ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1939
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระโพธิธรรม ปรมาจารย์เสี้ยวลิ้มยี่

[คัดลอกลิงก์]


วัดเส้าหลิน (หรือเสี้ยวลิ้มยี่ สำเนียงแต้จิ๋ว) สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.495 ในยุคราชวงศ์เหนือ - ใต้ ในเขตอิทธิพลราชวงศ์เป่ยเว่ย ( 北魏 เว่ยเหนือ ) รัชสมัยของพระเจ้าเสี้ยวเหวินตี้ (孝文帝) โดยแรกเริ่มเดิมทีมีจุดประสงค์เพื่อให้พระภิกษุจากอินเดียนาม ป๋าถัว หรือ พระภัทรเถระ (跋陀) มาจำวัดและเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยขณะนั้นพระอาจารย์ป๋าถัวมีลูกศิษย์ลูกหานับร้อยๆ คนเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามหลังจากพระอาจารย์ป๋าถัวมรณภาพ ชื่อเสียงของวัดเส้าหลินก็ค่อยๆ เสื่อมถอยลง
ล่วงมาถึง ค.ศ.527 เมื่อพระภิกษุจากอินเดียใต้ รูปหนึ่งนาม ต๋าม่อ (达摩) หรือพระโพธิธรรม ตโมภิกขุ หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในนาม "ตั๊กม้อ" ได้เดินทางมาถึงวัดเส้าหลิน ตำนานอันยิ่งใหญ่ของวัดเส้าหลินจึงเริ่มขึ้น
ตามตำนานกล่าวไว้ว่า เดิมทีพระโพธิธรรมเป็นองค์ชายในวรรณะกษัตริย์ของอินเดีย เป็นพระโอรสองค์ที่ 3 ของพระเจ้าสิงหวรมัน กษัตริย์แคว้นปัลลวะ ( มีข้อมูลอีกแหล่งกล่าวว่า เป็นชาวแคว้นคันธาระ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน - อัฟกานิสถาน ) โดยมีพระนามว่า "ทัศโมกข์" เมื่อย่างเข้าสู่วัยหนุ่ม พระเจ้าสิงหวรมันสิ้นพระชนม์ องค์ชายทัศโมกข์ผู้เบื่อหน่ายการแย่งชิงอำนาจทางโลก จึงไปศึกษาแสวงธรรมอยู่กับพระปรัชญาตาระเถระ ผู้เป็นพระสังฆปรินายกองค์ที่ 27 ไม่นานจึงตัดสินใจออกผนวชและได้ชื่อทางธรรมว่า " โพธิธรรม ตโมภิกขุ "
ภายหลังศึกษาพระธรรมมาอย่างยาวนานจนแตกฉานในด้านวิปัสนาและการเจริญสติ พระปรัชญาตาระเถระ จึงมอบหมายหน้าที่สำคัญให้พระโพธิธรรม คือการดำรงตำแหน่งสังฆปรินายกองค์ที่ 28 พร้อมทั้งกล่าวว่า
" ท่านโพธิธรรมมีบุญญลักษณะ มีความรู้ทางธรรมอันดีพร้อม และอายุยืนยาวมากกว่าพระสังฆปรินายกองค์ใดๆ หลังจากที่ฉันดับขันธ์ไปแล้วเป็นเวลา 67 ปี แผ่นดินนี้จะเกิดภัยสงครามใหญ่อันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ท่านจึงควรนำวิถีธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เผยแผ่ไปสู่ดินแดนบูรพาเถิด"
ค.ศ. 525 เมื่อพระโพธิธรรมได้พิจารณาเห็นถึงวาระอันควรท่านจึงประกาศต่อบรรดาสานุศิษย์ในอินเดียว่า
"บัดนี้เวลาแห่งการปฏิบัติภาระกิจสำคัญมาถึงแล้วอาจารย์ต้องนำเอาหลักธรรมอันยิ่งใหญ่ ไปสู่แดนบูรพา"
พระโพธิธรรม สังฆปรินายกองค์ที่ 28 จึงโดยสารทางเรือที่เมืองกัญจิปุระ (Kānchipuram) มุ่งหน้าสู่เมืองหนานไห่ ( ปัจจุบันคือ นครกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง ) เขตปกครองราชวงศ์แดนใต้ "หนานเหลียง" ( 南涼 เหลียงใต้ )
ด้วยรูปลักษณ์ของพระโพธิธรรม ที่เป็นชาวอินเดียมีหนวดเคราดกรุงรัง นัยน์ตาทั้งคู่กลมโต ผิวดำคล้ำ ชาวบ้านที่พบเห็นก็จะหลอกลูกหลานว่า " พระแขกจะมาจับตัว " เพื่อให้เด็กๆกลัว ฉะนั้นแม้ว่าท่านจะเดินไปทางไหน เด็กๆก็จะพากันวิ่งหนีเข้าบ้านหมด บางคราวต้องฝ่าแดดกรำฝนท่านก็จะดึงเอาจีวรขึ้นคลุมศีรษะกันร้อนกันหนาว นานวันผ้าจีวรที่ห่มอยู่ก็ชำรุดคร่ำคร่าอันเนื่องจากการรอนแรมนานถึง 3 ปี!
ฮ่องเต้เหลียงอู่ตี้ ( 梁武帝 ) มีพระนามว่า เซียวเหยี่ยน ( 蕭衍 ) พระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ และได้รับการยกย่องว่าเป็น "พระเจ้าอโศกแห่งจงกั๋ว" พระองค์โปรดให้มีการสร้างวัด เจดีย์ บริจาคทาน พิมพ์พระคัมภีร์ ฯลฯ นับเป็นยุคทองยุคหนึ่งของพระพุทธศาสนา
ครั้นเหลียงอู่ตี้ทรงทราบว่า มีภิกษุจากอินเดียภิกขาจารมา พระองค์จึงได้ทรงนิมนต์มาปฏิสันถารในพระราชวัง และถามว่าสิ่งที่พระองค์ทำไปนั้นได้กุศลมากใช่ไหม แต่นึกไม่ถึงว่าจะเจอพระภิกษุที่แปลกกว่ารูปอื่น เพราะพูดจาช่างขัดหูเหลือเกิน พระโพธิธรรมกล่าวว่า
" การทำบุญทางโลกนั้น มิได้กุศลทางธรรมเลยสักนิด "
เหลียงอู่ตี้โกรธจัดถึงขั้นถามแกมข่มขู่กลับไปว่า
" รู้ไหมว่าท่านพูดอยู่กับใคร "
พระโพธิธรรมตอบอย่างใจเย็นว่า
" ไม่รู้ "
เพราะเข้าใจแก่นแท้ทางพระพุทธศาสนาแตกต่างกัน พระโพธิธรรมจึงละทิ้งแดนใต้ข้ามลำน้ำฉางเจียง ( แยงซีเกียง ) ขึ้นไปทางเหนือ
เมื่อพระโพธิธรรมเดินทางพ้นจากเมืองไปแล้ว พระธรรมาจารย์ป๋อจี่ ซึ่งเป็นพระเถระผู้ทรงปราดเปรื่องรอบรู้พระไตรปิฎกได้เข้าเฝ้าแล้วกราบทูลถามพระเจ้าเหลียงอู่ตี้ว่า
" พระภิกษุเทียนจู๋ (อินเดีย) รูปนั้น ขณะนี้พำนักอยู่ที่ใดมหาบพิตร? "
เหลียงอู่ตี้ ทรงตรัสว่า
"จากไปแล้ว.....ภิกษุรูปนั้นมัน...เฮ้อ "
เมื่อได้ฟังเรื่องราวทั้งหมดจากเหลียงอู่ตี้ พระธรรมจารย์ป๋อจี่ กราบทูลว่า
"ท่านคือมหาโพธิสัตว์อวตารมาทีเดียว...ฝ่าพระบาทได้พบท่าน เหมือนไม่ได้พบ ได้เห็นท่าน แต่เหมือนไม่ได้เห็น"
ฮ่องเต้เหลียงอู่ตี้ ทรงทราบเช่นนั้นจึงมีพระดำริ จะให้ทหารออกติดตามไปอาราธนาท่านกลับมา ฝ่ายพระธรรมจารย์ป๋อจี่ ได้กราบทูลต่อไปอีกว่า
"ไร้ประโยชน์...ถึงจะยกทัพไปแสนนาย ท่านก็ไม่กลับมา "


2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-11 16:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หากจะกล่าวถึงบรรยากาศการนับถือพระพุทธศาสนาระหว่างทางเหนือและใต้นั้นช่างต่างกัน ทางใต้เน้นไปที่พระสูตรคัมภีร์ ตีความหลักธรรมคำสั่งสอนตามพื้นฐานของบัณฑิตชาวฮั่น ส่วนทางเหนือจะเน้นด้านวิปัสนากรรมฐาน เพื่อสั่งสมตบะฌาน ซึ่งไปด้วยดีกับแนวทางของพระโพธิธรรม
เมื่อพระโพธิธรรมเดินทางถึงเขาซงซาน และได้ยินชาวบ้านระแวกนั้นกล่าวว่า ที่ภูเขาเส้าซื่อ มีอารามแห่งหนึ่งนามว่า เส้าหลิน ในอดีตมีภิกษุจากอินเดียมาจำพรรษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่นั่น พระโพธิธรรมจึงตัดสินใจเดินทางไปยังอารามเส้าหลิน
เมื่อมาถึงท่านกลับไม่ได้เข้าวัด แต่เดินทางไปถึงถ้ำแห่งหนึ่งใกล้ๆ กับวัด ในถ้ำพระโพธิธรรมหันหน้าเข้าผนังแล้วจึงนั่งทำสมาธิและใช้ชีวิตอยู่ในถ้ำแห่งนั้นเป็นเวลายาวนานถึง 9 ปี เรื่องราวที่พระโพธิธรรมนั่งวิปัสนาในถ้ำนั้น กลายเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว ภิกษุผู้ใฝ่ธรรมรูปหนึ่งนามว่า เสินก่วง ( 神光 ) เมื่อทราบข่าวจึงคิดปวารนาตนเป็นศิษย์เร่งรุดมายังเขาเส้าซื่อ
เวลาผ่านไป 9 ปี ค.ศ. 536 ศักราชไท่เหอปีที่ 10 วันนั้นหิมะตกหนัก ภิกษุเสินกวงคุกเข่าอยู่หน้าถ้ำตลอดทั้งคืน จนหิมะท่วมสูงถึงเอว ครั้นรุ่งเช้าพระโพธิธรรมตื่นจากการนั่งสมาธิ ก็ได้เดินออกมาจากถ้ำ พร้อมกับเอ่ยถามขึ้นว่า
"ท่านมาคุกเข่าตากหิมะอยู่ที่นี่ เพื่อประสงค์อันใด ? "
ภิกษุเสินก่วง ตื้นตันจนน้ำตาไหลชึมออกมา แล้วตอบว่า
"ข้าผู้น้อย....มาขอรับการถ่ายทอดวิถีธรรมขอรับ
ขอท่านอาจารย์ได้โปรดเมตตาเปิด 'ประตูมรรคผล' ชี้ทางแห่ง 'พุทธะ' แก่ศิษย์ด้วยเถิด"
พระโพธิธรรม ตอบว่า
"พระพุทธองค์สละเวลามากมายทุ่มเทชีวิตในการฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรคผล แล้วตัวท่านอาศัยความตั้งใจเพียงเล็กน้อยมาขอรับธรรมอันยิ่งใหญ่ คงยากที่จะสมหวัง!"
ขณะนั้น ภิกษุเสินก่วงได้แต่ก้มหน้านิ่ง ไม่รู้จะตอบว่าอย่างไร พระโพธิธรรมก็ย้อนถามอีกว่า
"หิมะสีอะไร?"
ภิกษุเสินก่วง "ขาวขอรับ"
"ถ้าเช่นนั้น...ท่านจงรอไปจนถึงเวลาที่หิมะเป็นสีแดงเมื่อใด เมื่อนั้นแหละฉันจึงจะถ่ายทอดวิถีธรรมเพื่อความหลุดพ้นแก่ท่าน !"
ทันใดนั้นเอง ภิกษุเสินกวงก็หันไปคว้ามีดตัดฟืนข้างกายยกขึ้นมาฟันแขนซ้ายตนเองจนขาดตกลงบนพื้น! พื้นหิมะที่ขาวโพลนได้กลายเป็นสีแดงฉาน จากนั้นท่านก็ใช้มือขวาหยิบแขนที่ขาด ยกขึ้นถวายบูชาพระโพธิธรรมประหนึ่งแทนความในใจทั้งหมด
พระโพธิธรรมจึงกล่าวขึ้นว่า
"เพื่อแสวงหาโมกขธรรม พระโพธิสัตว์ไม่ติดยึดในสังขาร และชีวิตของท่านผู้สละแขนเพื่อธรรมอันประเสริฐ นับว่าควรสรรเสริญ...นับว่าควรสรรเสริญ"
ภิกษุเสินก่วงได้รับฉายาทางธรรมใหม่ว่า "ฮุ่ยเคอ" ( 慧可 ) ภายหลังจึงได้ดำรงตำแหน่งสังฆปรินายกองค์ที่ 2 แห่งนิกายฌาน ( ฉานในภาษาจีนกลาง เซ็นในภาษาญี่ปุ่น ) ในเวลาต่อมาเพื่อเป็นการรำลึกถึงภิกษุฮุ่ยเคอ จึงมีประเพณีการคำนับด้วยแขนขวาข้างเดียวขึ้น ในกลุ่มภิกษุนิกายฉาน

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-11 16:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระโพธิธรรมลงจากถ้ำเพื่อมาถ่ายทอดพระธรรมแก่พุทธศาสนิกชนผู้ศรัทธา โดยเฉพาะแนวทางการเจริญวิปัสนากรรมฐานที่ท่านคิดขึ้น ได้กลายเป็นรูปแบบนิกายใหม่ที่ชื่อว่า ฉาน ( ฌาน ในภาษาสันสกฤต )
ในปี ค.ศ. 536 มีการแสดงธรรมครั้งใหญ่ขึ้นที่อารามเส้าหลิน โดยแสดงหลักธรรม ลังกะวัทระสูตร ( 楞伽師資記 ) มีภิกษุและเหล่าผู้มีความรู้เข้าร่วมมากมาย และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของนิกายฉานนับแต่นั้นเป็นต้นมา ต่อมาพระโพธิธรรมได้รับการแต่งตั้งจากราชสำนักเป่ยเว่ย ให้เป็น พระสังฆปรินายกองค์แรกแห่งนิกายฉาน
เมื่อถ่ายทอดพระธรรมและองค์ความรู้ต่างๆแก่เหล่าศิษย์สำเร็จ ท่านจึงเดินทางออกจากวัดเส้าหลินและไปมรณภาพที่ด่านอี่ว์เหมิน (禹門) จากการที่พระโพธิธรรมนั่งหันหน้าเข้าผนังทำสมาธิอยู่ในถ้ำถึง 9 ปีนั้นทำให้บนผนังเกิดอภินิหารเป็นรอยเงาของท่านติดตรึงอยู่ ภายหลังจึงเรียกกันว่า ถ้ำตั๊กม้อ (达摩洞)
ในส่วนวิทยายุทธ์ที่ปรมาจารย์ตั๊กม้อคิดค้นขึ้นนั้นก็มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ท่านเห็นว่าวัดเส้าหลินนี้ตั้งอยู่ ณ หุบเขาซงซาน ซึ่งเป็นป่าทึบที่ชุกชุมไปด้วยสัตว์เดรัจฉานน้อยใหญ่ การที่บรรดาภิกษุต้องนั่งสมาธินานๆ โดยไม่ได้ออกกำลังกายจะทำให้สุขภาพร่างกายเสื่อมทรุดได้ ดังนั้นท่านจึงพินิจการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของสัตว์ชนิดต่างๆ และดัดแปลงนำมากำหนดเป็นท่าร่างเพื่อการออกกำลังกายและใช้ป้องกันตัว
นอกจากนี้พระโพธิธรรมยังผสานองค์ความรู้ด้านการกำหนดลมหายใจ ตามแนวทางปฏิบัติในคัมภีร์อุปนิษัท ที่มีการฝึกฝนมาอย่างยาวนานของอินเดีย มาพัฒนาเป็นรูปแบบวิชาด้านกำหนดลมปราณในแบบเส้าหลิน และได้พัฒนาเป็นศาสตร์เน่ยเจียในปัจจุบัน ในตำนานยังกล่าวอีกว่ายังมีคัมภีร์ยุทธที่ว่ากันว่าคิดค้นโดยพระโพธิธรรม คือ คัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น
แต่ก็มีหลักฐานที่แย้งกันว่า เดิมทีเหล่าสานุศิษย์บางท่านมีพื้นฐานด้านศิลปะการต่อสู้อยู่แล้ว แต่ได้รับการพัฒนาจากพระโพธิธรรม จึงกลายมาเป็นมวยเส้าหลินถึงปัจจุบัน
บทความ คัมภีร์เซ็นของตั๊กม้อ : อ้างคัมภีร์มิสู้ละวางคัมภีร์ โดย เอื้อ อัญชลี หนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 พฤษภาคม 2553 ปีที่ 30 ฉบับ 1552
รัฐศาสตร์ถังไท่จง โดย ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้