระธรรมปัญญาภรณ์ ( เจ้าคุณสุชาติ )เลขานุการแม่กองบาลีสนามหลวงเจ้าคณะภาค๕ วัดปากน้ำ , หลวงพ่อเซ้ง วัดเกาะ ( มรณภาพแล้ว ), ดร.เสริม วงษ์จันทร์ , ศาสตราจารย์เชาวน์ มณีวงษ์ เป็นต้น
วัตถุมงคลของหลวงพ่อปุย ท่านสร้างไว้หลายประเภท ได้แก่ ภาพถ่าย ตะกรุด แหวน เหรียญรูปเหมือน พระผงรูปเหมือน รูปหล่อ ล็อกเก็ต ซึ่งวัตถุมงคลทุกรุ่นทุกชนิดล้วนแต่ได้รับความนิยมทั้งสิ้น เคยมีผู้มีประสบการณ์จากวัตถุมงคลของท่านมากมาย อย่างเช่น
- ( เหรียญรุ่นแรก , เหรียญรุ่นบล็อกแตก ) นายห่ง ศรีบานเย็น นักเลงขึ้นชื่อเมืองสุพรรณ ถูกยิง2ครั้ง ด้วยปืน เอ็ม.16 แต่ไม่เข้า , ถูกยิงด้วยปืน 11 มม. แต่ไม่เข้า
- ( ภาพถ่ายขนาดบูชารุ่นแรก ปี 2509 ) ภรรยานายห่ง ศรีบานเย็น ถูกยิงด้วยปืน เอ็ม.16 ( เหตุการณ์เกิดพร้อมกับนายห่ง ) แต่แคล้วคลาด ลูกกระสุนไม่โดนเลย
- ( เหรียญรุ่น ๒ ) สองสามีภรรยาลูกบ้านวัดเกาะทั้งคู่คล้องเหรียญรุ่น 2 ไปเที่ยวน้ำตกเอราวัณ จ.กาญจนบุรี ระหว่างทางฝนตก ถนนลื่น รถเกิดตกเหวแต่ไม่ตายทั้งคู่
- ( เหรียญรุ่น ๓ ) วัยรุ่นถูกฟันด้วยดาบไม่เข้า
- ( เหรียญรุ่นบล็อกแตก ) วัยรุ่น4คนไปเที่ยวช่วงสงกรานต์ ถูกฟัน3คน คนหนึ่งชื่อเล่นว่า นายโม นามสกุล โพธิ์หอม บ้านอยู่แถววัดละหาร อ.ศรีประจันต์ คล้องเหรียญบล็อกแตกองค์เดียว ถูกฟันด้วยมีดดาบเข้ากลางกะบาล แต่ไม่เข้า ส่วนเพื่อนที่เหลือไม่ได้คล้องพระอะไรเลย ถูกฟันได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุการณ์เกิดเมื่อเดือนเมษายน ปีนี้เอง
- ( เหรียญรุ่นพิเศษ ) ถูกมีดเหน็บแทงไม่เข้า
- ( เหรียญรุ่นวัดหนองเพียร ) ถูกตีหัวไม่แตก , รถแหกโค้ง คนที่คล้องเหรียญหลวงพ่อปุยไม่มีแม้แต่แผล ส่วนคนที่ไม่ได้คล้องพระอาการสาหัส
- รถเก๋งชนกับรถสิบล้อ สภาพยับเยินซ่อมไม่ได้ แต่คนขับไม่ตาย ( เหรียญรุ่นพระราชทานเพลิงศพ )
หลวงพ่อปุยท่านละสังขารวันที่ ๘ เดือนกุมภาพันธ์ ปีพุทธศักราช ๒๕๒๓ สิริอายุ ๘๔ ปี ๖๑ พรรษา หลังจากมรณภาพแล้วทางวัดเก็บศพไว้หลายปี เมื่อเปิดดูปรากฏว่าศพท่านไม่เน่า แต่ต่อมาก็ได้พระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๐ ตามกำหนดการที่ทางหลวงกำหนดมา ซึ่งก็ต้องจัดตามกำหนดหลวง
ขอขอบคุณท่านเจ้าของภาพและที่มาเนื้อหาข้อมูล http://www.watkositaram.com

เรียบเรียงโดย
ศักดิ์ศรี บุญรังศรีhttp://www.tnews.co.th/contents/333089



ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้