|
การปฏิบัติธรรม
พระราชสังวราภิมณฑ์ ท่านสนใจศึกษาด้านวิปัสสนาธุระมาแต่ยังเป็นสามเณร เท่าที่ทราบท่านศึกษากับพระอาจารย์พรหม วัดประดู่ฉิมพลีก่อน พระอาจารย์พรหมมรณภาพแล้ว จึงไปศึกษากับหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งหลวงปู่โต๊ะมีความชื่นชม และเคารพในความเก่งกล้าสามารถของหลวงพ่อรุ่ง เป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ หลวงปู่โต๊ะ ยังได้ไปเรียนวิชาอาคมกับ หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ก่อนหน้าที่หลวงพ่อเนียมจะมรณภาพในอีก 2-3 ปี ต่อมา แล้วออกธุดงค์ไปทางภาคเหนือหลายครั้ง ต่อมาจึงได้มารู้จักคุ้นเคยกับหลวงพ่อสด คือ พระมงคลเทพมุนี วัดปากน้ำ ซึ่งมีอายุแก่กว่าท่าน 4 ปี หลวงพ่อสดได้ชักชวนท่านให้ไปเรียนกับพระอาจารย์โหน่งที่จังหวัดสุพรรณบุรีอีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้แล้วหลวงปู่โต๊ะ ยังได้เรียนวิชาเพิ่มเติมจากพระอาจารย์อีกหลายท่าน อาทิ หลวงพ่อพุ่ม วัดบางโคล่ ยานนาวา และอีกหลายพระอาจารย์ ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น หลังจากนั้น ท่านก็กลับมาปฏิบัติจิตภาวนา โดยตัวของท่านเองที่วัดต่อมา
แม้ว่าท่านจะมีภารกิจในด้านบริหารหมู่คณะและการสงเคราะห์ อนุเคราะห์ผู้อื่นส่วนมากก็ตาม ท่านก็หาได้ละเลยเพิกเฉยส่วนวิปัสสนาธุระไม่ คงขะมักเขม้นฝึกฝนอบรม ตามโอกาสอันควรตลอดมา จึงปรากฏว่าท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจพระศาสนาส่วนนี้อยู่รูปหนึ่ง และโดยอัธยาศัยที่เคยอบรมด้านวิปัสสนาธุระมามาก จึงได้รับอาราธนาให้เข้าร่วมในพิธีประสิทธิ์มงคลต่าง ๆ แทบทุกงาน ทั้งในกรุงและหัวเมือง ตลอดจนถึงต่างประเทศ
เมื่อครั้งหลวงปู่โต๊ะ เริ่มได้รับนิมนต์เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกใหม่ ๆ นั้น ท่านได้เล่าให้ลูกศิษย์ของท่านฟังว่า เวลาที่ท่านจับสายสิญจน์ในพิธี ท่านจะรู้ได้ทันทีว่า ในพิธีนี้ มีพระอาจารย์องค์ไหนเก่ง หลังจากนั้นหลวงปู่ก็จะติดตามไปเรียนวิชา และศึกษาเพิ่มเติมจากพระอาจารย์องค์นั้น......
ตอนที่หลวงปู่โต๊ะ เป็นเจ้าอาวาส ใหม่ ๆ นั้น ท่านไม่ค่อยจะได้อยู่ที่วัด ในช่วงออกพรรษาท่านมักจะออกธุดงค์ไปยังสถานที่ต่าง ๆ บางครั้งก็หายเข้าไปในป่าลึกนาน ๆ หลวงปู่ได้เดินธุดงค์ไปถึงทางภาคใต้ ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งที่ จ. ปัตตานี ท่านยังธุดงค์ไปถึงทางภาคเหนือ ไปนมัสการพระพุทธบาท 4 รอบ และพระบรมสารีริกธาตุหลายครั้ง ได้จำพรรษาอยู่ที่ จ. เชียงใหม่ และได้ศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐาน และวิชาอาคมต่าง ๆ จากหลายพระอาจารย์อีกด้วย......
หลวงปู่โต๊ะท่านไม่ชอบความอึกทึกครึกโครม หลวงปู่เป็นพระฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน ท่านชอบเก็บตัวเงียบ ๆ ภายในกุฏิ บางครั้งท่านจะออกจากวัดประดู่ฉิมพลี เดินลัดสวนผ่านหน้าวัดสังขจายน์ ไปยังวัดหงส์รัตนาราม บางกอกใหญ่ คณะ 5 เพื่อสนทนาธรรม และแลกเปลี่ยนวิชาอาคมกับสหธรรมิก อาทิ พระครูพรหมยานวินิต (หลวงพ่อกล้าย), พระครูญาณสิทธิ์ (เชื้อ), หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง และ พระพันโทหลวงจำรัส....
ต่อมาระยะหลัง หลวงพ่อกล้าย ได้สร้างคณะ และหอสวดมนต์ มีผู้คนพลุกพล่านมาก หลวงปู่จึงไม่ได้ไปที่นั่นอีก ท่านเห็นว่า ที่กุฏิท่านเจ้าคุณพระเทพวิสุทธิเมธี (เจีย) วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) ท่าเตียน เป็นสถานที่เงียบสงบดี หลวงปู่จึงมักไปที่นั่นเสมอ เวลาใครจะนิมนต์ท่านไปไหน ก็มักไปหาท่านที่กุฏิท่านเจ้าคุณเจีย....
ผู้คนเริ่มรู้จักหลวงปู่โต๊ะจริง ๆ ตอนที่ท่านมีอายุ 77 - 78 ปี ในช่วงนั้นท่านได้รับกิจนิมนต์ไปร่วมในพิธีพุทธาภิเษกบ่อยมาก เวลาที่ท่านไปถึงในงานพิธีฯ ท่านจะตรงเข้าไปกราบพระประธานก่อนเสมอ แล้วท่านจะขึ้นนั่งปรกทันที เมื่อช่วงพัก หลวงปู่มักจะถามว่า “มีพระเปลี่ยนฉันหรือเปล่าจ๊ะ” ถ้าญาติโยมตอบว่า “นิมนต์หลวงปู่ตามสบาย” หลวงปู่ก็จะขึ้นนั่งปรกต่อ และจะนั่งต่อไปจนเสร็จพิธี ท่านจะปฏิบัติเช่นนี้ต่อเนื่องกันเสมอมาทุกพิธี จนเป็นที่รู้กันในบรรดาพระคณาจารย์และถวายเกียรติให้หลวงปู่เป็นประธานในพิธีนั่งปรกบริกรรมเสมอ เวลาท่านนั่งปรกแต่ละพิธี จะใช้เวลา 3 ถึง 4 ชั่วโมง บางทีไปนั่ง 3 ถึง 4 วัดในวันเดียวกันก็มี พอเข้าพิธีก็จะนั่งหลับตานิ่งไม่ขยับเขยื้อน หรือเปลี่ยนอิริยาบถใด ๆ ทั้งสิ้น ท่านจะนั่งตัวตรง หลังไม่ติดพนักธรรมาสน์ เดินลมหายใจอย่างสม่ำเสมอ
|
|