ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1700
ตอบกลับ: 3
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

แขนลาย

[คัดลอกลิงก์]



“แขนลาย” กองทัพที่แข็งแกร่งที่สุด !! ในบันทึกที่หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ของพระมหากษัตริย์แห่งสยาม !!เรื่องของ “แขนลาย” หาในหลักฐานของไทยแทบไม่พบ ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่ชำระในสมัยรัชกาลที่ 1 กล่าวไว้เพียงสั้นๆ ว่าเป็นหนึ่งในพนักงานแห่ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าเสือไปนมัสการพระพุทธบาทใน พ.ศ. 2250 ว่า
“ตำรวจใน ตำรวจใหญ่ แขนลายถือทวนขัดแล่งดาบทิพบั้งทอง บั้งนาก บั้งเงิน ขนัดแล่งใน ถือปืนคาบศิลา แห่ซ้ายเป็นคู่ 10 คู่ ขวาเป็นคู่ 10 คู่ มีธงชายประจำหน้าหมวด 1 ขนัดหอกคอทอง”

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-8-8 11:45 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ในทางตรงข้าม “แขนลาย” กลับปรากฏอยู่ในบันทึกของชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในกรุงศรีอยุทธยาจำนวนมาก ส่วนใหญ่บันทึกไว้ตรงกันว่ามีบทบาทในฐานะราชองครักษ์ ฝีพายหลวง และมีหน้าที่เป็นราชมัลหรือผู้ลงโทษผู้มีความผิดตามแต่พระเจ้าแผ่นดินจะรับสั่ง และมีการสืบตำแหน่งไปสู่ทายาทไปอย่างต่อเนื่อง เหมือนกับไพร่ในกรมอื่น


ซิมง เดอ ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุทธยาใน พ.ศ. 2230 รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ได้ระบุเรื่องราวของ “แขนลาย” ไว้ว่า
“ชาวสยามเรียกคนจำพวกนี้ว่า แขนลาย (Kenláï) เหตุด้วยด้วยเขาสักแขนคนพวกนี้แล้วเอาดินปืนโรยที่แผล ทำให้แขนที่ตรงนั้นกลายเป็นสีน้ำเงินหม่นๆ ชาวปอรตุเกศเรียกคนจำพวกนี้ว่า บราส์แปงตส์ และ บโทน ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ระบุว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดให้พวกแขนลายทำหน้าที่ในการจับกุมและลงทัณฑ์บุคคลต่างๆ เช่นทรงให้เคยลงทัณฑ์เหล่าแม่ทัพนายกองที่รบแพ้ปาตานีใน ค.ศ. 1634 (พ.ศ. 2177) และลงโทษชาวดัตช์ที่ไปก่อเรื่องวิวาทกับข้าหลวงของพระอนุชาผู้เป็นฝ่ายหน้าอย่างหนักในปลาย ค.ศ. 1636 (พ.ศ. 2179) จนฟาน ฟลีตต้องพยายามเจรจากับขุนนางไทยเพื่อขอให้ปล่อยชาวดัตช์ที่ถูกจับออกมา”
ลาลูแบร์ยังได้บรรยายเกี่ยวกับ “แขนลาย” ที่เขาพบในพระราชวังวันที่เขาได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์เพื่อถวายพระราชสาส์น อย่างละเอียด โดยได้เปรียบเปรยไว้ว่าใกล้เคียงกับทหารเปรโตเรียน ซึ่งเป็นทหารรักษาพระองค์ของจักรพรรดิโรมัน

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-8-8 11:46 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เดียวกันกับนายทหารและกองพันเปรโตเรี่ยน (รักษาพระองค์) ทำหน้าที่เป็นราชมัลของพระเจ้าจักรพรรดิโรมันด้วยฉะนั้น และในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่พิทักษ์ความปลอดภัยให้แก่พระมหากษัตริย์ด้วย ในพระบรมมหาราชวังนั้นมีสาตราวุธให้ทหารพวกนี้ใช้เมื่อคราวจำเป็น ทหารพวกนี้เป็นฝีพายเรือพระที่นั่งต้น และสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามหาทรงมีกองทหารราบรักษาพระองค์กองอื่นไม่ พวกนี้ต้องรับราชการตามหมู่สืบทายาทกันมาโดยตลอดเช่นเลกไพร่หลวงกองอื่นๆ ทั่วราชอาณาจักร และกฎหมายเก่าได้กำหนดจำนวนพลไว้เพียง 600 คน แต่น่าจะหมายความว่าให้มีประจำให้พระบรมมหาราชวัง 600 คนกระมัง ด้วยว่าถ้าให้ทั่วราชสีมามณฑลแล้ว ก็จะต้องมีมากกว่านี้มากนัก ด้วยว่าพระมหากษัตริย์ได้พระราชทานคนพวกนี้ แก่ขุนนางผู้ใหญ่ไปเป็นอันมากทีเดียว”
บาทหลวงกีย์ ตาชาร์ด ที่ติดตามคณะทูตฝรั่งเศสเข้ามากล่าวถึงพวกแขนลายไวเช่นเดียวกัน แต่กล่าวผิดกับลาลูแบร์คือระบุว่าพวกแขนลายสักด้วยสีแดง
“เมื่อเข้าไปในลานพระราชฐานชั้นที่สี่ซึ่งทางเดินปูเสื่อไว้ครึ่งหนึ่งนั้น มีทหารสองร้อยคนหมอบอยู่ ถือดาบทำด้วยทองคำ เพราะเหตุที่พวกเขาเหล่านี้ทาแขนไว้ด้วยสีแดง ทหารเหล่านี้เป็นฝีพายประจำเรือบัลลังก์พระที่นั่ง เช่นเดียวกับทหารรักษาชายฝั่ง ลา มางซ์ ฉะนั้นแล”

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-8-8 11:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เอกสารสำเภาแห่งกษัตริย์สุลัยมาน ที่เรียบเรียงโดยอาลักษณ์ในคณะทูตเปอร์เซียที่เดินทางเข้ามาในกรุงศรีอยุทธยาเมื่อ ค.ศ. 1685 (พ.ศ. 2228) ก็ได้บรรยายถึง “แขนลาย” ไว้ว่า
“มีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องความจงรักภักดีและความกล้าหาญของพวกเขา สมาชิกของคณะคนชั้นนำเหล่านี้เด่นดังอยู่เหนือทหารคนอื่นๆ ของกษัตริย์และความอาจหาญและดุดันของพวกเขานั้นมีชื่อเสียงมาก จนถึงกับถูกนับว่าอยู่ในหมู่ผู้ใกล้ชิดอันเป็นที่ไว้วางใจและเป็นที่ปรึกษาของกษัตริย์ด้วย
ราชองครักษ์เหล่านี้ได้ขอร้องให้ได้มีเครื่องหมายบางอย่างที่โดดเด่นเพื่อรับรองตำแหน่งอันสูงส่งของพวกเขา เป็นเครื่องหมายที่จะไม่มีวันตกอยู่ใต้อิทธิพลของการรุกล้ำแห่งกาลเวลา เนื่องจากว่าพวกเขามิได้สวมเสื้อผ้าหรือเสื้อเกราะ พวกเขาจึงได้สักร่างกายของตนเองเป็นถ้อยคำบางอย่างด้วยตัวอักษรของพวกเขาเอง เหมือนกับที่ชาวเตอร์กและชาวอาหรับเผ่าเบดูอินซึ่งตกแต่งตัวเองด้วยจุดและเส้นสายต่างๆ ในบรรดานายทหารยศสูงสุดและมีหน้าที่จับกุม ทรมาน และประหารชีวิตนั้นมีบางคนที่มีเครื่องหมายเช่นนี้ อยู่บนแขนขวา ส่วนบางคนก็สักไว้ที่แขนซ้าย ผู้ที่ทำงานเป็นม้าใช้และทำงานในหน่วยงานเกี่ยวกับถนนหนทางขะมีเครื่องหมายพิเศษของพวกเขาเอง ตำแหน่งเหล่านี้ทั้งหมดสืบมรดกจากบิดาไปถึงบุตร
เพื่อมาตรการแห่งความปลอดภัย องครักษ์ที่ได้รับเลือกเหล่านี้มีที่อยู่ อยู่ใกล้กับที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน เช่นเดียวกับพวก ชาวเติร์กเผ่าหนึ่งในสมัยราชวงศ์เศาะฟาวียะฮ์ของเปอร์เซีย”
สำหรับเรื่องการสักของพวกแขนลาย น่าจะมีการสักหลายแบบ โดยอย่างที่กล่าวไปว่ามีทั้งสักสีน้ำเงินและสีแดง และในสมุดภาพไตรภูมิกรุงธนบุรีที่อยู่ที่กรุงเบอร์ลินปรากฏภาพบุคคลที่สันนิษฐานว่าเป็นภาพแขนลายหรือไพร่หลวงล้อมวัง สักตั้งแต่หัวไหล่ลงไปถึงหลังมือ
แต่เข้าใจว่าในสมัยรัตนโกสินทร์ไม่ได้คงรูปแบบการสักทั้งแขนอย่างโบราณไว้แล้ว เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชาธิบายว่า “ไพร่หลวงล้อมวังสักที่รักแร้แปลกกว่าไพร่กรมอื่นๆ” จึงเข้าใจว่าสมัยหลังเปลี่ยนมาสักที่รักแร้
ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2414 มีการปฏิรูปกองทัพใหม่ กองทหารล้อมวังจึงถูกยกไปรวมเข้ากับกรมทหารหน้า จนถึง พ.ศ. 2423 จึงแยกจากกรมทหารหน้ามาเป็นกรมอิสระ ฝึกหัดแบบยุโรป เรียกว่า “กรมทหารล้อมวัง” หลังจากนี้มีการปรับเปลี่ยนชื่อกรมอีกหลายครั้ง จนมาถึงปัจจุบันก็คือ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) นั่นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.facebook.com/WipakHistory/posts/1462484530481679
– กฎหมายตรา 3 ดวง ฉบับพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองแก้ไขปรับปรุงใหม่ เล่ม 1
– ความสัมพันธ์ อิหร่าน-ไทย ทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
– จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม ครั้งที่ 1 และ จดหมายเหตุการเดินทางครั้งที่ 2 ของบาทหลวงตาชารด์ แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร
– จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม แปลโดย สัน ท. โกมลบุตร
– จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน
– ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4
– ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 23 จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชฯ ผู้บังคับการพิเศษกรมทหารราบที่ 4 โปรดให้พิมพ์ประทานในงานฉลองโล่ห์ที่จังหวัดราชบุรี เมื่อปีระกา พ.ศ. 2564
– ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 64 พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ ( เจิม ) เจ้าภาพพิมพ์ในงานปลงศพ คุณหญิงปฏิภานพิเศษ ( ลมุน อมาตยกุล ) ณ วัดประยุรวงศาวาส วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2479
– ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ภาคที่ 19 ตำราแบบธรรมเนียมในราชสำนัก ครั้งกรุงศรีอยุธยา พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงยมราช (ตลับ สุขุม) วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2474
– Chris Baker, Dhiravat Na Pombejra, Alfons Van Der Kraan, David K. Wyatt. Van Vliet’s Siam
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : TNews

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้