ขึ้นชื่อว่า “ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา” นี้ มันยุ่งเสียจริงแต่วันเริ่มแรก แตกไปเสียก็หมดความรับผิดชอบกันเพียงเท่านี้ ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย ต่อไปก็หมดห่วงกัน มันเพียงเท่านี้ “ต่อไปจิตไม่ต้องรับผิดชอบกับสิ่งเหล่านี้อีกเลย” นั่นน่ะ ฟังซิ ผู้สิ้นกิเลส ท่านว่า “อนุปาทิเสสนิพพาน” หายกังวลไปโดยประการทั้งปวง! เวลาที่มีชีวิตอยู่ ต้องได้รับทราบ และรับผิดชอบกันอยู่ตลอดเวลา ตามที่ประสาทรับรู้อยู่ในร่างกายนี้ส่วนต่างๆ ทางหู ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ตลอดถึงทางใจก็ต้องมีคิด มีปรุง เวลาอาศัยกันอยู่ก็ต้องรับผิดชอบกันอย่างนี้ เหมือนคนทั่วไป เป็นแต่ไม่ยึด และไม่หวังอะไรจากขันธ์นี้ เท่านั้น ท่านว่า “สอุปาทิเสสนิพพาน” ใจถึงความบริสุทธิ์ “วิมุตติ” ไปแล้ว แต่ธาตุขันธ์ไม่บริสุทธิ์กับเรา เขาต้องก่อกวนอยู่อย่างนั้น ก่อกวนอยู่อย่างนี้ ให้ได้รับทราบ และรับผิดชอบกันอยู่ตลอดเวลา พาหลับ พานอน กินอยู่พูวายต่างๆ เป็นแต่ใจ ไม่ทุรนทุรายต่างๆ ไม่หลงมันเท่านั้นเอง ท่านปฏิบัติต่อขันธ์อันเป็นสมมุติ เหมือนผู้ใหญ่ปฏิบัติตามใจเด็กเล็กๆ นั่นแล เช่น พาเล่นตุ๊กตาบ้าง พาเล่นฟุตบอลบ้าง เป็นต้น ไม่งั้น เด็กมันกวน และร้องไห้ ท่านนักปฏิบัติ จงมีความมั่นคงภายในใจ ให้เป็นที่แน่ใจตน อย่าให้เสียที ทุกข์ขนาดไหน ก็ให้ปลงลงในบทธรรมว่า “ทุกขเวทนา” เป็นสัจธรรมอันหนึ่ง หรือเป็นองค์แห่งไตรลักษณ์อันหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา และไม่ใช่ของใครทั้งสิ้น ความเป็นไตรลักษณ์กับความที่รู้อยู่ภายในจิตนี้ เป็นคนละอย่างไม่ใช่อันเดียวกัน ร่างกายก็เป็นส่วนหนึ่ง ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะร่างกายผิดปกติ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง จิตที่รู้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง สติปัญญาที่นำมาใช้เพื่อรู้เท่า และถอดถอน หรือเพื่อกำจัดปัดเป่าสิ่งเหล่านี้ ก็เป็นสัจธรรมอันหนึ่ง ซึ่งเป็นฝ่ายแก้ ฝ่ายถอดถอนกิเลสทั้งปวง ตัวหลงยึดมั่นถือมั่น สำคัญผิด ปัญญามีไว้สำหรับใช้แก้กิเลส แก้ความลุ่มหลงของตน ใช้ให้เพียงพอกับความต้องการ เรื่องตายนั้นมีอยู่กับทุกคน ไม่เป็นสิ่งที่น่าวิตกกังวลให้เกิดทุกข์ทางใจ ตายก่อนตายหลังก็คือความตายนั่นเอง ไม่เห็นมีอะไรแปลกกัน คนนี้ตายวันนี้ คนนั้นจะตายวันพรุ่งนี้ ก็คือความตายนั่นแล แปลกต่างกันที่ไหน พอจะได้เปรียบ และเสียเปรียบกัน? ความโง่ กับความฉลาดต่างหากที่ทำคนให้ได้เปรียบ และเสียเปรียบกิเลสน่ะ จิตล้วนๆ ไม่มีกาล ไม่มีเวลา เรื่องกาล เรื่องเวลานั้น เป็นความคาดความหมายของจิต ซึ่งก่อความหลง ความกังวลให้ตนต่างหาก ความตายจริงๆ เขาไม่มีกาล ไม่มีเวลาของเขา เขาไม่มีกฎมีเกณฑ์ตั้งไว้เหมือนมนุษย์เรา มนุษย์เราชอบตั้งกฎตั้งเกณฑ์ นั้นอย่างนั้น นี้อย่างนี้ และสิ่งที่ทำความสำคัญมั่นหมายถึงตั้งกฎตั้งเกณฑ์นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ก่อความกังวลให้แก่ตนทั้งนั้น ที่ถูกเขย่าก่อกวนอยู่ตลอดเวลาก็คือ ใจ จงทราบสิ่งเหล่านี้ไว้ด้วยสติปัญญา อย่าหลงใหลใฝ่ฝันไปกับสิ่งเหล่านี้แบบลม ๆ แล้ง ๆ ที่มาก่อกวน ก็ชื่อว่า “ฉลาดรอบตัว” ไม่กลัวเป็นกลัวตาย ตลอดสภาวะทั่วไปที่มาเกี่ยวข้องกับใจ ตายที่ไหน ตายกาลใด เวลาใด ตายโดยโรคอะไร มันก็คือ ความตาย ตายวันนี้ ตายวันหน้า ก็คือความตายนั่นแล ตื่นกันหาประโยชน์อะไร แบบไม่ได้เรื่องได้ราว ยิ่งกว่าเด็กอมมือ จิตจริงๆ ไม่มีตาย ไม่มีสถานที่ ไม่มีกาล ไม่มีโรค เพราะจิตไม่ได้เป็นโรคแบบนั้น เป็นโรคกิเลสต่างหาก ถ้าแก้กิเลสออกได้มากน้อย จิตก็มีความสุขสบาย โดยไม่ต้องมีกาลมีเวลามาให้ความสุข ยิ่งจิตบริสุทธิ์ด้วยแล้วเป็น “อกาลิโก” ไม่มีอะไรเข้ามาแทรกเลย เป็นสุขล้วนๆ คือ “ปรมํ สุขํ สุขโดยธรรมชาติแท้ ไม่แปรผันเหมือนสุขในวงสมมุติซึ่งคอยแต่จะหลุดมือไป” ถ้าคิดปลงตกในทุกสิ่งทุกอย่าง ชื่อว่า “ผู้ปฏิบัติธรรม” และชื่อว่า “ผู้ครองธรรมสมบัติอย่างภูมิใจ” สิ่งที่เกี่ยวข้องกับตน เช่น สมบัติ เงินทอง ข้าวของ คนนั้น คนนี้ ญาติมิตรสหาย อะไรเหล่านี้ มันอยู่ไกลจากตัวเรามาก สิ่งที่เกี่ยวพันกับตนอยู่เวลานี้ คือขันธ์ห้า ได้แก่ร่างกาย กับจิตที่อยู่ด้วยกัน นี่เป็นสิ่งสำคัญ ต้องเรียนให้รู้ทัน และปลงให้ตก ด้วยสติปัญญารู้ความจริงของมัน อย่าไปขัดขวางความจริง ถ้าไปขัดความจริงแล้วเป็นการคุ้ยกิเลสขึ้นมา เหมือนปลูกกิเลสให้เป็นต้นเป็นลำใหญ่โตขึ้นมา แล้วก็มาราวีเรานั่นแหละ คือราวีใจ ดวงโง่ต่อเขานั่นแล ขันธ์ห้าเป็นเช่นไร จิตเป็นอย่างไร? เราเคยเรียนรู้ และปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้มาแล้ว จึงไม่ควรหลงการแสดงออกของขันธ์ ซึ่งเป็นกิริยาของจิตแทรกอยู่ด้วยแทบทุกขันธ์เว้นแต่ “รูปขันธ์” เท่านั้น รูป หมายถึงกายทั้งหมด นี่ก็เป็นขันธ์อันหนึ่ง เป็นหมวดอันหนึ่ง หรือเป็นกองอันหนึ่ง ก็กองทุกข์นั่นแลจะเป็นกองอะไร ขันธ์ห้า แปลว่า กองทุกข์นั่นแหละ ทุกข์มีอยู่ที่นี่ ทุกข์มันอยู่ที่นี่ ภูเขา ไม่ได้มาทำให้คนมีทุกข์ หรือภูเขาไม่ได้เป็นทุกข์ ดิน ฟ้า อากาศ ไม่ได้เป็นทุกข์ มันเป็นทุกข์ที่ขันธ์ห้านี้ ถ้าจิตเราหลง เราก็เป็นทุกข์ด้วย ถ้าจิตไม่หลง ก็เป็นทุกข์ที่ขันธ์ห้าเท่านั้น จิตไม่เป็นทุกข์ด้วยเลย แม้อยู่ด้วยกันก็ตาม เพราะเป็นคนละภาคละส่วน เวทนา คือ สุข ทุกข์ เฉยๆ ท่านเรียกว่า “เวทนาขันธ์” หมายถึงขันธ์ห้านั่นเอง “สัญญาขันธ์” คือ ความจดจำ “สังขารขันธ์” คือ ความคิดปรุง “วิญญาณขันธ์” คือความรับทราบจากสิ่งที่มาสัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย รวมแล้วท่านเรียกว่า “ขันธ์ห้า” หรือ วิญญาณขันธ์” ก็กองทุกข์ทั้งมวลนั่นเอง จะเป็นกองเงินกองทองที่ไหนกัน พอให้หลง ให้เพลินไปตามเขา ถ้าเป็นทุกข์ ก็เป็นทุกข์อยู่ในวง “ขันธ์ห้า” นี้ เวทนา มันก็แสดงตัวของมัน ตามสภาพของมันอย่างนั้น จะเป็นสุข ก็เป็นเรื่องของสุขล้วน ๆ จะเป็นทุกข์ ก็ทุกข์ล้วน ๆ มันเป็นของมันอย่างนั้น รูปกาย ก็เป็นรูปกายของมันอย่างนั้น ทุกข์กับสุขมีมากน้อยรูปกายไม่รับทราบ รูปกายไม่มีความหมายในตัวเอง และไม่มีความหมายในทุกข์ ทุกข์ที่เกิดขึ้นก็ไม่มีความหมายในตัวเอง และไม่ทราบว่าตัวเองนั้นเป็นทุกข์ นี่! จึงเรียกว่าเป็นความจริงแต่ละอย่าง ละอย่าง ตามหลักความจริงแห่งขันธ์ห้า ทุกข์จริงๆ ที่มันเกิดขึ้นในร่างกายนี้ มันไม่ได้ทราบความหมายของมันว่ามันเป็นทุกข์ และมันก่อขึ้นให้แก่ผู้ใด มันเองก็ไม่มีความหมายในตัวมัน ไม่รู้สึก นอกจากใจของเราไปหมายมันเท่านั้น สัญญา สังขาร วิญญาณ ความจำก็เหมือนกัน มันสักแต่ว่าจำ สังขาร ความคิดปรุง ก็สักแต่ว่าปรุง ใครจะเป็นผู้รับช่วงจากความปรุง ใครจะเป็นผู้รับช่วงจากความจำ (สัญญา) ใครจะเป็นผู้รับช่วงจากความรับทราบ (วิญญาณ) นั้น ถ้าไม่ใช่จิต? ก็มีจิตดวงเดียวเท่านั้น เป็นผู้รับภาระทั้งรับรู้ ทั้งรับหลง จิต ถ้าเป็นจิตที่รู้รอบด้วยปัญญาก็มีเครื่องมือจับ เหมือนกับเราจับไฟด้วยเครื่องจับ เช่น คีมคีบถ่านไฟ มันก็ไม่ไหม้เรา ถ้ามือไปจับไฟก็ไหม้ จิตที่มีเครื่องมือ มีสติ มีปัญญารอบตัว ทุกข์ในขันธ์ก็ไม่เผาใจได้ ย่อมอยู่ด้วยกันด้วยความจริงเสมอไปตลอดอวสาน |