๒๒. พระนางยโสธราพิมพา - นางแก้วคู่บารมี
ที่มา http://angkarn.siamtapco.com/book/book02-22.htm
ในชาติอันเป็นที่สุดของพระนางพิมพา ผู้เป็นนางแก้วของพระโพธิสัตว์นั้น พระนางเกิดมาเป็นราชธิดาแสนโสภาของพระเจ้าสุปปพุทธะ กษัตริย์กรุงเทวทหะ พระราชมารดามีพระนามว่า พระนางอมิตาเทวี
พระนางพิมพาประสูติวันเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะ จึงนับเป็น ๑ ในสหชาติทั้ง ๗ ของพระพุทธเจ้าซึ่งประกอบด้วย พระนางพิมพา พระอานนท์ นายฉันนะ กาฬุทายีอำมาตย์ ม้ากัณฑกะ ต้นมหาโพธิ และขุมทรัพย์ทั้งสี่
พระนางพิมพานั้นมีหลายนาม คือ พิมพา ยโสธรา ยโสธราพิมพา ภัททา กัจจานา และภัททากัจจานา
พระนางพิมพาก็ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายสิทธัตถะ
เมื่อพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา พระนางพิมพาก็ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายสิทธัตถะ และทรงพระเกษมสำราญร่วมกันในปราสาท ๓ ฤดู ที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงสร้างให้ เพื่อหน่วงเหนี่ยวไม่ให้เจ้าชายสิทธัตถะออกบวชตามคำทำนายของโหราจารย์
แต่ครั้นเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา ได้เห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช ทำให้เริ่มรู้สึกสังเวชในความทุกข์ที่สรรพสัตว์ต้องประสบ ยิ่งเมื่อเสด็จกลับมาพระราชวัง ได้เห็นเหล่านางในนอนหลับกลิ้งเกลือกดังซากศพ พระองค์ก็ยิ่งรู้สึกเบื่อหน่ายมากยิ่งขึ้น
ขณะนั้น เป็นเวลาเดียวกันกับที่พระนางพิมพาประสูติพระโอรส นามว่า ราหุล เจ้าชายสิทธัตถะเห็นทุกข์ภัยของสังสารวัฏฏ์ จึงได้ตัดสินใจเสด็จหนีไปออกบรรพชาเพื่อค้นหาวิธีทำลายชาติภพให้ได้
หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวชแล้ว พระนางพิมพา ผู้ซึ่งเป็นคู่รักคู่บารมีติดตามข้ามภพข้ามชาติกันมานานแสนนาน มีจิตผูกพัน และมีความรักอันลึกซึ้งต่อพระองค์ พระนางไม่อาจหักห้ามความรักและความอาลัยที่มีต่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ จึงได้คอยติดตามถามข่าวคราวของพระสวามีของพระนางอยู่เสมอ
แม้ความเชื่อในยุคนั้น การที่หญิงไม่มีสามีจะถือว่าไม่มีเกียรติ และหญิงนั้นสามารถมีสามีใหม่ได้ แต่พระนางพิมพาก็ไม่สนใจชายใดอีกเลย พระนางยังคงเฝ้ารอพระสวามีของพระนางเพียงพระองค์เดียว
คราใดที่พระนางได้ยินข่าวว่าเจ้าชายสิทธัตถะนุ่งห่มผ้าย้อมฝาด พระนางก็เปลี่ยนชุดทรงมานุ่งห่มผ้าย้อมฝาดด้วย
คราใดที่พระนางได้ยินข่าวว่าเจ้าชายสิทธัตถะทรงบรรทมบนพื้นไม้ พระนางก็บรรทมบนพื้นไม้ได้วย
คราใดที่พระนางได้ยินข่าวว่าเจ้าชายสิทธัตถะทรงอดพระกระยาหาร พระนางก็ทรงอดพระกระยาหารด้วย
ไม่ว่าจะได้ข่าวว่าพระสวามีปฏิบัติตนอย่างไร พระนางพิมพาก็ปฏิบัติตนเยี่ยงนั้น
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะออกบรรพชาได้ ๖ ปี พระองค์ก็ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเสด็จไปสั่งสอนพุทธบริษัทอยู่ที่กรุงราชคฤห์ พอย่างเข้าสู่พรรษาที่ ๒ พระเจ้าสุทโธทนะก็ส่งอำมาตย์พร้อมราชบริพารไปทูลเชิญเสด็จพระพุทธเจ้ากลับ นครกบิลพัสดุ์ แต่บรรดาอำมาตย์ทั้งหลายกลับไปฟังธรรมและออกบวชเสียทั้งหมด พระเจ้าสุทโธทนะต้องส่งอำมาตย์ไปอีกหลายคณะ จนถึงคณะ ๑๐ พระองค์ได้ส่ง กาฬุทายีอำมาตย์ ผู้ซึ่งเป็นสหชาติ ให้ไปทูลเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าพร้อมกำชับว่าอย่างไรก็ต้องอัญเชิญเสด็จพระ พุทธองค์มาให้ได้
กาลก่อนๆ นั้น บรรดาอำมาตย์ที่ออกบวชล้วนแล้วแต่ได้บรรลุอรหันต์ทั้งสิ้น จึงได้ปล่อยวางกิจทางโลก ไม่ได้ทูลเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าตามรับสั่งของพระเจ้าสุทโธทนะ ส่วนกาฬุทายีอำมาตย์นั้นแม้จะบวชเหมือนคนอื่นๆ แต่ก็ไม่ลืมภาระกิจที่ได้รับมอบหมายมา จึงได้กราบทูลพระพุทธองค์เรื่องที่พุทธบิดาขออาราธนาให้เสด็จนิวัติกบิลพัส ดุ์นคร ซึ่งพระพุทธองค์ก็ได้นำพระอรหันต์ขีณาสพจำนวนมาก เสด็จไปโปรดพระประยูรญาติที่นครกบิลพัสดุ์
พระพุทธเจ้าได้ทรงเสด็จมาถึงกรุงกบิลพัสดุ์พร้อมพระสาวก และออกบิณฑบาตอยู่ในพระนคร พระนางพิมพาทอดพระเนตรเห็นพระพุทธองค์เที่ยวเสด็จบิณฑบาตอยู่ จึงไปกราบทูลให้พระเจ้าสุทโทธนะทรงทราบ พระเจ้าสุทโทธนะจึงนิมนต์พระพุทธองค์ให้มารับภัตตาหารในพระราชวัง
วันแรก พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมโปรดพุทธบิดาและพระประยูรญาติทั้งหลายในกรุงกบิล พัสดุ์ที่พร้อมใจกันมาเข้าเฝ้ารับฟังธรรม ยกเว้นแต่เพียงพระนางพิมพาและเหล่านางสนมกัญญาที่เก็บตัวอยู่ในตำหนัก ด้วยความรู้สึกทั้งรักและน้อยพระทัยว่าพระพุทธองค์เสด็จกลับมาแล้วก็ควร เสด็จมาหาพระนางที่เฝ้ารอคอยอยู่ถึง ๘ ปี
พระนางพิมพาได้พบกับพระพุทธองค์ พระนางก็เข้ามากอดพระบาทร่ำไห้รำพัน
วันที่สอง เมื่อพระพุทธเจ้ารับภัตตาหารในพระราชวังเสร็จแล้ว พระองค์จึงเสด็จไปโปรดพระนางพิมพาในตำหนัก เมื่อพระนางพิมพาได้พบกับพระพุทธองค์ พระนางก็เข้ามากอดพระบาทร่ำไห้รำพันอย่างน่าสงสาร แต่พระพุทธองค์ก็ทรงเทศนาให้พระนางดำรงสติไว้ได้
พระราหุลแสดงความรักซาบซึ้งในพระพุทธองค์ผู้เป็นบิดา จนลืมทูลขอราชสมบัติ
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเทศนาโปรดพระประยูรญาติแล้ว พระนางพิมพาก็รับสั่งให้ราหุลราชโอรสตามเสด็จพระพุทธเจ้าเพื่อทูลขอราช สมบัติ พระพุทธเจ้าจึงทรงบรรพชาราหุลเป็นสามเณรและให้เสด็จติดตามพระองค์ไปด้วย นอกจากจะเสียพระสวามีไปแล้ว พระนางพิมพาจึงเสียโอรสไปอีกองค์
พระนางพิมพายังคงอยู่ในตำหนักต่อมาอีก ๓ ปี พระเจ้าสุทโธทนะก็เสด็จสวรรคต เมื่อจัดงานพระบรมศพเสร็จ และทำพิธีให้เจ้าชายมหานามะขึ้นครองราชย์สมบัติสืบแทนเรียบร้อยแล้ว พระนางพิมพาจึงนำนางกัญญา ๑,๑๐๐ คน ออกบรรพชาในสำนักของพระมหาปชาบดีเถรี เมื่อบวชแล้วได้ชื่อว่า ภัททากัจจานาเถรี
พระภัททากัจจานาเถรีได้รับกรรมฐานจากพระพุทธเจ้า เมื่อเจริญวิปัสสนาได้ไม่ทันถึง ๑๕ วัน ก็บรรลุอรหัตผล
เนื่องจากพระกัจจานาเถรีนั้นเป็นผู้บำเพ็ญบารมีมานานกว่าพระอัคร สาวก และพระสาวกองค์ใดๆ จึงเป็นผู้ช่ำชองในอภิญญาทั้งหลาย ขณะที่พระอรหันต์อื่นๆ สามารถระลึกชาติได้เพียงแสนมหากัป แต่พระกัจจานาเถรีนั้นมีความคล่องแคล่วในอภิญญามาก นั่งขัดสมาธิเพียงครั้งเดียวก็สามารถระลึกชาติได้ถึงอสงไขยแสนกัป พระพุทธเจ้าจึงทรงแต่งตั้งให้เป็นเอตทัคคะผู้ทรงอภิญญาใหญ่
พระภัททากัจจานาเถรีเสด็จเข้าสู่นิพพาน เมื่อมีพระชนมายุได้ ๗๘ ปี ทรงกระทำชาติ ชรา มรณะ และสังสารวัฏฏ์ให้สิ้นสุดลงได้ หลังจากเป็นนางแก้วติดตามเป็นคู่รักคู่บารมีพระโพธิสัตว์มานานถึง ๔ อสงไขย กับเศษแสนมหากัป
|