“หมัดนายจีน ตีนนายทับ” เรื่องราวของนักมวยเก่า สมัยคาดเชือก ยุคสนามมวยเวทีสวนกุหลาบ ที่เป็นตำนานมวยเล่าขานกันถึงยอดมวยผู้มีพลังหมัด ที่สะกดคู่ต่อสู้ต้องหักโค่นลงไปคนแล้วคนเล่า จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว และอีกผู้หนึ่งเป็นยอดมวยผู้มีเพลงเตะที่ฉกาจฉกรรจ์และรวดเร็วราวจักรผัน สยบคู่ต่อสู้ลงด้วยเท้า จนเป็นที่กล่าวขานกันว่านักมวยทั้งสองก็คือยอดมวยแห่งยุคนั้น นักมวยทั้งสองเป็นนักมวยต่างคณะกัน แต่กลับมีฉายาร่วมกันว่า “หมัดนายจีน ตีนนายทับ” การแข่งขันชกมวยอย่างเป็นทางการในรูปแบบของธุรกิจเก็บค่าดู เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสยามก็คือ สนามมวยเวทีสวนกุหลาบ ซึ่งตั้งขึ้นในบริเวณโรงเรียนสวนกุหลาบ ทั้งนี้เพราะมีผู้สนใจการชกมวยมาก หลังจากการแข่งขันชกมวยในงานพระศพกรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ ที่สนามหลวงแล้ว จึงมีการเรียกร้องให้มีการจัดแข่งขันขึ้นอีก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี (แม็ก เศียรเสวี) เป็นผู้ดำเนินการจัดการแข่งขันชกมวยขึ้น ณ สนามหน้าตึกสามัคยาจารย์ในโรงเรียนสวนกุหลาบ เพื่อเก็บเงินซื้อปืนให้กับกองเสือป่าในปี พ.ศ. ๒๔๖๔
การจัดการแข่งขันชกมวยที่เวทีสวนกุหลาบ ก็เพราะที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมแห่งการฝึกมวยและแข่งขันการชกมวยแบบฝรั่งอยู่ก่อน และเป็นศูนย์กลางของนักเรียนพลศึกษาอีกด้วย เมื่อมีการจัดแข่งขันเป็นข่าวออกไป ก็มีบรรดานักมวยจากหัวเมืองต่างๆ และนักมวยในพระนครเดินทางเข้ามาเปรียบมวย เพื่อเข้าแข่งขันชกมวยเป็นจำนวนมาก โดยเข้ามาอยู่ในความอุปการะของบรรดาเจ้านายและขุนนางที่รักการชกมวย โดยมีการเปิดค่ายมวยอยู่ในจังหวัดพระนคร เช่น นายยัง หาญทะเล นายทับ จำเกาะ นักมวยจากจังหวัดนครราชสีมา เข้ามาสังกัดในกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ นายซ้อน เพชรศักดิ์ นายอินทร์ ศักดิ์เดช นักมวยจากเมืองไชยา อยู่ในความอุปการะของพระยาวจีศรีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) นอกจากนี้ยังมีนักมวยจากหัวเมืองอีกมากมาย เช่น จากลพบุรี จากเมืองแพร่ มหาสารคาม ฯลฯ สะเล็บ ศรไขว้ ยอดมวยพระนครอีกคนหนึ่งในสมัยเวทีมวยสวนกุหลาบส่วนนักมวยในจังหวัดพระนคร ก็มีนายสะเล็บ ศรไขว้ นายหวัง อาหมัด นักมวยในความอุปการะของหม่อมราชวงศ์มานพ ลดาวัลย์ เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีนักมวยจากโรงเรียนสวนกุหลาบนั่นเอง ซึ่งมีการฝึกสอนมวยฝรั่ง (มวยสากล) ตั้งแต่เมื่อหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล ได้กลับจากการทรงศึกษาจากต่างประเทศ ทรงนำเอาวิชาการชกมวยแบบฝรั่งเข้ามาเผยแพร่ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ก่อนหน้านี้ โดยในขั้นแรก ทรงถ่ายทอดให้แก่ครูและนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบและนักเรียนพลศึกษากลาง ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนสวนกุหลาบนั้นด้วย จากนั้นการชกมวยฝรั่งก็ได้ถูกเผยแพร่ไปในโรงเรียนอื่นๆ เป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นของใหม่ เป็นการชกเฉพาะหมัดและสวมนวมชกด้วย จนถึงขั้นจัดแข่งขันกันระหว่างโรงเรียน และมีการชิงชนะเลิศ แบ่งเป็นรุ่นตามน้ำหนัก นักมวยของโรงเรียนสวนกุหลาบในยุคนั้นก็มี นายนิยม ทองชิต นายทิม อติเปรมานนท์ นายจีน พลจันทร นายศิริ สุวรรณวยัคฆ์ นายสุวรรณ นิวาศวัติ โดยอยู่ในความควบคุมดูแลของหลวงพิพัฒน์พลกาย (กระจ่าง วิโรจน์เพชร) นักมวยโรงเรียนสวนกุหลาบนี้ นอกจากฝึกมวยฝรั่งแล้วก็ฝึกมวยไทยควบคู่กันไปด้วย นอกจากจะมีนักมวยไทยจากหัวเมืองและจังหวัดพระนครแล้ว ก็ยังมีนักมวยชาวจีนก็มาสมัครเข้าร่วมการแข่งขันอีกด้วย โดยนักมวยชาวจีนนี้อยู่ในความอุปการะของนายเคียงเหลียน สีบุญเรือง และนายฮุน กิมฮวด แห่งสโมสรสามัคคีจีนสยาม เช่น นายจี้ ฉ่าง นายไล่โฮ้ว เป็นต้น
|