แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย oustayutt เมื่อ 2016-12-15 21:07
เป็นที่รับรู้กันในวงกว้างว่า ในบรรดาพระป่าสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ส่วนมากให้ความนับถือพระคาถาบทหนึ่ง คือพระคาถาโมรปริตร หรือชาวบ้านทั่วไปเรียกกันว่า 'พระคาถานกยูงทอง' ตามที่พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้สั่งสอนไว้
ซึ่งปรากฏความในชาดก ว่าสมัยที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนกยูงทอง ก่อนออกไปหากินในตอนเช้า จะต้องสวดโมรปริตรเสียก่อน และพอกลับมาในตอนเย็น ก็จะต้องสวดโมรปริตรอีกครั้งหนึ่ง ด้วยอำนาจแห่งโมรปริตรนั้น จึงทำให้นกยูงทองแคล้วคลาด จากภยันตรายทั้งปวง
กล่าวกันว่า ครั้งหนึ่ง พระเจ้าพรหมทัต สั่งให้จับนกยูงทองมาถวาย เพราะพระอัครมเหสีใคร่จะทอดพระเนตร พวกนายพรานถึงแม้ว่าจะวางกับดักเพื่อจะจับนกยูงทองอย่างไรก็ตาม แต่ก็หาสำเร็จไม่ บางครั้งพอนกยูงทองเข้ามาใกล้เครื่องดักเหล่านั้น ก็มีอันทำให้เครื่องดักเหล่านั้นล้มระเนระนาดลงไปเอง ดูเป็นที่น่าอัศจรรย์ ทั้งนี้ ก็เป็นด้วยอานุภาพแห่งโมรปริตรที่นกยูงทองได้ สวดทุกเช้าค่ำนั่นเอง
ฝ่ายพระอัครมเหสีของพระเจ้าพรหมทัต เมื่อไม่ได้ทอดพระเนตรนกยูงทองตามประสงค์ก็เสด็จทิวงคต ทำให้พระเจ้าพรหมทัตรู้สึกขัดเคืองพระราชหฤทัยเป็นที่ยิ่ง ด้วยทรงเห็นว่านกยูงทองเป็นต้นเหตุทำให้มเหสีของพระองค์ต้องมาถึงแก่ความตาย จึงหาอุบายที่จะฆ่านกยูงทองเสีย โดยได้แกล้งจารึกลงไปในแผ่นทองว่า...
"ถ้าผู้ใดได้กินเนื้อของนกยูงทอง ผู้นั้นจะไม่รู้จักแก่ ไม่รู้จักเจ็บ ไม่รู้จักตายเลย"
เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว กษัตริย์องค์ต่อๆ มาเมื่อพบคำจารึกนั้น ต่างก็ให้พวกนายพรานไปพยายามจับนกยูงทองตัวนั้นมาให้ได้ แต่กาลล่วงเลยมาถึง 7 ช่วงกษัตริย์ ก็ยังจับนกยูงทองนั้นไม่ได้ ทั้งนี้ ก็เป็นด้วยอานุภาพของโมรปริตรคอยคุ้มครองป้องกันภัยให้กับนกยูงทองตัวนั้นอยู่
จวบจนกระทั่งมาถึงกษัตริย์องค์ที่ 7 จึงได้มีนายพรานคนหนึ่ง ได้นำนางนกยูงไปล่อให้นกยูงทองนั้นลงมาที่เชิงเขา นกยูงทองพอได้ยินเสียงนางนกยูงร้องก็หลงใหลไปด้วยอำนาจแห่งกิเลส จึงลืมระลึกถึงมนตร์โมรปริตรดังที่ได้เคยปฏิบัติมา ผลปรากฏว่านกยูงทองเกิดไปติดบ่วงที่นายพรานดักไว้ และถูกจับไปถวายพระราชาในที่สุด
เมื่ออยู่ต่อหน้าพระราชา นกยูงได้ทูลถามถึงสาเหตุที่ทรงให้ดักจับ พระราชาก็ตรัสเล่าตามที่ปรากฏในคำจารึกนั้น นกยูงทองจึงทูลว่า "ทำไมพระองค์จึงทรงเชื่ออย่างนั้น ถ้าเนื้อของข้าพเจ้าวิเศษถึงกับทำให้คนกินไม่แก่ ไม่ตายจริงแล้ว ตัวข้าพเจ้าเองก็คงไม่ตายน่ะสิ แต่นี่ข้าพเจ้าเองยังต้องตาย ไฉนผู้กินเนื้อของข้าพเจ้าจะไม่ตายเล่า"
หลังจากนกยูงทองได้เตือนสติพระราชาแล้ว ก็ได้แสดงให้เห็นอานิสงส์ของการไม่เบียดเบียนสัตว์ จนพระราชาเกิดความเลื่อมใส รับสั่งให้ปล่อยนกยูงทองไป และทรงออกหมายประกาศมิให้ผู้ใดทำร้ายสัตว์ในพระราชอาณาเขตของพระองค์อีกต่อไป
เราจะเห็นได้ว่า ถึงแม้นกยูงทองจะถูกจับได้เพราะลืมสาธยายมนตร์ แต่อาศัยที่ได้เคยสาธยายมนตร์โมรปริตรมานาน จึงได้บันดาลให้ถูกปล่อยตัวในที่สุด ดังนั้น จึงเชื่อกันว่ามนตร์บทนี้มีผลทำให้ผู้สวดเกิดการแคล้วคลาดจากสรรพภัยภิบัติทั้งมวล
000
อย่างที่บอกไปแล้วว่า พระอาจารย์มั่น ท่านสั่งสอนคณะศิษย์ทั้งหลายว่าให้หมั่นสวดภาวนาพระคาถาบทนี้เสมอจะได้แคล้วคลาดจากภัยอันตราย และเคยมีชาวบ้านคนหนึ่ง คือคุณครูหนูไทย สุพลวานิช ชาวบ้านหนองผือ เคยเล่าเอาไว้ว่า ท่านเคยนำแผ่นทองคำไปให้พระอาจารย์มั่นทำตะกรุดให้ และมีคนนำของท่านไปยิงปืนใส่ ปรากฏว่ายิงไม่ออก
ภายหลังต่อมาบางคนทราบข่าวจึงพากันไปขอจากท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัด ส่วนมากจะได้เป็นแผ่นผ้าลงอักขระคาถาด้วยยันต์ สำหรับตะกรุดแผ่นทองคำนั้นไม่ค่อยมี เพราะแผ่นทองคำสมัยนั้นหายาก และราคาแพงมาก ต่อมาไม่นานท่านพระอาจารย์มั่น คงเห็นว่ามากไปจนเกินเลย จึงบอกให้เลิก
ท่านบอกว่า พวกตะกรุดยันต์ ผ้ายันต์ เหล่านั้น นั่นมันเป็นของภายนอก สู้เอาคาถาบทนี้ไปบริกรรมแนบกับใจไม่ได้ ให้บริกรรมทุกเช้า-ค่ำจนขึ้นใจ แล้วจะปลอดภัย อันตรายต่างๆ จะไม่มากล้ำกรายตัวเราได้เลย
ครับ-สำหรับพระคาถาพญานกยูงทอง จึงเป็นพระคาถาที่พระกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่นนิยมใช้ โดยเฉพาะผูกเป็นยันต์ในเหรียญที่ทำแจกของพระคณาจารย์สายนี้ อย่าง พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ท่านได้ใช้หัวใจคาถาพญานกยูงทอง มาจารึกไว้ที่ด้านหลังวัตถุมงคลของท่านแทบทุกรุ่น
ทั้งนี้เพราะท่านถือว่า คาถาพญานกยูงทองมาจากบทสวดมนต์ที่เรียกว่า 'โมรปริตร' อันมีอยู่ในบทสวดมนต์ 7 ตำนานอันเก่าแก่ และเป็นหลักในการเจริญพระพุทธมนต์ตลอดมา
000
และเมื่อไม่นานมานี้ ญาคูจุณฑ์ แห่งวัตรป่าเจ้าสัว ท่านก็นำพระคาถาบทนี้มาทำตะกรุดพุทธโธคุ้มภัย แจกทหาร-ตำรวจและประชาชนทั่วไป แต่แผ่นยันต์ทองคำนั้นสร้างเพียง 108 แผ่น หุงไว้ในน้ำมันผสมผงพุทธคุณวิเศษ โดยมอบให้กับศิษย์ผู้ใกล้ชิดเท่านั้น
ซึ่งพระคาถาหัวใจพญานกยูงทอง มีอยู่ว่า
'นะโม วิมุตตานัง'
(ขอความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่ท่านผู้บริสุทธิ์ถึงพร้อมด้วยการหลุดพ้นแล้วทั้งหลาย)
'นะโม วิมุตติยา'
(ขอความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่วิมุตติธรรม คือธรรมอันเป็นทางหลุดพ้นทั้งหลาย) ......................................................................................
http://www.nationweekend.com/hom ... %88%E0%B8%87!!.html |