1.
เอาจริงๆ นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันได้เดินทางมาเยือนจังหวัดร้อยเอ็ดแบบค้างคืน คือที่ผ่านมาแค่แวะชมนั่นชมนี่ประเดี๋ยวประด๋าว แค่คราวนี้มาจริง มาเต็ม หรือจะบอกว่า ตั้งใจมาเกิน 100 ก็ได้ (ใช่สิก็ตั้งใจมา 101 นี่)
เคยนึกสงสัยกันมั้ยว่าทำไมจังหวัดนี้ชื่อ "ร้อยเอ็ด" ฉันเคยนะ เพราะถ้าดูจากจังหวัดรอบข้างทุกแห่งมีชื่อเสียงเรียงนามเพราะพริ้งเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็น มหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ยโสธร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร แต่ "ร้อยเอ็ด" ฟังกี่ครั้งๆ ก็ดูแข็ง ห้วน
อย่ามัวแต่สงสัยอยู่เลย เรามาคลายความข้องใจนั้นกันดีกว่า
ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ระบุว่า บริเวณที่ตั้งจังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน เดิมเป็นเมืองใหญ่ที่มีชื่อว่า "สาเกตนคร" หรือ "เมืองร้อยเอ็ดประตู" ความเจริญรุ่งเรืองของเมืองสาเกตนครสามารถวัดได้จากจำนวนเมืองขึ้นที่มีมากถึง 11 เมือง(11 ประตู) หลายข้อมูลบอกว่า สมัยโบราณนิยมเขียนสิบเอ็ด เป็น 101 คือ สิบกับหนึ่ง จึงเป็นที่มาของชื่อเมือง ซึ่งถ้าฟังตามนี้ก็ดูสมเหตุสมผลดี แต่ก็มีนักวิชาการที่เห็นแย้งกับเรื่องนี้ โดยมีหลักฐานเป็นตัวอักษรธรรมในต้นฉบับใบลานตามตำนานอุรังคธาตุ(คำบอกเล่าความเป็นมาของพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม) ที่จารเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองสาเกตนครไว้เป็นตัวอักษรทั้งหมด และไม่มีจุดไหนเลยที่เขียนเป็นตัวเลข นั่นแปลว่า ร้อยเอ็ดที่มาจาก 10+1 จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง
สมมติฐานที่ว่า 10+1 เป็นอันตกไป ทีนี้ลองมาดูข้อมูลของกรมศิลปากรกันดีกว่า (อันนี้น่าจะจริงแท้) โดยมีรายละเอียดอยู่ในเอกสาร "ชื่อบ้านนามเมือง...ร้อยเอ็ด" ระบุว่า ร้อยเอ็ด ตรงกับคำว่า ทวารวดี
“ในตำนานอุรังคธาตุ กล่าวว่าเมืองร้อยเอ็ดประตูมีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น 101 เมือง การใช้จำนวนประตูเมืองมากมายนั้นเป็นความหมายแสดงถึงอำนาจที่แผ่ขยายกว้างไกลออกไปทุกทิศทาง โดยคติดังกล่าวนี้น่าจะมีที่มาจากอินเดีย ดังเช่นชื่อ ทวารวดี เมื่อแปลตามรูปศัพท์แปลว่าเมืองที่มีประตูเป็นกำแพง (ทวาร-ประตู และ วติ-รั้ว, กำแพง) และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับชื่อเมืองร้อยเอ็ดประตู ก็จะให้ความหมายถึงการเป็นเมืองศูนย์กลางที่มีอำนาจครอบคลุมออกไปโดยรอบทุกสารทิศเช่นเดียวกัน"
ฉะนั้นชื่อ "ร้อยเอ็ดประตู" จึงน่าจะเป็นชื่อมงคลที่หมายถึงเมืองที่มีอำนาจแผ่ขยายกว้างไกลออกไปทุกทิศทางมากกว่าจะเป็นเมืองที่มีประตูมากถึง 101 ประตูจริงๆ
แค่ชื่อจังหวัดก็สนุกแล้วใช่มั้ย แต่จะบอกว่า ถ้าได้ศึกษาประวัติศาสตร์เมืองลงลึกกว่านี้จะสนุกยิ่งกว่า ถ้ามีเวลาไม่มากแนะนำให้แวะไปที่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติร้อยเอ็ด จะเห็นเส้นทางของเมืองสาเกตนครแบบครบถ้วน
2.
เสื้อคลุมตัวเดียวไม่อยู่จริงๆ ฉันต้องไปรื้อเป้อีกครั้งเพื่อหาผ้าพันคอ เพราะบริเวณ บึงพลาญชัย ลมแรงใช่เล่น
ยึดเอาฤกษ์ดี มาเมืองนี้เลยต้องแวะมาไหว้ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ที่ตั้งอยู่ริมบึงน้ำกันก่อน ว่ากันว่า ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเป็นศาลคู่บ้านคู่เมืองของชาวร้อยเอ็ด ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมาก ไม่ว่าใครมาขอพรอะไรเป็นได้สมใจหวัง ไม่ได้โลภมาก แต่ก็อยากสมปรารถนา ว่าแล้วฉันก็ซื้อเทียนดอกไม้ไปบูชาศาลเจ้าพ่อหลักเมืองทันที
สำหรับบึงพลาญชัย เป็นบึงขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองร้อยเอ็ด คล้ายๆ กับบึงแก่นนคร จังหวัดขอนแก่น หรือหนองประจักษ์ จังหวัดอุดรธานี บึงนี้มีขนาดใหญ่และกลายเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัดไปแล้ว เพราะนอกจากจะเป็นสวนหย่อมเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ งานเทศกาลใหญ่ๆ หรือมีมหรสพอะไรของจังหวัดก็มักจะมาจัดงานกันที่นี่ เรียกว่า เป็นแลนด์มาร์คอีกแห่งของร้อยเอ็ดเลยทีเดียว
ร้อยเอ็ดเป็นเส้นทางแสวงบุญอีกแห่งหนึ่งของพุทธศาสนิกชน โดยมีวัดสำคัญๆ มากมาย อย่างในตัวเมืองก็มีวัดเก่าแก่หลายวัด อย่างเช่น วัดกลางมิ่งเมือง ที่ตั้งอยู่บนถนนเจริญพาณิชย์ เป็นวัดเก่าที่สันนิษฐานกันว่าสร้างมาก่อนเมืองร้อยเอ็ดเสียอีก แต่อุโบสถนั้นสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย ความสำคัญคือในอดีตเคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาด้วย
ขยับมาไม่ไกลกันเป็นที่ตั้งของ วัดบูรพาภิราม วัดนี้เด่นมากขอบอก เพราะเราจะเห็นพระพุทธรูปปางประทานพรที่สูงที่สุดในประเทศไทยมาแต่ไกล วัดนี้เดิมชื่อหัวรอ แต่มาเปลี่ยนเป็นบูรพาภิรามในภายหลัง เห็นชื่อ "หัวรอ" แล้วก็ชวนสงสัยอีกครั้งเกี่ยวกับชื่อบ้านนามเมือง เพราะฉันเคยได้ยินชื่อ "หัวรอ" ที่เป็นทั้งหมู่บ้าน วัด โรงเรียน ตำบล และใช้กันทั่วไปทุกภูมิภาค จนอดแปลกใจไม่ได้ว่า หัวรอเป็นศัพท์สากลของชาวไทยหรือเปล่า
พอค้นไปค้นมาก็มาอ๋อตรงที่ว่า หัวรอเป็นคำไทยจริงๆ นั่นแหละ หมายถึง ทำนบหรือคันดินกันกระแสน้ำ ถ้าถิ่นไหนใช้ชื่อหัวรอ แปลว่าที่นั่นต้องมีแม่น้ำ แต่หัวรอในความหมายของวัดที่ร้อยเอ็ดไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะแม้จะเป็นคำไทยเหมือนกัน แต่ในที่นี้ใช้แยกคำ คือ "หัว" ในที่นี้หมายถึง เริ่มหรือแรก ส่วน "รอ" ก็ตรงตัวเลย คือ รอหรือคอย พอรวมกันเป็น "หัวรอ" จึงหมายถึง สถานที่แรกที่ใช้สำหรับรอคอย
ทีนี้พอมาโยงกับประวัติวัดหัวรอ ที่ในอดีตเคยเป็นจุดพักแรมแรกของชาวบ้านที่จะเดินทางไปค้าขาย ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดหัวรอ แต่พอมีการขยับขยายพื้นที่วัดให้กว้างขวางขึ้น จึงเปลี่ยนมาใช้ วัดบูรพาภิราม เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง
พานอกเรื่องไปไกล กลับมาชมสิ่งสำคัญในวัดกันดีกว่า อย่างที่บอกว่า วัดนี้เด่นที่พระพุทธรูปยืน ซึ่งเป็นปางประทานพร มีชื่อว่า พระพุทธรัตนมงคลมหามุนี หรือหลวงพ่อใหญ่ สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กเมื่อปี 2516 ความสูงวัดจากพระบาทถึงยอดพระเกศสูงถึง 59 เมตร 20 เซนติเมตร และมีความสูงทั้งหมด 67 เมตร 85 เซนติเมตร จริงๆ ชาวบ้านตั้งใจจะสร้างให้สูง 101 ศอก ตามชื่อจังหวัด แต่สร้างไปสร้างมากลายเป็น 118 ศอกไปได้ แต่ไม่เป็นไร ยังไงก็เป็นจุดเด่นและเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนทั่วไป
มาถึงแล้วอยากให้แวะไปชมพิพิธภัณฑ์ที่อยู่บริเวณฐานองค์พระด้วย หรือจะแวะไปไหว้ศาลเจ้าพ่อมเหศักดิ์ที่ชาวเมืองให้ความเคารพนับถือ ส่วนภายในบริเวณวัดนี้ยังมีโรงเรียนปริยัติธรรม และศูนย์งานพระธรรมทูตอยู่ด้วย ถือว่าเป็นวัดที่ใหญ่มากจริงๆ
|