มิตรภาพเป็นสิ่งที่เปราะบาง และจำเป็นต้องได้รับการทะนุถนอมประดุจทรัพย์สินล้ำค่าที่เปราะบาง”
(Friendships are fragile things and require as much handling as any other fragile and precious thing.) แรนดอล์พ เอส บอร์น (Randolph S. Bourne) นักวิจารณ์สังคมชาวอเมริกัน (1886-1918) ได้ให้ข้อคิดสะกิดใจไว้ในข้างต้น
ซึ่งผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง!
อาจมีคนมากมายที่เราได้พบพานในชีวิต แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่เราพบ เราอยากจะคบหา
และในท่ามกลางคนที่เราอยากคบหาก็มีไม่กี่คนที่เราอยากจะคบเป็นเพื่อน
และในหมู่เพื่อนเหล่านั้น จะมีเพียงบางคนเท่านั้นที่เราขอพัฒนาความ
สัมพันธ์เป็นมิตรสนิท!
แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ …
เรามักจะเกรงใจให้เกียรติคนไม่รู้จักกันมากกว่าให้เกียรติเพื่อนหรือมิตรสนิท!
คนเรายิ่งสนิทกันมากเท่าไร ก็ยิ่งไม่เกรงใจให้เกียรติกันมากขึ้นเท่านั้น!
อากัปกิริยา ท่าทาง หรือคำพูดที่มีต่อกันก็เลยมักจะไม่ค่อยถนอมน้ำใจกัน!
ผลที่ตามมาก็คือ “มิตรภาพ” ที่มีต่อกันแตกดัง “โพล๊ะ!”
ช่างน่าเสียดายที่คนเรามักประมาทและมองข้ามความ
“เปราะบาง” ของ “มิตรภาพ” ไป !
แท้จริงแล้วกว่าที่คนเราจะสร้างและพัฒนามิตรภาพระหว่างกันขึ้นมาได้นั้นต้องใช้เวลาอย่างยาวนาน
และต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมหาศาลด้วยเหตุนี้เราจึงควรใช้ความอดทนอดกลั้น
และความตั้งใจอย่างสูงในการ “รักษา” ความสัมพันธ์ดังกล่าวให้ “คง” อยู่อย่างยืนยาว!
หากใครชะล่าใจปล่อยปละละเลยความจริงในข้อนี้ คน ๆ นั้นอาจทำให้ความสัมพันธ์ฉันมิตร
ที่ตัวเขาและเพื่อนสู้อุตส่าห์ฟูมฟักกันมาผ่านวันคืนชีวิตอันยาวนานนับสิบปีต้องพังพินาศลงไปอย่างน่าเสียดาย!
ดังนั้น วันนี้
ยังไม่สายเกินไปที่เราจะทบทวนถึงสิ่งที่เราพูด เราแสดงออกหรือเรากระทำต่อมิตรของเรา!
ยังไม่สายเกินไปที่เราจะประเมินค่าว่าสิ่งที่เราทำเหล่านั้น ส่งผลกระทบต่อ “มิตรภาพ” ที่มีต่อกันอย่างไรบ้าง?
http://www.churchofjoy.net/4441
|