ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต วัดบรรพตคีรี(วัดภูจ้อก้อ) ~

[คัดลอกลิงก์]
73#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สมัยพุทธกาล เก็บศพไว้กี่วัน

สิ่งที่ควรวิจัยแบ่งเบาเรื่องศพ ๆ เส็บ ๆ อีก ครั้งพุทธกาล วัดป่าเชตวันมหาวิหารนั้น มีการเผาศพพระศพเณรอยู่ไม่เว้นแต่ละวันกระมัง ถ้าหากว่าเก็บศพไว้ก็คงไม่มีโกดังพอ พระอัญญาโกณฑัญญะปรินิพพานที่สระฉัททันต์ ช้างป่าทำฌาปนกิจ ช้างเขาเก็บศพองค์ท่านไว้กี่วันไม่ทราบได้ และช้างเขาไปนิมนต์พระที่ไหนมาให้กุสลาก็ไม่ทราบได้ เพราะเรียนน้อยรู้น้อยพลอยรำคาญ พระมหาสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ ปรินิพพานก่อนสมเด็จพระบรมศาสดา องค์ท่านพาคณะสงฆ์และญาติโยมเก็บศพไว้กี่วันก็ไม่ทราบได้ ไม่ปรากฏชัดอีก พระราหุลไปปรินิพพานที่ดาวดึงส์ เทวดาเก็บศพไว้กี่วันไม่ทราบอีก เทวดาทำบุญอุทิศด้วยอาหารทิพย์หรือไม่ ไม่ทราบอีก

มีปัญหาว่า นั้นมันเรื่องของพระอรหันต์ทั้งหลาย เราจะเอามาเทียบไม่ได้หรอก

ตอบทันทีว่า นั้นแหละพระอรหันต์ทอดสะพานไว้ให้ปวงชาวโลกผู้จะสืบไปข้างหน้า พระบรมศาสดา เจ็ดวันจึงถวายพระเพลิง แต่ถึงกระนั้น มัลลกษัตริย์ก็เวียนถวายพระเพลิงก่อนหลายครั้งแล้ว แต่ไม่ติด เพราะเทวดาบันดาลมิให้ไฟติด เพราะคอยพระมหากัสสปะกำลังเดินทางมาจะถวายบังคมพระพุทธสรีระ พร้อมด้วยบริวาร ๕๐๐ องค์

แต่ผู้เขียนนี้ เมื่อตายแล้วคงจะถูกคอยพระมหากัสสะเหม็นก็อาจเป็นได้ แต่ได้ทำพินัยกรรมไว้แล้ว ไม่ให้คอยท่านผู้ใด คอยเพียงเอาฟืนเสร็จเท่านั้น กุสลาก็ไม่ต้องว่า อนิจจาก็ไม่ต้องเอ่ยให้ เพราะได้เรียนไว้แล้ว ตายอยู่วัดป่า กะโลงก็ไม่ต้องทำ เพราะไม่ได้ชู ไม่ได้หามผ่านบ้านท่านผู้ใด เว้นไว้แต่ตายอยู่ที่อุจาดเท่านั้น

ตายเวลาเช้าก่อนฉันจังหัน บิณฑบาตฉันเสร็จแล้วก็เผา เว้นไว้แต่มีอุปสรรคฝนตกมาก หรือเว้นไว้แต่กลางคืนหาฟืนไม่ทัน เชื่อแน่ว่าประเทศไทยมิได้อดฟืน ถ้าเอาเงินเผาเท่าใดก็ไม่พอง่าย เพราะเมืองพอในตัวเงินไม่มี ความเลี้ยงชีวีเนื่องด้วยท่านผู้อื่นจิปาถะ จะเอาศพไว้เป็นโล่เพื่อล้วงกระเป๋าผู้อื่น เรียกว่าตายร้อน เพราะเดือดร้อนท่านผู้อื่น ไม่ใช่ตายเย็น ร้อนทั้งพระหนุ่ม พระแก่ เณรน้อยคอยเฝ้าศพ ฉันก็ไม่อร่อย นอนก็ไม่หลับ

มีปัญหาว่า มันเป็นเรื่องของผู้อยู่ข้างหลัง ตอบจัง ๆ ว่ามันเป็นเรื่องเจ้าตัวจะสั่งเสียไว้ด้วยความจริงใจ มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นผู้ไม่รอบคอบในอนาคต ทำความยุ่งเหยิงให้ผู้อยู่ข้างหลังลังเล ถ้ามีผู้ติเตียนผู้อยู่ข้างหลังว่าใจคับแคบจืดจางเกินไป เขาก็มีพินัยกรรมออกอ้างอย่างสมบูรณ์ ถ้าพินัยกรรมแต่ปากเปล่า ๆ คำผู้เล่าอาจลบเลือน หากยิ่งเป็นลายมือของผู้ตายเขียนไว้เองโดยไม่ถูกข่มเหง หรือผู้อื่นมาล่อให้เขียน ก็ยิ่งเป็นจริงขึ้น เพราะเขียนด้วยศรัทธาอันจริงใจล้าน ๆ เปอร์เซ็นต์ และก็เป็นมรณสติ ไม่ประมาทว่าตนจะไม่แตกไม่ตายด้วย จึงสมฐานะของผู้ไม่มักใหญ่ใฝ่สูงในเรื่องศพ ๆ เส็บ ๆ ด้วยเพราะไม่ใช่ปลา ไม่ใช่เนื้อที่ผู้อยู่ข้างหลังจะแบ่งกันไปทำปลาร้าปลาเจ่า ปิ้งแกงแบ่งแจกปลาแดกและน้ำปลาได้

หันมาปรารภเรื่องศพฆราวาสครั้งพุทธกาล เรื่องนางปฏาจารา บิดามารดาของนางเป็นเศรษฐี ท่าน ๆ ใคร ๆ ย่อมรู้ดีในธรรมบท พากันตายสด ๆ พร้อมกันในวันเดียวหลายคน บันคลบันดาล ลมพัดปราสาทหักตอนกลางคืน ตื่นเช้ากินข้าวเสร็จก็เผาในเชิงตะกอนเดียวกัน ๓-๔ ศพ และสามีของนาง ลูกของนางสองคนอีก สามีของนางงูกัดตายคาที่ ทิ้ง(ไว้)กับที่ มิได้เผาฝัง ลูกคนเล็กเหยี่ยวเอาไปฝังไว้ในท้องมันสด ๆ ลูกคนโตตกน้ำอจิรวดี น้ำพัดไปไม่เห็นศพ นางเสียจริตพิศวงจนถึงกับเป็นบ้า เปลือยกาย สุดท้ายก็ได้บวช สำเร็จพระอรหันต์ เรื่องศพทั้งหลายก็หายกังวล เพราะเผาศพกิเลสของตนจนเสร็จสิ้นก่อนตาย ถ้าเขียนไปหลายหลายเป็นเถรีประวัติ แต่เป็นการเทียบชัดที่เก็บศพไว้นาน หรือถูกกล่าวตู่ว่าครั้งพุทธกาลเป็นครั้งล้าสมัย แต่ยุคปัจจุบันจะลากสมัยก็อาจเป็นได้
72#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ข้าพเจ้านักสังเกตอยู่ว่า องค์ท่านจะพาสวดมนต์เป็นพิธีไล่ผีหรือไม่หนอ แล้วเลยเห็นท่านไม่เกี่ยวไม่ยุ่ง และก็นึกในใจว่า หลวงปู่นี้เด็ดเดี่ยวมากหาผู้เทียบได้ยากในสมัยปัจจุบัน ไม่แอบเอารายได้กับศพ ๆ เส็บ ๆ ของลูกศิษย์เลย เชื่อกรรมและผลของกรรมที่คนทำเอาเอง อันยังมีชีวิตอยู่จริง ๆ แม้พี่ชายของท่านผู้มรณภาพก็มาถึงแต่หลายวันแล้ว คือโยมแพงบ้านโคกนามน พระอาจารย์เนียมก็คนบ้านโตกนามน จังหวัดสกลนครนั้นเองไม่ใช่อื่นไกลเลย และหลวงปู่มั่นปรารภเปิดเผยต่อพระเณรในยุคนั้น ขณะนั้นว่า

“ท่านเนียมเป็นพระโสดาบันแล้ว ไปเกิดชั้นหก อาภัสรา”

ข้าพเจ้าก็คอยสังเกตอีกว่า องค์หลวงปู่จะทำประการใดหนอจะประกาศญาติโยมหรือประการใดหนอ ว่าเดี๋ยวนี้พระมรณภาพ อาตมาจะพาทำบุญอุทิศ ท่านผู้ใดจะมีศรัทธายังไงก็สมทบทุนกัน องค์ท่านก็เงียบเลย แต่บอกโยมแพงอันเป็นโยมพี่ชายของพระอาจารย์เนียมว่า

“โยมแพงอยากได้กระดูกก็ไปเอาเสียเน้อ อาตมาไม่เอาดอก เพราะอาตมาไม่อดกระดูก อาตมามีแต่จะทอดอาลัยในกระดูกนั้นแหละ โยมอดกระดูกก็ไปเอาซะ”

โยมแพงกราบเรียนว่า

“เกล้าก็ไม่เอาดอก เกล้าก็ไม่อดเหมือนกัน”

แท้จริงนั้นโยมแพงลงมติของหลวงปู่มั่นทุกกรณีแบบราบคาบมาแต่นมนานแล้วไม่จืดจาง

ท่านผู้อ่าน ท่านผู้ฟังคงไม่สนิทใจในตอนนี้ แต่ผู้เขียนสนิทใจอยู่จึงได้กล้าเขียนไว้ ถ้าไม่เขียนไว้ประวัติอันสำคัญจะไม่ยังคงที่ จะลบเลือนไป ถึงโลกปัจจุบันจะเป็นปัญหายุ่งเหยิงในส่วนนี้ก็ลงเอยอยู่กับปฏิปทาแต่ละรายของบุคคล หลวงปู่มั่นมิได้คืนมาต่อสู้อธิกรณ์ เอาแพ้เอาชนะด้วย

ผู้เขียนตีความหมายว่าหลวงปู่มั่นมิได้ประมาทในการกุศลอุทิศเลย ไม่ได้หวังว่าจะทำลัทธิการกระทบกระเทือนชาวพุทธทั่วไป ไม่ได้ทำด้วยความคับแคบสะเพร่า ไม่รอบคอบ ความจริงใจขององค์ท่านแยบคายไม่ชอบวิวุ่น ทอดสะพานให้ฝ่ายพระธุดงค์กรรมฐานโต้ง ๆ เชื่อกรรมและผลของกรรมที่คนทำไว้ก่อนตาย อัตตา หิ อัตตโน นาโถ โดยแท้ เพราะจะได้สมฐานะกับคนที่แบกกลดสะพายบาตรขึ้นเขาลงห้วย ฉันในบาตรปร๋อ แสวงอยู่ป่าปร๋อ เดินจงกรมภาวนา ปรารภแต่มรรค ผล นิพพานปร๋อ เหล่านี้เป็นต้น และเรื่องที่ผู้เขียน ผู้อ่าน ผู้ฟังจะพิจารณาแบ่งเบาอีกก็มากมายนักหนา

ผู้รีบเร่งพากเพียรเพื่อพ้นทุกข์ในสงสารก็เป็นการทำบุญอุทิศให้ตนเองและทั่วทั้งไตรโลกา อยู่แบบตรง ๆ แล้ว และก็เป็นมหาทอดสะพานให้ชาวโลกอยู่โดยตรง ๆ แล้ว การประพฤติเด็ดเดี่ยวเป็นเครื่องเหนี่ยวใจของท่านผู้ต้องการพ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติ

การเห็นภัยในสงสารขณะจิตเดียว ประเสริฐกว่าการเห็นเพลินในสงสารล้าน ๆ ขณะจิต การนอนใจในโลก กับการนอนใจในหลุมถ่านเพลิงกิเลสก็คงมีความหมายและรสชาติอันเดียวกัน แต่ก็เป็นการเบื่อหูของผู้ไม่สนใจอีกละ ผู้ทำดีหวังดี ก็มีผู้หวังชั่วทำชั่ว มาเป็นอุปสรรค ผู้ทำชั่วหวังชั่ว ก็มีผู้ทำดีหวังดี มาเป็นอุปสรรคกัน แต่ผลรายรับนั้นต่างกันมาก และเหตุไปทางดีและทางชั่วนั้นขึ้นอยู่กับผู้จะเลือกเฟ้นถูก

ผู้ไม่รอบคอบในเหตุ ไม่มีประตูจะรอบคอบในผล ผู้ไม่รอบคอบในผล ก็ไม่มีประตูจะรอบคอบในเหตุได้ ผู้รอบคอบในเหตุก็คือผู้รอบคอบในผล ผู้รอบคอบในผล ก็คือผู้รอบคอบในเหตุ เพราะโยงถึงกันคระจ่างชัดเฉพาะตน ไม่ลำบากใจด้วย ไม่ว่าเหตุผลตอนไหนๆ
71#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ธรรมะขององค์ท่านส่วนอื่น ๆ อเนกปริยายก็ตาม ตลอดข้อวัตรปฏิบัติอันเด็ดเดี่ยว ที่ทำ(เพื่อ)ส่วนตัวองค์ท่านก็ตาม (หรือ)เพื่อทอดสะพานให้อนุชนรุ่นหลังก็ตาม ย่อมเป็นเมืองขึ้นของคำที่องค์ท่านเทศน์ว่า

“ไม่ว่าธรรมส่วนใด ถ้าสำคัญตนว่าเสวย เป็นอันผิดทั้งนั้น”

เมื่อกล่าวว่า ธรรมส่วนใด ก็เป็นอันกล่าวถึง จิตส่วนใด อยู่ในตัว ผู้รู้ส่วนใด อยู่ในตัวอีกด้วย ญาณส่วนใด อยู่ในตัวอีกด้วย ส่อแสดงให้เห็นว่าทำลายอุปาทานในตัวแล้ว

ย้อนมาปรารภสับสนปนเปกันไปอีก เพราะนึกเห็นได้ จำได้อันใด ก็เขียนกันลงไป ไม่ต่ออนุสนธิเป็นระเบียบ สับสนอลหม่าน เพราะไม่ชำนาญในการแต่งและการเขียน และก็คงไม่ได้ไปตรวจเอาคะแนนในสนามโลกใด ๆ ทั้งสิ้นเลย

หลวงปู่มั่นเผาศพอาจารย์เนียม

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ นั้นเอง เป็นเดือนพฤษภาคม แรม ๗ ค่ำ เวลาเช้าบิณฑบาตมาถึงวัดแล้ว กำลังเตรียมจะแต่งบาตรฉัน พระอาจารย์เนียมมีพรรษาล่วงไป ๑๘ พรรษา องค์ท่านป่วยมานานประมาณ ๑ เดือนกว่า องค์ท่านตั้งเตียงพักอยู่โรงจงกรมเก่าของหลวงปู่มั่นใกล้กับศาลาฉันอาหารประมาณ ๗-๘ วา ได้สิ้นลมปราณไปแบบสุภาพ ไม่มีสกลกายกระดิกหรือเคลื่อนไหวอันใด ปรากฏเห็นแต่ลมเบาไป หมดไป เท่านั้น งามมาก น่าเคารพมาก น่าเลื่อมใสมาก ไม่อั๊ก ไม่แอ็ก ไม่ยักคิ้ว ยักสบปาก ยักจมูก หลับตาสุภาพอยู่ ผู้เขียนได้เห็นกับตา พิจารณากับใจ พระอาจารย์มหาบัวก็ได้เห็นด้วย

หลวงปู่มั่นอยู่ศาลาก็ทราบย้ายเพราะได้กราบเรียนแล้ว หลวงปู่มั่นปรารภว่า

“เออ ท่านเนียมก็ไปแล้วในส่วนสิ้นลมปราณ เธอเล่ากับเราบ่อย ๆ ว่ารู้จักวิธีภาวนาแห่งสมมุติแล้ว พวกเธอมาศาลา ฉันเช้าซะ ปล่อยให้อยู่นั้นเสียก่อน ฉันเสร็จแล้ว เก็บบริขารแล้ว จึงพูดกันใหม่”

แล้วก็ปล่อยไว้ไม่มีใครเฝ้าอยู่ดอก เมื่อฉันเสร็จ ขนบริขารขึ้นกุฏิเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่มั่นเดินมาจากกุฏิองค์ท่าน พอมาถึงศพ ก็ก้มลงจับเสื่อสองมือทั้งมือซ้ายและมือขวาทางหัวศพพร้อมทั้งกางขาออกแบบขึงขัง พร้อมทั้งปรารภว่า “

“พวกเรานี้มันขี้โง่ พากันเกิดมาตายเล่นเผากันเล่นอยู่” พอตกบทคำปรารภ พระอาจารย์มหาว่า “ถ้าจะเอาจริง ๆ พวกเกล้าพากันเอาดอก”

ว่าแล้วยกมือใส่หัว แกะมือหลวงปู่ออก หลวงปู่ตอบว่า “เราไม่ใช่จะทำเล่นดอก”

ทีนี้พระก็รุมกันจับเสื่อโดยรอบศพเป็นวงรอบ พระพวกผู้ใหญ่อยู่ทางหัวศพ พระผู้ขนาดกลางก็อยู่ระหว่างกลางตัวศพ พวกพระผู้น้อยก็อยู่ทางเท้าศพ ชูกันไปถึงริมวัดทิศตะวันออกเฉียงใต้ในเขตบริเวณวัด หลวงปู่มั่นปรารภว่า

“ไปบอกโยมบ้านหนองผือว่า หลวงปู่จะพาเผาพระอาจารย์ด่วนเดี๋ยวนี้”

แล้วก็บอกเณร ตาปะขาว และพระว่า “เอ้า รีบเอาฟืนโดยเร็ว”

ต่างก็รีบเอาฟืนโดยเร็ว พระเอาไม้ตาย เณร ตาปะขาวเอาไม้ดิบปะปนกัน เดี๋ยวเดียวฟืนก็พอ เพราะฟืนยังไม่อด หลวงปู่ก็บอกว่า

“ยกศพขึ้นตะแคงข้างขวา ไม่ต้องล้างศพตอก ไม่ต้องคลุมผ้าจีวรให้ดอก เพราะตายแล้ว ล้างทำไม คลุมห่มทำไม นั่นประคตเอวไหมใหม่ ๆ อยู่นั้น แก้ออก เอาไว้ให้ผู้ขาดเขิน”

เสร็จแล้วบอกตาปะขาวจุดไฟโดยด่วน ไฟเดือนหกฤดูร้อนแสก ๆ ลุกกรุ่นขึ้นโดยด่วน ชาวบ้านมาถึง ไฟลุกโพลงขึ้นแล้ว ทีนี้องค์ท่านก็ให้เอาผ้าปูนั่งของใครของมันปูกับพื้นดินห่มผ้าเฉวียงบ่าแล้ว กล่าวว่า

“เราจะพาว่ามาติกาเป็นพิธี ไม่ว่าเอาสตางค์ใครดอก”

พอจบแล้วก็กลับที่ใครที่มัน พอตกเวลาเย็นใกล้ค่ำ ไฟไหม้ศพเหลือแต่หัวกับหน้าอก พอตกตอนพลบค่ำองค์หลวงปู่กล่าวว่า

“พากันเห็นอาจารย์ไหม ไฟเผาอยู่นั่น รีบจงกรมภาวนาเข้าเดี๋ยวจะตายเปล่า”
70#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ธรรมะหลวงปู่มั่น

หันมาปรารภต่อไปว่า ในยุคบ้านหนองผือในวาระผู้เขียนไปอยู่ด้วยกับองค์ท่าน ได้ยินองค์ท่านยืนยันว่าองค์ท่านเป็นพระอรหันต์หรือไม่

ตอบได้อย่างผึ่งผายว่า องค์ท่านมิได้ยืนยันว่าองค์ท่านเป็นพระอรหันต์หรือปุถุชนใด ๆ เลย ชะรอยผู้เขียนจะไม่รู้จักอิโหน่อิเหน่แล้วองค์ท่านจะไม่เล่าคำลับให้ฟังก็อาจเป็นได้ หรือเกรงว่าผู้ฟังประมาทและไม่เชื่อก็อาจเป็นโทษแก่เขาก็อาจเป็นได้ องค์ท่านจึงไม่เล่าให้ฟัง

ส่วนธรรมะขององค์ท่านแสดง บางคราวเป็นธรรมชั้นสูงมากเป็นต้นว่า

“ไม่ว่าธรรมส่วนใด ถ้าสำคัญตนว่าเสวย เป็นอันผิดทั้งนั้น”

ข้อนี้ประทับใจของข้าพเจ้ามาก ในเวลาที่องค์ท่านเทศน์อย่างนี้ พระอาจารย์มหาบัวก็ฟังอยู่ที่นั้นด้วย มีพระสองสามองค์นั่งฟังอยู่ด้วยกัน ไม่มีพระอาคันตุกะมาปน แต่แปลกอยู่ว่า ชีวประวัติของหลวงปู่มั่นได้พิมพ์มาหลาย ๆ ครั้ง ตรวจดูแล้วไม่เห็นธรรมข้อนี้ปนอยู่เลย ชะรอยต่างองค์ก็ต่างจำมาได้คนละบทคนละบาทอันสำคัญ

มุตโตทัยตีพิมพ์ฉบับต้น คราวถวายเพลิงของหลวงปู่มั่น ธรรมชั้นสูงในเล่มนั้นกล่าวว่า

“ถ้าไม่มีที่อยู่ ก็ไปอยู่ที่สูญสูญนั้น”

ใจความในหนังสือเล่มนั้นทั้งหมด ก็ขึ้นอยู่กับภาพพจน์ข้อนี้ นี้เป็นธรรมชั้นสูงในหนังสือเล่มนั้นทั้งหมด เหตุผลที่จะไปอยู่ที่สูญสูญนั้น หนังสือเล่มนั้นอธิบายว่า “ถ้าจะว่าสูญไม่มีค่า ก็ไม่ได้ เพราะไปบวกกับเลขหนึ่ง ก็สิบ ร้อย พัน หมื่น แสนล้าน” ดังนี้ เป็นมติของผู้เขียนคืออาจารย์มหาเส็งและอาจารย์ทองคำ ในยุคนั้นพระอาจารย์มหาบัวกำลังรักวิเวก เที่ยวปฏิบัติโชกโชนอยู่ ไม่สุงสิงในการเขียนหนังสือ

ข้าพเจ้าพิจารณาอยู่แต่ไร ๆ ว่าเหตุที่สูญจะเป็นของมีค่าก็เพราะมีผู้ไปยึดถือเอาเป็นเจ้าของ ถ้าไม่มีผู้ไปยึดถือเอาเป็นเจ้าของแล้วสูญก็กลายเป็นโมฆะไปตามสภาพที่สมมุติ ไม่ว่าแต่สูญเลย ขี้เป็ดขี้ไก่ก็ดี ถ้ามีผู้ไปยึดถือเอาเป็นเจ้าของแล้ว ย่อมเป็นของมีค่าทั้งนั้น ซื้อขายเอาไปใส่ผักก็ได้ ใครลักก็เป็นอทินนาทาน แต่พระนิพพานไม่เป็นหน้าที่จะแล่นไป หรือเดินไปอยู่ที่สูญสูญ ถ้าอย่างนั้น สูญก็เป็นสรณังคัจฉามิของพระนิพพาน พระบรมศาสดากล่าวไว้เพียงแต่ว่า เปลวไฟอันกำลังลมเป่า เมื่อเปลวไฟดับไปแล้วไม่เป็นหน้าที่จะไปยืนยันและสมมุติว่าไปตั้งอยู่ที่นั้นที่นี้ หรืออะไร ๆ ทั้งนั้น

ความขัดแย้งแห่งสงครามความเห็น ถ้าความเห็นออกนอกรีตนอกรอย เป็นอัตโนมติของผู้ยังมีกิเลสหนา ไม่เหมือนอัตโนมติของพระอริยเจ้า ที่มัดเข้าหาธรรมฝ่ายอริยะเป็นบรรทัด เป็นแว่น เป็นคระจกเงา เป็นกล้องจุลทรรศน์ เป็นเครื่องวัดเครื่องตวงอันไม่เลยเถิด ปราศจากเดาด้นคาดคะเน พร้อมทั้งมีสัมมาญาณะอันถ่องแท้ ไกลจากโลกิยวิสัยไปแล้วจะดึงลงมาเทียบกับโลโก โลกา โลเกเร โลกึง โลมึง โลกู ย่อมเป็นไปไม่ได้ทั้งอดีตอนาคต ปัจจุบันด้วย

ชีวประวัติของหลวงปู่มั่นก็ดี ของท่านองค์ใด ๆ ก็ดีจะแต่งจะเขียนพิสดารหรือย่อก็ตามที ถ้าแก่นเรื่องของธรรมะ ยอดเรื่องของธรรมะชั้นสูงไม่สมเหตุสมผลแล้ว ปราชญ์ผู้อ่านผู้ฟังก็ไม่ถึงใจถึงธรรมเท่าที่ควร ไม่ชวนอยากอ่านไม่ชวนอยากฟังด้วย มิหนำซ้ำถูกวิจารณ์ว่าไม่สมชื่อลือชาปรากฏว่าโด่งดังอะไรกันในทางที่ชอบแท้ของธรรมะ เมื่อผู้เขียนมิใช่เจ้าตัวเขียนเอง ย่อมตีความหมายลงมาหาตัวของผู้เขียน เพราะเข้าใจอย่างนั้น ชัดอย่างนั้น แต่มันก็เป็นเรื่องอจินตับอจินไตยเหลือวิสัยจะผูกขาด ชีวิตของหลวงปู่มั่นในยุควัดป่าหนองผือ พรรณานิคม จังหวัดสกลนครเป็นยุคสุดท้ายของชีวิตองค์ท่าน และสุดท้ายธรรมะชั้นสูงแห่งองค์ท่านอีกด้วย
69#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ฉะนั้น บ้าใบ้เสียจริตผิดมนุษย์นั้น พระบรมศาสดาจึงไม่ทรงอนุญาตให้บวช แต่(ถ้า)ไม่รู้ชัด(แล้ว)รับบวช เมื่อบวชแล้วรู้ชัดเข้า ให้นาสนะเสีย คือให้สึกเสีย เพราะยังเป็นมนุษย์ไม่เต็มภูมิ ไม่ตรงกับคำถามอันตรายิกธรรมต่อหน้าสงฆ์ว่า “มนุสฺโสสิ” แล้วตอบว่า “อามะภันเต” เฉย ๆ ไม่ตรงต่อความจริงเพราะบ้าใบ้อยู่

ถามว่า ผู้เขียนชีวประวัติของตนเองอยู่เดี๋ยวนี้จะไม่เป็นบ้าอารมณ์ ดอกหรือ

แก้ว่า จะบ้าอารมณ์ยังดีกว่าบ้าแล้ง

ถามว่า บ้าแล้งนั้นคืออะไรบ้าง

ตอบว่า บ้าแล้งนั้น คือเพลินในโลกสงสารโดยถ่ายเดียว ไม่เหลียวแลทางปัญญาพาฟอกความหลง เป็นต้น

ถามว่า คำว่า หลง ๆ ในที่นี้ หลงอะไรครับ

ตอบว่า หลงหนังที่หุ้มอยู่โดยรอบแห่งกาย ว่าสวยงาม ว่าเป็นของยั่งยืน ว่าเป็นสุข ว่าเป็นของตนเอาจริง ๆ จัง ๆ จนแกะไม่ได้คลายไม่ออก แต่เมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่ตั้งอยู่ตามความประสงค์ แล้วก็เดือดร้อนทางใจ เพราะผลลัพธ์เป็นฝ่ายสะท้อน เพราะเหตุหลงหนัง

ถามว่า ท่านผู้ไม่หลงหนังมีไหมเล่า

ตอบว่า ข้อนี้เป็นของตอบยาก เพราะผู้ไม่หลงหนังไม่ได้เขียนใส่หน้าผากไว้ แม้เขียนไว้ก็เชื่อไม่ได้ เพราะเขียนลวงก็มี เพราะการหลงหนังไม่ขึ้นอยู่กับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และท่านผู้ไม่หลงก็ไม่ขึ้นอยู่กับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ขึ้นอยู่กับใจ

ถามว่า ใจมันเป็นตัวยังไง ผมทำไมถึงไม่เห็นมันสักที ชาวโลกชาวธรรมก็มักพูดว่า ใจ ๆ

ตอบว่า ผู้ถามหาใจ ก็เอาใจถาม ผู้ตอบ ก็เอาใจตอบ คนตายแล้วถามไม่เป็น ตอบไม่เป็น เพราะไม่มีใจอยู่นั้น

ถาม ใจมันเป็นคุณหรือเป็นโทษ

ตอบ เมื่อมันทำโทษ มันก็เป็นโทษ เมื่อมันทำคุณ มันก็เป็นคุณ คุณและโทษของมันไม่มีใครไปปล้นไปจี้เอาได้

ถาม ใครใส่ชื่อให้มัน

ตอบ มันใส่ชื่อเอง

ถาม ใครเป็นเจ้าของมัน

ตอบ มันเป็นเจ้าของเอง

ถาม มันเกิดมาจากไหน

ตอบ มันเกิดมาจากมันเอง

ถาม อะไรพาให้มันเกิด

ตอบ ความหลงของมันพาให้เกิด

ถาม มันหลงอะไร

ตอบ มันหลงว่า มันเป็นมัน เอาจริง ๆ จัง ๆ
68#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วิธีทดสอบตนเองขณะภาวนา

เราไปพักวิเวกบางแห่งไม่มีแขกมาสุงสิง สถานที่ก็อำนวยพอควร ด้านภิกขาจารก็ไม่ใกล้นักไม่ใกล้นัก วันหนึ่งคืนหนึ่งมียี่สิบสี่ชั่วโมง เราจะฉันขนาดไหนจึงพอดี เราจะเปลี่ยนอิริยาบถขนาดไหนจึงเหมาะ เราจะหลับขนาดไหนจึงจะเหมาะ เราจะปันเวลาขนาดไหนจึงจะเหมาะ เราหลับขนาดนี้ภาวนาได้ความยังไง เราดื่มขนาดนี้ภาวนาได้ความยังไง เราฉันขนาดนี้ได้ความยังไงด้านภาวนา

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องทดสอบตนเอง เพื่อจะได้เอาออกใช้ปฏิบัติให้ได้ผลเฉพาะส่วนของตน เราตั้งกรรมฐานอันนี้ไว้เป็นหลักพิจารณา เราได้รับผลอย่างไร เช่น พิจารณากาย เป็นต้น เรากำหนดลมออกเข้าได้ผลเป็นอย่างไร เราพิจารณาพุทโธได้ผลเป็นอย่างไร เราพิจารณาเมตตา กรุณาได้ผลเป็นอย่างไร เราเพ่ง อาโป เตโช วาโย ปฐวี ได้ผลเป็นอย่างไร เราพิจารณา อนิจจังได้ผลเป็นอย่างไร เราพิจารณาทุกขังได้ผลเป็นอย่างไร เราพิจารณาอนัตตาได้ผลเป็นอย่างไร เราพิจารณาใจทั้งหมด ธรรมทั้งหมด รวมลงในผู้รู้แห่งเดียว ในปัจจุบันได้ผลเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะได้รู้จริง ชัดจริง ในภาพพจน์ตน ไม่ต้องสงสัยถามใครทั้งนั้น

แต่จะปฏิเสธในการถามก็ไม่ได้ จะปฏิเสธในการฟังก็ไม่ได้ไปหน้าเดียว ควรมีการทดสอบอีก ถ้าเรารู้ชัด ปฏิบัติชัดตอนไหน ๆ ตอนนั้น ๆ ไม่กลับมาเดือดร้อนให้เราสงสัยแคลงคลางอีก ตอนนั้นไม่ถามใครอีกก็ได้

อุทาหรณ์แบบหยาบ ๆ เช่น เราจิ๊บเกลือก็รู้จักรสเค็มแล้วเราก็ไม่ต้องถามใคร ๆ ว่ารสเกลือนั้นรสเค็มมันเป็นอย่างไรครับ เราก็ไม่มีประตูที่จะถามอีกเพราะเราได้จิ๊บดูแล้ว ฉันใดก็ดีรสของธรรมแต่ละชั้น ๆ ก็โดยนัย จิตแต่ละชั้น ๆ ก็โดยนัยอีก

เมื่อปฏิเสธในการถามไม่ได้ ก็ปฏิเสธในการตอบไม่ได้เป็นบางรายเหมือนกัน เพราะสัตว์โลก มนุษย์ เทวดา มาร พรหมก็ดี ตลอดพระอรหันต์ คือพระอรหันต์ก็ดี ก็มีการสังสรรค์ถามตอบกันอยู่ทั้งฝ่ายสมมุติและปรมัตถ์

แม้สัตว์เดรัจฉานมันร้องเรียกกัน ถามตอบให้รู้ความหมายของกันและกัน เช่น บางกรณี มันกินอาหารอยู่ หรือจับอยู่ มันร้องถามหมู่เพื่อนของมัน หมู่ของมันได้ยิน ก็บินมาตอบ หรือบินหนีตอบ หรืออยู่ที่เก่าตอบเช่น เขาเบียดเบียนเรา แต่เราไม่เบียดเบียนตอบ จะว่าเราตอบเขาหรือไม่ตอบ จะตอบก็ได้ไม่เป็นไรดอก เพราะเราตอบในทางดี ตอบแบบไม่เบียดเบียน

เรื่องอื่นยังมีอยู่อีก เพราะจิตสังขารเป็นผู้ใช้กายสังขารเขียน ก็ต้องเขียนไป แต่อย่าทั้งเขียนทั้งเดือดร้อนทางใจก็แล้วกัน แม้ผู้อ่านผู้ฟังก็เหมือนกัน อย่าทั้งอ่านทั้งเดือดร้อน ทั้งฟังทั้งเดือดร้อนก็แล้วกัน เพราะเดือดร้อนนั้น มันเดือดร้อนให้ตน เดือดร้อนให้คนอื่นไม่ได้ กินอาหารอร่อยหรือไม่อร่อยก็ดี (ก็)กินให้ตน กินให้ท่านผู้อื่นไม่ได้ ฉันใดก็ดี ความเดือดร้อนก็เหมือนกัน เราเดือดร้อนให้เขา ถ้าเขาเดือดร้อนตอบ ความเดือดร้อนอยู่ในใจเรา เขามารับหอบเอาไปหาเขาหมดดอกหรือ แม้เขาไม่เดือดร้อนตอบ ความไม่ดีเดือดร้อนของเขา มาหาเราหมดดอกหรือ ตกลงความเป็นธรรมแท้ก็ของใครของมันตามเดิม

นี้ปรารภตามชั้นเราชั้นเขาตามเป็นจริงของสมมุติ แต่มีปรมัตถ์ควบอยู่แบบเจือปน ๆ มิใช่ปรมัตถ์โต้ง ๆ เพราะยังมีบุคลาธิษฐานเจือปนกัน เพื่อให้ความกระจ่างแก่ผู้ฟังผู้อ่านผู้พิจารณา เพราะพระสูตรพระวินัยมีทั้งบุคลาธิษฐาน ธรรมาธิษฐานเจือกันอยู่ พระปรมัตถ์เป็นธรรมาธิษฐาน มีธรรมเป็นที่ตั้งล้วน ๆ

ถามว่า ผู้มุ่งปฏิบัติตามพระวินัยพระสูตร จะได้ชื่อว่าปฏิบัติตามพระปรมัตถ์กันหรือไม่

ตอบว่า ได้ปฏิบัติตามปรมัตถ์อยู่ในตัวแล้ว เพราะคำว่าพระวินัยก็วินัยกาย วินัยวาจา วินัยใจ คำว่าพระสูตรก็สูตรของกายของวาจา ของใจ ผู้ไม่มีใจก็ปฏิบัติพระวินัยไม่ได้ ผู้ไม่มีใจก็ปฏิบัติพระสูตรไม่ได้ ผู้ไม่มีใจก็ปฏิบัติใจคือพระปรมัตถ์ไม่ได้ เป็นอันว่าพระปรมัตถ์กล่าวถึงธรรมและใจล้วน ๆ

แต่ให้เข้าใจว่าพระวินัยก็ดี พระสูตรก็ดี พระปรมัตถ์ก็ดี ทุกคนย่อมปฏิบัติได้ เว้นใจอันบ้าใบ้เสียจริตผิดมนุษย์เสีย เพราะไม่สามารถจะปฏิบัติได้สะดวก เพราะกรรมและผลของกรรมฝ่ายชั่วยังหนักอยู่ คล้ายกับดอกบัวยังอยู่ใต้น้ำ จะเป็นมนุษย์ก็จริง แต่เป็นมนุษย์ชั้นจัตวา
67#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระอาจารย์มหาบัวปรารภขึ้นว่า “เกล้าจะไปเอาเองดอก พรุ่งนี้”

พอถึงวัน องค์ท่านก็ไปองค์เดียวด้วยฝีเท้า เพราะสมัยนั้นฝีเท้าทั้งนั้น ข้าพเจ้ารู้ล่วงหน้า คาดคะเนในใจไม่ผิด การที่พระอาจารย์มหาบัวไปเอาเปลือกน่องถ้ำผาแด่นนี้ ไม่ใช่ไปด้วยภาพพจน์โง่ ๆ เลย

๑. เพื่อรับให้หลวงปู่โดยเคารพและศรัทธา

๒. เพื่อสอบว่า ท่านหล้ามาอยู่ถ้ำผาแด่นหนึ่งเดือนแต่ผู้เดียวจริงหรือ ถ้าหากว่ามาอยู่จริง ปฏิบัติไปแถวใด คลุกคลีกับญาติโยมขนาดไหน ฉันในบาตรหรือนอกบาตร อยู่แบบข่มใจหรือพอใจ คำพูดขณะอยู่ถ้ำและขณะญาติโยมไปในวันพระนั้น พูดไปเทศน์ไปแถวใดบ้าง เหล่านี้เป็นต้น

แต่ข้าพเจ้าคาดคะเนแล้วก็ไม่เดือดร้อน กลับมีความดีใจว่า โชคดีมีครูบาอาจารย์ผู้สำคัญไปสืบเป็นพยาน

พอองค์ท่านไปประมาณอาทิตย์กว่า ๆ ก็ได้เปลือกน่องมาจริง แล้วองค์ท่านไปเที่ยวพูดกับหมู่ลับหลังว่า

“ท่านหล้านี้นับเข้าเป็นหมู่กับพวกเราได้นะ ผมไปสืบดูแล้วไม่มีสิ่งที่จะดูถูกท่านได้ แต่ข้างหน้าใคร ๆ ก็มองกันไม่เห็นได้ ถ้าหากว่าต่างก็มุ่งหลุดมุ่งพ้น แล้วต่างก็ตะเกียกตะกายสูงใจสูงธรรมขึ้นในตัวดอก”

นี่เป็นคำพูดของพระอาจารย์มหาบัวพูดกับหมู่ลับหลัง ข้าพเจ้าได้ฟังหมู่เล่าให้ฟังแล้ว ก็พิจารณาเป็นกลาง ๆ ไม่รับไม่ปัด

ไม่ว่าใคร ๆ ในโลก ทำดีประจำวันอยู่ก็นับวันสูงขึ้นแห่งความดีไม่ว่าทางโลกีย์หรือโลกุตตระ ความชั่วถ้าทำประจำวันคืนก็นับวันพอกพูนสูงขึ้นทางฝ่ายชั่ว แต่ความชั่ว คนชั่วทำได้ง่าย ความชั่ว คนดีทำได้ยาก ความดี คนชั่วทำได้ยาก ความดี คนดีทำได้ง่าย เป็นของตรงกันข้ามอยู่ร่ำไป

ความดีเป็นฝ่ายเหตุที่พระพุทธศาสนาส่งเสริม ความชั่วเป็นฝ่ายที่พระพุทธศาสนาทรงกีดกัน ผู้ที่รู้จักเหตุฝ่ายดีฝ่ายชั่ว กับผู้รู้จักผลฝ่ายดีฝ่ายชั่วนั้นก็ มีความหมายของธรรมอันเดียวกัน และก็ไม่เลือกชั้นวรรณะด้วย

บาปบุญคุณโทษ มรรค ผล นิพพาน เป็นธรรมฝ่ายทรงอยู่มีอยู่แบบกลาง ๆ บรรจง ไม่ขึ้นอยู่กับเพศ ชั้นวรรณะ ไม่ลำเอียงด้วยอคติใด ๆ แห่งชั้นวรรณะและพรรคพวก แล้วแต่ใครจะสร้างเอา

การไปวิเวกในป่าในดอนดงภูเขา ไม่ใช่ไปเล่นสนุก ๆ เพื่อมาอวดเอาคะแนนอะไรในโลก ๆ มันเป็นเครื่องทดสอบตนอยู่ในตัวแห่งรสชาติของจิตใจว่า ศรัทธาและปัญญาสมดุลกันหรือไม่ วิริยะความเพียรในธรรมกรรมฐาน สติระลึกชอบในกรรมฐาน สมาธิตั้งมั่นในกรรมฐาน จะสมดุลกันขนาดไหน รสจิตรสใจได้ดื่มแล้วหรือประการใด กามวิตก ความตรึกในทางกาม พยาบาทวิตก ความตรึกในทางพยาบาท วิหิงสาวิตก ความตรึกในทางเบียดเบียน เมื่อจิตเข้าถึงปฐมฌานสิ่งเหล่านี้สงบลงแล้ว เมื่อถอนออกมาแล้ว สิ่งเหล่านี้กำเริบขึ้นหรือไม่ ไม่กำเริบนั้นด้วยวิธีไหน ก็ให้รู้วิธีนั้น กำเริบด้วยวิธีไหน ก็ให้รู้ด้วยวิธีนั้น ขาดไปแล้วด้วยวิธีไหน ก็ให้รู้ด้วยวิธีนั้น

กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก มีคุณเจือปนกับโทษหรือไม่ หรือเป็นโทษล้วน ๆ ไม่เป็นคุณเลยแม้แต่นิดเดียว เห็นเป็นจริงชัดหรือไม่ หรือว่าเป็นเพียงจำมาด้วยสัญญา ความเคยชินเคยหู ก็หันปากว่าไปเหมือน แก้วเจ้าขา กินข้าวกับกล้วย เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องทดสอบตัวเองให้ได้ความชัดทั้งนั้น มิฉะนั้นแล้ว การปฏิบัติก็สุ่มสี่สุ่มห้า คล้ายกับว่าทั้งซื้อทั้งขาย แต่ไม่รู้ว่าขาดทุนหรือได้กำไร แต่ละวัน ๆ แม้จะอยู่กับที่ กับวัด ก็ต้องตรวจตน เตือนตนอยู่แบบนี้เป็นคราว ๆ เสมอ จะละเว้นจนเหลิงเจิ้งก็ไม่ได้อีก
66#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านพระอาจารย์มั่นถาม ภาวนาเป็นไง


กุฏิพระอาจารย์มั่น วัดป่าหนองผือ

ตั้งใจเดินตรงตามหางมาถึงวัดหนองผือ เอาบาตรไปไว้ศาลา พักอยู่สักครู่ เวลานั้นตะวันประมาณบ่ายโมงสามสิบนาที สายตาจับอยู่ที่กุฏิหลวงปู่ ไม่ช้าก็เห็นท่านออกมาที่ระเบียงขององค์ท่าน จึงได้ห่มผ้าเฉวียงบ่า ถือฝาบาตรใส่เทียนที่เอามาจากบ้านคำข่าและใส่ไม้สีฟันค่อยเดินไปหา องค์ท่านแลเห็นใกล้บันได องค์ท่านปรารภเย็น ๆ เบา ๆ ว่า

“ท่านหล้านี้มาจากไหนหนอ เดินย่อง ๆ มาคนเดียว นิสัยก็แปลกหมู่ ชอบไปคนเดียว มาคนเดียว ส้นเท้าก็แหลม ๆ เดินไปมาปรากฏดังตึง ๆ”

ที่ว่าแปลกหมู่นั้น องค์ท่านก็ไม่อธิบายว่า แปลกไปทางดีหรือทางชั่ว แต่ข้าพเจ้าก็ยังไม่เรียนตอบสักคำเลย เพราะเข้าใจว่าองค์ท่านพูดไปตามเรื่องขององค์ท่าน และเป็นเรื่ององค์ท่านทดสอบเราว่า จะทั้งเดิน ทั้งพูด ทั้งล้าง ทั้งเช็ดเท้า หรือไม่

พอกราบเสร็จแล้วท่านก็ถามกระหน่ำต่อไป ทั้งคำเก่าและคำใหม่ปะปนกันไปตะพึด ยกมือกราบเรียนว่า “มาจากถ้ำผาแด่น”

“ภาวนาเป็นไง”

กราบเรียนว่า “รสจิตใจวิเวกวังเวง ความไหวการ ยืน เดินนั่ง นอน สติอยู่กับกายและใจ เหลียวซ้ายแลขวา เหยียดแขน คู้แขนรู้อยู่แทบทุกอิริยาบถ จิตใจอ่อนโยนในพุทธ ธรรม สงฆ์ น้ำตาไหลไม่ค่อยขาด การกลัวสัตว์ร้ายหรือผีไม่ค่อยมี จะมีมาบางอารมณ์ก็งูใหญ่ นึกในใจบ้า ๆ ว่า ถ้านั่งภาวนาอยู่ มันมาคาบกลืนลงไปทีเดียวก็ได้ แต่อารมณ์ชนิดนี้มาครู่เดียว ก็ขับมันหนีไปได้ แต่นาน ๆ มันจึงจะมาอีก”

องค์ท่านตอบว่า “กลัวมันทำไม งูมันกินเข้า ก็ยันท้องมันซิ”

ว่าแล้วองค์ท่านก็ยิ้ม แล้วองค์ท่านก็ปล่อยโอกาสให้เล่าถวายต่อไป

กราบเรียนต่อไปว่า “วันหนึ่งเป็นเวลาเที่ยงคืน กำหนดลมออกเข้า เมื่อลมละเอียดลงไป ปรารภขึ้นมาว่า เออ ท่านผู้พ้นไปแล้วก็ไม่มีข้างหน้าข้างหลังเหมือนลมออกเข้านี้ ท่านผู้ตะเกียกตะกายอยากพ้นไป ก็ไม่มีข้างหน้าข้างหลังเหมือนลมออกเข้านี้ ผู้ไม่มีข้อวัตรอันใดเพื่อหลุดเพื่อพ้น ก็ไม่มีข้างหน้าข้างหลังเหมือนลมออกเข้านี้ ผู้ที่ถือว่าไม่มีบุญไม่มีบาป ก็ไม่มีข้างหน้าข้างหลังเหมือนลมออกเข้านี้ ในเวลาวิจารณ์อยู่นั้น รู้พร้อมกันกับลมออกเข้า ไม่มีอันใดก่อนอันใดหลังแล้วเกิดความพอใจ ร้องขึ้นจนสุดเสียง แล้วขู่ตนว่า มันจะเป็นบ้านะ ตอบตนเร็วด่วนว่า ถ้ารู้ว่าตนจะเป็นบ้าก็อย่าบ้าซิ ผิดถูกประการใด กราบเรียนพ่อแม่ครูบาอาจารย์ได้โปรดกรุณาแก้ไขเทอญ”

องค์ท่านทอดสายตาลงต่ำขณะหนึ่งแล้ว จึงกรุณากล่าวว่า

“เออพิจารณาตามเป็นจริงของธรรมส่วนนี้”

ว่าแล้วองค์ท่านก็เรียกหา “สามเณรบุญเพ็งเอ๋ย เอาบริขารของเธอไปไว้กฏิเดิมของเธอนั้น ออกมาจากถ้ำใหม่ ๆ จะได้อยู่ที่เย็น ๆ ตามเคย”

แล้วก็ขอโอกาสทำวัตรและต่อนิสัย เสร็จแล้วองค์ท่านถามต่อไปอีกว่า “ได้ยินเขาว่าเปลือกน่องมีอยู่ที่ถ้ำผาแด่น เป็นต้นใหญ่โตได้เห็นหรือไม่”

เรียนว่า “ไม่ได้สังเกตและก็ไม่รู้จักต้นของมันด้วยขอรับ”

“เราต้องการ ทุบแล้วเอามาปูต่างอาสนะนั่ง โรคริดสีดวงทวารเราพอบรรเทาไป”

พอสงฆ์ขึ้นมาประชุมฟังเทศน์ตอนหนึ่งทุ่ม องค์ท่านปรารภขึ้นว่า

“ถ้าจะให้คุณหล้าคืนไปหาเปลือกน่องถ้ำผาแด่น เธอก็มาใหม่ ๆ เดี๋ยวนี้ กำลังเหนื่อย และอั้งโล่ที่เธอทำไว้สี่ห้าอันก่อนออกวิเวก ก็แตกหมด เพราะไม่มีใครทำเป็น ไม่อยากให้เธอไปละทีนี้ เพราะขาดผู้ใช้หลายหน้าที่หยาบ ๆ หนัก ๆ ไปองค์หนึ่งในวัด”
65#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แล้วก็ลาจากกัน เขาบอกว่า จากนี้ไปหาหลวงปู่มั่นก็ภายในเที่ยงวันก็ถึงดอก เขาให้คนไปส่งคนหนึ่ง ออกจากบ้านเขาตรงทิศตะวันตก ล่องชายเขาเป็นป่าบ้าง ป่าไม้ไร่เลยป่าไป เขาไปส่งประมาณ ๖ เส้นพอจะไม่หลงแล้ว ก็บอกเขากลับคืน

เขาบอกว่า “อย่าหลงปลีกเส้นนี้เลยขอรับ” แล้วเขาก็กลับ

ตั้งหน้าเดินภาวนา พอไปอีกประมาณ ๑๕ นาที มีหนองน้ำใหญ่อยู่ข้างซ้ายมือ ไกลจากทางประมาณ ๕ วา ควายนอนน้ำเต็มอยู่ประมาณสิบตัว มีแต่ตัวอ้วน ๆ ล่ำ ๆ ทั้งนั้น พอเห็น มันก็ลุกพรึบ ขึ้นผินหน้าสู้ แกว่งเขาใส่

ทั้งเดินทั้งพูดกับควายว่า “กูก็ไปตามกู สูก็อยู่ตามสู อย่าได้มีเวรมีภัยแก่กัน”

แล้วก็ผ่านพ้นไป ไม่มีอันตรายใด ๆ แล้วเดินทางไปอีกประมาณ ๑๕ นาทีก็เข้าป่าไผ่ อนิจจาทุกขา บันดาลหลงทาง ไม่รู้ว่าเส้นใดต่อเส้นใด สับสนกัน หลงไปหลงมา วนเวียนอยู่ในป่าไผ่ หลงอยู่นั้นประมาณ ๑๕ นาทีอีก และก็เป็นฤดูร้อนแล้ว เหงื่อแตกโชกโชน ป่าไผ่นั้นไม่มีลมโกรกเลย ร้อนอบอ้าว ได้ยินเขาฟันขวานเปิง ๆ อยู่ไกลประมาณ ๘ เส้น รีบตรงไปหาเขา เกรงเขาจะเงียบก่อน แต่ไปยังไม่ถึงเขา เขาหยุดฟันก่อน แล้วก็ยืนดักฟัง ได้ยินเสียงพูดกัน รีบเข้าไปอีก จึงเห็นตัวเขา ผัวกับเมีย มีลูกผู้ชายคนหนึ่งประมาณ ๖-๗ ปี

พอเขาเห็น เขาก็ถามเลย “มาจากไหนขอรับ”

“มาจากบ้านคำข่า”

“เออ พวกกระผมก็อยู่บ้านคำข่านั้นเอง มาล้อมรั้วไร่ ท่านจะไปไหน”

“จะไปหาหลวงปู่มั่น บ้านหนองผือ ออกไปเที่ยววิเวกจากองค์ท่านนั้นเองแต่เดือน ๑๒ แต่ออกไปทางบ้านพระคำภู เดี๋ยวนี้หลงทางแล้ว ขอให้โยมช่วยบอกจะเป็นกุศลมิใช่น้อยเลย เพราะโชกโชนวนเวียนอยู่ในป่าไผ่นี้นานแล้ว”

ว่าแล้วโยมก็สั่งภรรยาว่า “จงอยู่กับลูกนี้สักประเดี๋ยว เราจะไปส่งพระ”

แล้วเขาจะสะพายเอาบาตร เลยพูดกับเขาว่า “บาตรเบา ๆ ดอกไม่หนัก จงถือเอามีดเดินออกก่อนอาตมา เล็ดลอดไปตรงไปใส่ทางก็พอเหมาะแล้ว เพราะโยมทำงานฟันขวานเปิง ๆ อยู่ก็คงเหนื่อยมากแล้ว”

เขาไปส่งประมาณ ๑๐ เส้นก็ถึงหลังเขา ก็พบหนทางสว่างใจมาก พูดกับเขาว่า

“โยมเอ๋ยอาตมารู้แล้ว สว่างจ้าในสัญญาความจำเพราะหมู่พระอาจารย์มหาได้พามาเอาตราด (ไม้กวาด) ทีนี้ อาตมาได้นั่งมัดเอาตราดอยู่ที่ก้อนหินก้อนนี้”

โยมยกมือใส่หัวแล้วกลับไป ให้พรโยมย่อ ๆ พอเหมาะเวลา

http://www.dharma-gateway.com/mo ... /lp-lah-hist-05.htm
64#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อหลวงปู่รับกิจนิมนต์

ครั้นพักอยู่วัดป่าสุทธาวาส ๓ คืนแล้ว ฉันเช้าเสร็จก็กราบลาไป ลัดผ่านสนามบินไปวัดป่าธาตุนาเวง แต่ไม่พัก ข้ามบ้านนาหัวบ่อ แล้วแวะทางซ้ายข้ามบ้านพอก พักนอนบ้านคำข่า พักวัดป่าร้างที่ท่านพระอาจารย์ดีสร้างไว้ พักหนึ่งคืน ตื่นเช้าได้เวลา เข้าไปบิณฑบาตบ้านคำข่าพอไปได้ ๒ เรือน เขามาแย่งบาตรไปที่เรือน เขาทำบุญบ้านเขา

“ขออภัยที่มาหิ้วเอากลางทาง เพราะไม่รู้จักว่าพระคุณเจ้ามา เห็นจะมาค่ำนะขอรับ”

“เออ อาตมามาค่ำจริง พบเด็กคนหนึ่ง เขาชี้ที่พักวัดร้างให้ อาตมาไม่ได้ดื่มน้ำ ไม่ได้ล้างหน้า ไม่ได้สรงน้ำด้วย ถ้าจะให้อาตมาไปจริง ๆ ก็เอาน้ำมาที่ชายป่านี้ ให้อาตมาล้างขาล้างหน้าบ้าง”

เขาเอาน้ำมาโดยด่วน เขาบอกว่า “น้ำสะอาดไม่มีตัวสัตว์ดอก”

บ้านเขาอยู่กลางป่าละเมาะ กำบังที่ไหนก็ได้ ล้างเช็ดแล้วก็ไปเรือนเขา แต่เขาก็ล้างเท้าให้อยู่ มีพระอยู่เรือนทำบุญเขาประมาณ๘ องค์ ไม่ได้สวดพาหุง เขาเอาบาตรตั้งไว้แล้ว ใส่บาตรเสร็จ รับศีลห้าแล้วถวายเป็นสังฆัสสะ ข้าพเจ้าขอโอกาสพระท่านอุปโลกน์

ท่านบอกว่า “เคยข้ามถ้ำขามลูกนั้นไปกราบหลวงปู่มั่นอยู่บ่อย ๆ ทั้งโยมด้วย ทั้งพระด้วย”

พอเสร็จการฉันแล้วเขาเอาผ้ามาถวายไตรหนึ่งและเทียนผึ้ง ผ้าในกองบุญนั้นมีอยู่ประมาณ ๕ ไตร มูลค่าประมาณ ๓๐๐ บาท สมัยเงินแพง

ข้าพเจ้ารับกับเขาเป็นพิธีแล้วกล่าวว่า “อาตมารับโดยเคารพแล้ว จะพลิกใจถวายพระเณรเราต่อโดยเคารพเดี๋ยวนี้ เพราะสบงจีวรก็ตัดเย็บย้อมไปจากหลวงปู่มั่น ปีนี้มิได้พอขาดเขินดอก อาตมาเดินทางมาพบเหตุก็ว่าได้”

เขาตอบว่า “เป็นบุญของพวกกระผมบันดาลเอง พวกกระผมมิได้วิจารณ์พระคุณเจ้าในทางแง่ร้ายเลยครับ จะอย่างไรก็สนองให้พวกกระผมบ้าง”

“อาตมาก็ไม่ได้อวดมักน้อยเลย และก็มิได้อวดร่ำรวยเลย พระเณรของเรานี้ก็มีมาก เอาไว้วัดเรานี้แหละ ถ้าอาตมาฝืนเอาไป หลวงปู่มั่นและครูบาจารย์ในวัดป่าบ้านหนองผือ ก็จะวิจารณ์อาตมาอีก คล้ายกับว่า ไปเที่ยววิเวกหารายได้ปัจจัยสี่ และก็จะกลับวัดเดิมอยู่แล้วซ้ำ”

“ถ้าอย่างนั้น พวกกระผมจะฝากมูลค่าไปทีหลัง”

“เออ ก็ยิ่งไปใหญ่อีกละ หนีเสือก็ไปพบราชสีห์”

“ถ้าอย่างนั้นก็เอาผึ้งก้อนนี้และเทียนเล่มบาทคู่นี้ซะ”

“เออ จะเอาแต่เทียนเล่มบาทคู่นี้แหละ จะเอาไปทำวัตรหลวงปู่ ให้พวกท่านได้บุญด้วย”

ก็เลยเหมาะกันในเรื่องนี้พอดีพองาม
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้